เมื่อวันอังคาร ที่ 20 มิถุนายน 2566 นายสมหวัง บุญระยอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานเปิดการสัมมนาการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม และการป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้โครงการส่งเสริมพัฒนาพื้นที่เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Pre-EIT) จังหวัดเชียงราย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยมีอุตสากรรมจังหวัด ประชาสัมพันธ์จังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทน เจ้าหน้าที่ ท้องที่ ท้องถิ่น ผู้ประกอบการ คณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เข้าร่วมสัมมนา ที่ห้องประชุมนารายณ์ ชั้น 2 สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงราย และผ่านระบบออนไลน์
การสัมมนาถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม ในครั้งนี้ เป็นกรอบการทำงานที่สำคัญกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้เป็นเครื่องมือหลักในการพัฒนาพื้นที่ให้บรรลุตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจังหวัดเชียงราย เป็นหนึ่งในพื้นที่เป้าหมาย “เมืองน่าอยู่ คู่อุตสาหกรรม” โดยเป้าหมายภายในปี พ.ศ.2575 ประเทศไทยจะมีต้นแบบ “เมืองน่าอยู่ คู่อุตสาหกรรม” ไม่น้อยกว่า 40 พื้นที่ใน 37 จังหวัด และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในอนาคต ในการสัมมนา มีการบรรยายให้ความรู้จากวิทยากรในเรื่องฉากทัศน์การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ การจัดการสารเคมีและวัตถุอันตรายในสถานประกอบการ และเรื่องการบริหารการจัดการขยะภาคอุตสาหกรรมภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG
เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เป็นพื้นที่ที่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมเหนี่ยวนำให้เศรษฐกิจชุมชนเติบโตภายใต้สภาวะแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ดี โดยมุ่งเน้นการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม กายภาพ และการบริหารจัดการในพื้นที่ให้เกิดความสมดุลในทุกมิติ โดยแบ่งระดับการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เป็น 5 ระดับ คือ ระดับที่ 1 การมีส่วนร่วม ระดับที่ 2 การส่งเสริม ระดับที่ 3 ประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร ระดับที่ 4 การพึ่งพาอาศัย ระดับที่ 5 เมืองน่าอยู่ คู่อุตสาหกรรม ให้เป็นไปตามเกณฑ์ข้อกำหนดเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ
นายสมหวัง บุญระยอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ในส่วนของจังหวัดเชียงราย มีการพัฒนาพื้นที่ตำบลผางาม และตำบลเวียงชัย อำเภอเวียงชัย สู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในระดับที่ 5 คือ เมืองน่าอยู่ คู่อุตสาหกรรม เป็นแนวคิดที่ออกแบบเพื่อการสร้างการอยู่ร่วมกันระหว่างชุมชนและอุตสาหกรรม โดยเน้นให้ภาคอุตสาหกรรมเป็นฟันเฟืองหลัก ร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ชุมชน วัด บ้าน โรงเรียน ในพื้นที่ ร่วมกันออกแบบพื้นที่ด้วยการกำหนดนโยบาย วิสัยทัศน์ ทิศทางการพัฒนาตามบริบทของชุมชน โดยขับเคลื่อนการพัฒนาตามแผนปฏิบัติการ โครงการ กิจกรรมต่างๆ สอดคล้องกับ 5 มิติ คือ กายภาพ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม และการบริหารจัดการ ซึ่งในแต่ละมิติจะเป็นไปตามแนวทางเกณฑ์ข้อกำหนดเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของกรมโรงงานอุตสาหกรรมอีกด้วย
เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงอุตสาหกรรม