Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

คนนับหมื่นร่วมมุทิตาสักการะครูบาอริยชาติ ในพิธีทำบุญอายุวัฒนมงคล 43 ปี

 

เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2567 ที่วัดแสงแก้วโพธิญาณ ต.เจดีย์หลวง อ.แม่สรวย จ.เชียงราย นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยนางสุภาเพ็ญ ศิริมาตย์ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดเชียงราย และประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยประชาชนจากทั่วทุกสารทิศจำนวนมากต่างเดินทางไปกราบนมัสการพระภาวนารัตนญาณ วิ.หรือครูบาอริยชาติ อริยจิตโต ซึ่งเป็นพระเกจิที่มีชื่อเสียงโด่งดังเนื่องในโอกาสวัดคล้ายวันเกิดครูบาอริยาชาติ 43 ปี โดยทางวัดจัดให้มีกิจกรรมไถ่ชีวิตโค-กระบือ ทุกตัวที่พบเห็นโดยเฉพาะใน อ.แม่สรวย โดยมีการส่งทีมงานไปติดต่อตามโรงฆ่าสัตว์ทุกแห่งรวมทั้งมีกิจกรรมงานบุญอื่นๆ ภายในวัดด้วย

 
ครูบาอริยชาติ กล่าวว่าอานิสงฆ์การให้ชีวิตทำให้เรามีชีวิตและอายุยืนรวมทั้งมีอิสระจากสิ่งพันธนาการโดยพบโค-กระบือกี่ตัวก็เหมาซื้อมาทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีการปล่อยปลา 440,000 ตัวที่เขื่อนแม่สรวย รวมทั้งไปยังตลาดต่างๆ เพื่อซื้อปลา กุ้ง หอย เต่า ฯลฯ สัตว์ต่างๆ เพื่อนำไปปล่อยเพิ่มเติมอีกด้วยที่เหลือ ถ้าไม่พบก็ถือเป็นบาปกรรมเดิมของเขาต่อไป สำหรับภายในวัดมีการบวชพระภิกษุ เณรและชีพราห์ม โดยปี 2567 นี้มีพระภิกษุจำนวน 100 กว่ารูป เณร 10 กว่ารูปและชีพราห์ม 100 กว่าคน ปฏิบัติธรรมในวัดร่วม 300 รูป
 
 
ครูบาอริยชาติ กล่าวอีกว่าในโอกาสเดียวกันได้มีผู้ถวายพระรัตนมณีญาณเป็นพระแก้วประดับเครื่องทรงทองคำหนัก 5 กิโลกรัมกว่า อัญชมณีพลอย 900 กว่าเม็ด ให้กับวัดแสงแก้วโพธิญาณซึ่งจะนำประดิษฐานในหอพระแก้วเก้าภายในวัดต่อไป ขณะเดียวกัน “ต้อย เมืองนนท์” (พิศาล เตชะวิภาคอุปนายกสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย) ได้ถวายพระคันธาระ อายุราว 2,200 ปีซึ่งประมูลมาได้จากต่างประเทศให้กับทางวัดด้วย หลังจากแห่พระพุทธรูปและสมโภชน์แล้วจะมีการวางศิลาฤกษ์ ตอกเสาเข็ม 5 ต้นแรก เพื่อสร้างมหาเจดีย์ฐานกว้าง 3 ไร่กว่า ตัวองค์เจดีย์ 2 ไร่กว่า สูง 149 เมตรหรือเท่าตึก 50 ชั้น เพื่อเป็นพุทธบูชา ฯลฯ ต่อไป
 
 
สำหรับครูบาอริยชาติได้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 9 ม.ค.2524 ที่บ้านปิงน้อย อ.สารภี จ.เชียงใหม่ เป็นบุตรของโยมพ่อสุข โยมแม่จำนง อุ่นต๊ะ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาด้วยกัน 3 คน เป็นผู้ชายทั้งหมด ครูบาอริยชาติบวชเป็นสามเณรเมื่อปี 2541 ที่วัดชัยมงคล ต.ประตูป่า อ.เมือง จ.ลำพูน และอุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดพัทธสีมาชัยมงคล (วังมุย) อ.เมือง จ.ลำพูน กระทั่งได้รับนิมนต์ของญาติโยมให้ไปอยู่ที่ อ.แม่สรวย และสร้างวัดแสงแก้วโพธิญาณจนถึงปัจจุบัน.
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

ผู้ว่าฯ เชียงราย จัดพิธีทอดผ้าป่า เพื่อระดมทุนปัญหาหมอกควันไฟป่า และ PM 2.5

 
เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2567 ที่ ศูนย์ปฏิบัติการหมอกควันไฟป่า และ PM 2.5 จังหวัดเชียงราย ชั้น 1 ศาลากลางจังหวัดเชียงราย นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานการประชุมฯ เพื่อติดตามความคืบหน้า และผลการดำเนินงานป้องกันแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่า และ PM 2.5 ที่ผ่านมาซึ่งเป็นช่วงของการรณรงค์ก่อนเกิดสถานการณ์ ของแต่ละหน่วยงานในสังกัดศูนย์ปฏิบัติการฯ ทั้งด้านงบประมาณ การประสานกับประเทศเพื่อนบ้าน เรื่องหมอกควันข้ามแดน การดำเนินการทางด้านสาธารณสุข ด้านการบริหารจัดการเชื้อเพลิงของแต่ละอำเภอ แนวทางวิธีการกำจัดเศษวัชพืช หรือซากวัสดุจากการเกษตร ด้านปศุสัตว์ และการนำมาตรการด้านการอนุรักษ์พลังงานมาใช้ในการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่า นอกจากนี้ยังได้ร่วมกันวางแนวทางการเตรียมการ ช่วงก่อน ระหว่าง และหลังเกิดสถานการณ์ ช่วงการประกาศห้ามเผา และด้านการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ การมีส่วนร่วมบริหารจัดการ และร่วมรับผิดชอบ ของทุกภาคส่วน ในการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่า และ PM 2.5 ของจังหวัดเชียงราย
 
 
ทั้งนี้ ในที่ประชุมฯ ได้หารือเรื่องที่จังหวัดเชียงราย และคณะสงฆ์จังหวัดเชียงราย จะจัดพิธีทอดผ้าป่า เพื่อระดมทุนสำหรับใช้ในการช่วยเหลือผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาหมอกควันไฟป่า และ PM 2.5 อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างคณะสงฆ์จังหวัดเชียงราย หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ให้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการปัญหาหมอกควันไฟป่า และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ภายใต้ชื่อ “บวร.บรม.ครบ. ผนึกกำลังกันเป็นสามัคคี เป็นพลังค้ำจุนแผ่นดินไทย เพื่อแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่า ให้ประเทศชาติและโลกใบนี้” (บวร. หมายถึง บ้าน วัด ราชการ โรงเรียน / บรม. หมายถึง บ้าน ราชการ มัสยิส และ ครบ. หมายถึง คริสต์ ราชการ บ้าน)ร่วมคณะสงฆ์จังหวัดเชียงราย กำหนดจัดพิธีทอดผ้าป่า บวร. บรม. ครบ. แก้ปัญหาหมอกควันไฟป่า ของจังหวัดเชียงรายให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกำหนดจัดขึ้นในวันจันทร์ที่ 22 มกราคม 2567ณ วัดเจ็ดยอด พระอารามหลวง ตำบลเวียงอำเภอเมืองเชียงราย ตั้งแต่เวลา 13:00 น. เป็นต้นไป
 
 
ร่วมเป็นเจ้าภาพทอดผ้าป่าฯ ตามกำลังศรัทธา โดยโอนเงินผ่านธนาคารกรุงไทย สาขาเชียงราย
ชื่อบัญชี กองทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัย ที่ทำการปกครองจังหวัดเชียงราย เลขที่บัญชี 504-3-14827-6
สอบถามรายละเอียดได้ที่ 06-1517-8591 หรือ 08-9969-6728
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI NEWS UPDATE

ผู้ว่าฯ เคาะกำหนดจัดงานพ่อขุนฯ และกาชาด ปี 67 “รำลึกอดีต ถึงปัจจุบัน ก้าวสู่อนาคต เมืองเชียงราย”

 

เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2566 นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการดำเนินงานพ่อขุนเม็งรายมหาราชและงานกาชาด ประจำปี 2567 ที่ห้องประชุมธรรมลังกา ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดเชียงราย โดยมี นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นางสุภาเพ็ญ ศิริมาตย์ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดเชียงราย นางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดเชียงราย หัวหน้าส่วนราชการ ทหาร ตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมในการกำหนดจัดงานพ่อขุนเม็งรายมหาราชและงานกาชาด ประจำปี 2567 ระหว่างวันศุกร์ที่ 26 มกราคม 2567 ถึงวันอาทิตย์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2567 รวม 10 วัน 10 คืน ณ ฝูงบิน 416 (สนามบินเก่า) อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย 

 

เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพ่อขุนเม็งรายมหาราช ที่ทรงสร้างเมืองเชียงราย เมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 1805 รวมถึงเป็นการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวล้านนา และนำเสนอผลงานความก้าวหน้าทางวิชาการของทุกภาคส่วน การออกร้านนิทรรศการของส่วนราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ สำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัด สถาบันการศึกษา สมาคมและมูลนิธิ การแสดงมหรสพ กีฬา และการละเล่นบันเทิงต่างๆ ของภาคเอกชน และเพื่อจัดหารายได้สำหรับใช้ในกิจการที่ไม่มีงบประมาณสนับสนุนและงานสาธารณกุศลของจังหวัดเชียงราย รวมทั้งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงราย ที่ประชุมได้แจ้งประกาศจังหวัดเชียงราย เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการจัดงานพ่อขุนเม็งรายมหาราชและงานกาชาด ประจำปี 2567 จำนวน 12 กองงาน เพื่อให้การดำเนินการจัดงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เน้นย้ำการให้ความสำคัญความเป็นมาของจังหวัดเชียงราย ให้ลูกหลานชาวเชียงรายได้รับรู้ประวัติศาสตร์เมืองเชียงรายจากอดีตถึงปัจจุบัน ก้าวสู่อนาคตที่รุ่งเรือง และขอให้ประชาชนชาวเชียงรายได้มีส่วนร่วมในงานฉลองครบรอบ 762 ปี เมืองเชียงราย ด้วย

