Categories
AROUND CHIANG RAI FEATURED NEWS

ดังระดับประเทศ SME D Bank ดันพริกแกง “แม่น้อย” เชียงราย

 
เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2567 พริกแกงรสเลิศแบรนด์ “แม่น้อย” สูตรต้นตำรับภาคเหนือที่อยู่คู่ชาวเชียงราย มากว่า 40 ปี ทุกวันนี้ เติบโตเป็นสินค้าดังระดับประเทศ เมื่อทายาทธุรกิจ เข้ามาสานต่อและต่อยอด ด้วยมาตรฐานการผลิต และไม่หยุดพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้หลากหลายและแปลกใหม่อยู่เสมอ ขับเคลื่อนให้ขยายตลาดได้ทั้งผ่านโมเดิร์นเทรดและเป็นของฝากยอดฮิต รวมถึง ส่งออกต่างประเทศ ที่สำคัญ กิจการนี้ มีส่วนช่วยสร้างงาน และสร้างสุขให้แก่คนในชุมชน ได้ทำงานที่บ้านเกิด โดย SME D Bank ธนาคารเพื่อเอสเอ็มอีไทยเสริมทัพเติมพลังให้เดินหน้าได้ตามแผนธุรกิจที่วางไว้
 
 
ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ.2519“นวลน้อย ธารทองไพบูลย์” หรือ “แม่น้อย” ประกอบอาชีพแม่ค้าขายพริกแกงในตลาดสด จ.เชียงราย ด้วยรสชาติยอดเยี่ยม จากสูตรเด็ดเคล็ดลับเฉพาะตัว พริกแกงแม่น้อยขายดิบ ขายดี ขึ้นแท่นเป็นเจ้าดังประจำตลาด และยังขายส่งให้ร้านค้าต่างๆ ในท้องถิ่น
 
 
พริกแกงแม่น้อยยกระดับจากขายในตลาดสดสู่สินค้าระดับประเทศ เมื่อทายาทธุรกิจ คุณ“เบญจวรรณ ภัทรธรรมกุล” ลูกสาวที่คลุกคลีช่วยแม่ขายพริกแกงในตลาดสดมาตั้งแต่เด็ก และจบการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์อาหาร กับสามี “ภาณุ ภัทรธรรมกุล”เข้ามาช่วยสานต่ออาชีพครอบครัว เมื่อปี พ.ศ.2535  จากผลิตในรูปแบบครัวเรือน และขายปลีกขายส่งแบบบ้านๆ ในตลาดสดประจำท้องถิ่น สู่การแปรรูปเป็นพริกแกงในบรรจุภัณฑ์สุญญากาศ เพื่อขยายตลาดได้กว้างไกลยิ่งขึ้น พร้อมยกระดับบริหารธุรกิจในนามนิติบุคคล บริษัท ภาเบญ ฟู้ดส์ จำกัด และสร้างแบรนด์ “แม่น้อย” 
 
 
นายภาณุ กล่าวว่า พริกแกงตักสดเก็บได้ไม่นาน ทำให้ไม่สามารถส่งขายพื้นที่ไกลๆ ได้ ตอนนั้น ทางภาคเหนือ ยังไม่มีผู้ผลิตพริกแกงที่เป็นมาตรฐานเลย เราเลยลองผลิตพริกแกงใส่บรรจุภัณฑ์สุญญากาศ สะอาดและเก็บไว้ได้นาน เป็นเจ้าแรกของภาคเหนือแล้วไปเสนอขายตามร้านขายส่งต่างๆ  ทำให้ขยายตลาดได้กว้างขึ้นจากเฉพาะในอำเภอเมืองเชียงราย ก็ขยายไปสู่อำเภอรอบนอก และต่อไปถึงจังหวัดใกล้เคียง พร้อมปรับปรุงกระบวนการผลิต สร้างโรงงาน และนำเครื่องจักรมาใช้ในการผลิต”
 
 
ด้วยการเน้นให้ความสำคัญเรื่องมาตรฐานเป็นสิ่งสูงสุด แม้จะเป็นผู้ประกอบการระดับเอสเอ็มอี ทว่า พริกแกงแม่น้อย  มีมาตรฐานด้านการผลิตและผลิตภัณฑ์ระดับสากล ระดับส่งออกได้เช่น อย. GMP และฮาลาล เป็นต้น ทำให้ได้รับโอกาสขยายตลาดต่อเนื่อง โดยเฉพาะการพาสินค้าขายผ่านโมเดิร์นเทรด ถือเป็นจุดเปลี่ยนทำให้ยอดขายเติบโตก้าวกระโดด
 
