Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

นักท่องเที่ยวคึกคัก ‘ตักบาตรดอกไม้’ อัญเชิญพระพุทธรูป 9 องค์ หนึ่งเดียวในล้านนานักท่องเที่ยวคึกคัก ‘ตักบาตรดอกไม้’

 
เมื่อบ่ายวันศุกร์ที่  29 ธ.ค. 66 ที่ผ่านมา ที่บริเวณสวนตุงและโคมนครเชียงราย ถนนธนาลัย ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานฝ่ายฆราวาส และพระพุทธิญาณมุนี เจ้าคณะจังหวัดเชียงราย เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ในพิธีตักบาตรดอกไม้ หนึ่งเดียวในล้านนา
 
โดยมี นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัด ดร.วันชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย นางรัตนา จงสุทธานามณี ที่ปรึกษา รองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรม เวชยชัย ) และ นายกสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดเชียงราย นำชาวเชียงรายเเละ นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศร่วมกันตักบาตรดอกไม้ หนึ่งเดียวในล้านนา ซึ่งมีขบวนฟ้อนเชียงรายจากนักเรียนโรงเรียนในสังกัดเทศบาลนครเชียงราย
 
ซึ่งเทศบาลนครเชียงรายได้จัดให้มีงานเชียงรายดอกไม้งาม ปีที่ 20 ณ บริเวณสวนตุงและโคมนครเชียงราย ในระหว่างวันที่ 28 ธันวาคม 2566 ถึง 15 มกราคม 2567 นี้ โดยมีการอัญเชิญพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ 9 องค์จาก 9 วัดในอำเภอเมืองเชียงราย ประดิษฐานบนรถบุษบก 9 คัน เคลื่อนไปตามถนนธนาลัย เพื่อให้ประชาชนและนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ได้ร่วมกันนมัสการและร่วมตักบาตรดอกไม้เพื่อความเป็นสิริมงคลจากนั้น พระสงฆ์และสามเณรออกรับบิณฑบาตรดอกไม้ โดยพร้อมเพียงกัน 
 
มีประชาชนออกมาร่วมทำบุญใส่บาตรด้วยดอกไม้ ร่วมกันอย่างคับคั่ง ซึ่งสร้างความประทับใจให้นักผู้ร่วมทำบุญตักบาตรอย่างมาก เพราะราชรถแต่ละคันมีความสวยที่ไม่ซ้ำกัน และสร้างโดยศิลปินแต่ละจังหวัด ใช้ระยะเวลาสร้าง 9 ปี โดยในหนึ่งปีจะนำออกให้ประชาชนและนักนักท่องเที่ยวได้ชมในการร่วมพิธีที่สำคัญเพียง 2 ครั้งเท่านั้น คือ ตักบาตรดอกไม้และตักบาตรวันขึ้นปีใหม่เท่านั้น
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
AROUND CHIANG RAI TRAVEL

เปิดยิ่งใหญ่ “เชียงรายดอกไม้งาม” ปีที่ 20 ซอฟต์พาวเวอร์ กระตุ้นเศรษฐกิจยาวข้ามปี

 
เมื่อช่วงค่ำวันที่ ( 28 ธ.ค. 66 ) ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานเปิด “เชียงรายดอกไม้งาม” ปีที่ 20 ณ สวนตุงและโคมเทศบาลนครเชียงราย โดย มี นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ว่าที่ ร.ต. ศราวุธ จันทวงค์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ดร.วันชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 นางรัตนา จงสุทธานามณี ที่ปรึกษา รองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรม เวชยชัย) และ นายกสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดเชียงราย ร.ต.อ.ดร.ธนรัช จงสุทธานามณี เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วยพี่น้องชาวเชียงรายและนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศร่วมในพิธีเปิด อย่างคับคั่ง
 
 
นางรัตนา จงสุทธานามณี ที่ปรึกษา รองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรม เวชยชัย) และ นายกสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้ อยู่ภายใต้แนวคิด “หยุดโลกไว้ตรงนี้ ที่เชียงราย” ซึ่งเป็นการรังสรรค์ความงดงามของสวนดอกไม้งาม สวยงามมากที่สุดจึงอยากหยุดทุกอย่างไว้ที่เชียงราย เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่มาเยือน และชาวเชียงรายได้ชื่นชม เพิ่มสีสัน และเสน่ห์ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมเกษตรกรชาวสวนดอกไม้ เสริมสร้างรายได้กระตุ้นเศรษฐกิจ และเป็นการประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย โดยการนำดอกไม้มาเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะดอกทิวลิป ลิลลี่ ที่ไม่ต้องเดินทางไปชมถึงต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นซอฟต์พาวเวอร์ ที่ยิ่งใหญ่ของจังหวัดเชียงรายอีกหนึ่งสิ่ง
 
 
ทางด้าน ดร.วันชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย กล่าวว่า “เชียงรายดอกไม้งาม” ปีที่ 20 ถือว่าเป็นปีที่เทศบาลนครเชียงราย มีความตั้งใจที่จะเพิ่มพื้นที่สีสันความสวยงามให้อยู่กลางใจเมือง และเป็นห้องรับแขกของจังหวัดเชียงรายในการต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งประเทศไทยและต่างประเทศเดินทางมาเยือนในช่วงของฤดูหนาวและงานจะจัดไปจนถึง 15 มกราคม 2567 จึงขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวจังหวัดเชียงรายในช่วงของฤดูหนาวนี้
 
 
ด้าน ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ต้องขอขอบคุณทางเทศบาลนครเชียงราย ที่จัดงานเชียงรายดอกไม้งามเสมือนเป็นพื้นที่แห่งการท่องเที่ยวกลางเมือง และจัดมาอย่างต่อเนื่องจนถึง 20 ปี และจากที่ได้เดินชมสวนดอกไม้ ต้องยอมรับว่า มีความสวยงาม กลมกลืนกับสภาพอากาศที่หนาวเย็น จึงอยากให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวกันให้มากๆ และต้องยอมรับว่าการจัดงานเชียงรายดอกไม้งามจะเป็นซอร์ฟพาวเวอร์อย่างแท้จริง จนนำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงราย
 
 
“เชียงรายดอกไม้งาม ปีที่ 20” เทศบาลนครเชียงราย จัดขึ้นในระหว่าง 28 ธันวาคม 2566 ไปจนถึง 15 มกราคม2567 โดยได้เนรมิตพื้นที่สวนตุงและโคมฯ ทั้งหมด เป็นอุทยานไม้ดอกเมืองหนาวกลางแจ้งที่สวยงาม โดยเฉพาะราชินีแห่งไม้ดอกเมืองหนาว ดอกทิวลิป และลิลลี่ เป็นไฮไลท์สำคัญ รวมถึงดอกไม้ชนิดพิเศษที่หาชมได้ยาก และพันธุ์ไม้ดอกเมืองหนาว ที่หาชมได้ยาก นับล้านดอก และปีนี้จะยิ่งใหญ่และสวยงามกว่าทุกปี ภายใต้แนวคิด “หยุดโลกไว้ตรงนี้ ที่เชียงราย”
 
 
นอกจากนี้ยังมี ดนตรีในสวน Music in the park ในทุกวันเสาร์ โดยจะเริ่มเสาร์ ที่ 30 ธันวาคม 2566 ไปจนถึงเสาร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2567 ทั้งนี้ ในวันที่ 29 ธันวาคม 2566 ยังมีพิธีอัญเชิญพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์แวดเวียงเจียงฮาย และตักบาตรดอกไม้ โดยกายรอัญเชิญพระพุทธรูปเก่าแก่จากวัดต่างๆ ในจังหวัดเชียงราย จาก 8 วัด มาประดิษฐานบนราชรถศิลปะล้านนาที่งดงาม ที่ทางเทศบาลนครเชียงรายจัดสร้างขึ้นจำนวน 9 คัน ให้ประชาชนกราบไหว้สักระบูชา เพื่อความเป็นศิริมงคลโดยได้รับความเมตตาจากพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ พระสงฆ์และสามเณร จากวัดต่างๆ มาโปรดเมตตา รับพิจารณาดอกไม้สด โดยการจัดงานจะเริ่มตั้งแต่เวลา 15.00 น. บริเวณด้านหน้าสวนตุงและโคมเทศบาลนครเชียงราย ไปถึงสี่แยกศาลจังหวัดเชียงราย
 
 
และวันที่ 31 ธันวาคม 2566 เวลา 18.00 น. ร่วมส่งมอบความสุข “ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่” ชมคอนเสิร์ตศิลปินชื่อดัง และการแสดงศิลปวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่ตระการตา บริเวณหอนาฬิกานครเชียงราย แลนด์มาร์ค ด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงราย
 
 
วันที่ 1 มกราคม 2567 ต้อนรับศักราชใหม่ กับพิธีอัญเชิญพระพุทธรูปแวดเวียงเจียงฮายทำบุญตักบาตรขึ้นปีใหม่ ซึ่งเทศบาลนครเชียงราย ได้ประกอบพิธีอัญเชิญพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์แวดเวียงเจียงฮาย ครั้งที่ 24 ประจำปี 2567 เริ่มเวลา 07.00 น. ณ ถนนธนาลัย ย่านเมืองเก่า ใจกลางเมืองเชียงรายอีกด้วย
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : เทศบาลนครเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
All

ตำรวจเมืองเชียงรายยึดรถ 32 คัน หลังเปิดปฏิบัติการ “เชียงรายไร้ท่อดัง”

 

เมื่อ27 ธันวาคม 2566 พล.ต.ต.มานพ เสนากูล ผบก.ภ.จว.เชียงราย มอบหมายให้ พ.ต.อ.โสภณ ม่วงเฟื่อง ผกก.สภ.เมืองเชียงราย พ.ต.ท.พันชาติ สมตัว รอง ผกก.จร.สภ.เมืองเชียงราย พ.ต.ท.ฉันทฤทธิ์ เหล่าไพโรจน์จารี รอง ผกก.ป.สภ.เมืองเชียงราย พ.ต.ท.พรต เศรษฐกร รอง ผกก.สส.สภ.เมืองเชียงราย ร่วมกับทาง ฝ่ายปกครอง กองร้อยอาสารักษาดินแดนจังหวัดเชียงราย และ สำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงราย ร่วมประชุมวางแผนดำเนินการป้องกันและปราบปรามรถจักรยานยนต์ดัดแปลงสภาพและท่อไอเสียเสียงดัง สร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ประชาชน ณ ห้อง ศปก.สภ.เมืองเชียงราย

พร้อมได้เปิดปฏิบัติการ “เชียงรายไร้ท่อดัง” ร่วมบูรณาการ ปฏิบัติการร่วม 4 หน่วยงาน ได้แก่ ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย (สภ.เมืองเชียงราย) ฝ่ายปกครองอำเภอเมืองเชียงราย สำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงราย และ วิทยาลัยเทคนิคเชียงราย โดยความร่วมมือจาก ดร.ศรากร บุญประถัมภ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคเชียงราย ลงพื้นที่ดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแข่งขันรถในทางและรถเสียงดัง แต่งซิ่ง และตั้งจุดตรวจ จุดสกัด
 
โดยแบ่งเป็น 2 ชุด คือ บริเวณถนนสันโค้งน้อย และ ถนนสนามบิน ต.รอบเวียง อ.เมือง จ.เชียงราย และได้ออกตรวจจุดจอดรถภายในวิทยาลัยเทคนิคเชียงราย และบริเวณโดยรอบ ทำการตรวจสอบรถจักรยานยนต์ที่มีลักษณะเข้าข่ายท่อเสียงดังจำนวน 45 คัน โดยเจ้าหน้าที่ขนส่งจังหวัดเชียงรายได้นำเครื่องวัดระดับเสียงทำการทดสอบรถจักรยานยนต์ดังกล่าว ผลการดำเนินการ สามารถจับกุมตรวจยึด รถจักรยานยนต์ดัดแปลงสภาพและท่อเสียงดังเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดได้จำนวน 32 คัน นำส่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงรายดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
SOCIETY & POLITICS

ช่วยกลับไทย 500 คน สั่งขยายผลดำเนินคดีขบวนการค้ามนุษย์เล่าก์ก่ายเมียนมาหลัง

 
เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 66 ที่ห้องประชุม 1 ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย (ศูนย์ราชการ) ตำบลริมกก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย พลตำรวจตรี มานพ เสนากูล ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วย รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย เจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย และผู้แทนสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงราย ร่วมรับฟังและรับมอบนโยบายจาก พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ผ่านระบบ Video Conference จากส่วนกลาง จากกรณีเมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมาได้มีเหตุการณ์สู้รบในหลายพื้นที่เขตชายแดนประเทศเมียนมา ทำให้มีประชาชนได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก โดยมีคนไทยที่เดินทางไปทำงานอยู่ในเมืองเล่าก์ก่าย ติดอยู่ในพื้นที่พิพาทเป็นจำนวนมาก และได้ร้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลไทยในการให้ความช่วยเหลือนำกลับประเทศตามที่สื่อมวลชนและโซเชียลมีเดียได้นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น 


กรณีดังกล่าว พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ได้สั่งการให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง (ศพดส.ตร.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ กองทัพบก กองทัพอากาศ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย เป็นต้น ในการประสานงานกับทางการเมียนมาในการให้ความช่วยเหลือคนไทยที่ติดอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อนำกลับมายังประเทศไทยอย่างปลอดภัย ปัจจุบันสามารถช่วยเหลือคนไทยนำกลับมายังประเทศไทยได้แล้ว 5 ครั้ง ประกอบด้วย 1. เมื่อวันที่ 18 พ.ย.66 ช่วยเหลือคนไทยได้ 41 คน 


โดยรับตัวผ่านจุดผ่านแดนที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย 2. เมื่อวันที่ 19 พ.ย.66 ช่วยเหลือคนไทยได้ 266 คน โดยนำตัวข้ามชายแดนจากเมืองเล่าก์ก่าย เมียนมา ไปยังเมืองคุนหมิง ประเทศจีน แล้วเดินทางกลับไทยโดยสายการบินพาณิชย์ลงที่สนามบินดอนเมือง 3. เมื่อวันที่ 24 พ.ย.66 ช่วยเหลือคนไทยได้ 24 คน โดยรับตัวผ่านจุดผ่านแดนที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย 4. เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.66 ช่วยเหลือคนไทยได้ 83 คน โดยนำตัวข้ามชายแดนจากเมืองเล่าก์ก่าย เมียนมา ไปยังเมืองคุนหมิง ประเทศจีน แล้วเดินทางกลับไทยโดยสายการบินพาณิชย์ลงที่สนามบินดอนเมือง 5. เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.66 ช่วยเหลือคนไทยได้ 111 ราย โดบรับตัวผ่านจุดผ่านแดน อ.แม่สาย จ.เชียงราย รวมสามารถช่วยเหลือคนไทยได้แล้ว 525 ราย โดยนำเข้าสู่กระบวนการกลไกส่งต่อระดับชาติ (NRM) ที่มณฑลทหารบกที่ 37, กองร้อยอาสารักษาดินแดน จ.เชียงราย และศูนย์บูรณาการคัดกรองหนองจอก กทม. 


โดยในจำนวนดังกล่าว มีผู้ต้องหาตามหมายจับ (คดีทั่วไปและคดีคอลเซ็นเตอร์) จำนวน 20 ราย จากนั้นนำเข้ากระบวนการคัดกรองพบเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์จำนวน 174 ราย ในส่วนของกระบวนการคัดแยกนั้น เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้ทำการซักถามและคัดกรองตามขั้นตอนกระบวนการคัดแยกเหยื่อจากการค้ามนุษย์ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมทั้งขยายผลดำเนินคดีกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด โดยเฉพาะการหลอกลวงคนไทยไปทำงานคอลเซ็นเตอร์ ในส่วนของคนไทยชุดแรกที่ได้รับการช่วยเหลือจำนวน 41 คน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินการคัดแยกและพบเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์จำนวน 20 คน และดำเนินการขยายผลดำเนินคดีกับผู้ต้องหาซึ่งเป็นขบวนการหลอกคนไทยไปทำงานคอลเซ็นเตอร์ที่ประเทศเมียนมา (เมืองเล่าก์ก่าย) 


ในส่วนของคนไทยชุดล่าสุดที่ได้รับการช่วยเหลือจำนวน 111 คน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินการคัดแยกและพบเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์จำนวน 85 คน และดำเนินการขยายผลดำเนินคดีกับผู้ต้องหาซึ่งเป็นขบวนการหลอกคนไทยไปทำงานคอลเซ็นเตอร์ที่ประเทศเมียนมา ( เมืองแผน ) โดยยังมีผู้ต้องหาหลบหนีอีก 2 ราย ซึ่งทั้งหมดจะถูกดำเนินคดีในความผิดฐาน สมคบกันค้ามนุษย์ด้วยการบังคับใช้แรงงานขบวนการค้ามนุษย์กลุ่มนี้มีการแบ่งหน้าที่กันทำ โดยมีคนทำหน้าที่ต่างๆ ในองค์กร เช่น หัวหน้าฝ่ายบริหาร ฝ่ายฝึกอบรมในการทำคอลเซ็นเตอร์ ฝ่ายชักชวนคนมาทำงาน ฝ่ายการเงิน ฝ่ายจัดหาล่าม ฝ่ายควบคุมการทำงานและทำโทษ รวมทั้งฝ่ายปฏิบัติการโทรหลอกลวง ซึ่งผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงจากขบวนการนี้ ถูกชักชวนว่าจะให้ไปทำงานเป็นแอดมินเว็บพนันออนไลน์ในเมืองเล่าก์ก่าย เมียนมา แต่เมื่อไปถึงกลับถูกบังคับให้ทำงานคอลเซ็นเตอร์ และชักชวนลงทุน หากไม่ยอมทำงานจะถูกจับเรียกค่าไถ่จำนวนระหว่าง 2-7 แสนบาท หากไม่มีเงินค่าไถ่ก็จะถูกบังคับทำงานและทำร้ายร่างกายและกักขัง ก่อนที่ผู้เสียหายจะหาทางของความช่วยเหลือเพื่อกลับประเทศไทย

 

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า ปัจจุบันในส่วนของการประสานงานเพื่อช่วยเหลือคนไทยในพื้นที่พิพาทเมืองเล่าก์ก่าย เมียนมานั้น ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในการประสานงานกับทางการเมียนมาและทางการจีน ในการเร่งพาคนไทยที่ยังติดอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวกลับมาอย่างปลอดภัยโดยเร็วที่สุด โดยหลังจากที่มีการช่วยเหลือคนไทยเหล่านี้กลับมาแล้ว ก็จะนำตัวเข้ารับการดูแลและคัดแยกเหยื่อที่ทางรัฐจัดหาให้ในการดำเนินการตามกลไก NRM ซึ่งที่ผ่านมาได้คัดกรองผู้เสียหายออกมาได้แล้วจำนวนหนึ่ง รวมทั้งมีการจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับได้อีก 20 ราย

 

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจยังดำเนินการขยายผลดำเนินคดีกับขบวนการหลอกคนไทยไปบังคับทำงานคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งในกลุ่มแรกสามารถขยายผลออกหมายจับผู้ร่วมขบวนการแล้ว 10 ราย จับกุมแล้ว 4 ราย กลุ่มอื่นสามารถขยยายผลออกหมายจับผู้ร่วมขบวนการแล้ว 19 ราย จับกุมและอายัดตัวดำเนินคดีแล้ว 17 ราย ในส่วนของคนไทยที่ได้รับการช่วยเหลือกลับมาทั้งหมด ก็จะมีการขยายผลเช่นนี้ทั้งหมด เพื่อดำเนินคดีกับคนที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด รวมทั้งช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ตกเป็นเหยื่อจากการหลอกลวงดังกล่าว
 
ทั้งนี้ขอประชาสัมพันธ์ไปยังพี่น้องประชาชน กรณีการจะเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ขอให้มีการพิจารณาข้อมูลให้ถี่ถ้วน เน้นความปลอดภัยและถูกต้องตามกฎหมาย หากพบเบาะแสของขบวนการหลอกลวงคนไทยไปทำงานคอลเซ็นเตอร์ สามารถแจ้งเบาะแสได้ผ่านช่องทางสายด่วน 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI NEWS UPDATE

ผู้ว่าฯ เคาะกำหนดจัดงานพ่อขุนฯ และกาชาด ปี 67 “รำลึกอดีต ถึงปัจจุบัน ก้าวสู่อนาคต เมืองเชียงราย”

 

เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2566 นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการดำเนินงานพ่อขุนเม็งรายมหาราชและงานกาชาด ประจำปี 2567 ที่ห้องประชุมธรรมลังกา ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดเชียงราย โดยมี นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นางสุภาเพ็ญ ศิริมาตย์ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดเชียงราย นางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดเชียงราย หัวหน้าส่วนราชการ ทหาร ตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมในการกำหนดจัดงานพ่อขุนเม็งรายมหาราชและงานกาชาด ประจำปี 2567 ระหว่างวันศุกร์ที่ 26 มกราคม 2567 ถึงวันอาทิตย์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2567 รวม 10 วัน 10 คืน ณ ฝูงบิน 416 (สนามบินเก่า) อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย 

 

เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพ่อขุนเม็งรายมหาราช ที่ทรงสร้างเมืองเชียงราย เมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 1805 รวมถึงเป็นการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวล้านนา และนำเสนอผลงานความก้าวหน้าทางวิชาการของทุกภาคส่วน การออกร้านนิทรรศการของส่วนราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ สำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัด สถาบันการศึกษา สมาคมและมูลนิธิ การแสดงมหรสพ กีฬา และการละเล่นบันเทิงต่างๆ ของภาคเอกชน และเพื่อจัดหารายได้สำหรับใช้ในกิจการที่ไม่มีงบประมาณสนับสนุนและงานสาธารณกุศลของจังหวัดเชียงราย รวมทั้งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงราย ที่ประชุมได้แจ้งประกาศจังหวัดเชียงราย เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการจัดงานพ่อขุนเม็งรายมหาราชและงานกาชาด ประจำปี 2567 จำนวน 12 กองงาน เพื่อให้การดำเนินการจัดงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เน้นย้ำการให้ความสำคัญความเป็นมาของจังหวัดเชียงราย ให้ลูกหลานชาวเชียงรายได้รับรู้ประวัติศาสตร์เมืองเชียงรายจากอดีตถึงปัจจุบัน ก้าวสู่อนาคตที่รุ่งเรือง และขอให้ประชาชนชาวเชียงรายได้มีส่วนร่วมในงานฉลองครบรอบ 762 ปี เมืองเชียงราย ด้วย

 

 

ทั้งนี้ จะมีพิธีสักการะฯ และพิธีเปิดงานพ่อขุนเม็งรายมหาราชและงานกาชาด ประจำปี 2567 ในวันที่ 26 มกราคม 2567 เวลา 07.30 น. พิธีถวายสักการะพระบรมอัฐิพ่อขุนเม็งรายมหาราช ณ วัดดอยงำเมือง 
 
เวลา 08.30 น. พิธีบวงสรวง สืบชะตา และทำบุญเมืองเชียงราย ณ อนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราช (ห้าแยกพ่อขุน) จัดพิธีพร้อมกัน 6 อำเภอ (อำเภอแม่สาย อำเภอเชียงแสน อำเภอเชียงของ อำเภอเทิง อำเภอพาน และอำเภอแม่สรวย) เสร็จแล้ว ต่อด้วยการฟ้อนเมืองไหว้สาปูจาพญามังราย กว่า 1,000 คน ฉลองครบรอบ 762 ปี เมืองเชียงราย 
 
เวลา 14.30 น. พิธีไหว้สาพญาเม็งราย จากอำภอต่างๆ ทั้ง 18 อำเภอ ณ อนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราช 
 
เวลา 16.00 น. พิธีกล่าวเปิดงานเฉลิมฉลองครบรอบ 762 ปี เมืองเชียงราย และตีฆ้องชัยเฉลิมฉลองความเจริญรุ่งเรืองเมืองเชียงราย
 
 
จากนั้นขบวนแห่ 12 ขบวน จากขบวนวงโยธวาทิต ขบวนผู้บริหารจังหวัดเชียงราย ขบวนองค์การปริหารส่วนจังวัดเชียงราย ขบวนเทศบาลนครเชีองราย ขบวนมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และขบวนกลุ่มอำเภอ 8 กลุ่มอำเภอ เริ่มเคลื่อนขบวนจากนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราช ไปตามเส้นทางผ่านหน้าสวนตุงและโคมฯ เลี้ยวซ้ายแยกศาลเข้าสู่แยกประตูสลี เลี้ยวขวาเข้าสู่หอนาฬิกาเฉลิมพระเกียรติ และเลี้ยวช้ายแยกบรรพปราการ (แยกวัดมิ่งเมือง) มุ่งหน้าสู่สถานที่จัดงานฝูงบิน 416 (สนามบินเก่า) ระยะทางประมาณ 3.2 กิโลเมตร ตลอดการเคลื่อนขบวนจะมีการแสดง 3 จุด 
 
จุดที่ 1 บริเวณหน้าอนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราช 
 
จุดที่ 2 ระหว่างทาง บริเวณหอนาฬิกาเฉลิมพระเกียรติ 
 
จุดที่ 3 บริเวณทางเข้าสถานที่จัดงาน ฝูงบิน 416 (สนามบินเก่า) 
 
เวลา 18.30. น. พิธีเปิดงานพ่อขุนเม็งรายมหาราช และงานกาชาด ประจำปี 2567 ณ เวทีกลาง 
 
เวลา 19.00 น. ประธานในพิธี ประกอบพิธีเฉลิมฉลองครบรอบ 762 ปี เมืองเชียงราย โดยการกดปุ่มเปิดไฟ เพื่อให้ไฟสว่างไสวทั่วทุกมุมเมืองและสถานที่สำคัญของ จังหวัดเชียงราย พร้อมกันอีก 2 จุด โดยนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย กดปุ่มเปิดไฟเฉลิมฉลองครบรอบ 762 ปี เมืองเชียงราย ณ บริเวณวัดร่องเสือเต้น นายกเทศมนตรีนครเชียงราย กดปุ่มเปิดไฟเฉลิมฉลองครบรอบ 762 ปี เมืองเชียงราย ณ บริเวณสวนตุงและโคม เทศบาลนครเชียงราย
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI TOP STORIES

ดราม่าค่าที่ “งานพ่อขุนฯ” พ่อค้าแม่ค้าหวั่นแพง ผู้จัดฯ ยัน! ค่าที่ถูกกว่าครั้งที่แล้วแน่นอน

 

ผู้ค้ารายย่อยบางรายในจังหวัดเชียงราย เผยเกิดกระแสดราม่าค่าที่ จากกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าที่ต้องการจับจองขายของที่งานพ่อขุนเม็งรายมหาราชและงานกาชาด ประจำปี 2567 รวม 10 วัน 10 คืน ณ สนามบินฝูงบิน 416
.
เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2566 มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ซึ่งมีอาชีพค้าขาย จะขายของตามงานเทศกาลต่าง ๆ ในจังหวัดเชียงราย โดยในโพสต์ระบุว่า “งานพ่อขุนปี 67 ตอนนี้ตกลงได้จัดงานแล้ว แต่อยากทราบว่าใครได้มาจัดงานครับ ในฐานะพ่อค้าในจังหวัดอยากให้ทาง จว.พิจารณาผู้ที่มาจัดงาน เล็งเห็นและให้โอกาสพ่อค้าแม่ค้าในจังหวัดที่ราคาไม่สูง เนื่องจากยุคเศรษฐกิจแบบนี้ ผมในฐานะคนค้าขายซึ่งเป็นคนเชียงราย อยากให้ จว.พิจารณาให้ถี่ถ้วนเล็งเห็นความเดือดร้อนของพ่อค้าแม่ค้า ไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้จัดงาน เพราะการลงทุนในแต่ละครั้งมีความเสี่ยง ถ้าค่าล็อกแพงไป ทำให้ผู้ประกอบการร้านค้ารายย่อยในจังหวัดเชียงรายที่เคยค้าขายกันมาทุก ๆ ปีได้รับความเดือดร้อนกันเป็นจำนวนมากเนื่องจากราคาค่าที่สูงเกินความเป็นจริงกว่าทุก ๆ ปี ทางกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าชาวเชียงรายจึงขอความเมตตากับทางจังหวัดได้โปรดพิจารณาคัดเลือกทีมงานผู้จัดที่มีคุณธรรมและเก็บค่าเช่าที่แบบมีเมตตาธรรม”
.
ทั้งนี้ หลังจากโพสต์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไปก็มีผู้ใช้เฟซบุ๊กเข้ามาคอมเมนต์แสดงความคิดเห็นกันเป็นจำนวนมาก อาทิ “จัดงานผูกขาดรายเดิม ๆ ค่าล็อกเพิ่มขึ้นทุกปีครับ”, “เขาบ่าสนใจหรอก ได้เงินประมูลงานไปแล้วกะตัวใครตัวมันละ มันบ่าเหมือนสมัยก่อน”, “ตอนนี้ผมยังไม่รู้ราคาค่าล็อกเลยพี่แต่ถ้าแพงเกินไปก็ไม่ไหวในฐานะคนเชียงราย”
.
ล่าสุดวันนี้ (24 ธ.ค. 66) ทีมข่าว ได้ลงพื้นที่ไปสำรวจแผงขายของตามเทศกาลต่าง ๆ ในเขตเทศบาลเมืองเชียงราย ก็ยังมีพ่อค้าแม่ค้าพูดถึงเรื่องนี้กันเป็นจำนวนมาก โดยทีมข่าวได้มีโอกาสสัมภาษณ์ “นายเอ” (นามสมมติ) หนึ่งในพ่อค้าที่กำลังตัดสินใจจะลงขายในงานพ่อขุนเม็งรายมหาราชและงานกาชาด ประจำปี 2567 ซึ่งปกติแล้วนายเอจะขายพวกของทอด และจะขายเฉพาะงานเทศกาลเท่านั้น เพราะปกติทำงานประจำอยู่แล้ว

[บทสัมภาษณ์ระหว่างทีมข่าวกับนายเอ]

ทีมข่าว : การขายของในงานฯ ปีที่ผ่าน ๆ มาเป็นอย่างไรบ้าง?

นายเอ : คนจัดงานฯ ครั้งก่อนถ้ามีปัญหาตรงไหน อะไรที่แพงไป หรือว่าเศรษฐกิจไม่ดี ก็จะรับฟังทุกปัญหา และอะลุ่มอล่วยเสมอ หากเราได้ที่ขายของเล็กไปหรือใหญ่ไปก็สามารถที่จะขอคุยกับเขาได้ตลอด

ทีมข่าว : ครั้งที่แล้วมีคนพูดถึงเรื่องค่าที่แพง หรือมีนายหน้ามาเหมาที่ไปขาย ตามที่มีพ่อค้าแม่ค้าพูด ๆ ถึงกันหรือไม่?

นายเอ : ถ้าหมายถึงมีคนเหมาแล้วไปขายต่อแพง ๆ ไม่แน่ใจเหมือนกันนะครับ เพราะว่าเมื่อรอบที่แล้วผู้จัดงานฯ ที่ผ่านมาคือจะมาตั้งโต๊ะที่งานเลย ที่สนามบินเก่า ไม่ใช่แค่วันเดียวนะ ตั้งเป็นเกือบเดือนเราก็ขับรถไปที่สนามบินเก่าเพื่อที่จะไปคุยดูว่าจะได้ที่ตรงไหนได้ จะเอากี่เมตร ขนาดใหญ่เท่าไหร่ ราคาเท่าไหร่ครับ เมื่อครั้งก่อนผู้จัดจะรู้อยู่แล้วว่าร้านใครอยู่ตรงไหนเพราะจัดทุก ๆ ปี พ่อค้าแม่ค้าก็จะเป็นการโทรไปจองบอกแค่ชื่อร้าน เขาก็มีข้อมูลเก็บไว้ แต่ถ้าเป็นเจ้าใหม่ก็ต้องไปเสียบพื้นที่ว่าว่างไหม ใครอยากจะขายของมีพื้นที่ว่างอยู่ ยังไม่มีเจ้าประจําก็เข้าไปติดต่ออะไรประมาณนั้น ส่วนครั้งนี้ส่งข่าวมาทางไลน์กลุ่ม แล้วก็คือมีคนไปเดินแจกใบปลิวตามงาน ให้โทรจองล็อกแล้วก็ขอเก็บค่าล็อก

ทีมข่าว : ของงานรอบที่แล้ว ค่าที่เท่าไหร่?

นายเอ : มันอยู่ที่ 10,000 – 20,000 บาทนะ มันแล้วแต่ว่าได้ตรงไหน หมายถึงว่าถ้าได้ที่ลานขายเครื่องดื่มมันก็แพง ก็สแกนหน้างานเอาครับ ดูหน้างานอีกทีนึงครับ ทางผู้จัดเดิมก็ชัดเจน เขาก็จะบวกเพิ่มหรือลดลงก็ตามนั้นไป เขาก็มีข้อมูลหมดทุกอย่าง

ทีมข่าว : ที่มีคนโทรไปถามเรื่องค่าที่ตามใบปลิวของงานในครั้งนี้ ราคาเท่าไร?

นายเอ : ก็ได้ยินข่าวมาว่าค่าล็อกประมาณ 40,000 ถึง 50,000 บาท เลยคิดว่าค่อนข้างแพง ทีนี้ส่วนตัวยังไม่ได้ตัดสินใจที่จะเอา เพราะราคาล็อกแพงขนาดนั้น ผมไม่ไหว แต่ก็คือล่าสุดที่ผมไปเจอคนที่เขาขายที่งานนี่มานานแล้วเป็น10-20 ปี เขาก็ให้ฟังว่าปีนี้ค่าที่แพง เขาก็เลยยังไม่ตัดสินใจที่จะเอาหรือไม่เอา ทั้ง ๆ ที่เขาขายมา 20 กว่าปีแล้ว เป็นร้านใหญ่เป็นของคนเชียงราย

ทีมข่าว : มีสิ่งที่ต้องการพูด หรือมีข้อเสนอแนะอะไรไหม?

นายเอ : ส่วนตัวไม่มีติดใจอะไร ก็คืออยากให้คิดเรื่องใจเขาใจเรา ว่าปีที่ผ่านมามันเป็นยังไงแล้วถ้าปีนี้เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ค่าที่แรงกว่าเดิม พ่อค้าแม่ค้าคงเหนื่อย ทํามาค้าขายยาก ทุกคนก็ขายเพื่อหวังกําไรอยู่แล้ว แต่ว่าการขายเพื่อที่จะให้ได้กําไรมันต้องดูต้นทุนด้วยไง แต่ถ้าล็อก 40,000 บาท ซื้อของอีก 20,000 บาท และมีอย่างอื่นอีก ยังไม่ได้ทําอะไรเลย แต่ตังค์เสียไปเป็นแสนประมาณนั้น มันก็ใจเขาใจเรา ผมก็เลยยังไม่ตัดสินใจที่จะเอา

วันก่อนก็เจอพี่ชายที่ค้าขายด้วยกัน แกก็เล่าให้ฟังว่าค่าล็อกแพงมากแล้วก็ครั้งนี้การจัดมันอาจจะแออัดกว่าเดิมที่มีเห็นผังที่เค้าเอามาแจก ซึ่งเราก็เข้าใจระบบการจัดการ ก็คือมีทั้งส่วนราชการทั้งมูลนิธิ แต่ปีนี้ในผังไม่ค่อยเห็นเยอะเท่าไหร่เพราะมันเหลือครึ่งเดียว ยังไงก็ต้องมีคนไปขายของเนาะ แต่ต้นทุนที่มันแพงขึ้นกว่าเดิมแล้ว เราต้องการการบริหารจัดการให้พ่อค้าแม่ค้าได้ขายของดีเหมือนเดิมแค่นั้นเอง คือตอนนี้รู้สึกว่าค่าล็อกแพงครับ

สุดท้ายตอนนี้เรายังไม่รู้นะว่าการที่เขาเปิดราคามาที่ผมได้ยินมาเนาะ ที่ราคา 40,000 – 50,000 งานครั้งที่แล้วร้านค้าไม่ได้จํากัดเวลาว่าหลัง 6 โมงหรือทุ่มนึงเนี่ยเก็บบัตร แต่ต้องมีตัวตนที่แท้จริงว่าขายอะไรประมาณนี้ ครั้งนี้ไม่รู้ว่าเขาจะจํากัดเวลาใหม่ คืออารมณ์ประมาณแบบพ่อค้าแม่ค้าต้องอยู่ภายในงานหรือภายในร้านก่อน 5 โมงเย็น 6 โมงบางร้านมันต้องวิ่งออกไปซื้อของมาเพิ่มเติมหรือบางร้านนู่นนี่นั่นขาด เขาต้องออกไปมันจะยุ่งยากไหมไม่รู้ แล้วเข้ามาต้องเสียค่าบัตรหรือไม่

ตอนนี้คือหนึ่งมีการแจกใบปลิว แต่ผู้จัดคือคนไหน ตอนนี้คือเขายังไม่ชัวร์ใช่ไหม ตอนนี้พ่อค้าแม่ค้าเขาก็กลัวเหมือนกันที่จะเอาหรือไม่เอาเพราะว่ามันก็เปลี่ยนผู้จัดเนาะ และค่าล็อกที่อาจจะแพงขึ้นกว่าเดิม คำถามก็คือ คนที่ขายอยู่แล้ว 20 กว่าปีเนี่ยเขาก็จะไม่ได้ที่เดิมหรือได้ที่เดิมเขาก็ยังไม่รู้อะ เขาก็เลยไม่กล้าที่จะจอง ผมอยากให้คนในพื้นที่จังหวัดเชียงรายที่เคยขายก่อนเนี่ย ได้มีที่ขายเดิมอะไรประมาณนี้ครับ โดยเฉพาะคนในจังหวัดนั้นให้มีสิทธิ์เลือกก่อน เพราะนี่มันเป็นงานของจังหวัดไม่ใช่เป็นงานที่อื่น

ต่อมาทางทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์ ได้ลองติดต่อไปยังเบอร์โทรศัพท์บนใบปลิวดังกล่าวจากข้อมูลที่ได้รับแจ้งมา โดยใบปลิวได้ลงชื่อผู้ติดต่อจองล็อกว่าคือคุณดำ เบื้องต้นทราบว่าเป็นผู้จัดการเรื่องการจองล็อกขายของในงานดังกล่าว ทางทีมข่าวจึงได้ขอสัมภาษณ์เพื่อสอบถามถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับค่าเช่าพื้นที่ ว่ามีการตั้งเกินราคาตามคำกล่าวอ้างของกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าหรือไม่

[บทสัมภาษณ์ระหว่างทีมข่าวกับคุณดำ]

ทีมข่าว : ค่าที่ในงานพ่อขุนเม็งรายมหาราช และงานกาชาด ประจำปี 2567 ครั้งนี้ 40,000 ถึง 50,000 บาท ราคานี้จริงหรือไม่?

คุณดำ : เป็นไปไม่ได้ แล้วใครจะไปจอง 50,000 บาท พูดเป็นนิยายนะคะ เป็นไปไม่ได้ค่ะเพราะเราไม่เคยจัดงานแพงขนาดนั้น มันคือ 20,000-30,000 กว่า แต่ต้องวัดเป็นเมตร รอบนี้ของเรายังถูกกว่าที่ผ่าน ๆ มาอีก ตอนนี้เท่าที่สรุปเหมือนว่าเมตรนึงก็อยู่ที่ประมาณ 4,500 บาท นี่คือขั้นราคาสูงนะ ขั้นต่ําก็มีนะเพราะมันมีเป็นโซน ๆ นะคะ แต่ละโซน ราคานี้มันอยู่ที่สาย สาย A สาย B มันอยู่ที่เลือก คนต้องการพื้นที่สวยหน่อยตั้งร้านขายดีการเข้างานดี มันก็สวย มันก็แพงอยู่แล้วไม่ว่าที่ไหน

ทีมข่าว : แล้วครั้งที่ผ่านมา ราคาอยู่ที่เท่าไหร่?

คุณดำ : เมื่อปีที่แล้ว เมตรนึงก็อยู่ที่ 5,000 6,000 บาท 7,000 บาทก็มีแต่มันขึ้นอยู่กับโซน สูงสุด 8,000 บาท แต่ปีนี้เริ่มที่ 4,500 ค่ะ สูงสุดไม่เกิน 5,000 บาท

ทีมข่าว : แล้วที่บอกว่าที่ละร้านค้าแจ้งว่าราคาแพง คือซื้อไปปล่อยต่อให้ มันแพงจริงหรือไม่?

คุณดำ : มีค่ะ มีส่วนค่ะ เช่นมีมุมแบบสวย แล้วรู้อยู่แล้วว่าตัวนี้มีร้านค้าในมืออยู่แล้ว เขาก็ขอซื้อเลย 20 ล็อก 30 ล็อกแล้วก็เอาไปบวก แต่ไม่น่าจะถึง 40,000 กว่า ไม่น่าจะมีนะคะ มันแรงเกินไป มันก็เป็นไปไม่ได้ เชียงรายเราก็รู้อยู่มันไม่ใช่ว่าที่แพงแล้วคุณจะต้องแย่งกันเข้า มันเป็นไปไม่ได้ค่าที่แพง เขาไม่ลงก็มี

ทีมข่าว : วิธีการซื้อพื้นที่ต้องทำอย่างไร คำนวนอย่างไร?

คุณดำ : คือล็อกนึงจะคิดเป็นเมตร เช่น 1 เมตร แล้วตลอดงานก็คืออย่างครั้งนี้มี 10 วัน ก็ตกวันละ 450 บาท คิดมาละ 10 วัน ก็คือ 4,500 บาท มันต้องคิดอย่างนี้ แล้วก็มีค่าไฟก็ดวงและ 30 บาท ต่อวัน ต่อดวง

ทีมข่าว : แล้วปีนี้ไม่มาตั้งโต๊ะ แต่เปลี่ยนเป็นแจกใบปลิวให้โทรศัพท์หาแทน เกิดจากอะไร ติดปัญหาส่วนไหน?

คุณดำ : เรากําลังเตรียมงานเนาะ ปีนี้เนี่ยเราพยายามจัดงานให้ไม่เหมือนที่ผ่าน ๆ มา เพราะว่าที่ผ่านมาการเดินเข้างานมันไกลมาก แล้วอีกอย่างงานก็เหมือนเดินไปโซนหัวถึงหาง นี่มันเป็นหลายกิโลเลยนะ แล้วอีกอย่างร้านค้ามันก็กระจาย ตอนนี้เราทํายังไงก็ได้ ให้คนที่มางานเดินวนอยู่เที่ยวในงานจะได้ค้าขายกันไปให้ทั่ว ถ้ามันกว้างความยาวมันมากไปมันก็เหมือนจะกระจายไป คนเดินที่อยู่ในล็อกบางทีก็เป็นแค่เมตรดีกว่าค่ะ เมตรมันถูกกว่า

ถ้าเทียบค่าที่กับภาคกลาง ภาคอีสาน ของเราภาคเหนือถูกที่สุดที่อื่นมาเป็นแสน ๆ นะ สมัยก่อนพี่วิ่งทีงาน 9 วัน 10 วันเนี่ยเสียค่าที่ 70,000 บาทถึงแสนนะ ถ้าพูดถึงทางเหนือเราเนี่ยมันก็ได้ประมาณขนาดนี้เลย แพงกว่านี้เป็นไปไม่ได้แล้วค่ะ ส่วนงานนี้พ่อค้าแม่ค้าคนไหนที่จะจอง ต้องบอกว่าเดี๋ยวรอผังก่อน รอผังงานมาก่อนว่าเราจะจัดโซนไหน แล้วโซนไหนราคาเท่าไหร่

ทีมข่าว : เป็นไปได้หรือไม่ที่มีทีมของคุณดำเอง ไปปล่อยราคาล็อกแพง?

คุณดำ : พี่เป็นคนเชียงราย ใครที่เป็นคนเชียงรายลงกับพี่ถูกกว่า เราเป็นคนในท้องถิ่น ดูแลกันเองอยู่แล้ว แล้วอีกอย่างร้านค้าก็รู้อยู่แล้วว่าที่ใครที่มัน แต่ถามว่ามีไหม มันก็มีคนที่ตัดเอาโซนไปปล่อย รู้อยู่แล้วว่าข้างหน้าเนี่ย 30 ล็อกเนี่ย มีคนต้องการอยู่ เอาเงินสดไปตัดไปจองก่อนมันก็มีอยู่ แต่เราก็ไม่ไปยุ่งมันขึ้นอยู่กับการสะดวกใจของร้านค้าที่จะซื้อราคานั้น

แต่ไม่ต้องกลัวนะ คนเชียงรายจองที่กับพี่ไม่มีแพง เราไม่ให้คนเชียงรายต้องมาเสียเปรียบคนอื่น หรือต้องให้คนอื่นมาว่าบ้านเมืองทําไมขายกันเองทำไมแพง อะไรแบบนี้ไม่มีแน่ ราคาคนเชียงรายราคาพิเศษ ซึ่งผู้จัดก็ย้ำกับพี่บอกว่าไม่เป็นไร การทําปีนี้คืนกําไรให้ลูกค้าไปเลย

ทีมข่าว : แต่ถูกกว่าปีก่อนแน่ ๆ ใช่ไหม?

คุณดำ : แน่นอนคอนเฟิร์ม ส่วนคนที่จะซื้อราคาที่มีคนตัดล็อกไป ก็ขึ้นอยู่กับความพอใจตกลงกันเองเขาก็ต้องยอม ก็ถ้าคุณเป็นคนที่อื่นจะกล้าซื้อราคาล็อก 40,000 บาทกว่า

ยิ่งปีนี้ลดวันกว่าปีที่แล้วไปวันหนึ่ง แล้วเราจะไปเอาแพงกว่า มันเป็นไปได้ยังไง เป็นไปไม่ได้หรอกค่ะ ใครสนใจจะจองล็อกติดต่อพี่ดำได้เลย อยากจะเข้ามาค้าขายติดต่อพี่ดําได้ คนเชียงรายต้องมีสิทธิ์ได้ลง ค่าที่ต้องไม่แพง เรื่องโซนเดี๋ยวมาว่ากันอีกที เพราะต้องรอผู้ใหญ่สรุป
.
และสำหรับใครที่สนใจติดต่อจองพื้นที่กับคุณดำในงานพ่อขุนเม็งรายมหาราช และงานกาชาด ประจำปี 2567 สามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 0891795458 (คุณดำ) โดยทางทีมข่าวได้ทำการขออนุญาตลงเบอร์โทรศัพท์ในบทสัมภาษณ์เรียบร้อยแล้ว เพื่อให้พ่อค้าแม่ค้าชาวเชียงรายทุกท่านได้จองล็อกในราคาพิเศษ อย่างที่คุณดำแจ้งไว้ในตอนต้น

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

กลุ่มชาติพันธุ์ 500 ครอบครัว แสดงตนเป็นพุทธมามกะ วัดพระธาตุดอยตุง

 
วันที่ 24 ธันวาคม 2566 ที่พระบรมธาตุเจ้าดอยตุง อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย พระเทพเวที เจ้าคณะภาค 6 พระอุดมบัณฑิต รองเจ้าคณะภาค 6 พระพุทธิญาณมุนี เจ้าคณะจังหวัดเชียงราย พระพุทธิวงศ์วิวัฒน์ รักษาการเจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยตุง ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดเชียงราย และ คณะสงฆ์จังหวัดเชียงราย ประกอบพิธี การแสดงตนเป็นพุทธมามกะ (ประกาศตนว่าเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา) ของกลุ่มชาติพันธุ์ 500 ครอบครัว ซึ่งอยู่ในพื้นที่ อำเภอแม่ฟ้าหลวง และ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
 
โดยพิธีเริ่มจากขบวนแห่ พุทธมามกะชาติพันธุ์ อัญเชิญพระพุทธรูป 500 องค์ จากการสมโภชพระพุทธมงคลธรรม โดยมี นายทชัย และ นางปุณณกา รัตนะฉัตตา เป็นประธานอุปถัมภ์ จากนั้นแห่พระพุทธรูป “มงคลธรรมบพิตร” ไปยังพระบรมธาตุ เจ้าดอยตุง เวียนรอบพระบรมธาตุฯ 3 รอบ ก่อนเริ่มประกอบพิธี ในการถวายพระพุทธรูป 500 องค์ ให้คณะสงฆ์ และคณะสงฆ์ ได้มอบ พระพุทธรูป “มงคลธรรมบพิตร” ให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ 500 ครอบครัว เพื่อนำไปกราบไหว้บูชาที่บ้าน
พระเทพเวที เจ้าคณะภาค 6 กล่าวว่า การแสดงตนเป็นพุทธมามกะ หรือ ประกาศตนว่าเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา ของกลุ่มชาติพันธุ์ในครั้งนี้ ถือว่าคณะสงฆ์จังหวัดเชียงราย ได้เผยแพร่พระพุทธศาสนาได้อย่างดีเยี่ยม ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์เลื่อมใสในคำสอนของพระพุทธเจ้า และได้เข้ามานับถือศาสนาพุทธ
 
ซึ่งทุกคนจะต้องปฏิบัติตามหลักศาสนา และปฏิบัติตัวตามศีล 5 ให้ได้มากที่สุด หากติดขัดในเรื่องใด ก็สามารถปรึกษาคณะสงฆ์ได้ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีอย่างมาก ที่ทุกคนได้เผยแพร่พระพุทธศาสนาให้กว้างขึ้น ทั้งนี้ก็เช่นกัน พระสงฆ์ก็จะต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้ชาวพุทธเช่นกัน ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ และนำคำสอนมาเผยแพร่ต่อไปได้อีก
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ มอบผ้าห่มกันหนาวพระราชทาน ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ อำเภอเวียงแก่นจังหวัดเชียงราย

 
เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2566 เวลา10.30 น. ณ ลานหมู่บ้านห้วยปอ หมู่ 17 ตำบลปอ อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย นายวิลาศ รุจิวัฒนพงศ์ รองประธานฝ่ายบรรเทาทุกข์ มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับนายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นางสุภาเพ็ญ ศิริมาตย์ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดเชียงราย และคณะกรรมการมูลนิธิฯ ประจำจังหวัด มอบผ้าห่มกันหนาว และชุดยาเวชภัณฑ์พระราชทาน จำนวน 3,500 ชุด ให้แก่ราษฎร และตัวแทนราษฎรใน 7 อำเภอ ประกอบไปด้วย อำเภอแม่ลาว อำเภอเชียงของ, อำเภอพญาเม็งราย, อำเภอเชียงแสน, อำเภอเวียงชัย, อำเภอแม่สาย และอำเภอเวียงแก่น โดยมอบให้อำเภอละ 500 ชุด
 
 
โอกาสนี้รองประธานฝ่ายบรรเทาทุกข์ มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ยังได้อัญเชิญพระราชกรณียกิจพระบรมวงศานุวงศ์ ที่ทรงเสียสละพระองค์เพื่อปวงชนชาวไทยในด้านต่าง ๆ ทำให้ทุกคนอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข และได้เล่าถึงที่มาของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ก่อกำเนิดขึ้นด้วยพระมหากรุณาธิคุณในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงห่วงใยต่อพสกนิกรชาวไทยทั่วประเทศ ด้วยต้องการช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่าง ๆ ให้ได้รับการแก้ไขโดยเร็ว อันจะเป็นการบรรเทาความเดือดร้อน และผ่อนคลายความทุกข์ร้อนของประชาราษฎร์ทุกหนแห่ง และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงห่วงใยราษฎรที่ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติในทุกพื้นที่ของประเทศไทย พระองค์ได้พระราชทานความช่วยเหลือในการบรรเทาทุกข์และความเดือดร้อนแก่ราษฎรของพระองค์ในทุกเหตุการณ์ และทรงรับสั่งให้เตรียมความพร้อมและติดตามสถานการณ์ต่าง ๆ เพื่อป้องกันความเสียหายและสามารถให้ความช่วยเหลือราษฎรได้ทันการ
 
