Categories
TOP STORIES

ไอทีวี ชี้แจงแล้วคำพูดที่ประชุมผู้ถือหุ้น ระบุว่า “เอกสารที่ใช้ภายใน นำไปใช้อ้างอิงไม่ได้”

 
เมื่อวันที่ 15 มิถุยน 2566 บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เผยแพร่หนังสือชี้แจงผู้ถือหุ้นผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัท โดยระบุว่า จากเหตุการณ์ที่เผยแพร่ในสื่อเกี่ยวกับการบันทึกรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น หลังจากที่ นางสาวฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้สื่อข่าว 3 มิติ เปิดเผยคลิปข่าวยาวประมาณ 3 นาที ที่ถูกนำมาใช้อ้างในการร้องเรียนนายพิธิ ลิ้มเจริญรัตน์ และเป็นส่วนสำคัญที่ข่าว 3 มิติ ได้รับการติดต่อจากผู้ถือหุ้นคนหนึ่งที่ไม่เปิดเผยตัว 

ทำให้ทางนักเขียนและนักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ อย่าง สฤณี อาชวานันทกุล  ออกมาแสดงความเห็นเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2566 ผ่านทางเฟสบุ๊ค https://www.facebook.com/SarineeA ว่าการสัมภาษณ์สื่อสองเจ้า คือ คุณฐปนีย์ The Reporters และ PPTV เกี่ยวกับ “พิรุธ” หรือจุดผิดปกติในเอกสารทางการเงินของไอทีวี สรุปสั้นๆ ตามนี้นะคะ

Sarinee Achavanuntakul – สฤณี อาชวานันทกุล
1. งบการเงิน (รวมหมายเหตุประกอบงบ) ของทั้ง อินทัช ไอทีวี ประจำปี 2565 รวมถึงการตอบคำถามในที่ประชุมผู้ถิอหุ้นไอทีวี 26 เม.ย. 2565 ทั้งหมดให้ข้อมูลสอดคล้องกันว่า ไอทีวีปัจจุบัน “ไม่ได้ทำสื่อ(หรือแม้แต่ธุรกิจอื่น)ใดๆ” ไม่มีสำนักงาน ไม่มีผู้บริหาร ไม่น่ามีแม้แต่พนักงานประจำด้วยซ้ำ รายได้ทั้งหมดมาจากผลตอบแทนจากการลงทุน รายจ่ายเกือบทั้งหมดคือการจ้างบริษัทแม่คืออินทัชบริหารจัดการงานต่างๆ ให้ รวมถึงใช้พื้นที่ (ระบุเป็นตำแหน่งที่ตั้งกิจการ) ด้วย
 
2. ดังนั้นการระบุว่า “สื่อโฆษณาและผลตอบแทนจากการลงทุน” ในแบบ ส.บช. 3 หรือ “ใบปะหน้า” ที่นำส่งงบการเงินประจำปี 2565 ในวันที่ 10 พ.ค. 2566 จึงน่าสงสัย เพราะข้อมูลในเอกสารการเงิน 2565 ทั้งหมดไม่มีตรงไหนบ่งชี้เลยว่าไอทีวีทำ “สื่อโฆษณา” (แถมประธานกรรมการไอทีวีในการตอบคำถามผู้ถือหุ้น วันที่ 26 เม.ย. ก็พูดชัดว่า “ยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ” ตอนนี้สถานะคือ รอคดีความสิ้นสุดแล้วค่อยคิดต่อ)
 
3. เอกสารชุดเดียวที่ดูเหมือนอธิบายว่าไอทีวีทำ “สื่อโฆษณา” ก็คือ ร่างงบการเงินไตรมาส 1 ปี 2566 (ม.ค. – มี.ค. 66) ของไอทีวี (เผยแพร่บนเว็บไซต์อินทัช กูเกิลด้วยคำว่า “งบการเงิน ไตรมาส 1 2566 ไอทีวี) ซึ่งทุกหน้าเขียนว่า DRAFT FOR INTERNAL USE — แปลว่า ยังไม่ใช่งบการเงินทางการ ในหน้าสุดท้ายของร่างเอกสารชิ้นนี้ เขียนว่า
“10. เหตุการณ์ภายหลังรอบระยะเวลารายงาน
“เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 บริษัทมีการนำเสนอการลงสื่อให้กับกิจการที่เกี่ยวข้องกัน และเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 2/2566 มีมติรับทราบรูปแบบการดำเนินธุรกิจของบริษัท โดยเป็นผู้ให้บริการลงสื่อโฆษณา
 
“จากการที่บริษัทได้มีการให้บริการแก่บริษัทในกลุ่มข้างต้น บริษัทจะเริ่มรับรู้รายได้ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2566”
4. น่าสงสัยว่า บริษัทที่ไม่ได้ทำธุรกิจอะไรแล้ว ไม่มีสำนักงาน พนักงาน อุปกรณ์ ฯลฯ ของตัวเอง จู่ๆ ทำไมจะลุกขั้นมา “นำเสนอการลงสื่อ” ให้กับบริษัทในเครือเดียวกัน จะเอาคนจากไหนมาให้บริการนี้? แล้วทำไมบริษัทในกลุ่มเดียวกัน (อินทัช) ซึ่งก็ลงสื่อซื้อสื่อต่างๆ เองได้มากมายอยู่แล้ว ถึงจะอยากมา “ใช้บริการ”(?) นี้ของไอทีวี ?
 
5. ธุรกรรมนี้กับบริษัทในกลุ่ม (สมมุติว่าทำจริง) แต่ไม่ได้เสนอขายให้กับคนทั่วไป ไม่มีลูกค้าจากข้างนอก จะถือว่าเป็นการทำ “ธุรกิจสื่อโฆษณา” ได้หรือไม่ ?
ฝากช่วยกันตั้งคำถามต่อนะคะ
ร่างงบการเงิน (DRAFT FOR INTERNAL USE) ไตรมาส 1 ปี 2566 ของไอทีวี — https://www.intouchcompany.com/…/1Q66%20Draft%20ITV.pdf
 

และต่อมายังได้มีการโพสต์ข้อความว่าแถมอีกประเด็นนะคะ เรื่องความผิดปกติของเอกสาร ร่างงบการเงินไตรมาส 1 ปี 2566 ของไอทีวี

1. ไอทีวีเป็นบริษัทมหาชนที่ถูกถอดออกจากตลาดหุ้นนานแล้ว ไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องจัดทำและนำส่งงบการเงินรายไตรมาส
2. ปกติงบไตรมาสถ้านำส่งทางการ จะผ่านการสอบทานโดยผู้สอบบัญชี (ละเอียดน้อยกว่าการตรวจสอบหรือ audit งบประจำปี)
3. การจัดทำร่างงบไตรมาสที่ยังไม่ผ่านการสอบทานไม่ใช่เรื่องผิดปกติ การจัดทำร่างระดับ draft for internal use (ใช้เพื่อการภายในเท่านั้น) ก็ไม่ผิดปกติ เพราะร่างงบไตรมาสมีประโยชน์ในการจัดการ — สิ่งที่ผิดปกติจริงๆ ในกรณีของไอทีวี คือ มีการนำร่างงบไตรมาส draft for internal use ใช้เพื่อการภายในเท่านั้น ขึ้นเผยแพร่บนเว็บบริษัทอินทัชที่คนทั่วไปสามารถกูเกิลและเข้าถึงได้ และเอกสารภายในนี้ถูกนำไปประกอบการร้องเรียนต่อ กกต.
4. หัวข้อ 10. ท้ายร่างงบไตรมาส 1 ปี 66 ชื่อหัวข้อก็บอกอยู่แล้วว่า “เหตุการณ์ภายหลังรอบระยะเวลารายงาน” แปลว่า ไม่ต้องไปคาดหวังความสอดคล้องระหว่างรายการนี้กับข้อมูลด้านการเงินใดๆ ในงบตัวนี้ (หรือแม้แต่งบไตรมาสเดียวกันของบริษัทแม่คืออินทัช) — แต่สังเกตความเร่งรีบจากกั้นหลังที่ไม่ตรงกับข้ออื่นๆ
5. คนที่ทำบัญชีให้ไอทีวีตลอดมาหลายปีคืออินทัช ดังนั้นอินทัชคือผู้ที่ควรชี้แจงว่ารายการ “นำเสนอการลงสื่อใหักับกิจการที่เกี่ยวข้องกัน” ในข้อ 10. คือรายการอะไร ไอทีวีมีพนักงานทำหรือ? แล้วทำไมข้อความในแบบนำส่งงบปี 2565 (ส.บช3) ถึงได้ระบุ “สื่อโฆษณา” ทั้งที่รายการที่เกี่ยวข้องนี้เพิ่งมาโผล่ใน “ร่าง” งบไตรมาส 1 ปี 2566 ซึ่งผู้ถือหุ้นรายย่อยในวันประชุม 26 เม.ย. ยังไม่รู้เรื่องนี้เลย ?
ประธานคิมห์งานเข้าอีกหลายเรื่องเลยค่ะ เอาใจช่วย
 
 
วันที่ 15 มิถุนายน 2566 ทาง ITV ออกหนังสือชี้แจงผู้ถือหุ้น เผยบันทึกการประชุม ไม่ต้องการสื่อสารว่า “ยังประกอบกิจการสื่อ” ชี้แจ้งว่า
 

บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เผยแพร่หนังสือชี้แจงผู้ถือหุ้นผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัท โดยระบุว่า จากเหตุการณ์ที่เผยแพร่ในสื่อเกี่ยวกับการบันทึกรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2566 (“รายงานการประชุม”) แบบนำส่งงบการเงิน (ส.บช.3) ของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน)  (“บริษัท”) ปี 2565 และงบการเงินไตรมาส 1 ประจำปี 2566 ของบริษัท บริษัทขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริง ดังนี้

1. ในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 (“การประชุมฯ”) บริษัทได้จัดประชุม เมื่อวันที่ 26 เม.ย.ที่ผ่าน โดยในการประชุมดังกล่าวมีทั้งหมด 9 วาระ วาระที่ 1 ถึงวาระที่ 8 เป็นวาระรายงาน/อนุมัติและพิจารณาการดำเนินการทางธุรกิจตามการค้าปกติของบริษัท ส่วนวาระที่ 9 เป็นวาระอื่น ๆ ซึ่งไม่ได้มีผู้ถือหุ้นเสนอวาระเพื่อพิจารณาและอนุมัติเพิ่มเติม บริษัทจึงเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นซักถามในเรื่องอื่น ๆ 

ในการประชุมดังกล่าว มีคำถามที่ซ้ำซ้อนจากผู้ถือหุ้นหรือเป็นคำถามที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจการของบริษัท ดังนั้น การจัดทำบันทึกคำถามและคำตอบในรายงานการประชุม เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจการของบริษัทเท่านั้น เพื่อให้มีความกระชับ และชัดเจน โดยมิได้จดบันทึกการประชุมเป็นคำต่อคำ

ทั้งนี้ การบันทึกรายงานการประชุมที่เป็นประเด็นอยู่ในขณะนี้ เป็นการสรุปคำตอบจากคำถามหลายข้อที่ผู้ถือหุ้นส่งเข้ามา ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับข้อพิพาทเรื่องสิทธิตามสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์นั้น บริษัทได้บันทึกรายงานการประชุมไว้แล้วในวาระ 9 หน้า 14 ว่า

“ผลคดีเป็นจุดสำคัญที่สุด หากผลคดียังไม่ออก เป็นไปได้ยากมากที่บริษัทจะดำเนินการใด ๆ ในขณะนี้…”

สำหรับในส่วนที่มีการบันทึกรายงานการประชุมว่า “ปัจจุบัน บริษัทยังดำเนินกิจการอยู่ ตามวัตถุประสงค์ของบริษัทและมีการส่งงบการเงินและยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลตามปกติ” นั้น

บริษัทไม่ได้ต้องการจะสื่อสารว่า บริษัทยังประกอบกิจการสื่ออยู่ แต่หมายถึงบริษัทยังคงดำเนินการอยู่ภายใต้วัตถุประสงค์ที่บริษัทได้จดทะเบียนไว้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยมิได้มีการเลิกกิจการแต่อย่างใด

2.ในส่วนของแบบนำส่งงบการเงิน (ส.บช.3) ของบริษัทประจำปี 2565 ที่บริษัทยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 10 พ.ค.นี้บริษัทขอเรียนว่า รายได้จากการประกอบธุรกิจของบริษัท ได้แสดงอยู่ในงบการเงินของบริษัท ประจำปี 2565 ซึ่งได้มีการตรวจสอบ และลงนามรับรองโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาตและได้ยื่นต่อกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งในงบการเงินดังกล่าวได้แสดงให้เห็นว่า รายได้ของบริษัทมาจากผลตอบแทนจากการลงทุนและดอกเบี้ยรับเท่านั้น ซึ่งงบการเงินฉบับดังกล่าว บริษัทได้ยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 21 มี.ค.นี้ 

3.ในส่วนของงบการเงินไตรมาส 1 ประจำปี 2566 ของบริษัทที่มีการโพสต์ในเว็บไซต์ www.itv.co.th ตามที่มีข่าวอยู่ในขณะนี้นั้น

 

 

บริษัทขอเรียนให้ทราบว่า งบฯ ดังกล่าวเป็นเพียงร่างงบการเงินที่ใช้ภายในบริษัท และยังไม่ได้มีการสอบทานหรือตรวจสอบจากผู้ตรวจสอบบัญชี จึงยังไม่สามารถนำไปอ้างอิงหรือใช้งานภายนอกบริษัทได้ และไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายใด ๆ

บริษัทขอเรียนย้ำว่า การดำเนินการประชุม การจัดทำรายงานการประชุม การนำส่งแบบนำส่งงบการเงิน งบการเงิน และการดำเนินการต่าง ๆ ของบริษัท เป็นการดำเนินการทางธุรกิจตามปกติและเป็นไปตามกฎหมายทุกประการ

หลังจากได้มีหนังสือชี้แจงผู้ถือหุ้น ทางสฤณี อาชวานันทกุล นักเขียนและนักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ ก็ได้แสดงความเห็นว่าจดหมายชี้แจงจากไอทีวีวันนี้ค่ะ (15 มิ.ย.)

สรุปสั้นๆ คือ เขาตอบว่า
1. รายงานการประชุมไม่ได้ตั้งใจจะบันทึกคำต่อคำ ใจความสำคัญของคลิปกับในรายงานไม่ต่างกัน บริษัท “ไม่ได้ต้องการสื่อสารว่าปัจจุบันบริษัทยังทำสื่ออยู่” แต่อย่างใด 
 
2. ยืนยันว่า รายได้ของบริษัทในปี 2565 มีเพียง “ผลตอบแทนจากการลงทุนและดอกเบี้ยรับ” เท่านั้น
อย่างไรก็ดี ไอทีวีไม่ได้อธิบายว่า แล้วทำไมแบบ ส.บช.3 (แบบนำส่งงบการเงินประจำปี) ที่แนบงบปี 2565 ถึงได้ระบุ “สื่อโฆษณา” ในช่อง “สินค้าและบริการ” ในเมื่อทั้งปี 2565 ไม่มีการทำธุรกิจนี้และไม่มีรายได้จากธุรกิจนี้เลย 
 
นั่นแสดงว่า แบบ ส.บช.3 ที่บริษัทนำส่งไม่ถูกต้องอย่างแรงในสาระสำคัญ บริษัทควรขอแก้ไขกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าโดยเร็วค่ะ
 
3. ยืนยันว่า ร่างงบการเงินไตรมาส 1 ปี 2566 นั้นเป็นเอกสารภายในเท่านั้น “จึงไม่สามารถนำไปอ้างอิงหรือใช้งานนอกบริษัทได้” — แปลว่า เอกสารที่เรืองไกรนำไปยื่น กกต. นั้นน่าจะใช้ไม่ได้นะคะ ถ้าเป็นเอกสารชุดเดียวกัน
อย่างไรก็ดี ไอทีวีไม่ได้อธิบายว่า ในเมื่อเป็นร่างเอกสารภายใน แล้วทำไมถึงเอาขึ้นเว็บบริษัทให้คนทั่วไปและนักร้องเข้าถึงได้ 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
CULTURE

สกน. ยื่น ‘พิธา’ ย้ำรื้อมรดกกฎหมายป่าไม้ ดันนโยบายชาติพันธุ์ร่วมพรรครัฐบาล

 
เมื่อวันที่ 15 มิถุยน 2566 ทางเพจ มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ  โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊คถึงสกน. ยื่น ‘พิธา’ เสนอ 4 ข้อเรียกร้องแก้ปัญหาชาติพันธุ์ ย้ำรื้อมรดก คสช.-ประวัติศาสตร์กดขี่ ห่วงนโยบายชาติพันธุ์ไม่ปรากฏใน MOU พรรคร่วมรัฐบาล ขอมีส่วนร่วมผลักดันนโยบายชาติพันธุ์ในอนาคต พิธาย้ำพร้อมดันเพดานสิทธิชาติพันธุ์สู่สากล
 
สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ได้ยื่นหนังสือถึง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในเวทีพรรคก้าวไกลพบภาคประชาสังคมกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ณ ศูนย์ฝึกอบรมงานพัฒนาชนเผ่าพื้นเมือง สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ยืนยันข้อเสนอจากเครือข่ายที่ดิน-ป่าไม้ชาติพันธุ์ 4 ข้อ กังวลนโยบายชาติพันธุ์ 7 ด้านของพรรคก้าวไกลไม่ปรากฏใน MOU พรรคร่วมรัฐบาล
 
หนังสือ สกน. ระบุว่า ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2565 พรรคก้าวไกลได้เปิดตัวนโยบายชาติพันธุ์ 7 ด้าน ณ จังหวัดเชียงใหม่ และผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้นำนโยบายดังกล่าวมาหาเสียงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามข้อห่วงกังวลของ สกน. คือ นโยบายด้านชาติพันธุ์ไม่ได้รับการบรรจุอยู่ใน MOU ของพรรคร่วมรัฐบาล จึงเกรงว่าอาจไม่มีการขับเคลื่อนต่อเป็นวาระเร่งด่วนของรัฐบาลที่นำโดยพรรคก้าวไกล และมีข้อเสนอถึงพรรคก้าวไกล ดังนี้
 
1. ผลักดันให้มีกลไกการทำงานขับเคลื่อนนโยบายด้านชาติพันธุ์ เพื่อเป็นกลไกการประสานงานร่วมมือกันของรัฐบาล หน่วยงานราชการ และภาคประชาชน ให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายในการแก้ไขปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์
 
2. รื้อถอนกฎหมาย นโยบาย มติคณะรัฐมนตรี รวมถึงกลไกด้านการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นมรดกจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่กระทบต่อสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ อาทิ พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562, พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562, พระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562, นโยบายทวงคืนผืนป่าและคดีความอันเกิดจากนโยบายดังกล่าง, มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561, คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ และคณะกรรมการป่าไม้แห่งชาติ และผลักดันกฎหมายคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง
 
3. รื้อถอนประวัติศาสตร์การกดขี่ชาติพันธุ์โดยรัฐและชนชั้นนำไทย โดยรัฐบาลที่นำโดยพรรคก้าวไกลต้องแถลงต่อองค์การสหประชาชาติและสังคมไทยว่า “ประเทศไทยมีชนเผ่าพื้นเมือง” และประกาศขอโทษที่ประเทศไทยมีนโยบายละเมิดสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองมาโดยตลอดตั้งแต่ยุคสงครามเย็น และพร้อมที่จะฟื้นฟูสิทธิ คืนสิทธิและความเป็นธรรมให้ชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย เป็นก้าวแรกของการชำระประวัติศาสตร์เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ในทุกด้าน
 
