Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

พิธีฟังธรรมขุนห้วยกุศโลบายรักษาป่า พร้อมประกาศเขตห้ามล่าเต่าปูลู

 

เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2567 ชุมชนบ้านห้วยสัก หมู่ 9 หมู่ 15 ตำบลยางฮอม อำเภอขุนตาล จังหวัดเชียงรายได้จัดพิธีกรรมฟังธรรมขุนห้วย และเลี้ยงผีขุนห้วย ในกิจกรรมมีการแห่ช้างเผือกจำลองจากวัดไปยังป่าต้น้ำเพื่อทำการถวายทาน การเลี้ยงผีขุนห้วย และพิธีกรรมสำคัญการฟังธรรมขุนห้วยหรือฟังธรรมพญาปลาช่อน โดยชุมชนได้จัดพิธีกรรม ณ ป่าต้นน้ำของหมู่บ้าน พิธีกรรมฟังธรรมขุนห้วยเป็นการนำกุศโลบายความเชื่อล้านนาทางพระพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้ในการทำพิธีกรรม มีพระสงฆ์ จำนวน 5 รูป ได้ทำการเทศนาธรรม ชื่อธรรมมัจฉาพระยาปลาช่อน มีเนื้อหาให้เกิดฝนตกต้องตามฤดูกาล

 

นายสรศักดิ์ ถาริยะ ผู้ใหญ่บ้านห้วยสัก หมู่ 9 ตำบลยางฮอม อำเภอขุนตาล จังหวัดเชียงราย ได้กล่าวถึงการจัดงานครั้งนี้ว่า
“วันนี้เราได้มาทำกิจกรรมเลี้ยงผีขุนน้ำที่เราทำสืบต่อกันมาหลายร้อยปี เป็นพิธีกรรมที่ใช้สำหรับการขอฝนให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ขอให้เทวดาปกปักรักษาพ่อแม่พี่น้องที่บ้านห้วยสักซึ่งกิจกรรมวันนี้มีพิธีกรรม 3 อย่างคือการฟังธรรมปลาช่อน การเลี้ยงผีขุนห้วยและก็การถวานทานช้างเผือก กิจกรรมที่เราทำกันทุกปี ที่บ้านห้วยสักมี 2 หมู่บ้าน คือบ้านห้วยสัก หมู่ที่ 9 และหมู่ที่ 15 ร่วมกันจัดพิธีกรรมที่เราควรสืบทอดที่ทำกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ”
 
 
ในงานมีพีกรรมสำคัญ 2 พิธีกรรม คือการฟังธรรมขอฝนเป็นพิธีกรรมทางพุทธศาสนา และการเลี้ยงผีขุนห้วยเป็นการนำความเชื่อเรื่องผีของชุมชนที่ทำมาตั้งแต่มีการก่อตั้งหมู่บ้าน เป็นภูมิปัญญาล้านนาด้านการจัดการน้ำ ระบบเหมืองฝาย ที่มีความเชื่อผีขุนห้วยเป็นผีที่ใหญ่สุดเกี่ยวกับเรื่องน้ำ ทำพิธีในป่าที่ลึกต้นน้ำห่างจากหมู่บ้านซึ่งถือเป็นจุดที่เป็นป่าต้นน้ำ เพื่อได้ทำการฟังธรรมขอฝนและการบอกกล่าวไหว้วอนเลี้ยงผีขุนห้วยเพื่อขอฝนให้เพียงพอในการทำการเกษตร ให้ฝนฟ้า เป็นปกติ พืชไร่ นาข้าวอุดมสมบูรณ์ เป็นประเพณีที่ชุมชนสืบทอดกันมาทุกปี ส่วนในประเทศไทยพิธีการฟังธรรมขอถือว่าเป็นประเพณีที่ขึ้นบัญชีเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ในปี 2557 ที่ผ่าน
 
 
ทางด้านพระครูกิตติ วรพินิจ เจ้าอาวาสวัดห้วยสัก ตำบลยางฮอม ได้กล่าวถึงความสำคัญของพิธีกรรมฟังธรรมขุนห้วยว่า
“บ้านห้วยสักเป็นชุมชนเกษตรที่มีการพึ่งพาทรัพยากรแหล่งน้ำในการทำการเกษตรให้สำเร็จ ทุกปีก็จะมีการจัดกิจกรรมเพื่อระลึกนึกถึงทรัพยากรธรรมชาติที่ได้พึ่งพา ตั้งแต่ปู่ย่าตายายได้ทำมา สืบทอดต่อลูกหลาน การเทศน์ธรรมพระยาปลาช่อน เป็นธรรมบทเมื่อครั้งพุทธกาล มีการถวายทานพญาช้างเผือกช้างแก้ว เป็นสัตว์ในพระพุทธกาล ซึ่งพระเวสสันดรได้มีช้างคู่เมืองทำให้บ้านเมืองมีฝนตกต้องตามฤดูกาล ธรรมชาติข้าวน้ำอุดมสมบูรณ์จึงการพิธีกรรมการถวายทานช้างเผือก และธรรมพญาปลาช่อนที่จะได้มาฟังธรรมในวันนี้ เป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งที่จะให้คนในชุมชนสมัครสมานสามัคคี ตระหนักในเรื่องของธรรมชาติที่ได้ดำรงชีวิตความเป็นอยู่ คร่าวของธรรมพญาปลาช่อน ได้พูดถึงเมื่อครั้งพระพุทธองค์ ได้กำเนิดพระชาติหนึ่งเป็นพญาปลาช่อนอยู่ในหนองน้ำ เป็นหนองน้ำที่แห้งแล้ง พญาปลาช่อนจึงช่วยให้สัตว์ทั้งหลายให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล 
 
 
และวันนี้ทางชุมชนได้ตระหนักถึงเรื่องนี้จึงได้จัดพิธีกรรมขึ้น ตระหนักถึงธรรมชาติจึงได้จัดพิธีกรรมนี้ขี้น”
ชุมชนบ้านห้วยสักตั้งอยู่ทางที่ราบเชิงเขา มีลำห้วยสักไหลผ่านหมู่บ้านก่อนไหลลงแม่น้ำอิงทางทิศตะวันตกของหมู่บ้าน มีป่าต้นน้ำอยู่ทางทิศตะวันออกเขตเทือกเขาดอยยาว ป่าต้นน้ำห้วยสักอยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าห้วยป่าแดง ป่าห้วยป่าตาลและป่าห้วยไคร้ ทางชุมชนได้ขึ้นทะเบียนป่าชุมชนกับกรมป่าไม้ พื้นที่ 1,289 ไร่ 3 งาน 99 ตารางวา และในปีพ.ศ. 2565-2567 ได้ร่วมกับทางสมาคมแม่น้เพื่อชีวิต ได้ทำการศึกษาเต่าปูลู หรือเต่าปากนกแก้ว (Big-headed Turtle) เป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ อาศัยอยู่ลำห้วยสาขาของป่าต้นน้ำ ในลักษณะระบบนิเวศแบบลำธาร มีโขดหิน น้ำตก แอ่งน้ำ เป็นสัตว์ประจำถิ่นที่พบได้ทั่วไปในแหล่งป่าต้นน้ำในภาคเหนือของประเทศไทย และที่ลำห้วยสักยังมีการพบเต่าปูลูจากคนในชุมชนและการตรวจหาสารพันธุกรรมในสิ่งแวดล้อม (eDNA) จากทีมนักวิชาการคณะะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ การพบเจอเต่าปูลูที่ลำห้วยสักนั้นเป็นตัวชี้วัดว่าระบบนิเวศของป่ายังมีความอุดมสมบูรณ์ เพราะเต่าปูลูจะอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีน้ำสะอาด และมีสัตว์น้ำที่เป็นอาหารจำนวนมากเพียงพอ
 
