Categories
SOCIETY & POLITICS

สธ. จัดระบบดูแลพี่น้องชาวไทยมุสลิม7,781 คน ก่อนเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์

 
เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2567 ที่ ศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามแห่งชาติ เฉลิมพระเกียรติ กรุงเทพมหานคร นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีเปิดโครงการป้องกันโรคติดต่อแก่ชาวไทยมุสลิมที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ ณ ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ปี 2567 โดยมี นายอรุณ บุญชม จุฬาราชมนตรี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค Mr. Mohammed Alkhudhayri ผู้แทนเอกอัครราชทูตซาอุดีอาระเบียประจำประเทศไทย และผู้เดินทางแสวงบุญร่วมพิธี
          
 
นายแพทย์ชลน่านกล่าวว่า ประเทศไทยและราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย มีความสัมพันธ์กันมายาวนานซึ่งไทยให้ความสำคัญในการยกระดับความร่วมมือทั้งระดับทวิภาคีและพหุภาคี ส่งเสริมการขยายความร่วมมือทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ความมั่นคงทางอาหาร พลังงาน การท่องเที่ยว วัฒนธรรม และด้านการสาธารณสุขโดยกระทรวงสาธารณสุขได้ให้การดูแลสุขภาพของพี่น้องชาวไทยมุสลิมที่เดินทางไปแสวงบุญอย่างต่อเนื่อง โดยจัดโครงการป้องกันโรคติดต่อแก่ชาวไทยมุสลิมที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์เป็นประจำทุกปี ซึ่งแต่ละปีจะมีคนไทยมุสลิมได้รับโควตาเข้าร่วมการประกอบพิธีฮัจย์ประมาณ 13,000 คน สำหรับปีนี้ ดำเนินการภายใต้กรอบแนวคิด HEALTH FOR HAJJ เป็นการจัดระบบดูแลเตรียมความพร้อมด้านสุขภาพตั้งแต่ก่อนการเดินทาง ด้วยการตรวจสุขภาพ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคตามที่ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียกำหนดให้กับผู้แสวงบุญทุกคน พร้อมออกหนังสือรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ภายใต้พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 จัดส่งทีมแพทย์พยาบาลไปดูแลระหว่างการประกอบพิธี และติดตามเฝ้าระวังสุขภาพหลังเดินทางกลับอีก 14 วัน
 

          ด้านนายแพทย์โอภาส กล่าวว่า การประกอบพิธีฮัจย์ ณ ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ประจำปี 2567 หรือฮิจเราะห์ศักราช (ฮ.ศ.) 1445 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 – 19 มิถุนายน 2567 ในปีนี้มีชาวไทยมุสลิมที่ลงทะเบียนพร้อมเดินทางไปประกอบพิธี จำนวน 7,781 คน ซึ่งผู้แสวงบุญทุกคนต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่น และแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ก่อนการเดินทางอย่างน้อย 14 วัน โดยวันนี้มีผู้มารับบริการฉีดวัคซีนที่ ศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามแห่งชาติ เฉลิมพระเกียรติ จำนวน 1,494 คน สำหรับพี่น้องชาวไทยมุสลิมที่จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ และอยู่ในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ สามารถเข้ารับบริการตรวจสุขภาพก่อนการเดินทาง และฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่น และวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ได้ที่สถานบริการของกระทรวงสาธารณสุขในพื้นที่ ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ – 31 พฤษภาคม 2567
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก :  กระทรวงสาธารณสุข 

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
SOCIETY & POLITICS

สาธารณสุข ยกระดับ 30 บาท ออกแบบบริการตามความต้องการประชาชน

 

วันที่ 20 ตุลาคม 2566 ที่ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชัน กทม. นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการ Quick Win (แผนปฏิบัติการเร่งรัด) ยุคเปลี่ยนผ่าน “ก้าวสู่ระบบสุขภาพปฐมภูมิที่มีคุณภาพ 30 บาท รักษาทุกโรคยุคใหม่” โดยมี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข คณะผู้บริหาร สาธารณสุขอำเภอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม 900 คน


