เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2567 พริกแกงรสเลิศแบรนด์ “แม่น้อย” สูตรต้นตำรับภาคเหนือที่อยู่คู่ชาวเชียงราย มากว่า 40 ปี ทุกวันนี้ เติบโตเป็นสินค้าดังระดับประเทศ เมื่อทายาทธุรกิจ เข้ามาสานต่อและต่อยอด ด้วยมาตรฐานการผลิต และไม่หยุดพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้หลากหลายและแปลกใหม่อยู่เสมอ ขับเคลื่อนให้ขยายตลาดได้ทั้งผ่านโมเดิร์นเทรดและเป็นของฝากยอดฮิต รวมถึง ส่งออกต่างประเทศ ที่สำคัญ กิจการนี้ มีส่วนช่วยสร้างงาน และสร้างสุขให้แก่คนในชุมชน ได้ทำงานที่บ้านเกิด โดย SME D Bank ธนาคารเพื่อเอสเอ็มอีไทยเสริมทัพเติมพลังให้เดินหน้าได้ตามแผนธุรกิจที่วางไว้
 
 
ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ.2519“นวลน้อย ธารทองไพบูลย์” หรือ “แม่น้อย” ประกอบอาชีพแม่ค้าขายพริกแกงในตลาดสด จ.เชียงราย ด้วยรสชาติยอดเยี่ยม จากสูตรเด็ดเคล็ดลับเฉพาะตัว พริกแกงแม่น้อยขายดิบ ขายดี ขึ้นแท่นเป็นเจ้าดังประจำตลาด และยังขายส่งให้ร้านค้าต่างๆ ในท้องถิ่น
 
 
พริกแกงแม่น้อยยกระดับจากขายในตลาดสดสู่สินค้าระดับประเทศ เมื่อทายาทธุรกิจ คุณ“เบญจวรรณ ภัทรธรรมกุล” ลูกสาวที่คลุกคลีช่วยแม่ขายพริกแกงในตลาดสดมาตั้งแต่เด็ก และจบการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์อาหาร กับสามี “ภาณุ ภัทรธรรมกุล”เข้ามาช่วยสานต่ออาชีพครอบครัว เมื่อปี พ.ศ.2535  จากผลิตในรูปแบบครัวเรือน และขายปลีกขายส่งแบบบ้านๆ ในตลาดสดประจำท้องถิ่น สู่การแปรรูปเป็นพริกแกงในบรรจุภัณฑ์สุญญากาศ เพื่อขยายตลาดได้กว้างไกลยิ่งขึ้น พร้อมยกระดับบริหารธุรกิจในนามนิติบุคคล บริษัท ภาเบญ ฟู้ดส์ จำกัด และสร้างแบรนด์ “แม่น้อย” 
 
 
นายภาณุ กล่าวว่า พริกแกงตักสดเก็บได้ไม่นาน ทำให้ไม่สามารถส่งขายพื้นที่ไกลๆ ได้ ตอนนั้น ทางภาคเหนือ ยังไม่มีผู้ผลิตพริกแกงที่เป็นมาตรฐานเลย เราเลยลองผลิตพริกแกงใส่บรรจุภัณฑ์สุญญากาศ สะอาดและเก็บไว้ได้นาน เป็นเจ้าแรกของภาคเหนือแล้วไปเสนอขายตามร้านขายส่งต่างๆ  ทำให้ขยายตลาดได้กว้างขึ้นจากเฉพาะในอำเภอเมืองเชียงราย ก็ขยายไปสู่อำเภอรอบนอก และต่อไปถึงจังหวัดใกล้เคียง พร้อมปรับปรุงกระบวนการผลิต สร้างโรงงาน และนำเครื่องจักรมาใช้ในการผลิต”
 
 
ด้วยการเน้นให้ความสำคัญเรื่องมาตรฐานเป็นสิ่งสูงสุด แม้จะเป็นผู้ประกอบการระดับเอสเอ็มอี ทว่า พริกแกงแม่น้อย  มีมาตรฐานด้านการผลิตและผลิตภัณฑ์ระดับสากล ระดับส่งออกได้เช่น อย. GMP และฮาลาล เป็นต้น ทำให้ได้รับโอกาสขยายตลาดต่อเนื่อง โดยเฉพาะการพาสินค้าขายผ่านโมเดิร์นเทรด ถือเป็นจุดเปลี่ยนทำให้ยอดขายเติบโตก้าวกระโดด
 