 
สำหรับสถานการณ์ภัยหนาวของจังหวัดเชียงรานในครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี มีพระราชกระแสทรงห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว ทรงให้ติดตามอย่างใกล้ชิด รวมทั้งให้ทุกภาคส่วนร่วมแรงร่วมใจให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนอย่างเต็มกำลังความสามารถ ด้วยพระราชปณิธานแน่วแน่ที่จะทำให้ประเทศชาติมั่นคง และประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ อัญเชิญผ้าห่มกันหนาวพระราชทานมามอบให้ราษฎรจังหวัดเชียงราย ประกอบไปด้วย ชุดยาเวชภัณฑ์พระราชทาน จำนวน 3,500 ชุด ให้แก่ราษฎรและตัวแทนราษฎรใน 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแม่ลาว อำเภอเชียงของ อำเภอพญาเม็งราย อำเภอเชียงแสน, อำเภอเวียงชัย อำเภอแม่สาย และอำเภอเวียงแก่น โดยมอบให้อำเภอละ 500 ชุด ซึ่งให้นายอำเภอทั้ง 7 อำเภอเป็นผู้แทนในการรับมอบ เพื่อนำไปให้ราษฎรที่ประสบภัยหนาวในพื้นที่ ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงห่วงใยสุขภาพอนามัยของราษฎร โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เด็ก และผู้ยากไร้ ที่ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่หนาวเย็น ยังความปลื้มปิติ และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ และอยากให้ตัวแทนทุกคนได้นำเรื่องที่กล่าวมาทั้งหมดไปเล่าสู่กันฟัง เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ที่ทรงห่วงใยในราษฎรเสมอมา
.
จังหวัดเชียงรายมีภูมิศาสตร์อยู่ทางเหนือสุดของประเทศไทย มีสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูง สภาพอากาศจึงค่อนข้างหนาวเย็นเกือบตลอดปี โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวหลายพื้นที่มักจะมีสภาพอากาศที่หนาวจัด จังหวัดเชียงรายจึงได้สำรวจความต้องการเครื่องกันหนาวประจำปีงบประมาณ 2567 พบว่ามีราษฎรที่ประสบภัยหนาวต้องการเครื่องกันหนาว รวมทั้งสิ้น 304,016 ชิ้น ที่ผ่านมาจังหวัดเชียงรายได้บูรณาการหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน มูลนิธิการกุศลต่างๆเข้าช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่อง
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI NEWS UPDATE

รพ.สมเด็จพระญาณสังวร จ.เชียงราย เปิดหน่วยไตเทียมใหญ่สุดในจังหวัด

 

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผย โรงพยาบาลสมเด็จพระญาณสังวร จังหวัดเชียงราย เปิดหน่วยฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียมใหญ่ที่สุดในจังหวัด ให้บริการได้ถึงวันละ 160 คน ช่วยผู้ป่วยโรคไตไม่ต้องเดินทางไกล ได้เข้าถึงการรักษามากขึ้น มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น พร้อมขับเคลื่อนเป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะ ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลบริการประชาชน


          นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์  ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า โรงพยาบาลสมเด็จพระญาณสังวร จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 30 เตียง ดูแลประชาชน ในอำเภอเวียงชัย และข้างเคียง คือ อำเภอพญาเม็งราย และ กิ่งอำเภอเวียงเชียงรุ้ง มีการพัฒนายกระดับบริการเพื่อดูแลประชาชนที่โดดเด่นหลายด้าน โดยเฉพาะการดูแลผู้ป่วยโรคไต ได้เปิดหน่วยบริการฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียมใหญ่ที่สุดในจังหวัดเชียงราย จำนวน 40 เตียง ให้บริการตั้งแต่เวลา 03.00-21.00 น. วันละ 4 รอบ รวม 160 คนต่อวัน ทำให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะที่ 5  ในอำเภอเวียงชัย อำเภอใกล้เคียง และตัวเมืองเชียงราย ซึ่งอยู่ห่างเพียง 15 กิโลเมตร ได้เข้าถึงบริการฟอกไตมากขึ้น ช่วยลดความแออัดของโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ได้ส่วนหนึ่ง

 

          นายแพทย์โอภาสกล่าวต่อว่า โรงพยาบาลสมเด็จพระญาณสังวร ยังเป็นโรงพยาบาลนำร่องอันดับต้นๆ ในการนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาเป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะ ทั้ง  OPD /IPD  Paperless มีการพัฒนา Home Ward ในกลุ่มผู้ป่วยโรคโควิด 19 โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ และปอดอักเสบ โดยมีพยาบาลติดตามอาการทั้งการเยี่ยมบ้านและผ่านระบบ Telemedicine ช่วยลดการเดินทางมาโรงพยาบาล นอกจากนี้ ยังเป็นหน่วยรับฝึกด้านแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวเพื่อป้อนเข้าระบบสาธารณสุขด้วย โดยปัจจุบันมีแพทย์ที่อยู่ระหว่างเข้ารับการฝึกฝนจำนวน 5 คน 


          “โรงพยาบาลยังมีแผนพัฒนาด้านดิจิทัลสุขภาพต่อเนื่อง เพื่อให้การบริการเป็นไปด้วยความรวดเร็วและคล่องตัวมากยิ่งขึ้น เช่น ระบบบริหารจัดการฐานข้อมูลการเบิกจ่ายพัสดุ ระบบ AI ช่วยอ่านฟิล์ม เป็นต้น ซึ่งได้ย้ำความสำคัญเรื่องความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล มีระบบสำรองข้อมูล ระบบป้องกันการโจรกรรมข้อมูลจาก Hacker เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้รับบริการ

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงสาธารณสุข

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

ขับเคลื่อนหมู่บ้าน เศรษฐกิจพอเพียง ‘วันดินโลก’

 
เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2566 นายวิทยา ชุมภูคำ พัฒนาการจังหวัดเชียงราย มอบหมายให้นางอำไพ บัวระดก ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน นางสุรีย์ศรี แสงสุวรรณ ผู้อำนวยการกลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน นายปรีชา ปวงคำ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน นางเครือวรรณ สดใส ผู้อำนวยการกลุ่มงานประสานและสนับสนุนการบริหารงานพัฒนาชุมชน และทีมงานพัฒนาชุมชนจังหวัดจังหวัดเชียงราย ร่วมกิจกรรมเอามื้อสามัคคี เกี่ยวข้าว ในพื้นที่โคกหนองนา CLM ดอยอินทรีย์ (พื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคกหนองนาโมเดล) ตำบลดอยฮาง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงรายโดยมีพระอาจารย์วิบูลย์ ธัมมเตโช ที่ปรึกษาเจ้าอาวาสวัดพุทธอุทยานดอยอินทรีย์ และผู้เข้าร่วมการอบรมแกนนำขับเคลื่อนหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ร่วมกิจกรรม
 
 
กิจกรรมในวันนี้นับเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการตระหนักรู้คุณค่าของดินและน้ำเนื่องในวันดินโลก ประจำปี 2566 (World Soil Day 2023) เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 รวมทั้งเป็นการน้อมนำพระราชดำริและพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการ “สืบสาน รักษา ต่อยอด” มาสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน และพัฒนาพื้นที่ ดูแลรักษาดินและน้ำให้มีคุณภาพ ให้เกิดการพัฒนาพื้นที่อย่างสมดุลให้เกิดความยั่งยืนต่อไป
 
 
นอกจากนี้ กิจกรรมเอามื้อสามัคคีในวันนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการอบรมแกนนำขับเคลื่อนหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตามโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเชียงรายจัดขึ้น ณ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติศาสตร์พระราชาดอยอินทรีย์เชียงราย วัดพุทธอุทยานดอยอินทรีย์ บ้านห้วยกีด หมู่ที่ 1 ตำบลดอยฮาง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย มาตั้งเเต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 เพื่อให้เกิดผู้นำการพัฒนา (Change Leader) ที่อยู่ในชุมชน และนำการพัฒนาให้สอดคล้องกับบริบทชุมชน และนำไปสู่สิ่งที่ชุมชนต้องการ
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : Cddchiangrai

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News