          นายแพทย์ชลน่าน กล่าวว่า การแพทย์ปฐมภูมิ ถือเป็นบริการด่านแรกที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้แบบใกล้บ้านใกล้ใจ ดูแลตั้งแต่ส่งเสริม ป้องกัน ควบคุม รักษา และฟื้นฟู และเป็น 1 ใน 13 ประเด็น ในการขับเคลื่อนนโยบาย 30 บาทพลัส เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตประชาชนทุกคน ทุกกลุ่ม ทุกพื้นที่ โดยการยกระดับระบบสุขภาพปฐมภูมิเพิ่มความครอบคลุมการดูแลสุขภาพที่บ้านและชุมชน การรับยา ส่งยาทางไปรษณีย์ การเจาะเลือดตรวจแล็บใกล้บ้าน 1 จังหวัด 1 โรงพยาบาล รวมทั้งนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาระบบนัดหมาย ระบบเทเลเมลดีซีน และการเสริมสร้างงานอนามัยโรงเรียนให้เข้มแข็ง 1 อำเภอ 1 โรงเรียน ซึ่งการพัฒนาในเรื่องดังกล่าวต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขทุกระดับทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยเฉพาะสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชน มีความเข้าใจบริบทของพื้นที่เป็นอย่างดี และสามารถออกแบบระบบบริการได้ตรงตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่

 


          ซึ่งการจัดประชุมในวันนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้บริหารในระดับอำเภอ เพื่อที่จะนำนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้ง Quick Win 10 เรื่อง อาทิ บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ มะเร็งครบวงจร ส่งเสริมการมีบุตร จัดตั้งศูนย์ธัญญารักษ์ดูแลผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด โรงพยาบาลอัจฉริยะระบบการแพทย์ทางไกล สถานชีวาภิบาลและคลินิกผู้สูงอายุ เป็นต้น ไปเร่งรัดขับเคลื่อนร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ช่วยยกระดับการดูแลสุขภาพประชาชนให้ครอบคลุมทุกมิติต่อไป

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงสาธารณสุข

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
FEATURED NEWS

ปธพ.10 ชู10 หัวข้อแนวทาง วงการแพทย์ไทย นำไปปฏิบัติจริง

 

ปธพ.10 สำเร็จการศึกษา ชู10 หัวข้อผลงานวิชาการทางการแพทย์ เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาวงการแพทย์สาธารณสุขไทย สอดคล้องนโยบายรัฐบาล พร้อมนำไปปฏิบัติจริง

 

เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2566  ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ฯ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ มีการจัดงานประชุมวิชาการประจำปี 2566 แพทยสภา – ปธพ.ครั้งที่ 10 โดยแพทยสภาร่วมกับสถาบันพระปกเกล้าได้จัดอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์สำหรับผู้บริหารระดับสูง (ปธพ.) ขึ้น  ตามแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อร่วมพัฒนาวงการแพทย์ และระบบสาธารณสุขของประเทศไทย โดยมีศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย ประธานมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์   เป็นประธานในพิธีมอบเกียรติบัตรและเข็มเกียรติคุณ แก่นักศึกษาปธพ.รุ่นที่ 10 ที่สำเร็จการศึกษา จำนวน 143 คน โดยมีนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ สภานายกพิเศษแพทยสภา นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข  อาจารย์วิทวัส ชัยภาคภูมิ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงสมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา  พลอากาศโท นายแพทย์อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์  และผู้อำนวยการหลักสูตรปธพ.  พร้อมด้วยนักศึกษาปธพ.รุ่น 10 เข้าร่วมพิธีสำเร็จการศึกษา และเยี่ยมชมบอร์ดนำเสนอผลงานวิจัยของนักศึกษาและมีกิจกรรมการนำเสนองานวิจัยของนักศึกษาปธพ.รุ่นที่ 10 จำนวน 10 หัวข้อวิชาการอีกด้วย

 

นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว กล่าวบรรยาพิเศษในหัวข้อ “อนาคตระบบสาธารณสุขไทย” ว่า ผลงานวิชาการของนักศึกษาปธพ.10 นั้นตอบโจทย์วงการสาธารณสุขไทยทั้งหมด สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล พร้อมนำไปปฏิบัติได้จริง    โดยความท้าทายของระบบสาธารณสุขไทย มี 9 ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อระบบสุขภาพไทยในอนาคต ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ การเมือง ประชากร ลักษณะเฉพาะของคนไทย โรคอุบัติใหม่ เทคโนโลยี การขนส่ง อาหารเกษตรกรรม และ สิ่งแวดล้อม  ประเด็นสำคัญของระบบสาธารณสุขไทยที่ต้องรับมือคือ โรควัณโรค และอุบัติเหตุจราจร ที่เป็นเรื่องท้าทาย ส่วนในเชิงสังคมต้องอาศัยความร่วมมือจากคนในสังคมทุกภาคส่วน  โดยกระทรวงสาธรารณสุขกำหนดให้เขตสุขภาพ ทั้ง 12 เขต พัฒนา “เมืองสุขภาพดี” เขตละ 1 แห่ง  เพื่อประชาชนมีอายุยืน และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

