Categories
FEATURED NEWS

Free Ratsadon on the Road พาฝันของเพื่อนในเรือนจำไปทั่วประเทศไทย

 

เมื่อวันพุธที่ 4 กันยายน 2567 ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน และทัมไรท์ ได้เปิดตัวแคมเปญ “Free Ratsadon on the Road x Amnesty People” มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้และส่งเสริมให้ประชาชนทั่วประเทศยืนหยัดในการปกป้องสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ  โดยการผลักดันสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน และพาฝันของเพื่อนในเรือนจำไปพบกับผู้คนทั่วประเทศไทยเพื่อไปให้ถึงวันที่ไม่มีคดีการเมือง โดยเริ่มต้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และเดินทางต่อไปที่จังหวัดขอนแก่น อุบลราชธานี และปิดท้ายที่สงขลา

เพชรรัตน์ ศักดิ์ศิริเวทย์กุล ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวถึงที่มาของการจัดกิจกรรม “FREERATSADON on the road x Amnesty People” ว่า เพื่อสร้างการรับรู้และระดมการสนับสนุนจากผู้คนทุกภูมิภาคทั่วประเทศ แคมเปญนี้จะนำทุกคนไปสัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ไม่เพียงแค่แสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและการยืนหยัดเคียงข้างเพื่อนในเรือนจำเพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นการรวมพลังของภาคประชาชนทุกคนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง ผ่านกิจกรรมต่างๆ ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ และส่งเสียงไปยังผู้มีอำนาจว่าเราไม่ยอมให้มีการคุมขังผู้คนจากการใช้สิทธิมนุษยชนอีกต่อไป 

เพชรรัตน์กล่าวเสริมว่า กิจกรรมนี้จะสามารถสร้างเครือข่ายและสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ในสังคมไทย โดยเฉพาะการเรียกร้องให้ยกเลิกข้อกล่าวหาและปล่อยตัวนักกิจกรรมทางการเมืองโดยทันทีและไม่มีเงื่อนไข รวมถึงการผลักดันร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมประชาชนเพื่อยุติการดำเนินคดีทางการเมืองต่อประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ

 

“ปัจจุบันพบว่ามีคนที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองอยู่ทั่วประเทศไทย ไม่ใช่แค่เพียงในกรุงเทพมหานครที่เดียว จึงเป็นที่มาของการเดินทางไปยังจังหวัดต่างๆ เพราะหัวใจสำคัญที่ไม่น้อยไปกว่าการผลักดันร่างกฎหมายนิรโทษกรรมให้บังคับใช้ได้จริงคือการทำให้เรื่องราวของนักกิจกรรมและคนที่อยู่ในเรือนจำไม่ถูกลืมเลือนไปจากสังคม ประเด็นนี้ถือเป็นหมุดหมายสำคัญที่สุดไม่แพ้กัน แอมเนสตี้ยืนยันว่า การไม่หยุดเล่าเรื่องราวของนักกิจกรรมที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ จะช่วยเป็นสะพานเชื่อมที่สำคัญในการผลักดันให้ข้อเสนอเชิงนโยบายต่างๆ เกิดขึ้นได้จริง และหากเราช่วยกันเขียนจดหมายถึงเพื่อนที่อยู่ในเรือนจำจะเป็นการส่งสารถึงพวกเขาไม่ได้อยู่ลำพัง มีคนอีกมากมายที่ยืนหยัดยืนเคียงข้างพวกเขาผ่านแคมเปญนี้”

สำหรับแคมเปญ Free Ratsadon on the Road ในแต่ละจังหวัดมีหลากหลายกิจกรรม เช่น นิทรรศการ การเขียนจดหมายถึงเพื่อนในเรือนจำผ่านเว็บไซต์ https://freeratsadon.amnesty.or.th/ รวมทั้งเวทีเสวนาที่มีทั้งตัวแทนนักวิชาการ องค์สิทธิมนุษยชน ทนายความและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ ตลอดจนการเรียนรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน เพื่อทำให้เรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของทุกคน

ด้านพูนสุข พูนสุขเจริญ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงตัวเลขผู้ถูกคุมขังในเรือนจำจากการแสดงออกทางการเมือง หรือมีมูลเหตุเกี่ยวข้องทางการเมือง รวมทั้งสิ้นอย่างน้อย 43 คน ในจำนวนนี้มี 29 คนถูกดำเนินคดีภายใต้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งถือเป็นจำนวนเกินกว่าครึ่งของผู้ต้องขังทั้งหมด โดยข้อมูลของผู้ที่ถูกคุมขังในปัจจุบันแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ดังนี้  21 คน ถูกคุมขังระหว่างการต่อสู้คดีโดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัว อีก 2 คน เป็นเยาวชนที่ถูกควบคุมตัวในสถานพินิจฯ ตามคำสั่งศาลให้เข้ามาตรการพิเศษแทนการมีคำพิพากษา และอีก 20 คน เป็นผู้ถูกคุมขังในคดีที่ถึงที่สุดแล้ว และจะได้รับการปล่อยตัวเมื่อครบโทษตามคำพิพากษาของศาล

พูนสุขเผยถึงสถานการณ์การคุมขังและดำเนินคดีการเมืองในประเทศไทยในช่วงระหว่างปี 2563 ถึงปัจจุบันว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีสะสมไม่น้อยกว่า 1,956 คน ใน 1,302 คดี ซึ่งมีคนถูกดำเนินคดีในมาตรา 112 ถึง 273 คนในจำนวน 306 คดี สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนับเป็นช่วงที่มีการดำเนินคดีตามมาตรา 112 มากที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย 

“จากการเคลื่อนไหวทางการเมืองในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าสังคมได้ส่งเสียงเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาของมาตรา 112 อย่างต่อเนื่อง แต่กลับไม่ได้รับการตอบสนองจากผู้มีอำนาจจนปัญหาดังกล่าวทวีความรุนแรงขึ้น เพื่อแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว เครือข่ายองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมทางการเมืองกว่า 23 องค์กร จึงได้ร่วมมือกันเสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมประชาชนเพื่อยุติการดำเนินคดีที่เกิดจากความขัดแย้งทางการเมือง ร่างกฎหมายนี้มีเป้าหมายในการนิรโทษกรรมทุกคน ครอบคลุมการกระทำตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหารปี 2549 เป็นต้นมา”

“การนิรโทษกรรมเป็นเพียง ‘จุดเริ่มต้น’ ของการคลี่คลายความขัดแย้งให้สังคมของเราสามารถเดินต่อไปได้ท่ามกลางความคิดเห็นที่แตกต่าง หากไม่รวมคดีมาตรา 112 ด้วย จะเท่ากับว่าการนิรโทษกรรมครั้งนี้ไม่ได้แก้ไขหรือคลี่คลายความขัดแย้งใดๆ เลยเราหวังอย่างยิ่งว่าการออกเดินทางครั้งนี้จะสร้างเครือข่ายและสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ในสังคมไทย ในการเรียกร้องให้ยกเลิกข้อกล่าวหาและปล่อยตัวผู้ต้องขังคดีการเมืองโดยทันที ไม่มีเงื่อนไข รวมถึงการผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชนที่รวมคดีมาตรา 112 ด้วย”

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
SOCIETY & POLITICS

นักวิจัย ม.เชียงใหม่ ค้นพบ “กระดังงา” ชนิดใหม่ของโลกตั้งชื่อ “เฉลิมพระเกียรติ”

 

เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) สนับสนุนคณะผู้วิจัย เพื่อดำเนินโครงการวิจัยเรื่อง “อนุกรมวิธานและวิวัฒนาการชาติพันธุ์ของพรรณไม้วงศ์กระดังงา (Annonaceae) ในประเทศไทยที่หายากและยังไม่เป็นที่รู้จัก เพื่อการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน”

โดยการวิจัยพบพืชชนิดใหม่ของโลกในวงศ์กระดังงาจากจังหวัดสตูล ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Orophea chalermprakiat Damth., Chanthamrong & Chaowasku และคณะผู้วิจัยได้ตั้งคำระบุชนิดว่า “chalermprakiat” และตั้งชื่อไทยว่า “เฉลิมพระเกียรติ” เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ หรือ 72 พรรษา ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567

ดร.ฉัตรธิดา วิยา นักวิชาการ สังกัดองค์การสวนพฤกษศาสตร์ นายอรุณ สินบำรุง นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ สังกัดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายธานี ใจสมุทร สังกัดวิสาหกิจชุมชนกลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านหาญ และนายกิติศักดิ์ ฌานธำรง นักวิจัยอิสระ โดยการค้นพบครั้งสำคัญนี้ยังได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ Phytotaxa เล่มที่ 658 ฉบับที่ 3 หน้าที่ 296-300 เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2567 อีกด้วย

 

รองศาสตราจารย์ ดร.ธนวัฒน์ เชาวสกู สังกัดภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ต้น “เฉลิมพระเกียรติ” มีลักษณะเด่นคือ เป็นไม้ต้นขนาดเล็ก สูงได้ถึง 8 เมตร กลีบดอกมีสีครีม กลีบชั้นในประกบกัน ปลายกลีบแยกออก โคนกลีบคอดเรียว จึงเกิดช่องเปิดระหว่างกลีบ ทำให้เห็นเกสรเพศผู้และเพศเมียอย่างชัดเจน

 

พืชชนิดใหม่นี้พบขึ้นในหลุมยุบภายในถ้ำทะลุ ตำบลเขาขาว อำเภอละงู จังหวัดสตูล พื้นที่นี้เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานธรณีสตูล ซึ่งได้รับการรับรองจากองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ให้เป็นอุทยานธรณีโลกแห่งแรกของประเทศไทย

 

นอกจากนี้ “เฉลิมพระเกียรติ” ยังเป็นพืชหายาก พบเพียง 15-20 ต้น โดยทุกภาคส่วนต้องช่วยกันอนุรักษ์  ไม่ให้สูญพันธุ์ พืชชนิดนี้สามารถพัฒนาเป็นไม้ดอกไม้ประดับได้ เนื่องจากมีทรงพุ่มสวย และมีดอกรูปทรงสวยงาม นอกจากนี้ ควรมีการศึกษาพฤกษเคมีและฤทธิ์ทางชีวภาพจากต้นเฉลิมพระเกียรติ เพื่อพัฒนาต่อยอดเป็นพืชสมุนไพรต่อไป

 

สำหรับคณะผู้วิจัยที่ค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลกในครั้งนี้นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ธนวัฒน์ เชาวสกู สังกัดภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดร.อานิสรา ดำทองดี นักวิจัยหลังปริญญาเอก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บรรจง ทองสร้าง อาจารย์ ดร.สุวรรณี พรหมศิริ สังกัดคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
FEATURED NEWS

บพข. กองทุน ววน. ร่วมกับ CAMP เปิดตัว “Leisure Lanna Super App”

 

วิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี (CAMP) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดตัวแพลตฟอร์มล้านนาสร้างสรรค์ให้เป็น Soft Power สู่สากล ภายใต้ทุนวิจัยจาก บพข. สกสว. โดยกองทุน ววน. พัฒนาแอพพลิเคชั่น ใช้แนวคิด PLAY TRAVEL and EARN โดยใช้ “Leisure Lanna Super App” ต่อยอดเชื่อม TAGTHAi (ทักทาย) ด้วยแนวคิดจากการเล่มเกมมาเปลี่ยนเป็นคะแนนเพื่อแลกส่วนลดในร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ ตลอดจนร่วมมือ แอพพลิเคชั่น GOGO และ Hop and Go ของกรีนบัส โลจิสติกส์ท้องถิ่นให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่ ในเขตพื้นที่ 8 จังหวัดล้านนา

 

การพัฒนาแอปพลิเคชัน “Leisure Lanna Super App” ภายใต้โครงการ “การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างมูลค่าและคุณค่าแก่การท่องเที่ยวเชิงพักผ่อนล้านนา (Creative Leisure Lanna)” โดยมี ดร.ดนัยธัญ พงษ์พัชราธรเทพ เป็นหัวหน้าโครงการ ประยุกต์ใช้แนวคิดของ PLAY TRAVEL and EARN เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว การเดินทาง การแนะนำสถานที่ ร้านค้า ที่พักหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการนำเสนอข้อมูลเชิงการท่องเที่ยว การค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงพื้นที่ตลาด (Market Place) ให้กับสินค้ากับแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ตลอดจนสร้างเครือข่ายการท่องเที่ยวชุมชนในเขตพื้นที่ 8 จังหวัดล้านนา เตรียมจัดอบรมเชิงปฏิบัติการด้านสื่อสร้างสรรค์ (Creative Content) ทั่วประเทศไทย 4 ภูมิภาค ให้กับ SMEs และท่องเที่ยวชุมชนจำนวน 120 ราย ออกแบบกิจกรรมการ ท่องเที่ยวและนำอัตลักษณ์ชุมชนมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ได้ โดยโครงการได้ร่วมมือกับ TAGTHAi (ทักทาย) แพลตฟอร์มบริการด้านการท่องเที่ยวและผู้ประกอบการด้านการขนส่งเพื่อการท่องเที่ยวโดยเชื่อมโยงกับระบบขนส่งสาธารณะในสองระดับคือ ในเขตเมืองเชียงใหม่คือการสร้างความร่วมมือกับระบบขนส่งสาธารณะขนาดเล็ก เช่น Sharing bike เช่น GOGO และผู้ให้บริการท่องเที่ยวด้วยพาหนะขนาดเล็ก เช่น E-Tuk Tuk ของ LoMo ขณะที่เชื่อมโยงสู่แหล่ง ท่องเที่ยวเชื่อมต่อในและนอกเมืองเชียงใหม่ รวมถึงกับจังหวัดโดยรอบผ่านเครือข่ายการให้บริการของระบบขนส่งสาธารณะภาคเหนือบริษัท Green Bus เป็นต้น ทั้งนี้หากสนับสนุนให้การท่องเที่ยวเชื่อมกับระบบขนส่งสาธารณะและเครือข่ายระบบขนส่งสาธารณะขนาดเล็กในเมือง เพื่อมุ่งสู่การสร้าง “Net Zero” ทางการท่องเที่ยว

 

ในการนี้บพข. กองทุน ววน. ร่วมกับ CAMP จัดกิจกรรมเปิดตัวแพลตฟอร์มล้านนา “Leisure Lanna Super App” ในวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ.2567 ณ ห้องประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้แอปพลิเคชัน “Leisure Lanna Super App” เป็นที่รับรู้สู่สาธารณชนและขับเคลื่อนนำไปใช้เพื่อเป็นแพลตฟอร์มกลางสนับสนุนการใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างเป็นรูปธรรม ได้รับเกียรติจากนายสรศักดิ์ วจีสัตย์ รองปลัด อบจ. จังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธี และผู้แทนจาก สกสว. และ บพข. โดย ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. และประธานอนุกรรมการแผนงานท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. กล่าวแนะนำแผนงานกลุ่มท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. พร้อมทั้งจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์กางเกงข้างคุณภาพสูงเชียงใหม่ผ่านแบรนด์ 1) Thai Global Sourcing Co.,Ltd 2) Lofbaz Company Limited & Dalla Brand และ 3) Lanna Clothes Design Co.,Ltd ด้วยการถ่ายภาพนักศึกษาจีนจำนวน 30 ราย เพื่อนำไปประชาสัมพันธ์บนสื่อสังคมของชาวจีนให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ปิดท้ายด้วยการเสวนาแนวทางการใช้ประโยชน์แอปพลิเคชัน Leisure Lanna เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและ Soft Power ล้านนา โดยสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ แอปพลิเคชันทักทาย และ CAMT 

 
นายสรศักดิ์ วจีสัตย์ รองปลัด อบจ. จังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธี กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่ถือเป็นเมืองการท่องเที่ยวที่สำคัญของภาคเหนือ มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของจังหวัดที่ได้ส่งเสริมการตลาดด้านการท่องเที่ยวเชิงพักผ่อน ซึ่งแอปพลิเคชันการท่องเที่ยว Leisure Lanna จะเป็นสื่อกลางในการรวบรวมข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ของจังหวัดเชียงใหม่ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการจัดกิจกรรมในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมการตลาดการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ให้เกิดประสิทธิผล เป็นโมเดลในการใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์มในการพัฒนาศักยภาพสินค้าและบริการการท่องเที่ยวให้มีความพร้อมในการรองรับและสนับสนุนการเป็นจุดหมายปลายทางที่มีคุณภาพ    
 
 
 
ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. และประธานอนุกรรมการแผนงานท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. กล่าวว่า ในภาคของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ กองทุนส่งเสริม ววน. และสกสว. ได้มอบหมายภารกิจให้ บพข. บริหารจัดการแผนงานวิจัยการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งแบ่งออกเป็นแผนงานย่อย 2 แผนงาน  (1) แผนงานการท่องเที่ยวมูลค่าสูง ซึ่งมีกรอบการดำเนินการภายใต้แผนงานย่อย จำนวน 3 ประเด็น ได้แก่ (1.1) การท่องเที่ยวบนฐานมรดกทางธรรมชาติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (1.2) การยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (1.3) การยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ และ (2) แผนงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งมีกรอบการดำเนินการเพื่อการยกระดับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เพื่อเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เน้นการทำงานแบบแผนงานวิจัยเพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจการท่องเที่ยว สร้างรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชนและผู้ให้บริการในภาคการท่องเที่ยว มุ่งตอบเป้าหมายสำคัญ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวที่เน้นคุณค่า ความยั่งยืน เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ
 
         “ทั้งนี้แผนงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ดำเนินการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์มาอย่างต่อเนื่อง มีฐานทุนทางด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม นำ Soft Power 11 สาขา ตามนโยบายของรัฐบาลมาต่อยอดร่วมกับภูมิปัญญาเดิม โดยแผนการดำเนินงานปีพ.ศ. 2566-2570 จะเป็นการเชื่อมโยงนวัตกรรม สร้างสรรค์ธุรกิจรูปแบบใหม่ พัฒนาไปสู่การบูรณาการระหว่างอุตสาหกรรมอื่นๆและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ซึ่งแผนงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ดูแลทั้งระบบนิเวศ พัฒนาสินค้าสร้างสรรค์รูปแบบใหม่ ๆ ผ่านเทคโนโลยีและนวัตกรรมร่วมกับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์อื่น ๆ โดยผลลัพธ์จากงานวิจัยแผนงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ผ่านมา อาทิ เทศกาลยี่เป็ง การท่องเที่ยวทางรถไฟ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหาร 7 ลุ่มน้ำ มวยไทย และผ้าทอ เป็นต้น มีการบูรณาการทำงานร่วมกับผู้ประกอบการและจะดำเนินการขับเคลื่อนต่อไปเพื่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ” ผศ.สุภาวดี กล่าวเสริม
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
SOCIETY & POLITICS

เชียงใหม่-เชียงราย ติดมหาลัย มีนักศึกษามากสุดในประเทศ ปี 66

 
เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เผยข้อมูล สถิติจำนวนนักศึกษารวม ทุกชั้นปี ทุกระดับการศึกษา ที่มีสถานภาพกำลังศึกษาและรักษาสถานภาพ โดยสรุปจากข้อมูลรายบุคคลที่สถาบันอุดมศึกษาจัดส่ง มายังสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ข้อมูลปีการศึกษา 2566 ภาคการเรียนที่ 1 กำหนดการเก็บข้อมูล ณ วันที่ 10 พฤษจิกายน 2566 จากการมีจำนวนสถาบัน ที่ส่งข้อมูลให้อว. แบ่งเป็น รัฐ 83 แห่ง จัดส่งแล้ว 54 แห่ง  ยังไม่จัดส่ง 29 แห่ง  เอกชน 71 แห่ง ส่งแล้ว 56 แห่ง นอกสังกัด 18 แห่ง ส่งแล้ว 9 แห่ง
 
โดยยังมีจำนวนสถาบัน ที่ส่งข้อมูลให้อว. แบ่งเป็น รัฐ 83 แห่ง จัดส่งแล้ว 54 แห่ง เอกชน 71 แห่ง ส่งแล้ว 56 แห่ง นอกสังกัด 18 แห่ง ส่งแล้ว 9 แห่งมีรายละเอียดดังนี้ สถาบันอุดมศึกษารัฐที่ยังไม่ได้ส่งข้อมูล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,มหาวิทยาลัยขอนแก่น,มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี,มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) รัตนโกสินทร์, มทร.อีสาน,มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์,มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย,มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) จันทรเกษม,มรภ.ชัยภูมิ,มรภ.เทพสตรี,มรภ.ธนบุรี,มรภ.นครราชสีมา,มรภ.นครศรีธรรมราช,มรภ.บุรีรัมย์,มรภ.พิบูลสงคราม,มรภ.มหาสารคาม,มรภ.ร้อยเอ็ด,มรภ.วไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์,มรภ.ศรีสะเกษ,มรภ.สงขลา,มรภ.สุราษฏร์ธานี,มรภ.สุรินทร์,มรภ.อุดรธานี,มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์,มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช,มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี,สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน,สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
 
10 อันดับจำนวนนักศึกษามากสุดในสถาบันอุดมศึกษารัฐ
  1. มหาวิทยาลัยรามคำแหง มีนักศึกษารวม 336,761 คน
  2. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีนักศึกษารวม 68,562 คน
  3. มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มีนักศึกษารวม  51,360 คน
  4. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  มีนักศึกษารวม  43,082 คน
  5. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีนักศึกษารวม 42,595 คน
  6. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  มีนักศึกษารวม 38,143 คน
  7. มหาวิทยาลัยมหิดล  มีนักศึกษารวม  29,674 คน
  8. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มีนักศึกษารวม 29,410 คน
  9. มหาวิทยาลัยศิลปากร  มีนักศึกษารวม  29,402 คน
  10. มหาวิทยาลัยบูรพา มีนักศึกษารวม 27,479 คน
10 อันดับจำนวนนักศึกษามากสุดในมหาวิทยาลัยราชภัฏ
  1. มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มีนักศึกษารวม 51,360 คน
  2. มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี มีนักศึกษารวม 16,443 คน
  3. มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มีนักศึกษารวม 15,624 คน
  4. มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม มีนักศึกษารวม 12,715 คน
  5. มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มีนักศึกษารวม 10,675 คน
  6. มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร มีนักศึกษารวม 9,864 คน
  7. มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา มีนักศึกษารวม 9,684 คน
  8. มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร มีนักศึกษารวม 9,639 คน
  9. มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มีนักศึกษารวม 8,678 คน
  10. มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี มีนักศึกษารวม 7,486 คน
10 อันดับจำนวนนึกศึกษามากสุดในมหาวิทยาลัยเอกชน
  1. มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มีนักศึกษารวม 44,133 คน
  2. มหาวิทยาลัยศรีปทุม มีนักศึกษารวม  34,530 คน
  3. มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มีนักศึกษารวม  17,169 คน
  4. สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ มีนักศึกษารวม 13,925 คน
  5. มหาวิทยาลัยสยาม มีนักศึกษารวม 9,565 คน
  6. มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ มีนักศึกษารวม 8,326 คน
  7. มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต มีนักศึกษารวม 7,995 คน
  8. มหาวิทยาลัยเกริก มีนักศึกษารวม 7,843 คน
  9. มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ มีนักศึกษารวม 7,120 คน
  10. มหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต มีนักศึกษารวม  6,145 คน

สามารถติดตามรายละเอียดที่ : https://info.mhesi.go.th/homestat_std.php

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
FEATURED NEWS

ม.เชียงใหม่ ติดอันดับ 99 จาก 300 มหาวิทยาลัยดีที่สุดในเอเชีย

 

วันอาทิตย์ที่ 12 พฤศจิกายน 2566 Quacquarelli Symonds (QS) ซึ่งเป็นองค์กรชั้นนำระดับโลกด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษา ได้เผยการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในเอเชีย ประจำปีการศึกษา 2567 ซึ่งเป็นองค์กรชั้นนำระดับโลกด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษา ได้ประกาศผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก ประจำปี 2024 (World University Rankings 2024) โดยใช้หลักพิจารณาความเป็นเลิศใน 9 ด้าน ประกอบไปด้วย ชื่อเสียงด้านวิชาการ (Academic Reputation) ทัศนคติของผู้จ้างงานต่อบัณฑิตของแต่ละมหาวิทยาลัย (Employer Reputation) สัดส่วนคณาจารย์ต่อนักศึกษา (Faculty Student Ratio) สัดส่วนจำนวนการอ้างอิงต่อผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ (Citations per Faculty) สัดส่วนจำนวนอาจารย์ต่างชาติ (International Faculty Ratio) สัดส่วนจำนวนนักศึกษาต่างชาติ (International Student Ratio) เครือข่ายวิจัยนานาชาติ(International Research Network) ผลลัพธ์ด้านการจ้างงาน (Employment Outcomes) และ ความยั่งยืน(Sustainability)

 

มหาวิทยาลัย 20 อันดับแรกของเอเชีย มีดังนี้

อันดับ 1 มหาวิทยาลัยปักกิ่ง (Peking University) จีน

อันดับ 2 มหาวิทยาลัยฮ่องกง (The University of Hong Kong) ฮ่องกง

อันดับ 3 มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore) สิงคโปร์

อันดับ 4 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีหนานหยาง (Nanyang Technological University) สิงคโปร์

อันดับ 4 มหาวิทยาลัยชิงหัว (Tsinghua University) จีน

อันดับ 6 มหาวิทยาลัยเจ้อเจียง (Zhejiang University) จีน

อันดับ 7 มหาวิทยาลัยฟูตัน (Fudan University) จีน

อันดับ 8 มหาวิทยาลัยยอนเซ (Yonsei University) เกาหลีใต้

อันดับ 9 มหาวิทยาลัยเกาหลี (Korea University) เกาหลีใต้

อันดับ 10 มหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง (Chinese University of Hong Kong) ฮ่องกง

อันดับ 11 มหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เจียวทง (Shanghai Jiao Tong University) จีน

อันดับ 11 มหาวิทยาลัยมาลายา (University Malaya) มาเลเซีย

อันดับ 13 สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงแห่งเกาหลี (KAIST) เกาหลีใต้

อันดับ 14 มหาวิทยาลัยโตเกียว (The University of Tokyo) ญี่ปุ่น

อันดับ 15 มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งฮ่องกง (HKUST) ฮ่องกง

อันดับ 16 มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล (Seoul National University) เกาหลีใต้

อันดับ 17 มหาวิทยาลัยซิตี้ฮ่องกง (City University of Hong Kong)

อันดับ 17 มหาวิทยาลัยเกียวโต (Kyoto University) ญี่ปุ่น

อันดับ 19 มหาวิทยาลัยซองคยุนกวาน (Sungkyunkwan University) เกาหลีใต้

อันดับ 20 มหาวิทยาลัยโทโฮคุ (Tohoku University) ญี่ปุ่น

สำหรับอันดับมหาวิทยาลัยไทยในเอเชียที่อยู่ใน Top 300 พบว่า

 

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อยู่อันดับที่ 37

มหาวิทยาลัยมหิดลอันดับที่ 47

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อันดับที่ 99

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันดับ 140

มหาวิทยาลัยเกริก อันดับ 149

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อันดับ 150

มหาวิทยาลัยขอนแก่น อันดับ 171

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อันดับ 195

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี  อันดับ 246

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : Quacquarelli Symonds

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
SOCIETY & POLITICS

มช. เปิดตัว “builds” โปรแกรมปั้นสตาร์ทอัพในรั้วมหาวิทยาลัย

 

วันที่ 19 สิงหาคม 2566 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้ชื่นชมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ได้เปิดตัวโปรแกรม “builds” ซึ่งเป็นโครงการที่จะสนับสนุนให้นักศึกษาทุกชั้นปีในมหาวิทยาลัยสามารถเริ่มต้นการเป็นผู้ประกอบการสตาร์ทอัพได้ตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัย ด้วยการนำงานวิจัยในมหาวิทยาลัยมาต่อยอดเป็นธุรกิจต่างๆ

เกิดการลงทุน การจ้างงานสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจในจังหวัดเชียงใหม่ และภาคเหนือ ด้วยเป้าหมายภายในปี 2569 จะสร้างนักศึกษาที่สนใจเป็นสตาร์ทอัพ 4,200 คน เกิดทีมสร้างสรรค์ไอเดียธุรกิจไม่น้อยกว่า 600 ทีม และตั้งธุรกิจไม่น้อยกว่า 240 บริษัท มีการจ้างงาน 3,600 คน สร้างรายได้มากกว่า 4,500 ล้านบาท เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจภาคเหนืออีก 8,100 ล้านบาท

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีมั่นใจว่าโครงการฯ จะเป็นกำลังสำคัญช่วยเสริมความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจคลัสเตอร์สำคัญๆ ในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ ตลอดจนเป็นต้นแบบให้สถาบันการศึกษาในภาคอื่นๆ ในการสร้างผู้ประกอบการเพื่อขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจแต่ละภูมิภาคได้เติบโตได้อย่างยั่งยืนด้วยการวิจัยและพัฒนา

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาค ซึ่งเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่13  ซึ่งแบ่งการพัฒนาเป็น 2 ส่วน คือ เศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10 เขต และระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค ประกอบด้วย 1)ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (NEC) ครอบคลุม จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน และลำปาง

2)ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(NeEC) ครอบคลุมจังหวัด นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย 3)ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง-ตะวันตก(CWEC) ครอบคลุมจังหวัด พระนครศรีอยุธยา นครปฐม สุพรรณบุรีและกาญจนบุรี  และ 4)ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) ครอบคลุมพื้นที่ จังหวัดชุมพร ระนอง สุราษธานี และนครศรีธรรมราช

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า รัฐบาลได้กำหนดนโยบายการพัฒนาตามศักยภาพของพื้นที่ โดยดึงทุกภาคส่วนเข้ามาสนับสนุน อาทิ มาตรการส่งเสริมการลงทุนทั้งที่เป็นมาตรที่เป็นภาษีและไม่ใช่ภาษี สนับสนุนงบวิจัยและพัฒนา ดึงสถาบันการศึกษาในพื้นที่เข้ามาสนับสนุนองค์ความรู้และการวิจัย ซึ่งกรณีของ NEC ในภาคเหนือ รัฐบาลสนับสนุนให้เป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์หลักของประเทศ มีคลัสเตอร์เป้าหมายเป็นอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เช่น บริการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เขตอุตสาหกรรมภาพยนตร์ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมท่องเที่ยว และท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร 

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
NEWS NEWS UPDATE

4 มหาวิทยาลัยไทย จุฬาฯ-มหิดล-มช.-มข. ติดอันดับ Top 100 เวทีโลก

4 มหาวิทยาลัยไทย จุฬาฯ-มหิดล-มช.-มข. ติดอันดับ Top 100 เวทีโลก

Facebook
Twitter
Email
Print

เมื่อ4 มิถุนายน 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีที่ Times Higher Education (THE) ซึ่งเป็นผู้จัดอันดับสถาบันอุดมศึกษาที่ดีที่สุดโลกที่เป็นที่ยอมรับแห่งหนึ่ง ได้ประกาศผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่มีการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) หรือ THE Impact Rankings ประจำปี 2566 โดยมีสถาบันอุดมศึกษาทั่วโลก เข้าร่วมการจัดอันดับทั้งสิ้น 1,591 แห่ง จาก 112 ประเทศ และสถาบันอุดมศึกษาไทยเข้ารับการจัดอันดับทั้งสิ้น 65 แห่ง เพิ่มขึ้นจากเดิมในปี 2022 ซึ่งมีจำนวน 52 แห่ง โดยสถาบันอุดมศึกษาไทยในปีนี้ที่ติดอันดับ Top 100 แบบคะแนนรวม มีจำนวน 4 สถาบัน เพิ่มจากปีที่แล้วที่ติดอันดับ Top 100 มีจำนวน 2 สถาบัน ได้แก่ 

– จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ติดอันดับที่ 17 

– มหาวิทยาลัยมหิดล ติดอันดับที่ 38 

– มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ติดอันดับที่ 74 

– มหาวิทยาลัยขอนแก่น ติดอันดับที่ 97


นอกจากนี้ ยังมีสถาบันอุดมศึกษาของไทย ที่ได้รับการจัดอันดับ Top 10 ของโลกในด้านต่าง ๆ อีก 6 ประเด็น ดังนี้ 
-มหาวิทยาลัยมหิดล อันดับที่ 3 ใน SDG3 เรื่องสร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกวัย รวมทั้งอันดับ 5 ใน SDG7 เรื่องสร้างหลักประกันให้ทุกคนสามารถเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่ที่ยั่งยืนในราคาที่ย่อมเยาว์ และยังได้อันดับ 5 ใน SDG17 เรื่องเสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน  
-มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้อันดับที่ 4 ใน SDG1 เรื่องขจัดความยากจนทุกรูปแบบในทุกพื้นที่ 
-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันดับที่ 7 ใน SDG5 เรื่องบรรลุความเท่าเทียมระหว่างเพศ และเสริมอำนาจให้แก่สตรีและเด็กหญิง และ
-มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้อันดับที่ 9 ใน SDG2 เรื่อวยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหารและยกระดับโภชนาการและส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน

“นายกฯ ยินดีและชื่นชมสถาบันอุดมศึกษาของไทย ที่มีความโดดเด่นไม่แพ้ชาติใด ทุกสถาบันต่างมีความแตกต่างและความเป็นเลิศที่เฉพาะตัว โดยเฉพาะการมุ่งสู่ความยั่งยืนในทุก ๆ ด้าน รวมทั้งสถาบันอุดมศึกษาของไทยมีการพัฒนาต่อเนื่องอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อให้มีมาตรฐานเทียบเท่าระดับสากล ทั้งนี้ ประเทศไทยมีสถาบันอุดมศึกษาที่มีพื้นฐานที่ดี ในการทำงานที่ตอบโจทย์ของประเทศรวมทั้งความยั่งยืนที่กำหนดโดยสหประชาชาติ ซึ่งรัฐบาล และ อว. พร้อมสนับสนุนอย่างเต็มกำลังเพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาไทยก้าวสู่ความสำเร็จและเป็นกลไกสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ เพื่อเป้าหมายการพัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืนต่อไป” 
นายอนุชาฯ กล่าว 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : Times Higher Education (THE)

Facebook
Twitter
Email
Print
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News