Categories
AROUND CHIANG RAI NEWS UPDATE

เชียงรายติดอันดับที่ 11 ของประเทศ หลังไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

 

เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลายประเทศทั่วโลกกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ ซึ่งหมายถึงการมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากกว่า 20% ของจำนวนประชากรทั้งหมด เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมาหลายปีแล้ว โดยทางกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้รวบรวมสถิติมาจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ซึ่งสรุปข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567 พบว่าประชากรไทยมีทั้งหมด 64,989,504 คน ในจำนวนนี้แบ่งเป็นผู้สูงอายุ อายุ 60 ปีขึ้นไป 13,450,391 คน หรือคิดเป็นสัดส่วน 20.70%

 

เมื่อจำแนกตามช่วงวัย พบว่ามีกลุ่มอายุ 60 – 69 ปี จำนวน 7,593,731 คน กลุ่มอายุ 70-79 ปี มีจำนวน 3,987,082 คน กลุ่มอายุ 80 – 89 ปี มีจำนวน 1,516,689 คน กลุ่มอายุ 90 – 99 ปี จำนวน 311,470 คน และกลุ่มอายุ 100 ปีขึ้นไป มีจำนวน 41,419 คน โดยจังหวัดที่มีผู้สูงอายุ อายุ 100 ปีขึ้นไปมากที่สุดคือ กรุงเทพมหานคร จำนวน 7,470 คน ตามด้วยนนทบุรี 1,729 คน ชลบุรี 1,310 คน เชียงใหม่ 1,296 คน นราธิวาส 1,232 คน สงขลา 1,132 คน นครศรีธรรมราช 1,131 คน นครราชสีมา 1,130 คน ยะลา 1,099 คน และปัตตานี 1,078 คน

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) สูงที่สุดเมื่อเทียบกับประชากรในพื้นที่ พบว่า

  1. ลำปาง ผู้สูงอายุคิดเป็น 28.83 % หรือจำนวน 203,111 คน จากจำนวนประชากร 704,473 คน
  2. แพร่ ผู้สูงอายุคิดเป็น 28.18 % หรือจำนวน 119,225 คน จากจำนวนประชากร 423,758 คน
  3. ลำพูน ผู้สูงอายุคิดเป็น 28.00 % หรือจำนวน 110,397 คน จากจำนวนประชากร 397,345 คน
  4. สิงห์บุรี ผู้สูงอายุคิดเป็น 27.60 % หรือจำนวน 55,251 คน จากจำนวนประชากร 200,190 คน
  5. พะเยา ผู้สูงอายุคิดเป็น 26.89% หรือจำนวน 122,050 คน จากจำนวนประชากรในพื้นที่ 456,572 คน
  6. ชัยนาท ผู้สูงอายุคิดเป็น 26.38 % หรือจำนวน 82,961 คน จากประชากรไทยในพื้นที่ 314,839 คน
  7. สมุทรสงคราม ผู้สูงอายุคิดเป็น 26.30 หรือจำนวน 48,875 คน จากจำนวนประชากรในพื้นที่ 187,394 คน
  8. อ่างทอง ผู้สูงอายุคิดเป็น 25.70 % หรือจำนวน 69,199 คน จากจำนวนประชากร ในพื้นที่ 269,274 คน
  9. อุตรดิตถ์ ผู้สูงอายุคิดเป็น 25.64% หรือจำนวน 112,031 คนจากประชากรในพื้นที่ 438,060 คน
  10. เชียงใหม่ ผู้สูงอายุคิดเป็น 25.50 % หรือจำนวน 416,884 คน จากจำนวนประชากรไทยในพื้นที่ 1,797,138 คน

จังหวัดเชียงรายที่ติดอันดับที่ 11 ในการมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากที่สุดของประเทศ คิดเป็นผู้สูงอายุ 25.44% หรือจำนวน 295,987 คน จากประชากร ในพื้นที่ 1,297,666 คน

เป็นผลมาจากหลายปัจจัย ได้แก่

  1. **สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ**: เชียงรายมีอากาศที่บริสุทธิ์และภูมิประเทศที่งดงาม ทำให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตอย่างสุขสงบและมีคุณภาพชีวิตที่ดี
  2. **การสนับสนุนจากชุมชนและครอบครัว**: ชุมชนในเชียงรายมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น และครอบครัวมักให้การดูแลผู้สูงอายุอย่างใกล้ชิด ทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกอบอุ่นและมีความสุข
  3. **การเข้าถึงบริการสาธารณสุข**: เชียงรายมีการจัดการและบริการสาธารณสุขที่ดี โดยเฉพาะการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งรวมถึงการมีศูนย์บริการสุขภาพที่สามารถให้บริการได้อย่างครบวงจร

สรุปแล้ว การที่จังหวัดเชียงรายมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากเป็นผลมาจากปัจจัยหลายอย่าง ทั้งสภาพแวดล้อมที่ดี การสนับสนุนจากครอบครัวและชุมชน และการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพ สิ่งเหล่านี้ทำให้เชียงรายเป็นจังหวัดที่เหมาะสมสำหรับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ และเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับการดูแลผู้สูงอายุในประเทศไทย

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
SOCIETY & POLITICS

ไทยวิกฤตขาดแคน ‘ล่ามภาษามือ’ ควรมี 40,000 แต่ปัจจุบันมี 178 คน

 
เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2567  ‘วราวุธ’ ชี้ ไทยเจอวิกฤตขาดแคนล่ามภาษามือ จากสัดส่วนที่เหมาะสมควรมีล่ามภาษามือ 40,000 คน แต่ปัจจุบนพบว่ามีล่ามภาษามือเพียง 178 คน เตรียมจัดหลัดสูตรล่ามภาษามือเร่งด่วน

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) แถลงข่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง พม. ครั้งที่ 4/2567 ประจำเดือนเมษายน

โดยระบุว่าปัจจุบัน “ล่ามภาษามือ” ของไทยขาดแคลนอย่างมาก ไม่เพียงพอกับจำนวนคนพิการทางการได้ยินหรือสื่อสารความหมาย จากเดิมที่มีการจดแจ้งไว้กับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) เมื่อปี 2552 – 2560 จำนวน 659 คน แต่ปัจจุบันพบว่า ล่ามภาษามือที่จดแจ้งมีจำนวนเพียง 178 คน

แบ่งเป็นล่ามภาษามือหูดี 170 คน และล่ามภาษามือหูหนวก 8 คน และยังพบว่ามีล่ามภาษามือ อยู่ใน 41 จังหวัดเท่านั้น จังหวัดที่ไม่มีล่ามภาษามือ 36 จังหวัด

นอกจากนั้น พบว่าปัจจุบันล่ามภาษามือมีการกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล มากที่สุด 3 จังหวัดแรก คือ กรุงเทพ 69 คน นนทบุรี 28 คน นครปฐม 16 คน

นายวราวุธ กล่าวว่า ปัจจุบันการแก้ไขปัญหาดำเนินการโดย การจัดบริการล่ามภาษามือข้ามจังหวัด และการให้บริการออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน หรือแท็ปเล็ต ได้แก่ 1.TTRS Video บริการถ่ายทอดการสื่อสารแบบสนทนาวิดีโอ และ 2.TTRS Live Chat บริการถ่ายทอดการสื่อสารแบบสนทนาข้อความ

รวมถึงบริการถ่ายทอดการสื่อสารแบบสนทนาวิดีโอผ่านเครื่องบริการถ่ายทอดการสื่อสารสาธารณะ (ตู้ TTRS) โดยมีเจ้าหน้าที่ถ่ายทอดการสื่อสารเป็นคนกลางในการสื่อสารภาษามือระหว่างผู้ที่บกพร่องทางการได้ยินและผู้รับปลายทาง (คนหูดี)

ทั้งนี้เมื่อปลายปีที่แล้ว คณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาล่ามภาษามือ ได้ออกประกาศ กำหนดคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขการประเมินความรู้ ทักษะก่อนและหลังการจดแจ้งเป็นล่ามภาษามือชุมชน เพื่อขอรับการจดแจ้งเป็นล่ามภาษามือชุมชน ได้แก่

1. กรณีผู้รับการจดแจ้งรายใหม่ที่ยังยังไม่เคยเข้ารับประเมินความรู้และทักษะการเป็นล่ามภาษามือชุมชน ต้องสอบภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติมาก่อน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน สอบภาคทฤษฎี 30 ภาคปฏิบัติ 70 ผู้สอบต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50

2. กรณีการต่ออายุการจดแจ้งของผู้ที่เคยเข้ารับประเมินความรู้และทักษะ โดยผ่านการสอบภาคทฤษฎีและปฏิบัติมาก่อน และให้มีรายงานผลการปฏิบัติงานที่ผ่านมา หรือเข้ารับการฝึกอบรมเพิ่มเติมตามหลักสูตร หลักเกณฑ์ และวิธีที่คณะอนุกรรมการกำหนด

สำหรับคนพิการทางการได้ยิน หรือ ผู้ดูแลคนพิการทางการได้ยิน มีสิทธิยื่นคำขอรับบริการล่ามภาษามือ เพื่อการติดต่องานทะเบียนและบัตรประจำตัวประชาชน, การขอทำใบขับขี่หรือบัตรแสดงตนอื่นๆตามกฎหมาย, การจัดทำนิติกรรม สัญญา และการขออนุมัติหรือขออนุญาตเรื่องต่างๆ, การขอความช่วยเหลือทางกฎหมาย การให้ปากคำต่อเจ้าพนักงานตามกฎหมาย การดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท การยื่นคำฟ้องหรือคำให้การในชั้นศาลในฐานะเป็นโจทก์ จำเลย หรือพยานบุคคล, การฝึกงาน ฝึกสอน สอบวัดผล เฉพาะกรณีที่ไม่ใช่การจัดบริการในสถาบันการศึกษา

หากถามว่าต้องมีจำนวนล่ามภาษามือกี่คนจึงจะเพียงพอต่อการให้บริการ นั้น ต้องมีการพิจารณาเสนอขอกรอบอัตราล่ามภาษามือประจำศูนย์บริการคนพิการจังหวัดทุกจังหวัด ซึ่งเบื้องต้นอาจกำหนดและผลักดันให้มีอย่างน้อยจังหวัดละ 1 คน โดยอย่างน้อยหน่วยงานที่ให้บริการประชาชนควรจะมีล่ามภาษามือไว้สำหรับให้บริการคนพิการ

จากสถิติข้อมูลคนพิการทางการได้ยินหรือสื่อสารความหมาย ที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ ทั้งสิ้น 423,973 คน ซึ่งฐานข้อมูลทะเบียนกลาง ของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2567 พบว่า กทม. มี 22,884 คน ภาคกลางและตะวันออก มี 84,350 คน ภาคอีสาน มี 162,456 คน ภาคใต้ มี 55,020 คน อย่างไรก็ตามทางสมาคมล่ามภาษามือแห่งประเทศไทย เคยวิเคราะห์ข้อมูลเฉลี่ยความสามารถในการให้บริการด้านภาษามือชุมชน ไว้ว่าคนหูหนวก 10 คนต่อล่ามภาษามือ 1 คน ดังนั้นควรมีล่ามภาษามือในสัดส่วนที่เหมาะสม ประมาณ 42,000 คน

ดังนั้นกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะผลักดัน เพื่อแก้ไขวิกฤตขาดแคลนล่ามภาษามือ แบ่งเป็นระยะเร่งด่วน ประสานงานกับสถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยสวนดุสิต, สมาคมล่ามภาษามือแห่งประเทศไทย, สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย ร่วมกันออกแบบหลักสูตรและวิธีการอบรมล่ามภาษามือ และจัดทำหลักเกณฑ์การประเมินมาตรฐานล่ามภาษามือ

ระยะกลาง สนับสนุนสถาบันการศึกษา หน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้อง ให้รับนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรด้านล่างภาษามือ (หลักสูตร 1 ปี) และหลักสูตรล่ามภาษามือระดับปริญญาตรี ให้กับผู้สนใจทั้งคนพิการและไม่พิการ โดยอาจแบ่งระยะเวลาการเรียนและการปฏิบัติงานจริงเป็นช่วงเวลา และประสานกับสำนักงาน ก.พ. เพื่อกำหนดตำแหน่งล่ามภาษามือเป็นตำแหน่งขาดแคลนรวมทั้งการมีค่าตอบแทนพิเศษ ให้บรรจุประจำอยู่ในศูนย์บริการคนพิการระดับจังหวัดทั่วประเทศ

ระยะยาว ให้ทุนการศึกษาแก่บุคลากรภาครัฐ โดยเฉพาะบุคลากรของกระทรวง พม. ได้เรียนหลักสูตรล่ามภาษามือเพื่อรองรับการทำหน้าที่ในหน่วยงานทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

พม. รับมอบข้าวสาร 7,200 กก. จากบิ๊กซี ส่งต่อให้กลุ่มเปราะบางที่ประสบปัญหาทางสังคม

 
เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2567 เวลา 10.30 น. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานรับมอบข้าวสารถุง จำนวน 7,200 กิโลกรัม จากบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) โดย คุณอัศวิน – คุณฐาปณี เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) เพื่อมอบให้ศูนย์ สถาน บ้าน นิคม ในสังกัดกระทรวง พม. ในการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคม ณ บริเวณโถงชั้น 1 กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวง พม. สะพานขาว กรุงเทพฯ

นายวราวุธ กล่าวว่า ตนในนามของกระทรวง พม. ขอขอบคุณคณะผู้บริหาร บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทผู้ผลิตข้าวสารถุง ที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุน ส่งเสริมคุณภาพชีวิต และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนกลุ่มเปราะบาง โดยการมอบข้าวสารถุง จำนวน 7,200 กิโลกรัม ให้แก่กระทรวง พม. เพื่อส่งต่อไปยังกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ เด็กเยาวชน คนพิการ ผู้สูงอายุ คนไร้ที่พึ่ง กลุ่มเปราะบาง และผู้ประสบปัญหาทางสังคม ทั้งนี้ ขอให้ทุกท่านมั่นใจว่าข้าวสารที่ได้รับบริจาคในวันนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริง และกระทรวง พม. จะเร่งจัดส่งข้าวสารดังกล่าวให้แก่กลุ่มเป้าหมายที่มีความต้องการ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคต่อไป

คุณฐาปณี กล่าวเพิ่มเติมว่า ในนามของบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) มีความยินดีที่ได้มาร่วมบริจาคข้าวสารถุง จำนวน 7,200 กิโลกรัม ในวันนี้ เพื่อร่วมถวายพระราชกุศลและเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 สำหรับการบริจาคข้าวสารเกิดจากความร่วมมือที่สำคัญ ภายใต้การจัดงาน “ข้าวถุงร่วมใจ ประหยัดทั่วไทย ที่บิ๊กซี ครั้งที่ 16” โดยบิ๊กซีได้ร่วมกับคู่ค้าผู้ผลิตข้าวถุงทั้ง 16 ราย 20 แบรนด์ ร่วมบริจาคข้าวสาร จำนวน 16 ตัน ให้แก่มูลนิธิ บีเจซี บิ๊กซี เพื่อนำไปส่งมอบให้กับชุมชน สถานสงเคราะห์ และสถานศึกษา

ทั้งนี้ บิ๊กซี ยินดีและพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับภาครัฐและภาคเอกชนอย่างเต็มความสามารถ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการให้ความช่วยเหลือสังคมอย่างรอบด้าน ทั้งด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข ด้านการสร้างอาชีพ ส่งเสริมผู้ด้อยโอกาส พัฒนาคุณภาพชีวิต และช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยเมื่อยามวิกฤต และหวังว่าการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีจะช่วยแก้ไขปัญหาและพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืนต่อไป
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
NEWS UPDATE

“วราวุธ” เป็นพยาน พม. – ออมสิน แก้หนี้ ขรก.พม. เตรียมขยายแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย

 
เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 67 เวลา 09.30 น. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “โครงการส่งเสริมภูมิคุ้มกันทางการเงิน (MSO FinProtect)” ระหว่างกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กับธนาคารออมสิน โดยมี นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และนายวุฒิพงษ์ ภิรมยาภรณ์ รองผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กลุ่มลูกค้าฐานรากและสนับสนุนนโยบายรัฐ ร่วมลงนาม ณ ห้องประชุม ชั้น 2 อาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ สะพานขาว กรุงเทพฯ

นายวราวุธ กล่าวว่า ตามที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยถึงปัญหาหนี้สิ้นของประชาชน และได้สั่งการให้ทุกกระทรวงรวบรวมปัญหาหนี้สิ้นทั้งระบบ เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการวางแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินให้แก่ประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินของบุคลากรกระทรวง พม. โดยความร่วมมือกับธนาคารออมสิน ภายใต้ “โครงการส่งเสริมภูมิคุ้มกันทางการเงิน (MSO FinProtect)” เป็นการประสานความร่วมมือในการให้ความช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้สินให้แก่บุคลากรกระทรวง พม. ตลอดจนสนับสนุนความรู้และให้คำปรึกษาแนะนำ การวางแผน และการรักษาวินัยทางการเงิน 

นายวราวุธ กล่าวต่อไปว่า ความร่วมมือในวันนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของทั้งสองหน่วยงานในการช่วยเหลือสวัสดิการด้านการเงินให้แก่บุคลากรกระทรวง พม. ทุกคน ทุกระดับ โดยผู้บริหารทั้งสองหน่วยงานตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลสวัสดิการด้านการเงินของบุคลากร เพื่อแบ่งเบา แก้ไขปัญหาภาระหนี้สิน ด้วยการสนับสนุนข้อมูล ความรู้ การให้คำปรึกษาแนะนำ การจัดการมาตรการผ่อนปรนทางด้านดอกเบี้ย การวางแผนและการรักษาวินัยทางการเงิน ซึ่งจะส่งผลต่อบุคลากรที่พร้อมเข้าร่วมโครงการในวันนี้ จำนวน 3,233 คน มียอดหนี้สินรวมกัน 3,884,720,010 บาท ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งนี้ สำหรับการปรับโครงสร้างหนี้สินของบุคลากรกลุ่มนำร่อง จำนวน 150 คน วงเงินไม่เกิน 250,000 บาท โดยเบื้องต้นของเป้าหมายคือ ลูกหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และหนี้นอกระบบ มีจำนวนหนี้รวมทั้งหมด 16,118,109 บาท ในจำนวนเงินดังกล่าว มีภาระชำระดอกเบี้ย จำนวนเงิน 3,183,665 บาทต่อปี หากทำการปรับโครงสร้างหนี้สินกับธนาคารออมสินแล้ว จะสามารถลดภาระการชำระดอกเบี้ยได้ จำนวนเงิน 1,733,035 บาทต่อปี จะเห็นได้ว่าเบื้องต้น เป็นโครงการนำร่องจากจำนวนบุคลากร 150 เท่านั้น และหากดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้สินได้ทั้งหมด 3,233 คน จะส่งผลให้ภาระหนี้สินด้านดอกเบี้ยที่จ่ายได้ผ่อนคลายลง สำหรับบุคลากรที่ได้ปรับโครงสร้างหนี้สินในเรื่องการยืดระยะเวลาชำระ ยิ่งจะส่งผลให้ลดภาระค่าใช้จ่ายต่อเดือน ทำให้สามารถบริหารการเงินส่วนบุคคลให้เกิดสภาพคล่องในการดำรงชีพได้ดียิ่งขึ้น

นายวราวุธ กล่าวต่ออีกว่า ตั้งแต่ที่ตนได้เข้ามาทำงานที่กระทรวง พม. เมื่อเดือนกันยายน 2566 เห็นได้ว่าข้าราชการและเจ้าหน้าที่ รวมถึงอาสาสมัครของกระทรวง พม. มีภารกิจมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องรับฟังปัญหาและเข้าไปแก้ปัญหาของพี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านที่อยู่อาศัย สภาพความเป็นอยู่ของแต่ละครอบครัว ดังนั้น การที่กระทรวง พม. จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องดูแลคนของเรา ก่อนที่จะเข้าไปช่วยเหลือคนอื่น เพราะฉะนั้นแล้ว เราจะเป็นน้ำที่ไม่เคยเต็มแก้ว ดังนั้น วันนี้สิ่งที่สำคัญคือการแสดงให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของกระทรวง พม. ได้เห็นว่าผู้บริหารของกระทรวง พม. ทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายข้าราชการ เข้าใจและให้ความสำคัญกับสถานการณ์และความเป็นอยู่ของเพื่อนข้าราชการทุกคน จึงเป็นเหตุผลให้เริ่มดำเนินโครงการในวันนี้ และต้องขอขอบคุณธนาคารออมสินที่เข้ามาเป็นผู้แก้โครงสร้างหนี้สินและดูแลการจัดระเบียบของหนี้สินทั้งหลายของข้าราชการและเจ้าหน้าที่กระทรวง พม. 

นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า เบื้องต้นของโครงการนี้ จะเข้ามาดูปริมาณหนี้สินทั้งหมดว่า มีจำนวนเท่าไหร่และจะมาปรับอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเรารู้อยู่แล้วว่าอัตราดอกเบี้ยของบัตรเครดิตนั้นค่อนข้างสูง ดังนั้น การที่ธนาคารออมสินเข้ามาดูแลหนี้สิน ดอกเบี้ยบัตรเครดิต เราจะสามารถปรับมูลค่าดอกเบี้ยที่เราต้องจ่ายลดลงไปได้กว่าครึ่ง ซึ่งคาดว่าจะช่วยแบ่งเบาภาระของข้าราชการและเจ้าหน้าที่กระทรวง พม. ไปได้มากพอสมควร นอกจากนี้ เรายังมีแผนเจรจากับสถาบันการเงิน เรื่องหนี้ที่อยู่อาศัย เพราะปัญหาที่อยู่อาศัยเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญของพี่น้องประชาชนรวมถึงเพื่อนข้าราชการกระทรวง พม. ดังนั้น การที่เราจะสามารถเข้ามาแก้ปัญหาเรื่องหนี้สินเรื่องบ้าน ตนเชื่อมั่นว่าการทำโครงการนี้และในอนาคตนั้น จะเพิ่มศักยภาพการทำงาน
ของเพื่อนข้าราชการกระทรวง พม. ได้เป็นอย่างดี
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
SOCIETY & POLITICS

พม.แจ้งสติ ปี 66 พบเด็กและสตรี กว่า 54.25 % “ถูกทำร้ายร่างกาย”

 

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 เวลา 13.30 น. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) แถลงข่าวการจัดกิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิด “รวมพลังหยุดความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว” (Unite for the Prevention of Violence against Women and Children) เนื่องในเดือนพฤศจิกายนของทุกปี เป็นเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว เพื่อการรณรงค์สร้างกระแสสังคมในการการรับรู้ผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ช่องทางต่างๆ ให้เกิดความตระหนักต่อประเด็นปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว รวมทั้งกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนในสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการรณรงค์ สนับสนุน และจัดกิจกรรมด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ณ บริเวณโถง ชั้น 1 อาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์


