Categories
TOP STORIES

ช่วย 41 คนไทยหนีภัยสงครามเมียนมา นำคัดกรองในค่ายทหาร

 

18 พฤศจิกายน 2566 ที่จุดผ่านแดนถาวรไทย-เมียนมา ข้ามลำน้ำสายแห่งที่ 1 อ.แม่สาย จ.เชียงราย พล.ต.ประพัฒน์ พบสุวรรณ ผู้บัญชาการกองกำลังผาเมืองพ.อ.ณฑี ทิมเสน ผบ.ฉก.ทัพเจ้าตาก และประธานคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่นไทย–เมียนมา (TBC) ฝ่ายไทย ได้นำเจ้าหน้าที่ทหาร ตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้ารับตัวคนไทยจำนวน 41 คน เป็นชาย 22 คนและหญิง 19 คน ส่วนใหญ่เป็นคนวัยหนุ่มสาวอายุตั้งแต่ 20-40 ปี 

 

ที่หนีภัยสงครามระหว่างกองทัพโกกั้ง (MNDAA) กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (TNLA) และกองทัพยะไข่ (AA) กับทหารรัฐบาลเมียนมาในเมืองเล้าไก่ เขตปกครองตนเองโกกั้ง รัฐฉานตอนเหนือ โดยทั้งหมดได้รับการช่วยเหลือจากทหารว้า และทหารกองทัพภาคสามเหลี่ยม ประเทศเมียนมา และนำส่งตัวมาถึง จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา ติดกับ อ.แม่สาย ในวันเดียวกันนี้

 

โดยทางไทยมีการจัดรถบัสจากมณฑลทหารบกที่ 34 และมณฑลทหารบกที่ 37 จำนวน 2 คันไปรอรับ ซึ่งหลังจากทางการเมียนมาได้นำทั้งหมดเดินทางไปถึงบริเวณด่านพรมแดนมีการลงนามรับบุคคลระหว่างด่าน ตม.เชียงราย และด่าน ตม.ท่าขี้เหล็ก กรณีรับบุคคลที่เข้าเมืองเมียนมาอย่างผืดกฎหมายภายใต้การยินยอมของทั้ง 2 ฝ่ายเพื่อนำกลับประเทศไทย ก่อนที่จะพาทั้งหมดขึ้นรถบัสแยกชายหญิงโดยมีรายงานว่าทั้งหมดมีผู้ที่หลบหนีหมายจับจากประเทศไทยจำนวน 3-4 คน โดยเป็นหมายจับจากหลายท้องที่ทั้งในข้อหายาเสพติด ข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และข้อหาฉ้อโกงทรัพย์และนำเข้าระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้นำตัวทั้งหมดนั่งรถบัสไปยังค่ายเม็งรายมหาราช อ.เมืองเชียงราย ก่อนจากนั้นจึงคัดกรองโรคและจึงค่อยคัดแยกบุคคลก่อนดำเนินการตามขั้นตอนของ ตม.เชียงราย
ด้านนายพุฒพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย 


ได้ตั้งศูนย์บูรณาการคัดแยกเพื่อช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากปัญหาการค้ามนุษย์ จ.เชียงราย ภายในกองรอยอาสารักษาดินแดน จ.เชียงราย ที่ 1 อ.เมืองเชียงราย รอบรับคนไทยที่หนีภัยสงครามมาจากประเทศเมียนมาดังกล่าว โดยมีทีมสหวิชาชีพและผู้ที่เกี่ยวข้องทำการคัดแยกผู้ที่เข้าข่ายเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นรายๆ ไป ทั้งนี้ในป้จจุบันยังมีคนไทยที่ยังไม่ได้เดินทางกลับตกค้างในรัฐฉานโดยเฉพาะในเขตปกครองตนเองโกกั้งและใกล้เคียงอีกอย่างน้อย 240 คน ซึ่งทาง TBC ฝ่ายไทยจะประสานความร่วมมือกับฝ่ายเมียนมาอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะสู่ภาวะปกติต่อไป

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
TOP STORIES

ไม่กระทบโครงสร้าง ผู้ว่าฯ ลงตรวจอาคาร รพ.เชียงราย หลังพบรอยร้าว

วันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน 2566 จากกรณีเกิดแผ่นดินไหวเมื่อเวลา 08.37 น.ในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา ห่างจาก อ.แม่สาย จ.เชียงราย ไปทางทิศเหนือประมาณ 100 กิโลเมตร โดยมีความแรงตามมาตรการวัดริกเตอร์ได้ถึง 6.4 แม็กนิจูด ทำให้รับรู้แรงสั่นไหวได้ทั่วภาคเหนือนั้น นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย ได้เดินทางไปตรวจสอบอาคารเด็กภายในโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ อ.เมืองเชียงราย ซึ่งมีอาคารส่วนต่อขยายตรงจุดเชื่อมระหว่างอาคารเก่าและใหม่สูง 5 ชั้น ได้รับความเสียหายแตกเป็นรอยแนวตั้งยาว ซึ่งสามารถเห็นได้อย่างขัดเจนจากภายนอก ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดได้สั่งการให้ฝ่ายโยธาธิการให้เร่งเข้าไปตรวจสอบโดยด่วน เนื่องจากภายในอาคารมีผู้ป่วย แพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่ที่ต้องใช้อาคารอยู่เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีสถานที่อื่นๆ เช่น โรงพยาบาลแม่สาย ฯลฯ ที่ด้านหน้าอาคารได้รับความเสียหายเล็กน้อย ฯลฯ ซึ่งเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายในหลายพื้นที่อยู่ระหว่างสำรวจเพื่อซ่อมแซมต่อไป

 
นายณรงค์ น้ำผึ้ง โยธาธิการและผังเมือง จ.เชียงรายกล่าวว่ากรณีโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์นั้น ได้ตรวจสอบเบื้องต้นพบเป็นการกระเทาะออกมาของปูนฉาบที่เชื่อมระหว่างอาคารใหม่ และเก่ารวม 2 หลัง และอาคารสร้างเพื่อรองรับแผ่นดินไหวได้ตามมาตราวัดริกเตอร์ได้ถึงระดับ 6-8 เพราะฉะนั้นโครงสร้างจึงไม่ได้รับกระทบ และสามารถใช้งานได้ตามปกติ กระนั้นตนห่วงเรื่องบ้านเรือนของประชาชนที่ไม่สร้างเพื่อรองรับแผ่นดินไหวจึงได้ให้เจ้าหน้าที่ออกสำรวจแล้ว
 
สำหรับ อ.แม่สาย ซึ่งสั่นไหวมากเพราะอยู่ใกล้กับรัฐฉานมากที่สุดพบว่าช่วงเกิดเหตุได้มีคนงานก่อสร้างหลายคน เข้าไปทำงานเพื่อสร้างอาคารศูนย์บริการแบบที่เดียวเสร็จหรือ OSS ภายในที่ว่าการ อ.แม่สาย ตามปกติ แต่ขณะเกิดแผ่นดินไหวได้แรงงานคนหนึ่ง ทราบชื่อต่อมาว่านายยะหุ้ย อายุ 31 ปี ชาวสัญชาติเมียนมา กำลังอยู่บนนั่งร้านชั้น 3 ใกล้เคียงกับริเวณชั้น 2 ของอาคาร เมื่อเกิดแรงสันไหวทำให้นายยะหุ้ยพลัดตกลงมากระทบพื้นจนแขนซ้ายหักและได้รับบาดเจ็บสาหัส หลังเกิดเหตุหน่วยกู้ภัยและเจ้าหน้าที่ อ.แม่สาย ได้รีบนำตัวส่งโรงพยาบาลแม่สายอย่างเร่งด่วนเบื้องต้นพบว่าอาคารอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย
 
 
หลังจากสำหรับแผ่นดินไหวขนาด 6.4 ในวันที่ 17 พ.ย.นี้แล้ว ยังมีการสั่นไหวตามมาหรืออาฟเตอร์ช็อคอย่างน้อย 3-4 ครั้ง คือในเวลา 08.42 น.ความแรงระดับ 4.1 เวลา 08.46 น.ความแรง 3.5 เวลา 08.48 น.ความแรง 3.4 และเวลา 09.06 น.ความแรง 3.4 ตามลำดับ

 

แพทย์หญิงบุญศิริ จันศิริมงคล รักษาการในตำแหน่ง สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 1 ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหว โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์