 
“การส่งสินค้าเข้าห้างโมเดิร์นเทรด เป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย เนื่องจากต้องปรับตัวอย่างรุนแรง เพื่อยกระดับธุรกิจทุกๆ ด้าน ให้ตอบโจทย์เกณฑ์ของโมเดิร์นเทรดและความต้องการตลาดทั่วประเทศได้เหมาะสม ยอมรับว่า ช่วงปีแรก หนักหนาสาหัสมาก เพราะต้องแบกรับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ทั้งการสต็อกสินค้า ลงทุนเครื่องจักร และค่าแรงที่เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว แต่เมื่อสินค้าเริ่มติดตลาด ประกอบกับการพัฒนาผลิตภาพ (productivity) และมีสินค้าใหม่มาออกต่อเนื่อง สนับสนุนให้ผลการดำเนินงานดีขึ้นตามลำดับ” 
 
 
คุณเบญจวรรณ กล่าวเสริมว่า พริกแกงแม่น้อย มีจุดเด่นของการเป็นพริกแกงสูตรต้นตำรับเมืองเหนือแท้ๆ ที่รักษารสชาติแบบดั้งเดิม แต่เสิร์ฟในรูปโฉมใหม่ที่สะอาดปลอดภัยและได้มาตรฐาน  ทำให้เหมาะจะซื้อเป็นของฝากสำหรับนักท่องเที่ยว ยามมาเยือนจังหวัดทางภาคเหนือ ขณะเดียวกันคนทุกภูมิภาคที่อยากได้พริกแกงเหนือแท้ๆ ไม่ว่าจะเป็นพริกแกงน้ำเงี้ยวพริกแกงอังเลพริกแกงข้าวซอย ฯลฯ ก็สามารถซื้อหาไปประกอบอาหารกินเองได้ง่ายๆ  
 
 
ขณะเดียวกัน นำพื้นฐานความชำนาญเดิมต่อยอดสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่เสมอ ตัวอย่างความสำเร็จ คือ “พริกแกงหมาล่า”ที่เห็นเทรนด์ฮิตในเมืองไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ  จึงทดลองผลิตออกสู่ตลาด  โดยใช้เครื่องจักร และวัตถุดิบที่มีอยู่แล้ว นำมาพัฒนาสูตรรสชาติที่คาดว่าถูกปากคนไทย ปรากฏว่า ทุกวันนี้ พริกแกงหมาล่าแบรนด์แม่น้อย เป็นสินค้าขายดี จนผลิตไม่ทันความต้องการตลาด
 
 
ไอเดียต่อยอดสร้างสินค้าใหม่ ๆ เสมอทำให้ปัจจุบัน พริกแกงแม่น้อย มีผลิตภัณฑ์มากกว่า 40 ชนิด ส่งขายทั่วประเทศ ผ่านโมเดิร์นเทรดชื่อดัง ร้านของฝากและช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ กำลังผลิตพริกแกงกว่า 4-5 ตันต่อวัน และใช้เครื่องเทศกว่า 14-15 ตันต่อเดือน โดยมีธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank สาขาเชียงรายเข้ามาเสริมแกร่งสนับสนุนการเติบโต ผ่านผลิตภัณฑ์สินเชื่อต่าง ๆ  ช่วยเสริมสภาพคล่องในการดำเนินกิจการ รวมถึง ยกระดับลงทุนเพิ่มกำลังผลิต ช่วยให้กิจการเดินหน้าตามแผนได้อย่างไม่มีสะดุด
 
 
การเดินทางต่อยอดธุรกิจพริกแกงแม่น้อย มากว่า 30 ปี  ความภูมิใจของ ภาณุ และเบญจวรรณ  คือ ได้สานต่ออาชีพที่บุกเบิกโดยคุณแม่  ให้ยืนหยัดเป็นเสาหลักสร้างอาชีพ ช่วยสนับสนุนคนในชุมชนท้องถิ่นบ้านเกิด  ให้มีงานทำ โดยแรงงานกว่า110 ชีวิต ที่อยู่กันมาเหมือนครอบครัว มากกว่า 90% เป็นคนในท้องถิ่น ทั้งคนไทยและชาวไทยภูเขา ได้ทำงานที่บ้านเกิด ไม่ต้องย้ายถิ่นฐานเข้าไปทำงานในเมือง ช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  
 
 
“ผมอยากให้กิจการของเราเป็นเอสเอ็มอีที่จิ๋วแต่แจ๋ว  ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าได้รับคุณค่าที่ยิ่งใหญ่จากผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐาน มีการพัฒนาสินค้าต่อเนื่อง เมื่อบริษัทเราสามารถดำเนินกิจการได้อย่างมั่นคงก็จะสามารถกลับมาดูแลพนักงานได้อย่างดีที่สุด ซึ่งเราสองคนคิดเสมอว่า ที่ธุรกิจเดินมาได้ถึงวันนี้  เพราะพนักงานทุกคนช่วยกัน ดังนั้น เราอยากจะดูแลพวกเขาให้ดีที่สุด” นายภาณุ กล่าว
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ธนาคารเพื่อเอสเอ็มอีไทย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME