Categories
SOCIETY & POLITICS

เห็นชอบใช้งบท้องถิ่นจัดรถ รับ-ส่ง ‘ผู้ทุพพลภาพ’ ไปโรงพยาบาล

 

เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้มีมติเห็นชอบมาตรการสำคัญที่จะช่วยยกระดับการเข้าถึงบริการสาธารณสุขให้กับประชาชน โดยเฉพาะผู้ทุพพลภาพ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีความยากลำบากในการเดินทางไปโรงพยาบาล ผ่านการเพิ่มบริการ พาหนะรับส่งผู้ทุพพลภาพ เพื่อเข้ารับบริการสาธารณสุขในระบบ บัตรทอง 30 บาท

ผู้ที่มีสิทธิ์ใช้บริการพาหนะรับส่งนี้ ครอบคลุมกลุ่มผู้ใช้สิทธิบัตรทอง 3 กลุ่มหลัก ได้แก่

  1. ผู้พิการที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นคนพิการ
  2. ผู้สูงอายุ ที่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือในการเดินทาง
  3. ผู้ป่วยที่มีข้อจำกัดในการเดินทางไปโรงพยาบาลด้วยตนเอง

ยกระดับการบริการเพื่ออำนวยความสะดวกผู้ป่วยทุพพลภาพ

นายสมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า บริการพาหนะรับส่งนี้ถูกออกแบบมาเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น ค่าเดินทางและค่าเสียโอกาสของญาติที่ต้องคอยดูแลผู้ป่วยที่ไม่สามารถเดินทางได้ด้วยตนเอง ปัจจุบันผู้ป่วยที่มีข้อจำกัดทางร่างกายมักประสบปัญหาในการเดินทางไปโรงพยาบาล เนื่องจากบริการรถฉุกเฉินสายด่วน 1669 ไม่ครอบคลุมกรณีที่ไม่ได้เป็นการเจ็บป่วยฉุกเฉิน ส่งผลให้ผู้ป่วยทุพพลภาพหลายรายไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างสะดวก

จากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ บอร์ด สปสช. จึงได้เห็นชอบการจัดบริการ พาหนะรับส่งผู้ป่วยทุพพลภาพ เพื่อให้ผู้ป่วยที่มีข้อจำกัดสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างสะดวกมากขึ้น

การจัดบริการพาหนะรับส่งผู้ป่วยทุพพลภาพในท้องถิ่น

บริการพาหนะรับส่งผู้ทุพพลภาพนี้จะถูกดำเนินการผ่านการจัดทำโครงการโดย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งใช้งบจากกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น (กปท.) โดยพาหนะที่ใช้ในบริการนี้ ได้แก่

  • รถพยาบาลของหน่วยบริการ
  • รถหน่วยปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉิน
  • รถรับส่งผู้ป่วยโดยภาคเอกชน
  • รถโดยสารสาธารณะ เช่น รถแท็กซี่ สำหรับผู้โดยสารคนเดียวหรือกลุ่มเล็ก

รูปแบบการจ่ายค่าบริการพาหนะรับส่ง

บอร์ด สปสช. ได้กำหนดแนวทางในการจ่ายค่าบริการพาหนะรับส่งผู้ทุพพลภาพออกเป็น 4 แนวทาง เพื่อให้ อปท. สามารถเลือกใช้ตามความเหมาะสมของพื้นที่ ได้แก่

  1. จ่ายตามประกาศ สปสช. คือ จ่ายตามจริงไม่เกิน 500 บาท สำหรับระยะทางไม่เกิน 50 กิโลเมตร และหากเกิน 50 กิโลเมตร จะจ่ายเริ่มต้นที่ 500 บาท และเพิ่มอีก 4 บาทต่อกิโลเมตร
  2. จ่ายตามระเบียบของ สพฉ. (สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ) โดยอัตราจ่ายจะขึ้นอยู่กับระยะทาง เช่น ระยะไม่เกิน 10 กิโลเมตร จ่ายที่ 100-350 บาทต่อครั้ง
  3. จ่ายรายครั้งแบบไปกลับ โดยคิดตามอัตราที่กำหนดไว้ในประกาศ
  4. จ่ายเหมาแบบรายวัน ซึ่งจะกำหนดอัตราจ่ายตามที่ประกาศไว้

นายสมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การเพิ่มบริการพาหนะรับส่งผู้ทุพพลภาพนี้ จะช่วยแก้ปัญหาที่ประชาชนเคยร้องขอเข้ามาอย่างมีประสิทธิภาพ และจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาได้ง่ายขึ้น รวมถึงลดภาระค่าใช้จ่ายและความกังวลของครอบครัวผู้ป่วย

ประโยชน์จากการเพิ่มบริการพาหนะรับส่ง

การเพิ่มบริการพาหนะรับส่งผู้ทุพพลภาพในระบบ บัตรทอง 30 บาท เป็นการตอบโจทย์ข้อเสนอจากภาคประชาชนที่ขอให้มีการเพิ่มบริการด้านการเดินทางสำหรับผู้ที่มีข้อจำกัด การให้บริการนี้จะไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ป่วย แต่ยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และเพิ่มโอกาสให้ผู้ทุพพลภาพและผู้ป่วยในกลุ่มเสี่ยงเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างเท่าเทียม

นอกจากนี้ ยังเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ทุพพลภาพ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีความยากลำบากในการเดินทาง ช่วยให้พวกเขาได้รับการดูแลทางการแพทย์อย่างต่อเนื่องและไม่ขาดตอน

สรุป

การเพิ่มบริการพาหนะรับส่งผู้ทุพพลภาพในระบบบัตรทอง 30 บาท เป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าในการพัฒนาบริการสาธารณสุขของประเทศไทย ที่มุ่งเน้นการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่มีข้อจำกัดในการเดินทาง บริการนี้จะช่วยลดภาระให้กับผู้ป่วยและครอบครัว พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
SOCIETY & POLITICS

พบโลโก้นี้ “30 รักษาทุกที่” ยื่นบัตรประชาชนใบเดียว ไม่ต้องมีใบส่งตัว

 

เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เปิดเผยว่า ในการดำเนินการ “30 บาทรักษาทุกที่” ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดความสับสนและเข้ารับบริการได้อย่างถูกต้องตามนโยบายที่จะเริ่มให้บริการในวันที่ 26 สิงหาคมนี้

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้มอบให้ สปสช.จัดทำแนวทางการเข้ารับบริการ และยังเป็นแนวทางการให้บริการสำหรับหน่วยบริการที่เข้าร่วมให้บริการด้วย เพื่อความชัดเจนในการดูแล 

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับโลโก้ 30 บาทรักษาทุกที่ เพื่อใช้ในการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ ได้มอบให้ สปสช. ดำเนินการจัดทำโลโก้ใหม่ ที่มีความโดดเด่น ชัดเจน และสังเกตได้ง่าย ทำให้ประชาชนเข้ารับบริการได้โดยสะดวก

การออกแบบนั้นในโลโก้นี้นอกจากจะประกอบด้วยข้อความ “30 บาทรักษาทุกที่” แล้ว ยังมีเครื่องหมาย “ถูก” ที่สะท้อนว่า ที่นี่ให้บริการอย่างมีคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข บนสัญลักษณ์เครื่องหมายกากบาทสีแดง “กาชาด” และได้ใช้สีแดงที่สื่อถึงการรักษาพยาบาล ที่บ่งบอกถึงความอุ่นใจในบริการดูแล   

ตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคมนี้ ซึ่งจะเป็นวันคิกออฟ 30 บาทรักษาทุกที่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จะเห็นสัญลักษณ์ “30 บาทรักษาทุกที่” ติดที่หน่วยบริการในระดับปฐมภูมิ ท่านสามารถเดินเข้ารับบริการได้เลย ไม่ต้องใช้ใบส่งตัว ใช้แค่บัตรประชาชนใบเดียว โดยใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาทแต่ถ้าอาการเกินจากศักยภาพที่หน่วยบริการปฐมภูมิและหน่วยบริการนวัตกรรมจะให้การดูแลได้ก็จะได้รับการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่รับส่งต่อ

เรียกว่า เป็นการเพิ่มการเข้าถึงบริการ เพิ่มความสะดวก ลดความแออัดการเข้ารับบริการให้กับประชาชน โดยการมีส่วนร่วมจากหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน

สำหรับตราสัญลักษณ์ใหม่นั้นจะเริ่มติดที่หน่วยบริการที่เข้าร่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานครก่อน หลังจากนั้นจะทยอยติดที่หน่วยบริการในจังหวัดนำร่องที่ผ่านมาให้ครบถ้วน เพื่อให้ประชาชนใช้บริการได้สะดวกและง่ายขึ้น นายสมศักดิ์ กล่าว

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การที่มีตราสัญลักษณ์ 30 บาทรักษาทุกที่ติดที่หน่วยบริการนั้น หมายความว่า หน่วยบริการนั้นคือหน่วยบริการในระดับปฐมภูมิที่เข้าร่วมให้บริการประชาชนสิทธิบัตรทอง 30 บาท หรือสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ซึ่งจะต้องผ่านหลักเกณฑ์ 3 ข้อ ดังนี้

1.มีระบบอิเล็กทรอนิกส์ในการยืนยันตัวตนผู้ใช้บริการทั้งก่อนการใช้บริการและหลังการใช้บริการ หรือที่เรียกว่าการเปิดและปิดสิทธิในการให้บริการผู้ใช้สิทธิบัตรทองได้

2.ได้ทำการเชื่อมข้อมูลสุขภาพกับ สปสช. แล้ว

3. มีระบบส่งต่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Referral) เพื่อเชื่อมข้อมูลกับโรงพยาบาลรับส่งต่อในเครือข่ายในกรณีที่อาการผู้ป่วยเกินศักยภาพให้บริการได้ 

สำหรับการเข้ารับบริการนั้น ประชาชนผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท นอกจากจะเข้ารักษาตามขั้นตอนปกติที่หน่วยบริการประจำของท่านแล้ว ยังมีทางเลือกใหม่สามารถเข้ารับบริการที่หน่วยบริการที่มีตราสัญลักษณ์ (โลโก้) “30 บาทรักษาทุกที่” ปรากฏอยู่ด้านหน้า ซึ่งจะเป็นหน่วยบริการในระดับปฐมภูมิ ได้แก่ รพ.สต., สถานีอนามัย, ศูนย์สุขภาพชุมชน, โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ประจำอำเภอ, และ โรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.)/โรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) ประจำจังหวัด

ขณะที่ในกรุงเทพมหานคร หน่วยบริการระดับปฐมภูมิจะเป็น คลินิกชุมชนอบอุ่น และศูนย์บริการสาธารณสุข นอกจากนั้นยังมีหน่วยปฐมภูมิของโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์เข้าร่วมด้วย สำหรับโรงพยาบาลรัฐสังกัดอื่น ๆ นั้น เป็นหน่วยบริการในระดับทุติยภูมิและตติยภูมิ ถือเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อที่จะต้องใช้ใบส่งตัวในการเข้ารักษา

นอกจากนั้น ยังมีหน่วยบริการนวัตกรรมที่เป็นทางเลือกใหม่ ได้แก่ ร้านยาคุณภาพและคลินิกเอกชนที่เข้าร่วมกับ สปสช. เช่น คลินิกเวชกรรม คลินิกทันตกรรม คลินิกพยาบาล คลินิกเทคนิคการแพทย์ คลินิกแพทย์แผนไทย คลินิกกายภาพบำบัด เป็นต้น

ในกรณีที่อาการป่วยเกินศักยภาพที่หน่วยบริการที่จะให้การรักษาได้ ก็จะได้รับการส่งต่อไปรับบริการที่โรงพยาบาลในเครือข่าย ซึ่งระบบการส่งต่อจะมีทั้งในรูปแบบใบส่งตัวกระดาษและใบส่งตัวอิเล็กทรอนิกส์หรือแบบออนไลน์ขึ้นอยู่กับความพร้อมของหน่วยบริการในการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ ในส่วนของหน่วยบริการที่เข้าร่วมและจะเข้าร่วมกับ สปสช.ทุกแห่งนั้น

ขอให้มั่นใจในการเรื่องการเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการ ซึ่ง สปสช. ได้มีการปรับการจ่ายบริการในรูปแบบใหม่ รวมถึงระบบการเบิกจ่ายเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่เข้ากับระบบสุขภาพในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่ง สปสช. จะมีการจัดแถลงข่าวชี้แจงทำความเข้าใจขั้นตอนการใช้สิทธิของประชาชน การเชื่อมข้อมูล การส่งต่อผู้ป่วย และการเบิกจ่ายต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความชัดเจนและสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนและหน่วยบริการ ในวันที่ 20 สิงหาคม 2567 นี้

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
NEWS UPDATE

บอร์ด สปสช. เห็นชอบ “ท้องไม่พร้อม” บัตรทอง “สายด่วน 1663” ให้คำปรึกษา

 

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2567 ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) วันที่ 5 ส.ค. 2567 ที่ผ่านมา โดยมี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุม โดยมีวาระพิจารณาและเห็นชอบ “ข้อเสนอการกำหนดสถานบริการสาธารณสุขอื่นตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 กรณีหน่วยบริการปรึกษาทางเลือกสำหรับการให้คำปรึกษาเรื่องท้องไม่พร้อม (สายด่วน 1663) นำเสนอโดย รศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ บอร์ด สปสช. วันที่ 3 ก.ค. 2567 ที่ผ่านมาได้เห็นชอบให้บริการมิตรภาพบําบัด สายด่วนวัยรุ่น สายด่วนตั้งครรภ์ไม่พร้อม 1663 เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท โดยใช้งบประมาณจากงบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในปีงบประมาณ 2568 และในการประชุมครั้งนี้ก็ได้เห็นชอบให้สายด่วน 1663 เป็นหน่วยบริการปรึกษาทางเลือกเพิ่มเติม สำหรับการให้คำปรึกษาเรื่องท้องไม่พร้อม 

ทั้งนี้ สายด่วน 1663 อยู่ภายใต้การบริหารของ “มูลนิธิเข้าถึงเอดส์” โดยเริ่มดำเนินงานให้คำปรึกษาเรื่องโรคเอดส์เมื่อปี 2534 และได้เพิ่มบริการให้คำปรึกษาเรื่องท้องไม่พร้อมในปี 2556 มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการการให้คำปรึกษาปัญหาด้านการตั้งครรภ์หรือท้องไม่พร้อม เพื่อช่วยลดอัตรากรณีท้องไม่พร้อมรายใหม่ หรือการท้องไม่พร้อมซ้ำ ทั้งเป็นการช่วยลดอัตราการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย โดยมีการส่งต่อผู้รับบริการไปยังหน่วยบริการที่ให้การดูแลสอดคล้องกับปัญหา โดยเน้นกลุ่มเป้าหมาย คือ 1.กลุ่มหญิงที่มีปัญหาการตั้งครรภ์หรือท้องไม่พร้อม 2.บุคคลในครอบครัว หรือบุคคลที่พบปัญหาหญิงตั้งครรภ์หรือท้องไม่พร้อม

“ขอบเขตการให้บริการของสายด่วน 1663 จะเป็นหน่วยแรกรับหรือเป็นช่องทางสำหรับผู้ประสบปัญหาท้องไม่พร้อม รวมทั้งประสานส่งต่อผู้รับบริการไปยังหน่วยบริการต่างๆ ที่สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของผู้รับบริการ ทั้งบริการด้านการแพทย์และด้านสวัสดิการสังคม ตลอดจนติดตามผลหลังจากส่งต่อไปรับบริการแล้ว เพื่อตรวจสอบว่าปัญหาได้คลี่คลาดและไม่มีผลกระทบด้านสุขภาพและจิตใจ ซึ่งการติดตามผลนี้ ยังจะมีกระบวนการ Preventive Counseling เพื่อป้องกันการท้องไม่พร้อม และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ เป็นการลดปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้” ประธานบอร์ด สปสช. กล่าว 

รศ.ภญ.ดร.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของสายด่วน 1663 ในปีงบประมาณ 2566 ที่ผ่านมา จากข้อมูลโดยมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ มีผู้โทรเข้ามารับคำปรึกษาทั้งหมด 51,574 ราย แบ่งเป็นอายุน้อยกว่า 20 ปี 8,445 ราย ในจำนวนนี้เป็นการปรึกษาเรื่องท้องไม่พร้อม 96.4% และกลุ่มที่อายุมากกว่า 20 ปี อีกจำนวน 43,129 ราย ในจำนวนนี้เป็นการปรึกษาเรื่องท้องไม่พร้อม 84% 

ทั้งนี้ การจัดบริการสายด่วนท้องไม่พร้อม 1663 นี้ เป็นหนึ่งในแผนการขยายหน่วยบริการ มาตรา 3 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 โดยขึ้นทะเบียนเป็น “หน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้านขององค์กรภาคประชาชน” เพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการผู้ใช้สิทธิบัตรทองทุกกลุ่ม โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบางที่เข้าไม่ถึงบริการ ด้วยการรับบริการบางอย่างที่มีความจำเพาะ จำเป็นต้องใช้กลไกการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในการจัดบริการที่ทำให้เกิดการเข้าถึง เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิด้านสุขภาพ ซึ่งนำมาสู่การนำเสนอบอร์ด สปสช. เห็นชอบในวันนี้

“ตามที่บอร์ด สปสช. ได้เห็นชอบนี้ หลังจากนี้ สปสช. จะมีประสานกับมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เพื่อให้มีการขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งภายหลังจากที่ได้ดำเนินการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทาง สปสช. จะแจ้งให้ประชาชนรับทราบในการใช้สิทธิบัตรทองเพื่อเข้ารับบริการสายด่วน 1663 ต่อไป” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว  

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) 

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
TOP STORIES

เคาะก่อนชง ครม.ยาบ้า 1 เม็ด ก็มีความผิด ใครแจ้งเบาะแสรับรางวัลนำจับ 5%

 
เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 67 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมทบทวนกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ

 

โดยมี นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายกิตติกร โล่ห์สุนทร เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายวิชัย ไชยมงคล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานศาลยุติธรรม ป.ป.ส. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เข้าร่วมประชุม ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

 

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ตามที่กฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ.2567 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลให้ใช้บังคับเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 ภายหลังเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคม

 

รวมถึงการตีความและการใช้บังคับกฎหมาย เช่น ผลสำรวจนิด้าโพล มีประชาชนมากกว่าร้อยละ 67 ไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย ทำให้เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2567 นายกรัฐมนตรี ได้ดำเนินการประชุมหารือร่วมกับรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

พร้อมมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข แก้ไขกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษฯ โดยปรับลดยาบ้าให้เหลือ 1 เม็ด เพื่อเป็นหลักให้ผู้ปฏิบัติงานและสอดคล้องกับเจตนารมณ์ที่แท้จริงของกฎหมาย

 

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข จึงมีการแต่งตั้งคณะทำงานทบทวนกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ โดยได้ประชุมเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2567 เพื่อประเมินผลกระทบ

 

ซึ่งพบว่า เกิดผลกระทบสังคม การบังคับใช้กฎหมาย และการแพทย์ เช่น ผู้ค้าใช้ช่องว่างของกฎหมายในการแบ่งบรรจุจำหน่าย เพื่อหลบหลีกการถูกดำเนินคดีในฐานความผิดมีไว้ในครอบครองเพื่อการค้า จึงเห็นชอบแก้ไขกฎกระทรวง พร้อมวางกรอบระยะเวลา ไม่เกิน 3 เดือน โดยขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนรับฟังความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบ ทบทวนกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ โดยให้ยกเลิกความใน (ก) และ (จ) ของข้อ 2(1) แห่งกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษฯ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน (ก) แอมเฟตามีน มีปริมาณไม่เกิน 1 หน่วยการใช้ หรือ มีน้ำหนักสุทธิ ไม่เกิน 100 มิลลิกรัม (จ)

 

เมทแอมเฟตามีน มีปริมาณไม่เกิน 1 หน่วยการใช้ หรือ มีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 100 มิลลิกรัม หรือ ในกรณีที่เป็นเกล็ด ผง ผลึก มีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 20 มิลลิกรัม

 

โดยมติที่ประชุมวันนี้ จะนำไปรับฟังความคิดเห็นของประชาชน หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผ่านเว็บไซต์ของกระทรวงสาธารณสุข เป็นเวลา 15 วัน ซึ่งเริ่มวันนี้ เป็นวันแรกทันที

 

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า การประชุมวันนี้ ได้กำหนดเส้นแบ่งการทำคดียาเสพติด เพื่อให้ง่ายต่อการดำเนินการ โดยมีมติปรับลดปริมาณยาบ้าที่สันนิษฐานเป็นผู้เสพ เหลือ 1 เม็ด และสารบริสุทธิไม่เกิน 20 มิลลิกรัม

 

แต่ขอเน้นย้ำว่า ยาบ้า 1 เม็ด ก็มีความผิด เพราะต้องพิสูจน์ต่อด้วยว่า เป็นผู้เสพ หรือ ผู้ขาย หากเป็นผู้เสพก็ต้องเข้ารับการบำบัด พร้อมต้องขยายผลตามแนวนโยบาย “1 ผู้เสพ ขยายผล 1 ผู้ขาย และขยายต่อเป็น 1 ผู้ผลิต”

 

ดังนั้น มียาบ้า 1 เม็ด ก็ต้องถูกขยายผลเพื่อนำไปสู่การยึดอายัดทรัพย์ ซึ่งในขณะนี้ เรามีผู้แทนแต่ละกระทรวง ที่อยู่ตามชุมชน ก็จะช่วยเป็นหูเป็นตา และหากใครแจ้งเบาะแสก่อนก็รับรางวัลนำจับ 5%

 

เมื่อถามว่า เหตุผลในการปรับเหลือ 1 เม็ด นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ประชาชน สะท้อนสิ่งที่เสียหายมาเป็นจำนวนมาก พร้อมพิจารณาสถิติการจับกุมที่สูงขึ้น จึงมีการปรับลดเหลือ 1 เม็ด แต่ก็ยังมีความผิด ต้องถูกสอบสวนเพื่อขยายผลให้ได้ผู้ขาย และผู้ผลิตต่อไป

 

ซึ่งจากนี้ ก็จะรับฟังความคิดเห็น 15 วัน หากเห็นตรงกัน ก็จะเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี พิจารณาต่อไป

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงสาธารณสุข

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
SOCIETY & POLITICS

บอร์ด สปสช. เห็นชอบ 30 บาท บัตรใบเดียวขยายพื้นที่ ระยะที่ 3

 
เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งแรกภายหลังจากที่ได้เข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดย พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร ในฐานะตัวแทนบอร์ด สปสช. ได้มอบดอกไม้ต้อนรับ ซึ่งในวันนี้มีวาระพิจารณาและเห็นชอบการขยายพื้นที่ขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล “30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว” ระยะที่ 3 ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยเริ่มดำเนินการในเดือนพฤษภาคม 2567 และในกรุงเทพมหานคร พร้อมรับทราบการดำเนินงานนโยบายรัฐบาล “30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว” ตั้งแต่ 7 ม.ค. – 7 พ.ค. 67
 
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบาย “30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว” โดยแบ่งพื้นที่การดำเนินการในจังหวัดต่างๆ เป็น 4 ระยะ และได้รับความเห็นชอบจากบอร์ด สปสช. แล้วเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2566 ในการร่วมขับเคลื่อน พร้อมกับเห็นชอบการของบกลางเพื่อรองรับการดำเนินการ ทั้งในส่วนการบริหารจัดการและการให้บริการสุขภาพประชาชน ซึ่งรวมถึงหน่วยบริการนวัตกรรมบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ 7 ประเภท ที่เข้ามามีส่วนขับเคลื่อน ในวันนี้บอร์ด สปสช. จึงได้เห็นชอบให้เดินหน้าสนับสนุนต่อเนื่องในระยะที่ 3 เพิ่มเติมในเขตสุขภาพที่ 1 ภาคเหนือตอนบน เขตสุขภาพที่ 4, ภาคกลางตอนกลาง เขตสุขภาพที่ 9, ภาคอีสานตอนใต้ เขตสุขภาพที่ 12, ภาคใต้ตอนล่าง เขตสุขภาพที่ 3 และเขสุขภาพที่ 8 รวมทั้งสิ้น 33 จังหวัด โดยเริ่มดำเนินการในเดือนพฤษภาคมนี้
 
 
สำหรับในส่วนของกรอบงบประมาณเพื่อขับเคลื่อนนโยบายฯ นั้น ภาพรวมการดำเนินการทั้ง 4 ระยะ สปสช. กำหนดงบประมาณไว้รองรับทั้งสิ้น 7,120.07 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นงบประมาณเพื่อขับเคลื่อนระยะที่ 1 จำนวน 366.57 ล้านบาท ระยะที่ 2 จำนวน 807.16 ล้านบาท และระยะที่ 3 ตามที่บอร์ด สปสช. เห็นชอบครั้งนี้จำนวน 2,813.08 ล้านบาท รวมถึงระยะที่ 4 ที่ให้ขยายทั่วประเทศ อีกจำนวนจำนวน 3,254.60 ล้านบาท
 
 
จากงบประมาณภาพรวมดังกล่าวนี้ แยกเป็นงบประมาณดำเนินการในส่วนหน่วยบริการนวัตกรรมสาธารณสุขวิถีใหม่ 7 ประเภท จำนวน 4,368.62 ล้านบาท ซึ่งจะครอบคลุมการให้บริการทั้งที่ร้านยาชุมชนอบอุ่น คลินิกเทคนิคการแพทย์ชุมชนอบอุ่น คลินิกการพยาบาลชุมชนอบอุ่น คลินิกเวชกรรมชุมชนอบอุ่น คลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่น และคลินิการแพทย์แผนไทยชุมชนอบอุ่น นอกจากนี้เป็นงบประมาณการบริการในหน่วยบริการอื่นกรณีที่มีเหตุสมควร จำนวน 2,684.75 ล้านบาท และงบประมาณเพื่อใช้ในการบริหารจัดการ จำนวน 66,700 ล้านบาท
 
 
“งบประมาณดำเนินการ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ในส่วนของระยะที่ 2 และ 3 นั้น วันนี้บอร์ด สปสช. ยังได้เห็นชอบให้ สปสช. เสนองบกลางเพื่อดำเนินการ เพื่อให้การดำเนินนโยบายเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ในระหว่างนี้ให้ สปสช. ดำเนินการสำรองจ่ายจากกองทุนหลักประกันสุขภาพก่อน และเมื่อได้รับงบกลางให้จัดสรรทดแทนคืนเงินตามกองทุนที่ได้เบิกจ่ายไป” ประธานบอร์ด สปสช. กล่าว
 
 
ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ บอร์ด สปสช. ยังได้รับทราบการดำเนินงานนโยบายรัฐบาล “30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว” ในช่วงระยะที่ 1 และระยะที่ 2 โดยรวมมีประชาชนเข้ารับบริการตามนโยบาย จำนวน 3,493,101 คน เป็นจำนวน 4,810,812 ครั้ง ในจำนวนนี้เป็นการรับบริการที่หน่วยบริการนวัตกรรมฯ จำนวน 944,778 คน เป็นจำนวน 1,280,458 ครั้ง หรือคิดเป็นร้อยละ 26.62 ของจำนวนการรับบริการทั้งหมด (ที่มา: ผลงานบริการจากฐานข้อมูล NHSO_OneID ที่รวบรวมข้อมูลบริการจาก FDH ของกระทรวงสาธารณสุข ข้อมูล Eclaim และ DMIS สปสช. ข้อมูลตั้งแต่ 7 ม.ค. – 7 พ.ค. 67)
 
 
ส่วนการรับรู้และความพึงพอใจต่อนโยบายฯ นั้น จากการสำรวจความคิดเห็นประชาชนที่เข้ารับบริการฯ ใน 4 จังหวัดนำร่อง โดยสายด่วน สปสช. 1330 ในช่วงวันที่ 19 – 27 เม.ย. 67 นั้น พบว่าประชาชนมีการรับรู้ต่อนโยบายฯ อยู่ที่ร้อยละ 75-82 การรับบริการส่วนใหญ่รอคอยไม่เกิน 30 นาที และส่วนใหญ่เห็นด้วยต่อการดำเนินนโยบายฯ นี้ ทั้งในด้านความสะดวกในการเข้ารับบริการ ความพึงพอใจในการเข้ารับบริการ ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพื่อรับการรักษาพยาบาล และระยะเวลาการให้บริการ โดยรวมแล้วประชาชนมีความพึ่งพอใจต่อนโยบายฯ ในภาพรวมอยู่ที่ร้อยละ 98.77 สะท้อนให้เห็นว่า เป็นนโยบายที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง และได้รับการตอบรับจากประชาชนอย่างมาก และข้อมูลนี้ยังเป็นประโยชน์ต่อการเดินหน้านโยบายฯ ในระยะต่อไป
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
SOCIETY & POLITICS

คกก.นโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เห็นชอบศึกษาขยายเวลาจำหน่าย

 
เมื่อวันที่19 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2567 โดยมี นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่ากระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค และกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
 
          นายแพทย์ชลน่านให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า ในวันนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ได้ร่วมกันพิจารณาเรื่องการขยายเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อสนับสนุนการกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ โดยได้นำข้อเสนอจากที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 มาประกอบการพิจารณา และเห็นว่า 1) ปัจจุบันมีกฎหมายที่กำหนดเกี่ยวกับเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สำหรับร้านอาหารทั่วไป ได้แก่ ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 253 และกฎกระทรวงที่ออกตามความในประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าว ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดเวลาห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2558 ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551และต้องคำนึงถึง พระราชบัญญัติสถานบริการ 2509 ซึ่งถ้าจะมีการเปลี่ยนแปลงเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต้องปรับแก้กฎหมายเหล่านี้และต้องคำนึงถึงเวลาเปิดปิด ตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการและการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว และ2) ข้อมูลในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ ยังไม่มีข้อมูลทางสถิติที่ชัดเจน สมควรศึกษาข้อมูลแล้วนำมาเปรียบเทียบกับข้อมูลของจังหวัดนำร่อง เพื่อนำมากำหนดเวลาที่จะขยาย เพื่อความละเอียดรอบคอบ
 

          “ที่ประชุมได้มีมติให้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อไปทำการศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดกรอบระยะเวลาในการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารทั่วไปอย่างรอบคอบรอบด้าน ทั้งนี้ไม่ได้กำหนดกรอบระยะเวลาในการศึกษาข้อมูล แต่เนื่องจากเป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจของสังคมก็จะเร่งรัดให้เร็วที่สุดโดยคำนึงถึงข้อมูลที่เพียงพอสำหรับประกอบการพิจารณา นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นชอบให้มีการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งกองทุนเพื่อการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสภาพผู้ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย” นายแพทย์ชลน่านกล่าว
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงสาธารณสุข

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News