 

 

ทั้งนี้ จะมีพิธีสักการะฯ และพิธีเปิดงานพ่อขุนเม็งรายมหาราชและงานกาชาด ประจำปี 2567 ในวันที่ 26 มกราคม 2567 เวลา 07.30 น. พิธีถวายสักการะพระบรมอัฐิพ่อขุนเม็งรายมหาราช ณ วัดดอยงำเมือง 
 
เวลา 08.30 น. พิธีบวงสรวง สืบชะตา และทำบุญเมืองเชียงราย ณ อนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราช (ห้าแยกพ่อขุน) จัดพิธีพร้อมกัน 6 อำเภอ (อำเภอแม่สาย อำเภอเชียงแสน อำเภอเชียงของ อำเภอเทิง อำเภอพาน และอำเภอแม่สรวย) เสร็จแล้ว ต่อด้วยการฟ้อนเมืองไหว้สาปูจาพญามังราย กว่า 1,000 คน ฉลองครบรอบ 762 ปี เมืองเชียงราย 
 
เวลา 14.30 น. พิธีไหว้สาพญาเม็งราย จากอำภอต่างๆ ทั้ง 18 อำเภอ ณ อนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราช 
 
เวลา 16.00 น. พิธีกล่าวเปิดงานเฉลิมฉลองครบรอบ 762 ปี เมืองเชียงราย และตีฆ้องชัยเฉลิมฉลองความเจริญรุ่งเรืองเมืองเชียงราย
 
 
จากนั้นขบวนแห่ 12 ขบวน จากขบวนวงโยธวาทิต ขบวนผู้บริหารจังหวัดเชียงราย ขบวนองค์การปริหารส่วนจังวัดเชียงราย ขบวนเทศบาลนครเชีองราย ขบวนมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และขบวนกลุ่มอำเภอ 8 กลุ่มอำเภอ เริ่มเคลื่อนขบวนจากนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราช ไปตามเส้นทางผ่านหน้าสวนตุงและโคมฯ เลี้ยวซ้ายแยกศาลเข้าสู่แยกประตูสลี เลี้ยวขวาเข้าสู่หอนาฬิกาเฉลิมพระเกียรติ และเลี้ยวช้ายแยกบรรพปราการ (แยกวัดมิ่งเมือง) มุ่งหน้าสู่สถานที่จัดงานฝูงบิน 416 (สนามบินเก่า) ระยะทางประมาณ 3.2 กิโลเมตร ตลอดการเคลื่อนขบวนจะมีการแสดง 3 จุด 
 
จุดที่ 1 บริเวณหน้าอนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราช 
 
จุดที่ 2 ระหว่างทาง บริเวณหอนาฬิกาเฉลิมพระเกียรติ 
 
จุดที่ 3 บริเวณทางเข้าสถานที่จัดงาน ฝูงบิน 416 (สนามบินเก่า) 
 
เวลา 18.30. น. พิธีเปิดงานพ่อขุนเม็งรายมหาราช และงานกาชาด ประจำปี 2567 ณ เวทีกลาง 
 
เวลา 19.00 น. ประธานในพิธี ประกอบพิธีเฉลิมฉลองครบรอบ 762 ปี เมืองเชียงราย โดยการกดปุ่มเปิดไฟ เพื่อให้ไฟสว่างไสวทั่วทุกมุมเมืองและสถานที่สำคัญของ จังหวัดเชียงราย พร้อมกันอีก 2 จุด โดยนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย กดปุ่มเปิดไฟเฉลิมฉลองครบรอบ 762 ปี เมืองเชียงราย ณ บริเวณวัดร่องเสือเต้น นายกเทศมนตรีนครเชียงราย กดปุ่มเปิดไฟเฉลิมฉลองครบรอบ 762 ปี เมืองเชียงราย ณ บริเวณสวนตุงและโคม เทศบาลนครเชียงราย
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

ขานรับนโยบายผู้ว่าฯ เชียงราย ทุกหน่วยงานพร้อมรับมือ PM 2.5

 
จากสถานการณ์ไฟป่าหมอกควัน และ PM 2.5 ของจังหวัดเชียงราย ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องทุกปี นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้สั่งการให้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการหมอกควันไฟป่า และ PM 2.5 
 
เพื่อเป็นศูนย์บูรณาการการทำงานร่วมกับทั้งคน งบประมาณ การบริหารจัดการ การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ซึ่งจังหวัดเชียงราย มีความห่วงใย 4 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว ซึ่งขณะนี้ทางจังหวัดเชียงราย โดยการนำของผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้เน้นย้ำให้ทุก 18 อำเภอ ของจังหวัดเชียงราย 
 
 
เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์หมอกควัน ไฟป่า และPM 2.5 โดยให้ดำเนินการจัดเตรัยมห้องปลอดฝุ่นให้กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีทั้งหมด 460 แห่ง ดำเนินการแล้ว 206 แห่ง อยู่รัหว่างดำเนินการ 51 แห่ง ยังไม่ดำเนินการ 149 แห่ง และกำชับและเร่งรัดให้ทุกอำเภอบูรณาการร่วมกับ อปท.ในพื้นที่ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เพื่อดำเนินการให้ครบทั้ง 18 อำเภอ 100% โดยเร็ว
 
 
โดยในวันนี้ 3 ธันวาคม 2566 นายอุดม ปกป้องบวรกุล นายอำเภอแม่สรวย ได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมรับมือภายใต้ชื่อว่า “ ไฟป่า ฝุ่นควัน การป้องกันสุขภาพ” ร่วมกับ โรงพยาบาลแม่สรวย อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย เตรียมความพร้อมในการป้องกัน PM 2.5 อันเนื่องมาจากปัญญาไฟป่า ฝุ่นควัน โดยการเตรียมห้องปลอดฝุ่น เครื่องฟอกอากาศ เติมอากาศ สำหรับเจ้าหน้าที่ และประชาชนที่มารับบริการ การรับรักษาพยาบาล ค่อนข้างจะเกือบ 100 % ตามนโยบายของผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
TOP STORIES

ไม่กระทบโครงสร้าง ผู้ว่าฯ ลงตรวจอาคาร รพ.เชียงราย หลังพบรอยร้าว

วันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน 2566 จากกรณีเกิดแผ่นดินไหวเมื่อเวลา 08.37 น.ในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา ห่างจาก อ.แม่สาย จ.เชียงราย ไปทางทิศเหนือประมาณ 100 กิโลเมตร โดยมีความแรงตามมาตรการวัดริกเตอร์ได้ถึง 6.4 แม็กนิจูด ทำให้รับรู้แรงสั่นไหวได้ทั่วภาคเหนือนั้น นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย ได้เดินทางไปตรวจสอบอาคารเด็กภายในโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ อ.เมืองเชียงราย ซึ่งมีอาคารส่วนต่อขยายตรงจุดเชื่อมระหว่างอาคารเก่าและใหม่สูง 5 ชั้น ได้รับความเสียหายแตกเป็นรอยแนวตั้งยาว ซึ่งสามารถเห็นได้อย่างขัดเจนจากภายนอก ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดได้สั่งการให้ฝ่ายโยธาธิการให้เร่งเข้าไปตรวจสอบโดยด่วน เนื่องจากภายในอาคารมีผู้ป่วย แพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่ที่ต้องใช้อาคารอยู่เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีสถานที่อื่นๆ เช่น โรงพยาบาลแม่สาย ฯลฯ ที่ด้านหน้าอาคารได้รับความเสียหายเล็กน้อย ฯลฯ ซึ่งเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายในหลายพื้นที่อยู่ระหว่างสำรวจเพื่อซ่อมแซมต่อไป

 
นายณรงค์ น้ำผึ้ง โยธาธิการและผังเมือง จ.เชียงรายกล่าวว่ากรณีโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์นั้น ได้ตรวจสอบเบื้องต้นพบเป็นการกระเทาะออกมาของปูนฉาบที่เชื่อมระหว่างอาคารใหม่ และเก่ารวม 2 หลัง และอาคารสร้างเพื่อรองรับแผ่นดินไหวได้ตามมาตราวัดริกเตอร์ได้ถึงระดับ 6-8 เพราะฉะนั้นโครงสร้างจึงไม่ได้รับกระทบ และสามารถใช้งานได้ตามปกติ กระนั้นตนห่วงเรื่องบ้านเรือนของประชาชนที่ไม่สร้างเพื่อรองรับแผ่นดินไหวจึงได้ให้เจ้าหน้าที่ออกสำรวจแล้ว
 
สำหรับ อ.แม่สาย ซึ่งสั่นไหวมากเพราะอยู่ใกล้กับรัฐฉานมากที่สุดพบว่าช่วงเกิดเหตุได้มีคนงานก่อสร้างหลายคน เข้าไปทำงานเพื่อสร้างอาคารศูนย์บริการแบบที่เดียวเสร็จหรือ OSS ภายในที่ว่าการ อ.แม่สาย ตามปกติ แต่ขณะเกิดแผ่นดินไหวได้แรงงานคนหนึ่ง ทราบชื่อต่อมาว่านายยะหุ้ย อายุ 31 ปี ชาวสัญชาติเมียนมา กำลังอยู่บนนั่งร้านชั้น 3 ใกล้เคียงกับริเวณชั้น 2 ของอาคาร เมื่อเกิดแรงสันไหวทำให้นายยะหุ้ยพลัดตกลงมากระทบพื้นจนแขนซ้ายหักและได้รับบาดเจ็บสาหัส หลังเกิดเหตุหน่วยกู้ภัยและเจ้าหน้าที่ อ.แม่สาย ได้รีบนำตัวส่งโรงพยาบาลแม่สายอย่างเร่งด่วนเบื้องต้นพบว่าอาคารอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย
 
 
หลังจากสำหรับแผ่นดินไหวขนาด 6.4 ในวันที่ 17 พ.ย.นี้แล้ว ยังมีการสั่นไหวตามมาหรืออาฟเตอร์ช็อคอย่างน้อย 3-4 ครั้ง คือในเวลา 08.42 น.ความแรงระดับ 4.1 เวลา 08.46 น.ความแรง 3.5 เวลา 08.48 น.ความแรง 3.4 และเวลา 09.06 น.ความแรง 3.4 ตามลำดับ

 

แพทย์หญิงบุญศิริ จันศิริมงคล รักษาการในตำแหน่ง สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 1 ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหว โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์

 

 

ต่อมาเวลา 18.00 น. นายแพทย์วัชรพงษ์ คำหล้า นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วย นายแพทย์ศุภเลิศ เนตรสุวรรณ รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ ทีมผู้บริหาร และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมต้อนรับ แพทย์หญิงบุญศิริ จันศิริมงคล รักษาการในตำแหน่ง สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 1 พร้อมคณะ ในการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหว โดยได้เข้าเยี่ยมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่และผู้ป่วย หอผู้ป่วยพิเศษสูติกรรม ชั้น 5 อาคาร 68 ปีอนุสรณ์ พร้อมร่วมรับฟังสรุปรายงานเหตุการณ์ของโรงพยาบาลเชียงรายฯ  และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รัฐพล  เกติยศ รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงราย ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการบริหารวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สาขาภาคเหนือ 1 ได้ชี้แจงในส่วนของโครงสร้างอาคาร 68 ปีอนุสรณ์ เป็นอาคารที่ได้รับการออกแบบให้ต้านทานแผ่นดินไหว จากวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งลักษณะด้านวิศวกรรมโครงสร้าง มีการแยกเป็น 2 อาคาร เป็นผลให้การสั่นไหวของอาคารต่างกัน และจากการสำรวจความเสียหายจากทีมวิศวกร ไม่พบความเสียหายกับโครงสร้างหลักของอาคาร พบเพียงแต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นบริเวณรอยต่อ ในส่วนของกำแพงอิฐก่อที่ร่อน ซึ่งไม่ใช่ส่วนโครงสร้างอาคาร และความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่มีผลต่อความมั่นคงและเสถียรภาพของอาคาร ซึ่งที่ผ่านมา ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงราย ร่วมกับ กลุ่มงานโครงสร้างและวิศวกรรมทางการแพทย์ โรงพยาบาลเชียงรายฯ ได้มีการนำนวัตกรรมวัดแรงสั่นสะเทือนอาคารสูง ติดตั้ง ณ อาคารอุบัติเหตุและฉุกเฉิน เพื่อเตือนให้ผู้ใช้อาคารสูงมั่นใจว่ามี การวัด Potential Damage Scale เท่าไรในขณะแผ่นดินไหว เช่นครั้งนี้ พบแรงสั่นสะเทือนที่ Sensor วัดได้อยู่ในช่วง 2.5-8 G ประเมินได้ว่า ไม่มีผลกระทบต่ออาคารแต่อย่างใด 

 

พร้อมกันนี้ แพทย์หญิงบุญศิริ จันศิริมงคล สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 1 ได้เน้นย้ำให้สร้างความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน และความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ รวมถึงสภาพจิตใจที่ตามมาหลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว โดยให้ปฏิบัติตามแนวทาง “แผ่นดินไหว ใจไม่สั่นไหว” คือ ประเมินความเสี่ยงของพื้นที่และเตรียมความพร้อมในการรับมือ ประเมินปฏิกิริยาที่อาจจะเกิดขึ้น การเตรียมความพร้อมยอมรับอารมณ์ที่หวั่นไหว และหากมีผลกระทบต่ออารมณ์และการทำงาน มากกว่า 1 เดือน ให้ปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือ สถานพยาบาลใกล้บ้าน และได้สั่งการให้มีการประชุม ถอดบทเรียน ซ้อมแผนเผชิญเหตุ เพื่อรับสถานการณ์ในอนาคต 

 

ทั้งนี้ นายนฤดล อ่วมสุข ผู้อำนวยการศูนย์สนับสนุนบริการสุขภาพที่ 1 พร้อมสถาปนิก จะทำการสำรวจเพิ่มเติมในส่วนของโครงสร้างอาคารอื่น ๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับบุคลากรของโรงพยาบาล และประชาชนผู้เข้ารับบริการต่อไป

 

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : THE STANDARD

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

เชียงราย ติดตามการดำเนินงาน “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ตามพระดำริ

 
วันที่ 25 ตุลาคม 2566 เวลา 13.30 น. นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยนางสุภาเพ็ญ ศิริมาตย์ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดเชียงราย ลงพื้นที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ติดตามการดำเนินงาน “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ตามพระดำริ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ณ ศูนย์เรียนรู้สมุมไพรกลุ่มไทยเฮิร์ปแอทเชียงราย อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย โดยนายวิรุฬห์ สิทธิวงศ์ นายอำเภอเชียงของ นางพรรณี ราชคม นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ รักษาราชการแทนพัฒนาการอำเภอเชียงของ ผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้านในพื้นที่ และเจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเชียงของ ให้การต้อนรับและรายงานผลการดำเนินงาน
 
 
ในการนี้ นายวิทยา ชุมภูคำ พัฒนาการจังหวัดเชียงราย มอบหมายให้ นายปรีชา ปวงคำ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน และนางสาวแสงวรรณ สมปาน นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเชียงราย ร่วมติดตามสนับสนุนการดำเนินงานด้วย
 
 
ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดเชียงราย และคณะได้เยี่ยมชมการแปรรูปเส้นใยสับปะรด เส้นใหญ่สมุนไพรธรรมชาติและการย้อมสีธรรมชาติ ตามแนวทาง BCG คือการพัฒนาเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
ในการนี้ นางสุภาเพ็ญ ศิริมาตย์ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดเชียงราย ได้ทดลองย้อมผ้าใย สับปะรดสีธรรมชาติจากไม้ฝาง และอุดหนุนสินค้าที่ผลิตจากใยสับปะรด ซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กลุ่​มงาน​ส่งเสริม​การพัฒนา​ชุมชน​ สำนักงาน​พัฒนา​ชุมชน​จังหวัด​เชียงราย​

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

รวมพลังน้ำใจน้องพี่สีชมพูเชียงราย ร่วมปลูกต้นจามจุรี (ทรงปลูก) 23 ต้น

 
วันนี้(23 ต.ค.) ที่บริเวณพื้นที่สาธารณะบ้านห้วยเกี๋ยง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยนางสุภาเพ็ญ ศิริมาตย์ นายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จ.เชียงราย เป็นประธานโครงการรักษ์จามจุรี (ทรงปลูก) นำหัวหน้าส่วนราชการในอำเภอเชียงแสน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จิตอาสาพระราชทาน นิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันปลูกต้นจามจุรี จำนวน 23 ต้น เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งความภักดี และร่วมสืบสานพระราชปณิธานในหลวงรัชกาลที่ 9
 
 
.
เนื่องด้วยเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2505 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จพระราชดำเนิน ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พระราชทานต้นจามจุรีและทรงปลูกด้วยพระองค์เอง จำนวน 5 ต้น ทางชมรมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2518 หรือ CU18 จึงจัดทำโครงการ “รักษ์จามจุรีทรงปลูก” เพื่อให้ต้นจามจุรี (ทรงปลูก) คงอยู่ เป็นเครื่องเตือนใจตลอดกาล โดยการขยายพันธุ์ต้นลูกจามจุรีทรงปลูก ให้แผ่กระจายออกไปสร้างความร่มเย็นทั่วราชอาณาจักร โดยได้ขอความร่วมมือหน่วยงาน องค์การ สถาบันการศึกษา ในทุกจังหวัด สนับสนุนการปลูกต้นจามจุรี (เพาะจากเมล็ดพันธุ์ต้นทรงปลูก) ในพื้นที่ที่เหมาะสมให้ต้นจามจุรีงอกงามเติบโตสูงใหญ่แผ่กิ่งก้านสร้างความร่มเย็นเป็นสุขแก่ประชาชนทั่วไป
 
.
ทั้งนี้จังหวัดเชียงรายได้สนับสนุนโครงการรักษ์จามจุรี (ทรงปลูก) ร่วมปลูกต้นจามจุรี จำนวน 23 ต้น ที่ได้มาจากเมล็ดพันธุ์ของต้นจามจุรี (ทรงปลูก) เพื่อร่วมสืบสาน พระปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ 9 และด้วยความตระหนักในคุณค่าความสำคัญของการปลูกต้นไม้เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ช่วยแก้ปัญหาโลกร้อน และเป็นการเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ รวมถึงส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอีกด้วย
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI FEATURED NEWS

เชียงราย เตรียมบรูณาการบังคับใช้กฎหมาย บริหารหมอกควันข้ามแดน PM 2.5

 

วันที่ 20 ตุลาคม 2566 ที่ห้องประชุมจอมกิตติ ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดเชียงราย นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานการประชุมคณะทำงานถอดบทเรียนการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 โดยมีพระอาจารย์วิบูลย์ ธัมมเตโช ที่ปรึกษาเจ้าอาวาสวัดพุทธอุทยานดอยอินทรีย์ นายศรัณยู มีทองคำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นำหัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เพื่อร่วมกันพิจารณาผลการถอดบทเรียนพร้อมแสดงความคิดเห็นข้อเสนอแนะ และนำข้อมูลไปกำหนดทิศทางในการจัดทำแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน ของจังหวัดเชียงราย ประจำปี 2567 รองรับเป็นเมืองแห่งสุขภาพ คนเชียงรายมีคุณภาพชีวิตที่ดี และอยู่ในช่วงของการจัดกิจกรรมระดับโลก Thailand Biennale Chiang Rai 2023 อีกด้วย