4. กรณีรัฐมนตรีประจำกระทรวงที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ กระทรวงวัฒนธรรม ขอให้พรรคก้าวไกลจัดวางบุคคลที่เหมาะสมในการดำรงตำแหน่งดังกล่าว โดยเป็นคนที่มีความเข้าใจในปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ ไม่มีอคติต่อภาคประชาชน สามารถทำงานร่วมกันกับภาคประชาชนเพื่อสร้างบรรยากาศความร่วมมือ โดยสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) พร้อมมีส่วนร่วมในการดำเนินนโยบายที่เกี่ยวข้อง
 
จรัสศรี จันทร์อ้าย ชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านผาตืน ต.ป่าเมี่ยง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า หลังการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในปี 2557 กลุ่มชาติพันธุ์ได้รับผลกระทบจากกฎหมายด้านที่ดิน-ป่าไม้ และนโยบายการจัดการที่ดินของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) จึงเรียกร้องให้รื้อถอนกฎหมาย นโยบาย และมติคณะรัฐมนตรีที่สร้างผลกระทบให้ชุมชนเหล่านั้น และผลักดันกฎหมายคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์
 
“ถ้าท่านได้เป็นนายกรัฐมนตรีก็ขอให้ท่านแก้ไขตรงนี้ และที่ผ่านมาในการทำ MOU ที่ผ่านมา เราไม่เห็นว่าจะมีประเด็นชาติพันธุ์อยู่ในนั้น อยากให้ท่านเอาให้ชัดเจนในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งคณะทำงานขึ้นมา พี่น้องบนดอยปากเสียงก็มีเท่านี้ คงต้องทำให้เป็นคณะทำงานที่มีรูปร่างชัดเจน ผลักดันกฎหมายแก้ปัญหาชาติพันธุ์ให้ไปถึง” จรัสศรีกล่าว
ด้าน ปราโมทย์ เวียงจอมทอง ชาวปกาเกอะญอชุมชนบ้านขุนแม่เหว่ย (แม่ปอคี) ต.ท่าสองยาง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ย้ำเรื่องการรื้อถอนนโยบายทวงคืนผืนป่า มรดกของ คสช. ซึ่งทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ได้รับผลกระทบ ต้องติดคุก ติดคดีกว่า 48,000 คดี เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขเร่งด่วนใน 100 วันแรกที่พรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาล
“อยากให้พรรคก้าวไกลผลักดันการนิรโทษกรรมคดีทวงคืนผืนป่า ช่วยผลักดันกฎหมายที่ดิน-ป่าไม้ที่ต้องเป็นการร่างใหม่ ไม่ใช่แค่แก้ไขกฎหมาย โดยพวกเรายินดีที่จะเข้าไปร่วมมือและมีส่วนร่วมในกระบวนการผลักดันกฎหมายและนโยบายนี้ด้วย” ปราโมทย์ย้ำ
 
‘พิธา’ ย้ำ ก้าวไกลเป็นพรรคเดียวที่เคลื่อนสิทธิชาติพันธุ์ พร้อมดันเพดานสิทธิชาติพันธุ์สู่สากล
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้มอบนโยบายด้านชาติพันธุ์ โดยย้ำว่าอยากให้มั่นใจว่าพรรคก้าวไกลพยายามทำความเข้าใจต่อประเด็นชาติพันธุ์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสนใจเฉพาะของพรรค โดยตั้งแต่ยุคพรรคอนาคตใหม่ได้มีการตั้งคณะทำงานปีกชาติพันธุ์ขึ้นมาในพรรค ส่วนกรณีนโยบายชาติพันธุ์ที่ไม่ปรากฏใน MOU พรรคร่วมรัฐบาลนั้น เนื่องจากพรรคก้าวไกลเป็นพรรคเดียวที่ผลักดันเรื่องนี้ และจะผลักดันต่อไป
 
“เราใส่ใจมาก ไม่ว่าจะเรื่องทวงคืนผืนป่า พ.ร.บ. พ.ร.บ.อุ้มหาย ที่ผ่านตั้งสภาร่างฯ และสภาบนแล้ว แต่ติดที่ พ.ร.ก. ชะลอการบังคับใช้ ทำให้เรื่องการแก้ปัญหาบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ หรือ ชัยภูมิ ป่าแส ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ การผลักดัน พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ การส่งเสริมสิทธิชนเผ่า เป็นสิ่งที่ทำมาตลอด 4 ปี และจะทำไปเรื่อยๆ แต่สิ่งที่ต้องเรียนรู้เพิ่มเติมคือมาคุยกับทุกท่าน เพื่อให้ท่านกำหนดอนาคตของทุกท่านเอง” พิธากล่าว
 
หัวหน้าพรรคก้าวไกลยังย้ำว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากถึง 7 ล้านคน ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรทั้งหมด ซึ่งหมายความว่ากลุ่มชาติพันธุ์ไม่ใช่คนชายขอบ เป็นกลุ่มคนที่มีศักยภาพ ต้องถามกลับว่าทำไมเขตเศรษฐกิจพิเศษมีเยอะ ทำไมจะมีเขตวัฒนธรรมพิเศษไม่ได้ เราต้องรุกกลับ ไม่ได้ตั้งรับให้เขาถล่มเราได้อย่างเดียว
“เราต้องเพิ่มเพดาน ด้วยการยึดกฎองค์การสหประชาชาติ (UN) ให้แน่น UN เขามีกลไกที่ดูเรื่องสิทธิของชาติพันธุ์โดยเฉพาะ ตอนนี้มีมา 16 คน ของเอเชียมี 2 คน จากเมียนมาร์ และ อินเดีย จะหมดวาระปีหน้า ผมต้องการส่งพี่น้องชาติพันธุ์คนไทยสู่สหประชาชาติเพื่อผลักดันสิทธิชาติพันธุ์ให้ได้ ซึ่งเป็นโอกาสทั้งของชาติพันธุ์ และโอกาสของคนไทยทั้งประเทศ” พิธาย้ำ
 

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
CULTURE

บ้านป่าชุมชน อ.เทิง จ.เชียงราย สืบทอดประเพณี เลี้ยงผีขุนห้วยขอฝนตกต้องตามฤดูกาล

 
ที่บ้านป่าชุมชนในหมู่บ้านห้วยไคร้ ตำบลเวียง อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย นายอนันต์ ปริศนา ผู้ใหญ่บ้าน บ้านชุมชนบ้านห้วยไคร้ ต.เวียง อ.เทิง จ.เชียงราย ได้มีการจัดกิจกรรมฟังธรรมขอฝน เลี้ยงผีขุนห้วยไคร้ ตามความเชื่อของชุมชน เพื่อให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ซึ่งมักจะทำพิธีในช่วงต้นฤดูฝนของทุกปี นอกจากนี้ยังเป็นการสืบทอดประเพณีท้องถิ่นให้สืบทอดต่อไปถึงลูกหลาน
 
โดยพิธีการฟังธรรมขอฝนนั้น จะทำที่บริเวณอ่างเก็บน้ำของชุมชน พิธีกรรมขอฝน เป็นการที่พระสงฆ์ล้านนา จำนวน 5 รูป ได้ทำการเทศนาธรรมพื้นเมืองเหนือ ของทางภาคเหนือของประเทศไทย ตามความเชื่อพระพุทธศาสนา ธรรมที่เทศนา ชื่อว่า ธรรมมัจฉาพระยาปลาช่อน คติความเชื่อโบราณใช้เทศนาเพื่อให้เกิดฝนตกต้องตามฤดูกาล ในส่วนของการเลี้ยงผีขุนห้วย ผู้เฒ่าและชายในหมู่บ้านจะเดินทางเข้าไปในป่าที่ลึกห่างจากหมู่บ้านซึ่งถือเป็นจุดที่เป็นต้นน้ำ เพื่อได้ทำการบอกกล่าวไหว้วอน ผีขุนห้วยให้ประทานฝน ขอฝนให้เพียงพอในการทำการเกษตร ให้ฝนฟ้า เป็นปกติ พืชไร่ นาข้าวอุดมสมบูรณ์ ไม่ให้เกิดความเสียหายจากพายุ ลูกเห็บหรือโรคระบาด ยังรวมไปถึงเรื่องการคุ้มครองคนในชุมชนให้ปลอดภัย ไม่มีเภทภัยร้ายเข้ามายังชุมชน ทั้ง คนและสัตว์เลี้ยง
 
นาย วิษณุ น้อยต๊ะ ผู้เฒ่าชาวชุมชนห้วยไคร้ กล่าวว่า การเลี้ยงผีขุนห้วย เป็นจารีตประเพณีที่สืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน เพื่อขอให้ฝนฟ้าตกตามฤดูกาล โดยการเลี้ยงผีขุนห้วยที่ผ่านมา ทำให้เกิดฝนตกต้องตามฤดูกาล จึงเป็นประเพณีที่สืบต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้
 
นายอนันต์ ปริศนา กล่าวว่า การฟังธรรมขอฝน เลี้ยงผีขุนห้วยมีการทำมาทุกปี ปีไหนไม่ทำไม่ได้ก็จะต้องทำ ฝนตกหรือไม่ตกก็ต้องทำ ถ้าไม่ทำผู้เฒ่าผู้แก่เริ่มเดือนร้อนให้กับทางผู้นำแล้ว หรือว่าหากเกิดเหตุไม่ดีขึ้นในหมู่บ้าน ก็จะโทษผู้นำที่ไม่เลี้ยงผีขุนห้วย ทำให้ต้องได้เลี้ยงทุกปี ซึ่งเป็นความเชื่อที่สืบต่อกันมาของชาวบ้าน การเลี้ยงผีขุนห้วยเป็นการอ้อนวอนต่อผี เพื่อขอน้ำฝนให้อุดมสมบูรณ์ รวมถึงการขอให้คนในหมู่บ้านปลอดภัย จากพายุ ภัยพิบัติต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นกับสัตว์เลี้ยง ผลผลิตทางการเกษตร รวมถึงคุ้มครองชุมชนให้ปลอดภัยจากโรคระบาด อยู่ร่มเย็นเป็นสุข
 
ทางด้าน ผศ.ดร.สหัทยา วิเศษ ผู้อำนวยการหลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัญฑิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา กล่าวว่า การจัดทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับประเพณีฟังธรรมขอฝน เลี้ยงผีขุนห้วย มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะศึกษาสภาพของประเพณีที่มีอยู่ในปัจจุบัน และแนวทางในการอนุรักษ์ ส่งเสริมประเพณีนี้อย่างไร ในส่วนของชุมชนซึ่งในส่วนของฟังธรรมของฝนเรื่องของประเพณีของฝน ถือว่าเป็นประเพณีที่ขึ้นบัญชีในมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติในเมื่อปี 2557 ซึ่งเป็นประเพณีพิรุณศาสตร์ ซึ่งในส่วนของประเพณีฟังธรรมขอผลเป็นประเพณีของท้องถิ่นในท้องถิ่นของประเทศไทยยังมีการทำอยู่ ซึ่งจะเรียกชื่อต่างๆกันไปเช่นแห่บั้งไฟ จุดบั้งไฟ แห่นางแมว หรือว่าเป็นการแห่ภาคอุปคุต ที่บ้านห้วยไคร้เป็นการฟังธรรม เพื่อการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำห้วยไคร้ซึ่งก็จะมีทั้งเรื่องของการเรียนหนังสือควบคู่ไปกับการฟังธรรมของฝนด้วย
 
ซึ่งการฟังธรรมของผมก็เป็นเรื่องของของทางพระพุทธศาสนาโดยพระสงฆ์จะสวดคาถาที่เรียกว่าคาถาปลาช่อน เป็นคาถาที่เกี่ยวกับพระเวสสันดร ซึ่งก็จะทำให้ชาวบ้านได้มีความตระหนักได้รับรู้ว่าเขาจะต้องปกป้องรักษาป่าต้นน้ำซึ่งการทำพิธีนี้เป็นการขอฝนจากเจ้าป่าเจ้าเขาที่ดูแลรักษาป่าต้นน้ำก่อนฤดูการทำนาประมาณเดือนมิถุนายน ซึ่งชาวบ้านจะทำพิธีนี้เป็นประจำทุกปี และมีคุณค่าในทางจิตใจของชุมชนหลังจากทำพิธีนี้เสร็จชาวบ้านมีความเชื่อว่าจะมีฝนตกมาประมาณ 2-3 วันข้างหน้า ในส่วนอีกอันหนึ่งก็คือเราก็เห็นถึงพลังของชุมชนในการมีส่วนร่วมที่จะจัดให้เกิดประเพณีนี้ขึ้นมา
 

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ณัฐวัตร ลาพิงค์ ผู้สื่อข่าวเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
NEWS UPDATE

สนามบินเชียงราย สนับสนุนนักท่องเที่ยว โหลดผลไม้ใต้ท้องเครื่องบินได้ 10 กิโลกรัม

 
เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2556 เวลา 14.00 น. นาวาอากาศตรีสมชนก เทียมเทียบรัตน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย แถลงข่าวประชาสัมพันธ์โครงการ ” ทชร.ร่วมใจช่วยเหลือเกษตรกร จำหน่ายผลไม้ให้ผู้โดยสาร” ซึ่งเป็นการสานต่อโครงการช่วยเหลือเกษตรกรจำหน่ายผลผลิตผลไม้ให้ผู้โดยสาร สายการบิน ของสำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงราย ตามที่ กระทรวงพาณิชย์ 
 
