Categories
CULTURE

ครม. รับรองวัดคาทอลิก 21 จังหวัด รวม 49 แห่ง

 

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 23 ส.ค. 66 ได้ ให้ความเห็นชอบการรับรองวัดคาทอลิก เป็นวัดคาทอลิกตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยแนวทางพิจารณาในการจัดตั้งวัดบาทหลวงโรมันคาทอลิก พ.ศ. 2564  จำนวน 49 แห่ง  ซึ่งเมื่อรวมกับที่ ครม.ได้ให้การรับรองทั่วประเทศไปแล้วก่อนหน้านี้ ในการประชุม ครม. วันที่ 23 ส.ค. 65, 8 พ.ย. 65, 21 ก.พ. 66 และ 16 พ.ค. 66 จำนวน 155 แห่ง  จะให้มีวัดคาทอลิกที่ได้รับการรับรองตามระเบียบฯ รวมแล้วมีทั้งสิ้น 204 แห่ง
 
สำหรับวัดคาทอลิกทั้ง 49 แห่งที่ได้รับการรับรองครั้งนี้ ได้ผ่านการพิจารณาคำขอจากคณะกรรมการกลั่นกรองคำขอจัดตั้งวัดคาทอลิก เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 66 โดยคณะกรรมการฯ เห็นว่าทั้งหมด มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ ได้แก่ 1)ได้รับความเห็นชอบให้ยื่นคำขอรับรองจากสภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย 2)มีข้อมูลที่ตั้งวัด 3)มีข้อมูลที่ดินที่ตั้งวัดและการอนุญาตให้ใช้ที่ดิน 4) มีรายชื่อบาทหลวงซึ่งจะไปประกอบศาสนกิจประจำวัด และ 5) มีข้อมูลอื่นที่จำเป็นเกี่ยวกับการรับรองวัดคาทอลิก เช่น มีใบอนุญาตหรือใบรับรองการก่อสร้างอาคารหรือเอกสารรับรองความมั่นคงแข็งแรงของอาคารวัด/ มีระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่เอื้อ มีอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการประกอบศาสนพิธี
 
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับวัดคาทอลิกที่ได้รับการรับรองทั้ง 49 แห่ง อยู่ใน 21 จังหวัด ประกอบด้วย อุบลราชธานี 9 แห่ง, เชียงราย 7 แห่ง, ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ กาฬสินธุ์ สกลนคร จังหวัดละ 3 แห่ง กรุงเทพฯ จันทบุรี ภูเก็ต  ยะลา นครพนม และมุกดาหาร จังหวัดละ 2 แห่ง, สมุทรปราการ เพชรบูรณ์ ลำปาง ชุมพร พังงา ตรัง สงขลา ปัตตานี และสุรินทร์ จังหวัดละ 1 แห่ง
 
สำหรับประโยชน์ที่จะได้รับจากการรับรองวัดคาทอลิกนั้น นอกจากจะเป็นสถานประกอบศาสนพิธีต่างๆ แล้ว ยังจะสนับสนุนให้วัดเป็นสถานที่ปฏิบัติศาสนกิจเพื่อความสงบและพัฒนาจิตใจของชุมชนและท้องถิ่น เป็นแหล่งศึกษาด้านวัฒนธรรมประเพณีของคาทอลิกแก่นักเรียนและประชาชน เป็นแหล่งเรียนรู้พระธรรมคำสอนคริสต์ศาสนา ตลอดจนเป็นสถานที่พบปะส่งผลให้เกิดความสามัคคีในชุมชน

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักนายกรัฐมนตรี

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
CULTURE

กองทัพบก จับมือ กรุงไทย เปิดตัวแอปฯ “OOMSUB”

 
“กองทัพบก” ร่วมกับ “ธนาคารกรุงไทย” เปิดตัวแอปพลิเคชัน OOMSUB (ออมทรัพย์) ให้บริการกับกำลังพล สมาชิกกิจการออมทรัพย์ข้าราชการกองทัพบก (อทบ.) กรมสวัสดิการทหารบก ที่จะช่วยบริหารจัดการด้านการเงิน ครบ จบ ง่าย ในแอปฯเดียว ทั้งจัดการข้อมูลสมาชิก ตรวจสอบยอดเงินฝาก เงินกู้ และถอนดอกเบี้ย รวมถึงยื่นขอกู้ ได้ทันที ทุกที่ ทุกเวลา พร้อมฟีเจอร์พิเศษ “คู่คิด” ที่จะช่วยให้สมาชิก คิดคำนวณ ต่อยอดวางแผนด้านการเงิน เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับข้าราชการกองทัพบก เตรียมพร้อมชีวิตหลังวัยเกษียณราชการได้อย่างมีความสุข

พลเอกณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา กองทัพบก ได้รับความร่วมมือจากธนาคารกรุงไทยในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเงินมาช่วยสนับสนุนภารกิจของกองทัพบก และการให้บริการกับกำลังพลมาโดยตลอด โดยในปีที่ผ่านมา ธนาคารกรุงไทย ได้เปิดสาขากองบัญชาการกองทัพบก เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับกำลังพล และในครั้งนี้ จากนโยบายการปฏิบัติงานการพัฒนาด้านกำลังพล ในการส่งเสริมสวัสดิการและยกระดับคุณภาพชีวิตของข้าราชการกองทัพบก จึงได้ประสานความร่วมมือกับทางธนาคารกรุงไทย ในการร่วมกันพัฒนาแอปพลิเคชัน OOMSUB (ออมทรัพย์) แอปฯที่จะช่วยให้กำลังพลซึ่งเป็นสมาชิกกิจการออมทรัพย์ข้าราชการกองทัพบก (อทบ.) สามารถบริหารจัดการเงิน อทบ. ได้สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย  ผ่านสมาร์ทโฟนด้วยตัวเอง ได้ทันที ทุกที่ ทุกเวลา

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า กรุงไทย ในฐานะธนาคารพาณิชย์ของรัฐ มุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเงินอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานและวิสัยทัศน์ด้านดิจิทัลของภาครัฐ ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการ และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยทุกกลุ่ม รวมถึงข้าราชการกองทัพบก โดยที่ผ่านมาธนาคารได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเงินมาสนับสนุนบริการแก่กองทัพบกในหลายด้าน ทั้งด้านการบริหารจัดการทางการเงิน บนระบบ Krungthai Corporate Online ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานด้านงบประมาณและการเงินของหน่วยงานในกองทัพบก การพัฒนาบริการในระบบนิเวศที่สำคัญในชีวิตประจำวัน ทั้ง Smart Hospital กับโรงพยาบาลในสังกัดกองทัพบก  และ Smart Academy กับหน่วยงานด้านการศึกษา

ในครั้งนี้ ธนาคารได้ร่วมมือกับกองทัพบก พัฒนาแอปฯ OOMSUB (ออมทรัพย์)  ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของข้าราชการกองทัพบกที่เป็นสมาชิก อทบ. ให้จัดการเงิน อทบ. ได้อย่างมั่นใจ โดยแอปฯ OOMSUB (ออมทรัพย์) ให้บริการอยู่บนระบบคลาวด์ ที่มีความปลอดภัยสูง ด้วยการเข้ารหัสข้อมูลที่มีความปลอดภัยสูงระดับมาตรฐานสากล ทำให้การทำธุรกรรมทางการเงินรวดเร็ว และปลอดภัย บนช่องทางดิจิทัลครบวงจร  

แอปฯ OOMSUB (ออมทรัพย์)  ครอบคลุมการให้บริการ ทั้งการตรวจสอบสถานภาพสมาชิก ตรวจสอบยอดเงิน อทบ. ทั้งเงินฝาก เงินกู้ และดอกเบี้ยสะสม สามารถยื่นเรื่องกู้เงิน และตรวจสอบสถานะการยื่นกู้ ที่ทำได้ง่าย ด้วยตนเอง ทุกที่ ทุกเวลา แบบออนไลน์ เรียลไทม์ รวมถึงสามารถส่งเงินฝากสะสมเพิ่ม หรือชำระหนี้ก่อนกำหนด ผ่านระบบรับชำระเงินจากทุกธนาคาร นอกจากนี้ยังมีฟีเจอร์ “คู่คิด”  ที่ช่วยให้สมาชิกวางแผนด้านการเงิน ทั้งด้านการเก็บออมเงินและด้านการกู้เงิน เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับข้าราชการกองทัพบก เตรียมพร้อมชีวิต หลังวัยเกษียณราชการได้อย่างมีความสุข สามารถทำธุรกรรมได้อย่างมั่นใจ

โดยบริการทั้งหมดนี้เป็นการสนับสนุน วิสัยทัศน์และภารกิจด้านดิจิทัลของกองทัพบก เพื่อมุ่งหวังที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตทางด้านการเงินให้กับข้าราชการกองทัพบกให้ดีขึ้นในทุกวัน เตรียมพร้อมชีวิตหลังวัยเกษียณราชการได้อย่างมีความสุข สอดคล้องกับภารกิจของธนาคาร ตามวิสัยทัศน์ “กรุงไทยเคียงข้างไทย สู่ความยั่งยืน”

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ธนาคารกรุงไทย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
CULTURE

“งานตรานกยูงพระราชทาน ฯ ครั้งที่ 18”

 

   นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำคณะผู้บริหารกรมหม่อนไหมเข้าพบนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เพื่อประชาสัมพันธ์ “งานตรานกยูงพระราชทาน สืบสานตำนานไหมไทย” ครั้งที่ 18 ประจำปี 2566 โดยมี นายศรัญญู พูลลาภ รองอธิบดีกรมหม่อนไหม นำเสนอนิทรรศการฯ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงสืบสานและทรงให้ความสำคัญกับผ้าไหมไทย เป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ้าไหมไทยคุณภาพผลิตภัณฑ์จากหม่อนและไหม รวมทั้งภารกิจและผลงานของกรมหม่อนไหมให้เป็นที่รู้จัก ตลอดจนเป็นการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าผ้าไหมไทยตรานกยูงพระราชทาน ผลิตภัณฑ์จากหม่อนและไหมของเกษตรกรให้ถึงมือผู้บริโภคโดยตรง