ในการนี้พระอาจารย์วิบูลย์ ธัมมเตโช ที่ปรึกษาเจ้าอาวาสวัดพุทธอุทยานดอยอินทรีย์ ได้กล่าวถึงประสบการณ์การดับไฟป่าที่ดอยอินทรีย์ ซึ่งดำเนินการโดยวัดพุทธอุทยานดอยอินทรีย์ และสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) ที่ร่วมแก้ปัญหาแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ในเรื่องที่ดินทำกิน ได้ร่วมมือกับกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และสถาบันการศึกษาจังหวัดเชียงรายในการป้องกันไฟป่าอย่างครบวงจร ด้วยการสร้างฝายชะลอน้ำ ธนาคารน้ำใต้ดิน และการเลี้ยงชีพแบบปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ ตลอดระยะเวลา 17 ปี เพื่อให้เป็นแนวทางประยุกต์ใช้ โดยกล่าวว่า ถ้าเราปลุกประชาชนให้มารักป่า ทุกอย่างก็จะง่าย ทุกภาคส่วนต้องสามัคคีกัน งานจึงจะสำเร็จ และในวันนี้ถือเป็นมิติที่ดี ที่ทุกภาคส่วนร่วมช่วยกัน แก้ปัญหาซึ่งเป็นความทุกข์ของพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดเชียงราย
 
 
จากนั้นกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยจังหวัดเชียงราย ได้นำเสนอสรุปผลการถอดบทเรียนการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ของจังหวัดเชียงราย ในปี พ.ศ. 2566 ทั้งในด้านการบริหารจัดการ การบังคับใช้กฎหมาย ด้านการประชาสัมพันธ์ การบริหารจัดการเขตพื้นที่รอยต่อปัญหาหมอกควันข้ามแดนระหว่างอำเภอ จังหวัด และประเทศเพื่อนบ้าน การสร้างแรงจูงใจและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเผา รวมถึงหารือในเรื่องงบประมาณ เครื่องมือเครื่องใช้ อุปกรณ์ และข้อมูลจากการวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง ในแต่ละด้านเพื่อนำไปปรับใช้ในการปฏิบัติงานในปีต่อไปให้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
 
 
นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า สถานการณ์ไฟป่าหมอกควันในปี 2566 ถือเป็นสถาการณ์รุนแรงส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกภาคส่วน ที่ทุกคนต่างคาดไม่ถึง และเครื่องมืออุปกรณ์ กำลังพลเจ้าหน้าที่ดับไฟป่าของจังหวัด มีไม่เพียงพอ จึงส่งผลกระทบในวงกว้าง ทั้งด้านการท่องเที่ยว และสุขภาพของประชาชน พร้อมกล่าวต่อว่า จังหวัดเชียงราย ได้เริ่มขับเคลื่อนเชียงรายเป็นเมืองสุขภาพ จากความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน ในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ตามยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศไทย ให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ โดยมีเป้าหมายหลักให้จังหวัดเชียงราย เป็นเมืองแห่งสุขภาพ คนเชียงรายและผู้มาเยือนมีสุขภาพดี อยู่แล้วมีความสุข
 
 
ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้เน้นย้ำเรื่องการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยให้ทุกหน่วยงานที่ปฏิบัติงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน ของจังหวัดเชียงราย นำการถอดบทเรียนในครั้งนี้ไปปรับใช้ในด้านต่างๆ ทั้งการเพิ่มมาตรการ การสร้างแรงจูงใจในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเผา การใช้มาตรการทางกฎหมาย การสื่อสารกับประชาชนเพื่อลดการเผาในพื้นที่ทางการเกษตร ส่งเสริมการปลูกป่าสร้างรายได้ สร้างพื้นที่สีเขียว การใช้แนวทางคาร์บอนเครดิตมาปรับใช้ การบริหารจัดการวัสดุที่เป็นเชื้อเพลิงในป่า การฟื้นฟูภายหลังจากเกิดการเผา รวมถึงให้มีการกำหนดจุดเป้าหมายในการดำเนินงานให้ชัดเจน ทั้งด้านของงบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ กำลังพลเจ้าหน้าที่ รวมทั้งการนำเทคโนโลยีมาใช้ร่วมกับการทำงาน อาทิ การใช้แอพพลิเคชั่นตรวจสอบไฟป่า การใช้อากาศยานไร้คนขับ (Drone)ในการตรวจสอบและวิเคราะห์ในการดับไฟ การขึ้นทะเบียนคนที่เข้าป่า พรานป่า อีกทั้ง เน้นย้ำให้มีการประชาสัมพันธ์ให้เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มให้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี และจัดให้มีศูนย์ปฏิบัติการร่วม ให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิบัติการกู้ภัย แจ้งเตือนแก่พี่น้องประชาชน การบูรณาการข้อมูลข่าวสาร เพื่อให้เกิดความตระหนักรู้ เผยแพร่ผ่านสื่อช่องทางต่างๆ เพื่อให้จังหวัดเชียงราย พร้อมเป็นเมืองแห่งสุขภาพ
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

“พุฒิพงศ์” ระดมความคิดภาครัฐและเอกชน ขับเคลื่อนเชียงรายเมืองแห่งสุขภาพ

 
วันนี้ (18 ต.ค.66) ที่ห้องธรรมลังกา ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดเชียงราย นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานการประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนเชียงราย เป็นเมืองแห่งสุขภาพ โดยมีคณะทำงาน ประกอบด้วย ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดเชียงราย หัวหน้าส่วนราชการ สถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม
 
 
ด้วยจังหวัดเชียงราย ได้เริ่มการขับเคลื่อนเชียงรายเป็นเมืองสุขภาวะ โดยร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนา แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพตามยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (นโยบาย Medical Hub) ระยะเวลา 10 ปี อีกทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมให้จังหวัดเชียงรายให้เป็นพื้นที่พิเศษในการพัฒนาอุตสาหกรรม Wellness และเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID 19) โดยมีเป้าหมายหลักให้จังหวัดเชียงราย เป็นเมืองแห่งสุขภาพ คนเชียงรายและผู้มาเยือนมีสุขภาพดี อยู่แล้วมีความสุข ซึ่งทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้ระดมความคิดจัดทำแนวทางแผนการพัฒนาในหลากหลายด้าน อาทิ ด้าน Wellness food การพัฒนาเชียงรายสู่เมืองแห่งเกษตรปลอดภัยเพื่อสุขภาพ ด้าน Health Care การพัฒนาบริการ การแพทย์แผนปัจจุบันแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก รวมถึงการบูรณาการ เพื่อยกระดับคุณภาพด้านการรักษาโรค การส่งเสริมให้เชียงรายเป็นศูนย์กลางด้านวิชาการ การวิจัย นวัตกรรม และด้าน Wellness Tourism การพัฒนาและส่งเสริมธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ รวมถึงการส่งเสริมการตลาด การประชาสัมพันธ์อีกด้วย
 
.
ทั้งนี้นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า จังหวัดเชียงรายจะเป็นเมืองแห่งสุขภาพไม่ได้ หากทุกภาคส่วนไม่ร่วมมือกัน ทั้งนี้ได้ให้มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเป็นศูนย์กลาง ในการขยายผลออกไปยังวงกว้างทั้งผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไป ตลอดจนการส่งเสริมพัฒนางานวิชาการ การวิจัยและนวัตกรรม รวมทั้งการพัฒนาองค์ความรู้จากภูมิปัญญาเพื่อสนับสนุนการบริการและอุตสาหกรรมและบริการด้านดูแลรักษาและส่งเสริมสุขภาพ และการส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อยกระดับมาตรฐาน ผลิตภัณฑ์และการบริการสู่ศาสตร์การแพทย์แห่งอนาคต ต่อไป
 
 
ท้ายนี้สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย ขอเชิญชวนทุกภาคส่วน เข้าร่วม Kick – Off โครงการ “เชียงราย” เมืองแห่งสุขภาพ (Chiang Rai Wellness City) ในวันที่ 30 ตุลาคม 2566 เวลา 08.30 – 12.00 น. ที่หอประชุมสมเด็จย่า อาคาร C4 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
 
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

ลงนามใช้หลักศาสนาขยายผลสู่ “หมู่บ้านศีลธรรม” ในเชียงราย

 

เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 66 ที่ผ่านมา นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานในพิธีและร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงการขับเคลื่อนโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ฯ ที่ห้องประชุมพญาภิภักดิ์ ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดเชียงราย โดยมี พระพุทธิญาณมุนี เจ้าคณะจังหวัดเชียงราย หัวหน้าส่วนราชการ ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงระหว่าง สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย สำนักงานจังหวัดเชียงราย พัฒนาการจังหวัดเชียงราย ท้องถิ่นจังหวัดเชียงราย นายอำเภอ 18 อำเภอ และผู้นำศาสนาต่างๆ ในจังหวัดเชียงราย เพื่อขับเคลื่อนโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยใช้หลักศาสนาขยายผลสู่ “หมู่บ้านศีลธรรม” ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย

 
ทั้งนี้ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยใช้หลักธรรมทางศาสนา ขยายผลสู่หมู่บ้านศีลธรรม ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกกลุ่มไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด ทั้งพุทธ คริสต์ อิสลาม ศาสนาอื่น หรือความเชื่ออื่นได้มีความปรองดองสมานฉันท์ ลดปัญหาความขัดแย้ง สร้างความมั่นคง ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ใช้หลักทางศาสนาที่เคารพนับถือ โดยยึดหลักศาสนา และนำมาปฏิบัติจนเป็นวิถีชีวิต ตลอดจนเพื่อสร้างวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันด้วยความปรองดอง สมานฉันท์ก่อให้เกิดสันติสุข ในหมู่บ้าน/ชุมชน พัฒนาไปสู่หมู่บ้านศีลธรรม ภายใต้ภารกิจของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีพันธกิจ ที่เกี่ยวข้องกับประซาชน สมดังพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ที่หวังให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News