วันที่ 20 ตุลาคม 2566 ที่ห้องประชุมจอมกิตติ ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดเชียงราย นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานการประชุมคณะทำงานถอดบทเรียนการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 โดยมีพระอาจารย์วิบูลย์ ธัมมเตโช ที่ปรึกษาเจ้าอาวาสวัดพุทธอุทยานดอยอินทรีย์ นายศรัณยู มีทองคำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นำหัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เพื่อร่วมกันพิจารณาผลการถอดบทเรียนพร้อมแสดงความคิดเห็นข้อเสนอแนะ และนำข้อมูลไปกำหนดทิศทางในการจัดทำแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน ของจังหวัดเชียงราย ประจำปี 2567 รองรับเป็นเมืองแห่งสุขภาพ คนเชียงรายมีคุณภาพชีวิตที่ดี และอยู่ในช่วงของการจัดกิจกรรมระดับโลก Thailand Biennale Chiang Rai 2023 อีกด้วย

ในการนี้พระอาจารย์วิบูลย์ ธัมมเตโช ที่ปรึกษาเจ้าอาวาสวัดพุทธอุทยานดอยอินทรีย์ ได้กล่าวถึงประสบการณ์การดับไฟป่าที่ดอยอินทรีย์ ซึ่งดำเนินการโดยวัดพุทธอุทยานดอยอินทรีย์ และสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) ที่ร่วมแก้ปัญหาแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ในเรื่องที่ดินทำกิน ได้ร่วมมือกับกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และสถาบันการศึกษาจังหวัดเชียงรายในการป้องกันไฟป่าอย่างครบวงจร ด้วยการสร้างฝายชะลอน้ำ ธนาคารน้ำใต้ดิน และการเลี้ยงชีพแบบปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ ตลอดระยะเวลา 17 ปี เพื่อให้เป็นแนวทางประยุกต์ใช้ โดยกล่าวว่า ถ้าเราปลุกประชาชนให้มารักป่า ทุกอย่างก็จะง่าย ทุกภาคส่วนต้องสามัคคีกัน งานจึงจะสำเร็จ และในวันนี้ถือเป็นมิติที่ดี ที่ทุกภาคส่วนร่วมช่วยกัน แก้ปัญหาซึ่งเป็นความทุกข์ของพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดเชียงราย
 
 
จากนั้นกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยจังหวัดเชียงราย ได้นำเสนอสรุปผลการถอดบทเรียนการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ของจังหวัดเชียงราย ในปี พ.ศ. 2566 ทั้งในด้านการบริหารจัดการ การบังคับใช้กฎหมาย ด้านการประชาสัมพันธ์ การบริหารจัดการเขตพื้นที่รอยต่อปัญหาหมอกควันข้ามแดนระหว่างอำเภอ จังหวัด และประเทศเพื่อนบ้าน การสร้างแรงจูงใจและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเผา รวมถึงหารือในเรื่องงบประมาณ เครื่องมือเครื่องใช้ อุปกรณ์ และข้อมูลจากการวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง ในแต่ละด้านเพื่อนำไปปรับใช้ในการปฏิบัติงานในปีต่อไปให้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
 
 
นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า สถานการณ์ไฟป่าหมอกควันในปี 2566 ถือเป็นสถาการณ์รุนแรงส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกภาคส่วน ที่ทุกคนต่างคาดไม่ถึง และเครื่องมืออุปกรณ์ กำลังพลเจ้าหน้าที่ดับไฟป่าของจังหวัด มีไม่เพียงพอ จึงส่งผลกระทบในวงกว้าง ทั้งด้านการท่องเที่ยว และสุขภาพของประชาชน พร้อมกล่าวต่อว่า จังหวัดเชียงราย ได้เริ่มขับเคลื่อนเชียงรายเป็นเมืองสุขภาพ จากความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน ในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ตามยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศไทย ให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ โดยมีเป้าหมายหลักให้จังหวัดเชียงราย เป็นเมืองแห่งสุขภาพ คนเชียงรายและผู้มาเยือนมีสุขภาพดี อยู่แล้วมีความสุข
 
 
ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้เน้นย้ำเรื่องการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยให้ทุกหน่วยงานที่ปฏิบัติงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน ของจังหวัดเชียงราย นำการถอดบทเรียนในครั้งนี้ไปปรับใช้ในด้านต่างๆ ทั้งการเพิ่มมาตรการ การสร้างแรงจูงใจในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเผา การใช้มาตรการทางกฎหมาย การสื่อสารกับประชาชนเพื่อลดการเผาในพื้นที่ทางการเกษตร ส่งเสริมการปลูกป่าสร้างรายได้ สร้างพื้นที่สีเขียว การใช้แนวทางคาร์บอนเครดิตมาปรับใช้ การบริหารจัดการวัสดุที่เป็นเชื้อเพลิงในป่า การฟื้นฟูภายหลังจากเกิดการเผา รวมถึงให้มีการกำหนดจุดเป้าหมายในการดำเนินงานให้ชัดเจน ทั้งด้านของงบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ กำลังพลเจ้าหน้าที่ รวมทั้งการนำเทคโนโลยีมาใช้ร่วมกับการทำงาน อาทิ การใช้แอพพลิเคชั่นตรวจสอบไฟป่า การใช้อากาศยานไร้คนขับ (Drone)ในการตรวจสอบและวิเคราะห์ในการดับไฟ การขึ้นทะเบียนคนที่เข้าป่า พรานป่า อีกทั้ง เน้นย้ำให้มีการประชาสัมพันธ์ให้เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มให้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี และจัดให้มีศูนย์ปฏิบัติการร่วม ให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิบัติการกู้ภัย แจ้งเตือนแก่พี่น้องประชาชน การบูรณาการข้อมูลข่าวสาร เพื่อให้เกิดความตระหนักรู้ เผยแพร่ผ่านสื่อช่องทางต่างๆ เพื่อให้จังหวัดเชียงราย พร้อมเป็นเมืองแห่งสุขภาพ
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME