Categories
AROUND CHIANG RAI TRAVEL

น่าท่องเที่ยว 9 – 15 สิงหาคม 2567 ห้ามพลาด! เมืองสร้างสรรค์เชียงราย

 

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ในฐานะหน่วยงานร่วมขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ เชียงราย ภายใต้เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network: UCCN) ร่วมจัดงาน “Chiang Rai Sustainable Design Week 2024” หรือ “เทศกาลเชียงรายเมืองออกแบบเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 2567” ซึ่งจัดเป็นครั้งที่ 3 ภายใต้แนวคิด “Chiang Rai Creature” หรือ “สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าเมือง” ระหว่างวันที่ 9 – 15 สิงหาคม 2567 ณ ศาลากลางหลังแรก จังหวัดเชียงราย และพื้นที่สร้างสรรค์ทั่วเมือง 

โดย CEA ได้ร่วมมือกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย เทศบาลเมืองเชียงราย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง นักสร้างสรรค์ และหน่วยงานเครือข่ายภาคเอกชนในจังหวัดเชียงราย สร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนในพื้นที่ พร้อมทั้งผลักดัน “เชียงราย” ในฐานะเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก ในสาขาการออกแบบ (Chiang Rai City of Design) โดยร่วมกับพันธมิตรอย่าง FabCafe, 69 องศา และ MAYDAY! จัด 3 กิจกรรมที่ส่งเสริมการใช้ความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบเพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนในพื้นที่ มุ่งผลักดันเชียงรายใน 3 มิติ ให้เป็นทั้งเมืองน่าอยู่ น่าลงทุน และน่าท่องเที่ยว  ได้แก่

1.เมืองน่าอยู่ – SMOG I ธุลีกาศ โดย CEA ร่วมกับ FabCafe กิจกรรมเสวนาและเวิร์กช็อปที่ชวนผู้สนใจมาทดสอบแนวคิดการใช้งานออกแบบเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตจังหวัดเชียงราย ที่เล็งเห็นความสำคัญในการจัดการกับปัญหาไฟป่า ต้นเหตุฝุ่น PM2.5 ในจังหวัดเชียงราย ที่ก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ ด้วยแนวคิดการใช้วัสดุเหลือจากการเกษตร (Agriculture Waste) มาออกแบบใหม่พร้อมด้วยนวัตกรรม เพื่อให้เป็นอีกหนึ่งแนวทางการลดวัสดุที่ทำให้เกิดไฟป่า และนำมาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ที่ตอบโจทย์ตลาด ช่วยสร้างรายได้ให้คนในพื้นที่ เช่น การนำเศษวัสดุมาปรับเป็นเฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น รวมทั้งสร้างการรับรู้ปัญหาเรื่องฝุ่นควัน ด้วยงานสร้างสรรค์ร่วมกับผู้ประกอบการในพื้นที่ผ่านอาหาร

2.เมืองน่าลงทุน – Chiang Rai Specialty Coffee Showcase I สล่ากาแฟ โดย CEA ร่วมกับ 69 องศา และเครือข่ายธุรกิจกาแฟ ส่งเสริมธุรกิจท้องถิ่นและโอกาสในการลงทุนของสินทรัพย์วัฒนธรรมกาแฟของเชียงราย นำเสนอโชว์เคส “กาแฟพิเศษ” ที่ผ่านกระบวนการผลิตคุณภาพสูง ตั้งแต่การเพาะปลูกจนถึงการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าและรสชาติ นำไปสู่การส่งเสริมนวัตกรรมสินค้าเกษตรมูลค่าสูง 

โดยยังคงรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมล้านนาและสมดุลธรรมชาติ ส่งเสริมความเป็นอยู่ของชาวเชียงราย และพิเศษสุด! พบกับเสวนาหัวข้อ “กาแฟไทย ก้าวอย่างไรให้ยั่งยืน” ในวันที่ 9 สิงหาคม เวลา 13.00 – 15.30 น. และ “ออกแบบอนาคตกาแฟเชียงราย” ในวันที่ 12 สิงหาคม 13.00 – 15.30 น. โดยกลุ่มคนรักกาแฟเชียงราย นอกจากนี้ยังมีเวิร์กช็อปกาแฟฟรี ทั้งการเลือกเมล็ด การชิม และการชง พร้อมสนุกไปกับดนตรีจากโบ๊ทแฮนด์แพน มิวสิคเจอร์นี่ โดย จุ๋ย จุ๋ยส์ และอะคูสติกแจ๊ส ที่จะมาร่วมสร้างความบันเทิง เพิ่มอรรถรสให้ Coffe Lover ได้ฟินกับโลกของกาแฟมากยิ่งขึ้น 

3. เมืองน่าเที่ยว – Chiang Rai MOVE I วน “เวียง” เจียงฮาย โดย CEA ร่วมกับ MAYDAY! องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย เทศบาลเมืองเชียงราย และสถาบันการศึกษาในจังหวัดเชียงราย เปิดโอกาสให้นักออกแบบรุ่นใหม่ร่วมคิดค้นระบบขนส่งสาธารณะที่ช่วยลดมลพิษ เพื่อการท่องเที่ยวและพัฒนาเมือง ช่วยเพิ่มทางเลือกในการเดินทางและกระตุ้นการเข้าถึงธุรกิจรายย่อยในย่าน ซึ่งจะช่วยสร้างแรงกระเพื่อมด้านเศรษฐกิจในพื้นที่ โดยเป็นการจัดแสดงผลงานต่าง ๆ จากกิจกรรมทดสอบแนวคิดระบบการเดินทางสาธารณะของนักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ (Academic Program) ดันเชียงรายให้เป็นเมืองที่ผู้คนและนักท่องเที่ยวสามารถ MOVE ไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ได้สะดวกยิ่งขึ้น 

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีกิจกรรมสร้างสรรค์ต่าง ๆ เช่น นิทรรศการผลงานออกแบบ (Showcase & Exhibition) ตลาดสินค้าสร้างสรรค์ (Design Market) ที่รวมงานสินค้าดีไซน์ท้องถิ่นสอดคล้องชีวิตยั่งยืน ในรูปแบบ Green Market – พืชและสวน และ Local Spa – นวดเพื่อสุขภาพ รวมถึงการแสดงดนตรี การเสวนาและเวิร์กช็อปที่จะสร้างแรงบันดาลใจตลอดงาน

มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งออกแบบเมืองเชียงรายให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ น่าลงทุน และน่าท่องเที่ยว ผ่านการนำเสนอผลงานจาก CEA ใน “Chiang Rai Sustainable Design Week 2024” หรือ “เทศกาลเชียงรายเมืองออกแบบเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 2567” ในวันที่ 9 – 15 สิงหาคม 2567 เวลา 13.00 – 21.00 น. ณ ศาลากลางหลังแรก จังหวัดเชียงราย 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : Chiang Rai Sustainable Design Week

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

อบจ.เชียงราย ลงนาม MOU จัดตั้งศูนย์ใหม่ “TCDC Chiangrai”

 
เมื่อวันพุธที่ 26 มิถุนายน 2567 ณ Creative Space ชั้น 5 TCDC สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อาคารไปรษณีย์กลาง ถนนเจริญกรุง กรุงเทพฯ นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยนางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายก อบจ.เชียงราย ร่วมลงนาม MOU จัดตั้งศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบแห่งใหม่ (NEW TCDC) เพื่อร่วมกันพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้และแหล่งข้อมูลด้านการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ สำหรับประชาชน เยาวชน ผู้ประกอบการ และชุมชนในท้องถิ่น รวมทั้งการต่อยอดคุณค่าทรัพย์สินทางวัฒนธรรมที่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนได้อย่างยั่งยืน พร้อมเยี่ยมชมการจัดแสดงนิทรรศการภายใน TCDC แห่งใหม่ 
 
 
โดยมีนายฐิติวัชร ไลศิริพันธุ์ ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม สำนักการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม อบจ.เชียงราย ร่วมให้เกียรติในการลงนามฯ ครั้งนี้ด้วย โดยภายในงานฯ ดร.อรรชกา สีบุญเรือง ประธานกรรมการสํานักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นผู้กล่าวต้อนรับและกล่าววัตถุประสงค์ของการจัดงาน และนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กล่าวเปิดงาน “นโยบายการสร้างความร่วมมือกับภูมิภาคเพื่อพัฒนาทุนวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์สู่ Soft Power”
 
 
การจัดทำบันทึกความเข้าใจความร่วมมือในโครงการจัดตั้งศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบส่วนภูมิภาค ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างแหล่งเรียนรู้ด้านการออกแบบที่มีส่วนประกอบทางด้านพื้นที่ให้บริการทรัพยากรสารสนเทศการจัดกิจกรรมในด้านต่างๆเพื่ออํานวยความสะดวกแก่ประชาชนให้มีโอกาสเข้าถึงองค์ความรู้และการพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นใหม่และนักสร้างสรรค์ให้สามารถต่อยอดทางความคิดสร้างสรรค์ในการทําธุรกิจต่อไปได้เพื่อเป็นการสำรวจศักยภาพสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมต่อยอดสินค้าและบริการเพื่อสนับสนุนการสร้าง Soft Power ให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล เพื่อพัฒนาทักษะความรู้ และข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาสินค้าและบริการในอนาคต 
 
 
เพื่อบ่มเพาะผู้ประกอบการท้องถิ่นลดต้นทุนในการพัฒนาสินค้าและบริการให้ตรงกับความต้องการของตลาดและผู้บริโภค เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมบนรากฐานการใช้ความคิดสร้างสรรค์ตามนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) โดยให้หน่วยงานหรืองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนแนวนโยบายพื้นฐานของรัฐบาลและเป็นการสนับสนุนภารกิจหลักของสํานักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) อีกทางหนึ่ง เพิ่มพื้นที่การเรียนรู้ และแหล่งข้อมูลด้านการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ สำหรับประชาชน เยาวชน ผู้ประกอบการ และชุมชนในท้องถิ่น เพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันทางธุรกิจในระดับประเทศ พัฒนาการเรียนการสอนด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้แก่สถาบันการศึกษาในพื้นที่ ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในจังหวัดเชียงราย กระตุ้นเศรษฐกิจระดับประเทศ
 
 
ทั้งนี้ จังหวัดเชียงราย อบจ.เชียงราย และภาคีเครือข่าย ตั้งเป้า New TCDC @Chiang Rai แห่งนี้จะเป็นพื้นที่ต่อยอดนวัตกรรมจากความรู้ท้องถิ่น สานสร้างผู้ประกอบการธุรกิจสร้างสรรค์ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเชียงรายเป็นขุมพลังขับเคลื่อนเชียงรายเมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบของ UNESCO ที่จังหวัดเชียงรายได้เข้าร่วมเป็นเครือข่ายสมาชิก เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 พร้อมรองรับการจัดกิจกรรมด้านการออกแบบในอนาคตต่อไป
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : อบจ.เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
TOP STORIES

UNESCO ประกาศขึ้นทะเบียน “สงกรานต์ไทย” มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ

 

6 ธันวาคม 2566 เวลาประมาณ 15.00 น. (ตามเวลาประเทศไทย) ณ เมืองคาเซเน สาธารณรัฐบอตสวานา ในช่วงระหว่างการประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 18 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวแสดงความยินดีในโอกาสที่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ประกาศขึ้นทะเบียน “สงกรานต์ในประเทศไทย” (Songkran in Thailand, traditional Thai New Year festival) ให้เป็นรายการในบัญชีตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity) โดยนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญ ดังนี้ 

 

นายกรัฐมนตรีแสดงความขอบคุณในนามของรัฐบาลไทยและประชาชนชาวไทย ขอบคุณทุกภาคส่วนสำหรับการอุทิศตนและความมุ่งมั่น ทั้งจากฝ่ายประเมินผลและคณะกรรมการฯ ที่ได้คัดเลือกให้ “สงกรานต์ในประเทศไทย” อยู่ในรายการบัญชีตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ รวมไปถึงสำนักเลขาธิการสำหรับการทำงานอย่างหนักทั้งหมดที่ผ่านมา โดยสงกรานต์เป็นประเพณีในวันปีใหม่ไทย มีการเฉลิมฉลองในช่วงกลางเดือนเมษายนทั่วประเทศ เป็นประเพณีที่ได้รับการฝึกฝนและสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นโดยคนไทยและชุมชนชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นประเพณีอันงดงามและมีความหมาย สะท้อนถึงคุณค่าของความกตัญญูกตเวทีของไทยต่อบรรพบุรุษ ความเอื้ออาทรและความปรารถนาดีต่อผู้อื่น และจิตวิญญาณแห่งความสามัคคี 

 

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า กิจกรรมในช่วงประเพณีสงกรานต์ทั้งหมดถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และประกอบด้วยองค์ประกอบต่าง ๆ ของมรดกทางวัฒนธรรม โดยประเพณีสงกรานต์ที่เป็นที่รู้จัก ได้แก่ บิณฑบาต สรงน้ำพระพุทธรูป รดน้ำดำหัวผู้อาวุโสที่เคารพนับถือ ตลอดจนการแสดงละครพื้นบ้านและการแสดงที่เกี่ยวเนื่องกับตำนานสงกรานต์ ดังนั้น สงกรานต์ในประเทศไทยจึงเป็นตัวแทนของมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ สะท้อนถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ และจำเป็นต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

 

นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า รัฐบาลยินดีที่จะส่งเสริมความรู้และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับสงกรานต์ร่วมกับประชาคมระหว่างประเทศ โดยหวังว่าการหารือและทำความเข้าใจร่วมกัน จะนำไปสู่การบรรลุสันติภาพและความมั่นคงสำหรับทุกฝ่าย ซึ่งรัฐบาลยินดีต้อนรับผู้มาเยือนจากทั่วทุกมุมโลกให้มาร่วมเทศกาลและสัมผัสประสบการณ์ของประเพณีสงกรานต์ในประเทศไทย พร้อมด้วยรอยยิ้มและการต้อนรับที่อบอุ่น