            สำหรับการจัด “งานตรานกยูงพระราชทาน สืบสานตำนานไหมไทย” ครั้งที่ 18 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “ไหมไทยล้ำค่า สายใยแห่งภูมิปัญญา พัฒนาสู่สากล” ระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม – 3 กันยายน 2566 ตั้งแต่เวลา 10.00 น. – 20.00 น. ณ ฮอลล์ 6-7 อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยมีกิจกรรมภายในงานที่น่าสนใจมากมาย อาทิ นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ การจัดแสดงเครื่องหมายตรานกยูงพระราชทาน การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน ประเภทผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าไหมยกดอกลำพูน ผ้าไหมแพรวา ผลงานการประกวด เส้นไหม ผ้าไหมตรานกยูงพระราชทานและผลิตภัณฑ์หม่อนไหม ประจำปี 2566 ผลงานของกรมหม่อนไหม และการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับหม่อนไหม เป็นต้น รวมทั้งยังมีการออกร้านจำหน่ายผ้าไหมและผลิตภัณฑ์ไหมไทย และสินค้าหม่อนไหม มากกว่า 200 ร้านค้า


            นายศรัญญู พูลลาภ รองอธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวว่า กรมหม่อนไหม มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาไหมไทยตามความต้องการของตลาด ทั้งภายในประเทศและในระดับสากล โดยไฮไลท์สำคัญของการจัดงานตรานกยูงพระราชทานฯ ในครั้งนี้ คือ นิทรรศการการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เป็นการนำเสนอนิทรรศการพันธุ์หม่อน พันธุ์ไหมอนุรักษ์ ที่กรมหม่อนไหมได้รวบรวมและอนุรักษ์ให้คงอยู่ การนำเสนอไหมกินใบหม่อนและไหมที่กินใบพืชชนิดอื่น เช่น ไหมกระท้อน ไหมดาหลา ไหมมันสำปะหลัง และไหมอีรี่ เป็นต้น การนำเสนอการพัฒนาพันธุ์ไหมที่เหมาะสมในการผลิตผ้าห่มใยไหม ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยดูดความชื้น ระบายเหงื่อและน้ำมันจากร่างกาย จึงทำให้รู้สึกแห้งสบายตัว และเย็นแม้ในค่ำคืนของฤดูร้อน นิทรรศการงานวิจัยผลิตภัณฑ์วัสดุทางการแพทย์จากไหมไทย ในส่วนของโครงร่างกระดูกและเต้านม นิทรรศการผ้าไหมลายดอกเอเดลไวส์ ซึ่งกรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทูลเกล้าฯ ถวายหนังสือ “จากพันธุ์ไม้ สู่แพรพรรณ” ซึ่งเป็นข้อมูลการออกแบบลายผ้าดอกเอเดลไวส์ ประกอบด้วย 5 เทคนิค ได้แก่ มัดหมี่ ยกดอก จก ขิด และ บาติก โดยกรมหม่อนไหมจัดทำขึ้น เพื่อส่งต่อให้ช่างทอผ้าไหมของทุกภูมิภาคได้สานต่องานทอผ้าให้มีความหลากหลาย และเพิ่มมูลค่าให้แก่  ผ้าไหมไทย


            นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงนิทรรศการ Silk Home ที่เป็นการจำลองการใช้ชีวิตประจำวันใน ห้องรูปแบบ Studio คอนโดมิเนียม โดยมีผลิตภัณฑ์จากหม่อนไหมเป็นหลัก ตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเข้านอน ซึ่งผลิตภัณฑ์ใน Silk Home จะมีรายละเอียดของสินค้าและช่องทางการจำหน่ายที่สามารถเลือกซื้อสินค้าดังกล่าวได้ภายในงานที่ได้รับการการันตีคุณภาพและมาตรฐาน ตลอดจน มีการจัดแสดงแฟชั่นโชว์ของทูตอัตลักษณ์ไหมไทย ซึ่งเป็นบุคคลที่ให้ความสำคัญในการอนุรักษ์ และสวมใส่ผ้าไหมไทย ในประเทศต่าง ๆ รวมทั้งยังประชาสัมพันธ์การสวมใส่ผ้าไหมไทยให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกอีกด้วย         

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
CULTURE

“หมู่บ้านรักษาศีล 5” ประจำหนเหนือ ณ ชุมชนคุณธรรม บ้านเมืองรวง

 
วันอาทิตย์ที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๖๖ เวลา ๑๓.๐๐ น. ณ วัดท่าไคร้ (บ้านเมืองรวง) ต.แม่กรณ์ อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย ด้วยคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา “หมู่บ้านรักษาศีล ๕” จังหวัดเชียงราย ได้คัดเลือก “บ้านเมืองรวง” เป็นหมู่บ้านรักษาศีล ๕ ต้นแบบของจังหวัดเชียงราย เพื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็นหมู่บ้านรักษาศีล ๕” ประจำหนเหนือ โดยคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการหมู่บ้านรักษาศีล ๕ หนเหนือ กำหนดลงพื้นที่เพื่อตรวจติดตามผลการดำเนินงาน ในวันพุธที่ ๒๓ สิงหาคม เวลา ๑๓.๐๐ น.
 
ในวันนี้ จึงได้มีการประชุมเตรียมความพร้อมรับการตรวจติดตามคณะกรรมการฯ หนเหนือ โดยพระพุทธิญาณมุนี เจ้าคณะจังหวัดเชียงราย ได้มอบหมายให้พระภาวนาโกศลเถร วิ. รองเจ้าคณะจังหวัดเชียงราย เป็นประธานการประชุมฯ พร้อมนี้มีผู้เข้าร่วมประชุม พระครูขันติพลาธร รองเจ้าคณะจังหวัดเชียงราย เจ้าคณะอำเภอ คณะสงฆ์จังหวัดเชียงราย นายโสไกร ใจหมั้น ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเชียงราย นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย นายสมาน เทพสุภา ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ ๕ บ้านเมืองรวง ผู้นำท้องที่ และผู้นำชุมชน พร้อมได้มีการตรวจเยี่ยมพื้นที่ในบริเวณบ้านเมืองรวงร่วมกัน
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สนง.วัฒนธรรม เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
CULTURE

ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากด้วย Soft Power ในมิติทางศาสนา

 
ในวันอาทิตย์ที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๖๖ ณ ห้องนิทรรศการ ๕ อาคารหอศิลป์แห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร กรมการศาสนากระทรวงวัฒนธรรมจัดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการการ ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากด้วย Soft Power ในมิติทางศาสนา โดยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Facebook LIVEกรมการศาสนา)โดยกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้บริหารหรือผู้แทนศูนย์ศึกษา พระพุทธศาสนาวันอาทิตย์และผู้แทนหน่วยเผยแพร่ศีลธรรมทางพระพุทธศาสนาของแต่ละจังหวัดเพื่อให้เกิดการบูรณาการการดำเนินงานด้านศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ผ่านกลไก “พลังบวร” ซึ่งเป็น Soft Power ที่ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก สร้างความมั่นคงให้แก่ชุมชน ช่วยสนับสนุนให้เด็กเยาวชนและประชาชนใกล้ชิดกับพระพุทธศาสนาโดยการน้อมนำและปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนทางศาสนาในชีวิตประจำวัน โดยมีกิจกรรมสำคัญ ดังนี้
 
๑. รับชมวีดิทัศน์หน่วยงานภาคีเครือข่ายทางศาสนา
๒. การประชุมเชิงปฏิบัติการฯ หัวข้อ “การส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากด้วย Soft Power ในมิติศาสนา” ดำเนินรายการโดย นายยงจิรายุ อุปเสน ผู้จัดการสำนักส่งเสริมและขับเคลื่อนเครือข่ายทางสังคม ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน ซึ่งมีคณะวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่
๒.๑ พระมหาศรายุทธ อคฺคธมฺโม ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดศรีสามัคคีธรรม จังหวัดบึงกาฬ
๒.๒ ผู้แทน ศพอ.วัดพระเชตุพน กรุงเทพฯ
๒.๓ รองศาสตราจารย์ นพดล เนตรดี วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์
๒.๔ คุณอัจฉรา แสงจันทร์ ชุมชนคุณธรรมวัดพระบรมธาตุ จังหวัดกำแพงเพชร
๓. กิจกรรมระดมความคิด เรื่อง การส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากด้วย Soft Power ในมิติทางศาสนา
 

ในโอกาสนี้จังหวัดเชียงรายโดยผู้บริหารและผู้แทนศูนย์พระพุทธ ศาสนาวันอาทิตย์และผู้แทนหน่วยเผยแพร่ศีลธรรมทางพระพุทธศาสนา จำนวน ๒๑ รูป/คน พร้อมด้วยนายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย นางพัชรนันท์ แก้วจินดา ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม นางสุภัสสร ประภาเลิศ นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ นางสายรุ้ง สันทะบุตร นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ นายสุพจน์ ทนทาน นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ นายอภิชาต กันธิยะเขียว นักวิชาการวัฒนธรรมปฏิบัติการ นายวรพล จันทร์คง นักวิชาการวัฒนธรรมปฏิบัติการ และนางสาวสุทธิดา ตราชื่นต้อง นักวิชาการวัฒนธรรมปฏิบัติการ ข้าราชการสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย เข้าร่วมโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ด้วย Soft Power ในมิติทางศาสนา ในวันอาทิตย์ที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๖๖ เวลา ๐๘.๐๐ – ๑๕.๐๐ น. ณ ห้องประชุมเวียงกาหลง ชั้น ๓ ศาลากลางจังหวัดเชียงราย ตำบลริมกก อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย (ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ Facebook LIVE กรมการศาสนา)พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกให้แก่คณะสงฆ์และผู้นำ ศาสนาที่มาร่วมการประชุมฯ ดังกล่าว
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สนง.วัฒนธรรม เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
CULTURE

พช.เชียงราย ร่วมงานประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา”

 
วันที่ 19 สิงหาคม 2566 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นประธานการดำเนินกิจกรรมโครงการยกระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชน การประกวดผ้าลายพระราชทาน ผ้าลายดอกรักราชกัญญา และงานหัตถกรรม โดยมี นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายวรงค์ แสงเมือง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางจิณณารัชช์ สัมพันธรัตน์ ประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน นายกัมปนาท จักรวาล วิเวศ ศรีพุทธา หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรม คณะผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน ร่วมงาน
 
ในการนี้ นายวิทยา ชุมภูคำ พัฒนาการจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วย นายปรีชา ปวงคำ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน และเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน ได้เข้าร่วมงาน ดังกล่าว จังหวัดเชียงราย โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเชียงราย ได้ประชาสัมพันธ์ ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ส่งผลงานประเภทผ้าและงานหัตถกรรมเข้าร่วมการประกวดในครั้งนี้ จำนวนทั้งสิ้น 154 ชิ้น แยกเป็น ประเภทผ้า จำนวน 114 ผืน ประเภทงานหัตถกรรม จำนวน 40 ชิ้น
 
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า “นับเป็นความโชคดีของประชาชนคนไทย ที่ได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่พระองค์ทรงมีความรักความเมตตาและความห่วงใย ทรงได้ทุ่มเทพระสติปัญญาและพระวรกายเพื่อที่จะ “สืบสาน รักษาและต่อยอด” พระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทำให้ชีวิตของคนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จึงได้สืบสานงานแบ่งเบาพระราชภาระ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการสืบสานและอนุรักษ์ผ้าไทย ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 3 ปีที่ผ่านมา 
 
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงได้ “สืบสาน รักษา และต่อยอด” รื้อฟื้นอนุรักษ์ผ้าไทยให้กลับมาอีกครั้ง โดยการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการผ้า ผู้ผลิตผ้า พัฒนาลายผ้าใหม่ ๆ ให้มีความทันสมัย เหมาะสมกับการสวมใส่ในทุกวัยและทุกโอกาส แสดงให้เห็นการฟื้นคืนชีพของผ้าไทยไปสู่ความรุ่งเรืองจนมาถึงปัจจุบัน ซึ่งปัจจัยสำคัญแห่งการขับเคลื่อนผ้าไทยที่พระองค์ได้พระราชทาน คือ “คน” ซึ่งประกอบไปด้วยข้าราชการ คณะทำงาน และพี่น้องประชาชน
 
กระทรวงมหาดไทย น้อมนำแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการเป็นแฟชั่นที่ยั่งยืน (Sustainable Fashion) โดยสวมใส่ผ้าไทยที่ย้อมสีธรรมชาติ ร่วมกันรณรงค์อนุรักษ์โลก ลดภาวะโลกร้อน และอนุรักษ์ภูมิปัญญาผ้าไทย สวมใส่ได้ทุกโอกาส ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ตามโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก”
นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวต่ออีกว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงริเริ่มผลักดันผ้าไทยให้เกิดแฟชั่นใหม่ที่ยังคงภูมิปัญญาเดิมของคนไทย โดยการพระราชทานแบบลายผ้า “ลายขอสิริวัณณวรี” ให้ประชาชนคนไทยได้นำไปพัฒนาและออกแบบจนเกิดเป็นความนิยมเกิดขึ้นในประเทศไทย 
 
ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่ในผ้า แต่ยังเกิดขึ้นในทุกผลิตภัณฑ์ จากนั้นต่อมาได้พระราชทาน “ลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” “ลายดอกรักราชกัญญา” และลายบาติกพระราชทานอื่น ๆ อีกมากมาย ทรงแสดงให้เห็นว่าแฟชั่นลายใหม่นั้นทำให้เกิดเป็นที่นิยม เป็นที่ต้องการ สามารถสร้างรายได้สร้างอาชีพให้กับคนในชุมชน โดยเริ่มจากให้ผู้ผลิตผ้า ผู้ประกอบการผ้า ออกแบบใส่จินตนาการเพื่อให้เกิดชิ้นงานใหม่ ดังคำว่า “ต่อยอด” ตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการพึ่งพาตนเองตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เริ่มตั้งแต่ต้นน้ำด้วยการปลูกฝ้าย ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ใช้สีธรรมชาติ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการส่งเสริม สนับสนุนให้มีความรู้ในการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 
 
การคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ผ้าไทย เพื่อให้ได้รับการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างความตระหนักให้รู้ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับคนทอผ้า คนย้อมผ้า และอาจส่งไปถึงผู้สวมใส่หากใช้ สารเคมีในการย้อมผ้า อีกทั้งยังเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน
 
“การจัดประกวดลายพระราชทาน มีจุดประสงค์หลัก คือ การกระตุ้นให้ผู้ประกอบการผ้าได้มีการฝึกฝนพัฒนาทักษะในการทอผ้าอีกทั้งเป็นเวทีให้แสดงความเป็นศิลปหัตถกรรม สร้างความใส่ใจในผลิตภัณฑ์ชุมชน ส่งเสริมการแข่งขันและความเป็นเลิศ นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ผ้าไทยให้ดีขึ้นต่อไป ดังนั้นผู้ที่เป็นข้าราชการในฐานะข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต้องทำหน้าที่เป็นคนเชื่อมโยงนำสิ่งที่ดีไปสู่พี่น้องประชาชน และช่วยผลักดันภารกิจหน้าที่ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้เกิดความสำเร็จ ด้วยการช่วยกันทำสิ่งที่ดี ด้วยความแน่วแน่มุ่งมั่นตั้งใจ มีแรงปรารถนา (Passion) ช่วยกันและกันนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Fashion) พร้อมส่งเสริมผลักดันร่วมกับภาคีเครือข่าย ทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในการก้าวเดินร่วมกันต่อไปโดยเฉพาะงานหัตถศิลป์หัตถกรรม 
 
โครงการผ้าไทย เพราะเราอยากเห็นคนไทยทุกคนมีความสุข บนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเอง พร้อมช่วยกันดูแลสังคมดูแลโลกใบนี้ ทำให้ประชาชนคนไทยได้อยู่ในชุมชนยั่งยืน เพื่อให้ 76 จังหวัด ในประเทศไทยทุกจังหวัดเป็นประเทศไทยที่ยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว
 
นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชน ได้ดำเนินโครงการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” โดยมีเป้าหมายกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย ช่างทอผ้า และงานหัตถกรรม ทุกจังหวัด ทั่วประเทศ ร่วมโครงการฯ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชน โดยดำเนินการพัฒนาผ่านการประกวด ผ้าลายพระราชทาน แบ่งเป็น 4 กิจกรรม ประกอบด้วย 
 
1) กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ด้านผ้าไทย และงานหัตถกรรม (Coaching) “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” 
2) กิจกรรมประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” และงานหัตถกรรม 
3) กิจกรรมบันทึกและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานผ้าและงานหัตถกรรมที่ได้รับการคัดเลือก 
และ 4) กิจกรรมสนับสนุนการพัฒนาผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ในการพัฒนาผ้าและงานหัตถกรรม 
 
โดยจะดำเนินการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” และงานหัตถกรรม ในพื้นที่ 4 ภูมิภาค ได้แก่ 
1) ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 19 สิงหาคม 2566 ณ โรงแรมมีเลีย เชียงใหม่ ตำบลช้างคลาน อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ 
2) ภาคกลาง จังหวัดราชบุรี ในวันที่ 26 สิงหาคม 2566 ณ โรงแรม ณ เวลา ตำบลดอนตะโก อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี 
3) ภาคใต้ จังหวัดสงขลา ในวันที่ 2 กันยายน 2566 ณ โรงแรมลากูน่า แกรนด์ โฮเทล แอนด์ สปา ตำบลพะวง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และ 
4) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดอุดรธานี ในวันที่ 10 – 11 กันยายน 2566
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กลุ่​มงาน​ส่งเสริม​การพัฒนา​ชุมชน​ สำนักงาน​พัฒนา​ชุมชน​จังหวัด​เชียงราย​

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
CULTURE

นับถอยหลังสู่การจัดงาน Thailand Biennale, Chiang Rai 2023

 

วันนี้ (17 สิงหาคม 66) เวลา 10.00-12.00 น. ณ The Jim Thompson Art Center กระทรวงวัฒนธรรม โดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย จัดพิธีแถลงข่าวโครงการการจัดมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale,Chiangrai Rai 2023 ครั้งที่ 2 โดยมีนายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเป็นประธาน นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นางโชติกา อัครกิจโสภากุล รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายประสพ เรียงเงิน ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม คณะอนุกรรมการ ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ และคณะภัณฑารักษ์ ศิลปินเครือข่ายจากจังหวัดเชียงราย สมาคมขัวศิลปเชียงราย และสื่อมวลชน เข้าร่วมแถลงข่าวฯ เปิดตัวศิลปิน รอบสอง 20 คน pavilions แสดงงานของกลุ่มศิลปินต่าง ๆ 10 Pavilions อาทิ Korean Paivilion,MOMA Warsaw,Production Zamia ,สล่าขิ่น,กลุ่มศิลปินสีน้ำนานาชาติ และกิจกรรมคู่ขนานต่างๆ เพื่อสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์โครงการการจัดมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale,Chiangrai Rai 2023 สู่สาธารณชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือและความก้าวหน้าของการดำเนินงานของโครงการ ดังกล่าว

ในการนี้ นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย นายสุวิทย์ ใจป้อม นายกสมาคมขัวศิลปเชียงราย ผู้แทนมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กลุ่มศิลปินเชียงราย ร่วมในพิธีแถลงข่าว
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สนง.วัฒนธรรม เชียงราย

พัชรนันท์ แก้วจินดา : รายงาน
ประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย: ภาพ
อภิชาต กันธิยะเขียว :บรรณาธิการ
 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
CULTURE

สุดยอดเที่ยวชุมชน ยลวิถี “เมนูเมืองรวง ต้องมาลอง อร่อย ไม่ลวงตา

 
วันจันทร์ที่ 7 สิงหาคม 2566 ณ ชุมชนคุณธรรมบ้านเมืองรวง ตำบลแม่กรณ์ อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย โดยนายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย มอบหมายให้นางสาวกฤษยา จันแดง ผู้อำนวยการกลุ่มกิจการพิเศษ นางกัลยา แก้วประสงค์ และนางสุพรรณี เตชะตน นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ ลงพื้นที่ขับเคลื่อนพัฒนาต่อยอดชุมชนคุณธรรมต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” บ้านเมืองรวง ตำบลแม่กรณ์ อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย จัดกิจกรรมคิดค้น พัฒนาเมนูอาหาร/เครื่องดื่ม สำหรับต้อนรับนักท่องเที่ยว ภายใต้แนวคิด “อร่อยตา อร่อยรส อร่อยใจ” โดยเน้นการใช้วัตถุดิบ ท้องถิ่น กรรมวิธี และรสมือที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชน ออกแบบเมนูอาหาร พัฒนาการจัดจาน
โดยในวันนี้เป็นการลงมือปฏิบัติพัฒนาเมนูอาหาร/เครื่องดื่ม โดยภูมิปัญญาด้านอาหารของชุมชนคุณธรรมบ้านเมืองรวง พร้อมดำเนินการถ่ายภาพ เพื่อจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์เมนูอาหารและเครื่องดื่มในแนวคิด “เมนูเมืองรวง ต้องมาลอง อร่อย ไม่ลวงตา” ดังนี้
1. ข้าวผัดเมืองรวง (ส่วนผสมจากน้ำพริกตาแดง และจิ๊นส้ม)
2. ชุดเครื่องดื่ม น้ำแสนดอก และขนมสองเกลอ (ขนมต้ม ข้าวต้มมัดน้อย)
3. ชุดเครื่องดื่ม กาแฟ/ชาร้อน และสติ๊กข้าวปุ๊ก
4. ชุดออเดิฟ “เมืองรวง บ่ลวงใค๋”
5. เมนู “นารีหลงไพร”
6. เมนู “หงอนพญานาคราช”
7. เมนู “โอ๊บ โอ๊บ ท่องไพร”
8. เมนู “มัฉฉายืนยง”
9. เมนู “ลาบเสียบบ้านเมืองรวง”
10. เมนู “รากขาวสาวพันปี”
11. เมนู น้ำพริกบะเขือส้ม
ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างเมนูอาหารคนเมือง กับเมนูอาหารชาติพันธ์อาข่า อย่างลงตัว ไว้สำหรับต้อนรับนักท่องเที่ยวที่อยากมาชิมรสชาติอาหารวิถีเมืองรวง บ่ลวงใค๋ และบรรยากาศที่สวยงานของชุมชนต่อไป
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สนง.วัฒนธรรม เชียงราย

กฤษยา จันแดง, กัลยา แก้วประสงค์, สุพรรณี เตชะตน : ภาพ/รายงาน
ChiangKhongTV : ภาพ
อภิชาต กันธิยะเขียว : บรรณาธิการ
 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
CULTURE

ขับเคลื่อนวัฒนธรรมบ้านศรีดอนชัย พัฒนาต่อยอด 10 สุดยอดเที่ยวชุมชนยลวิถี

 
วันอาทิตย์ที่ 6 สิงหาคม 2566ณ ชุมชนคุณธรรมฯ บ้านศรีดอนชัย อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย โดยนายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย มอบหมายให้นางสาวกฤษยา จันแดง ผู้อำนวยการกลุ่มกิจการพิเศษ พร้อมด้วยนางกัลยา แก้วประสงค์ นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ รับผิดชอบงานขับเคลื่อนเที่ยวชุมชน ยลวิถี และงานพัฒนาผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย และนางสุพรรณี เตชะตน นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการรับผิดชอบงานชุมชนวัฒนธรรมไทยสร้างเสริมเศรษฐกิจ (ตลาดวัฒนธรรม) ให้ลงพื้นที่ชุมชนคุณธรรมฯ บ้านศรีดอนชัย ดำเนินการขับเคลื่อนงานวัฒนธรรม ดังนี้
 
ร่วมประชุมหารือแนวทางการดำเนินการจัด “กาดลื้อศรีดอนชัย” ภายใต้โครงการชุมชนวัฒนธรรมไทยสร้างเสริมเศรษฐกิจ ซึ่งได้รับสนับสนุนงบประมาณดำเนินการจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม โดยมีพระครูสุจิณวรคุณ เจ้าคณะตำบลศรีดอนชัย/เจ้าอาวาสวัดท่าข้ามศรีดอนชัย เป็นประธานปรึกษาหารือ ที่ประชุมเห็นพ้องกำหนดจัดกาดลื้อศรีดอนชัย ครั้งที่ 1 ในวันเสาร์ที่ 2 กันยายน 2566 ณ วัดท่าข้ามศรีดอนชัย
 
ปรึกษาหารือแนวทางการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมไทย ของชุมชนคุณธรรมฯ บ้านศรีดอนชัย ร่วมกับนางแว่นแก้ว ภิรมย์พลัด ประธานกลุ่มสตรีทอผ้าศรีดอนชัย และนางผดุง สุทธิประทีป ประธานกลุ่มสัมมาชีพ
และติดตามการถ่ายทำสื่อวีดิทัศน์ “ข้ามทุกข์ พบสุข ที่วัดท่าข้ามศรีดอนชัย” กิจกรรมการนำอัตลักษณ์ชุมชน มาสร้างเสน่ห์ด้านการท่องเที่ยวการนำทุนทางวัฒนธรรม (5F/5F+) มาพัฒนาต่อยอดเป็นสินค้าและบริการทางวัฒนธรรม โดยการคิดค้นหรือพัฒนาจุดแข็งวัฒนธรรมใหม่ๆ สร้างโอกาสด้านการท่องเที่ยว ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพและความพร้อมสุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” จังหวัดเชียงราย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สนง.วัฒนธรรม เชียงราย

กฤษยา จันแดง, กัลยา แก้วประสงค์, สุพรรณี เตชะตน : รายงาน/ภาพ
อภิชาต กันธิยะเขียว : บรรณาธิการ
 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
CULTURE

การประชุมคณะสงฆ์จังหวัดเชียงราย สมัยสามัญ ครั้งที่ 4/2566

พระเดชพระคุณพระพุทธิญาณมุนี (ประเสริฐ ปญฺญาวชิโร) เจ้าคณะจังหวัดเชียงราย เจ้าอาวาสวัดพระธาตุผาเงา อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เป็นประธานการประชุมคณะสงฆ์จังหวัดเชียงราย สมัยสามัญ ครั้งที่ 4/2566 ระดับเจ้าคณะจังหวัด รองเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ รองเจ้าคณะอำเภอ และเลขานุการ ในวันศุกร์ที่ 4 สิงหาคม 2566 เวลา 13.00 – 17.00 น. ณ ห้องประชุมชั้น 1 วิทยาลัยสงฆ์เชียงราย (ดอยจำปี) มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย โดยมีประเด็นสำคัญของการประชุมฯ ดังนี้
 
1. การดำเนินงานโครงการ “หมู่บ้านรักษาศีล 5” ในปี 2566
2. การดำเนินงานหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล (อ.ป.ต.)
3. การดำเนินงานโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข ด้วยกิจกรรม 5 ส.
4. การบริหารจัดการพุทธมณฑลสมโภส 750 ปี เมืองเชียงราย
5. การบริหารจัดการวิทยาลัยสงฆ์เชียงราย (มจร.)
6. การสอบธรรมสนามหลวง ประจำปี 2566
7. การจัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์และเจริญจิตตภาวนาถวายพระราชกุศล สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2566
8. เจ้าภาพเสากลาง วิหารพระเจ้าเม็งราย
9. การจัดตั้งกองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์คณะสงฆ์จังหวัดเชียงราย
10. การตรวจการคณะสงฆ์และประชุมพระสังฆาธิการ
11. กำหนดงานมุทิตาจิตแก่พระภิกษุสามเณรผู้สอบพระปริยัติธรรมแผนกบาลีได้ ประจำปี 2566
12. การอบรมนักธรรมก่อนสอบธรรมสนามหลวง ประจำปี 2566
13. โครงการอบรมบาลีก่อนสอบภาค 6 ปีที่ 1
14. นโยบายและแผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา คณะสงฆ์จังหวัดเชียงราย
 
ในโอกาสนี้ นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย มอบหมายให้ นายสุพจน์ ทนทาน นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ ข้าราชการสำนักวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย เข้าร่วมการประชุมฯ พร้อมทั้งแจ้งประเด็นสำคัญ ดังนี้
1. ขอความร่วมมือศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์จังหวัดเชียงราย 104 ศูนย์ จัดส่งรายงานประจำปี พ.ศ. 2566 เพื่อรวบรวม สรุป และส่งให้ กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ต่อไป
2. แจ้งการโอนเงินอุดหนุนศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ รอบที่ 2 และรอบที่ 3
3. การติดตามประเมินผลศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ประจำปี พ.ศ. 2566
 
ทั้งนี้ การประชุมฯ เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและบรรลุผลสำเร็จทุกประการ
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สนง.วัฒนธรรม เชียงราย

พัชรนันท์ แก้วจินดา , สุพจน์ ทนทาน : รายงาน 
สุพจน์ ทนทาน : ภาพ 
 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News