 
จากการเก็บข้อมูลงานวิจัยพบว่าปัญหาหลักของภัยคุกคามของเต่าปูลูคือ เรื่องของการล่าเพื่อส่งออกไปต่างประเทศของคนภายนอกชุมชนที่แอบลักลอบเข้ามาล่าเต่าปูลู ที่มีราคาสูงถึงกิโลละ 3,000 – 5,000 บาท ถึงแม้จะมีกฎหมายคุ้มครองและบทลงโทษที่ชัดเจน แต่การล่าเต่าปูลูยังมีเพิ่มมากขึ้น ทำให้ปริมาณเต่าปูลูลดลงจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ทางชุมชนบ้านห้วยสักจึงได้ร่วมกับทีมสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตจึงได้ทำการศึกษาแนวทางการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยเต่าปูลูโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนลุ่มน้ำอิงตอนปลาย วิเคราะห์หาภัยคุกคาม แนวทางการแก้ไขร่วมกับคนในชุมชน ทำมติชุมชน ตั้งคณะทำงานในการดูแลสอดส่อง จึงได้ทำการประกาศเขตห้ามล่าเต่าปูลูในลำห้วยสักในพิธีกรรมเลี้ยงผีขุนห้วยของชุมชน
ด้านนายสรศักดิ์ ถาริยะ ผู้ใหญ่บ้านห้วยสัก ได้กล่าวถึงการประกาศเขตห้ามล่าเต่าปูลูในครั้งนี้ว่า
“เป็นป่าต้นน้ำที่ชุมชนร่วมกันอนุรักษ์ เป็นป่าต้นน้ำห้วยสัก ที่ชุมชนบ้านห้วยสักของเราได้มีการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ และจดทะเบียนป่าชุมชน พื้นที่ประมาณ 1,200 กว่าไร่ และในลำห้วยสักได้มีการพบเต่าปูลูเป็นสัตว์ป่าหายาก แต่มีการพบที่นี่ วันนี้เราเลยประกาศเป็นเขตห้ามล่าเต่าปูลู”
 
 
การประกาศเขตห้ามล่าเต่าปูลูของชุมชนห้วยสัก เป็นแห่งที่ 4 ในลุ่มน้ำอิงตอนปลายที่มีการประกาศเขตห้ามล่าเต่าปูลูโดยชุมชน โดยทางชุมชนได้ตั้งกฎระเบียบโดยให้การประชาคมหมู่บ้านร่วมกับกฎระเบียบป่าชุมชนที่ได้รับการรับรองจากกรมป่าไม้ โดยมีคณะทำงานในการดูแลสอดส่องปูลูโดยชุมชนจากชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน และมีกิจกรรมการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยเต่าปูลู เช่นการทำฝายชะลอน้ำ การป้องกันไฟป่า การเลี้ยงผีขุนห้วย การลาดตระเวน สำรวจแนวเขตป่า เพื่อป้องกันการล่าเต่าจากคนนอกพื้นที่ต่อไป
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

ชาวบ้านเรียกว่า “ครก” หรือ “วัง” แหล่งหากินของปลากระเบนแม่น้ำโขง

 

เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่บ้านดอนที่ ต.ริมโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต พร้อมเจ้าหน้าที่สมาคม ได้ลงพื้นที่เพื่อพบปะกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านริมแม่น้ำโขง ใน อ.เชียงแสน อ.เชียงของ และ อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ถึงภัยคุกคามที่ส่งผลต่อการลดลงของปลากระเบนในแม่น้ำโขง และติดตามการเปลี่ยนแปลง ปริมาณของปลากระเบนที่ลดลง โดยที่บ้านดอนที่เป็นพื้นที่เดียวในแม่น้ำโขง จ.เชียงราย ที่ชาวประมงจับได้บ่อยครั้ง ทางเจ้าหน้าที่จึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับปลากระเบนในพื้นที่บ้านดอนที่ว่าเหตุใดจึงพบได้เพียงเฉพาะที่บ้านดอนที่เท่านั้น รวมไปถึงการศึกษาปลาสายพันธุ์อื่นๆในพื้นที่ด้วย

 

อาจารย์สุทธิ มะลิทอง สถาบันถ่ายทอดเทคโนโลยีนวัตกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย กล่าวว่า สถานการณ์ปลากระเบนในแม่น้ำโขง พบว่า จุดที่ชาวบ้านพบปลากระเบนในพื้นที่บ้านดอนที่ ต.ริมโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย เป็นจุดที่มีลักษณะที่ชาวบ้านเรียกว่า “ครก” หรือ “วัง” โดยมีพื้นผิวใต้น้ำเป็นตะกอนดินโคลน ทราย ปนกัน ซึ่งเป็นแหล่งหากินของปลากระเบน มีหนอนแดง ใส้เดือนน้ำ อยู่จำนวนมาก และบริเวณหลงแก่ง ที่มีลักษณะเป็นที่อยู่อาศัยของตัวอ่อนแมลงชีปะขาว และตัวอ่อนแมลงชีปะขาว ที่เป็นอาหารของปลากระเบน ทำให้ในพื้นที่นี้มีการจับปลากระเบนแม่น้ำโขงได้บ่อยครั้ง สำหรับความเสี่ยงของปลากระเบนก็คือพื้นที่อยู่อาศัย ถ้าหากพื้นที่อาศัยและแหล่งอาหารหายไป ก็จะทำให้ปลากระเบนลดลง นอกจากนี้พบว่าพืชริมน้ำก็จะเป็นแหล่งดักตะกอนที่ให้เกิดพื้นที่ดินโคลน และทราย จึงเป็นแหล่งที่อยู่ของอาหารของปลากระเบน
 
 
“อีกปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาต่อปลากระเบนก็คือ เรื่องระดับน้ำที่มีการเปลี่ยนแปลง น้ำขึ้น น้ำลง ที่ไม่เป็นธรรมชาติ ก็จะส่งผลให้แหล่งที่อยู่และอาหารของปลากระเบนลดลง กระทบกับปลากระเบนโดยตรงหากไม่มีอาหารก็จะทำให้ย้ายถิ่นฐาน หรือสูญหายไป” อาจารย์สุทธิ กล่าว
 
 
นายถวิล ศิริเทพ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 3 ตำบลริมโขง กล่าวว่าเมื่อเดือน พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้มีชาวประมงพื้นบ้าน สามารถจับปลากระเบนแม่น้ำโขง ขนาดกว่า 1.2 กิโลกรัมได้ในแม่น้ำโขง ในพื้นที่บ้านดอนที่ ซึ่งปลากระเบนนั้นถือว่าเป็นปลาที่หากพบได้ยาก และใกล้สูญพันธุ์ในแม่น้ำโขงปัจจุบัน ก็เนื่องมาจากระบบนิเวศ ในแม่น้ำโขงที่เปลี่ยนไป การเพิ่มและลดบริมาณน้ำในแม่น้ำโขงที่ผิดปกติ ทำให้ชาวประมงในพื้นที่สามารถจับปลาบางชนิดได้น้อยลง ในฐานะผู้นำหมู่บ้านดอนที่ ก็ขอขอบคุณทางสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ที่เข้ามาช่วยทำวิจัย เพื่อเพาะพันธ์และอนุรักษ์พันธุ์ปลากระเบนในแม่น้ำโขง โดยใช้พื้นที่บริเวณหมู่บ้านดอนที่ ให้เป็นพื้นที่ศึกษาเรียนรู้ เพาะพันธ์ขยายพันธุ์ เพื่ออนุรักษ์พันธุ์ปลากระเบนและพันธุ์ปลาน้ำจืดแม่น้ำโขงอื่นๆ ที่ใกล้สูญพันธุ์ให้คงอยู่คู่กับแม่น้ำโขงต่อไป
 
 
ด้านนายสมศักดิ์ นันทลักษณ์ ชาวประมง ในพื้นที่บ้านดอนที่ เล่าว่า การหาปลาในแม่น้ำโขงในปัจจุบันค่อนข้างที่จะหายาก โดยเฉพาะช่วงนี้เป็นช่วงที่น้ำขึ้น ชาวบ้านที่ประกอบอาชีพหาปลาส่วนใหญ่ก็จะผันตัวไปทำไร่ทำสวน ในส่วนของที่ทางสมาคม แม่น้ำเพื่อชีวิตได้เข้ามาทำวิจัยเรื่องการเพาะพันธ์และอนุรักษ์พันธุ์ปลากระเบน และจะใช้พื้นที่หมู่บ้านดอนที่ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุ์ปลากระเบนแม่น้ำโขง ตนเองในฐานะชาวประมงในพื้นที่ก็เห็นด้วย ถ้าสามารถจับปลากระเบนในพื้นที่ได้อีก ก็จะส่งให้ทางประมงเพื่อไปทำการวิจัยและเพาะพันธ์ขยายพันธุ์ และนำกลับมาปล่อยคืนสู่ธรรมชาติเพื่อเพิ่มปริมาณจำนวนปลากระเบนในแม่น้ำโขง และให้บ้านดอนที่ เป็นศูนย์เรียนรู้ และเขตอนุรักษ์ เรื่องปลากระเบนแม่น้ำโขงต่อไป
 
 
สำหรับปลากระเบนในแม่น้ำโขงเผชิญกับภัยคุกคามร้ายแรงหลายประการที่ส่งผลต่อจำนวนประชากรและถิ่นที่อยู่อาศัย โดยพบภัยคุกคามคือ การเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำ การควบคุมระดับน้ำของเขื่อนในแม่น้ำโขงใประเทศจีน ส่งผลต่อกระแสน้ำและรูปแบบการไหลของแม่น้ำโขง สิ่งนี้รบกวนวงจรชีวิตของปลา รวมถึงปลากระเบน ที่พึ่งพาการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำตามธรรมชาติสำหรับการอพยพ การวางไข่ และการหาอาหาร การกัดเซาะตลิ่งที่เกิดจากน้ำขึ้นลง ส่งผลต่อที่อยู่อาศัยของปลากระเบน ตลิ่งที่พังทลายทำลายพื้นที่คก วัง และริมฝั่งซึ่งเป็นแหล่งหากินและวางไข่ที่สำคัญ การสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัย การก่อสร้างเขื่อนและโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ บนแม่น้ำโขง ทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของปลากระเบน เช่น โขดหิน แอ่งน้ำ และพื้นทราย การทำประมงที่ทำลายล้าง เช่น การใช้เครื่องมือจับปลาที่ผิดกฎหมาย ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์และแหล่งหากินของปลากระเบน มลพิษทางน้ำจากการเกษตร โรงงาน และชุมชน ส่งผลต่อคุณภาพน้ำในแม่น้ำโขง มลพิษเหล่านี้เป็นอันตรายต่อปลากระเบน 
 
 
โดยเฉพาะลูกปลาและปลาอ่อน การล่าปลากระเบนถูกจับโดยชาวประมงเพื่อการค้าและบริโภค แม้ว่าจะมีกฎหมายห้ามจับปลากระเบน แต่การบังคับใช้กฎหมายยังคงมีประสิทธิภาพต่ำ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลต่ออุณหภูมิและรูปแบบการตกตะกอนในแม่น้ำโขง การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ส่งผลกระทบต่อแหล่งที่อยู่อาศัย อาหาร และวงจรชีวิตของปลากระเบน
 
 
ผลกระทบจากภัยคุกคามทำให้เกิดผลกระทบต่อจำนวนประชากรปลากระเบนในแม่น้ำโขง ทำให้จำนวนประชากรลดลงอย่างรวดเร็ว ปลากระเบนเป็นสัตว์กินซาก มีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศของแม่น้ำโขง การลดลงของประชากรปลากระเบน ส่งผลต่อห่วงโซ่อาหาร และความสมดุลของระบบนิเวศโดยรวม
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

เชียงราย พบปลากระเบนแม่น้ำโขงหนัก 1.2 กิโล ริมฝั่งแม่น้ำโขง เชียงของ

 

เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2567 ทางสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต (LRA) ได้รับแจ้งจากเครือข่ายชาวประมงแม่น้ำโขง จากบ้านดอนที่ หมู่ที่ 3 บ้านดอนที่ ตำบลริมโขง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ว่าได้จับปลากระเบนแม่น้ำโขงหรือกระเบนลาว ขนาด 1.2 กิโลกรัม จากการไหลมองหหรือไหลตาข่ายดักปลาในแม่น้ำโขง

 

นายสมศักดิ์ นันทรักษ์ นักวิจัยชาวบ้าน บ้านดอนที่ ตำบลริมโขง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ได้เล่าถึงปลากระเบนที่จับได้ว่า“ปลาฝาไมตัวนี้จับได้ที่ลั้งหาปลาบ้านดอนที่ เช้านี้ ตัวประมาณ 1.2 กิโลกรัม โดยการไหลมองหรือตาข่ายที่ไหลดักปลา เป็นปลาตัวเมีย มีเงี่ยงหนึ่งอัน ช่วงนี้ส่วนใหญ่จะจับได้จากการไหลมอง ส่วนเบ็ดระแวงไม่ค่อยได้ใส่เนื่องจากไกกำลังหลุด มันชอบไปหวันสายเบ็ด”ปลากระเบนลาว หรือ ปลากระเบนแม่น้ำโขง ชาวบ้านเรียกว่าปลาฝาไม มีชื่ออังกฤษเรียกว่า Mekong stingray, Mekongและ freshwater stingray เป็นปลากระเบนน้ำจืดชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์ปลากระเบนธง ปลาฝาไมที่ชาวบ้านจับได้มีรูปร่างส่วนหัวออกเป็นรูปทรงห้าเหลี่ยม ตาโต หางมีริ้วหนังบาง ๆ โคนหางมีเงี่ยงแหลมมีพิษ 2 ชิ้น ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลนวล กลางหลังมีเกล็ดเป็นตุ่มหยาบ ๆ ลำตัวด้านล่างสีขาว และมีปื้นสีเหลืองอ่อนหรือส้มปน น้ำหนักมากที่สุดชาวบ้านดอนที่เคยจับได้ประมาณเกือบ 30 กิโลกรัม
 
 
ปัจจุบันปลากระเบนเป็นปลาหายาก ที่ยังมีการจับได้เฉพาะพื้นที่ตำบลริมโขง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ส่วนพื้นที่อื่นๆมีการจับนานๆ ได้ที การลดลงของปลากระเบน เกิดจากการเปลี่ยนแปลงในแม่น้ำโขงทั้งจากการสร้างเขื่อน การระเบิดเกาะแก่ง การเดินเรือพาณิชย์ขนาดใหญ่ได้ส่งผลให้ระดับน้ำขึ้นลงผิดปกติ ระบบนิเวศน์น้ำโขงเปลี่ยนรูป ส่งผลทำให้ปลาหลายชนิดลดจำนวนลงทั้งชนิดพันธุ์และปริมาณ จากการจับได้ของชาวประมง ปลาลดลงส่งผลโดยตรงต่อวิถีชีวิตชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขง
 
 
ชาวประมงบ้านดอนที่ ตำบลริมโขง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ได้ร่วมกับทางสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ร่วมกันศึกษาองค์ความรู้ท้องถิ่นเกี่ยวกับปลากระเบน และเก็บตัวอย่างน้ำ เมือกปลา เพื่อเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรมจากน้ำ (EDNA) ไว้เป็นต้นแบบสำหรับการศึกษาสำรวจแหล่งที่อยู่อาศัยของปลากระเบนในระบบนิเวศน์แม่น้ำโขง และทางสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตได้ดำเนินโครงการเสริมศักยภาพชุมด้วยองค์ความรู้ท้องถิ่นและวิทยาศาสตร์ในการคุ้มครองถิ่นที่อยู่ปลากระเบนน้ำโขง พื้นที่คอนผีหลงและแม่น้ำโขงจังหวัดเชียงราย 
 
 
เพื่อ ศึกษาองค์ความรู้ปลากระเบน เสริมศักยภาพการตั้งรับปรับตัวของชาวประมงที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง โดยการสร้างมูลค่าจากปลาในแม่น้ำโขง เพื่อเพาะขยายพันธุ์เพื่อสร้างรายได้ รวมถึงการสร้างความร่วมมือกกับทางผู้เชี่ยวชาญด้านประมงในจังหวัดเชียงรายต่อไป
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

แม่น้ำลาวยังคงความอุดมสมบูรณ์ หลังพบเต่าปูลูตัวแรกในรอบ 2 ปี ที่พะเยา

 

เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2567 ทางสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตได้รับการแจ้งจากชุมชนว่ามีชาวบ้านพบตัวเต่าปูลูในแม่น้ำลาว บ้านคะแนง ตำบลแม่ลาว อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ทางทีมงานจึงได้ลงพื้นที่เพื่อสำรวจเก็บข้อมูลถิ่นที่อยู่อาศัยเฉพาะของเต่าปูลู และทำการบันทึกข้อมูลสัญฐานเต่า ก่อนให้ชุมชนนำไปปล่อยไว้ตามที่อยู่เดิมในชุมชน

 

จากการสำรวจ เป็นเต่าปูลูหรือเต่าปากนกแก้ว เพศเมีย น้ำหนัก 0.290 กิโลกรัม กระดองมีความยาว 120.4 มิลลิเมตร กระดองส่วนกลางกว้าง 95.5 มิลลิเมตร มีชาวบ้านได้ไปหาปลาตอนหัวค่ำเจอตัวเต่าปูลูกำลังว่ายเข้าหลบในซอกหิน
นายวีระวัฒน์ พากเพียร ชาวบ้านคะแนง อายุ 23 ปี ได้กล่าวว่า
 
 
“ตอนเย็นผมไปเดินเล่นหาปลา ดำจับปลาในน้ำเจอเต่าปูลูกำลังว่ายผ่านหน้าเข้าหลบในซอกหิน บริเวณต้นน้ำแม่ลาว ห่างจากชุมชนประมาณ 2 กิโลเมตร เจอตัวในเย็นวันที่ 2 เมษายน เวลาประมาณ หกโมงกว่าเกือบหนึ่งทุ่มครับในหมู่บ้านมีคนพบเต่าปูลูบ่อย แต่ผมพึ่งเจอเป็นครั้งแรก”
 
 
เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำลาว เป็นระบบนิเวศน์ลำธาร ที่ตั้งชุมชนบ้านคะแนงตั้งอยู่ในหุบเขา ลักษณะเป็นที่ราบเชิงเขา มีลำห้วยสาขาล้อมรอบ มีแม่น้ำลาวเป็นแม่น้ำสายหลักที่ไหลผ่านหมู่บ้าน มีแม่น้ำสาขาที่สำคัญในชุมชนจำนวน 10 ลำห้วย ได้แก่ ห้วยคะแนง ห้วยผาลาด ห้วยตาดเก๊าซาง ห้วยปูลู ห้วยผีหลอก ห้วยสวนหมาน ห้วยหินแดง ห้วยขุนลาว ห้วยน้ำลาวฝั่งซ้าย และห้วยน้ำตกขุนลาว ชาวบ้านยังมีการพบเจอตัวเต่าปูลูอยู่เป็นระยะๆ และมีชุกชุมในชุมชน
น้ำแม่ลาวมีต้นกำเนินในเทือกเขาภูลังกา ในเขตอำเภอเชียงคำ ไหลผ่านอำเภอเชียงคำ และไปบรรจบแม่น้ำอิงที่อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย รวมความยาวประมาณ 40 กิโลเมตร
 
 
เต่าปูลูหรือเต่าปากนกแก้ว มีสถานภาพการอนุรักษ์ อยู่ในระดับใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง(Critically Endangered-CR มีลักษณะจำเพาะกระดองหลังมีสีน้ำตาลดำ กระดองท้องสีเหลืองอมส้ม หัวใหญ่ จงอยปากแหลมคล้ายปากนกแก้ว หดหัวเข้ากระดองได้ไม่เต็มที่ ขาใหญ่และหดเข้ากระดองไม่ได้ เท้ามีเล็บ หางยาวกว่าความยาวของกระดอง มีเดือยแหลมขนาดเล็กบริเวณขา รอบ ๆ รูทวารและที่โคนหาง กินเนื้อ กินปลา กุ้ง หอย สัตว์น้ำอื่นๆ รวมถึงผลไม้ป่าเป็นอาหาร กินเหยื่อโดยการฉกงับ เต่าปูลูมีเล็บแหลมคมมีความสามารถปีนป่ายขอนไม้ หรือโขดหินได้เก่ง หากินในเวลาตอนเย็นหรือกลางคืน ส่วนกลางวันจะหลบซ่อนตามซอกหิน ในฤดูหนาวจะจำศีลซ่อนตัวอยู่ตามหลืบหินหรือโพรงน้ำในลำห้วย
 
 
นายสายัณห์ ข้ามหนึ่ง ผู้อำนวยการสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ได้กล่าวถึงการเก็บข้อมูลครั้งนี้ว่า “วันนี้ทางสมาคมได้ทำการตีแปลงวิทยาศาสตร์และวัดข้อมูลตัวเต่า ศึกษาจุดระบบนิเวศน์ที่เจอตัวเต่าเต่าปูลู การพบเต่าปูลูครั้งนี้เป็นการพบเต่าตัวแรกในรอบ 2 ปีที่ผ่านมาจากการลงมาศึกษาเต่าปูลูร่วมกับชุมชนบ้านคะแนง และแนวทางต่อไปจะปรึกษาชุมชนหาแนวทางการอนุรักษ์เต่าปูลูโดยการมีส่วนร่วมชุมชนต่อไป เต่าปูลูเป็นตัวชี้วัดสำคัญของระบบนิเวศน์ การพบตัวเต่าปูลูแสดงว่าต้นแม่น้ำลาวยังคงความอุดมสมบูรณ์”
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

ร่วมมือแก้วิกฤติเขื่อนแม่น้ำโขง ศึกษา ‘กระเบน’ 1 ในปลาหายาก

 

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2567 ทางสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ร่วมกับชุมชนชาวประมงริมฝั่งแม่น้ำโขงจังหวัดเชียงราย 10 ชุมชน ร่วมกับนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยพะเยา ได้จัดประชุมวางแผนการศึกษาปลากระเบนแม่น้ำโขง ณ หอประชุมหมู่บ้านดอนที่ หมู่ที่ 3 ตำบลริมโขง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 35 คน

 

จากการทำงานวิจัยชาวบ้านแม่น้ำโขงเรื่องการเปลี่ยนแปลงแม่น้ำโขงที่ส่งผลกระทบต่อพันธุ์ปลา ได้พบว่ามีพันธุ์ปลา 96 ชนิด ปลากระเบนเป็น 1 ในปลาหายาก ที่เคยหายไปจากแม่น้ำโขงในหลายชุมชน แต่ยังคงมีการจับได้ของชาวประมงเพียงแห่งเดียวที่บ้านดอนที่ ต.ริมโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย

 

การประชุมครั้งนี้เป็นการต่อยอดงานวิจัยชาวบ้านที่ได้ทำร่วมกันมากับชุมชน เพื่อวางแผนการทำงานวิจัยชาวบ้านเรื่องปลากระเบน ศึกษาองค์ความรู้ท้องถิ่น แหล่งที่อยู่ระบบนิเวศน์ สถานการณ์ของปลากระเบน และหาแนวทางการอนุรักษ์ปลากระเบนโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนริมแม่น้ำโขงจังหวัดเชียงราย โดยร่วมมือทางนักวิชาการ การศึกษา eNDA จากระบบนิเวศน์ในแม่น้ำโขงระบบนิเวศที่มีการจับได้ปลากระเบนของชุมชนในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา(พ.ศ.2547-2567) พบจุดที่ชาวบ้านจับปลากระเบนถึง 23 จุด ตลอดลำน้ำโขงจังหวัดเชียงรายระยะทาง 96 กิโลเมตร

 

นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา นายกสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตได้กล่าวถึงการศึกษาปลากระเบนในครั้งนี้ว่า “จากการศึกษาวิจัยชาวบ้านพบว่าระบบนิเวศแม่น้ำโขงได้เปลี่ยนไปหมดแล้ว จากเขื่อนในแม่น้ำโขง ตอนนี้ทางชุมชนอยากจะศึกษาสถานการณ์ความหลากหลายของปลาในแม่น้ำโขงที่หายไปหลายชนิด โดยเฉพาะครั้งนี้ปลากระเบนถือว่าเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์แม่น้ำโขงเลยก็ว่าได้ การศึกษาครั้งนี้จะนำองค์ความรู้ท้องถิ่นและความรู้ทางวิทยาศาสตร์มายืนยันว่าสาเหตุการเปลี่ยนแปลงจากเขื่อนแม่น้ำโขงได้ส่งผลกระทบต่อปริมาณของปลา โดยใช้ปลากระเบนเป็นตัวแทนกรณีศึกษา และต้องการสร้างความร่วมมือกับชุมชนในการดูแล ฟื้นฟูระบบนิเวศแหล่งที่อยู่อาศัยโดยองค์ความรู้ท้องถิ่นเพื่อให้ปลาสามารถกลับคืนมาได้ ในท่ามกลางที่แม่น้ำโขงมันเปลี่ยนแปลงไป”

 

ปลากระเบนลาว หรือ ปลากระเบนแม่น้ำโขง มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Mekong stingray, Mekong freshwater stingray มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dasyatis laosensis เป็นปลากระเบนน้ำจืดชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์ปลากระเบนธง (Dasyatidae)มีรูปร่างคล้ายปลากระเบนในวงศ์นี้ทั่วไป แต่ส่วนหัวจะออกเป็นรูปทรงห้าเหลี่ยม ตาโต หางมีริ้วหนังบาง ๆ โคนหางมีเงี่ยงแหลมมีพิษ 1 หรือ 2 ชิ้น ที่เมื่อหลุดหรือหักไปแล้วสามารถงอกใหม่ทดแทนได้ ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลนวล กลางหลังมีเกล็ดเป็นตุ่มหยาบ ๆ ลำตัวด้านล่างสีขาว และมีปื้นสีเหลืองอ่อนหรือส้มปน ความกว้างของลำตัวประมาณ 40 เซนติเมตร พบใหญ่ที่สุด 80 เซนติเมตร ส่วนหางยาว 1.2 เมตร น้ำหนักมากที่สุดมากกว่า 10 กิโลกรัม หากินตามพื้นท้องน้ำ อาหาร

 

ได้แก่ สัตว์หน้าดิน, ปลาขนาดเล็ก และสัตว์มีเปลือกต่าง ๆ จะว่ายขึ้นมาหากินบริเวณผิวน้ำบ้างเป็นบางครั้งพบเฉพาะแม่น้ำโขงตอนกลาง ในช่วงของประเทศกัมพูชา, ลาว, ไทย และอาจพบได้จนถึงจีนตอนล่างปลากระเบนแม่น้ำโขง ถูกจัดอยู่ในสภาพภาพ ใกล้สูญพันธุ์ IUCN Red List Status (Ref. 126983)Endangered (EN) ชาวบ้านแม่น้ำโขงจังหวัดเชียงรายเรียกชื่อว่า “ปลาผาไม”

 

นายสมศักดิ์ นันทะรักษ์ ตัวแทนนักวิจัยชาวบ้าน บ้านดอนที่กล่าวถึงปลากระเบนว่า “ปลาฝาไมกิโลกรัมละ 400 บาท ที่บ้านดอนที่ จับได้บริเวณดอนมะเต้า มันเป็น คก มีน้ำนิ่ง จับได้ช่วงน้ำลดใหม่ประมาณเดือนกันยายน ถึงเดือนตุลาคม ส่วนมากจะใส่เบ็ดระแวง คือคล้ายเบ็ดค่าว ใส่ไว้พื้นท้องน้ำสายเบ็ดห่างกันประมาณ 1 คืบ ไม่ใช้เหยื่อ ให้ขอเบ็ดอยู่บนพื้นท้องน้ำ มีบางคนก็ไหลมอง หรือใส่ไซลั่นได้ จุดที่ปลากระเบนอยู่ส่วนใหญ่เป็นพื้นน้ำจะเป็นดินโคลน ปลามันจะมาหากินใส้เดือนตามพื้นน้ำ แต่ก่อนจับได้กันตลอด มา 20 ปีมานี่เริ่มหาปลาได้ยาก เพราะน้ำมันขึ้นๆ ลงๆ หน้าแล้งไม่แล้ง หน้าน้ำหลากน้ำไม่เยอะ ระบบนิเวศน์มันเปลี่ยนทำให้หาปลายาก อยากศึกษาเรื่องปลากระเบน เพื่อจะหาแนวทางการอนุรักษ์ให้มันไม่สูญพันธุ์”

 

การศึกษาวิจัยชาวบ้านเรื่องปลากระเบนใช้กระบวนการศึกษาแบบงานวิจัยชาวบ้าน ที่ให้ชาวประมงมาเป็นนักวิจัยทำการศึกษาข้อมูลจากองค์ความรู้ท้องถิ่นของตัวเอง โดยมีทางทีมสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตเป็นผู้ช่วยนักวิจัย และในการศึกษาครั้งนี้ใช้กระบวนการศึกษาทางวิทยาศาสตร์เข้ามาเสริมองค์ความรู้ท้องถิ่น ร่วมกับทาง รศ.ดร.มัสลิน โอสถานันต์กุล คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ รศ.ดร.ฉัตรมงคล สุวรรณภูมิ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา โดยใช้วิธีการศึกษาeDNA หรือการศึกษาสารพันธุกรรมจากสิ่งแวดล้อมของปลากระเบน โดยการเก็บตัวอย่างน้ำในระบบนิเวศที่อยู่อาศัยของปลากระเบนในระบบที่ทางชุมชนเคยพบปลากระเบนในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาของชุมชน ในพื้นที่ทั้ง 23 จุด ว่ายังคงมีปลากระเบนอาศัยอยู่ในระบบนิเวศนั้นๆอยู่หรือไม่ มีมากน้อยแค่ไหน โดยการเก็บตัวอย่างน้ำมาตรวจหาสารพันธุกรรมปลากระเบน

 

ทางด้าน รศ.ดร.มัสลิน โอสถานันต์กุล อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวถึงกระบวนการศึกษา eDNA ว่า “กระบวนการศึกษา eDNA มีขั้นตอนหลักๆ สามขั้นตอน คือ ขั้นที่หนึ่งเก็บตัวอย่างจากน้ำหรือดิน ขั้นที่สองสกัด eDNA ออกมาจากตัวอย่าง ขั้นตอนที่สามวิเคราะห์ eDNA ที่พบ ว่าเป็นของสิ่งมีชีวิตชนิดใด มีมากหรือมีน้อยแค่ไหน การศึกษาeDNA เป็นวิธีการที่มีความละเอียดสูง และไม่ทำร้ายสิ่งมีชีวิตที่ทำการศึกษาหรือแหล่งที่อยู่อาศัย ลดข้อจำกัดวิธีการสำรวจแบบที่ต้องจับตัวสัตว์ การศึกษา eDNAจึงเหมาะกับการใช้ในงานอนุรักษ์เป็นอย่างมาก”

 

 

การศึกษาองค์ความรู้ท้องถิ่นร่วมกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศถิ่นที่อยู่ปลากระเบนน้ำโขงโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนแม่น้ำโขงจังหวัดเชียงราย เสริมศักยภาพการตั้งรับปรับตัวของชาวประมงที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง การเรียกร้องแก้ไขปัญหาผลกระทบการเปลี่ยนแปลงพันธุ์ปลาที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตชาวประมงในจังหวัดเชียงรายต่อไป

 

 

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

“นกอีโก้ง” นกในฤดูหนาว สีสดสวยในป่าชุ่มน้ำลุ่มน้ำอิงตอนปลาย

 
 

เมื่อวันที่ 7-8 ธันวาคม 2566 ทางทีมสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตโพสต์ผ่านเฟสบุ๊ค สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต  หลังได้ร่วมกับอาจารย์สุทธิ มลิทอง ผู้อำนวยการสถาบันถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย จากการสำรวจ พบนกทั้งหมดจาก 4 ชุมชนมี 83 ชนิด แบ่งเป็นบ้านได้ดังนี้ บ้านป่าข่า 54 ชนิด บ้านป่าบง 58 ชนิด บ้านม่วงชุม 54 ชนิด และบ้านบุญเรือง 56 ชนิด ได้ทำการสำรวจนกในฤดูหนาว 4 ชุมชนได้แก่ 

1)บ้านม่วงชุม ตำบลครึ่ง 

2)บ้านบุญเรืองใต้ ตำบลบุญเรือง อำเภอเชียงของ 

3)บ้านป่าข่า ตำบลป่าตาล 

และ4)บ้านป่าบง ตำบลยางฮอม อำเภอขุนตาล จังหวัดเชียงราย 

 

จาการสำรวจนับนกของทางสมาคมในครั้งนี้ ได้สร้างความตื่นตาตื่นใจกับนกสีสวยสดใสตัวนี้ คือนกอีโก้ง ชื่อภาษาอังกฤษ / Purple Swamphen, Purple Gallinule, Purple Swamp-Hen และชื่อทางวิทยาศาสตร์ Porphyrio porphyrio เป็นนกน้ำขนาดลักษณะกลาง หัวเป็นสีทองอมน้ำเงิน ลำตัวด้านบนสีน้ำเงินอมม่วง ใต้คางและอกสีน้ำเงินอมเขียว ท้องและสีข้างสีน้ำเงินอมม่วง ต้นขาสีน้ำเงินอมเขียว หัว ไหล่ และขนปีกสีน้ำเงินอมเขียว ปีกสั้น นัยน์ตาสีแดง จะงอยปาก และแผ่นที่หน้าผากสีแดง ขาและนิ้วเท้ายาวมาก และมีสีแดงอมน้ำตาล ปากหนาและแบนข้าง มีสีแดง-สีน้ำตาลแดง เป็นนกที่มีขาค่อนข้างยาว เป็นนกที่เด่นสะดุดตาในการสำรวจในครั้งนี้ ที่หนองน้ำบ้านป่าข่า นกอีโก้งยืนหากินอยู่บนแพกอหญ้ากลางหนองน้ำ 1 คู่
 
 
กิจกรรมการนับนกและการออกแบบเส้นทางเรียนรู้นกในป่าชุ่มน้ำทั้ง 4 ชุมชน เพื่อเป็นการสำรวจจำนวนนกน้ำในป่าชุ่มน้ำในทั้ง 3 ฤดู คือฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว ครั้งนี้เป็นการสำรวจนกน้ำตัวแทนของในช่วงฤดูฝน มีการพบนกในป่าชุ่มน้ำอย่างน้อย 42 ชนิด จาก 4 ป่า ซึ่งทั้ง 4 ป่าชุ่มน้ำกำลังอยู่ในการขอขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำแรมซ่าไซด์ ที่อยู่ในระหว่างการกรอกข้อมูลให้กับหน่วยงานกรรมการพื้นที่ชุ่มน้ำ
 
 
จากการสำรวจพบว่าป่าชุ่มน้ำเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยที่สำคัญของนก โดยทางอาจารย์สุทธิ มลิทอง ได้กล่าวถึงป่าชุ่มน้ำว่ามีความสำคัญ2อย่างต่อนกน้ำคือ ป่าชุ่มน้ำเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัย และเป็นพื้นที่สำคัญในการหาอาหาร 2 ปัจจัยนี้มีความสำคัญต่อนกน้ำเป็นอย่างมาก ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งนกก็ไม่สามารถอยู่ได้ และนกที่เป็นอัตลักษณ์เด่นๆของป่าชุ่มน้ำ ที่ในพื้นที่อื่นไม่ค่อยเจอ แต่พบเจาได้มากในป่าชุ่มน้ำลุ่มน้ำอิงตอนปลายได้แก่ นกเป็ดลาย นกเป็ดพม่า นกเป็ดหัวดำสีน้ำตาล นกเป็ดดำหัวดำ และนกยางดำ
 
 
การศึกษานกในครั้งนี้ ทางสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตได้ดำเนินการร่วมกับคณะกรรมการป่าชุ่มน้ำในชุมชน เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์นกน้ำในป่าชุ่มน้ำ โดยทำข้อมูลนกน้ำ ทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ออกแบบหลักสูตรการเรียนรู้นกในป่าชุ่มน้ำ และร่วมหาแนวทางการอนุรักษ์นกในป่าชุ่มน้ำโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน รวมถึงนำข้อมูลเรื่องนกน้ำ นำไปประกอบการผลักดันการขึ้นทะเบียนพื้นที่ป่าชุ่มน้ำแรมซ่าไซด์ร่วมกับชุมชนต่อไป
 
สำหรับสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ซึ่งงานของสมาคมทำน้้นจะสามารถแบ่งออกได้เป็นอย่างน้อย 4 ด้านหลักๆ ดังนี้ 1.วิจัยไทบ้าน 2.การจัดการน้ำและสัตว์น้ำโดยท้องถิ่น 3.การเสริมสร้างเครือข่ายและกลไกท้องถิ่น 4.เขื่อนขนาดใหญ่ โครงการในปัจจุบัน โครงการเสริมสร้างเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นลุ่มน้ำโขง โครงการอนุรักษ์แลฟื้นฟูแหล่งที่อยู่อาศัยของปลาในแม่น้ำโขงและอิงตอนล่างในจังหวัดเชียงรายโดยเครื่องมือและกลไกท้องถิ่น สามารถติดต่ามได้ที่ : https://www.livingriversiam.org/ 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI FEATURED NEWS

ชาวประมงเชียงของ จับกระเบนแม่น้ำโขง 1 ใน 96 ชนิด พันธุ์ปลาหายาก ที่ยังคงมีในเชียงราย

 
เช้าวันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 ทางสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต (LRA) ได้รับแจ้งจากนักวิจัยชาวบ้าน ชาวประมงแม่น้ำโขงดอนที่ หมู่ที่ 3 บ้านดอนที่ ตำบลริมโขง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ว่าได้จับปลากระเบนแม่น้ำโขงหรือกระเบนลาว ขนาด 1.7 กิโลกรัมปลากระเบนลาว หรือ ปลากระเบนแม่น้ำโขง ชาวบ้านเรียกว่าปลาฝาไม มีชื่ออังกฤษเรียกว่า Mekong stingray, Mekongและ freshwater stingray เป็นปลากระเบนน้ำจืดชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์ปลากระเบนธง ปลาฝาไมที่ชาวบ้านจับได้มีรูปร่างส่วนหัวออกเป็นรูปทรงห้าเหลี่ยม ตาโต หางมีริ้วหนังบาง ๆ โคนหางมีเงี่ยงแหลมมีพิษ 2 ชิ้น ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลนวล กลางหลังมีเกล็ดเป็นตุ่มหยาบ ๆ ลำตัวด้านล่างสีขาว และมีปื้นสีเหลืองอ่อนหรือส้มปน น้ำหนักมากที่สุดชาวบ้านดอนที่เคยจับได้ประมาณเกือบ 30 กิโลกรัม
 
 
ปลาฝาไม จากงานวิจัยชาวบ้านองค์ความรู้พันธุ์ปลาแม่น้ำโขงในปีพ.ศ. 2547 เป็น 1 ในพันธุ์ปลาหายากในจำนวนพันธุ์ปลาจาก 96 ชนิด ในปีพ.ศ. 2565 ทางสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตร่วมกับกลุ่มรักษ์เชียงของ สถาบันชุมชนลุ่มน้ำโขง ได้ทำงานวิจัยร่วมกับชุมชนในงานวิจัยชาวบ้านแม่น้ำโขงสายน้ำที่เปลี่ยนแปลง พื้นที่จังหวัดเชียงรายพบพันธุ์ปลา 100 ชนิดเป็นพันธุ์ปลาท้องถิ่น 90 ชนิด จากการเปลี่ยนแปลงในแม่น้ำโขงทั้งจากการสร้างเขื่อน การระเบิดเกาะแก่ง การเดินเรือพาณิชย์ขนาดใหญ่ได้ส่งผลให้ระดับน้ำขึ้นลงผิดปกติ ระบบนิเวศน์น้ำโขงเปลี่ยนรูป ส่งผลทำให้ปลาหลายชนิดลดจำนวนลงทั้งชนิดพันธุ์และปริมาณ จากการจับได้ของชาวประมง ปลาลดลงส่งผลโดยตรงต่อวิถีชีวิตชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขง
 
 
สถานการณ์พันธุ์ปลาในแม่น้ำโขง โดยเฉพาะปลาฝาไม หรือกระเบนแม่น้ำโขง สถานภาพใกล้สูญพันธุ์ จากสถิติการจับได้น้อยมาก หลายชุมชนไม่เคยจับได้อีกเลย แต่ในการทำวิจัยชาวบ้านที่ผ่านมาได้สร้างความแปลกใจให้กับทีมงานผู้ช่วยนักวิจัยเป็นอย่างมาก เนื่องจากชุมชนบ้านดอนที่ ตำบลริมโขง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ยังคงมีการจับได้ปลากระเบนปีละไม่ต่ำกว่า 30 ตัว จับได้ทั้งลูกปลาและปลาขนาดใหญ่น้ำหนักมากถึง 31 กิโลกรัม ทางตัวแทนชุมชนบ้านดอนที่ได้เข้ามาทำการศึกษาวิจัยชาวบ้าน เป็นคณะทำงานนักวิจัยชาวบ้านในการศึกษาเรื่องสถานการณ์ของพันธุ์ปลา ทำให้มีการบันทึกสถิติปลาฝาไมหรือปลากระเบนยังคงมีการจับได้ที่แม่น้ำโขงจังหวัดเชียงราย
นายสมศักดิ์ นันทรักษ์ นักวิจัยชาวบ้าน บ้านดอนที่ ตำบลริมโขง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ได้เล่าถึงปลากระเบนที่ชุมชนจับได้ว่า
“ปลาฝาไม ในแม่น้ำโขง ตัวนี้จับได้บริเวณตอนมะเต้า เป็นระบบนิเวศน์คกมีน้ำวน ประธานกลุ่มประมงดอนที่พ่อวันดีจับได้เมื่อเช้านี้ ตัวประมาณ 1.7 กิโลกรัม โดยการใส่มองยังหรือตาข่ายที่ดักไว้ ปลาฝาไมได้เอาเงี่ยงของมันมาพันติดกับตาข่ายมอง ช่วงนี้เริ่มจับปลาฝาไมได้เพราะน้ำเริ่มลดใหม่ๆ ประมาณเดือนกันยายน ถึงเดือนธันวาคม ปีนี้ชุมชนเราจับได้ 4 ตัวแล้วได้บริเวณโซนใกล้ๆกัน ตัวแรก 0.5 กิโลกรัม ตัวที่สอง 14 กิโลกรัม และตัวที่สาม 16 กิโลกรัม ปลาฝาไม มีราคาแพงกิโลกรัมละ 400 บาท การจับปลาฝาไมมันจับได้น้อยมาก นอกจากเนื้อเป็นที่นิยมแล้ว หางปลาผาไมชุมชนเชื่อว่าสามารถนำไปใช้ไล่ผีกะได้ หางปลาขายหางละ 200 บาท ส่วนใหญ่ใครได้ก็จะเก็บไว้”
 
 
ระบบนิเวศน์พื้นที่หาปลาของบ้านดอนที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่แก่งคอนผีหลง เป็นระบบนิเวศน์เฉพาะ มีลักษณะเป็นหมู่แก่งหินขนาดเล็ก ใหญ่ และดอนทรายเป็นจำนวนมาก ช่วงความยาวประมาณ 1.6 กิโลเมตร เริ่มตั้งแต่บ้านดอนที่ ไปยังบ้านเมืองกาญจน์ ตำบลริมโขง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย มีระบบนิเวศย่อยตามความรู้ท้องถิ่นแบ่งเป็น 11 ระบบนิเวศน์ คือ ผา คก ดอน หาด ร้อง หลง หนอง แจ๋ม น้ำห้วย ริมฝั่ง และกว๊าน ชุมชนเชื่อว่าในพื้นที่คอนผีหลงเป็นที่อยู่อาศัยสำคัญของปลาในแม่น้ำโขงจังหวัดเชียงราย ทำให้บ้านดอนที่กลายเป็นแหล่งหาปลาแม่น้ำโขงที่สำคัญ องค์ความรู้การจับปลากระเบนจะใช้เครื่องมืออยู่ 3 ชนิด ได้แก่ เบ็ดระแวง 
 
 
โดยการแขวนเบ็ดขอเปล่าไว้ใต้ผิวน้ำนิ่งที่เป็นดินโคลน การไหลมองหรือตาข่าย ปลากระเบิดจะติดมองโดยเงี่ยงปลากระเบนจะพันกับตาข่ายมอง และวิธีที่สาม การใส่เบ็ดค่าว เชือกยาวไว้ใต้น้ำมีเหยื่อล่อเป็นปลา ไส้เดือน หอย เป็นต้น ชุมชนจับปลากระเบนได้ในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม ช่วงน้ำลด
 
 
ในวันที่ 6 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมาทางสมาคมได้ประสานงานกับทางนักวิชาการ รศ.ดร.มัสลิน โอสถานันต์กุล คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และ รศ.ดร.ฉัตรมงคล สุวรรณภูมิ คณะเกษตรศาสตร์มหาวิทยาลัยพะเยา ได้ทำการเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรม (DNA) จากซากปลากระเบน และเก็บตัวอย่างน้ำ เมือกปลา เพื่อเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรมจากน้ำ (EDNA) ไว้เป็นต้นแบบสำหรับการศึกษาสำรวจแหล่งที่อยู่อาศัยของปลากระเบนในระบบนิเวศน์แม่น้ำโขง และทางสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตได้ดำเนินโครงการเสริมศักยภาพชุมด้วยองค์ความรู้ท้องถิ่นและวิทยาศาสตร์ในการคุ้มครองถิ่นที่อยู่ปลากระเบนน้ำโขง พื้นที่คอนผีหลงและแม่น้ำโขงจังหวัดเชียงราย เพื่อ ศึกษาองค์ความรู้ปลากระเบน เสริมศักยภาพการตั้งรับปรับตัวของชาวประมงที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง โดยการสร้างมูลค่าจากปลาในแม่น้ำโขง เพื่อเพาะขยายพันธุ์เพื่อสร้างรายได้ รวมถึงการสร้างความร่วมมือกกับทางผู้เชี่ยวชาญด้านประมงในจังหวัดเชียงรายต่อไป
รูปภาพจากกลุ่มประมงพื้นบ้านดอนที่
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI FEATURED NEWS

เชียงราย พบสัตว์ป่าคุ้มครองระดับโลก “เต่าปูลู” หลังพบเจอตัวที่ 2 ในรอบ 3 ปี นับเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของป่า

 

เชียงราย พบสัตว์ป่าคุ้มครองระดับโลก “เต่าปูลู” หลังพบเจอตัวที่ 2 ในรอบ 3 ปี นับเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของป่า

 
ปัจจุบัน “เต่าปูลู” จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ.2546 IUCN (2011) โดยมีสถานภาพการอนุรักษ์ (Conservation status) เป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ (EN – Endangered) การคุ้มครองตามอนุสัญญา CITES (2011) จัดอยู่ในบัญชี 2 (Appendix II)

เมื่อวันที่ 1 ตุลาตม 2566 ที่ผ่านมา  สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ร่วมกับทางอาจารย์ฉัตรพรรษ พงษ์เจริญ อาจารย์ภาควิชาวิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ลงพื้นที่ศึกษาแหล่งที่อยู่อาศัยเต่าปูลู หลังจากได้รับแจ้งจากผู้นำชุมชนบ้านงามเมือง หมู่ 11 ตำบลยางฮอม อำเภอขุนตาล จังหวัดเชียงราย ว่ามีคนในชุมชนพบเจอตัวเต่าปูลูในลำห้วยแดงเมือง บริเวณน้ำตกถ้ำบึ่ง ห่างจากชุมชนไปประมาณ 800 เมตร ชาวบ้านเจอตัวเต่าปูลูในลำห้วยแดนเมือง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาดอยยาว มีลักษณะเป็นน้ำตก โขดหิน เป็นการพบตัวของเต่าปูลูในรอบ 10 ปีของชุมชนบ้านงามเมือง

 
 
 
นายท่องเที่ยว กองฟู ผู้ใหญ่บ้านงามเมือง หมู่11 ตำบลยางฮอม อำเภอขุนตาล จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า เต่าปูลูเจอโดยบังเอิญ พอดีลูกบ้านผมได้ขึ้นไปหาหอย ส่องหอยเหล็กจานตอนกลางคืน และที่ตรงน้ำตกถ้ำบึ่ง ส่องเจออยู่บนก้อนหินกำลังจะไต่ลงน้ำ พอลูกบ้านเจอก็โทรศัพท์มาหาผม ผมดีใจมากที่เจอเต่าปูลูที่ไม่เจอนานในรอบ 10 ปีแล้ว นี่คือตัวแรก ภัยคกคามเต่าปูลูส่วนมากจะเป็นคนนอกพื้นที่เข้ามาล่า คนในหมู่บ้านเรามีการห้ามและเชื่อฟังกัน คนต่างบ้านไม่รู้บ้านไหนบ้าง เมื่อ2-3เดือนก่อนชุดชรบ.หมู่บ้านก็ได้ขึ้นมาไล่ จับได้มา5-6 คน ตอนนั้นเรายังไม่ได้ติดป้ายประกาศตัวนี้ก็ได้อะลุ่มอะหล่วย ปล่อยเขาไปเสีย อีกครั้งก็แอบมาหาใกล้กับจุดที่เราเจอเต่าพอดีแต่จับไม่ได้ ลำห้วยนี้เราใช้ร่วมกันระหว่างบ้านแดนเมืองกับบ้านงามเมือง ที่จริงทั้ง2ชุมชนได้อนุรักษ์มานานมากแล้วเป็นป่าชุมชน ผมก็พึ่งมาสานต่อมาเป็นพ่อหลวงบ้านได้2ปีที่ผ่านมาเอง ป่าเรามีเต่าผึ้งด้วย แต่เต่าปูลูเจอในรอบ 10 ปี
 
 
“เต่าปูลู” Platysternon megacephalum หรือเต่าปากนกแก้ว(Big-headed Turtle) เป็นสัตว์น้ำจืด วงศ์ Platysternidae มีลักษณะพิเศษคือมีหัวขนาดใหญ่ กินเนื้อ กินปลา กุ้ง หอย สัตว์น้ำอื่นๆ รวมถึงผลไม้ป่าเป็นอาหาร กินเหยื่อโดยการฉกงับ เต่าปูลูมีเล็บแหลมคมมีความสามารถปีนป่ายขอนไม้ หรือโขดหินได้เก่ง หากินในเวลาตอนเย็นหรือกลางคืน ส่วนกลางวันจะหลบซ่อนตามซอกหิน ในฤดูหนาวจะจำศีลซ่อนตัวอยู่ตามหลืบหินหรือโพรงน้ำในลำห้วย 
 
เต่าปูลูเมื่อยังเล็ก กระดองจะมีลายสีเหลืองและสีน้ำตาล ส่วนตัวเต็มวัยสีเปลี่ยนไปเป็นสีน้ำตาลเขียวมะกอก ผสมพันธุ์ในน้ำ วางไข่คราวละ 3–5 ฟอง ไข่เปลือกแข็งสีขาว รูปทรงกระบอกหัวท้ายรี ยาวประมาณ 4 เซนติเมตร วางไข่ตามพงหญ้าริมฝั่งล้ำห้วยในช่วงฤดูแล้งประมาณเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน ไข่ฟักตัวออกลูกประมาณเดือนสิงหาคม
 
 
เต่าปูลูมีหัวขนาดใหญ่ ไม่สามารถหัวหดเข้ากระดองได้ เคลื่อนไหวได้รวดเร็ว สามารถปีนต้นไม้และก้อนหินได้ ขาและเท้ามีขนาดใหญ่และแข็งแรงหดเข้ากระดองไม่ได้ ขาหน้าและขาหลังของเต่าปูลูมีเกล็ดหุ้มทั้งหมด ตั้งแต่โคนขามีเกล็ดขนาดใหญ่ ฝ่าเท้ามีเกล็ดขนาดเล็กลงมา นิ้วมีเกล็ดหุ้ม มีเล็บแหลมคม ขาหน้ามี 5 นิ้ว ขาหลังมี 4 นิ้ว มีเยื่อพังผืดเล็กน้อยยึดระหว่างนิ้วเกือบถึงโคนเล็บ หางมีขนาดใหญ่ บริเวณโคนหางและโคนขาหลังมีเดือยหนังแหลมยื่นออกมาจำนวนมาก
ทางสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตได้ทำการศึกษาแนวทางการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยเต่าปูลู
 
 
โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนลุ่มนิอิงตอนปลาย ช่วงปีพ.ศ. 2564-2565 ในพื้นที่ 6 ชุมชนในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำอิงตอนปลาย พบปัญหาภัยคุกคามคือการลักลอบจับเพื่อส่งออกไปยังประเทศเพื่อบ้าน และทางชุมชนได้มีแนวทางการอนุรักษ์เต่าปูลูโดยใช้มติประชาคมหมู่บ้าน ประกาศเขตพื้นที่ห้ามล่าเต่าปูลู ในชุมชนนำร่อง 3 ชุมชนได้แก่ ชุมชนบ้านร้องหัวฝาย หมู่ 12 บ้านพัฒนารุ่งเรือง หมู่ 18 ตำบลห้วยซ้อ อำเภอเชียงของและชุมชนบ้านงามเมือง หมูที่ 11 ตำบลยางฮอม อำเภอขุนตาล จังหวัดเชียงราย
 
 
ด้านนายเกรียงไกร แจ้งสว่าง เจ้าหน้าที่ภาคสนาม สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตกล่าวว่า การเจอตัวเต่าปูลูที่บ้านงามเมือง เป็นการเจอตัวเต่าปูลูเป็นตัวที่ 2 ในช่วงเวลา 3ปี ตัวแรกเราเจอที่ลำห้วยป่าแดง ตำบลยางฮอม อำเภอขุนตาล จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 ใช้เวลา 14 เดือนกว่าจะเจอตัวเต่าปูลูอีกครั้ง ที่ผ่านมาทางสมาคมได้ร่วมกับชุมชนหาแนวทางการอนุรักษ์โดยการสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนแก้ปัญหาภัยคุกคามเรื่องการล่าเพื่อส่งออก รวมถึงการศึกษาองค์ความรู้ท้องถิ่นรวมถึงการศึกษาร่วมกับนักวิชาการ ทั้งการศึกษาระบบนิเวศน์แหล่งที่อยู่อาศัย การติดตามเต่าจากการเก็บตัวอย่างน้ำหาสารพันธุ์กรรมจากธรรมชาติ eDNA จากการตรวจหา eDNA ก็มีการตรวจพบการมีอยู่ของเต่าปูลู แต่การเจอตัวเต่าในครั้งนี้เป็นการยืนยันว่าในป่าต้นน้ำลุ่มน้ำอิงตอนปลายยังมีเต่าปูลูอยู่
 
 
ดร.ฉัตรพรรษ พงษ์เจริญ อาจารย์ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ผมได้รับการติดต่อจากสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตเข้ามาศึกษาชีววิทยา habitat ของมันอยู่อย่างไร พื้นที่อาศัยเป็นแบบไหน วันนี้ก็โชคดีที่ชาวบ้านแจ้งมาว่าเจอเต่า ก็มาเก็บข้อมูลว่าพื้นที่ที่เจอเต่ามันเป็นอย่างไร เต่าปูลูมีความพิเศษคือมันเป็นเต่าน้ำ มีลักษณะพิเศษที่ต่างจากเต่าน้ำที่ทุกคนรู้จักคือกระดองค่อนข้างจะแบน ไม่เหมือนเต่าอื่นกระดองมันจะโค้งๆ ความแบนของมันเพื่อให้มันสามารถซ่อนตัวอยู่ใต้ซอกหินตามน้ำตกตามลำห้วย ลักษณะพิเศษอีกอย่างคือหัวใหญ่มากไม่สามารถหดหัวเข้ากระดอกได้ ปกติเราจะคุ้นชิ้นกับเต่าหดหัว หดขาเข้ากระดอง 
 
แต่เต่าปูลูทำไม่ได้สักอย่าง หัวใหญ่ขาใหญ่ หางยาว ดูน่ารัก หางที่ยาวมันช่วยในการปีนน้ำตกโดยเอาหางช่วยค้ำไว้ปีนน้ำตก เต่าปูลูกินสัตว์อื่นเป็นอาหารทั้งการล่าเองและกินซากตามลำห้วย เป็นดัชนีชี้วัด เป็นผู้รักษาสภาพลำน้ำไม่ให้เน่าเสียเพราะมันกินซากสัตว์ที่มันตายในน้ำ มีความสำคัญต่อระบบนิเวศอย่างหนึ่ง แต่ตอนนี้สถานการณ์เต่าปูลูน่าเป็นห่วงสถานที่อยู่ของมันถูกทำลายไปเยอะลำห้วยต่างๆ มีมลพิษ การกั้นลำห้วยลำน้ำนิ่งๆ เต่าปูลูมันชอบน้ำไหล เป็นแอ่ง เป็นวังที่น้ำไหล การไปเปลี่ยนสภาพลำห้วยทำให้พื้นที่อาศัยมันเปลี่ยนไป อีกอย่างคือการล่า เป็นปัญหาสำคัญมาก การล่าที่เอาเต่าออกไปจากพื้นที่ 
 

จริงๆแล้วประชากรในธรรมชาติก็มีไม่เยอะ การเอาตัวเต็มวัยที่สามารถแพร่พันธุ์ได้ออกจากพื้นที่ ล่าออกไปสุดท้ายก็ไม่เหลือตัวที่จะสืบพันธุ์ต่อ สถานภาพของมันในปัจจุบันก็เลยกลายเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองของประเทศไทย ห้ามล่า ห้ามจับ ห้ามซื้อ ห้ามขาย ส่วนสถานภาพระดับโลก เป็นEN-endangered เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ทำให้เต่าปูลูมีความสำคัญในระดับประเทศและระดับโลกด้วย โดยส่วนตัวผมว่ามันน่ารักดี เลยชอบที่จะศึกษามัน

 
สำหรับ บ้านงามเมือง หมู่ 11 ตำบลยางฮอม อำเภอขุนตาล จังหวัดเชียงราย ได้ทำการประชาคมหมู่บ้าน กำหนดลำห้วยแดนเมืองทั้งสายเป็นเขตอนุรักษ์เต่าปูลู มีคณะกรรมการหมู่บ้านและชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านเป็นคณะทำงานในการสอดส่องดูแลตามลำห้วย หากมีการจับเต่าปูลูในลำห้วยจะมีการปรับ 20,000 บาท และส่งดำเนินคดีตามกฎหมาย เป็นหมู่บ้านนำร่องประกาศเขตอนุรักษ์เต่าปูลู 1 ใน 3 ชุมชนลุ่มน้ำอิงตอนปลาย และทางสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตมีแนวทางการสร้างความร่วมมือขยายแนวทางการสร้างเขตอนุรักษ์เต่าปูลูไปยังชุมชนอื่นๆให้ครอบคลุมชุมชนในเขตป่าต้นน้ำที่สนใจในระยะต่อไป
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News