ค่ำวันที่ (2 ก.ย. 66) ที่บริเวณหน้าด่านพรมแดนไทย-เมียนมา จุดผ่านแดนถาวร อ.แม่สาย จ.เชียงราย น.ส.ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เป็นประธานในการเปิดการงาน เชียงรายแฟนชั่นสู่การออกแบบระดับโลกครั้งที่ 1 หรือ “Chiang Rai Fashion to The World 1st Designers Competition” โดยการจัดเดินแฟนชั่นบนถนนหน้าด่านพรมแดนหรือ Fashion on the Road โดยมี นายศรัณยู มีทองคำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย สมาคมสมาพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือจังหวัดเชียงราย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมจัดงานหลายภาคส่วน กิจกรรมมีการจัดให้นักออกแบบ หรือดีไซเนอร์ จากทั่วประเทศไทย จำนวน 73 ดีไซเนอร์ นำผลงานและนางแบบร่วมเดินแบบแสดงด้วยเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่ถูกกำหนดให้ใช้ลวดลายผ้าจากกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย และภาคเหนือ ซึ่งพบว่าดีไซเนอร์สามารถออกแบบเพื่อการประกวดและจัดแสดงครั้งนี้กว่า 92 ชุด เริ่มต้นด้วยการเดินแฟนชั่นโชว์จาก 10 กลุ่มชาติพันธุ์ คือ อาข่า ม้ง กะเหรี่ยง อิ้วเมี่ยน ไตหย่า ไทใหญ่ ยูนนาน ไทลื้อ ลั้วะ และลาหู่ ด้วยนางแบบจำนวน 20 นางแบบ จาก by YOURS Thailand จากนั้นนางแบบทั้ง 92 คน ได้ออกเดินบนถนนหน้าด่านแม่สาย ท่ามกลางความสนใจของนักท่องเที่ยวและประชาชนทั้งชาวไทยและเมียนมา ที่ต่างพากันไปชมความงดงามของชุดเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่ออกแบบและปรับให้มีลวดลายผ้าปักกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ได้อย่างงดงามและลงตัวเป็นอย่างยิ่ง แม้แต่เสร็จสิ้นการเดินแบบแล้วผู้คนยังขอถ่ายภาพร่วมกับนางแบบกันอย่างเนืองแน่นด้วย
สำหรับการประกวดชุดแฟชั่นทั้ง 92 คน พบว่าชุดราตรีชื่อ “โบตั๋น” จากการออกแบบของ น.ส.วิสา แสนสุขยิ่งนัก วิชาคหกรรม สาขาวิชาแฟชั่นและสิ่งทอ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงราย ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 โดยเป็นชุดกระโปรงยาวลักษณะคล้ายชุดกี่เพ้าของจีนแต่มีลวดลายผ้าลายปักของกลุ่มชาติพันธุ์อิ้วเมี่ยนบนชุดราตรีอย่างลงตัว รางวัลที่ 2 ดีไซเนอร์มาจากกรุงเทพฯ โดยเป็นชุดราตรีธรรมชาติและภูมิปัญญา ฯลฯ ภายในบริเวณงานยังจัดให้มีร้านค้าเกี่ยวกับเสื้อผ้าแฟชั่นผ้าต่างๆ กว่า 100 ร้านค้า ทำให้บรรยากาศการท่องเที่ยวหน้าด่านพรมแดน อำเภอแม่สาย คึกคักเป็นอย่างยิ่ง
น.ส.ฐาปนีย์ กล่าวว่า ปัจจุบันทุกประเทศต่างพยายามส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อช่วงชิงการนำหลังวิกฤติไวรัสโควิด-19 สำหรับประเทศไทยก็พยายามหาจุดแข็งเพื่อเป็นจุดขายดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและทั่วโลกด้วยเช่นกัน ซึ่งก็พบว่าจุดแข็งหนึ่งคือซอฟเพาเวอร์เรื่องอาหาร แฟชั่น กิจกรรม faith (ศรัทธา) ฯลฯ ซึ่งภาคเหนือถือว่าส่วนหนึ่งคือมีลวดลายผ้าปักจากกลุ่มชาติพันธุ์ที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่ง ดังนั้นทาง ททท.จึงได้สนับสนุนการจัดงานครั้งนี้ขึ้นเพื่อให้เกิดการต่อยอดไปสู่การท่องเที่ยวตลอดทั้งปี หรือ All year รวมทั้งยังส่งเสริมให้เกิดรายได้ไปสู่ชุมชนได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย
ทางด้าน นางนงเยาว์ เนตรประสิทธ์ นายกสมาคมสมาพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือจังหวัดเชียงราย กล่าวว่ากลุ่มชาติพันธุ์ที่มีรวมกันกว่า 35 ชาติพันธุ์ ได้มีการออกแบบลวดลายผ้าปักด้วยเทคนิค ลวดลายและสีสันแตกต่างกันซึ่งล้วนมีความวิจิตรงดงาม ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการจัด “Fashion on the Road” เป็นครั้งแรก และคาดหวังจะให้การออกแบบชุดแต่งกายพร้อมลวดลายพัฒนาไปสู่ระดับประเทศและระดับนานาชาติ ซึ่งนอกจากด้านการท่องเที่ยวแล้วยังจะสร้างรายได้ให้คนทุกระดับตั้งแต่กลุ่มชาติพันธุ์ที่ออกแบบลวดลายผ้าปัก ผู้เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน และผู้จัดจำหน่ายในแต่ละขั้น หรือตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ อีกด้วย
เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์