อนึ่ง “สงกรานต์ในประเทศไทย” (Songkran in Thailand, traditional Thai New Year festival) ถือเป็นรายการในบัญชีตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ลำดับที่ 4 ของประเทศไทย โดยก่อนหน้านี้ UNESCO ได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้แก่ “โขน” (Khon, masked dance drama in Thailand) ในปี 2561, “นวดไทย” (Nuad Thai, Traditional Thai Massage) ในปี 2562 และ “โนรา” ของภาคใต้ (Nora, Dance Drama in Southern Thailand) ในปี 2564 โดยการประชุมฯ ครั้งนี้ มีประเทศต่าง ๆ เสนอขึ้นทะเบียนรายการตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมฯ ทั้งสิ้น 45 รายการ ตามอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ค.ศ. 2003 เพื่อสงวนรักษาแนวปฏิบัติการแสดงออกความรู้และทักษะที่ได้รับการยอมรับของชุมชนหรือกลุ่มคน โดยต้องการสร้างความเคารพและสร้างความตระหนักตั้งแต่ในระดับท้องถิ่นจนถึงสากล และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในการสงวนรักษา ซึ่งมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมฯ สามารถอยู่ในรูปแบบการแสดงออกทางวาจาและภาษา การแสดงศิลปะ แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีทางศาสนา เทศกาลเฉลิมฉลอง และงานฝีมือ

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : UNESCO

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI VIDEO WORLD PULSE

(มีคลิป) ยูเนสโกประกาศรับรองเชียงรายเมืองสร้างสรรค์ของโลก

 

วันที่ 14 พฤศจิกายน 2566)นางยุถิกา อิศรางกูล ณ อยุธยา รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วย นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) (อพท.) ร่วมกันแถลงข่าวและแสดงความยินดีกับจังหวัดเชียงรายที่ได้รับการคัดเลือกเป็นเครือข่ายสร้างสรรค์ UNESCO ที่ห้องประชุมธรรมปัญญา องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหาร อบจ.เชียงราย ภาคเอกชน สื่อมวลชน ร่วมรับฟังการแถลงข่าวจำนวนมาก เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้การประกาศรับรองจังหวัดเชียงรายเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก ด้านการออกแบบ

 

นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า จังหวัดเชียงราย นับเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ มีอัตลักษณ์โดดเด่นในด้านสร้างสรรค์ที่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การเป็นเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกด้านการออกแบบ จึงมีการผลักดันให้เชียงราย เป็นเมืองแห่งการออกแบบ (City of Design) เนื่องจากเชียงรายมีทรัพยากรการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมความหลากหลายทางชีวภาพ และอัตลักษณ์ท้องถิ่น ที่มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง มีศิลปินล้านนาจำนวนมาก มีการสร้างสรรค์ทางศิลปะที่สืบทอดกันมาทั้งจิตรกรรม ประติมากรรม และสถาปัตยกรรมที่บ่งบอกถึงภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่นเมืองเชียงราย สามารถใช้การออกแบบการบริการ Sevice Design มาเป็นจุดแข็ง เช่น กลุ่มสร้างสรรค์ต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่มศิลปิน กลุ่มนักสร้างสรรค์ กลุ่มสมาร์ทฟาร์มเมอร์ เมืองเชียงรายเมืองแห่งวัฒนธรรมล้านนาที่มีเอกลักษณ์ และอัตลักษ์ณ์ที่โดดเด่น สามารถผลักดันเปลี่ยนแปลงเมืองเชียงรายด้วยการสร้างสรรค์ การออกแบบ การบริการ และความมีอัธยาศัยดีความสามัคคีกัน 
 
 
 
 

ส่งผลให้เกิดแนวคิดความสร้างสรรค์ พัฒนา ต่อยอดสู่เมืองสร้างสรรค์ได้ในอนาคต อันเป็นการสนับสนุน และยกระดับความสามารถด้านการท่องเที่ยวแก่จังหวัดเชียงราย เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชนอย่างแท้จริงและยั่งยืน การเสริมสร้างการรับรู้ศักยภาพของเมืองแก่ประชาชน และผู้มีส่วนได้ ส่วนเสียในพื้นที่ จึงก่อให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาและบูรณาการร่วมกันเพื่อพัฒนาและสร้างสรรค์เมืองในด้านนั้น ๆ

รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวอีกว่า สิ่งเหล่านี้ต่างสนับสนุนการพัฒนาเมืองให้จังหวัดเชียงรายขับเคลื่อนไปสู่การเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์กรการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) และเพื่อขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ..2561-2580) เมืองสร้างสรรค์ ด้านการออกแบบ การที่เป็นการออกแบบการบริการของเชียงราย มีเป้าหมายเพื่อใช้เป็นกลยุทธ์ของเมืองในการรักษาสิ่งแวดล้อม และลดความยากจน เพื่อก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง ความเท่าเทียมกัน และการพัฒนาเมือง สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) การขับเคลื่อน “เมืองเชียงราย” สู่การเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกด้านการออกแบบ จำเป็นจะต้องดำเนินกิจกรรมตามแผนที่นำทาง (Roadmap) ของเมืองเชียงราย 

สู่การเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกด้านการออกแบบ ให้เกิดเป็นรูปธรรมและสอดคล้องกับการสนับสนุนการพัฒนาเมืองในพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของ อพท. ตามพระราชกฤษฎีกา และเมืองในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวโดยเน้นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา ประชาสังคม รวมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ การพิจารณาถึงผลตอบรับและแรงจูงใจต้านเศรษฐกิจการท่องเที่ยวเพื่อความยั่งยืน ใช้กลไกการทำงานโดยการดึงชุมชนที่มีศักยภาพสร้างเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงการท่องเที่ยว สร้างความเข้าใจให้ทุกฝ่ายให้เห็นถึงความสำคัญของประโยชน์ที่จะได้รับจากการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานของเมืองในครั้งนี้ ตลอดจน การถ่ายทอดองค์ความรู้ทั้งด้านพัฒนากิจกรรมสร้างสรรค์ และเส้นทางการท่องเที่ยว การบริการให้มีมาตรฐาน 

 

การพัฒนานักสื่อความหมาย การพัฒนาผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวที่นำเอาอัตลักษณ์ประจำถิ่นมาพัฒนาเป็นสินค้าที่มีความโดดเด่น สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคที่สามารถเชื่อมโยงกับชุมชนใกล้เคียงเพื่อให้เกิดการกระจายรายได้ในท้องถิ่นได้อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการเสนอชื่อจังหวัดเชียงรายสมัครเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของ UNESCO.ด้วยแนวคิด “เชียงรายวิถี กินอยู่ รู้แบ่งปันสู่ความยั่งยืน” แม้การเสนอชื่อในครั้งแรกยังไม่สามารถนำพาจังหวัดเชียงรายสู่การเป็นเมืองเครือข่ายได้แต่ด้วยความมุ่งมั่นและความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ องค์การบริการส่วนจังหวัดเชียงราย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม รวมถึง สถาบันการศึกษา และศาสนา ในพื้นที่ร่วมกันขับเคลื่อนเมืองด้วยแนวคิดของเมืองสร้างสรรค์ สร้าง Creative.Space / Creative.Event ระดับนานาชาติ สร้างสินทรัพย์ทางวัฒนธรรม สู่การออกแบบเพื่อสร้างสมดุล ระหว่างธรรมชาติและวัฒนธรรมปรับประยุกต์ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาเมือง 

 

เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต เด็ก เยาวชนและประชาชนชาวเชียงรายอย่างยั่งยืน จนเป็นที่ประจักษ์ในระดับสากล และเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 องค์การยูเนสโกได้ประกาศรับรอง 55 เมืองทั่วโลก เข้าร่วมเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก ซึ่งรวมถึงจังหวัดเชียงรายด้วย บัดนี้ จังหวัดเชียงราย พร้อมแล้วที่จะเป็นหมุดหมายใหม่ของนักสร้างสรรค์ระดับนานาชาติ กับการได้รับการรับรองจากยูเนสโก ยกจังหวัดเชียงราย เป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกด้านการออกแบบ Chiang Rai Creative City of Design
 
 
ตราสัญลักษณ์เชียงรายเมืองสร้างสรรค์ เมืองแห่งความสมดุระหว่างธรรมชาติและวัฒนธรรม เพื่อขับเคลื่อนสู่เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก (UCCN) พบกันที่ไหนทักทายกัน
 
มีชื่อว่า “วัฒนธรรมชาติ” หรือ
อ่านว่า “วัด-ทะ-นะ-ทำ-มะ-ชาด”
ออกแบบโดย นายวีระพงษ์ อมรสิน
 
ที่สื่อแสดงถึงความสมดุลแห่งความมั่งคั่งทางธรรมชาติ และวัฒนธรรม เป็นต้นทุนสร้างสรรค์ ที่จะขับเคลื่อนเชียงราย
สู่เมืองแห่งการออกแบบที่ยั่งยืน ทั้งนี้ การออกแบบได้ประกอบไปด้วย 3 ส่วน ได้แก่ ธรรมชาติ วัฒนธรรม และธรรม ดังนี้
ส่วนที่ 1 ธรรมชาติ เชียงรายเป็นเมืองที่ “รายรอบด้วยขุนเขาและสายน้ำ” ประกอบไปด้วย
 
ต้นทุนแห่งธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์
ต้นน้ำแห่งกายภาพหัวเมืองเหนือของประเทศ
ต้นกำเนิดแห่งวิถีชีวิตและภูมิปัญญาแห่งชาติพันธุ์
 
สู่การสร้างคุณค่าและมูลค่าจากผลิตผลแห่งการสร้างสรรค์ รวมถึงแรงบันดาลใจแห่งศิลปวัฒนธรรม
ส่วนที่ 2 วัฒนธรรม เชียงรายเป็นเมืองที่ “รายล้อมด้วยผู้คนและศิลปะ” ประกอบไปด้วย
 
– ลวดลายแห่งเชียงราย อัตลักษณ์ใหม่จากศิลปะล้านนาร่วมสมัย ฝีมือจากการรังสรรค์ของศิลปินแห่งชาติ ผู้เป็นตัวแทนแห่งจิตวิญญาณและสุนทรียะทางศิลปะ อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ และอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ที่เป็นต้นแบบของแรงบันดาลใจให้กับนักสร้างสรรค์ จนถูกขนานเชียงรายว่าเป็น “เมืองแห่งศิลปิน” ที่มากที่สุดในประเทศ เมืองแห่งศิลปะและศิลปินที่มากมาย
 
– ลายล้านนาเชียงแสน ตัวแทนแห่งประวัติศาสตร์และความหลากหลายทางชาติพันธ์ุที่มาพร้อมกับศิลปวัฒนธรรมเฉพาะตัว
– ตุงที่เชื่อมโยงถึงโครงการดอยตุง ตัวแทนของแนวคิดในการปรับตัวและการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีและยั่งยืน
 
หอคำไร่แม่ฟ้าหลวง สถาปัตยกรรมล้านนาประยุกต์ ตัวแทนของความงดงามที่เรียบง่ายความกลมกลืนระหว่างศิลปวัฒนธรรมกับธรรมชาติ และการใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าจากบ้านไม้เก่าของการก่อสร้าง ไร่แม่ฟ้าหลวง ยังเป็นหนึ่งในคลื่นศิลปะที่ผลักดันเชียงรายสู่เมืองออกแบบ เพราะเป็นบ้านของศิลปินนักสร้างสรรค์ ที่พร้อมบริการการออกแบบเพื่อสังคม
 
– อาคารลดทอน หรือ วัตถุ Simplified ตัวแทนของการเปลี่ยนแปลงบนต้นทุนเดิม สะท้อนความเป็น “นีโอล้านนา” และความร่วมสมัยบนพื้นที่แห่งโอกาสและความท้าท้ายของคนรุ่นใหม่ ที่จะมาร่วมขับเคลื่อนพลังและความสามารถให้เป็นเมืองแห่งการออกแบบที่ยั่งยืน
 
ส่วนที่ 3 ธรรม เชียงรายเป็นเมืองที่ “รายเรียงพื้นที่แห่งศาสนาและประวัติศาสตร์” ด้วยความศรัทธาแห่งวิถีพุทธสู่การเป็นศาสนาประจำจังหวัดก่อเกิดงาน “พุทธศิลป์” หลายแขนงที่สานต่อจากอดีตของเมือง
ที่มั่งคั่งด้วย “อารยธรรม”
 
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI WORLD PULSE

UNESCO ประกาศเชียงราย เป็นเมืองระดับโลกปี 2566

 

เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 ทางเพจเฟสบุ๊ค Dasta Thailand แสดงความยินดี โดยนาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท.ขอแสดงความยินดี กับจังหวัดเชียงราย และจังหวัดสุพรรณบุรี ที่ได้รับการยกย่องจากยูเนสโก ให้เป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ในระดับโลก (UNESCO Creative Cities Network – UCCN) โดยเชียงรายเป็นเมืองสร้างสรรค์ ด้านการออกแบบ (City of Design) และจังหวัดสุพรรณบุรี ด้านดนตรี (City of Music) 

ซึ่งทางเว็บไซต์ UNESCO ประกาศ 55 เมืองใหม่ ที่เข้าร่วมเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของ UNESCO ถือเอาวันที่ 31 ตุลาคม เป็นวันเมืองโลก จากสหประชาชาติได้กำหนดวันเอาไว้ประกาศยืนยันว่าประเทศไทย ติด 2 จังหวัดคือ จังหวัดเชียงราย และจังหวัดสุพรรณบุรี  เป็น 2 ใน 55 เมืองจากทั่วโลกที่เข้าร่วมเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของ UNESCO (UCCN) ตามที่ได้รับการแต่งตั้งจากโอเดรย์ อาซูเลย์ (Audrey Azoulay) ผู้อำนวยการใหญ่ของ UNESCO เมืองใหม่ๆ ได้รับการยอมรับถึงความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าในการควบคุมวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การพัฒนา และการแสดงแนวทางปฏิบัติที่เป็นนวัตกรรมในการวางผังเมืองที่ยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง ด้วยการเพิ่มล่าสุด ทำให้ปัจจุบันเครือข่ายครอบคลุม 350 เมืองในกว่า 100 ประเทศ 

ซึ่งองค์การยูเนสโกเปิดรับสมัครสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก (UNESCO Creative City Network – UCCN) ประจำปี พ.ศ. 2566 โดยมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมให้เมืองต่างๆ มีความร่วมมือระหว่างกันทั้งในระดับนานาชาติ ระดับภูมิภาค และระดับชุมชนท้องถิ่น เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ ทรัพยากรธรรมชาติที่มีในแต่ละพื้นที่ รวมถึงเปิดโอกาสให้มีการเสนอความหลากหลายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของเมืองใน 7 สาขา ได้แก่ 1) หัตถกรรมพื้นบ้าน 2) การออกแบบ 3) ภาพยนตร์ 4) อาหาร 5) วรรณกรรม 6) สื่อศิลปะ และ 7) ดนตรี โดยมีเป้าหมายในการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องด้านวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ ตามเป้าหมายวาระของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ปี ค.ศ. 2030 และปฏิญญา Mondiacult 2022

นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. กล่าวว่า คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก ได้มีมติเห็นชอบให้เสนอจังหวัดเชียงราย เป็นตัวแทนประเทศไทยยื่นเอกสารสมัครเข้าร่วมเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก ประจำปี 2566 โดยจังหวัดเชียงราย เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ (City of Design)  ซึ่งจะทำให้เมืองได้เป็นที่รู้จักของสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์จากประเทศทั่วโลก เกิดการเดินทางแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน และก่อให้เกิดการเป็นที่รู้จักของกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ

จังหวัดเชียงราย จะดำเนินการต่อยอดจากแผนงานเดิมในปี 2564 ซึ่ง อพท. ได้ร่วมจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนความรู้ทั้งในระดับท้องถิ่นและนานาชาติตามแผนขับเคลื่อนเชียงรายเป็นเมืองแห่งการออกแบบ เพราะเป็นเมืองที่มีอัตลักษณ์โดดเด่น มีศิลปินล้านนาจำนวนมาก มีการสร้างสรรค์ทางศิลปะที่สืบทอดกันมาทั้งจิตรกรรม ประติมากรรมและสถาปัตยกรรม ที่บ่งบอกถึงภูมิปัญญาและวัฒนธรรมทางท้องถิ่น และเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม มายาวนาน

เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก คืออะไร เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ หรือ Creative Cities Network เป็นอีกหนึ่งโครงการของยูเนสโก ที่ดำเนินงานควบคู่กับการประกาศแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติและประวัติศาสตร์ โดยเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2547 เปิดรับคัดเลือกทุก ๆ 4 ปี เพื่อส่งเสริมการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industries) สู่ความร่วมมือในระดับนานาชาติของภาคประชาคม ประชาชน เอกชนและสาธารณะ

และในวันที่ 31 ตุลาคม 2023 สมาชิกใหม่ของเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก โดยเรียงตามตัวอักษรนำหน้าภาษาอังกฤษ ไม่ได้เป็นการให้ลำดับผู้ชนะ ได้แก่:

  1. Asaba – Film
  2. Ashgabat – Design
  3. Banja Luka – Music
  4. Battambang – Gastronomy
  5. Bissau – Music
  6. Bolzano – Music
  7. Bremen – Literature
  8. Buffalo City – Literature
  9. Bukhara – Crafts and Folk Art
  10. Bydgoszcz – Music
  11. Caen – Media Arts
  12. Caracas – Music
  13. Casablanca – Media Arts
  14. Castelo Branco – Crafts and Folk Art
  15. Cetinje – Design
  16. Chaozhou – Gastronomy
  17. Chiang Rai – Design

  18. Chongqing – Design
  19. Concepción – Music
  20. Da Lat – Music
  21. Fribourg – Gastronomy
  22. Gangneung – Gastronomy
  23. Granada[1] – Design
  24. Gwalior – Music
  25. Herakleion – Gastronomy
  26. Hobart – Literature
  27. Hoi An – Crafts and Folk Art
  28. Iasi – Literature
  29. Iloilo City – Gastronomy
  30. Ipoh – Music
  31. Kathmandu – Film
  32. Kozhikode – Literature
  33. Kutaisi – Literature
  34. Mexicali – Music
  35. Montecristi – Crafts and Folk Art
  36. Montreux – Music
  37. Nkongsamba – Gastronomy
  38. Novi Sad – Media Arts
  39. Okayama – Literature
  40. Ouarzazate – Film
  41. Oulu – Media Arts
  42. Penedo – Film
  43. Rio de Janeiro – Literature
  44. Şanlıurfa – Music
  45. Suphanburi – Music
  46. Surakarta – Crafts and Folk Art
  47. Taif – Literature
  48. Toulouse – Music
  49. Tukums – Literature
  50. Ulaanbaatar – Crafts and Folk Art
  51. Umngeni Howick – Crafts and Folk Art
  52. Valencia – Design
  53. Varaždin – Music
  54. Veliky Novgorod – Music
  55. Vicente Lopez – Film
  56.  

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
CULTURE

UNESCO ขึ้นทะเบียนจังหวัดเชียงใหม่ เป็นเมืองสร้างสรรค์

UNESCO ขึ้นทะเบียนจังหวัดเชียงใหม่ เป็นเมืองสร้างสรรค์

Facebook
Twitter
Email
Print

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีที่ 5 จังหวัดของประเทศไทย ได้แก่ ภูเก็ต เชียงใหม่ กรุงเทพฯ สุโขทัย และเพชรบุรี ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นเมืองสร้างสรรค์ ด้านอาหาร หัตถกรรมพื้นบ้าน และการออกแบบจากเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network : UCCN) สะท้อนการทำงานของรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก (https://en.unesco.org/creative-cities) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2547 เป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่ต่อยอดมาจากการขึ้นทะเบียนมรดกโลกขององค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization : UNESCO) หรือยูเนสโก โดยเป็นความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ผ่านนโยบายระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับนานาชาติที่เชื่อมโยงกับเมืองต่าง ๆ กว่า 300 เมืองทั่วโลก เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน ซึ่งเมืองสมาชิกจะต้องตรวจสอบความก้าวหน้าและจัดทำรายงานผลการดำเนินงานตามเกณฑ์ของโครงการทุก 4 ปี โดยแบ่งออกเป็น 7 สาขา ได้แก่ หัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (Crafts & Folk Art) การออกแบบ (Design) ภาพยนตร์ (Film) อาหาร (Gastronomy) วรรณกรรม (Literature) สื่อศิลปะ (Media Arts) และดนตรี (Music) ซึ่งปัจจุบันยูเนสโกขึ้นทะเบียน 5 จังหวัดของไทย เป็นเมืองสร้างสรรค์ในด้านต่าง ๆ ดังนี้

– จังหวัดภูเก็ต ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร เมื่อปี 2558 โดยภูเก็ตมีวัฒนธรรมการทำอาหารแบบดั้งเดิมและเป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมที่ส่งผ่านระหว่างรุ่น สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจท้องถิ่นจากอาหารได้กว่า 3.6 พันล้านเหรียญสหรัฐในแต่ละปี

– จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน เมื่อปี 2560 โดยตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา เชียงใหม่ยังคงสืบสานและสนับสนุนอุตสาหกรรมงานฝีมือ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่ถ่ายทอดมายาวนาน ได้แก่ เครื่องปั้นดินเผา เครื่องเงิน ไม้แกะสลัก การปักไหม และเครื่องเขิน โดยปัจจุบันเชียงใหม่เป็นแหล่งจ้างงานหลักของอุตสาหกรรมงานฝีมือของผู้ประกอบการถึง 159 แห่ง

– กรุงเทพมหานคร ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ เมื่อปี 2562 โดยกรุงเทพฯ มีความหลากหลายของประชากร มีการผสมผสานระหว่างสุนทรียภาพแบบดั้งเดิมและแบบใหม่ ทำให้เกิดวิวัฒนาการการออกแบบของเมือง ผ่านช่างฝีมือ ผู้ประกอบการ และชุมชนการผลิตเชิงสร้างสรรค์มีอยู่ทั่วเมือง 

– จังหวัดสุโขทัย ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน เมื่อปี 2562 โดยสุโขทัยมีมรดกทางศิลปะและหัตถกรรมดั้งเดิมอันยาวนาน และเป็นศูนย์กลางการผลิตช่างฝีมือซึ่งมีกว่า 1,300 คนที่ทำงานในชุมชน เช่น ผ้าทอ เครื่องประดับทองและเงิน เซรามิก และเครื่องสังคโลก โดยงานฝีมือดังกล่าวสะท้อนถึงภูมิปัญญาโบราณ และการยกระดับเศรษฐกิจของสุโขทัย

– จังหวัดเพชรบุรี ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร เมื่อปี 2564 โดยเพชรบุรีมีความหลากหลายทางชีวภาพที่อุดมสมบูรณ์ และระบบนิเวศ ขึ้นชื่อเรื่องวัตถุดิบคุณภาพสูง มีสูตรอาหารดั้งเดิมของชุมชน และการผสมผสานประเพณีเข้ากับการพัฒนาเศรษฐกิจสมัยใหม่ ทำให้อาหารท้องถิ่นได้รับการดัดแปลงให้แพร่หลายมากขึ้นในระดับชาติและระดับโลก 

“นายกรัฐมนตรียินดีกับผลการขึ้นทะเบียนดังกล่าว ซึ่งสะท้อนเอกลักษณ์ที่มีศักยภาพของแต่ละภูมิภาคในประเทศไทย และถือเป็นอีกความสำเร็จจากความร่วมมือตั้งแต่ระดับชุมชน ไปจนถึงภาครัฐ และภาคเอกชน ที่ต่างมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ สืบสาน พัฒนาภูมิปัญญา และวัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับจังหวัดหรือเมืองอื่น ๆ ทั้งนี้ รัฐบาลมีแนวทางในการผลักดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพิ่มขีดความสามารถให้แก่ชุมชนในประเทศ พร้อมสนับสนุนภาคสังคมให้เข้มแข็ง สร้างสรรค์พัฒนาผลงานเป็นธุรกิจ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับพื้นที่ต่อไป” นายอนุชาฯ กล่าว

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : UNESCO Creative Cities Network : UCCN

Facebook
Twitter
Email
Print
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News