 
“การส่งสินค้าเข้าห้างโมเดิร์นเทรด เป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย เนื่องจากต้องปรับตัวอย่างรุนแรง เพื่อยกระดับธุรกิจทุกๆ ด้าน ให้ตอบโจทย์เกณฑ์ของโมเดิร์นเทรดและความต้องการตลาดทั่วประเทศได้เหมาะสม ยอมรับว่า ช่วงปีแรก หนักหนาสาหัสมาก เพราะต้องแบกรับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ทั้งการสต็อกสินค้า ลงทุนเครื่องจักร และค่าแรงที่เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว แต่เมื่อสินค้าเริ่มติดตลาด ประกอบกับการพัฒนาผลิตภาพ (productivity) และมีสินค้าใหม่มาออกต่อเนื่อง สนับสนุนให้ผลการดำเนินงานดีขึ้นตามลำดับ” 
 
 
คุณเบญจวรรณ กล่าวเสริมว่า พริกแกงแม่น้อย มีจุดเด่นของการเป็นพริกแกงสูตรต้นตำรับเมืองเหนือแท้ๆ ที่รักษารสชาติแบบดั้งเดิม แต่เสิร์ฟในรูปโฉมใหม่ที่สะอาดปลอดภัยและได้มาตรฐาน  ทำให้เหมาะจะซื้อเป็นของฝากสำหรับนักท่องเที่ยว ยามมาเยือนจังหวัดทางภาคเหนือ ขณะเดียวกันคนทุกภูมิภาคที่อยากได้พริกแกงเหนือแท้ๆ ไม่ว่าจะเป็นพริกแกงน้ำเงี้ยวพริกแกงอังเลพริกแกงข้าวซอย ฯลฯ ก็สามารถซื้อหาไปประกอบอาหารกินเองได้ง่ายๆ  
 
 
ขณะเดียวกัน นำพื้นฐานความชำนาญเดิมต่อยอดสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่เสมอ ตัวอย่างความสำเร็จ คือ “พริกแกงหมาล่า”ที่เห็นเทรนด์ฮิตในเมืองไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ  จึงทดลองผลิตออกสู่ตลาด  โดยใช้เครื่องจักร และวัตถุดิบที่มีอยู่แล้ว นำมาพัฒนาสูตรรสชาติที่คาดว่าถูกปากคนไทย ปรากฏว่า ทุกวันนี้ พริกแกงหมาล่าแบรนด์แม่น้อย เป็นสินค้าขายดี จนผลิตไม่ทันความต้องการตลาด
 
 
ไอเดียต่อยอดสร้างสินค้าใหม่ ๆ เสมอทำให้ปัจจุบัน พริกแกงแม่น้อย มีผลิตภัณฑ์มากกว่า 40 ชนิด ส่งขายทั่วประเทศ ผ่านโมเดิร์นเทรดชื่อดัง ร้านของฝากและช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ กำลังผลิตพริกแกงกว่า 4-5 ตันต่อวัน และใช้เครื่องเทศกว่า 14-15 ตันต่อเดือน โดยมีธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank สาขาเชียงรายเข้ามาเสริมแกร่งสนับสนุนการเติบโต ผ่านผลิตภัณฑ์สินเชื่อต่าง ๆ  ช่วยเสริมสภาพคล่องในการดำเนินกิจการ รวมถึง ยกระดับลงทุนเพิ่มกำลังผลิต ช่วยให้กิจการเดินหน้าตามแผนได้อย่างไม่มีสะดุด
 
 
การเดินทางต่อยอดธุรกิจพริกแกงแม่น้อย มากว่า 30 ปี  ความภูมิใจของ ภาณุ และเบญจวรรณ  คือ ได้สานต่ออาชีพที่บุกเบิกโดยคุณแม่  ให้ยืนหยัดเป็นเสาหลักสร้างอาชีพ ช่วยสนับสนุนคนในชุมชนท้องถิ่นบ้านเกิด  ให้มีงานทำ โดยแรงงานกว่า110 ชีวิต ที่อยู่กันมาเหมือนครอบครัว มากกว่า 90% เป็นคนในท้องถิ่น ทั้งคนไทยและชาวไทยภูเขา ได้ทำงานที่บ้านเกิด ไม่ต้องย้ายถิ่นฐานเข้าไปทำงานในเมือง ช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  
 
 
“ผมอยากให้กิจการของเราเป็นเอสเอ็มอีที่จิ๋วแต่แจ๋ว  ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าได้รับคุณค่าที่ยิ่งใหญ่จากผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐาน มีการพัฒนาสินค้าต่อเนื่อง เมื่อบริษัทเราสามารถดำเนินกิจการได้อย่างมั่นคงก็จะสามารถกลับมาดูแลพนักงานได้อย่างดีที่สุด ซึ่งเราสองคนคิดเสมอว่า ที่ธุรกิจเดินมาได้ถึงวันนี้  เพราะพนักงานทุกคนช่วยกัน ดังนั้น เราอยากจะดูแลพวกเขาให้ดีที่สุด” นายภาณุ กล่าว
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ธนาคารเพื่อเอสเอ็มอีไทย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
FEATURED NEWS

SME D Bank อัดฉีด 500 ล้านบาท เปิดตัวสินเชื่อใหม่ ‘Micro OK’

 

SME D Bank ธนาคารเพื่อเอสเอ็มอีไทย คลอดสินเชื่อใหม่ “Micro OK” วงเงินรวม 500 ล้านบาท  เพิ่มโอกาสผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายย่อยเข้าถึงแหล่งทุน โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ควบคู่พัฒนากระบวนการอำนวยสินเชื่อ สะดวกสบายผ่านระบบออนไลน์ กู้ง่าย รับเงินทันใจ วงเงินสูงสุด 500,000 บาทต่อราย เปิดรับคำขอกู้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปถึง 30 ธ.ค. 66 นี้ มาก่อนได้ก่อน

นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เปิดเผยว่า SME D Bank ธนาคารเพื่อเอสเอ็มอีไทย เดินหน้าทำงานเชิงรุก  พัฒนาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์สินเชื่อ และกระบวนการอำนวยสินเชื่อ เพื่อเพิ่มโอกาสทางการเงินให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกลุ่ม Micro ที่มีศักยภาพเข้าถึงเงินทุนได้ง่าย รวดเร็ว ผ่านสินเชื่อใหม่ “Micro OK” วงเงินรวม 500 ล้านบาท แจ้งความประสงค์ได้ง่ายด้วยระบบออนไลน์  สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งลงทุน ขยาย ปรับปรุง ปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจการ หรือหมุนเวียนเสริมสภาพคล่อง ช่วยต่อยอดยกระดับธุรกิจเดินหน้าไม่มีสะดุด  

จุดเด่นสินเชื่อ “Micro OK” เปิดกว้างให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกลุ่ม Micro (รายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี) ที่มีศักยภาพทุกกลุ่มธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นภาคผลิต ภาคค้าปลีกค้าส่งและภาคบริการ ทั้งบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล   วงเงินกู้สูงสุด 500,000 บาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 1.29% ต่อเดือน  (MLR +8% ต่อปี) ระยะเวลาผ่อนชำระนานสูงสุด 5 ปี ที่สำคัญ ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน เปิดรับคำขอกู้ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2566 หรือเมื่อเต็มวงเงินโครงการ

อีกทั้ง พัฒนากระบวนการอำนวยสินเชื่อ ช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เข้าถึงบริการทางการเงินได้ง่าย รวดเร็ว ทุกที่ ทุกเวลา โดยแจ้งความประสงค์ผ่านออนไลน์ และพิจารณาคุณสมบัติด้วยระบบ Credit Scoring มีขั้นตอน ได้แก่ 1. สแกน QR Code ในโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ หรือคลิกผ่านช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ ของ SME D Bank เช่น เว็บไซต์ www.smebank.co.th หรือ LINE Official Account : SME Development Bank เป็นต้น 2. กรอกรายละเอียดเบื้องต้น เช่น ข้อมูลการดำเนินธุรกิจ วงเงินที่ต้องการกู้ เป็นต้น และ 3. เจ้าหน้าที่ธนาคารจะติดต่อกลับ เพื่อนัดหมายเข้าเยี่ยมสถานประกอบการ และพิจารณาอนุมัติสินเชื่อต่อไป หรือกรณีคุณสมบัติไม่ครบถ้วน เจ้าหน้าที่จะแนะนำเข้าสู่กระบวนการพัฒนาผู้ประกอบการ ช่วยเตรียมความพร้อม เพื่อพาเข้าถึงแหล่งทุนได้ในอนาคตต่อไป

ผู้ประกอบการที่สนใจใช้บริการสินเชื่อ “Micro OK” และบริการด้านการพัฒนา สามารถแจ้งความประสงค์ได้ผ่านช่องทางต่าง ๆ ของ SME D Bank เช่น  เว็บไซต์ www.smebank.co.th , LINE Official Account : SME Development Bank  และสาขาของ  SME D Bank ทั่วประเทศ เป็นต้น  สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 1357

 

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ธนาคารเพื่อเอสเอ็มอีไทย 

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News