โดยกรมการค้าภายใน ได้มีหนังสือขอความอนุเคราะห์ให้ท่าอากาศยาน ภายใต้สังกัด บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) สนับสนุนพื้นที่ให้บริการกล่องบรรจุผลไม้จากกรมการค้าภายใน ขนาดบรรจุ 10 กิโลกรัม เพื่อให้ประชาชนหรือนักท่องเที่ยวนำไปบรรจุผลไม้เพื่อนำส่งหรือโหลดผลไม้ใต้ท้องเครื่องบินโดยสารได้ และสายการบินพาณิชย์ในประเทศสนับสนุนมาตรการความร่วมมือโหลดผลไม้ใต้ท้องเครื่องบินโดยสารโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายในปริมาณ 10 กิโลกรัมต่อผู้โดยสาร 1 คน เพื่อช่วยระบายผลผลิตผลไม้จากแหล่งผลิตในพื้นที่ไปสู่ผู้บริโภคได้อย่างมีคุณภาพและรวดเร็วที่สุด อันจะส่งผลให้ราคาผลไม้ในประเทศมีเสถียรภาพและส่งผลดีต่อเกษตรกรภายในจังหวัดเชียงรายโดยตรง
 
 
โครงการฯ นี้ถือเป็นการบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องภายในจังหวัดเชียงราย ประกอบด้วย พาณิชย์จังหวัดเชียงราย / สหกรณ์จังหวัดเชียงราย / องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย / หอการค้าจังหวัดเชียงราย / ผู้ใหญ่บ้านชุมชนโดยรอบท่าอากาศยาน รวมถึงสายการบินพาณิชย์ที่ให้บริการ ณ ทชร. ได้แก่ สายการบินไทยสมายล์ สายการบินไทยแอร์เอเชีย สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ และ สายการบินนกแอร์ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในจังหวัดเชียงรายให้มีช่องทางจำหน่ายผลไม้เพิ่มขึ้นโดยสามารถกระจายไปสู่ผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็วที่สุดโดยผ่านการ ” ขนส่งสินค้าทางอากาศ ณ ทชร.” และเพื่อเป็นการกระจายผลผลิตผลไม้ของเกษตรกร ทชร. ได้จัดจุดจำหน่ายผลไม้เพื่อจำหน่ายให้แก่ผู้โดยสาร ณ บริเวณหน้าชานชาลาอาคารผู้โดยสาร ประตู 1 ตั้งแต่วันที่ 14 – 16 มิถุนายน 2566 เวลา 08.00 ถึง 17.00 น.
 
 
ซึ่งโครงการๆ นี้ถือว่าเป็นการให้ความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนในจังหวัดเชียงราย เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรได้มีช่องทางจำหน่ายผลไม้ตามฤดูกาลและช่วยระบายผลผลิตสู่ผู้บริโภคเพิ่มขึ้น อันจะส่งผลต่อภาพรวมด้านเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงราย และเป็นการส่งเสริมการขนส่งสินค้าทางอากาศของ ทชร. โดย นาวาอากาศตรีสมชนก เทียมเทียบรัตน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ที่มีความมุ่งมั่นให้ ทชร. เป็น “ ศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางอากาศ “
 

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : Mae Fah Luang Chiang Rai International Airport – CEI

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
TOP STORIES

ลุ้นสำนักงบประมาณสนับสนุนขึ้นเงินเดือนพิทักษ์ป่า

 
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า ตามที่ได้ส่งหนังสือไปถึงอธิบดีกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา เพื่อขอปรับเพิ่มค่าตอบแทนหรือเงินเดือนของบุคคลภายนอกที่ปฏิบัติงานให้กับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตำแหน่งผู้พิทักษ์ป่า จำนวน 13,419 อัตรา จาก 9,000 บาท เป็น 11,000 บาท ต่อเดือน 
 
 
หลังจากมีการปรับอัตราค่าตอบแทนครั้งสุดท้ายตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 นั้น เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2566 กรมบัญชีกลางมีหนังสือตอบกลับมาว่าอนุมัติให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เบิกจ่ายค่าตอบแทนให้กับบุคคลภายนอกซึ่งปฏิบัติหน้าที่ ให้กับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จำนวน 13,419 อัตรา ให้ไม่เกิน 11,000 บาท ต่อเดือน โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป ซึ่งขณะนี้ กรมอุทยานฯ เตรียมประสานสำนักงบประมาณ เพื่อดำเนินการต่อไป
 
 
ทั้งนี้การขอปรับเพิ่มค่าตอบแทนหรือเงินเดือนของเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่านั้น เนื่องจากสภาพของเศรษฐกิจในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปส่งผลให้อัตราค่าครองชีพสูงขึ้น และค่าตอบแทนที่กรมบัญชีกลางอนุมัติให้กรมอุทยานแห่งชาติ ฯ ในอัตราไม่เกิน 9,000 บาท ตั้งแต่ปี 2555 นั้น ระยะเวลาได้ล่วงเลยมา 11 ปี แล้วจึงไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน และไม่สอดคล้องกับความเสี่ยงภัยที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา 
 
 
เพราะภารกิจของกรมอุทยานฯ นั้น ต้องออกไปลาดตระเวนและพักแรมในพื้นที่ป่าทุรกันดารตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน มีความเสี่ยงต่ออันตรายที่อาจเกิดแก่สุขภาพจากสัตว์มีพิษ เชื้อโรค และภัยอันตรายต่างๆ ที่มีอยู่ในป่า รวมถึงอันตรายจากผู้กระทำผิดในป่าที่มุ่งร้ายต่อเจ้าหน้าที่อีกด้วย
 
 
การจ้างเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่เป็นราษฎรในท้องถิ่นผู้มีความรู้ความสามารถมีความชำนาญในสภาพภูมิประเทศ มีทักษะในการเดินป่าเพื่อร่วมปฏิบัติงานร่วมกับเจ้าหน้าที่จึงมีความจำเป็น เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติภารกิจของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ในการอนุรักษ์ คุ้มครอง ฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า การป้องกันปราบปรามการบุกรุกทำลายทรัพยากรของชาติในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า วนอุทยาน และพื้นที่อนุรักษ์อื่น ๆ รวมกว่า 73 ล้านไร่.
 

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
CULTURE

สวจ.เชียงราย ลงพื้นที่ขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมเสริมสร้างเศรษฐกิจและสังคมสู่ความมั่นคงและยั่งยืน

 

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 66 นายพิสันต์ จันทรศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย มอบหมายให้นางสาวกฤษยา จันแดง ผู้อำนวยการกลุ่มกิจการพิเศษ และนางสุพรรณี เตชะตน นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ ลงพื้นที่ขับเคลื่อนงานวัฒนธรรม ดังนี้

เวลา 19.00 น. ลงพื้นที่ประสานการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม Cpot ณ ไร่สิงห์ปาร์ค อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย
 
เวลา 11.00 น. มอบหนังสือตามรอยเส้นทางธรรมแห่งศรัทธา ตามโครงการจาริกเส้นทางบุญในมิติศาสนา ประจำปี 2566 ณ เทศบาลตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย
 
เวลา 13.00 น. ร่วมประชุมอภิปรายกลุ่มเพื่อระดมความคิดเห็นต่อต้นแบบโมเดลธุรกิจยั่งยืนและระบบนิเวศธุรกิจของวิสาหกิจชุมชน และวิพากษ์แนวความคิดการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ณ โรงแรมฟอร์จูน รีเวอร์วิว เชียงของ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย
 
เวลา 16.30 น. ลงพื้นที่ตรวจติดตามประเมินผลชุมชนคุณธรรมต้นแบบโดดเด่น ตามโครงการพลังบวรในมิติศาสนา ประจำปี 2565 ณ ชุมชนคุณธรรมวัดท่าข้ามศรีดอนชัย ตำบลศรีดอนชัย อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย
 

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สนง.วัฒนธรรม เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
SOCIETY & POLITICS

อบจ.เชียงราย ลงพื้นที่ฟื้นฟู สภาพแวดล้อมและที่อยู่อาศัย 3 ตำบล

 

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 66 นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลเวียงห้าว อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย นำโดยนายทนง ตาสาย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเวียงห้าว ผู้นำชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่สำรวจที่อยู่อาศัย เพื่อปรับปรุงฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและที่อยู่อาศัย ณ พื้นที่ อบต.เวียงห้าว

และยังร่วมกับเทศบาลตำบลสันมะค่า อ.ป่าแดด จังหวัดเชียงราย นำโดย นายธวัชชัย จรูญชาติ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลสันมะค่า โดยมี นายชัยวัฒน์ อุดขา สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด เขตเลือกตั้งที่ 1 อ.ป่าแดด ผู้นำชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่สำรวจที่อยู่อาศัย เพื่อปรับปรุงฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและที่อยู่อาศัย ณ พื้นที่ตำบลสันมะค่า

 โดยต่อมาร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลเวียงห้าว อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย นำโดยนายทนง ตาสาย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเวียงห้าว ผู้นำชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่สำรวจที่อยู่อาศัย เพื่อปรับปรุงฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและที่อยู่อาศัย ณ พื้นที่ อบต.เวียงห้าว

ทั้งนี้ นายก นก นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย พร้อมให้ความช่วยเหลือและเป็นตัวกลางในการประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำการช่วยเหลือเร่งด่วนและยกระดับคุณภาพชีวิตให้ กับผู้ประสบปัญหา อย่างรวดเร็วและทันท่วงที
 

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : อบจ.เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
ECONOMY

ยกระดับผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นเชียงราย สู่ Product MICE Premium

 

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 66 นายสมหวัง บุญระยอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานเปิดการประชุมกิจกรรมการยกระดับการพัฒนาและการมีส่วนร่วมของชุมชนสู่ Product MICE Premium ครั้งที่ 2 จังหวัดเชียงราย โดยมีนายสุวัชชัย นิมมานเทวินทร์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ ภาคเหนือ ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการ เข้าร่วม ที่ โรงแรมเฮอริเทจ เชียงราย โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น อำเภอเมืองเชียงราย

 
ด้วยสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) สสปน. หรือ ทีเส็บ ผู้ดำเนินโครงการกิจกรรมการยกระดับการพัฒนาและการมีส่วนร่วมของชุมชนสู่ Product MICE Premium ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการนำผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นของจังหวัดเชียงราย มาสร้างเสน่ห์ที่แตกต่างเพื่อส่งมอบสินค้าและบริการของกิจกรรมไมซ์ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายหลายภาคส่วนในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งการประชุมในครั้งนี้เป็นการประชุมครั้งที่ 2 และเป็นการสรุปผลการคัดเลือกสินค้าและบริการจาก 14 ชุมชนให้เหลือ 5 ชุมชน ที่จะเป็นตัวแทนในการนำผลิตภัณฑ์ของท้องถิ่นในจังหวัดเชียงรายไปเผยแพร่ และจะได้รับการต่อยอด พัฒนาเป็นสินค้าหรือ ของชำร่วย ของที่ระลึก สร้างความประทับใจแก่นักเดินทางไมซ์ต่อไป
 
นายสมหวัง บุญระยอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า จังหวัดเชียงราย เป็นพื้นที่มีศักยภาพ ซึ่งจังหวัดเชียงรายเป็น 1 ใน 4 จังหวัดเป้าหมายของพื้นที่ภาคเหนือ ในการทำการตลาดเมือง (Destination Marketing) เพื่อมุ่งนำเสนออัตลักษณ์ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของชุมชนผ่านกลไกไมซ์เพื่อชับเคลื่อนเศรษฐกิจ สร้างรายได้ และพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ ชุมชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรม โดยมีเป้าหมายที่จะยกระดับเชียงรายเป็นไมซ์ชิตี้ในอนาคต
 
ที่ผ่านมาจังหวัดเชียงราย ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของจังหวัดเชียงรายมาโดยตลอด ซึ่งสอดคล้องกับกิจกรรมยกระดับพัฒนาผลิตภัณฑ์ของเชียงรายของทีเส็บ ที่จะนำผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นมาสร้างเสน่ห์ที่ป็นอัตลักษณ์ มีความแตกต่างหลากหลาย เป็นสินค้าและบริการที่เกิดจากการทำงานของเครือข่ายหลายภาคส่วนในพื้นที่ มีกระบวนการคัดเลือกสินค้าและบริการจากชุมชนต่างๆ เพื่อให้ได้ตัวแทนชุมชนที่มีคุณภาพ ในนามผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นของจังหวัดเชียงราย เพื่อนำไปเผยแพรให้เป็นที่รับรู้ได้กว้างขวาง และสามารถนำไปขยายผลเพิ่มเติม สร้างประโยชน์ สร้างรายได้ สร้างความเข้มแข็ง ให้ชุมชนของจังหวัดเชียงราย อย่างยั่งยืนต่อไป
 

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
SOCIETY & POLITICS

ให้เลือด 1 ครั้ง ต่อชีวิตได้มากกว่า 3 คน เชียงราย จัดวันผู้บริจาคโลหิตโลก

 
เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 66 ที่มูลนิธิสาธารณะกุศลสงเคราะห์เชียงราย (หน้าโรงเรียนสามัคคีวิทยาคม) อ.เมืองเชียงราย นางสุภาเพ็ญ ศิริมาตย์ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดเชียงราย นำสมาชิกเหล่ากาชาดเชียงราย เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจ.เชียงราย โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเปิดรับบริจาคโลหิต เนื่องในวันผู้บริจาคโลหิตโลก
 
สำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดเชียงราย จัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้นเพื่อรณรงค์ให้ผู้บริจาคโลหิตมีส่วนร่วมในการช่วยชีวิตผู้ป่วยด้วยความสมัครใจไม่หวังสิ่งตอบแทน และเพิ่มจำนวนการบริจาคโลหิต โดยผู้ที่ร่วมบริจาคโลหิตในวันนี้จะได้รับเสื้อยืดวันผู้บริจาคโลหิตโลก2566 ได้ลุ้นเครื่องใช้ไฟฟ้า และของที่ระลึกจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดเชียงรายอีกด้วย
 
คนมีปริมาณโลหิตประมาณ 17-18 แก้วน้ำ ร่างกายจะใช้เพียง 15-16 แก้วเท่านั้น ส่วนที่เหลือนั้นสามารถบริจาคให้ผู้อื่นได้ โดยสามารถบริจาคโลหิตได้ทุก 3 เดือน เมื่อบริจาคโลหิตออกไปแล้ว ไขกระดูกจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างเม็ดโลหิตขึ้นมาทดแทน ทำให้มีปริมาณโลหิตในร่างกายเท่าเดิม หากไม่ได้บริจาค ร่างกายจะขับเม็ดโลหิตที่สลายตัวเพราะหมดอายุอย่างสูญเปล่า การบริจาคเลือดแต่ละครั้ง สามารถช่วยชีวิตได้มากกว่า 3 ชีวิต เลือด 1 ถุงสามารถแยกส่วนประกอบได้ 3 ชนิดคือ พลาสมา เกล็ดเลือด และเม็ดเลือดแดง ที่ให้การรักษาต่างและจำเพาะต่างกัน
 
วันที่ 14 มิถุนายนของทุกปี กำหนดเป็นวันผู้บริจาคโลหิตโลก เพื่อระลึกถึง ดร.คาร์ล แลนด์สไตเนอร์ แพทย์ชาวออสเตรีย ผู้ค้นพบหมู่โลหิตระบบเอบีโอเป็นครั้งแรก ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่องานบริการโลหิตทั่วโลก จนทำให้ดร.คาร์ล แลนด์สไตเนอร์ ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือแพทยศาสตร์ในปี ค.ศ.1930
 
ในการนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) สหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ (IFRC) สหพันธ์ผู้บริจาคโลหิตระหว่างประเทศ (FIODS) และสมาคมบริการโลหิตระหว่างประเทศ (ISBT) จึงได้เชิญชวนให้สภากาชาดทั่วโลกจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองและขอบคุณผู้บริจาคโลหิต ซึ่งศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทยได้จัดงานวันผู้บริจาคโลหิตโลกครั้งแรกเมื่อปี 2547 และจัดมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันเป็นปีที่ 19
 

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
SOCIETY & POLITICS

กองทัพอากาศ เตรียมตั้งศูนย์ช่วยเหลือ แก้ไขไฟป่าหมอกควัน เชียงราย

 
เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 66 ที่ฝูงบิน 416 ตำบลรอบเวียง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย พลอากาศเอก อลงกรณ์ วัณณรถ ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นประธานในพิธีเปิดงานแสดงขีดความสามารถสนามบินเชียงราย (ฝูงบิน 416) รองรับการเป็นศูนย์กลางภารกิจการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน โดยมี นายวราดิศร อ่อนนุช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วย เรืออากาศเอก นายแพทย์ อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย เทศบาลนครเชียงราย นายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพอากาศ หัวหน้าส่วนราชการ ภาคเอกชน ผู้แทนชุมชน ประชาชน และนักเรียนในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เข้าร่วมกิจกรรม กว่า 500 คน
 
สำหรับโครงการดังกล่าว กองทัพอากาศได้จัดทำแผนงานพัฒนาพื้นที่สนามบินเชียงราย (ฝูงบิน 416) หรือ สนามบินเก่า เพื่อให้เป็นศูนย์กลางภารกิจการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน พร้อมพัฒนาสนามบินให้มีขีดความสามารถในการรองรับอากาศยานไร้คนขับ (UAV) รวมถึงเฮลิคอปเตอร์ ให้สามารถปฏิบัติภารกิจลาดตระเวนทางอากาศ เพื่อความมั่นคงในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน และภารกิจช่วยเหลือประชาชน เช่น การบินค้นหาและช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัย การใช้เฮลิคอปเตอร์เคลื่อนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉินจากพื้นที่ห่างไกลให้เข้ารับการรักษาต่อโรงพยาบาลที่มีความพร้อม การแก้ปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่จังหวัดเชียงราย และจังหวัดภาคเหนือตอนบน ตลอดจนให้การช่วยเหลือประชาชนกระจายสิ่งของบรรเทาทุกข์ให้กับประชาชนกรณีการเกิดภัยพิบัติ เป็นต้น
 
พลอากาศเอก อลงกรณ์ วัณณรถ ผู้บัญชาการทหารอากาศ กล่าวว่า ในช่วงเหตุการณ์ไฟป่าที่ผ่านมา ทำให้เกิดผลกระทบวงกว้าง ทั้งฝุ่นละออง รวมถึงสุขภาพของชาวจังหวัดเชียงราย กองทัพอากาศจึงเป็นต้องขอใช้พื้นที่แห่งนี้จัดตั้งศูนย์ศูนย์กลางภารกิจการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทำให้จังหวัดเชียงรายมีสนามบินที่มีมาตรฐานความปลอดภัยระดับสากลสำหรับการค้นหาและช่วยชีวิต รวมทั้งการลำเลียงทางอากาศ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน ให้ได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน รวมทั้งเป็นฐานบินในการวางกำลังอากาศยานไร้คนขับ และเฮลิคอปเตอร์ที่สามารถสนับสนุนการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก 
 
โดยกองทัพอากาศพร้อมระดมทรัพยากร ทั้งด้านอากาศยาน เทคโนโลยี ยุทโธปกรณ์ และกำลังพล เพื่อบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ ท้องถิ่น เอกชน และภาคประชาชน ในการรับมือสถานการณ์ภัยพิบัติที่มีแนวโน้มที่มีความถี่และมีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต โดยมีแผนงานการพัฒนาฯ ระหว่างปี 2566 – 2568 และเมื่อมีการพัฒนาสนามบินแล้ว ประชาชนยังสามารถเข้ามาใช้บริการพื้นที่สนามบิน เพื่อออกกำลังกายได้ปกติ ซึ่งกองทัพอากาศยังมีแผนการปรับปรุงถนนรองรับการเดิน – วิ่ง และการออกกำลังกายสำหรับประชาชน อีกทั้งยังอนุญาตให้รถยนต์ทั่วไปสามารถผ่านเข้า-ออกพื้นที่ได้ แต่ขอความร่วมมือให้ปฏิบัติตามมาตรการรักษาความปลอดภัยของสนามบินอย่างเคร่งครัด
 

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News