 

 

ต่อมาเวลา 18.00 น. นายแพทย์วัชรพงษ์ คำหล้า นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วย นายแพทย์ศุภเลิศ เนตรสุวรรณ รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ ทีมผู้บริหาร และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมต้อนรับ แพทย์หญิงบุญศิริ จันศิริมงคล รักษาการในตำแหน่ง สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 1 พร้อมคณะ ในการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหว โดยได้เข้าเยี่ยมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่และผู้ป่วย หอผู้ป่วยพิเศษสูติกรรม ชั้น 5 อาคาร 68 ปีอนุสรณ์ พร้อมร่วมรับฟังสรุปรายงานเหตุการณ์ของโรงพยาบาลเชียงรายฯ  และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รัฐพล  เกติยศ รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงราย ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการบริหารวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สาขาภาคเหนือ 1 ได้ชี้แจงในส่วนของโครงสร้างอาคาร 68 ปีอนุสรณ์ เป็นอาคารที่ได้รับการออกแบบให้ต้านทานแผ่นดินไหว จากวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งลักษณะด้านวิศวกรรมโครงสร้าง มีการแยกเป็น 2 อาคาร เป็นผลให้การสั่นไหวของอาคารต่างกัน และจากการสำรวจความเสียหายจากทีมวิศวกร ไม่พบความเสียหายกับโครงสร้างหลักของอาคาร พบเพียงแต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นบริเวณรอยต่อ ในส่วนของกำแพงอิฐก่อที่ร่อน ซึ่งไม่ใช่ส่วนโครงสร้างอาคาร และความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่มีผลต่อความมั่นคงและเสถียรภาพของอาคาร ซึ่งที่ผ่านมา ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงราย ร่วมกับ กลุ่มงานโครงสร้างและวิศวกรรมทางการแพทย์ โรงพยาบาลเชียงรายฯ ได้มีการนำนวัตกรรมวัดแรงสั่นสะเทือนอาคารสูง ติดตั้ง ณ อาคารอุบัติเหตุและฉุกเฉิน เพื่อเตือนให้ผู้ใช้อาคารสูงมั่นใจว่ามี การวัด Potential Damage Scale เท่าไรในขณะแผ่นดินไหว เช่นครั้งนี้ พบแรงสั่นสะเทือนที่ Sensor วัดได้อยู่ในช่วง 2.5-8 G ประเมินได้ว่า ไม่มีผลกระทบต่ออาคารแต่อย่างใด 

 

พร้อมกันนี้ แพทย์หญิงบุญศิริ จันศิริมงคล สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 1 ได้เน้นย้ำให้สร้างความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน และความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ รวมถึงสภาพจิตใจที่ตามมาหลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว โดยให้ปฏิบัติตามแนวทาง “แผ่นดินไหว ใจไม่สั่นไหว” คือ ประเมินความเสี่ยงของพื้นที่และเตรียมความพร้อมในการรับมือ ประเมินปฏิกิริยาที่อาจจะเกิดขึ้น การเตรียมความพร้อมยอมรับอารมณ์ที่หวั่นไหว และหากมีผลกระทบต่ออารมณ์และการทำงาน มากกว่า 1 เดือน ให้ปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือ สถานพยาบาลใกล้บ้าน และได้สั่งการให้มีการประชุม ถอดบทเรียน ซ้อมแผนเผชิญเหตุ เพื่อรับสถานการณ์ในอนาคต 

 

ทั้งนี้ นายนฤดล อ่วมสุข ผู้อำนวยการศูนย์สนับสนุนบริการสุขภาพที่ 1 พร้อมสถาปนิก จะทำการสำรวจเพิ่มเติมในส่วนของโครงสร้างอาคารอื่น ๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับบุคลากรของโรงพยาบาล และประชาชนผู้เข้ารับบริการต่อไป

 

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : THE STANDARD

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
TOP STORIES

THE STANDARD แถลงจุดยืนกรณี ‘ลอกข่าว-สรุปข่าว’ จริยธรรมวิชาชีพ

 

วันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน 2566 สำนักข่าว THE STANDARD ภายใต้บริษัท เดอะสแตนดาร์ด จำกัด ในฐานะผู้ผลิตสื่อออนไลน์ ได้ชี้แจงจุดยืนในการทำงานและรายงานข่าวตามจริยธรรมวิชาชีพ รายละเอียดดังนี้

 

เรื่อง ชี้แจงจุดยืนในการทำงานและรายงานข่าวตามจริยธรรมวิชาชีพ
เรียน สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติและองค์กรวิชาชีพสื่อที่เกี่ยวข้อง

จากกรณีที่สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติแสดงความกังวล ‘เหตุการณ์ลอกข่าว-สรุปข่าว ละเมิดกฎหมาย-จริยธรรมวิชาชีพ’ ในการประชุมคณะกรรมการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ครั้งที่ 11/2566 ที่ได้นำเสนอเผยแพร่เป็นสาธารณะผ่านเว็บไซต์
www.presscouncil.or.th โดยมีการหยิบยกหลากหลายกรณีขึ้นมาหารือพูดคุย

 

สำนักข่าว THE STANDARD ภายใต้บริษัท เดอะสแตนดาร์ด จำกัด ในฐานะผู้ผลิตสื่อออนไลน์รับทราบข้อวิพากษ์วิจารณ์ทั้งหมดที่มีการกล่าวถึงสำนักข่าว THE STANDARD ซึ่งในทางข้อเท็จจริง สำนักข่าว THE STANDARD มิใช่ต้นสังกัดของพิธีกรข่าวที่ตกเป็นข่าวแต่ได้มีการร่วมงานในฐานะเป็นผู้จ้างให้จัดรายการ และขอยืนยันว่า เรายึดมั่นในจุดยืนด้านจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชน ให้คุณค่ากับการทำหน้าที่รายงานข่าวของนักข่าวภาคสนามทุกท่าน อีกทั้งยังไม่สนับสนุนการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในการนำเสนอข่าวทุกรูปแบบ 

 

ซึ่งตลอดการทำงานของสำนักข่าว THE STANDARD ได้ดำเนินการทำข่าวโดยยึดมั่นหลักการ ดังกล่าวเสมอมา โดยมีนักข่าวภาคสนาม และการจัดซื้อลิขสิทธิ์ภาพข่าวและเนื้อหาข่าวอย่างถูกต้องตลอดมา ดังนั้นไม่ว่ากรณีใดๆ ที่มีการดำเนินการเข้าข่ายละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา หรือละเมิดจริยธรรมวิชาชีพ สำนักข่าว THE STANDARD จึงไม่เห็นด้วย และยังคงมุ่งมั่นในการทำงานภายใต้มาตรฐานจริยธรรมวิชาชีพโดยเคร่งครัดต่อไป

 

ทั้งนี้ จากข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นบริษัทฯ มิได้นิ่งนอนใจ โดยได้มีกระบวนการดำเนินการหารือภายใต้ระเบียบการบริหารจัดการภายในองค์กรตามกระบวนการที่เหมาะสม นอกจากนี้ สำนักข่าว THE STANDARD ยินดีสนับสนุนการผลักดันให้มีการยกระดับมาตรฐานการทำงานวิชาชีพในอนาคต

 

ซึ่งมาจากกรณี “อ๊อฟ – ชัยนนท์ หาญคีรีรัตน์” ผู้ประกาศข่าวช่องวัน 31, จีเอ็มเอ็ม 25 และผู้ดำเนินรายการ THE STANDARD ออกมายืนยันทางเพจ “Off Chainon” ว่า ไม่ได้ก๊อปข่าวมาลง แต่คือการ สรุปข่าว ต่อเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อ๊อฟ ชัยนนท์ โพสต์เฟซบุ๊ก Off Chainon ได้โพสต์ขออภัยต่อกรณีดังกล่าว

โดยระบุว่า สวัสดีครับ ผมต้องขออภัย ขอน้อมรับทุกคำติชม ทุกคำแนะนำ เพื่อไปปรับปรุง และแก้ไขต่อไป ผมยืนยันว่า ผมเคารพและให้เกียรติเพื่อนๆ พี่น้องนักข่าว ผู้ประกาศข่าวทุกคนครับ

 

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : THE STANDARD

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
FEATURED NEWS

นักวิจัย ชี้เมียนมาแผ่นดินไหว สะเทือนถึงไทย ภาคเหนือจรดกทม.

 

วันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 นักวิจัยศูนย์แผ่นดินไหวแห่งชาติชี้ธรณีพิโรธเมียนมาสะเทือนถึงไทย ภาคเหนือจรดกทม. ต้องวางแผนรับมือระยะยาวหาแนวทางรับมือกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อให้ได้มาตรฐานการออกแบบที่รองรับแผ่นดินไหว และเสริมกำลังอาคารเก่า พร้อมติดตั้งอุปกรณ์วัดการสั่นสะเทือนเพิ่มเติมในรพ.สังกัดกทม. เพื่อศึกษาผลกระทบ ประเมินสภาพความปลอดภัยของอาคาร และเป็นต้นแบบให้อาคารอื่น

 

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 6.4 ลึก 9 กม. ใกล้เมืองเชียงตุง ประเทศเมียนมา ห่างจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือของ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ประมาณ 100 กม. เมื่อเวลาประมาณ 8.37 น. ของวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ศ. ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย หัวหน้าศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ กล่าวว่า ทีมวิจัยได้ติดตั้งอุปกรณ์วัดการสั่นสะเทือนบนภาคพื้นดินหลายตำแหน่งและในอาคารโรงพยาบาล 2 แห่งทางภาคเหนือ ขณะนี้ทีมวิจัยกำลังคำนวณแรงและข้อมูลการสั่นสะเทือนของพื้นดินและอาคาร โดยทำงานใกล้ชิดกับกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่าจะมีข้อมูลมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยคาดว่าผลการวัดการสั่นสะเทือนจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้อาจจะแรงที่สุดนับตั้งแต่เริ่มติดตั้งอุปกรณ์มาเมื่อตุลาคม 2565

 

ขณะที่ รศ. ดร.ธีรพันธ์ อรธรรมรัตน์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เผยว่า บริเวณใกล้เชียงตุงเคยเกิดแผ่นดินไหวขนาดกลาง (มากกว่า 5.0) บ่อยครั้ง เช่น ขนาด 6.8 ในปี 2554 หรือแผ่นดินไหวเชียงตุงขนาด 5.9 เมื่อปี 2565 เนื่องจากมีรอยเลื่อนมีพลังเป็นจำนวนมากอยู่ในบริเวณดังกล่าว ส่วนงานวิจัยแผ่นดินในประเทศไทยนั้นได้ดำเนินการในเชิงพื้นที่เพื่อเตรียมพร้อมให้ประเทศไทยสามารถนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งได้ติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดแรงสั่นสะเทือนที่โรงพยาบาลในจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย พร้อมระบบส่งสัญญาณแจ้งเตือนกับบุคลากรประจำอาคาร เช่น วิศวกร เจ้าหน้าที่เทคนิค เพื่อประเมินสภาพความปลอดภัยของอาคารได้อย่างทันท่วงที และหวังว่าจะเป็นอาคารต้นแบบเพื่อให้อาคารอื่นนำไปประยุกต์ใช้ต่อไป ซึ่งเครื่องมือดังกล่าวสามารถตรวจวัดการสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวได้อย่างต่อเนื่อง โดยเหตุการณ์ล่าสุดตรวจวัดได้พร้อมกันทั้งสองโรงพยาบาล และมีความรุนแรงที่สุดที่เคยตรวจสอบมาแต่ยังมีค่าต่ำกว่าค่าในการออกแบบของอาคาร โดยระบบสามารถสื่อสารกับวิศวกรประจำอาคารและช่างเทคนิคได้อย่างทันท่วงที ช่วยลดความสับสนในการจัดการด้านการสื่อสารภายหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวได้

 

ด้าน ศ. ดร.นคร ภู่วโรดม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่าแผ่นดินไหวครั้งนี้ทำให้คนที่อยู่อาคารสูงในกรุงเทพฯ รับรู้ได้ถึงแรงสั่นไหว ซึ่งทีมวิจัยได้ติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดการสั่นสะเทือนของอาคารเนื่องจากแผ่นดินไหว โดยได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มาจนถึงสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมในปัจจุบัน  โดยในกรุงเทพฯ ได้ติดตั้งอุปกรณ์ไว้อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ซึ่งมีความสูง 37 ชั้น เมื่อเดือนมีนาคม 2566 ทำให้การเก็บข้อมูลทราบถึงผลกระทบต่ออาคารสูงในกรุงเทพฯ เพราะการเกิดเหตุแต่ละครั้งจะเกิดการสั่นไหว สร้างความกังวลต่อความมั่นคงของอาคาร ประชาชนตื่นตระหนกวิ่งหนีและไม่กล้ากลับไปใช้อาคารเพราะไม่มั่นใจถึงความปลอดภัย

 

“แผ่นดินไหวครั้งนี้อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ หลายร้อยกม. แต่ก็สั่งผลให้เกิดการสั่นไหวในหลายอาคารสูง โดยพบว่าอาคารโยกด้วยความรุนแรงประมาณ 2.3 มิลลิ-จี (ค่าความเร่งโน้มถ่วงของโลก) ซึ่งปกติระดับที่คนรู้สึกจะอยู่ที่ 1.5 มิลลิ-จี ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติที่คนในอาคารสูงจะรับทราบถึงแรงสั่นสะเทือนในครั้งนี้ และแม้แผ่นดินไหวจะเกิดในระยะไกลแต่ผลการวิจัยบ่งชี้ว่าเป็นเพราะกรุงเทพฯ เป็นแอ่งดินตะกอนขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพจะขยายความรุนแรงได้ 3 เท่าในระดับแผ่นดินไหวที่โครงสร้างอาคารสามารถต้านทานได้ หรือมากกว่า 5 เท่าในระดับต่ำก็จะขยายได้รุนแรงกว่า ดินอ่อนมีลักษณะเฉพาะในภาคกลางและลุ่มแม่น้ำ ทีมวิจัยจึงพัฒนาการออกแบบก่อสร้างให้ได้มาตรฐานการออกแบบที่รองรับแผ่นดินไหวได้ และนำไปปฏิบัติให้เกิดผลสัมฤทธิ์กับอาคารสูงที่ก่อสร้างใหม่ ส่วนอาคารเก่ายังมีกำลังสำรองต้านทานแผ่นดินไหวระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นปัญหาในระยะยาวที่นักวิจัยและหน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องหาแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมและหาแนวทางเสริมกำลังหรือมาตรการอื่น ๆ ต่อไป ทั้งนี้ คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครนำโดยผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กำลังวางแผนติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดที่โรงพยาบาลในสังกัด เช่น โรงพยาบาลกลาง” ศ. ดร.นครกล่าว

 

เช่นเดียวกับ ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย ที่กล่าวถึงจุดเกิดแผ่นดินไหวว่ามีแนวรอยเลื่อนเชียงตุงพาดผ่าน จัดเป็นแผ่นดินไหวขนาดปานกลางในระดับตื้นจึงส่งผลกระทบต่อพื้นที่จังหวัดภาคเหนือโดยตรง เนื่องจากอยู่ใกล้กับจุดที่เกิดแผ่นดินไหว โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ ปัจจุบันประเทศไทยมีกฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคารและพื้นดินที่รองรับอาคารต้านแผ่นดินไหว ปี 2564 ซึ่งกำหนดให้อาคารต้องออกแบบต้านแรงแผ่นดินไหวได้ โดยครอบคลุมจังหวัดในภาคเหนือและพื้นที่กรุงเทพฯ รวมทั้งสิ้น 43 จังหวัดทั่วประเทศ ทั้งนี้ ควรเตรียมความพร้อมรับมือสำหรับแผ่นดินไหวในอนาคตที่อาจจะมีขนาดใหญ่กว่านี้หรือเกิดขึ้นใกล้กว่านี้ มาตรการรับมือแผ่นดินไหวที่ดีที่สุด คือ การทำให้โครงสร้างอาคารแข็งแรง เพราะแผ่นดินไหวยังไม่สามารถแจ้งเตือนล่วงหน้าได้ โดยการออกแบบและก่อสร้างอาคารใหม่ให้ต้านแผ่นดินไหว และเสริมกำลังอาคารเก่าให้รองรับแผ่นดินไหวในอนาคตได้

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ศูนย์แผ่นดินไหวแห่งชาติ

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
SOCIETY & POLITICS

พม.แจ้งสติ ปี 66 พบเด็กและสตรี กว่า 54.25 % “ถูกทำร้ายร่างกาย”

 

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 เวลา 13.30 น. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) แถลงข่าวการจัดกิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิด “รวมพลังหยุดความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว” (Unite for the Prevention of Violence against Women and Children) เนื่องในเดือนพฤศจิกายนของทุกปี เป็นเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว เพื่อการรณรงค์สร้างกระแสสังคมในการการรับรู้ผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ช่องทางต่างๆ ให้เกิดความตระหนักต่อประเด็นปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว รวมทั้งกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนในสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการรณรงค์ สนับสนุน และจัดกิจกรรมด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ณ บริเวณโถง ชั้น 1 อาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์


นายวราวุธ กล่าวว่า ปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี บุคคลในครอบครัว และความรุนแรงในสังคมทุกรูปแบบ เป็นปัญหาสำคัญที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ ซึ่งผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่มักจะเป็นเด็กและสตรี โดยในสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว ตามระบบฐานข้อมูลความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว ภายใต้ www.violence.in.th พบว่า เหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัว ปี 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,264 เหตุการณ์ โดยมีประเภทเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นมากที่สุด คือ การทำร้ายร่างกาย จำนวน 996 เหตุการณ์ คิดเป็นร้อยละ 54.25 รองลงมา คือ ดุด่า/ดูถูก จำนวน 344 เหตุการณ์ และหยาบคาย/ตะคอก/ประจาน/ขู่/บังคับ จำนวน 300 เหตุการณ์ ตามลำดับ โดยผู้หญิงเป็นผู้ถูกกระทำมากที่สุด จำนวน 896 ราย คิดเป็นร้อยละ 77.98 ของผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงทั้งหมด (ข้อมูลในปี 2566 ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2566) ทั้งนี้ ปัญหาความรุนแรงไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต ในระดับปัจเจกบุคคลต่อผู้ถูกกระทำเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อครอบครัว และส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวมอีกด้วย    


นายวราวุธ กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ กระทรวง พม. โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิด “รวมพลังหยุดความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว” (Unite for the Prevention of Violence against Women and Children) โดยมีการจัดกิจกรรมสำคัญ 2 กิจกรรม ได้แก่ 1) กิจกรรม “ติดเข็มกลัดริบบิ้นสีขาวแก่นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี” เพื่อรณรงค์ประชาสัมพันธ์ในการกระตุ้นเตือนให้สังคมตระหนักถึงปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว รวมทั้ง กระตุ้นให้ทุกภาคส่วนในสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการรณรงค์ โดยใช้ “ริบบิ้นสีขาว” (White Ribbon) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สากลในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การจัดกิจกรรมรณรงค์อย่างต่อเนื่องทุกปี ในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 ระหว่างเวลา 07.30 – 09.00 น. ณ ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ และ 2) กิจกรรม “รณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว” ซึ่งมีภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชน ศิลปินดารา นักเรียน นักศึกษา เด็ก สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และประชาชนทั่วไป ร่วมเดินขบวนรณรงค์เชิงสัญลักษณ์ เพื่อรวมพลังยุติความรุนแรงในสังคมทุกรูปแบบ ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2566 ระหว่างเวลา 15.30 – 20.30 น. ณ จังหวัดสุพรรณบุรี โดยมีกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ 1) กิจกรรมเดินรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว เริ่มจากโรงเรียนสุพรรณภูมิ ถึงสวนเฉลิมภัทรราชินี (หอคอยบรรหาร – แจ่มใส) และ 2) กิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ประกอบด้วย พิธีเปิดกิจกรรม และพิธีมอบโล่รางวัลเชิดชูเกียรติแก่บุคลากรและหน่วยงานที่สนับสนุนและส่งเสริมการยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ประจำปี 2566 เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติและสร้างขวัญกำลังใจในการเป็นแบบอย่างที่ดีต่อสังคมในการสนับสนุนและส่งเสริมการยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว และการแสดงต่างๆ จากโรงเรียนในพื้นที่


นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในนามของกระทรวง พม. ขอขอบคุณสื่อมวลชนที่เป็นพลังหลักในการสื่อสารข่าวสาร และข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ให้ประชาชนได้รับทราบ รับรู้ และตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาอย่างมากมาย พร้อมทั้งขอขอบคุณภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมรณรงค์ร่วมกันในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงมาโดยตลอด ซึ่งหวังว่าเราจะร่วมกันยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว เพื่อความมั่นคงและความสงบสุขของสังคมไทย

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
ECONOMY

“ภูมิธรรม” ประกาศแผนเร่งรัดการ ส่งออก Quick Win 100 วัน

วันพุธที่ 16 พฤศจิกายน 2566 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ได้มอบหมายให้    กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและกรมการค้าต่างประเทศ  กระทรวงพาณิชย์ หารือกับภาคเอกชน เพื่อร่วมจัดทําแผนเร่งรัดการส่งออกและการค้าชายแดน Quick Win 100 วัน และ 1 ปี กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจึงได้จัดงาน “Next Step Export and Cross-Border Promotion” ขึ้น  ซึ่งประกอบด้วย 2 ส่วน คือ (1) การประชุมหารือแผนเร่งรัดการส่งออกและการค้าชายแดน Quick Win 100 วัน และ 1 ปี และ (2) พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วย    ความร่วมมือในการเชื่อมโยงการค้ากับการท่องเที่ยว ระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ การท่องเที่ยว        แห่งประเทศไทย และ บริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน)

สำหรับแผนเร่งรัดการส่งออก ได้ดำเนินงานใน 5 ด้านหลัก ได้แก่  1.เปิดประตูโอกาสทางการค้าสู่ตลาดใหม่ศักยภาพ ควบคู่ การรักษาตลาดเดิม โดยเดินสายสร้างสัมพันธ์      ทั่วโลก เร่งผลักดันการเจรจา FTA ขยายการค้าไปยังเมืองรอง แผน 100 วัน ได้สร้างมูลค่าการสั่งซื้อรวมกันแล้วกว่า 490 ล้านบาท จากการผลักดันสินค้าไทยไปจัดแสดง ณ งาน CAEXPO ในหนานหนิงและงาน CIIE ในเซี่ยงไฮ้   สาธารณรัฐประชาชนจีน และประเทศไทยได้ถูกเพิ่มในระบบ E-visa ของประเทศซาอุดิอาราเบียเป็นที่เรียบร้อยแล้วโดยแผน 1 ปี จะมีกิจกรรม Goodwill จำนวน 24 กิจกรรม กิจกรรมเปิดตลาดเชิงรุก มี Trade Mission 17 กิจกรรม  ในประเทศมัลดีฟส์ อาเซียน ยุโรป UK รัสเซีย งานแสดงสินค้าไทย 12 กิจกรรม ในจีน อินเดีย 

ศรีลังกา ปากีสถาน บังคลาเทศ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม กัมพูชา รวมถึงการขยายการค้าไปยังเมืองรอง 
6 กิจกรรม โดยจัดทำ MOU กับเมืองรองเพิ่ม อาทิ แอฟริกา (โจฮันเนสเบิร์ก/โมซัมบิก)  จีน (กว่างซีจ้วง/เจ้อเจียง/    ซานซี/เฮยหลงเจียง/ฝูเจี้ยน) ภายใต้ยุทธศาสตร์ “การค้าเชิงรุกรายมณฑลจีน” และต่อยอด MOU ที่ลงนามแล้ว รวมไปถึงการขยายช่องทางการค้าใหม่ๆ เช่น การเจาะธุรกิจ Horeca ในยุโรปและเร่งสรุปผลการเจรจา FTA กับคู่เจรจาต่างๆ 

2.“ทูตพาณิชย์ ทำงานเชิงรุก”บูรณาการทำงานกับพาณิชย์จังหวัด ให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น เชื่อมโยงสินค้าท้องถิ่น สู่ตลาดโลก โดยได้มอบนโยบายต่อทูตพาณิชย์ในการเร่งหาช่องทางการค้าใหม่ๆ เช่น การค้นหา Influencer ทั้งในไทยและต่างประเทศที่มีผู้ติดตามมากเพื่อเพิ่มการรับรู้สินค้าไทย และใช้ร้านอาหาร Thai Select เป็นเสมือนที่จัดแสดงสินค้าภูมิปัญญาไทยและช่องทางส่งออกวัตถุดิบอาหารและเครื่องปรุงรสของไทย รวมทั้งบูรณาการทำงานเชิงรุกร่วมกันระหว่างทูตพาณิชย์ พาณิชย์จังหวัด และทัพหน้าของไทยในต่างแดน อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ BOI เพื่อช่วยขับเคลื่อนการส่งออกของไทย โดยในวันที่ 23 พ.ย. 2566 นี้ ท่านนายกรัฐมนตรีจะมอบนโยบายการทำงานให้กับทูตทั่วโลก โดยกระทรวงพาณิชย์จะนำเสนอการขับเคลื่อนนโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกต่อนายกรัฐมนตรี สำหรับแผน 1 ปีจะดำเนินการหาช่องทางการจัดจำหน่ายใหม่ๆ ทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ให้มากขึ้น เพื่อขยายส่วนแบ่งตลาดสินค้าไทย ในประเทศประจำการเขตอาณาและเพิ่มบทบาททูตพาณิชย์ ให้เป็นคู่คิดของผู้ประกอบการ SMEs “พาณิชย์คู่คิด SMEs” เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs โดยเฉพาะรายเล็กให้สามารถส่งออกได้เพิ่มมากขึ้น

3. ส่งเสริม SOFT POWER เป้าหมายรุกสู่เวทีโลก ด้วยการเพิ่มมูลค่าสินค้า/บริการไทยด้วยแบรนด์ นวัตกรรม และการออกแบบ และส่งเสริมสู่ตลาดโลก โดยมีเป้าหมายในกลุ่มสินค้าสำคัญ ได้แก่ อาหาร ดิจิทัล     คอนเทนต์ มวลไทย ท่องเที่ยว หนังสือ และเกม  ล่าสุดจากการนำผู้ประกอบการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอาหาร Anuga ที่เยอรมนี สร้างมูลค่า 5,318.05 ล้านบาท และกลุ่มดิจิทัลคอนเทนต์ สร้างรายได้กว่า 2,620.13 ล้านบาท และระหว่างเดือนพ.ย.-ธ.ค.นี้ จะจัดงาน Muay Thai Global Power ณ ไอคอนสยาม การร่วมงาน Asia TV Forum and Market ที่สิงคโปร์ รวมทั้งในวันนี้ได้มีพิธีลงนามความร่วมมือ 3 ฝ่าย ระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ เชื่อมโยงการค้าและการท่องเที่ยวไว้ด้วยกัน 
สำหรับแผน 1 ปี จะมีการเปิดตัว SOFT POWER Global Brand จำนวน 9 กิจกรรม ทั้งในส่วนของการ re-branding Thai select , เครื่องหมาย Thailand Trust mark, Demark เป็นต้น การส่งเสริมดิจิทัลคอนเทนต์ 19 กิจกรรม กลุ่มสินค้าอาหาร 76 กิจกรรม หนังสือ 2 กิจกรรม และสนับสนุนนักออกแบบไทยผ่านโครงการต่างๆ 

4.ปรับปรุงการทำงานของภาครัฐให้เป็นรัฐบาลดิจิทัล ปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรค ปรับบทบาทเป็น “รัฐสนับสนุน” โดยแผน quick win 100 วันที่ได้ดำเนินการไปแล้ว อาทิ การปรับปรุง พ.ร.บ. สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือฯ พ.ศ.2537 การปรับปรุงเว็บไซต์กรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ การหารือกับภาคเอกชนร่วม    ยกร่างแผนเร่งรัดการส่งออกและการค้าชายแดน quick win 100 วัน และ 1 ปี ซึ่งในแผน 1 ปี จะเดินหน้าทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน ในการแก้ไขปัญหา/อุปสรรคทางการค้า โดยต่อยอดคณะทำงานร่วมกระทรวงพาณิชย์

5. ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ อาทิ การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล การค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์          การส่งเสริมอุตสาหกรรมสีเขียว โดยแผน quick win 100 วันที่จะดำเนินการ เช่น การจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ระยะที่ 2 (ปี 2566 – 2570) การจัดเจรจาการค้าธุรกิจออนไลน์ และการส่งเสริมการขายสินค้า TOP Thai บนแพลตฟอร์มออนไลน์พันธมิตร อาทิ Shopee ในมาเลเซีย และRakuten ในญี่ปุ่น การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ อาทิ การสัมมนาเสริมสร้างทรัพย์สินทางปัญญาผู้ส่งออกไทย และการเสวนา export 5 F รวมทั้งการยกระดับศักยภาพการแข่งขันของประเทศ อาทิ นำผู้ประกอบการร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ Automechanika ที่ยูเออี งาน APPEX ที่สหรัฐฯ และงาน Medica ที่เยอรมนี ส่วนกิจกรรมที่ได้ดำเนินการแล้ว อาทิ การจัด Virtual Showroom และ Online Business Matching  ในสินค้าเกษตรแปรรูปและอาหารกลุ่ม BCG สร้างมูลค่า 5.30 ล้านบาท และงานแสดงสินค้า AUTOMECHANIKA DUBAI 2023 มีผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมกว่า 30 ราย มูลค่าการสั่งซื้อ 2,991.27 ล้านบาท 
นอกจากนี้ ในปีนี้ได้เตรียมแผนงานรองรับไว้กว่า 300 กิจกรรม อาทิ การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล 8 กิจกรรม  เช่น การตั้งร้าน Top Thai บน Amazon ของอังกฤษ การขยายความร่วมมือกับ LetsTango.com ในยูเออี การส่งเสริมการขายกับแฟลตฟอร์มพันธมิตร  การส่งเสริมอุตสาหกรรมสีเขียว 14 กิจกรรม  โดยจะนำผู้ประกอบการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมสีเขียวในยุโรป ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา การยกระดับศักยภาพการแข่งขันของประเทศ 108 กิจกรรม โดยการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติในไทยและการนำผู้ประกอบการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ พร้อมกับการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ 177 กิจกรรม เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการในด้านการค้าระหว่างประเทศต่อไป

ด้าน นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวถึงพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการเชื่อมโยงการค้ากับการท่องเที่ยว ระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่าแนวทางการดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือของทั้ง 3 ฝ่ายในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ของไทย และขยายช่องทางการค้าและส่งเสริมการท่องเที่ยวร่วมกัน โดยประกอบด้วย 4 ด้านหลัก ได้แก่  ด้านการสื่อสารภาพลักษณ์ประเทศไทย ด้านการส่งเสริมการตลาด ด้านการประชาสัมพันธ์ และด้านการส่งเสริมองค์ความรู้ให้กับผู้ประกอบการไทย 
กิจกรรมสำคัญ อาทิ การร่วมกันจัดทำแคมเปญสื่อสารการตลาด เพื่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีกับประเทศไทย ทั้งในด้านสินค้าและบริการ รวมถึงบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว การส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านช่องทางการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ของแต่ละฝ่าย ในกลุ่มสินค้าและธุรกิจบริการที่มีศักยภาพ ไปจนถึงสินค้าภายใต้ร้าน TOPTHAI บนแพลตฟอร์มพันธมิตร และผู้ประกอบการที่ผ่านการบ่มเพาะโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศให้มีโอกาสได้นำเสนอในสื่อประชาสัมพันธ์และช่องทางจำหน่ายของร้าน THAIShop ของการบินไทย 
ในด้านการประชาสัมพันธ์ จะแลกเปลี่ยนความร่วมมือในการประชาสัมพันธ์ตราสัญลักษณ์ด้านการค้าและมาตรฐานสินค้าไทยของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ อาทิ PM’s Export Award, DEmark, Thailand Trust Mark, Thai SELECT ผ่านสื่อ/ ช่องทางประชาสัมพันธ์ และเครือข่ายข้อมูลสมาชิกและหน่วยงานพันมิตรของ ททท.        และการบินไทย ช่องทางการสั่งซื้อสินค้าคุณภาพของไทยบนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างชาติที่เป็นพันธมิตรของ           กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เป็นต้น ในส่วนการส่งเสริมองค์ความรู้ให้ผู้ประกอบการไทย จะจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการให้มีองค์ความรู้ซอฟต์พาวเวอร์ไทย มาเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการส่งออก ด้วยการแลกเปลี่ยนวิทยากรหรือให้คำปรึกษาแนะนำผู้ประกอบการที่แต่ละฝ่ายจัดขึ้นด้วย

สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

แจงส่งออก “ศิลปวัตถุ” คณะกรรมการลงตรวจพิสูจน์โบราณ

 