 

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย ประธานมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ กล่าวถึงผลงานวิจัย ทั้ง 10 เรื่องของนักศึกษาว่า ทำให้เห็นศักยภาพของความร่วมมือร่วมใจกันแก้ไขปัญหาด้านการแพทย์และสาธารณสุขให้เป็นรูปธรรม รวมทั้งร่วมกันพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศไทย  ยกระดับสุขภาวะที่ดีของประชาชน บนพื้นฐานว่าการทำงานใดๆ จะสำเร็จได้นั้น จำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาแบบมีธรรมาภิบาล 

 

ด้านพลอากาศโท นายแพทย์อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ กล่าวว่าหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์สำหรับผู้บริหารระดับสูงรุ่นที่ 10 (ปธพ. 10) เป็นความร่วมมือระหว่างแพทยสภา และสถาบันพระปกเกล้า โดยมีผู้บริหารระดับสูงจาก 6 เสาหลัก มาเรียนร่วมกันคือ แพทย์จากกระทรวงสาธารณสุข  ครูแพทย์จากมหาวิทยาลัย แพทย์ทหาร ตำรวจ และภาครัฐ  แพทย์จากภาคเอกชน ผู้บริหารภาครัฐ และ ผู้บริหารภาคเอกชน เพื่อแก้ปัญหาวงการแพทย์ ตามแนวทางพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ให้แพทย์ไทย “อ่อนน้อม ถ่อมตน ทุกคนมีดี อย่าดูถูกใคร” โดยใช้ “ธรรมาภิบาล”เป็นกลไกหลักในการแก้ปัญหาสาธารณสุขของประเทศ 

 

ทั้งนี้ผลงานวิจัยของนักศึกษาปธพ.รุ่นที่ 10  ประกอบด้วย หัวข้อที่ 1 ประสิทธิภาพ และผลกระทบของมาตรการสาธารณสุขในการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข จากการระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย  หัวข้อที่ 2 ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการสื่อสารเมื่อเกิดภาวะวิกฤตทางการแพทย์ โดยใช้โมเดลการระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  ศึกษากรณีวัคซีน COVID-19   หัวข้อที่ 3 การศึกษาต้นแบบโมเดลสุขภาพในการบูรณาการการบริหารจัดการกองทุนสุขภาพของประชาชนไทย: กรณีศึกษาจากโรคมะเร็งปอดชนิดยีนกลายพันธุ์ EGFR หัวข้อที่ 4 ความรุนแรงภายในสถานพยาบาลต่อบุคลากรทางการแพทย์ และข้อเสนอทางมาตรการกฎหมายเพื่อลดความรุนแรง (Violence against medical personal in Thailand: evidence and mitigation strategies) หัวข้อที่ 5  โครงการศึกษาสมรรถนะร่วมเชิงบูรณาการ (Integrative core competencies) ของบุคลากรทางการแพทย์เพื่อระบบ บริการสุขภาพไทยใน 10 ปีข้างหน้า หัวข้อที่ 6   Dementia Awareness in Thai Population การตระหนักรู้เรื่องภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุของประชากรไทย หัวข้อที่ 7 ปัจจัยสนับสนุนและอุปสรรคในการให้บริการโทรเวชในมุมมองของผู้บริหารระดับสูงของโรงพยาบาล และถอดบทเรียนของการก้าวข้ามอุปสรรคของโรงพยาบาลที่มีประสบการณ์การให้บริการโทรเวช หัวข้อที่ 8 บทบาทของโรงพยาบาลเอกชน  ในการฝึกอบรมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ตามหลักธรรมาภิบาล  หัวข้อที่ 9  การศึกษาวิเคราะห์การรับรู้ของประชาชนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์กัญชากัญชงตามหลักธรรมาภิบาล และ หัวข้อที่ 10  ผลกระทบของการโฆษณาโดยแพทย์ในสื่อสังคมออนไลน์ในการดูแลรักษาเรื่องของความงาม โดยผลงานวิจัยทั้งหมดได้ถูกนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และได้มีการมอบหมายให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขใช้เป็นแนวทางการพัฒนาวงการแพทย์และสาธารณสุขไทยต่อไป

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : แพทยสภาร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News