กรมการกงสุล ลงพื้นที่จ.เชียงราย หลังพบคนไทย ถูกหลอกไปทำงานรัฐฉานพุ่ง 140 ราย
Facebook
Twitter
Email
Print
เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2566 นายรุจ ธรรมมงคล อธิบดีกรมการกงสุล นำคณะเข้าประชุมหารือกับนายสมหวัง บุญระยอง รองผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย น.ส.ภาณี จันทร์ตัน พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จ.เชียงราย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาคนไทยถูกหลอกไปทำงานและตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ในประเทศเมียนมา โดยช่วงแรกจะเป็นการรับทราบสถานการณ์ล่าสุดและติดตามผลการดำเนินการของหน่วยงานต่างๆ ที่ผ่านมาเพื่อจะได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาต่อไป
.
โดย พ.ต.อ.สัญญา เนียมประดิษฐ์ ผู้ช่วยทูตฝ่ายตำรวจ ณ กรุงย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา และ น.ส.พิมพ์ ไชยสาร์น กงสุลสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง แจ้งต่อที่ประชุมว่าในปัจจุบันมีคนไทยลักลอบเข้าไปทำงานในประเทศเมียนมาโดยผิดกฎหมายและหลายรายหลงเชื่อการรับสมัครงานผ่านสื่อสาธารณะหรือโซเซียลมีเดียต่างๆ ที่เสนอรายได้และสวัสดิการที่ดี เหยื่อส่วนใหญ่เป็นคนภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดยไม่มีคนในพื้นที่ จ.เชียงราย เหยื่อบางรายมีการนัดสัมภาษณ์งานผ่านวิดีโอทางไกลเพื่อให้น่าเชื่อถือแต่เมื่อไปทำงานจริงกลับพบว่าเป็นงานที่ไม่ตรงกับที่ตกลงกันเอาไว้ กระนั้นเนื่องจากได้ถูกยึดหนังสือเดินทางระหว่างประเทศหรือพาสปอร์ตไปแล้วและทำสัญญาจ้างงาน รวมทั้งถูกข่มขู่ทำให้จำใจต้องทำงาน ทั้งนี้ข้อมูลกลุ่มบุคคลที่ถูกหลอกไปทำงานพบว่าส่วนใหญ่เป็นคนจากพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด
.
นายอำนาจ พละพลีวัลย์ ผู้อำนวยการกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมการกงสุล กล่าวว่าปัญหาสำคัญคือไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าผู้ที่ร้องทุกข์เป็นเหยื่อจริงหรือไม่ แต่ส่วนใหญ่เขียนคำร้องทุกข์ถึงเจ้าหน้าที่ไปในทิศทางเดียวกันคือถูกหลอกให้ไปทำงาน ดังนั้นจึงเสนอให้จัดตั้งศูนย์สอบสวนเพื่อลงโทษผู้ที่แจ้งความเท็จอย่างจริงจังและอยากให้ลดขั้นตอนการช่วยเหลือเหลังจากเดิมใช้เวลารายละ 2-3 เดือน เนื่องจากมีเบาะแสแล้วถึง 140 ราย แต่ช่วยเหลือกลับมาได้พียง 63 ราย
.
ด้านด่านตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) จ.เชียงราย แจ้งว่าปัญหาหลักคือผู้ที่ลักลอบเข้าไปทำงานออกไปตามช่องทางธรรมชาติที่ไม่ใช่ด่านหลักทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถติดตามบุคคลได้โดยง่าย และผู้ที่ลักลอบก็มักจะเต็มใจที่จะไปทำงานแต่เมื่อครบสัญญาจ้างแล้วอาจไม่ได้รับค่าจ้างตรงกับที่คาดการณ์ไว้จึงจะเดินทางกลับประเทศไทย แต่เนื่องจากกระทำผิดด้วยการหลบหนีออกเมืองจึงไม่อยากถูกดำเนินคดี จึงได้แจ้งญาติให้บอกเจ้าหน้าที่ว่าตนเป็นเหยื่อถูกหลอกไปทำงานเพื่อให้รับการช่วยเหลือกลับประเทศไทย ซึ่งพบบางรายหลังจากได้รับช่วยเหลือแล้วยังกลับไปทำงานซ้ำอีก ทั้งนี้ได้มีการประสานความร่วมมือระหว่างไทยและเมียนมาในการช่วยเหลือคนไทยที่ถูกหลอกไปทำงานในประเทศเมียนมา พร้อมบูรณาการร่วมกับหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่สืบสวนจับกุมกลุ่มขบวนการ Callcenter และอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ทั้งต่างชาติและบุคลสัญชาติไทย โดยได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนหยุดหลงเชื่อไม่ตกเป็นเหยื่อของกลุ่มขบวนการ พร้อมออกตรวจประชาสัมพันธ์สถานที่เสี่ยง อาทิ ร้านให้บริการโทรศัพท์มือถือที่มีการจำหน่าย ชิมการ์ด และสถาบันทางการเงินในพื้นที่อีกด้วย
.
รายงานข่าวแจ้งว่าช่วงปลายปี 2565-2566 คณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่นไทย-เมียนมา (TBC) ฝ่ายไทย อ.แม่สาย จ.เชียงราย ได้ประสานไปยัง TBC ฝ่ายเมียนมา จำนวน 6 ครั้ง เพื่อขอความช่วยเหลือคนไทยจำนวน 18 คน ได้รับการช่วยเหลือแล้ว 11 คน โดยช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค.2565 และเดือน ม.ค.2566 พบมีผู้ถูกหลอกให้ไปทำงานค้าประเวณีและแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และไมได้รับการช่วยเหลืออีก 7 คน บางรายไปเป็นกลุ่ม 5 คน ส่วนที่เหลือรายละ 1 คน ส่วนใหญ่มีอายุน้อยตั้งแต่ 20-30 ปี
.
เหยื่อส่วนใหญ่ทราบประกาศรับคนงานทางเฟซบุ๊ก,Line,TIKTOK ให้ไปทำงานที่ จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา ติดกับ อ.แม่สาย อ้างว่าจะมีเงินเดือนๆ ละขั้นต่ำ 10,000 บาท มีที่พักและอาหารฟรี แต่เมื่อไปทำงานจริงกลับถูกส่งไปทำงานตามเมืองใหญ่ๆ ในรัฐฉานซึ่งตั้งอยู่ห่างไกลชายแดน เช่น เมืองปางซาง เมืองล็อกกิ่งหรือเล่าไก ฯลฯ บางรายถูกให้ลงนามในสัญญาที่เป็นภาษาจีนจึงไม่ทราบรายละเอียด แท้จริงสัญญาระบุให้ทำงาน 6 เดือน หากอยากลาออกต้องจ่ายเงินให้ผู้จ้าง 50,000-200,000 บาท หากไม่มีให้ต้องทำงานจนกว่าจะหมดหนี้ บางรายปฏิเสธงานตั้งแต่ต้นก็ต้องเสียเงินให้นายหน้ารายละ 50,000 บาท ไม่รวมค่าเดินทางกลับด้วย.
เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย
Facebook
Twitter
Email
Print