Categories
AROUND CHIANG RAI TRAVEL VIDEO

แอ่วล้ำแอ่วเหลือ ‘สีสันแห่งดอยตุง’ ครั้งที่ 10

 

กลับมาเป็นครั้งที่ 10 แล้ว สำหรับงานเทศกาล “สีสันแห่งดอยตุง” ที่ปีนี้มาในธีม “ดอกไม้ระบายดอย” ที่จัดเต็มดอกไม้สีสันสดใสต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือน พร้อมตื่นตาตื่นใจไปกับสีสันของดอกไม้เมืองหนาวหลากหลายสายพันธุ์กว่า 100,000 ต้นภายในสวนแม่ฟ้าหลวงโฉมใหม่

 

 

และหลังจากที่ไปชมความสวยงามของดอกไม้แล้ว ก็ต้องไปหาของอร่อยใส่ท้องกันต่อ กับโซน “กาดชนเผ่า” ที่รวบรวมอาหารชนเผ่า ขนมพื้นบ้าน และเครื่องดื่มสุดพิเศษจากร้านในชุมชน ที่มีให้ลิ้มลองมากกว่า 40 เมนูด้วยกัน และเมนูที่ห้ามพลาดเลยก็คือเมนูหมูย่างอาข่า หอม ๆ ที่เสิร์ฟมาพร้อมกับน้ำพริกมะเขือเทศรสกลมกล่อม ยำผักพื้นบ้านรสเลิศ หมูผัดรากชู และข้าวเหนียวดอยเคี้ยวหนึบ

สำหรับใครที่อยากหากิจกรรมทำ ที่นี่ก็มีกิจกรรม workshop ให้เลือกทำมากมาย อย่างเช่นการเพ้นท์ถ้วยจานชามเซรามิค เพ้นท์กระเป๋าผ้า ทำป็อปอัพการ์ด DIY โปสการ์ด พวงกุญแจเม็ดบีท ระบายสีดอกไม้สัตว์ป่า ฉลุลายดอกไม้และสัตว์ป่า และทำพรมยิง

 

และนอกจากนี้ ยังมีร้านขายของที่ระลึกให้เราเลือกช้อปทั้งร้านของของที่ระลึกจากดอยตุง และร้านสินค้าหัตถกรรมชนเผ่า ที่ผ่านการสร้างสรรค์ด้วยภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่น มีให้เลือกทั้งเสื้อผ้า กระเป๋า เครื่องประดับ และของที่ระลึกต่างๆ ด้วยสีสรรที่สดใสแสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ของชนเผ่านั้นๆได้อย่างดีเยี่ยม

และสำหรับท่านใดที่สนใจอยากจะมาเที่ยวชม ชิม ช้อปที่งานเทศกาล “สีสันแห่งดอยตุง” สามารถมากันได้ที่โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย โดยงานนี้จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 ไปจนถึงวันที่ 28 มกราคม 2567 ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 08.00 – 18.00 น.

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
AROUND CHIANG RAI TOP STORIES

‘บก.ลายจุด’รับสับสนหลายเรื่อง หลัง มฟล. แถลงการณ์ ‘ดร.เค็ง’

 
วันที่ 4 ธ.ค. 2566 วันที่ 4 ธ.ค.2566 กระแสความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับกรณีของ ดร.เค็ง นักเรียนทุนปริญญาเอกที่ป่วยจิตเวชจนต้องลาออกจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงที่เชียงราย แต่ต่อมาพบว่าทางมหาลัยได้ดำเนินการยื่นเรื่องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับทาง ดร.เค็ง ถึง 16 ล้านบาท จนต่อมาเรื่องราวนี้ถูกเผยแพร่รายละเอียดมาต่อเนื่อง โดยการโพสต์ผ่านสื่อโซเชียลของสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ “บก.ลายจุด” หลังมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง แถลงการณ์เรื่องการยื่นฟ้องคดีกับอาจารย์เพื่อให้ชดใช้ทุนการศึกษาตามที่ปรากฏข่าวสารในสื่อสังคมออนไลน์
 
โดยได้โพสต์ก่อนอื่นขอขอบคุณ ม.แม่ฟ้าหลวง ที่ออกมาสื่อสารกับสังคมในเรื่องนี้ หลังจากที่ดร.เค็งพยายามติดต่อเพื่อขอพูดคุยแต่ไม่เคยได้รับการตอบสนอง นอกจากหมายศาล
 
 
โดย นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก. ลายจุด โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กรวมของแถลงการณ์ดังกล่าวคือ ทุกสิ่งอย่างเจอกันที่ศาล โดยอ้างว่าไม่สามารถไกล่เกลี่ยพูดคุยกันได้ ทั้งๆที่ความเป็นจริงคดีทางปกครองสามารถไกล่เกลี่ยกันได้ ผมไม่มั่นใจว่าแถลงการณ์ดังกล่าวผ่านนิติกรของ ม.แม่ฟ้าหลวงด้วยหรือเปล่า แต่ถ้าผ่านฝ่ายกฎหมายมา ผมขอโต้แย้ง และขอให้ทางผู้รู้ทั้งหลายช่วยโต้แย้งในจุดนี้
เรื่องใบลาออก ดร เค็งยืนยันว่าไม่ได้เซ็นใบลาออก ถ้ามฟล.ยืนยันว่าเขียนใบลาออกผมขอดูเอกสารดังกล่าวในแถลงการณ์ฉบับต่อไป อยากให้ลองสืบค้นมานำเสนอ
 
 
กรณีชี้ว่า ดร เค็ง ไม่ได้นำใบรับรองแพทย์ที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐมายืนยันการเจ็บป่วยนั้น ไม่มีข้อโต้แย้งเพราะ ดร เค็ง ตกอยู่ในสถานะที่ป่วยจิตเวชและไ่ม่ได้เข้ารับการรักษาอยู่หลายปี แต่อย่างไรก็ตามทาง มฟล ไม่ทราบเลยหรือว่าตอนที่ผู้รับทุนและเป็นบุคคลากรของหน่วยงานไปศึกษาอยู่ใน ตปท ได้ประสบปัญหาเรื่องการเจ็บป่วยทางจิตเวชถึงขนาดถูกบังคับรักษาอยู่ใน รพ ที่ีอังกฤษถึง 28 วัน และพฤติกรรมการส่ง email หรือแม้แต่ข้อความที่อยู่ใน email ที่สื่อปัญหาอาการหูแว่วของ ดร เค็ง ในขณะนั้น มฟล ไม่รับทราบหรือวิเคราะห์หรือแสดงความเมตตาที่จะทำความเข้าใจในอาการเหล่านั้น และจะต้องเป็นภาระของพนักงานในองค์กรที่เจ็บป่วยต้องพิสูจน์ด้วยตนเองโดยลำพังเท่านั้น
ผมอ่านแถลงการณ์ของ มฟล แล้วทำให้ผมสับสนทั้งหลักกฎหมาย หลักการบริหารองค์กร และ หลักเมตตาธรรม
 
 
 
 
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI FEATURED NEWS

เชียงรายติดอันดับ 34 หนี้นอกระบบ มูลหนี้กว่า 30 ล้านบาท ลงทะเบียน 637 ราย

 

วันที่ 4 ธันวาคม 2566 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่าเป็นวันที่ 4 ของการเปิดรับลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ โดยจากข้อมูลเมื่อเวลา 15.30 น. มีประชาชนลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ รวมทั้งสิ้นจำนวน 54,325 ราย แบ่งเป็นการลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ 51,355 ราย และการลงทะเบียน ณ ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ 2,970 ราย รวมจำนวนเจ้าหนี้ 29,936 ราย มูลหนี้ 2,382.996 ล้านบาท 

 

โดยมีพื้นที่/จังหวัด 5 ลำดับแรก คือ 

1. กรุงเทพมหานคร มีผู้ลงทะเบียน 3,517 ราย เจ้าหนี้ 2,340 ราย มูลหนี้ 196.973 ล้านบาท 

2. สงขลา มีผู้ลงทะเบียน 2,335 ราย เจ้าหนี้ 1,360 ราย มูลหนี้ 118.442 ล้านบาท 

3. นครศรีธรรมราช มีผู้ลงทะเบียน 2,212 ราย เจ้าหนี้ 1,241 ราย มูลหนี้ 81.995 ล้านบาท 

4. นครราชสีมา มีผู้ลงทะเบียน 2,117 ราย เจ้าหนี้ 1,040 ราย มูลหนี้ 97.461 ล้านบาท 

5. ชลบุรี มีผู้ลงทะเบียน 1,370 ราย เจ้าหนี้ 757 ราย มูลหนี้ 70.189 ล้านบาท 

 

สำหรับจังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนน้อยที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ 

1. แม่ฮ่องสอน มีผู้ลงทะเบียน 63 ราย เจ้าหนี้ 31 ราย มูลหนี้ 2.462 ล้านบาท 

2. ระนอง มีผู้ลงทะเบียน 109 ราย เจ้าหนี้ 56 ราย มูลหนี้ 2.715 ล้านบาท 

3. สมุทรสงคราม มีผู้ลงทะเบียน 158 ราย เจ้าหนี้ 104 ราย มูลหนี้ 5.192 ล้านบาท 

4. ตราด มีผู้ลงทะเบียน 161 ราย เจ้าหนี้ 62 ราย มูลหนี้ 2.560 ล้านบาท 

5. สิงห์บุรี มีผู้ลงทะเบียน 180 ราย เจ้าหนี้ 85 ราย มูลหนี้ 5.834 ล้านบาท

 

 

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยยังคงเปิดรับลงทะเบียนผู้ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาหนี้นอกระบบ จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาหนี้นอกระบบ ลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ที่ https://debt.dopa.go.th หรือไปลงทะเบียนได้ ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือสำนักงานเขตทั่วประเทศ ซึ่งสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนศูนย์ดำรงธรรม โทร. 1567 ตลอด 24 ชั่วโมง

 

 

นายสุทธิพงษ์ ยังได้กล่าวอีกว่า ในวันที่ 8 ธ.ค.นี้ จะมีการประชุมมอบนโยบายแก่ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ผู้กำกับการสถานีตำรวจทั่วประเทศ ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี โดยมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำว่า “รัฐบาลเอาจริงเรื่องหนี้นอกระบบ” และ Timeline ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.66 เป็นต้นไป ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ จะดำเนินการเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยและปรับโครงสร้างหนี้โดยเร่งด่วนตามนโยบายรัฐบาลต่อไป

 

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักข่าวไทย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI TOP STORIES

ม.แม่ฟ้าหลวง’ แถลงการณ์ แจงเหตุยื่นฟ้อง ‘ดร.เค็ง’

 
วันที่ 4 ธ.ค. 2566 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง แถลงการณ์เรื่องการยื่นฟ้องคดีกับอาจารย์เพื่อให้ชดใช้ทุนการศึกษาตามที่ปรากฏข่าวสารในสื่อสังคมออนไลน์ว่า มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้ยื่นฟ้อง ดร.เค็ง ซึ่งเป็นอาจารย์ที่เรียนจบในระดับปริญญาเอกที่ขอลาออกในขณะที่ยังไม่ครบเงื่อนไขการชดใช้ทุน โดยให้ชดใช้ทุนการศึกษานับสิบล้านบาท ทั้งที่ ดร.เค็ง เจ็บป่วยด้วยโรคจิตเวช นั้น มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงขอชี้แจงในกรณีนี้ ดังนี้
 
 
1. ดร.เค็ง เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ตำแหน่งอาจารย์ สังกัดสำนักวิชาการจัดการ ได้เริ่มปฏิบัติงานที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ตั้งแต่วันที่ 3 ต.ค.2548 และต่อมาได้รับทุนรัฐบาลจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงให้ไปศึกษาในระดับปริญญาเอก ณ University of Kent ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 17 ก.ย.2551

 

2. ดร.เค็ง ได้กลับมาปฏิบัติงานที่มหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 2 ส.ค.2556 และในระหว่างปฏิบัติงานได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นพนักงานของมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 19 ส.ค.2557โดยให้ มีผลเป็นการลาออกในวันที่ 1 ก.ย. 2557 ซึ่งในการขอลาออกเป็นการแสดงเจตนาโดยสมัครใจของ ดร.เค็ง และเมื่อ ดร.เค็ง ยังคงแสดงเจตนาเดิมในการขอลาออกโดยได้รับทราบเงื่อนไขของการชดใช้ทุนแล้ว มหาวิทยาลั ยจึงได้ อนุญาตให้ลาออกตามความประสงค์ แต่ด้วยเงื่อนไขของสัญญาและระเบียบของกระทรวงการคลัง เมื่อ ดร.เค็ง ปฏิบัติงานเพื่อชดใช้ทุนการศึกษาไม่ครบถ้วนกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และมหาวิทยาลัย จึงมีความจำเป็นต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของสัญญา เพื่อเรียกให้ชดใช้ทุนการศึ กษา ของกระทรวงวิทย์ ฯ จำนวน 630,207.46 บาท กับอีก 194,730 ปอนด์ และของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงจำนวน 726,305.94  บาท

 

3. ตามเงื่อนไขของสัญญารับทุน และหลักเกณฑ์ปฏิบัติของกระทรวงการคลัง กำหนดให้สิทธิผู้รับทุนที่ไม่ต้องรับผิดชดใช้เงินทุนตามสัญญาเมื่อเป็นบุคคลวิกลจริต จิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ แต่ต้องแสดงหลักฐานทางการแพทย์จากโรงพยาบาลในสังกัดของรัฐ โดยให้แพทย์ผู้ทาการรักษาระบุว่าเหตุวิกลจริต และจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบดังกล่าว ทาให้ผู้ผิดสัญญาไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้แต่ทั้งนี้ ในระหว่างปฏิบัติงานให้กับมหาวิทยาลัยจนกระทั่งยื่นหนังสือลาออก ดร.เค็ง ไม่เคยจัดส่งเอกสารหลักฐานทางการแพทย์ว่าไม่สามารถปฏิบัติงานต่อไปได้ให้กับมหาวิทยาลัยได้รับทราบเลย โดย ดร.เค็ง ได้ยื่นเอกสารทางการแพทย์ต่างๆ ในชั้นพิจารณาของศาลปกครองเชียงใหม่แต่ล่วงเลยระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในสัญญาไปแล้วศาลปกครองเชียงใหม่จึงได้พิจารณาและพิพากษาให้ ดร.เค็ง ชดใช้ทุนการศึกษาตามเงื่อนไขของสัญญา

 

4. ดร.เค็ง ได้ยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2566  แต่เมื่อคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด การไกล่เกลี่ยในชั้นศาลนี้ไม่อาจทำได้ มหาวิทยาลัยจึงไม่อาจดำเนินการใด ๆ ในขณะนี้ได้

 

5. มหาวิทยาลัยได้ปฏิบัติต่อ ดร.เค็ง ด้วยเมตตาธรรมและคุณธรรมมาโดยตลอดโดยได้สนับสนุนและส่งเสริมให้ ดร.เค็ง ได้รับโอกาสไปศึกษาวิชาการในต่างประเทศตามที่ ดร.เค็ง ตั้งใจและขอยืนยันว่าในการพิจารณาเรื่องราวของ ดร.เค็ง มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการภายใต้ขั้นตอนและหลักเกณฑ์ของกฎหมาย และระเบียบของทางราชการ แต่อย่างไรก็ดีหากศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาพิพากษาเป็นประการใด มหาวิทยาลัยก็พร้อมที่จะปฏิบัติตามคาพิพากษาของศาลทุกประการ