เมื่อวันพุธที่ 15 พฤศจิกายน 2566 เวลา 13.30 น. ณ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เชียงแสน จัดประชุมคณะกรรมการตรวจพิสูจน์โบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุฯ เพื่อดำเนินการตรวจสอบโบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่ขออนุญาตนำออกนอกราชอาณาจักร จำนวน 2 ราย ได้แก่ บริษัท หยกทองทวี จำกัด และสุชาติ แกะสลัก ทั้งนี้ นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นคณะกรรมการฯ ได้ร่วมลงพื้นที่ตรวจพิสูจน์ศิลปวัตถุที่ขออนุญาตนำออกนอกราชอาณาจักรในพื้นที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงรายดังกล่าว

 

ซึ่งบริษัท หยก ทองทวี จำกัด ตั้งมาเกือบ 40 ปี เดิมได้นำหินมีค่าชิ้นเล็กๆ มาทำเป็น พวกเครื่องประดับ กำไล สร้อยคอ จากนั้น ได้พัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ เป็นหินขนาดใหญ่ หินแกรนิต หินอีเดีย หินอาราบัส หินน้ำโขง นำมาแกะสลักขึ้นรูปองค์ ส่วนมาก จะแกะสลักงานชิ้นใหญ่ๆ บริษัท หยก ทองทวี มีชื่อเสียงที่สุด ในการแกะสลัก คือ หยกแคนาดา หยกพม่า และเป็นแหล่งใหญ่ ที่ส่งออก นอกประเทศมากถึง 90 % และส่งภายในประเทศ 10 %

 

 

 ในการขอใบอนุญาตนำพระพุทธรูป โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุออกนอกราชอาณาจักรไทย ผู้รับใบอนุญาตจะต้องแจ้งวัตถุประสงค์ในการส่งหรือนำวัตถุออกนอกราชอาณาจักร และจะต้องส่งออกไปโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการสักการบูชา การศึกษาวิจัย หรือจัดนิทรรศการทางวิชาการเท่านั้น โดยจะไม่อนุญาตให้ส่งหรือนำวัตถุประเภทพระพุทธรูปในสภาพที่เป็นชิ้นส่วน หรือชำรุดออกนอกราชอาณาจักร จะอนุญาตให้ส่งออกเฉพาะพระพุทธรูป โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่มีสภาพสมบูรณ์เท่านั้น

 

 

และ‘พระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ’ มาควบคุมตั้งแต่ พ.ศ.2477 ซึ่งได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมในปี พ.ศ.2504 และในปี พ.ศ.2535 เพื่อคุ้มครอง ดูแลและป้องกันการลักลอบนำออกซึ่งโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ โดยได้วางบทลงโทษ ไว้ในมาตรา 39 ว่า


“ผู้ใดส่งหรือนำโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้วออกนอกราชอาณาจักร อันเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 22 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท”
มาตรา 22 ห้ามมิให้ผู้ใดส่งหรือนำโบราณวัตถุหรือ ศิลปวัตถุไม่ว่าโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุนั้นจะเป็นโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุที่ได้ขึ้นทะเบียนหรือไม่ ออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีการขอรับใบอนุญาตและการอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่ศิลปวัตถุที่มีอายุ ไม่เกินห้าปีและไม่ได้ขึ้นทะเบียน และการนำโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุผ่านราชอาณาจักร”อย่างไรก็ตาม คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ที่ผ่านๆมายังคงมีข่าวโบราณวัตถุถูกลักลอบขโมยออกนอกประเทศอยู่เสมอ โดยเฉพาะพระพุทธรูปจากวัดต่างๆ และนอก จากจะเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ที่จัดเป็นโบราณวัตถุแล้ว พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นใหม่ก็นิยมลักลอบนำออกนอกประเทศเช่นกัน และที่พบเป็นข่าวบ่อยครั้งก็คือเศียรพระ นอกจากนี้ ยังปรากฏว่าในปัจจุบันมีการผลิตและการค้าสิ่งเทียมโบราณวัตถุและสิ่งเทียมศิลปวัตถุเป็นจำนวนมาก ซึ่งก็มีระบุข้อห้ามและบทลงโทษไว้ใน กฎหมายเช่นเดียวกันแต่อาจจะเป็นด้วยบทลงโทษที่ไม่รุนแรง จึงทำให้ปรากฏข่าวคราวการลักลอบนำโบราณวัตถุและศิลปวัตถุออกนอกประเทศอยู่เสมอ

 

 

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สนง.วัฒนธรรม เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS TRAVEL

อบจ.เชียงราย เตรียมจัดอลังการ มหกรรมไม้ดอกอาเซียนเชียงราย

 

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 ที่ลานหน้าองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ตำบลริมกก อำเภอเมืองเชียงราย นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วย นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย นายวิสูตร บัวชุม ผอ.การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเชียงราย และนายประธาน อินทรียงค์ นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดเชียงราย ได้ร่วมกันแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเพื่อแสดงความพร้อมของการจัดงานมหกรรมไม้ดอกอาเซียนเชียงราย Chiang Rai Flower And Art Festival 2023 

          โดยจังหวัดเชียงราย องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมเนรมิตพื้นที่สวนไม้งามริมน้ำกก ให้เป็นสวนแห่งความสุข ส่งมอบความสนุกส่งท้ายปี ให้ทุกท่านได้เพลิดเพลินไปกับมวลดอกไม้นานาพันธุ์ ในงาน “มหกรรมไม้ดอกอาเซียนเชียงราย Chiang Rai Flower And Art Festival 2023” ภายใต้แนวคิด “คำอธิษฐานผ่านดอกไม้…ถึง…ดวงดาว” ระหว่างวันที่ 17 ธันวาคม 2566 – 2 มกราคม 2567 ณ สวนไม้งามริมน้ำกก องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ตำบลริมกก อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย พร้อมกระจายพื้นที่การจัดงานไปอีก 4 อำเภอ บอกเล่าเรื่องราวอันเป็นเอกลักษณ์ผ่านสวนดอกไม้ที่มีความโดดเด่นเฉพาะของท้องถิ่น ประกอบด้วย

          อำเภอดอยหลวง  ภายใต้แนวคิด “มหกรรมไม้ดอก สี่เผ่าชาวดอยหลวง” ณ หนองหางปง บ้านแม่บงใต้ ตำบลโชคชัย ระว่างวันที่ 25 – 28 ธันวาคม 2566 และกิจกรรมแสง สี ศิลป์ ถึงวันที่ 2 มกราคม 2567

          อำเภอป่าแดด ภายใต้แนวคิด “วิจิตรศิลป์ดอกไม้งามตา ของดีล้ำค่า ข้าวหอมป่าแดด” ณ ที่ว่าการอำเภอป่าแดด ระหว่างวันที่ 26 – 30 ธันวาคม 2566 และกิจกรรมแสง สี ศิลป์ ถึงวันที่ 2 มกราคม 2567

          อำเภอพญาเม็งราย ภายใต้แนวคิด “ตามรอยศรัทธา ไหว้สาคุ้มพญามังราย” ณ หนองโป่ง ตำบลแม่เปาและคุ้มพญาเม็งราย ตำบลพญาเม็งราย ระหว่างวันที่ 28 – 30 ธันวาคม 2566 และกิจกรรมแสง สี ศิลป์ ถึงวันที่ 2 มกราคม 2567

          อำเภอแม่จัน ภายใต้แนวคิด “ดอกไม้บาน ที่ลานโป่ง” ณ น้ำพุร้อนป่าตึง ระหว่างวันที่ 27 – 29 ธันวาคม 2566 และกิจกรรมแสง สี ศิลป์ ถึงวันที่ 2 มกราคม 2567

          เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวชุมชน และเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับนักท่องเที่ยวชอีกทั้งส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมกับการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยว อันเป็นการสร้างภาพลักษณ์ ที่ดีให้กับจังหวัดเชียงราย โดยจะทำให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังจังหวัดเชียงรายได้สัมผัสวัฒนธรรมและเอกลักษณ์เฉพาะของพื้นที่ในแต่ละอำเภอของจังหวัดเชียงรายเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ ให้แก่พื้นที่ ชจากการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนต่อไป

          ภายในงานมีกิจกรรมมากมายประกอบด้วย สวนดอกไม้ที่มีเอกลักษณ์อันโดดเด่น ร้อยเรียงเรื่องราวชการอธิษฐานเพื่อขอพรผ่านมวลดอกไม้ โดยกระจายพื้นที่ภายในสวนไม้งามกว่า 7 โซน พร้อมรับชมการแสดงแสง สี เสียง ในทุกค่ำคืน เพลิดเพลินไปกับการแสดงจากเยาวชนในกิจกรรม “Chiang Rai Talent” การจัดนิทรรศการแสดงผลงานของหน่วยงานต่าง ๆ การจำหน่ายชา กาแฟ ของจังหวัดเชียงราย พิเศษกับกิจกรรมภายในข่วงวัฒนธรรม การจัดแสดงเรือนวิถีชีวิตวัฒนธรรมล้านนา และชาติพันธุ์ การจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ตามวิถีชีวิตชาวล้านนา “กาดมั่วคัวล้านนา” การจัดจำหน่ายอาหารชาติพันธุ์ ผามภูมิปัญญาล้านนา สล่าเชียงราย การจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน การจำหน่ายพันธุ์ไม้ดอก ไม้ประดับนานาพันธุ์

          ทั้งนี้พิธีเปิดงาน ได้กราบทูลเชิญทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เสด็จมาเป็นองค์ประธาน   พิธีเปิด ในวันที่ 16 ธันวาคม 2566 เวลา 18.00 น. ณ สวนไม้งามริมน้ำกก องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย

          ขอเชิญชวนทุกท่าน มาร่วมรับความสุขส่งท้ายปีที่งาน “มหกรรมไม้ดอกอาเซียนเชียงราย Chiang Rai Flower and Art Festival 2023” ระหว่างวันที่ 17 ธันวาคม 2566 – 2 มกราคม 2567 ณ สวนไม้งามริมน้ำกก องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย และอีก 4 อำเภอ อำเภอดอยหลวง อำเภอป่าแดด อำเภอพญาเม็งราย และอำเภอแม่จัน

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย 

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

‘พิชญาพร’ จากโรงเรียนแม่สายประสิทธิ์ศาสตร์ คว้ารางวัลชนะเลิศ ประกวดวาดภาพระดับประเทศ

 

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 เพจเฟซบุ๊กคณะศิลปะและการออกแบบดิจิทัล มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยด้โพสต์ข้อความระบุว่าคณะศิลปะและการออกแบบดิจิทัล มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมกับ สมาคมเรือเยาวชนเอเซียอาคเนย์แห่งประเทศไทย ในการสนับสนุนของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC)

จัดพิธีมอบเกียรติบัตรและโล่รางวัล รอบชิงชนะเลิศ การประกวดวาดภาพระบายสีระดับมัธยมปลายและอาชีวะศึกษาทั่วประเทศ ขึ้น เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้น้องๆ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายทั่วประเทศที่ชื่นชอบและศึกษาทางด้านศิลปะ ได้มีโอกาสมาเรียนรู้ศิลปะและได้แสดงฝีมือผ่านโครงการฯ ภายใต้หัวข้อ“รู้ทันอาชญากรรมข้ามชาติ”
 
 
และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสังคมในการป้องปรามให้ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติลดลงและหมดไป
ภายในงานได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, E. Filipe De La Torre Regional Coordinator (Policy and Outreach),Border Management Programme,UNODC ROSEAP, ครูสังคม ทองมี ตำแหน่งอดีตเยาวชนโครงการเรือเยาวชนฯรุ่น 3 และผู้อำนวยการศูนย์ศิลป์สิรินธร, รองศาสตราจารย์ สรรณรงค์ สิงหเสนี อดีตเยาวชนโครงการเรือเยาวชน รุ่น 7 และอาจารย์ประจำภาควิชาศิลปกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มอบรางวัลทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนที่ชนะในประเภทต่าง ๆ
โดยมีน้อง ๆ ที่เข้าร่วมโรงการร่วมแสดงความยินดี ณ ห้องไทรทองฮอลล์ อาคาร 3 ชั้น 4 เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2566
รายนามผู้ได้รับรางวัลเงินสดและโล่เกียรติยศ 5 รางวัล
 

ลำดับที่ 1 รางวัลชนะเลิศ รางวัลเงินสด 30,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศ จำนวน 1 รางวัล
ได้แก่ นางสาวพิชญาพร เมืองใจ จากโรงเรียนแม่สายประสิทธิ์ศาสตร์
 
ลำดับที่ 2 รางวัลยอดเยี่ยม รางวัลเงินสด 20,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศ จำนวน 1 รางวัล
ได้แก่ นายธราธิป แสงวิเชียร จากโรงเรียนวัดสุทธิวราราม
 
ลำดับที่ 3 รางวัลดีเด่น รางวัลเงินสด 10,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศ จำนวน 1 รางวัล
ได้แก่ นางสาวสิริรัช รัตตมณี จากโรงเรียนสภาราชินี
 
ลำดับที่ 4 รางวัลชมเชย รางวัลเงินสด 5,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศ จำนวน 1 รางวัล
ได้แก่ นายจินดิต ยางสวย จากโรงเรียนรัตนราษฎร์บำรุง
 
ลำดับที่ 5 รางวัลขวัญใจออนไลน์ รางวัลเงินสด 5,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศ จำนวน 1 รางวัล ได้แก่ นายวีระเดช งามสามพราน จากโรงเรียนวัดไร่ขิงวิทยา ขอแสดงความยินดีกับน้องน้องที่ผ่านเข้ารอบและผู้ที่ได้รับรางวัล
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : คณะศิลปะและการออกแบบดิจิทัล มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI VIDEO WORLD PULSE

(มีคลิป) ยูเนสโกประกาศรับรองเชียงรายเมืองสร้างสรรค์ของโลก

 

วันที่ 14 พฤศจิกายน 2566)นางยุถิกา อิศรางกูล ณ อยุธยา รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วย นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) (อพท.) ร่วมกันแถลงข่าวและแสดงความยินดีกับจังหวัดเชียงรายที่ได้รับการคัดเลือกเป็นเครือข่ายสร้างสรรค์ UNESCO ที่ห้องประชุมธรรมปัญญา องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหาร อบจ.เชียงราย ภาคเอกชน สื่อมวลชน ร่วมรับฟังการแถลงข่าวจำนวนมาก เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้การประกาศรับรองจังหวัดเชียงรายเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก ด้านการออกแบบ

 

นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า จังหวัดเชียงราย นับเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ มีอัตลักษณ์โดดเด่นในด้านสร้างสรรค์ที่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การเป็นเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกด้านการออกแบบ จึงมีการผลักดันให้เชียงราย เป็นเมืองแห่งการออกแบบ (City of Design) เนื่องจากเชียงรายมีทรัพยากรการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมความหลากหลายทางชีวภาพ และอัตลักษณ์ท้องถิ่น ที่มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง มีศิลปินล้านนาจำนวนมาก มีการสร้างสรรค์ทางศิลปะที่สืบทอดกันมาทั้งจิตรกรรม ประติมากรรม และสถาปัตยกรรมที่บ่งบอกถึงภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่นเมืองเชียงราย สามารถใช้การออกแบบการบริการ Sevice Design มาเป็นจุดแข็ง เช่น กลุ่มสร้างสรรค์ต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่มศิลปิน กลุ่มนักสร้างสรรค์ กลุ่มสมาร์ทฟาร์มเมอร์ เมืองเชียงรายเมืองแห่งวัฒนธรรมล้านนาที่มีเอกลักษณ์ และอัตลักษ์ณ์ที่โดดเด่น สามารถผลักดันเปลี่ยนแปลงเมืองเชียงรายด้วยการสร้างสรรค์ การออกแบบ การบริการ และความมีอัธยาศัยดีความสามัคคีกัน 
 
 
 
 

ส่งผลให้เกิดแนวคิดความสร้างสรรค์ พัฒนา ต่อยอดสู่เมืองสร้างสรรค์ได้ในอนาคต อันเป็นการสนับสนุน และยกระดับความสามารถด้านการท่องเที่ยวแก่จังหวัดเชียงราย เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชนอย่างแท้จริงและยั่งยืน การเสริมสร้างการรับรู้ศักยภาพของเมืองแก่ประชาชน และผู้มีส่วนได้ ส่วนเสียในพื้นที่ จึงก่อให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาและบูรณาการร่วมกันเพื่อพัฒนาและสร้างสรรค์เมืองในด้านนั้น ๆ

รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวอีกว่า สิ่งเหล่านี้ต่างสนับสนุนการพัฒนาเมืองให้จังหวัดเชียงรายขับเคลื่อนไปสู่การเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์กรการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) และเพื่อขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ..2561-2580) เมืองสร้างสรรค์ ด้านการออกแบบ การที่เป็นการออกแบบการบริการของเชียงราย มีเป้าหมายเพื่อใช้เป็นกลยุทธ์ของเมืองในการรักษาสิ่งแวดล้อม และลดความยากจน เพื่อก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง ความเท่าเทียมกัน และการพัฒนาเมือง สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) การขับเคลื่อน “เมืองเชียงราย” สู่การเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกด้านการออกแบบ จำเป็นจะต้องดำเนินกิจกรรมตามแผนที่นำทาง (Roadmap) ของเมืองเชียงราย 

สู่การเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกด้านการออกแบบ ให้เกิดเป็นรูปธรรมและสอดคล้องกับการสนับสนุนการพัฒนาเมืองในพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของ อพท. ตามพระราชกฤษฎีกา และเมืองในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวโดยเน้นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา ประชาสังคม รวมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ การพิจารณาถึงผลตอบรับและแรงจูงใจต้านเศรษฐกิจการท่องเที่ยวเพื่อความยั่งยืน ใช้กลไกการทำงานโดยการดึงชุมชนที่มีศักยภาพสร้างเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงการท่องเที่ยว สร้างความเข้าใจให้ทุกฝ่ายให้เห็นถึงความสำคัญของประโยชน์ที่จะได้รับจากการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานของเมืองในครั้งนี้ ตลอดจน การถ่ายทอดองค์ความรู้ทั้งด้านพัฒนากิจกรรมสร้างสรรค์ และเส้นทางการท่องเที่ยว การบริการให้มีมาตรฐาน 

 

การพัฒนานักสื่อความหมาย การพัฒนาผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวที่นำเอาอัตลักษณ์ประจำถิ่นมาพัฒนาเป็นสินค้าที่มีความโดดเด่น สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคที่สามารถเชื่อมโยงกับชุมชนใกล้เคียงเพื่อให้เกิดการกระจายรายได้ในท้องถิ่นได้อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการเสนอชื่อจังหวัดเชียงรายสมัครเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของ UNESCO.ด้วยแนวคิด “เชียงรายวิถี กินอยู่ รู้แบ่งปันสู่ความยั่งยืน” แม้การเสนอชื่อในครั้งแรกยังไม่สามารถนำพาจังหวัดเชียงรายสู่การเป็นเมืองเครือข่ายได้แต่ด้วยความมุ่งมั่นและความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ องค์การบริการส่วนจังหวัดเชียงราย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม รวมถึง สถาบันการศึกษา และศาสนา ในพื้นที่ร่วมกันขับเคลื่อนเมืองด้วยแนวคิดของเมืองสร้างสรรค์ สร้าง Creative.Space / Creative.Event ระดับนานาชาติ สร้างสินทรัพย์ทางวัฒนธรรม สู่การออกแบบเพื่อสร้างสมดุล ระหว่างธรรมชาติและวัฒนธรรมปรับประยุกต์ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาเมือง 

 

เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต เด็ก เยาวชนและประชาชนชาวเชียงรายอย่างยั่งยืน จนเป็นที่ประจักษ์ในระดับสากล และเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 องค์การยูเนสโกได้ประกาศรับรอง 55 เมืองทั่วโลก เข้าร่วมเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก ซึ่งรวมถึงจังหวัดเชียงรายด้วย บัดนี้ จังหวัดเชียงราย พร้อมแล้วที่จะเป็นหมุดหมายใหม่ของนักสร้างสรรค์ระดับนานาชาติ กับการได้รับการรับรองจากยูเนสโก ยกจังหวัดเชียงราย เป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกด้านการออกแบบ Chiang Rai Creative City of Design
 
 
ตราสัญลักษณ์เชียงรายเมืองสร้างสรรค์ เมืองแห่งความสมดุระหว่างธรรมชาติและวัฒนธรรม เพื่อขับเคลื่อนสู่เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก (UCCN) พบกันที่ไหนทักทายกัน
 
มีชื่อว่า “วัฒนธรรมชาติ” หรือ
อ่านว่า “วัด-ทะ-นะ-ทำ-มะ-ชาด”
ออกแบบโดย นายวีระพงษ์ อมรสิน
 
ที่สื่อแสดงถึงความสมดุลแห่งความมั่งคั่งทางธรรมชาติ และวัฒนธรรม เป็นต้นทุนสร้างสรรค์ ที่จะขับเคลื่อนเชียงราย
สู่เมืองแห่งการออกแบบที่ยั่งยืน ทั้งนี้ การออกแบบได้ประกอบไปด้วย 3 ส่วน ได้แก่ ธรรมชาติ วัฒนธรรม และธรรม ดังนี้
ส่วนที่ 1 ธรรมชาติ เชียงรายเป็นเมืองที่ “รายรอบด้วยขุนเขาและสายน้ำ” ประกอบไปด้วย
 
ต้นทุนแห่งธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์
ต้นน้ำแห่งกายภาพหัวเมืองเหนือของประเทศ
ต้นกำเนิดแห่งวิถีชีวิตและภูมิปัญญาแห่งชาติพันธุ์
 
สู่การสร้างคุณค่าและมูลค่าจากผลิตผลแห่งการสร้างสรรค์ รวมถึงแรงบันดาลใจแห่งศิลปวัฒนธรรม
ส่วนที่ 2 วัฒนธรรม เชียงรายเป็นเมืองที่ “รายล้อมด้วยผู้คนและศิลปะ” ประกอบไปด้วย
 
– ลวดลายแห่งเชียงราย อัตลักษณ์ใหม่จากศิลปะล้านนาร่วมสมัย ฝีมือจากการรังสรรค์ของศิลปินแห่งชาติ ผู้เป็นตัวแทนแห่งจิตวิญญาณและสุนทรียะทางศิลปะ อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ และอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ที่เป็นต้นแบบของแรงบันดาลใจให้กับนักสร้างสรรค์ จนถูกขนานเชียงรายว่าเป็น “เมืองแห่งศิลปิน” ที่มากที่สุดในประเทศ เมืองแห่งศิลปะและศิลปินที่มากมาย
 
– ลายล้านนาเชียงแสน ตัวแทนแห่งประวัติศาสตร์และความหลากหลายทางชาติพันธ์ุที่มาพร้อมกับศิลปวัฒนธรรมเฉพาะตัว
– ตุงที่เชื่อมโยงถึงโครงการดอยตุง ตัวแทนของแนวคิดในการปรับตัวและการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีและยั่งยืน
 
หอคำไร่แม่ฟ้าหลวง สถาปัตยกรรมล้านนาประยุกต์ ตัวแทนของความงดงามที่เรียบง่ายความกลมกลืนระหว่างศิลปวัฒนธรรมกับธรรมชาติ และการใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าจากบ้านไม้เก่าของการก่อสร้าง ไร่แม่ฟ้าหลวง ยังเป็นหนึ่งในคลื่นศิลปะที่ผลักดันเชียงรายสู่เมืองออกแบบ เพราะเป็นบ้านของศิลปินนักสร้างสรรค์ ที่พร้อมบริการการออกแบบเพื่อสังคม
 
– อาคารลดทอน หรือ วัตถุ Simplified ตัวแทนของการเปลี่ยนแปลงบนต้นทุนเดิม สะท้อนความเป็น “นีโอล้านนา” และความร่วมสมัยบนพื้นที่แห่งโอกาสและความท้าท้ายของคนรุ่นใหม่ ที่จะมาร่วมขับเคลื่อนพลังและความสามารถให้เป็นเมืองแห่งการออกแบบที่ยั่งยืน
 
ส่วนที่ 3 ธรรม เชียงรายเป็นเมืองที่ “รายเรียงพื้นที่แห่งศาสนาและประวัติศาสตร์” ด้วยความศรัทธาแห่งวิถีพุทธสู่การเป็นศาสนาประจำจังหวัดก่อเกิดงาน “พุทธศิลป์” หลายแขนงที่สานต่อจากอดีตของเมือง
ที่มั่งคั่งด้วย “อารยธรรม”
 
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News