นายวราวุธ กล่าวว่า ปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี บุคคลในครอบครัว และความรุนแรงในสังคมทุกรูปแบบ เป็นปัญหาสำคัญที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ ซึ่งผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่มักจะเป็นเด็กและสตรี โดยในสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว ตามระบบฐานข้อมูลความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว ภายใต้ www.violence.in.th พบว่า เหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัว ปี 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,264 เหตุการณ์ โดยมีประเภทเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นมากที่สุด คือ การทำร้ายร่างกาย จำนวน 996 เหตุการณ์ คิดเป็นร้อยละ 54.25 รองลงมา คือ ดุด่า/ดูถูก จำนวน 344 เหตุการณ์ และหยาบคาย/ตะคอก/ประจาน/ขู่/บังคับ จำนวน 300 เหตุการณ์ ตามลำดับ โดยผู้หญิงเป็นผู้ถูกกระทำมากที่สุด จำนวน 896 ราย คิดเป็นร้อยละ 77.98 ของผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงทั้งหมด (ข้อมูลในปี 2566 ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2566) ทั้งนี้ ปัญหาความรุนแรงไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต ในระดับปัจเจกบุคคลต่อผู้ถูกกระทำเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อครอบครัว และส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวมอีกด้วย    


นายวราวุธ กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ กระทรวง พม. โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิด “รวมพลังหยุดความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว” (Unite for the Prevention of Violence against Women and Children) โดยมีการจัดกิจกรรมสำคัญ 2 กิจกรรม ได้แก่ 1) กิจกรรม “ติดเข็มกลัดริบบิ้นสีขาวแก่นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี” เพื่อรณรงค์ประชาสัมพันธ์ในการกระตุ้นเตือนให้สังคมตระหนักถึงปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว รวมทั้ง กระตุ้นให้ทุกภาคส่วนในสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการรณรงค์ โดยใช้ “ริบบิ้นสีขาว” (White Ribbon) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สากลในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การจัดกิจกรรมรณรงค์อย่างต่อเนื่องทุกปี ในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 ระหว่างเวลา 07.30 – 09.00 น. ณ ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ และ 2) กิจกรรม “รณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว” ซึ่งมีภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชน ศิลปินดารา นักเรียน นักศึกษา เด็ก สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และประชาชนทั่วไป ร่วมเดินขบวนรณรงค์เชิงสัญลักษณ์ เพื่อรวมพลังยุติความรุนแรงในสังคมทุกรูปแบบ ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2566 ระหว่างเวลา 15.30 – 20.30 น. ณ จังหวัดสุพรรณบุรี โดยมีกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ 1) กิจกรรมเดินรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว เริ่มจากโรงเรียนสุพรรณภูมิ ถึงสวนเฉลิมภัทรราชินี (หอคอยบรรหาร – แจ่มใส) และ 2) กิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ประกอบด้วย พิธีเปิดกิจกรรม และพิธีมอบโล่รางวัลเชิดชูเกียรติแก่บุคลากรและหน่วยงานที่สนับสนุนและส่งเสริมการยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ประจำปี 2566 เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติและสร้างขวัญกำลังใจในการเป็นแบบอย่างที่ดีต่อสังคมในการสนับสนุนและส่งเสริมการยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว และการแสดงต่างๆ จากโรงเรียนในพื้นที่


นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในนามของกระทรวง พม. ขอขอบคุณสื่อมวลชนที่เป็นพลังหลักในการสื่อสารข่าวสาร และข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ให้ประชาชนได้รับทราบ รับรู้ และตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาอย่างมากมาย พร้อมทั้งขอขอบคุณภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมรณรงค์ร่วมกันในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงมาโดยตลอด ซึ่งหวังว่าเราจะร่วมกันยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว เพื่อความมั่นคงและความสงบสุขของสังคมไทย

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

พม. จับมือสภาสังคมสงเคราะห์ฯ หนุนเป็นช่างซ่อมสังคมไทย

 

   เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 66 เวลา 15.00 น. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานพิธีประกาศเกียรติคุณอาสาสมัครดีเด่นและองค์การที่มีกิจกรรมทางสังคมดีเด่น เนื่องในโอกาสงานวันสังคมสงเคราะห์แห่งชาติและวันอาสาสมัครไทย ประจำปี 2566 โดยมี นายอนุกูลปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) และ ดร.วิชัย ไทยถาวร รองประธานสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวรายงาน อีกทั้งมีการรับชม พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาผ่านการบันทึกวีดิโอ เนื่องในวันสังคมสงเคราะห์แห่งชาติและวันอาสาสมัครไทยประจำปี 2566 ทั้งนี้ นางจตุพร โรจนพานิช อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ พร้อมคณะผู้บริหาร กระทรวง พม. เข้าร่วมพิธี  ณ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ กรุงเทพมหานคร

         นายวราวุธ กล่าวว่า เนื่องด้วยวันที่ 21 ตุลาคมของทุกปี ตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พระมารดาแห่งการสังคมสงเคราะห์) หรือ “สมเด็จย่า” ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดให้เป็นวันสังคมสงเคราะห์แห่งชาติและวันอาสาสมัครไทย และปี 2566 นับเป็นวาระครบรอบ 100 ปี วันประสูติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทั้งนี้ กระทรวง พม. โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) ได้ร่วมกับ สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัด “งานวันสังคมสงเคราะห์แห่งชาติและวันอาสาสมัครไทย” ประจำปี 2566 เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณและเผยแพร่พระเกียรติคุณที่เกี่ยวข้องกับการจัดสวัสดิการสังคม การสังคมสงเคราะห์ และการพัฒนาสังคม ตลอดจนการประกาศเกียรติคุณอาสาสมัครและองค์การที่มีกิจกรรมทางสังคมดีเด่น อีกทั้งมีการจัดนิทรรศการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี  และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ นิทรรศการอาสาสมัครดีเด่นและองค์การที่มีกิจกรรมทางสังคมดีเด่น และเวทีสมัชชาสวัสดิการสังคมแห่งชาติ ครั้งที่ 31 ในหัวข้อ “การจัดสวัสดิการเติมเต็มครอบครัว”

          นายวราวุธ กล่าวต่อไปว่า เราทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานในฐานะอาสาสมัครและส่วนหนึ่งขององค์กร ซึ่งสังคมไทยวันนี้กำลังต้องการ “การซ่อม” เพราะมีอาการป่วยอยู่หลายส่วน เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เป็นเครื่องยืนยันได้ว่า สังคมไทยในวันนี้ต้องมีคนมารักษา มาช่วยกันทำงาน ซึ่งขอขอบคุณอาสาสมัครทุกท่าน ทุกองค์กร ที่ได้รับรางวัลในวันนี้ เพราะทุกคนกำลังเป็น ช่างของสังคม เป็นช่างที่กำลังจะมาซ่อมสังคมไทย ที่วันนี้เหลือฟางอยู่ไม่กี่เส้นแล้ว ที่กำลังจะแตกตัวออกไป 

          นายวราวุธ กล่าวต่อไปอีกว่า พ่อบรรหารเคยสอนตนไว้ว่าจะทำงานให้สำเร็จ ต้องใช้ 3 อย่างด้วยกัน อย่างแรก ต้องมีเงิน สอง ต้องมีคน และสาม ต้องมีใจ หากการทำงานอาสาสมัครแล้วไม่มีใจก็ย่อมไม่เกิดประโยชน์ แต่พวกเราในที่นี้มีครบทั้งสามองค์ประกอบ จึงเป็นโอกาสที่เราจะได้มาเป็นช่างซ่อมสังคมไทย เพื่อไม่ให้เห็นเหตุการณ์หรือเกิดสิ่งที่เราไม่อยากเห็นในสังคมไทย ไม่ว่าจะเกิดกับกลุ่มเปราะบางกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง อาทิ เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ และคนพิการ เป็นต้น

         นายวราวุธ กล่าวต่อไปอีกว่า ในนามของกระทรวง พม. ขอขอบคุณทุกท่านทุกองค์กร เนื่องจากกำลังของพวกเรามีอยู่เพียงหยิบมือเดียว ถ้าหากขาดการสนับสนุนและการทำงานร่วมมือกันของหลายๆ องค์กร และที่สำคัญคืออาสาสมัครที่อยู่ในที่นี้ ตนเชื่อว่ายังมีอีกหลายคนที่ทำงานอาสาสมัครและสมควรได้รับรางวัล แต่ยังไม่ได้มาอยู่ในที่นี้ ตนขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านในการทำสิ่งที่ดีให้กับสังคมไทยต่อไป 

            นายวราวุธ กล่าวต่อไปอีกว่า และไม่ใช่ว่าผู้ที่ไม่ได้รับรางวัลในวันนี้ ทางกระทรวง พม. จะไม่เห็นความสำคัญ ขอฝากบอกว่าทุกการกระทำ และทุกลมหายใจของทุกท่าน ที่กำลังทำงานในฐานะอาสาสมัครให้กับแผ่นดินไทยอยู่นั้น พวกเราทุกคนในนามของกระทรวง พม. ขอบคุณด้วยหัวใจ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การทำดีเช่นนี้จะได้รับการขยายต่อ เผยแพร่ต่อ หากวันนี้เรากลับไปแล้วสามารถเพิ่มจำนวนอาสาสมัครและองค์กรได้ 1:1 เชื่อได้ว่า ในปีหน้าจะมีผู้ที่ได้รับรางวัลเพิ่มมากขึ้น

            นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับปี 2566 มีอาสาสมัครดีเด่นได้รับรางวัล 238 ราย อาทิ นางสาวพุทธิอร ไพบูลย์สุวรรณ (ป้าจิ๊)  นายสมพงษ์ คุนาประถม (อื๊ดโปงลาง)  ศ.กิตติคุณ ดร.ชนิตา รักษ์พลเมือง  นางสุพัตรา จิราธิวัฒน์ และนายชวินทร์ ศิรินาค เป็นต้น และมีองค์การที่มีกิจกรรมทางสังคมดีเด่น ได้รับรางวัล 23 องค์การ อาทิ  เทศบาลตำบลทับมา จังหวัดระยอง  เทศบาลตำบลเกาะคา จังหวัดลำปาง  องค์การบริหารส่วนตำบลรางจรเข้  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  เทศบาลนครเจ้าพระยาสุรศักดิ์ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี  มูลนิธิปากน้ำโพธิ์ประชานุเคราะห์ จังหวัดนครสวรรค์  ศูนย์เรียนรู้เพื่อครอบครัวเข้มแข็ง จังหวัดลำปาง  มูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ (ประเทศไทย) สาขาภูเก็ต  บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โรงแยกก๊าซธรรมชาติระยอง และบริษัท เฉาก๊วยชากังราว จำกัด เป็นต้น

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
NEWS UPDATE

พม. ส่งทีมสหวิชาชีพ ร่วมรับแรงงานไทย กลับจากอิสราเอล ทุกไฟลท์บิน

 

 

วันนี้ (18 ต.ค. 66) เวลา 15.00 น. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดเผยถึงกรณีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ส่งเจ้าหน้าที่สหวิชาชีพและทีมนักจิตวิทยา ร่วมดูแลเยียวยาแรงงานไทยที่เดินทางกลับจากประเทศอิสราเอล ว่า กระทรวง พม. ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าร่วมปฏิบัติการรับแรงงานไทยทุกเที่ยวบิน ซึ่งเราจะมีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ที่สนามบิน ซึ่งทุกจังหวัดที่เราได้รับรายงานว่า มีสมาชิกของคนในครอบครัวเดินทางไปทำงานที่ประเทศอิสราเอล ขณะนี้สามารถยืนยันผู้เสียชีวิต โดยการพิสูจน์อัตลักษณ์ได้เพียง 1 ราย แต่ผู้เสียชีวิตมีจำนวนมากกว่านั้น ทั้งนี้ การยืนยันอัตลักษณ์ของแต่ละราย ยังเป็นไปได้ด้วยความล่าช้า เพราะมีหลายประเทศที่ประสบปัญหาเช่นเดียวกับประเทศไทยในการขอข้อมูลจากทางการอิสราเอล ซึ่งกำลังเร่งติดตามอยู่ทุกนาที 

 

          นายวราวุธ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บที่กระทรวง พม. ต้องเข้าไปดูแลเยียวยาสภาพจิตใจไปพร้อมกับหลายหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนทั้งเรื่องเงินชดเชยเยียวยาต่าง ๆ โดยงานสำคัญของกระทรวง พม. คือการเยียวยาสภาพจิตใจ ว่าแต่ละคนได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง อย่างไรก็ตาม บางปัญหาไม่สามารถแก้ไขได้ในเวลาชั่วข้ามคืน แต่การที่มีคนเข้าพูดคุย นั่งฟัง เพื่อให้เขาได้ระบายความรู้สึกต่าง ๆ เหล่านั้น ดีกว่าเก็บขังเอาไว้ภายในใจ และจะช่วยบรรเทาความเครียดได้ในระดับหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม บางรายไม่ต้องการให้เจ้าหน้าที่เข้าช่วยเหลือเยียวยา และมีบางรายที่แจ้งความจำนงว่าอยากจะเข้ามาพูดคุยปรึกษากับทาง พม. จังหวัด ซึ่งกระทรวง พม. จะส่งเจ้าหน้าที่สหวิชาชีพและนักจิตวิทยาเข้าเยี่ยมแต่ละบ้าน เพื่อให้ได้ร่วมพูดคุย แลกเปลี่ยนความรู้สึก 

 

        นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ กระทรวง พม. ทำงานปฏิบัติการร่วมกับกรมสุขภาพจิตกระทรวงสาธารณสุข และการกลับมาถึงของพี่น้องแรงงานไทยในแต่ละครั้งนั้นเป็นจำนวนหลักร้อย แต่การทยอยเข้ามาของแรงงานไทย ทำให้สรรพกำลังที่เรามีอยู่ขณะนี้ยังสามารถรับมือได้ อย่างไรก็ตาม ขอขอบคุณนายกรัฐมนตรี และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงกลาโหม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน ที่ดำเนินการร่วมกันอย่างเต็มที่ ถึงแม้ขณะนี้ นายกรัฐมนตรีปฏิบัติภารกิจอยู่ต่างประเทศ แต่จะโทรศัพท์กลับมาติดต่อกับทุกหน่วยงานด้วยตัวท่านเอง และคอยสอบถามความคืบหน้าการทำงานอยู่ตลอด ซึ่งต้องขอขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่คอยติดตามงาน

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
SOCIETY & POLITICS

พม. จัดงานย้อนยุค มหกรรมวันผู้สูงอายุสากล ปี 2566

 

เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 66 เวลา 16.00 น. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานในพิธีเปิดงานมหกรรมวันผู้สูงอายุสากล ประจำปี พ.ศ. 2566 (International Day of Older Persons 2023) ภายใต้แนวคิด “ชาญชาลา : คนต่างวัย หัวใจเดียวกัน Across Generations” โดยมี นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นางสาวแรมรุ้ง วรวัธ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน Ms. Gita Sabharwal UN Resident Coordinator คณะผู้บริหารกระทรวง พม. และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงาน ณ สถานีรถไฟกรุงเทพฯ (หัวลำโพง)

         นายวราวุธ กล่าวว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้สูงอายุกว่า 12 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 19.77 ของประชากรทั้งประเทศ และคาดว่าในอนาคตประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอด ดังนั้น การสร้างความเข้าใจระหว่างคนต่างวัย ให้รับรู้ถึงความแตกต่างและสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขนั้น นับเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งเราจึงจำเป็นต้องร่วมกันสร้าง “พื้นที่แห่งความสุข”และร่วมกันส่งเสริมให้ผู้สูงอายุเป็น “พฤฒิพลัง” หรือ Active Aging เพื่อดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคม โดยไม่มีอายุเป็นข้อจำกัด ทั้งนี้ กระทรวง พม. โดยกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) จึงได้จัดงานมหกรรมวันผู้สูงอายุสากล ประจำปี พ.ศ. 2566 ภายใต้แนวคิด “ชาญชาลา : คนต่างวัย หัวใจเดียวกัน Across Generations” ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดวันผู้สูงอายุสากล ปี พ.ศ. 2566 “Fulfilling the Promises of the Universal Declaration of Human Rights for Older Persons: Across Generations” คือ “บรรลุคำมั่นสัญญาแห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนสำหรับผู้สูงอายุและคนต่างรุ่นเพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้สูงอายุได้รับสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียมกัน และขจัดปัญหาความแตกต่างระหว่างคนต่างวัย รวมถึงการไม่เลือกปฏิบัติและการส่งเสริมความเสมอภาคของทุกคน”

         นายวราวุธ กล่าวต่อไปว่า งานมหกรรมฯ ครั้งนี้ มีการจัดกิจกรรมที่น่าสนใจในบรรยากาศวันวานย้อนยุค ประกอบด้วย 1) การประกาศเจตนารมณ์วันผู้สูงอายุสากล 2) การแสดงนิทรรศการวิชาการ 3) ร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาผู้สูงอายุ เช่น น้ำตาลสด ไอศกรีมข้าวลูกชิ้นเห็ดภูฐาน ข้าวเหนียวหมู และขนมไทยโบราณ เป็นต้น 4) การถ่ายทอดภูมิปัญญาผู้สูงอายุกับคนต่างวัย เช่น โมบายรังผึ้งและสานปลาตะเพียน 5) การแสดงดนตรี โดยวงดุริยางค์ทหารบก 6) รำวงย้อนยุค และ 7) การแสดงชุดพิเศษ Across Generations เพลง “ฟังข่าวทิดแก้ว” เพื่อเป็นการสื่อสารสร้างการรับรู้ให้สังคมได้เห็นคุณค่าของวัฒนธรรมที่ดีงามของไทยการเคารพและอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขของคนต่างวัยที่มีหัวใจเดียวกัน การสร้างสัมพันธภาพที่ดีงาม และการมีส่วนร่วมของคนต่างวัยในการดูแลผู้สูงอายุ รวมถึงได้ยึดโยงให้ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาศักยภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุ

        นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้ เป็นวันผู้สูงอายุสากลที่องค์การสหประชาชาติได้กำหนดขึ้น และประเทศไทยได้สานต่อ ซึ่งต้องเรียนว่า ต่อจากนี้ไป ผู้สูงอายุทุกท่านจะเป็นพลังสำคัญ ท่านไม่เป็นภาระหรือผู้ไม่มีศักยภาพ เพราะทุกท่านผ่านประสบการณ์มาอย่างมากมาย ล้วนมีศักยภาพที่พร้อมจะเป็นทรัพยากรที่สำคัญของสังคมไทย ดังนั้น เนื่องในวันผู้สูงอายุสากล กระทรวง พม. จึงร่วมเฉลิมฉลอง และจากนี้ไป จะเสริมสร้างศักยภาพของผู้สูงอายุในประเทศไทยให้เป็นกลุ่มคนที่เป็นกำลังหลักคอยสนับสนุนคนรุ่นต่างๆ ในสังคมไทย ซึ่งคนทุกๆ กลุ่ม จะต้องเดินไปด้วยกัน ทั้งนี้ ตนขอเป็นกำลังใจให้ผู้สูงอายุทุกท่านได้ใช้ชีวิตสูงวัยได้อย่างมีความสุข และกระทรวง พม. จะขับเคลื่อนนโยบายด้านผู้สูงอายุ ด้วยศูนย์บริบาลผู้สูงอายุในชุมชนที่ตั้งเป้าจะให้ลูกหลานกลับมาดูแลคนในชุมชนของตนเอง ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ผู้สูงอายุหลายๆ ท่าน มีความสบายใจ และจะเป็นกำลังสำคัญในการประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน อีกทั้งทำให้ผู้สูงอายุมีความสุขทั้งสุขภาพกายและใจที่แข็งแรง และเติบโตไปด้วยกันกับทุกช่วงวัย 

        “วันนี้เป็นบรรยากาศที่อบอุ่นมาก ได้เห็นความสนุกสนาน พลังแห่งความสร้างสรรค์ ถึงแม้ว่าจะสูงวัย แต่ไม่ได้อ่อนแรง ซึ่งรู้สึกภาคภูมิใจที่เห็นทุกท่านแข็งแรง และเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญ รวมทั้งเป็นเข็มทิศให้กับคนรุ่นต่อๆ ไป” นายวราวุธ กล่าวในตอนท้าย 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 66 เวลา 16.00 น. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานในพิธีเปิดงานมหกรรมวันผู้สูงอายุสากล ประจำปี พ.ศ. 2566 (International Day of Older Persons 2023) ภายใต้แนวคิด “ชาญชาลา : คนต่างวัย หัวใจเดียวกัน Across Generations” โดยมี นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นางสาวแรมรุ้ง วรวัธ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน Ms. Gita Sabharwal UN Resident Coordinator คณะผู้บริหารกระทรวง พม. และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงาน ณ สถานีรถไฟกรุงเทพฯ (หัวลำโพง)

         นายวราวุธ กล่าวว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้สูงอายุกว่า 12 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 19.77 ของประชากรทั้งประเทศ และคาดว่าในอนาคตประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอด ดังนั้น การสร้างความเข้าใจระหว่างคนต่างวัย ให้รับรู้ถึงความแตกต่างและสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขนั้น นับเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งเราจึงจำเป็นต้องร่วมกันสร้าง “พื้นที่แห่งความสุข”และร่วมกันส่งเสริมให้ผู้สูงอายุเป็น “พฤฒิพลัง” หรือ Active Aging เพื่อดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคม โดยไม่มีอายุเป็นข้อจำกัด ทั้งนี้ กระทรวง พม. โดยกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) จึงได้จัดงานมหกรรมวันผู้สูงอายุสากล ประจำปี พ.ศ. 2566 ภายใต้แนวคิด “ชาญชาลา : คนต่างวัย หัวใจเดียวกัน Across Generations” ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดวันผู้สูงอายุสากล ปี พ.ศ. 2566 “Fulfilling the Promises of the Universal Declaration of Human Rights for Older Persons: Across Generations” คือ “บรรลุคำมั่นสัญญาแห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนสำหรับผู้สูงอายุและคนต่างรุ่นเพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้สูงอายุได้รับสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียมกัน และขจัดปัญหาความแตกต่างระหว่างคนต่างวัย รวมถึงการไม่เลือกปฏิบัติและการส่งเสริมความเสมอภาคของทุกคน”

         นายวราวุธ กล่าวต่อไปว่า งานมหกรรมฯ ครั้งนี้ มีการจัดกิจกรรมที่น่าสนใจในบรรยากาศวันวานย้อนยุค ประกอบด้วย 1) การประกาศเจตนารมณ์วันผู้สูงอายุสากล 2) การแสดงนิทรรศการวิชาการ 3) ร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาผู้สูงอายุ เช่น น้ำตาลสด ไอศกรีมข้าวลูกชิ้นเห็ดภูฐาน ข้าวเหนียวหมู และขนมไทยโบราณ เป็นต้น 4) การถ่ายทอดภูมิปัญญาผู้สูงอายุกับคนต่างวัย เช่น โมบายรังผึ้งและสานปลาตะเพียน 5) การแสดงดนตรี โดยวงดุริยางค์ทหารบก 6) รำวงย้อนยุค และ 7) การแสดงชุดพิเศษ Across Generations เพลง “ฟังข่าวทิดแก้ว” เพื่อเป็นการสื่อสารสร้างการรับรู้ให้สังคมได้เห็นคุณค่าของวัฒนธรรมที่ดีงามของไทยการเคารพและอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขของคนต่างวัยที่มีหัวใจเดียวกัน การสร้างสัมพันธภาพที่ดีงาม และการมีส่วนร่วมของคนต่างวัยในการดูแลผู้สูงอายุ รวมถึงได้ยึดโยงให้ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาศักยภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุ

        นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้ เป็นวันผู้สูงอายุสากลที่องค์การสหประชาชาติได้กำหนดขึ้น และประเทศไทยได้สานต่อ ซึ่งต้องเรียนว่า ต่อจากนี้ไป ผู้สูงอายุทุกท่านจะเป็นพลังสำคัญ ท่านไม่เป็นภาระหรือผู้ไม่มีศักยภาพ เพราะทุกท่านผ่านประสบการณ์มาอย่างมากมาย ล้วนมีศักยภาพที่พร้อมจะเป็นทรัพยากรที่สำคัญของสังคมไทย ดังนั้น เนื่องในวันผู้สูงอายุสากล กระทรวง พม. จึงร่วมเฉลิมฉลอง และจากนี้ไป จะเสริมสร้างศักยภาพของผู้สูงอายุในประเทศไทยให้เป็นกลุ่มคนที่เป็นกำลังหลักคอยสนับสนุนคนรุ่นต่างๆ ในสังคมไทย ซึ่งคนทุกๆ กลุ่ม จะต้องเดินไปด้วยกัน ทั้งนี้ ตนขอเป็นกำลังใจให้ผู้สูงอายุทุกท่านได้ใช้ชีวิตสูงวัยได้อย่างมีความสุข และกระทรวง พม. จะขับเคลื่อนนโยบายด้านผู้สูงอายุ ด้วยศูนย์บริบาลผู้สูงอายุในชุมชนที่ตั้งเป้าจะให้ลูกหลานกลับมาดูแลคนในชุมชนของตนเอง ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ผู้สูงอายุหลายๆ ท่าน มีความสบายใจ และจะเป็นกำลังสำคัญในการประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน อีกทั้งทำให้ผู้สูงอายุมีความสุขทั้งสุขภาพกายและใจที่แข็งแรง และเติบโตไปด้วยกันกับทุกช่วงวัย 

        “วันนี้เป็นบรรยากาศที่อบอุ่นมาก ได้เห็นความสนุกสนาน พลังแห่งความสร้างสรรค์ ถึงแม้ว่าจะสูงวัย แต่ไม่ได้อ่อนแรง ซึ่งรู้สึกภาคภูมิใจที่เห็นทุกท่านแข็งแรง และเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญ รวมทั้งเป็นเข็มทิศให้กับคนรุ่นต่อๆ ไป” นายวราวุธ กล่าวในตอนท้าย 

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
SOCIETY & POLITICS

“วราวุธ” ขับเคลื่อนงาน “พม. พอใจ : ให้ทุกวัยพึงพอใจใน พม.”

วันที่ 19 ก.ย. 2566  เวลา 09.00 น. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) มอบนโยบายการบริหารกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ “พม. พอใจ : ให้ทุกวัยพึงใจใน พม.” โดยมี นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) กล่าวรายงาน ทั้งนี้ คณะผู้บริหาร หัวหน้าหน่วยงาน และเจ้าหน้าที่กระทรวง พม. ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ ร่วมรับฟังนโยบาย ณ  ห้องประชุมปกรณ์ อังศุสิงห์ ชั้น 2 อาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว ถนนกรุงเกษม กรุงเทพฯ พร้อมทั้งผ่านระบบถ่ายทอดสดออนไลน์ 


นายวราวุธ กล่าวว่า นโยบายการบริหารกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ “พม. พอใจ : ให้ทุกวัยพึงใจใน พม.” ตนมีหัวใจสำคัญในการทำงาน 3 ข้อหลัก ประกอบด้วย ข้อที่ 1 นับว่าที่สำคัญที่สุดคือ การทำงานตามรอยเบื้องพระยุคลบาท ด้วยการทำงานรับใช้ประชาชน ไม่ยอมรับการคอรัปชั่น การทุจริตต่างๆ  ข้อที่ 2 การเป็นนักบริหาร ไม่ใช่นักสังคมสงเคราะห์ นักสหวิชาชีพ ซึ่งหน้าที่ของตน คือ ทำงานเพื่อให้ทุกคนทำงานได้ง่ายขึ้น ดีขึ้น และเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น และ ข้อที่ 3 ทำได้จริง เกิดประโยชน์ โดยการขับเคลื่อนไปข้างหน้า (ปฏิบัตินิยม) ด้วยวิธีทำงาน “PSS” แม่นยำ (Precision) รวดเร็ว (Speed) สร้างความเปลี่ยนแปลง (Impactful Scale) 


นายวราวุธ กล่าวต่อไปว่า รัฐบาลได้ให้ความสําคัญกับความเท่าเทียมของประชาชนทุกกลุ่ม ด้วยการดูแลให้มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีงาน มีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม ด้วยสวัสดิการโดยรัฐ ซึ่งจะเป็นแนวทางในการทํางานของกระทรวง พม. อีกทั้งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ กระทรวง พม. ต้องดำเนินการถึง 8 เป้าหมายจากทั้งหมด 17 เป้าหมาย เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับสังคมไทย ซึ่งจะเป็นกรอบสําคัญในการกําหนดวิธีคิด แนวปฏิบัติในการทํางานของกระทรวง พม. ทั้งนี้ นโยบายการบริหารกระทรวง พม. ในวันนี้ จะเป็นกรอบการทำงานของทุกคนในกระทรวง พม. เพื่อให้กระทรวง พม. เป็นผู้นำและเป็นที่พึ่งของประชาชนทุกกลุ่มในการเข้าถึงโอกาสและการคุ้มครองทางสังคมที่นำไปสู่หลักประกันและความมั่นคงในชีวิต โดยมีการขับเคลื่อน 5 นโยบายสำคัญ ประกอบด้วย 


1) นโยบายเด็กแรกเกิดและเด็กเล็ก จนถึงอายุ 3 ปี นับเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมากของชีวิต โดยสิ่งที่เราจะทำและพัฒนา คือ สนับสนุนให้ท้องถิ่นมีบทบาทในการคุ้มครองเด็กมากขึ้น ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 บริหารจัดการเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด 600 บาท ให้ครอบคลุม ทั่วถึง และยกระดับศูนย์อนุบาลพัฒนาเด็กเล็กชุมชน  เป็นต้น 


2) นโยบายเด็กและเยาวชน เยาวชนคือวัยหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ จำเป็นต้องสนับสนุนการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพของครอบครัวอุปถัมภ์ (Foster Care) เป็นที่พึ่งให้กลุ่มเปราะบางได้จริง และนำร่องโครงการศิลปะบำบัดสำหรับเด็กใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเยียวยาฟื้นฟูทางจิตใจ เป็นต้น


3) นโยบายคนทำงาน สำหรับวัยทำงาน โดยพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยทั้งการถือครองกรรมสิทธิ์และการเช่า ผลักดันโครงการบ้านตั้งต้นสำหรับผู้เริ่มทำงานใหม่ (First Jobber) พัฒนาเยาวชนสู่การเป็นผู้ประกอบกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise)  ขับเคลื่อนโครงการเตรียมพร้อมสูงวัยก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุ (Pre-aging) โดยเฉพาะการบริหารการเงิน และโครงการสร้างรายได้สมาชิกนิคมสร้างตนเอง เป็นต้น


4) นโยบายผู้สูงอายุ ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์  (Complete Aged Society) ซึ่งกระทรวง พม. จำเป็นต้องเข้ามาดูแลผู้สูงอายุให้มากขึ้น ด้วยการพัฒนาสวัสดิการสังคมต่างๆ สำหรับผู้สูงอายุ อีกทั้งจัดตั้งศูนย์พักฟื้นและเสริมพลังชีวิต (Rejuvenation Center)  ศูนย์บริบาลผู้สูงอายุชุมชน/ตำบล  ศูนย์บริการจัดหางานผู้สูงอายุ และกองทุนพัฒนาชุมชรเพื่อผู้สูงอายุ สนับสนุนเงินกู้ยืมเพื่อการประกอบอาชีพ เพื่อความมั่นคงในชีวิต เป็นต้น


5) นโยบายคนพิการและคนไร้ที่พึ่ง สิ่งแรกที่สำคัญที่สุด คือ การปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 อีกทั้งยกระดับศูนย์บริการคนพิการทั่วไป ร่วมกับองค์กรด้านคนพิการ จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ร่วมกันระหว่างคนพิการกับคนไม่พิการ ปรับปรุงกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เพื่อให้เป็นที่พึ่งสำหรับคนพิการทุกกลุ่มจำนวน 2.2 ล้านคนทั่วประเทศ  และขับเคลื่อนโครงการฝึกอบรมแรงงานหรือระบบการจับคู่งานกับกลุ่มเป้าหมาย เพื่อเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพอิสระ เป็นต้น


นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า นโยบายการบริหารกระทรวง พม. 100 วันแรก เป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ง่าย เนื่องจากแนวการทำงานของกระทรวง พม. เป็นปัญหาที่มีความละเอียดอ่อนและมีความซับซ้อน ที่สำคัญคือเป็นปัญหาที่ต้องอาศัยการบูรณาการของหลายหน่วยงานที่ต้องร่วมมือกัน ฉะนั้น จึงไม่มีปัญหาไหนเร่งด่วนไปมากกว่ากัน ทั้งมิติเรื่องของเด็กเล็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ คนพิการ สตรี ทุกเพศ ทุกวัย ทุกสถานะ ซึ่งแต่ละหน่วยงานของกระทรวง พม. จะดูแลคนแต่ละกลุ่มแตกต่างกัน ดังนั้น เราจะขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน ไม่จำเป็นว่า 100 วันจะต้องทำให้เสร็จ แต่ให้คำมั่นว่าภายใน 100 วัน ทุกอย่าง จะมีการเริ่มต้นอย่างแน่นอน 


และวันนี้ เรามีคณะทำงานช่วยติดตามเร่งรัดนโยบายที่ได้มอบหมาย หากติดขัดปัญหาประการใด ตนและคณะทำงานจะเข้ามาช่วยให้ปัญหาเหล่านั้นได้รับการแก้ไข และทำให้งานของกระทรวง พม. เดินหน้าไปได้อย่างเต็มที่ เพราะท้ายที่สุดของเป้าหมายคือ การเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชน บรรเทาความเดือดร้อน ด้วยกลไกต่างๆ ที่มี ซึ่งนโยบายต่างๆ จะช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนดีมากยิ่งขึ้น 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
SOCIETY & POLITICS

พม. จับมือ 9 หน่วยงาน พัฒนามาตรฐานเด็กปฐมวัย

 
    วันนี้ (14 ก.ย. 66) เวลา 10.30 น. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เรื่องการใช้ข้อมูลจากระบบฐานข้อมูลสารสนเทศการพัฒนาเด็กปฐมวัยตามมาตรฐานชาติ ระหว่าง 10 หน่วยงาน ประกอบด้วย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงกลาโหม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมกระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร สํานักงานตํารวจแห่งชาติ และสํานักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) (สมศ.) พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “การพัฒนาเด็กปฐมวัยตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ” โดยมีนายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) ร่วมลงนาม MOU และนางอภิญญา ชมภูมาศ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กล่าวรายงาน ณ ห้องประชุม ชั้น 2 อาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว ถนนกรุงเกษม กรุงเทพฯ

        นายวราวุธ กล่าวว่า บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เรื่องการใช้ข้อมูลจากระบบฐานข้อมูลสารสนเทศการพัฒนาเด็กปฐมวัยตามมาตรฐานชาติ ระหว่าง 10 หน่วยงาน เป็นความร่วมมือในการนําเข้าข้อมูลในระบบฐานข้อมูลสารสนเทศการพัฒนา เด็กปฐมวัยตามมาตรฐานชาติให้ครบถ้วนสมบูรณ์และปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน ซึ่งเกิดจากการบูรณาการฐานข้อมูลด้านเด็กปฐมวัย เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการบริหาร การจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ให้มีความปลอดภัย รวมทั้งวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม สามารถสนับสนุนการใช้ประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยของประเทศร่วมกันได้ ส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการสมวัยทุกมิติทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม สติปัญญา คุณธรรม จริยธรรม และมีความพร้อม เข้าสู่ระบบการศึกษาในระดับประถมศึกษา นอกจากนี้ เป็นการบูรณาการข้อมูลผ่านระบบเชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การใช้ข้อมูลจากระบบฐานข้อมูลสารสนเทศการพัฒนาเด็กปฐมวัยตามมาตรฐานชาติ เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของแต่ละหน่วยงาน โดยคํานึงถึงการคุ้มครองสิทธิข้อมูลรายบุคคลของหน่วยงานร่วมกัน

        นายวราวุธ กล่าวต่อไปว่า สำหรับขอบเขตความร่วมมือครั้งนี้ หน่วยงานต้นสังกัดหรือหน่วยงานกํากับดูแลสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยทั้งในส่วนกลาง ภูมิภาค และท้องถิ่น มีหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน ประสานงาน กํากับ ดูแลให้สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย นําเข้าข้อมูลในระบบฐานข้อมูลสารสนเทศการพัฒนาเด็กปฐมวัยตามมาตรฐานชาติ (ระบบประเมินออนไลน์) ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ และปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน โดยระบบฐานข้อมูลดังกล่าว เป็นระบบที่นําเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ในการติดตามประเมินผลการดําเนินงานตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ ซึ่งมีการนําเข้าข้อมูลในระบบ 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 สําหรับสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยทั่วประเทศ ประมาณ 50,000 กว่าแห่ง และ ส่วนที่ 2 สําหรับเจ้าหน้าที่ต้นสังกัดในจังหวัด ผู้ปฏิบัติงานด้านเด็กปฐมวัย และผู้กํากับ ดูแล ติดตามการนําเข้าข้อมูลในระบบฐานข้อมูลสารสนเทศการพัฒนาเด็กปฐมวัยตามมาตรฐานชาติ จํานวน 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ ทุกหน่วยงานสามารถร่วมใช้ประโยชน์ฐานข้อมูลดังกล่าวได้ ด้วยการนําข้อมูลไปประกอบการจัดทํานโยบาย วิชาการ รวมถึงคําของบประมาณของหน่วยงาน เพื่อหาแนวทางในการส่งเสริม และสนับสนุนการยกระดับคุณภาพตามาตรฐานของสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย 

        นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน หลายหน่วยงานมีภารกิจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกันในการพัฒนาเด็กเล็ก อายุ 0 – 6 ปี ซึ่งวันนี้ได้รับเกียรติจาก 10 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง กทม. และทุกกระทรวง มาลงนามร่วมกันในการร่วมกันใช้ฐานข้อมูลที่แต่ละหน่วยงานมี ทั้งนี้ ในบริบทการพัฒนาเด็กเล็กนั้น ไม่สามารถแบ่งแยกได้ว่า เป็นหน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ซึ่งการลงนามความร่วมมือครั้งนี้หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้มีการนำข้อมูลของแต่ละหน่วยงานมาแลกเปลี่ยนเพื่อเป็นแนวทางการสร้างมาตรฐานดูแลเด็กเล็ก รวมทั้งเรื่องบุคลากรและสถานที่ เพื่อเด็กเล็กของประเทศไทย เติบโตอย่างมีคุณภาพ ถือว่าเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญในการพัฒนาประเทศชาติต่อไป และหวังเป็นอย่างยิ่งฐานข้อมูลที่มีความร่วมมือกันจะเกิดประโยชน์สูงสุดกับลูกหลานของคนไทยในอนาคต 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News