Categories
AROUND CHIANG RAI ECONOMY

อพท. ประสานภาคีร่วมขับเคลื่อน เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของประเทศไทย

 
เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2567 ณ โรงแรม เลอ เมอริเดียน เชียงราย รีสอร์ท จังหวัดเชียงราย นางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวต้อนรับ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสร้างการรับรู้ ภายใต้แนวทางการขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก (Thailand Creative Cities Network : TCCN 2024) โดยมี นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เป็นประธานพิธีเปิดกิจกรรมฯ เพื่อระดมความคิดและประสบการณ์การดำเนินงานการขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ตามหลักเกณฑ์มาตรฐานสากล จากหน่วยงานภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ตลอดจนภาคประชาคม ร่วมกันสร้างการรับรู้ถึงประโยชน์ต่อการเป็นเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก และกระบวนการยกระดับเมือง ตลอดจนขั้นตอนการพัฒนาเมืองในพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของ อพท. ให้เห็นเป็นรูปธรรม ส่งผลถึงการเป็นต้นแบบของ “นักพัฒนาเมือง พัฒนาพื้นที่” ในโอกาสนี้ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ น่าน อ่างทอง ตลอดจนหัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานจากจังหวัดต่างๆ ที่สนใจขับเคลื่อนเมืองเพื่อเข้าร่วมเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก และภาคีเครือข่ายเข้าร่วมกิจกรรม
 

              นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ อพท. เปิดเผยว่า กิจกรรมสร้างการรับรู้ภายใต้แนวทางการขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก หรือ TCCN 2024 ในครั้งนี้ อพท. หวังสร้างความตระหนักรู้ถึงประโยชน์ของการร่วมเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก แก่เมืองเป้าหมายในพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของ อพท. และในภาพรวมของประเทศไทย ให้ครอบคลุมกลไกของการพัฒนาอย่างยั่งยืน และยังมุ่งเป้าในการสร้างโอกาสและยกระดับการพัฒนาเมืองในพื้นที่ จากการระดมความคิดเห็น การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในเวทีการประชุม การเสวนาจากภาคีเครือข่ายและความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานภาคีในการประสานการขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ในประเทศไทย สู่การเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกไปพร้อมกัน  โดยในปี ๒๕๖๗ อพท. ได้จัดกิจกรรม TCCN 2024 ขึ้นถึง ๒ ครั้ง ในเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกในพื้นที่พิเศษของ อพท. ที่ได้รับการประกาศให้เป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ (UNESCO Creative Cities Network) เมื่อปลายปี ๒๕๖๖ ซึ่งกิจกรรมครั้งแรกจัดขึ้น ณ จังหวัดสุพรรณบุรี เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกด้านดนตรี ในประเด็นสำคัญ “การพัฒนานวัตกรรมเมืองอย่างยั่งยืนและการพัฒนาเมืองอย่างสร้างสรรค์เพื่ออนาคตอย่างเท่าเทียม” ซึ่งการพัฒนาเมืองให้ยั่งยืน ไม่ใช่เพียงเป็นประเด็นของการขับเคลื่อนธุรกิจภายในประเทศ เท่านั้น แต่ยังเป็นเทรนด์ในโลกของการลงทุน เสริมสร้างเศรษฐกิจในพื้นที่อีกด้วย
 

         ผู้อำนวยการ อพท. ยังกล่าวอีกว่า กิจกรรมครั้งที่ ๒ ในวันนี้ (๗ มิถุนายน ๒๕๖๗) ณ จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก ด้านการออกแบบ อพท. ยังเดินหน้าสนับสนุนตามเป้าหมายในการสร้างเวทีขยายการรับรู้ประโยชน์ของความยั่งยืนในการขับเคลื่อนเมือง ให้เยาวชนคนรุ่นใหม่มาร่วมออกแบบเพื่อ “การขับเคลื่อนเมืองให้มีชีวิตสำหรับผู้คนในทศวรรษหน้า” ด้วยการเปิดโอกาสให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ในพื้นที่มาร่วมเวทีเสวนา แสดงความคิดเห็น “การสร้างสรรค์นวัตกรรมเมืองภายใต้บริบทของการส่งเสริมโอกาสของคนในพื้นที่” ซึ่งมีผู้แทนเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกในประเทศไทยเข้าร่วมถึง ๗ เมือง ได้แก่ ภูเก็ต เชียงใหม่ สุโขทัย กรุงเทพมหานคร เพชรบุรี สุพรรณบุรี และเชียงราย ตลอดจนหน่วยงานจากเมืองต่างๆ ที่สนใจขับเคลื่อนเมืองเพื่อเข้าร่วมเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก มาร่วมแลกเปลี่ยน รับรู้ถึงประโยชน์และการบริหารจัดการให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การพัฒนาพื้นที่ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างมีมาตรฐานระดับสากล สะท้อนบทบาทหน้าที่ในการเป็น“นักพัฒนาเมือง พัฒนาพื้นที่” ต่อไป
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
TOP STORIES

UNESCO ประกาศขึ้นทะเบียน “สงกรานต์ไทย” มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ

 

6 ธันวาคม 2566 เวลาประมาณ 15.00 น. (ตามเวลาประเทศไทย) ณ เมืองคาเซเน สาธารณรัฐบอตสวานา ในช่วงระหว่างการประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 18 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวแสดงความยินดีในโอกาสที่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ประกาศขึ้นทะเบียน “สงกรานต์ในประเทศไทย” (Songkran in Thailand, traditional Thai New Year festival) ให้เป็นรายการในบัญชีตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity) โดยนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญ ดังนี้ 

 

นายกรัฐมนตรีแสดงความขอบคุณในนามของรัฐบาลไทยและประชาชนชาวไทย ขอบคุณทุกภาคส่วนสำหรับการอุทิศตนและความมุ่งมั่น ทั้งจากฝ่ายประเมินผลและคณะกรรมการฯ ที่ได้คัดเลือกให้ “สงกรานต์ในประเทศไทย” อยู่ในรายการบัญชีตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ รวมไปถึงสำนักเลขาธิการสำหรับการทำงานอย่างหนักทั้งหมดที่ผ่านมา โดยสงกรานต์เป็นประเพณีในวันปีใหม่ไทย มีการเฉลิมฉลองในช่วงกลางเดือนเมษายนทั่วประเทศ เป็นประเพณีที่ได้รับการฝึกฝนและสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นโดยคนไทยและชุมชนชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นประเพณีอันงดงามและมีความหมาย สะท้อนถึงคุณค่าของความกตัญญูกตเวทีของไทยต่อบรรพบุรุษ ความเอื้ออาทรและความปรารถนาดีต่อผู้อื่น และจิตวิญญาณแห่งความสามัคคี 

 

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า กิจกรรมในช่วงประเพณีสงกรานต์ทั้งหมดถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และประกอบด้วยองค์ประกอบต่าง ๆ ของมรดกทางวัฒนธรรม โดยประเพณีสงกรานต์ที่เป็นที่รู้จัก ได้แก่ บิณฑบาต สรงน้ำพระพุทธรูป รดน้ำดำหัวผู้อาวุโสที่เคารพนับถือ ตลอดจนการแสดงละครพื้นบ้านและการแสดงที่เกี่ยวเนื่องกับตำนานสงกรานต์ ดังนั้น สงกรานต์ในประเทศไทยจึงเป็นตัวแทนของมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ สะท้อนถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ และจำเป็นต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

 

นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า รัฐบาลยินดีที่จะส่งเสริมความรู้และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับสงกรานต์ร่วมกับประชาคมระหว่างประเทศ โดยหวังว่าการหารือและทำความเข้าใจร่วมกัน จะนำไปสู่การบรรลุสันติภาพและความมั่นคงสำหรับทุกฝ่าย ซึ่งรัฐบาลยินดีต้อนรับผู้มาเยือนจากทั่วทุกมุมโลกให้มาร่วมเทศกาลและสัมผัสประสบการณ์ของประเพณีสงกรานต์ในประเทศไทย พร้อมด้วยรอยยิ้มและการต้อนรับที่อบอุ่น

อนึ่ง “สงกรานต์ในประเทศไทย” (Songkran in Thailand, traditional Thai New Year festival) ถือเป็นรายการในบัญชีตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ลำดับที่ 4 ของประเทศไทย โดยก่อนหน้านี้ UNESCO ได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้แก่ “โขน” (Khon, masked dance drama in Thailand) ในปี 2561, “นวดไทย” (Nuad Thai, Traditional Thai Massage) ในปี 2562 และ “โนรา” ของภาคใต้ (Nora, Dance Drama in Southern Thailand) ในปี 2564 โดยการประชุมฯ ครั้งนี้ มีประเทศต่าง ๆ เสนอขึ้นทะเบียนรายการตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมฯ ทั้งสิ้น 45 รายการ ตามอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ค.ศ. 2003 เพื่อสงวนรักษาแนวปฏิบัติการแสดงออกความรู้และทักษะที่ได้รับการยอมรับของชุมชนหรือกลุ่มคน โดยต้องการสร้างความเคารพและสร้างความตระหนักตั้งแต่ในระดับท้องถิ่นจนถึงสากล และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในการสงวนรักษา ซึ่งมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมฯ สามารถอยู่ในรูปแบบการแสดงออกทางวาจาและภาษา การแสดงศิลปะ แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีทางศาสนา เทศกาลเฉลิมฉลอง และงานฝีมือ

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : UNESCO

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
CULTURE

เชียงราย ส่งเสริมการออกแบบระดับนานาชาติ ร่วมเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก

วันที่ 6-7 มิถุนายน 2566 อพท. ร่วมกับมหาวิทยาลัยพะเยา จัดกิจกรรมส่งเสริมการออกแบบระดับนานาชาติ ร่วมกับเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก ภายใต้แผนที่นำทาง Roadmap เมืองเชียงรายสู่เมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566
 
วันที่ 6 มิถุนายน 2566 ณ ห้องประชุมโรงแรมแสน อำเภอเมืองเชียงราย นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยบุคลากรสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย ร่วมพิธีเปิดกิจกรรมและรับฟังเสวนาด้านการออกแบบระดับนานาชาติ ในประเด็นเกี่ยวข้องกับการพัฒนาผู้ประกอบการ การพัฒนานวัตกรรม การออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ หรือกิจกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกด้านการออกแบบ 

โดยให้มีการร่วมแบ่งปันองค์ความรู้ ให้เกิดเป็นรูปธรรมที่สามารถนำมาสร้างผลงานด้านการออกแบบได้จริง โดยมีการเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องหรือผู้แทนสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ การบริหารจัดการแลกเปลี่ยน องค์ความรู้สร้างสรรค์สู่สากล เพื่อการพัฒนาเมือง สร้างสรรค์อย่างยั่งยืน โดยจุดเด่นของการจัดกิจกรรมในปีนี้ คือ Design Together for Chiangrai ภายใต้การนำแนวคิด “เปิดโลก หรือ The Open World ” ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการเชื่อมโยงานขับเคลื่อน UCCN กับ การจัดมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale Chiangrai 2023 ณ จังหวัดเชียงรายระหว่างวันที่ 9 ธันวาคม 2566 ถึง 30 เมษายน 2567

วันที่ 7 มิถุนายน 2566 ณ ขัวศิลปะ อำเภอเมืองเชียงราย นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย ร่วมเสวนาด้านการออกแบบระดับนานาชาติ ในประเด็น ” เปิดโลก : เมืองสร้างสรรค์สู่ความยั่งยืน” The Open World of Creative Cities towards Sustainability เปิดบทสนทนาว่าด้วยแนวทางการขับเคลื่อน พัฒนาการเป็นเมืองสร้างสรรค์ โดยวิทยากรพิเศษ จากผู้ขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ ร่วมค้นหาแรงบันดาลใจในการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ เพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาและยกระดับเชียงรายสู่การเป็นเมืองสร้างสรรค์ และมีแผนในการดำเนินการร่วมกับกลุ่มศิลปิน กลุ่มผู้หญิง กลุ่มชาติพันธุ์ และกลุ่มเยาวชนคืนถิ่น

ในการนี้ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย โดยมีนางสาวกฤษยา จันแดง ผู้อำนวยการกลุ่มกอจการพิเศษ นางสุพรรณี เตชะตน นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ และนางสาววลัยพร บุญมาก เจ้าหน้าที่มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวด้วย

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
NEWS SOCIETY & POLITICS

เสนอพระนาม “ในหลวง ร.9” ให้ยูเนสโก ประกาศยกย่อง ร่วมเฉลิมฉลองวาระ 100 ปี

เสนอพระนาม “ในหลวง ร.9” ให้ยูเนสโก ประกาศยกย่อง ร่วมเฉลิมฉลองวาระ 100 ปี

Facebook
Twitter
Email
Print

เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี (6  มิถุนายน 2566) เห็นชอบหลักการเสนอพระนามพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ให้องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization: UNESCO) ประกาศยกย่องและร่วมเฉลิมฉลอง ในวาระ 100 ปี วันพระบรมราชสมภพ ในปี 2570    โดยให้ กระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำร่างเอกสารเสนอพระนามต่อองค์การ UNESCO ต่อไป
 
กระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดประชุมหารือร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิและหน่วยงาน ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น  กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นต้น มีมติเห็นชอบการเสนอ พระนามพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ให้องค์การ UNESCO ประกาศยกย่องและร่วมเฉลิมฉลอง ในวาระ 100 ปี วันพระราชสมภพ ในปี 2570  เนื่องจากทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ อย่างล้นพ้นต่อประเทศไทย ทรงอุทิศพระองค์เพื่อปฏิบัติบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ นานัปการเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของพสกนิกร นอกจากนี้ พระราชกรณียกิจ ของพระองค์สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และการดำเนินงานขององค์การ UNESCO ทั้ง 5 ด้าน  คือ การศึกษา วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และสื่อสารมวลชน ตลอดจนมีเป้าหมายเพื่อการส่งเสริมสันติภาพ ความเท่าเทียม และการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งนานาชาติและองค์การระหว่างประเทศต่าง ๆ ให้การยอมรับในฐานะพระมหากษัตริย์นักพัฒนา โดยกระทรวงศึกษาธิการได้เตรียมการดำเนินงาน แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่
(1) ยกร่างข้อมูลเพื่อเสนอพระนามฯ ให้องค์การ UNESCO โดย จะต้องจัดส่งเอกสารการเสนอพระนามฯ ภายในปี 2567 เพื่อนำเข้าที่ประชุม คณะกรรมการบริหารขององค์การ UNESCO เพื่อพิจารณาภายในไตรมาสที่ 2 ของปี 2568 ก่อนที่ประชุมสมัยสามัญขององค์การ UNESCO พิจารณาให้ความเห็นชอบ ในเดือน พฤศจิกายน 2568
(2) เตรียมการด้านต่าง ๆ โดยได้จัดทำร่างแผนการดำเนินงานการเสนอพระนามฯ เพื่อให้การดำเนินการที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ด้วยความเรียบร้อยและสอดคล้อง ตามหลักเกณฑ์และกำหนดการขององค์การ UNESCO
 
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า  ไทยมีบุคคลสำคัญที่ได้รับการประกาศยกย่องและร่วมเฉลิมฉลอง โดยองค์การ UNESCO เช่น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวง นราธิวาสราชนครินทร์ โดยรัฐบาลรับเป็นเจ้าภาพจัดงานเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 100 ปี ซึ่งตรงกับวันประสูติ 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักนายกรัฐมนตรี

Facebook
Twitter
Email
Print
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
CULTURE

UNESCO ขึ้นทะเบียนจังหวัดเชียงใหม่ เป็นเมืองสร้างสรรค์

UNESCO ขึ้นทะเบียนจังหวัดเชียงใหม่ เป็นเมืองสร้างสรรค์

Facebook
Twitter
Email
Print

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีที่ 5 จังหวัดของประเทศไทย ได้แก่ ภูเก็ต เชียงใหม่ กรุงเทพฯ สุโขทัย และเพชรบุรี ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นเมืองสร้างสรรค์ ด้านอาหาร หัตถกรรมพื้นบ้าน และการออกแบบจากเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network : UCCN) สะท้อนการทำงานของรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก (https://en.unesco.org/creative-cities) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2547 เป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่ต่อยอดมาจากการขึ้นทะเบียนมรดกโลกขององค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization : UNESCO) หรือยูเนสโก โดยเป็นความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ผ่านนโยบายระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับนานาชาติที่เชื่อมโยงกับเมืองต่าง ๆ กว่า 300 เมืองทั่วโลก เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน ซึ่งเมืองสมาชิกจะต้องตรวจสอบความก้าวหน้าและจัดทำรายงานผลการดำเนินงานตามเกณฑ์ของโครงการทุก 4 ปี โดยแบ่งออกเป็น 7 สาขา ได้แก่ หัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (Crafts & Folk Art) การออกแบบ (Design) ภาพยนตร์ (Film) อาหาร (Gastronomy) วรรณกรรม (Literature) สื่อศิลปะ (Media Arts) และดนตรี (Music) ซึ่งปัจจุบันยูเนสโกขึ้นทะเบียน 5 จังหวัดของไทย เป็นเมืองสร้างสรรค์ในด้านต่าง ๆ ดังนี้

– จังหวัดภูเก็ต ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร เมื่อปี 2558 โดยภูเก็ตมีวัฒนธรรมการทำอาหารแบบดั้งเดิมและเป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมที่ส่งผ่านระหว่างรุ่น สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจท้องถิ่นจากอาหารได้กว่า 3.6 พันล้านเหรียญสหรัฐในแต่ละปี

– จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน เมื่อปี 2560 โดยตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา เชียงใหม่ยังคงสืบสานและสนับสนุนอุตสาหกรรมงานฝีมือ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่ถ่ายทอดมายาวนาน ได้แก่ เครื่องปั้นดินเผา เครื่องเงิน ไม้แกะสลัก การปักไหม และเครื่องเขิน โดยปัจจุบันเชียงใหม่เป็นแหล่งจ้างงานหลักของอุตสาหกรรมงานฝีมือของผู้ประกอบการถึง 159 แห่ง

– กรุงเทพมหานคร ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ เมื่อปี 2562 โดยกรุงเทพฯ มีความหลากหลายของประชากร มีการผสมผสานระหว่างสุนทรียภาพแบบดั้งเดิมและแบบใหม่ ทำให้เกิดวิวัฒนาการการออกแบบของเมือง ผ่านช่างฝีมือ ผู้ประกอบการ และชุมชนการผลิตเชิงสร้างสรรค์มีอยู่ทั่วเมือง 

– จังหวัดสุโขทัย ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน เมื่อปี 2562 โดยสุโขทัยมีมรดกทางศิลปะและหัตถกรรมดั้งเดิมอันยาวนาน และเป็นศูนย์กลางการผลิตช่างฝีมือซึ่งมีกว่า 1,300 คนที่ทำงานในชุมชน เช่น ผ้าทอ เครื่องประดับทองและเงิน เซรามิก และเครื่องสังคโลก โดยงานฝีมือดังกล่าวสะท้อนถึงภูมิปัญญาโบราณ และการยกระดับเศรษฐกิจของสุโขทัย

– จังหวัดเพชรบุรี ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร เมื่อปี 2564 โดยเพชรบุรีมีความหลากหลายทางชีวภาพที่อุดมสมบูรณ์ และระบบนิเวศ ขึ้นชื่อเรื่องวัตถุดิบคุณภาพสูง มีสูตรอาหารดั้งเดิมของชุมชน และการผสมผสานประเพณีเข้ากับการพัฒนาเศรษฐกิจสมัยใหม่ ทำให้อาหารท้องถิ่นได้รับการดัดแปลงให้แพร่หลายมากขึ้นในระดับชาติและระดับโลก 

“นายกรัฐมนตรียินดีกับผลการขึ้นทะเบียนดังกล่าว ซึ่งสะท้อนเอกลักษณ์ที่มีศักยภาพของแต่ละภูมิภาคในประเทศไทย และถือเป็นอีกความสำเร็จจากความร่วมมือตั้งแต่ระดับชุมชน ไปจนถึงภาครัฐ และภาคเอกชน ที่ต่างมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ สืบสาน พัฒนาภูมิปัญญา และวัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับจังหวัดหรือเมืองอื่น ๆ ทั้งนี้ รัฐบาลมีแนวทางในการผลักดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพิ่มขีดความสามารถให้แก่ชุมชนในประเทศ พร้อมสนับสนุนภาคสังคมให้เข้มแข็ง สร้างสรรค์พัฒนาผลงานเป็นธุรกิจ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับพื้นที่ต่อไป” นายอนุชาฯ กล่าว

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : UNESCO Creative Cities Network : UCCN

Facebook
Twitter
Email
Print
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News