เมื่อวันศุกร์ที่ 6 กันยายน 2567 ณ ห้องจอมกิตติ ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดเชียงราย นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานการแถลงข่าว การช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเรียงรายฯ โดยมี นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ ว่าที่ร้อยตรี ศราวุธ จันทวงศ์ รองรู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นายครรชิต ชมภูแดง หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงราย และนายวรายุทธ ค่อมบุญ นายอำเภอเทิง เป็นผู้ร่วมแถลงข่าว โดยมีนางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พร้อมด้ววยหัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสื่อมวลชน เข้าร่วมการแถลงข่าวในครั้งนี้
นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้กล่าวว่า จังหวัดเชียงราย ได้จัดตั้งกองทุนฯ ในการซ่อมแซมที่อยู่อาศัย และจัดหาปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นในการดำรงชีพให้แก่ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ผ่านบัญชีธนาคาร กรุงไทย สาขาเชียงราย เลขที่บัญชี 504-3-23-732-5 ชื่อบัญชี กองทุนช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ปี พ.ศ.2567 โดยยอดบริจาคสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ 1 เท่า ซึ่งการจัดตั้งกองทุนในครั้งนี้เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะบ้านที่อยู่อาศัยที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย สำหรับการช่วยเหลือด้านสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภคในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนัก ก็ได้มีส่วนราชการ ภาคีเครือข่าย ภาคเอกชน ภาคสังคมสงเคราะห์ เหล่ากาชาด ในการแจกจ่ายสิ่งของเครื่องใช้ เพื่อใช้เป็นปัจจัยในการดำรงชีพพื้นฐาน ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของการช่วยเหลือ
นายครรชิต ชมภูแดง หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงราย ได้กล่าวถึงภาพรวมสถานการณ์จังหวัดเชียงราย ซึ่งตั้งแต่วันที่ 12 ส.ค. 67 เป็นต้นมา เกิดอุทกภัยและดินถล่มในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ในระหว่างวันที่ 14 ส.ค. – 5 ก.ย. 67 จำนวน 18 อำเภอ 106 ตำบล 925 หมู่บ้าน และบางส่วนในเขตเทศบาลนครเชียงราย จำนวน 27 ชุมชน ราษฎรได้รับผลกระทบ 34,131 ครัวเรือน 127,809 คน บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 31 หลัง บ้านเรือนเสียหายบางส่วน 2,861 หลัง ซึ่งเกิดจากน้ำป่าและดินสไลด์ สำหรับภาคการเกษตรได้รับผลกระทบภาพรวม 189,275 ไร่ ส่วนใหญ่ได้แก่ นาข้าว ไร่ข้าวโพด ไร่มัน พืชสวน พืชยืนต้น ด้านปศุสัตว์ได้รับผลกระทบ 356,000 ตัว ด้านประมง มีพื้นที่ได้รับผลกระทบทั้งบ่อปลาและบ่อกุ้ง รวม 4,137 ไร่ ถนนได้รับความเสียหาย 499 จุด สะพานและคอสะพาน 13 แห่ง ฝาย 69 แห่ง อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก 3 แห่ง ศาสนสถานและวัด 34 แห่ง สถานศึกษาได้รับผลกระทบ 30 แห่ง สำหรับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงมี 4 อำเภอได้แก่อำเภอเทิง อำเภอเวียงแก่น อำเภอพญาเม็งราย และอำเภอขุนตาล ซึ่งทั้ง 4 อำเภอนอกจากได้รับผลกระทบจากน้ำป่าไหลหลากแล้ว ยังได้รับผลกระทบจากน้ำอิงเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมทั้งพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่การเกษตรบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำของลำน้ำอิงด้วย
นายวรายุทธ ค่อมบุญ นายอำเภอเทิง ได้กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม จนถึงปัจจุบันนี้ อำเภอเทิงได้เกิดอุทกภัยขึ้น ได้รับผลกระทบ 10 ตำบล 156 หมู่บ้าน 713 ครัวเรือน มีผู้อพยพมายังศูนย์พักพิงรวมกว่า 105 ราย ซึ่งขณะนี้ทุกคนได้กลับบ้านแล้ว บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 7 หลังคาเรือน แต่ยังถือว่าเป็นเรื่องดีที่สถานการณ์เกิดในช่วงเวลากลางวัน ทำให้ไม่มีผู้เสียชีวิต มีเพียงผู้ได้รับบาดเจ็บเพียงแค่ 1 รายเท่านั้น
นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้กล่าวถึงกรณีการเยียวยาผู้เสียชีวิตจากเหตุอุทกภัยจำนวน 2 ราย คือ รายที่ 1 นายสุรชัย อายุ 56 ปี เป็นราษฎร ต.ปอ อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ถูกน้ำป่าพัดร่างขณะขี่จักรยานยนต์เข้าไปทำงานในไร่ ในส่วนของการให้ความช่วยเหลือ องค์การบริหารส่วนตำบลปอ ได้มอบค่าจัดการศพและเงินสงเคราะห์ครอบครัว เป็นเงิน 59,400 บาท และสำนักงานประกันสังคมจังหวัดเชียงราย มอบเงินสงเคราะห์กรณีผู้ประกันตน มาตรา 33 เสียชีวิตให้แก่ทายาทนายสุรชัยฯ เป็นเงิน 87,353.97 บาท และ คปภ. เยียวยาให้อีก 35,000 บาท รายที่ 2 นายชวฤทธิ์ อายุ 49 ปี เป็นราษฎรบ้านป่าตาลแดง หมู่ที่ 3 ต.ป่าตาล อ.ขุนตาล จ.เชียงราย ถูกน้ำป่าพัดร่างสูญหายตั้งแต่วันที่ 21 ส.ค. 67 เวลา 09.00 น. พบร่างในวันที่ 24 ส.ค. 67 โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้มอบค่าจัดการศพ 29,700 บาท และสำหรับพี่น้องประชาชนที่บ้านเรือนเสียหาย จะได้รับเงินเยียวยาตามระเบียบหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2563 หลักเกณฑ์ ค่าซ่อมแซมที่พักอาศัยเนื่องจากเสียหายทั้งหลังไม่เกิน 49,500 บาท หลังที่เสียหายบางส่วนเท่าที่เสียหายจริงไม่เกิน 49,500 บาท
.
ว่าที่ร้อยตรี ศราวุธ จันทวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้กล่าวถึงหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือ ของกองทุนฯ ซ่อมแซมที่อยู่อาศัย และจัดหาปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นในการดำรงชีพให้แก่ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งบ้านที่ได้รับถวามเสียหายทั้งหลัง และมีการประเมินความเสียหายเกินกว่า 1 ล้านบาท จะได้รับเงินช่วยเหลือจากกองทุนฯ 150,000 บาท ความเสียหาย 700,000 – 1 ล้านบาท จะได้รับเงินช่วยเหลือจากกองทุนฯ 125,000 บาท ความเสียหาย 500,000 – 700,000 บาท จะได้รับเงินช่วยเหลือจากกองทุนฯ 100,000 บาท ความเสียหาย 300,000 – 500,000 บาท จะได้รับเงินช่วยเหลือจากกองทุนฯ 75,000 บาท ความเสียหายตำกว่า 300,000 บาท จะได้รับเงินช่วยเหลือจากกองทุนฯ 50,000 บาท สำหรับที่อยู่อาศัยที่ได้รับความเสียหายบางส่วน และมีการประเมินความเสียหายเกิน 500,000 บาท จะได้รับเงินช่วยเหลือจากกองทุนฯ 75,000 บาท ความเสียหาย 300,000 – 500,000 บาท จะได้รับเงินช่วยเหลือจากกองทุนฯ ร้อยละ 10 ของประมาณการความเสียหายแต่ไม่เกิน 50,000 บาท ความเสียหาย 100,000 – 300,000 บาท จะได้รับเงินช่วยเหลือจากกองทุนฯ ร้อยละ 5 ของประมาณการความเสียหายแต่ไม่เกิน 15,000 บาท หากความเสียหายต่ำกว่า 100,000 บาท จะใช้งบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเยียวยา
.
นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า การเยียวยาของทาง กองทุนฯ จะสมทบกับการเยียวยาของราชการ เพื่อให้ผู้ประสบภัยกลับมาลุกขึ้นสู้ได้อีกครั้ง ด้วยความร่วมมือร่วมใจของชาวเชียงราย และในวันที่ 7-9 กันยายน นี้ ก็ต้องเฝ้าระวังเรื่องของผลกระทบจากพายุฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย ซึ่งทางจังหวัดเชียงราย ได้ตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย และดินโคลนถล่ม จังหวัดเชียงราย ที่ภายในหอประชุมคชสาร องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย เราต้องร่วมกันเตรียมความพร้อม ถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ที่ผ่านมา เพราะหากเกิดเหตุภัยพิบัติขึ้นอีก เราต้องทำให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ และทางจังหวัดได้สั่งการให้ทุกอำเภอจัดเวรยามเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เราทุกคนต้องดูแลซึ่งกันและกัน เพราะเราชาวเชียงรายจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างเด็ดขาด
จากนั้น ผู้เข้าร่วมแถลงข่าวได้รับชมคลิปวีดีโอสรุปสถานการณ์อุทกภัยและการให้ความช่วยเหลือในจังหวัดเชียงราย และผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้รับมอบเงินและสิ่งของจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ร้านค้า เข้าสู่กองทุนฯ เพื่อนำไปช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัยในจังหวัดเชียงรายต่อไป