เช้าวันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 ทางสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต (LRA) ได้รับแจ้งจากนักวิจัยชาวบ้าน ชาวประมงแม่น้ำโขงดอนที่ หมู่ที่ 3 บ้านดอนที่ ตำบลริมโขง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ว่าได้จับปลากระเบนแม่น้ำโขงหรือกระเบนลาว ขนาด 1.7 กิโลกรัมปลากระเบนลาว หรือ ปลากระเบนแม่น้ำโขง ชาวบ้านเรียกว่าปลาฝาไม มีชื่ออังกฤษเรียกว่า Mekong stingray, Mekongและ freshwater stingray เป็นปลากระเบนน้ำจืดชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์ปลากระเบนธง ปลาฝาไมที่ชาวบ้านจับได้มีรูปร่างส่วนหัวออกเป็นรูปทรงห้าเหลี่ยม ตาโต หางมีริ้วหนังบาง ๆ โคนหางมีเงี่ยงแหลมมีพิษ 2 ชิ้น ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลนวล กลางหลังมีเกล็ดเป็นตุ่มหยาบ ๆ ลำตัวด้านล่างสีขาว และมีปื้นสีเหลืองอ่อนหรือส้มปน น้ำหนักมากที่สุดชาวบ้านดอนที่เคยจับได้ประมาณเกือบ 30 กิโลกรัม
ปลาฝาไม จากงานวิจัยชาวบ้านองค์ความรู้พันธุ์ปลาแม่น้ำโขงในปีพ.ศ. 2547 เป็น 1 ในพันธุ์ปลาหายากในจำนวนพันธุ์ปลาจาก 96 ชนิด ในปีพ.ศ. 2565 ทางสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตร่วมกับกลุ่มรักษ์เชียงของ สถาบันชุมชนลุ่มน้ำโขง ได้ทำงานวิจัยร่วมกับชุมชนในงานวิจัยชาวบ้านแม่น้ำโขงสายน้ำที่เปลี่ยนแปลง พื้นที่จังหวัดเชียงรายพบพันธุ์ปลา 100 ชนิดเป็นพันธุ์ปลาท้องถิ่น 90 ชนิด จากการเปลี่ยนแปลงในแม่น้ำโขงทั้งจากการสร้างเขื่อน การระเบิดเกาะแก่ง การเดินเรือพาณิชย์ขนาดใหญ่ได้ส่งผลให้ระดับน้ำขึ้นลงผิดปกติ ระบบนิเวศน์น้ำโขงเปลี่ยนรูป ส่งผลทำให้ปลาหลายชนิดลดจำนวนลงทั้งชนิดพันธุ์และปริมาณ จากการจับได้ของชาวประมง ปลาลดลงส่งผลโดยตรงต่อวิถีชีวิตชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขง
สถานการณ์พันธุ์ปลาในแม่น้ำโขง โดยเฉพาะปลาฝาไม หรือกระเบนแม่น้ำโขง สถานภาพใกล้สูญพันธุ์ จากสถิติการจับได้น้อยมาก หลายชุมชนไม่เคยจับได้อีกเลย แต่ในการทำวิจัยชาวบ้านที่ผ่านมาได้สร้างความแปลกใจให้กับทีมงานผู้ช่วยนักวิจัยเป็นอย่างมาก เนื่องจากชุมชนบ้านดอนที่ ตำบลริมโขง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ยังคงมีการจับได้ปลากระเบนปีละไม่ต่ำกว่า 30 ตัว จับได้ทั้งลูกปลาและปลาขนาดใหญ่น้ำหนักมากถึง 31 กิโลกรัม ทางตัวแทนชุมชนบ้านดอนที่ได้เข้ามาทำการศึกษาวิจัยชาวบ้าน เป็นคณะทำงานนักวิจัยชาวบ้านในการศึกษาเรื่องสถานการณ์ของพันธุ์ปลา ทำให้มีการบันทึกสถิติปลาฝาไมหรือปลากระเบนยังคงมีการจับได้ที่แม่น้ำโขงจังหวัดเชียงราย
นายสมศักดิ์ นันทรักษ์ นักวิจัยชาวบ้าน บ้านดอนที่ ตำบลริมโขง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ได้เล่าถึงปลากระเบนที่ชุมชนจับได้ว่า
“ปลาฝาไม ในแม่น้ำโขง ตัวนี้จับได้บริเวณตอนมะเต้า เป็นระบบนิเวศน์คกมีน้ำวน ประธานกลุ่มประมงดอนที่พ่อวันดีจับได้เมื่อเช้านี้ ตัวประมาณ 1.7 กิโลกรัม โดยการใส่มองยังหรือตาข่ายที่ดักไว้ ปลาฝาไมได้เอาเงี่ยงของมันมาพันติดกับตาข่ายมอง ช่วงนี้เริ่มจับปลาฝาไมได้เพราะน้ำเริ่มลดใหม่ๆ ประมาณเดือนกันยายน ถึงเดือนธันวาคม ปีนี้ชุมชนเราจับได้ 4 ตัวแล้วได้บริเวณโซนใกล้ๆกัน ตัวแรก 0.5 กิโลกรัม ตัวที่สอง 14 กิโลกรัม และตัวที่สาม 16 กิโลกรัม ปลาฝาไม มีราคาแพงกิโลกรัมละ 400 บาท การจับปลาฝาไมมันจับได้น้อยมาก นอกจากเนื้อเป็นที่นิยมแล้ว หางปลาผาไมชุมชนเชื่อว่าสามารถนำไปใช้ไล่ผีกะได้ หางปลาขายหางละ 200 บาท ส่วนใหญ่ใครได้ก็จะเก็บไว้”
ระบบนิเวศน์พื้นที่หาปลาของบ้านดอนที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่แก่งคอนผีหลง เป็นระบบนิเวศน์เฉพาะ มีลักษณะเป็นหมู่แก่งหินขนาดเล็ก ใหญ่ และดอนทรายเป็นจำนวนมาก ช่วงความยาวประมาณ 1.6 กิโลเมตร เริ่มตั้งแต่บ้านดอนที่ ไปยังบ้านเมืองกาญจน์ ตำบลริมโขง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย มีระบบนิเวศย่อยตามความรู้ท้องถิ่นแบ่งเป็น 11 ระบบนิเวศน์ คือ ผา คก ดอน หาด ร้อง หลง หนอง แจ๋ม น้ำห้วย ริมฝั่ง และกว๊าน ชุมชนเชื่อว่าในพื้นที่คอนผีหลงเป็นที่อยู่อาศัยสำคัญของปลาในแม่น้ำโขงจังหวัดเชียงราย ทำให้บ้านดอนที่กลายเป็นแหล่งหาปลาแม่น้ำโขงที่สำคัญ องค์ความรู้การจับปลากระเบนจะใช้เครื่องมืออยู่ 3 ชนิด ได้แก่ เบ็ดระแวง
โดยการแขวนเบ็ดขอเปล่าไว้ใต้ผิวน้ำนิ่งที่เป็นดินโคลน การไหลมองหรือตาข่าย ปลากระเบิดจะติดมองโดยเงี่ยงปลากระเบนจะพันกับตาข่ายมอง และวิธีที่สาม การใส่เบ็ดค่าว เชือกยาวไว้ใต้น้ำมีเหยื่อล่อเป็นปลา ไส้เดือน หอย เป็นต้น ชุมชนจับปลากระเบนได้ในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม ช่วงน้ำลด
ในวันที่ 6 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมาทางสมาคมได้ประสานงานกับทางนักวิชาการ รศ.ดร.มัสลิน โอสถานันต์กุล คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และ รศ.ดร.ฉัตรมงคล สุวรรณภูมิ คณะเกษตรศาสตร์มหาวิทยาลัยพะเยา ได้ทำการเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรม (DNA) จากซากปลากระเบน และเก็บตัวอย่างน้ำ เมือกปลา เพื่อเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรมจากน้ำ (EDNA) ไว้เป็นต้นแบบสำหรับการศึกษาสำรวจแหล่งที่อยู่อาศัยของปลากระเบนในระบบนิเวศน์แม่น้ำโขง และทางสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตได้ดำเนินโครงการเสริมศักยภาพชุมด้วยองค์ความรู้ท้องถิ่นและวิทยาศาสตร์ในการคุ้มครองถิ่นที่อยู่ปลากระเบนน้ำโขง พื้นที่คอนผีหลงและแม่น้ำโขงจังหวัดเชียงราย เพื่อ ศึกษาองค์ความรู้ปลากระเบน เสริมศักยภาพการตั้งรับปรับตัวของชาวประมงที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง โดยการสร้างมูลค่าจากปลาในแม่น้ำโขง เพื่อเพาะขยายพันธุ์เพื่อสร้างรายได้ รวมถึงการสร้างความร่วมมือกกับทางผู้เชี่ยวชาญด้านประมงในจังหวัดเชียงรายต่อไป