 

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

อบจ.เชียงราย นำคณะเยี่ยมชม Chiang Mai Design Week 2023

 
วันอาทิตย์ที่ 3 ธันวาคม 2566 นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย นายสิงห์ทอง หนุนนำสิริ สวัสดิ์ นายกเทศมนตรีตำบลเวียงเทิง นายรามิล พัฒนมงคลเชฐ ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย พร้อมคณะ ชมเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ (Chiang Mai Design Week 2023) ณ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เชียงใหม่
 
สำหรับการจัดเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ในปีนี้ จะเป็นการสะท้อนและตอกย้ำให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ในด้านทรัพยากรธรรมชาติ สถานที่ท่องเที่ยว ความหลากหลายและรุ่มรวยทางศิลปวัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่นของจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเชียงใหม่มีความพร้อมที่จะรองรับการเดินทางท่องเที่ยวของผู้คนจากภูมิภาคต่าง ๆ ได้อย่างสะดวกสบาย
 
 
ทั้งด้านการเดินทางและสถานที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวการจัดเทศกาลฯ ในปีนี้มาพร้อมธีม “Transforming Local ปรับตัว ต่อยอด ท้องถิ่นเติบโต” เป็นการเชิญชวนผู้คนท้องถิ่นให้กลับมาเยือนเหย้า ทั้งนักออกแบบ นักสร้างสรรค์ นักพัฒนาเมือง และผู้ประกอบการ ให้มามีส่วนร่วมในการพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง และช่วยพลิกโฉมเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เติบโต พร้อมสร้างโอกาสการแข่งขันสู่ระดับนานาชาติ
 
“เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2566” หรือ “Chiang Mai Design Week 2023” (CMDW2023) ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 2 – 10 ธันวาคม 2566 ที่นำเสนอแนวคิดต่อยอดจากธีมงานปีที่แล้ว วันนี้ room พาเที่ยว 5 จุดไฮไลต์ห้ามพลาดชมงานเพลินอิ่มจุใจทุกจุด
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : อบจ.เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

ขับเคลื่อนหมู่บ้าน เศรษฐกิจพอเพียง ‘วันดินโลก’

 
เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2566 นายวิทยา ชุมภูคำ พัฒนาการจังหวัดเชียงราย มอบหมายให้นางอำไพ บัวระดก ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน นางสุรีย์ศรี แสงสุวรรณ ผู้อำนวยการกลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน นายปรีชา ปวงคำ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน นางเครือวรรณ สดใส ผู้อำนวยการกลุ่มงานประสานและสนับสนุนการบริหารงานพัฒนาชุมชน และทีมงานพัฒนาชุมชนจังหวัดจังหวัดเชียงราย ร่วมกิจกรรมเอามื้อสามัคคี เกี่ยวข้าว ในพื้นที่โคกหนองนา CLM ดอยอินทรีย์ (พื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคกหนองนาโมเดล) ตำบลดอยฮาง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงรายโดยมีพระอาจารย์วิบูลย์ ธัมมเตโช ที่ปรึกษาเจ้าอาวาสวัดพุทธอุทยานดอยอินทรีย์ และผู้เข้าร่วมการอบรมแกนนำขับเคลื่อนหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ร่วมกิจกรรม
 
 
กิจกรรมในวันนี้นับเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการตระหนักรู้คุณค่าของดินและน้ำเนื่องในวันดินโลก ประจำปี 2566 (World Soil Day 2023) เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 รวมทั้งเป็นการน้อมนำพระราชดำริและพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการ “สืบสาน รักษา ต่อยอด” มาสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน และพัฒนาพื้นที่ ดูแลรักษาดินและน้ำให้มีคุณภาพ ให้เกิดการพัฒนาพื้นที่อย่างสมดุลให้เกิดความยั่งยืนต่อไป
 
 
นอกจากนี้ กิจกรรมเอามื้อสามัคคีในวันนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการอบรมแกนนำขับเคลื่อนหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตามโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเชียงรายจัดขึ้น ณ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติศาสตร์พระราชาดอยอินทรีย์เชียงราย วัดพุทธอุทยานดอยอินทรีย์ บ้านห้วยกีด หมู่ที่ 1 ตำบลดอยฮาง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย มาตั้งเเต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 เพื่อให้เกิดผู้นำการพัฒนา (Change Leader) ที่อยู่ในชุมชน และนำการพัฒนาให้สอดคล้องกับบริบทชุมชน และนำไปสู่สิ่งที่ชุมชนต้องการ
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : Cddchiangrai

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

ขานรับนโยบายผู้ว่าฯ เชียงราย ทุกหน่วยงานพร้อมรับมือ PM 2.5

 
จากสถานการณ์ไฟป่าหมอกควัน และ PM 2.5 ของจังหวัดเชียงราย ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องทุกปี นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้สั่งการให้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการหมอกควันไฟป่า และ PM 2.5 
 
เพื่อเป็นศูนย์บูรณาการการทำงานร่วมกับทั้งคน งบประมาณ การบริหารจัดการ การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ซึ่งจังหวัดเชียงราย มีความห่วงใย 4 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว ซึ่งขณะนี้ทางจังหวัดเชียงราย โดยการนำของผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้เน้นย้ำให้ทุก 18 อำเภอ ของจังหวัดเชียงราย 
 
 
เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์หมอกควัน ไฟป่า และPM 2.5 โดยให้ดำเนินการจัดเตรัยมห้องปลอดฝุ่นให้กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีทั้งหมด 460 แห่ง ดำเนินการแล้ว 206 แห่ง อยู่รัหว่างดำเนินการ 51 แห่ง ยังไม่ดำเนินการ 149 แห่ง และกำชับและเร่งรัดให้ทุกอำเภอบูรณาการร่วมกับ อปท.ในพื้นที่ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เพื่อดำเนินการให้ครบทั้ง 18 อำเภอ 100% โดยเร็ว
 
 
โดยในวันนี้ 3 ธันวาคม 2566 นายอุดม ปกป้องบวรกุล นายอำเภอแม่สรวย ได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมรับมือภายใต้ชื่อว่า “ ไฟป่า ฝุ่นควัน การป้องกันสุขภาพ” ร่วมกับ โรงพยาบาลแม่สรวย อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย เตรียมความพร้อมในการป้องกัน PM 2.5 อันเนื่องมาจากปัญญาไฟป่า ฝุ่นควัน โดยการเตรียมห้องปลอดฝุ่น เครื่องฟอกอากาศ เติมอากาศ สำหรับเจ้าหน้าที่ และประชาชนที่มารับบริการ การรับรักษาพยาบาล ค่อนข้างจะเกือบ 100 % ตามนโยบายของผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

“บ้านเมืองรวง” สนองนโยบายกระทรวงมหาดไทย สร้างความเข้มแข็งของชุมชน

 
วันที่ 2 ธันวาคม 2566 เวลา 09.00 น. สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองเชียงราย นำโดย นางสาวชาลิสา กาปัญญา พัฒนาการอำเภอเมืองเชียงราย พร้อมด้วย นางสาวณัฐนัญช์ ยอดดวงจันทร์ พัฒนากรตำบลแม่กรณ์ติดตาม สนับสนุน การดำเนินกิจกรรม ตามหลัก 5 ก ของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านเมืองรวง หมู่ที่ 5 ตำบลแม่กรณ์ อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย
 
หลักการและวิธีการดำเนินงานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต กรมการพัฒนาชุมชนมีภารกิจสำคัญในการสนองนโยบายกระทรวงมหาดไทยในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก/วิสาหกิจชุมชน และส่งเสริมระบบการจัดการทุนของชุมชนและการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนด้วยวิธีการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้การมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อให้ชุมชนมีศักยภาพในการบริหารจัดการสามารถพึ่งตนเองได้โดยในส่วนของการส่งเสริมและพัฒนาทุนกรมการพัฒนาชุมชนมุ่งส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนในชนบท รวมตัวกันระดมเงินออมเพื่อจัดตั้ง กองทุนของชุมชนในรูป ”กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต”เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันในด้านเงินทุนประกอบอาชีพหรือใช้จ่ายยามเดือดร้อน จำเป็นโดยการบริหารจัดการของสมาชิกและช่วยเหลือแบ่งปันกันในชุมชน
 

กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตจัดตั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2517 ที่ตำบลขัวมุง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ โดย ศ.ดร.ยุวัฒน์ วุฒิเมธี อดีตอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ภายใต้ปรัชญา “ใช้หลักการออมทรัพย์เป็นอุปกรณ์ในการพัฒนาคน” เพื่อให้เกิดการพัฒนา คุณธรรม 5 ประการ คือ ความซื่อสัตย์ ความเสียสละ ความรับผิดชอบ ความเห็นอกเห็นใจ และความไว้วางใจในหมู่สมาชิกความหมาย“กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต หมายถึง การรวมตัวกันของชาวบ้าน เพื่อช่วยเหลือตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกันโดยการประหยัดทรัพย์ แล้วนำมาสะสมรวมกันทีละเล็กละน้อยเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อใช้เป็นทุนให้สมาชิกที่มีความจำเป็นเดือดร้อนกู้ยืมไปใช้ในการ ลงทุนประกอบอาชีพ หรือเพื่อสวัสดิการของตนเองและครอบครัว
 

หลักการดำเนินงานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตจะดำเนินงานให้ประสบผลสำเร็จ และมีประสิทธิภาพจะต้องบริหารจัดการอยู่ภายใต้คุณธรรม 5 ประการ ดังนี้
1.ความซื่อสัตย์
2.ความเสียสละ
3.ความรับผิดชอบ
4.ความเห็นอกเห็นใจกัน
5.ความไว้วางใจกัน
 

แนวคิดของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต มีดังนี้
1. การรวมคนในหมู่บ้านให้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยรวมคนที่มีฐานะแตกต่างกันให้ช่วยเหลือกัน อันจะเป็นการยกฐานะคนยากจน
2. การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนเงินทุน โดยรวมกลุ่มกันออมเงินแล้วกู้ไปทำทุน
3. การนำเงินทุนไปดำเนินการด้วยความขยัน ประหยัดและถูกต้อง เพื่อให้ได้ทุนคืนและมีกำไรเป็นรายได้
4. การลดต้นทุนในการครองชีพ โดยการจัดตั้งศูนย์สาธิตการตลาด เป็นการรวมกันซื้อ-ขาย สามารถลดต้นทุนในการซื้อสินค้าอุปโภค-บริโภค และปัจจัยการผลิต
 

กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต เมื่อดำเนินการระดมเงินออมมาได้ระยะหนึ่งจนสมาชิก มีความเข้าใจในการดำเนินงานกลุ่มแล้ว กลุ่มสามารถนำเงินทุนที่มีอยู่มาดำเนินกิจกรรมเพื่อ ช่วยเหลือหรือแก้ไขปัญหาของสมาชิกและชุมชน โดยดำเนินกิจกรรมใน 3 ด้าน ได้แก่
1. ด้านการพัฒนาอาชีพ กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตเป็นแหล่งเงินทุนให้สมาชิกกู้เงิน ไปประกอบอาชีพ ขยายการผลิต และเพื่อใช้เป็นสวัสดิการในครอบครัว โดยการดำเนินกิจกรรม การบริการเงินกู้
 
2. ด้านการพัฒนาระบบการจัดการทางธุรกิจ เป็นการดำเนินกิจกรรมที่ช่วยเหลือ และแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชุมชน เป็นการฝึกการดำเนินธุรกิจในระบบกลุ่ม และมุ่งหวังผล กำไรเพื่อนำไปดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของกลุ่มและการจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิกและชุมชน กิจกรรม เชิงธุรกิจที่กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตดำเนินการ ได้แก่ ศูนย์สาธิตการตลาดเป็นร้านค้าที่กลุ่มฯ ลงทุนจัดตั้งขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการซื้อขายสินค้าอุปโภค บริโภค รวมถึงปัจจัยการผลิตให้ กับสมาชิก ยุ้งฉาง เป็นกิจกรรมที่กลุ่มฯ ลงทุนจัด ขึ้น เพื่อดำเนินการซื้อขายผลผลิตของสมาชิก 
 
ด้วยการรับซื้อ ขายฝาก หรือ ฝากขาย ทั้งนี้กลุ่มจะช่วยให้สมาชิกไม่ต้องขายผลผลิตอย่างเร่งด่วน ถูกกดราคา และเป็นการหากำไรให้กับกลุ่มฯ ด้วย นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ ที่กตั้งกลุ่มดำเนินการ ตามมติของสมาชิกเพื่อแก้ไขปัญหาและความต้องการของสมาชิกและชุมชน เช่น ปั๊มน้ำมัน เพื่อจัดหาน้ำมันมาบริการแก่สมาชิกและประชาชนในราคายุติธรรม ลานตากผลผลิต เพื่อแก้ไขปัญหาผลผลิต มีความชื้น เช่น ข้าว, มันสำปะหลัง โรงสีข้าว เพื่อแก้ไขปญัหาข้าวเปลือกราคาตกต่ำ โดยแปรรูปเป็น ข้าวสาร และส่งเสริมอาชีพเลี้ยงสัตว์โดยใช้รำและปลายข้าว กองทุนปุ๋ยชีวภาพ เพื่อแก้ไขปัญหาดิน เสื่อมสภาพ การผลิตน้ำดื่มสะอาด โรงแป้งขนมจีน เป็นการฝึกหัดให้กลุ่มรู้จักดำเนินธุรกิจ
 
3. ด้านการสงเคราะห์และสวัสดิการ เป็นกิจกรรมที่กลุ่มดำเนินการเพื่อช่วยเหลือ สมาชิกและคนยากจนในชุมชน ได้แก่ ธนาคารข้าว เป็นกิจกรรมที่กลุ่มฯ ดำเนินการเพื่อการสงเคราะห์ ช่วยเหลือโดยการให้กู้ ให้ยืม และให้เปล่า นอกจากนี้กลุ่มฯ นำผลกำไรส่วนหนึ่งจากการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ มาช่วยเหลือ สมาชิกที่เดือดร้อนและคืนสู่ชุมชน เช่น การรักษาพยาบาล ทุนการศึกษาบุตรของสมาชิก ช่วยเหลือ การจัดงานศพสมาชิกการสงเคราะห์คนชรา การพัฒนาหมู่บ้านและบำรุงรักษาสาธารณประโยชน์ เป็นต้น
 

วัตถุประสงค์ของการดำเนินงานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต
1. ส่งเสริมให้มีการประหยัดและออมเงินในรูปเงินสัจจะ
2. ให้บริหารเงินทุนสนับสนุนการประกอบอาชีพและสวัสดิการของสมาชิก
3. ให้มีประสบการณ์ในการบริหาร และจัดทำเงินทุนด้วยตนเอง
4. ส่งเสริมให้มีความสามัคคี การทำงานร่วมกัน และการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
5.ให้มีประสบการณ์ในการบริหาร และจัดการเงินทุนของตนเอง
 

เงินทุนของกลุ่ม
1. เงินสัจจะสะสมเป็นเงินที่ได้จากการออมของสมาชิกจำนวนเท่าๆกันทุกเดือนตามกำลังความสามารถเพื่อใช้เป็นทุนในการดำเนินงานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตซึ่งจะจ่ายคืนเงินสัจจะสะสมเมื่อสมาชิกสิ้นสุดสมาชิกภาพแล้วเท่านั้น ซึ่งกลุ่มจะจ่ายผลตอบแทนในรูปของเงินปันผล
2. เงินสัจจะสะสมพิเศษ เป็นเงินรับฝากจากสมาชิก ที่มีเงินเหลือและประสงค์จะฝากเงินได้กับกลุ่ม ซึ่งสามารถถอนเงินออกไปใช้จ่ายเมื่อจำเป็น และกลุ่มจะจ่ายผลตอบแทนใน รูปแบบดอกเบี้ยตามระเบียบของกลุ่ม
3. เงินรายได้อื่น ๆ เช่น ค่าสมัคร/ค่าธรรมเนียม ค่าปรับ ดอกเบี้ย
4. เงินอุดหนุน จากส่วนราชการ องค์กรปกครองท้องถิ่น และองค์กรอื่น ๆ
 

สมาชิกของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตมี 3 ประเภท คือ
1.สมาชิกสามัญ ได้แก่บุคคลทุกเพศ ทุกวัยภายในหมู่บ้าน/ตำบล ที่สมัครเข้ามาเป็นสมาชิกกลุ่ม ตามระเบียบข้อบังคับของกลุ่ม
2. สมาชิกวิสามัญ ได้แก่ กลุ่ม/บุคคล ภายในหมู่บ้าน/ตำบล ที่สนใจและสมัครเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม โดยไม่ประสงค์จะกู้เงินจากลุ่ม
3. สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ ข้าราชการ หรือคหบดี ที่สนใจและให้การสนับสนุนกลุ่มโดยไม่หวังผลตอบแทน
 
หน้าที่ของสมาชิก
1. ส่งเงินสัจจะสะสมเป็นประจำทุกเดือน
2. ส่งคืนเงินกู้ตามกำหนด
3. เลือกตั้งคณะกรรมการบริหารกลุ่ม
4. เข้าร่วมประชุมสามัญประจำปี
5. มีส่วนร่วมในกิจกรรมกลุ่ม
6. ให้ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะที่ดีแก่กลุ่ม
7. กำกับ ตรวจสอบการดำเนินงานของกลุ่ม
 
คณะกรรมการบริหารกลุ่มออมทรัพย์ มี 4 คณะ ดังนี้
1. คณะกรรมการอำนวยการ จำนวน 5-9 คน มีหน้าที่ในการบริหาร จัดการกลุ่มออมทรัพย์ให้มีประสิทธิภาพ เป็นที่พึงพอใจของสมาชิก ตลอดจนเป็นตัวแทนของกลุ่มในการประสานงาน และติดต่อกับองค์กรภายนอก
 
2. คณะกรรมการพิจารณาเงินกู้ จำนวน 3-5 คน มีหน้าที่ในการพิจารณาให้กู้ – ยืมเงิน ติดตามโครงการ และเร่งรัดหนี้สิน
 
3. คณะกรรมการตรวจสอบ จำนวน 3-5 คน มีหน้าที่ในการตรวจสอบบัญชีและผลการดำเนินงานของกลุ่ม
 
4.คณะกรรมการส่งเสริมจำนวนขึ้นอยู่กับจำนวนสมาชิกและระเบียบข้อบังคับของกลุ่มมีหน้าที่ชักชวน ผู้สมัครใจสมัครเป็นสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ตลอดจนการให้ความรู้เกี่ยวกับกลุ่มออมทรัพย์แก่สมาชิกประสานงานระหว่างสมาชิกกับกลุ่ม และกลุ่มกับสมาชิกให้มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน
 
กิจกรรมของกลุ่ม
1. กิจกรรมด้านการให้บริการรับฝากเงิน และการกู้ยืมเงิน
2. กิจกรรมด้านการจัดสวัสดิการให้กับสมาชิก
3. ขยายเครือข่ายและทำธุรกิจ เช่น ศูนย์สาธิตการตลาด, โรงสี เป็นต้น
4. กิจกรรมในการพัฒนาสมาชิก เช่น การฝึกอบรม การศึกษาดูงาน
 
 
ประโยชน์ที่ได้รับจากการดำเนินงานกลุ่มออมทรัพย์
1. ส่งเสริมให้ประชาชนมีการออมเงิน และนำเงินไปใช้ในการพัฒนาอาชีพ โดยลดภาระการกู้ยืมเงินจากแหล่งอื่น ๆ ที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง
 
2. พัฒนาคนให้มีคุณธรรม 5 ประการ คือ ซื่อสัตย์ เสียสละ รับผิดชอบ เห็นอกเห็นใจ และไว้วางใจซึ่งกันและกัน
 
3. ฝึกประสบการณ์การบริหารเงินทุน ให้กับบุคคลในชุมชน
 
4. พัฒนาศักยภาพของคนในด้านต่าง ๆ เช่น การเป็นผู้นำ การปกครอง ตามระบบประชาธิปไตย
 
5. ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนา คิดและแก้ปัญหาของตนเองด้วยวิธีการทำงานร่วมกัน
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สพอ.เมืองเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI TRAVEL

“สีสันแห่งดอยตุง ครั้งที่ 10” โฉมใหม่! เนรมิตดอกไม้แสนต้น กับแนวคิด “ดอกไม้ระบายดอย”

 

วันศุกร์ที่ 1 ธันวาคม 2566 มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จัดพิธีเปิดงาน “สีสันแห่งดอยตุง ครั้งที่ 10” อย่างเป็นทางการแล้ว ท่ามกลางแขกผู้มีเกียรติมาร่วมงานมากมาย อาทิ พุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย วิสูตร บัวชุม ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานเชียงราย ปวิณ ชำนิประศาสน์ และ ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ ที่ปรึกษากรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และ ศุภาดา ชัยวงษ์ ผู้แทนการตลาด สำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการภาคเหนือ 

 

ซึ่งบรรยากาศลมหนาวปลายปีกลับมาอีกครั้ง มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ชวนสัมผัสความสุขกับธรรมชาติบริสุทธิ์บนดอยตุงกับงาน “สีสันแห่งดอยตุง ครั้งที่ 10” เทศกาลแห่งความสุขที่สูงที่สุดในประเทศไทย ปีนี้มาพร้อมกับสวนแม่ฟ้าหลวงโฉมใหม่ ตื่นตาตื่นใจกว่าทุกปีภายใต้แนวคิด “ดอกไม้ระบายดอย” เนรมิตดอกไม้ที่ชาวดอยตุงปลูกเองกว่า 100,000 ต้น ผสานภูมิทัศน์รูปแบบใหม่ โดยภูมิสถาปนิกชื่อดังระดับประเทศ พร้อมกาดชุมชนบนถนนคนเดินกว่า 80 ร้านมาให้ช็อปท้าลมหนาว ในระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2566 ถึงวันที่ 28 มกราคม 2567 ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ณ โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย 

 

โดยนายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า กระผมยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นทุกฝ่ายร่วมกันจัดงานสีสันแห่งดอยตุงขึ้นในครั้งนี้  ซึ่งมีความสำคัญยิ่งต่อการขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงราย อีกทั้งยังเป็นการสืบสานวิถีวัฒนธรรมที่หลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ และพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการชุมชนไปสู่นักออกแบบรุ่นใหม่ อันจะเป็นการสร้างรายได้และความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ต่อไป

 

ในส่วนนายประเสริฐ ตรงเจริญเกียรติ ประธานสายปฏิบัติการธุรกิจเพื่อสังคม มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ 
กล่าวถึงความพิเศษของการจัดงานในปีนี้ว่า งานสีสันแห่งดอยตุงจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 10 แล้ว เพื่อส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการชุมชนและสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ไฮไลต์ของปีนี้ คือ การปรับภูมิทัศน์ของสวนแม่ฟ้าหลวงโฉมใหม่ ที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เชิญ ธัชพล สุนทราจารย์ ภูมิสถาปนิกชื่อดังระดับประเทศ มาออกแบบใหม่ เป็นทุ่งดอกไม้ไล่สีพาสเทล โดยใช้ดอกไม้เมืองหนาวกว่า 100,000 ต้นจากดอกไม้ 10 สายพันธุ์ อาทิ ดอกบลูซัลเวีย ดอกแวววิเชียร ดอกดาวกระจายโซนาต้า ดอกรองเท้านารี และดอกกล้วยไม้พันธุ์ฟาแลนนอปซิส เป็นต้น กลายเป็นอีกจุดถ่ายรูปเช็คอินแห่งใหม่ท่ามกลางขุนเขาที่โอบล้อม และเบื้องหลังดอกไม้อันสวยงาม คือ การจ้างงานเกษตรกรบนดอยตุงนับร้อยชีวิตที่ปลูก ฟูมฟัก และรังสรรค์สวนใหม่นี้ขึ้นมาเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกคน

 

นอกจากนักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสวิถีชีวิตของชุมชนผ่านงานหัตถกรรม อาหารพื้นถิ่น ไม้ดอกไม้ประดับ และการแสดงของเด็กรอบโครงการพัฒนาดอยตุงฯ แล้ว ยังมีกิจกรรมที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของนักท่องเที่ยวทุกคนในครอบครัวมากมาย อาทิ 

 

สายคาเฟ่ ห้ามพลาดมุมระเบียงดอย และ Slow Bar กลางสวนดอกไม้สำหรับดื่มด่ำกาแฟดริปสุดพิเศษเฉพาะงานสีสันแห่งดอยตุงครั้งนี้ พร้อมฟินกับไอศกรีมดอยตุง 3 ลายออกใหม่ ไอศกรีมดอกไม้ระบายดอย รสอัญชันน้ำผึ้งมะนาว ไอศกรีมน้องหมี่ก่า รสนมชมพู และไอศกรีมน้องโต รสชาไทย อร่อยท้าลมหนาว แถมนำไปถ่ายรูปกับสวนสวยได้อีก และฟินสุดกับของที่ระลึกงานสีสันแห่งดอยตุงครั้งที่ 10 ของที่ระลึกโปรเจกต์พิเศษระหว่าง DoiTung x WHITE HAT. ออกแบบโดย ชะเอม-ปัณรสี ศะศินิล นักวาดภาพประกอบรุ่นใหม่ที่ถ่ายทอดดอกไม้ 7 สายพันธุ์ในสวนแม่ฟ้าหลวงออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ อาทิ เสื้อยืด กระเป๋าผ้า สมุดกระดาษสา แก้วเซรามิก และกระเป๋าใส่เหรียญ 

 

ส่วนสายชิม เชิญอิ่มอร่อยกับอาหารเหนือและอาหารชนเผ่าสุดลำ ขนมพื้นบ้าน และเครื่องดื่มสูตรพิเศษ จากร้านค้าชุมชนกว่า 80 ร้าน อาทิ พิซซ่าหน้าหมูดำบาร์บีคิวเข้ากันดีกับซอสบาร์บีคิวเข้มข้น ซูชิดอย หมูย่างอาข่า และข้าวปุ๊กปิ้ง ขนมมงคลของชาวไทยใหญ่ ยำหัวบุกเส้นรสเจ็บ แซ่บสะเด็ดไปทั้งดอย แยมคราฟต์ช็อกโกแลต ชาดาวอินคา ชาอินทรีย์อู่หลง สูตรบำรุงหัวใจจากสวนชาออร์แกนิกดอยตุง และแฟนๆ อาหารครัวตำหนักไม่ควรพลาด ข้าวเหลืองดอกปุดอุ๊บเนื้อไก่ เมนูใหม่! ประยุกต์จากอาหารชาวไทใหญ่ จับคู่ข้าวสีเหลืองจากดอกปุด กินกับ อุ๊บไก่ หรือ ไก่อบกับพริกแกงสูตรเฉพาะของครัวตำหนัก เฟตตูชินีแกงฮังเลหมู ดอกไม้ มูสดอกอัญชัน และครัมเบิลแมคคาเดเมีย เสิร์ฟพร้อมตะลิงปลิง เป็นต้น 

 

สายช็อปพบกับร้านดอยตุง ไลฟ์สไตล์ นำเสนองานคราฟต์ชนเผ่าทรงคุณค่า ทั้งเสื้อผ้า ของตกแต่งบ้าน ดีไซน์รวมสมัยแต่ยังคงเอกลักษณ์ของชนเผ่าชาวดอยตุง พร้อมชมการแสดงเชิงวัฒนธรรมที่หาชมได้ยากของ 6 ชนเผ่าบนดอยตุง อาทิ ชาติพันธุ์นานาไหว้สาแม่ฟ้าหลวง กระทุ้งไม้ไผ่อาข่าประยุกต์ เมาธ์ออแกน เต้นจะคึ และนารีศรีชาติพันธุ์ เป็นต้น  

 

นอกจากนี้ยังเอาใจสายศิลปะและรักธรรมชาติกับการเวิร์กช็อป Tattoo ดอกไม้ดอยตุง เวิร์กช็อปยิงพรม เพ้นท์เซรามิก ฯลฯ สามารถนำกลับบ้านเป็นของฝากได้อีกด้วย และที่ขาดไม่ได้กับกิจกรรมรักษ์โลก CARBON NEUTRAL EVENT เทศกาลสีสันแห่งดอยตุงเป็นงานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็น “ศูนย์” เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายในงานเน้นการใช้บรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้ และทำจากวัสดุธรรมชาติ เช่น กระบอกไม้ไผ่ และใบตอง เป็นต้น

 

เชิญพบความสนุกแบบเต็มอิ่มในเทศกาลสีสันแห่งดอยตุง ครั้งที่ 10 ในระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2566 ถึงวันที่ 28 มกราคม 2567 ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 08.00 – 18.00 น. ณ โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย ติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวของเทศกาลสีสันแห่งดอยตุงครั้งที่10 ได้ที่ www.facebook.com/DoiTungClub หรือโทร 053-767-015-7

 

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

“เศรษฐา” ประกาศวาระชาติลุยแก้หนี้นอกระบบ เริ่มลงทะเบียน 1 ธันวาคมนี้

 

วันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 เวลา 11.00 น.  ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงข่าวเรื่อง วาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ”  ร่วมกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และพลตำรวจเอก ธนา ชูวงศ์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โดยมีสื่อมวลชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วย ได้แก่ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ทั้งนี้เพื่อบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วนประกาศวาระแห่งชาติ ขับเคลื่อน “การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ” ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างจริงจัง

 

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่ารัฐบาลเห็นปัญหาหนี้นอกระบบ เป็นปัญหาที่กัดกร่อนสังคมไทยมานาน และเป็นเรื่องใหญ่ของคนไทยจำนวนมาก วันนี้เราจะเอาจริงเอาจัง ทำให้การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ ฟื้นฟูสภาพความเป็นอยู่ คืนศักดิ์ศรี คืนความหวังและสร้างความมั่นคงให้กับประชาชนคนไทยทุกคน โดยวันนี้เราได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายปกครอง ที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชน  และฝ่ายตำรวจ ที่ช่วยกำกับดูแลบังคับใช้กฎหมาย  จะมาทำงานร่วมกัน แก้ไขทั้งเรื่องหนี้ และมีเรื่องของความสัมพันธ์ในระดับชุมชนที่ละเอียดอ่อน ซึ่งนอกจากการแก้ไขหนี้แล้ว รัฐบาลยังจะฟื้นฟูเศรษฐกิจ สร้างความเข้มแข็งตั้งแต่ระดับครัวเรือนจนขึ้นไปถึงระดับมหภาค  ยกระดับความเป็นอยู่ ทำให้ไม่กลับไปมีหนี้ล้นพ้นตัวอีก

 

นายกรัฐมนตรีย้ำว่าปัญหาหนี้นอกระบบ ได้กัดกร่อนสังคมไทยมายาวนาน และเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาสังคมอีกหลายประการ รัฐบาลได้ประเมินจำนวนครัวเรือนที่มีปัญหาหนี้นอกระบบไว้ คิดเป็นมูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านบาท  ซึ่งคิดว่าเลขนี้น่าจะประเมินไว้ค่อนข้างต่ำ และปัญหาจริง ๆ น่าจะมีมากกว่านั้น ทั้งนี้คนที่ไม่ได้เป็นหนี้อาจจะสงสัยว่า ทำไมต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะหนี้นอกระบบเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบ “ต่อทุกคน” ที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจ  ประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นรากฐานสำคัญของประเทศ ต้องเจอกับความเปราะบางที่เกิดขึ้นจากหนี้สิน  ที่ใช้เท่าไรก็ไม่มีวันหมด  พวกเขาไม่สามารถแม้แต่จะฝัน หรือทำตาม Passion ได้  ปิดโอกาสการต่อยอดไปหลายอย่าง  ไม่สามารถเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ  ส่งผลกระทบเป็นโดมิโน่ไปยังทุกภาคส่วน และสำหรับนายกรัฐมนตรี หนี้นอกระบบถือว่าเป็น Modern World Slavery คือ เป็น “การค้าทาสในยุคใหม่” ที่ได้พรากอิสรภาพ ความฝัน ไปจากผู้คนในยุคสมัยนี้

 

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงปัญหาหนี้ว่าเป็นปัญหาเรื้อรังใหญ่ เกินกว่าที่จะแก้ปัญหาได้โดยไม่มีภาครัฐเป็นตัวกลาง ในวันนี้ รัฐบาลจึงต้องบูรณาการหลายภาคส่วนเข้ามาทั้งฝ่ายปกครอง ตำรวจ และกระทรวงการคลัง เพื่อไม่ให้ประชาชนกลับไปอยู่ในวงจรหนี้สินนอกระบบอีก โดยภาครัฐจะรับบทบาทเป็นตัวกลางสำคัญในการไกล่เกลี่ยพร้อมกันทั้งหมด  ดูแลทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้อย่างเป็นธรรม ตั้งแต่ต้นกระบวนการจนถึงการปิดหนี้ การทำสัญญา  ที่หลายครั้งไม่เป็นธรรมตามกฎหมาย มีดอกเบี้ยที่ไม่เป็นธรรม  และกระบวนการทวงหนี้ที่ใช้ความรุนแรง  ต้องจัดให้ทำสัญญาที่เป็นธรรมและเป็นไปตามกฎหมาย นั่นคือ การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ภาครัฐจะต้องทำงานร่วมกันหลายหน่วยงาน เพื่อทำให้ลูกหนี้ได้มีโอกาสหายใจ มีกำลังใจพอจะดำเนินชีวิต หาเงินมาปิดหนี้ให้ได้

 

ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้สั่งการในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนให้ตำรวจและมหาดไทยไปทำการบ้านมา  โดยทั้ง 2 หน่วยงานต้องทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ ให้ดีกว่าในอดีตที่เคยแยกกันทำ พูดให้ชัดคือ การแก้หนี้นอกระบบ จะต้องทำด้วยกันแบบ End-to-end  และต้องมีมาตรการต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ประชาชนกลับเข้าไปอยู่ในวงจรอีก และทั้งสองหน่วยงานจะต้องเข้าใจกระบวนการทำงานของกันและกัน ต้องทำให้กระบวนการทำงานไม่ “ซ้ำซ้อน” มีขอบเขตหน้าที่ และความรับผิดชอบ “ร่วมกัน” ที่ชัดเจนตั้งแต่ต้นจนจบ  โดยจะมีการทำฐานข้อมูลกลาง นำเทคโนโลยีมาช่วยสร้างความโปร่งใสตั้งแต่ต้นจนจบ  มีการให้เลขตรวจสอบ (Tracking ID) ที่ประชาชนสามารถนำไปใช้ติดตามผลได้  มีวิธีการเข้าสู่กระบวนการหลายรูปแบบ เพิ่มความสะดวกให้กับประชาชน /และต้องมีการสื่อสารกับประชาชนถึงความคืบหน้าต่าง ๆ อย่างตรงไปตรงมา รวมทั้งจะต้องมีกระบวนการถ่วงดุลระหว่างหน่วยงาน (Check & Balance) เพราะบางกรณีที่เจ้าหนี้หรือลูกหนี้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ก็ขอให้ทุกส่วนทำงานอย่างตรงไปตรงมา เข้ากระบวนการไกล่เกลี่ยให้ถูกต้อง  เพื่อแก้ปัญหาไปพร้อม ๆ กัน โดยนายกรัฐมนตรีฝากให้ทั้งสองหน่วยงานทำงานอย่างมีเป้าหมาย มี เป้าประสงค์ (KPI) ร่วมกัน และกรอบเวลา (Timeline) ที่ชัดเจน  และนายกรัฐมนตรีจะติดตามดูผลอย่างใกล้ชิด

 

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าหลังจากขั้นตอนการไกล่เกลี่ยแล้ว  รัฐบาลจะช่วยปรับโครงสร้างหนี้  โดยกระทรวงการคลังจะเข้ามาช่วยในฐานะผู้เชี่ยวชาญทางการเงิน  ทั้งการช่วยปรับระยะเวลา เงื่อนไข และกระบวนการต่าง ๆ  เพื่อให้ประชาชนสามารถชดใช้หนี้ได้อย่างมีศักดิ์ศรี ไม่เบียดบังการใช้ชีวิตจนทำให้พี่น้องท้อถอย โดบรัฐบาลจะระมัดระวังไม่สร้างภาวะ “อันตรายทางศีลธรรม” หรือ Moral Hazard ในมาตรการการช่วยเหลือทั้งหมด

 

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าการแก้ไขหนี้ในวันนี้คงไม่ใช่ยาปาฏิหาริย์ที่จะทำให้หนี้นอกระบบไม่เกิดขึ้นอีก  แต่มั่นใจว่า ด้วยเศรษฐกิจที่ดีขึ้น จะทำให้พี่น้องประชาชนมีรายได้ที่ดีขึ้น จนไม่จำเป็นต้องก่อหนี้อีกในอนาคต  และจะเพิ่มโอกาสให้พี่น้องประชาชนรายเล็ก รายย่อย สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้มากขึ้น นอกจากหนี้นอกระบบแล้ว ในวันที่ 12 เดือนธันวาคมนี้รัฐบาลจะมีการแถลงเรื่องภาพรวมหนี้แบบครบวงจร  ซึ่งจะครอบคลุมทั้งหนี้ในระบบ และหนี้นอกระบบอีกครั้งหนึ่ง โดยนายกรัฐมนตรีจะทำให้โครงการนี้ช่วยปลดปล่อยพี่น้องประชาชนจากการเป็นทาสหนี้นอกระบบ   ลืมชีวิตที่เคยลำบาก มีกำลัง มีแรงใจ ที่จะทำตามความฝัน นับจากนี้เป็นต้นไป

 

 รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยขอนำแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบที่ถือเป็นนโยบายสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาล ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติมาดำเนินการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดด้วยกลไกการทำงานและสรรพกำลังในแต่ละพื้นที่ที่มีความเข้มแข็ง ใกล้ชิดกับประชาชน ครอบคลุมพื้นที่ทั่วทั้งประเทศ ตั้งแต่ระดับผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน จนกระทั่งถึงผู้ใหญ่บ้าน โดยมั่นใจว่าด้วยความใกล้ชิดและได้รับความไว้ใจ เชื่อถือศรัทธาจากพี่น้องประชาชน ซึ่งถือว่าเป็นจุดแข็งของทุกสรรพกำลังของกระทรวงมหาดไทยในทุกพื้นที่ ที่จะใช้จุดแข็งด้านนี้ร่วมบูรณาการ ขับเคลื่อน และประสานการปฏิบัติในงานนโยบายกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม ในการ “ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ และร่วมกันแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ” เพื่อคลายทุกข์ของพี่น้องประชาชน ที่ประสบปัญหาหนี้นอกระบบให้กลายเป็นสุข เกิดผลการดำเนินการสำเร็จเป็นรูปธรรมตามเป้าประสงค์ของรัฐบาล

 

 สำหรับการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบนั้น กระทรวงมหาดไทยจะใช้กลไกการทำงานดังกล่าวร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำงานด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ โดยจะมีการศึกษาการปฏิบัติตามมาตรฐานในการปฏิบัติงาน ให้เข้าใจกระบวนการของทั้งสองหน่วยงาน ตั้งแต่การช่วยเหลือลูกหนี้ โดยเฉพาะในมิติด้านการไกล่เกลี่ยและประนีประนอมข้อพิพาท การเฝ้าระวังและป้องกัน รวมถึงการปราบปรามผู้กระทำความผิดอย่างเด็ดขาด นอกจากนี้ จะมีการประสานเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานเพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบไม่ซ้ำซ้อนและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน พร้อมทั้งจะร่วมกันดำเนินการในทุกภาคส่วนอย่างถูกต้อง โปร่งใส และเป็นไปตามระเบียบกฎหมายอย่างเคร่งครัด ให้สามารถตรวจสอบถ่วงดุลกันได้ โดยจะกำหนดแผนการดำเนินการ เป้าหมาย และ KPI ให้ชัดเจน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับพี่น้องประชาชน

 

พร้อมขอเชิญพี่น้องประชาชนที่ประสบปัญหา “หนี้นอกระบบ” ไม่ว่าจะเป็นการถูกข่มขู่คุกคาม ถูกดูหมิ่น ในการทวงถามหนี้ ถูกกระทำโดยไม่เป็นธรรม หรือท่านที่มีความประสงค์จะปรับเปลี่ยนแก้ไขหนี้จากนอกระบบให้เป็นหนี้ในระบบ เพื่อที่ท่านจะได้มีภาระในการผ่อนชำระน้อยลง โดยสามารถลงทะเบียนลูกหนี้นอกระบบได้ที่ ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด ณ ศาลากลางจังหวัดทุกแห่ง และศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ ณ ที่ว่าการอำเภอทุกแห่ง โดยในส่วนของกรุงเทพมหานคร สามารถลงทะเบียนได้ที่สำนักงานเขตทุกแห่ง เพื่อที่กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะรวบรวมข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน นำไปสู่การบูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ให้แก่พี่น้องประชาชนเป็นราย ๆ ไป โดยพี่น้องประชาชนจะได้รับการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบได้ตรงจุด ตรงประเด็น และเกิดผลสัมฤทธิ์ต่อตัวชี้วัดของการแก้ไขปัญหาในระดับชาติอย่างเป็นรูปธรรมต่อไปด้วย

 

 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในส่วนกระทรวงการคลังนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงการคลังมาดูแลประชาชนที่เป็นลูกหนี้นอกระบบ หลังจากที่มีการปรับโครงสร้าง และไกล่เกลี่ยกันเรียบร้อยแล้ว โดยจะมาดูแลโดยธนาคารของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน ซึ่งขณะนี้มีโครงการอยู่แล้ว ในเรื่องของการแก้ไขหนี้นอกระบบ โดยจะให้กู้ต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลา 5 ปี และอีกส่วนหนึ่งจะเป็นโครงการสินเชื่อ สำหรับอาชีพอิสระ เพื่อรายย่อย เพื่อการส่งเสริมอาชีพ ซึ่งเป็นอีกโครงการหนึ่งที่ให้กู้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย ระยะเวลาสูงสุด 8 ปี ส่วนอัตราดอกเบี้ย เป็นไปตามความสามารถของลูกหนี้แต่ละราย นอกจากนั้นธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ยังมีโครงการมารองรับ ในเรื่องของการที่นำที่ดินไปขายฝาก หรือติดจำนองกับทางหนี้นอกระบบและได้มีการแก้ไขแล้ว ธ.ก.ส. ก็มีวงเงินสำหรับเกษตรกรต่อรายไม่เกิน 2.5 ล้านบาท ในเรื่องของการแก้ไขที่ทำกิน ซึ่งตรงนี้เป็นส่วนในเรื่องของธนาคารของรัฐที่จะเข้ามาดูแลหลังจากที่มีการไกล่เกลี่ยกันเรียบร้อยแล้ว สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจจะดำเนินการให้ถูกกฎหมายทางรัฐก็มีช่องทางให้ดำเนินการขออนุญาตเรื่องของพิโกไฟแนนซ์ ซึ่งวันนี้มีผู้มาขออนุญาตไปแล้วพันกว่ารายทั่วประเทศ โดยต่อราย มีทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาทเท่านั้น แต่หลักการไม่ให้ฝากเงิน ให้ใช้เงินของท่านกู้เงินอย่างเดียว

 

 รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงปัญหาหนี้นอกระบบว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รับผิดชอบในมิติด้านการบังคับใช้กฎหมายพร้อมที่จะขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล ด้านการสืบสวน จับกุม และดำเนินคดี กับผู้กระทำความคิดผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ ในทุกรูปแบบ จากสภาพปัญหาหนี้นอกระบบที่ผ่านมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เล็งเห็นถึงความเดือดร้อนของประชาชน ที่ถูกโกงหนี้โดยใช้ความรุนแรง จึงได้จัดตั้งศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิด เกี่ยวกับหนี้นอกระบบ ตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2563 เพื่อเร่งรัดแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้มีประสิทธิภาพ โดยมี สายด่วน 1599 เป็นหมายเลขรับแจ้งเหตุ และได้กำหนดแผนปฏิบัติ ตั้งแต่สำรวจข้อมูลในพื้นที่ เพื่อค้นหาเป้าหมาย  สั่งการให้ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ตำรวจภูธร 1-9 ทำการเอกซเรย์พื้นที่ และส่งข้อมูลขึ้นบัญชีผู้ประกอบการหนี้นอกระบบทั้งหมด นำมาจัดกลุ่มผู้ประกอบการ ในระดับ SML 

 

เพื่อพิจารณาดำเนินการโดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการ ที่มีพฤติการณ์ใช้ความรุนแรงในการทวงหนี้ นอกจากนั้นยังบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง โดยในห้วงที่ผ่านมามีผลการจับกุมผู้กระทำความผิด เกี่ยวกับหนี้นอกระบบ ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566 ถึงปัจจุบัน จำนวน 134 ราย หยุดรถยนต์ของกลาง 22 คัน รถจักรยานยนต์ 19 คัน รวมมูลค่าของกลาง 8 ล้านบาทเศษ มีการจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบรายใหญ่ เช่น จับกุมเครือข่ายรับจำนำรถยนต์พื้นที่จังหวัดชลบุรีเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2566 จับกุมเครือข่าย รับจำนำรถยนต์พื้นที่อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 จับกลุ่มแก๊งปล่อยเงินกู้ ทวงหนี้โหด พื้นที่อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมที่จะทำงานบูรณาการร่วมกับกระทรวงมหาดไทย รวมถึงหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นการไกล่เกลี่ยหนี้ การลงข้อมูลในระบบข้อมูลกลาง เพื่อให้การติดตามผลเป็นไปอย่างโปร่งใส สอดคล้องกับเป้าหมาย KPI ตามที่นายกรัฐมนตรีกล่าวไว้ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตามนโยบายรัฐบาลต่อไป

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News