Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

ไฮไลต์ ‘เบียนนาเล่ เชียงราย’ 6-7 เม.ย. 67 ดนตรีของ 10 ชาติพันธุ์

 

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า งานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 ประสบความสําเร็จอย่างดงามด้วยความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วน รวมถึงการสนับสนุนจากคนไทยและนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกเดินทางมาเที่ยวชมงานศิลปะที่จัดแสดงในสถานที่สําคัญซึ่งเชื่อมโยงแหล่งเที่ยวของจังหวัดเชียงราย ด้วยนิทรรศการหลักและกิจกรรมคู่ขนานที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องไปจนสิ้นสุดโครงการในวันที่ 30 เมษายน 2567

 

นายเสริมศักดิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับกิจกรรมคู่ขนานสำคัญในช่วงปลายเดือนมีนาคม จนถึงช่วงต้นเดือนเมษายน 2567 ได้แก่

1) งาน “Chiangrai Cosplay summer meeting 2024” วันที่ 30 มีนาคม 2567 โดยกลุ่มเยาวชนคอสเพลย์เชียงราย (Chiangrai Cosplay Club) ซึ่งเป็นกิจกรรมสร้างสรรค์และพัฒนาทักษะความสามารถด้านศิลปะของคนรุ่นใหม่ที่มารวมตัวกันสร้างสรรค์กิจกรรม พร้อมออกบูธจำหน่ายของสะสมและของที่ระลึก ณ บริเวณลานใต้ต้นจามจุรี หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย (CIAM) 

 

2) ข่วง Crafts โดยจาก Craftsman Cafe & Spaces เครือข่ายศิลปะร่วมสมัยในจังหวัดเชียงราย ที่ตั้งใจเปิดพื้นที่ให้ผู้สร้างงานศิลปะได้มีโอกาสทำงานร่วมกัน โดยจัดกิจกรรมต่อเนื่องทุกวันเสาร์ – อาทิตย์แรกของเดือน นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566 เป็นต้นมา เช่น กิจกรรม Workshop โดยสมาชิกศิลปินสมาชิก งาน Paint โมเดลจิ๋ว, การระบายสีน้ำ, งานผ้า และงานเพนต์ก้อนหิน โดยล่าสุดข่วง Crafts ร่วมกับ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 และ สสส. จัดกิจกรรม “ปิดเทอมสร้างสรรค์ อัศจรรย์วันว่าง” เพื่อเปิดโอกาสการเรียนรู้ทางศิลปะให้แก่เยาวชนในช่วงปิดเทอมได้เข้าร่วม Class เรียนศิลปะสำหรับเด็ก เรียนรู้พื้นฐานเส้น การเล่นสี การวาดรูปและฝึกใช้จินตนาการสร้างผลงานศิลปะขั้นพื้นฐาน ในวันที่ 30-31 มีนาคม 2567 ณ Craftsman Cafe And Spaces หมู่บ้านลานทอง จังหวัดเชียงราย

 

นายเสริมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า 3) กิจกรรมไฮไลต์สำคัญ คือ เทศกาลดนตรีชาติพันธุ์ “กวาคีลา : เป่า ร้อง กลอง รำ เปิดโลกวิถีวัฒนธรรมดนตรีชาติพันธุ์เมืองเชียงราย” ซึ่งเป็นการแสดงดนตรีของ 10 ชาติพันธุ์เมืองเชียงราย ได้แก่ กลุ่มชาติพันธุ์ อาข่า อิ้วเมี่ยน ม้ง ลีซู ลาหู่ บาเกียว ปกาเกอะญอ ดาราอ้าง  คะฉิ่น ขมุ และลัวะ ในวันที่ 6-7 เมษายน 2567 ภายใต้ความร่วมมือของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.องอาจ อินทนิเวศ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย กิจกรรมการสร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัยที่จะเนรมิตบรรยากาศของหอศิลป์   ร่วมสมัยเมือง เชียงราย (CIAM) ให้อบอวลไปด้วยเสียงดนตรีอันเป็นเครื่องมือสื่อสารวิถีวัฒนธรรม อันหลากหลาย จากกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยกิจกรรมทีน่าสนใจในเทศกาล  เช่น นิทรรศการให้ความรู้เรื่องดนตรีชาติพันธุ์ของแต่ละกลุ่ม การแสดงดนตรีพื้นเมืองจากวงดนตรีนักเรียน  ในจังหวัดเชียงราย การแสดงดนตรีจากวงดนตรีกลุ่มชาติพันธุ์ร่วมสมัย การเสวนาจากนักวิชาการด้านดนตรี การเสวนาจากปราชญ์ชาติพันธุ์ท้องถิ่น การออกร้านจำหน่ายอาหารและสินค้าของกลุ่มชาติพันธุ์ และกิจกรรมการละเล่นพื้นบ้านชาติพันธุ์ โดยรอบบริเวณงาน ขอเชิญชวนคนรุ่นใหม่สายอาร์ตมาร่วมกิจกรรม Collateral Event เปิดมุมมองใหม่ ส่งเสริมเศรษฐกิจและภาคภูมิใจไปกับอัตลักษณ์ของเมืองเชียงราย ในงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 ซึ่งยังคงจัดต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2567 นี้

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงวัฒนธรรม

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
All

Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 มียอดผู้เข้าชมงานพุ่งกว่า 1.6 ล้านคน

 
นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ได้ประชุมหัวหน้าส่วนราชการและองค์การมหาชนในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ครั้งที่ ๒/๒๕๖๗ โดยที่ประชุมได้รับรายงานจากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) เกี่ยวกับผลการจัดงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 ธันวาคม 2566 – 30 เมษายน 2567 ภายใต้แนวคิด “เปิดโลก” (The open World) ได้แรงบันดาลใจจากพระพุทธรูปปางเปิดโลกที่โบราณสถาน วัดป่าสัก อำเภอเชียงแสน โดยคัดเลือกผลงานจากศิลปิน 60 คน จาก 23 ประเทศทั้งไทยและประเทศต่างๆ ทั่วโลกร่วมจัดแสดงผลงานศิลปะร่วมสมัย ซึ่งช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2567 มีผู้เข้าชมงานและร่วมกิจกรรมภายในงานนี้ทั้งหมดกว่า 1,600,000 คน
 
 
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า การจัดแสดงผลงานศิลปะร่วมสมัยและกิจกรรมในงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 
 
1) นิทรรศการหลัก แสดงผลงานศิลปะการจัดวางเฉพาะพื้นที่ (Site Specific Installation) จัดแสดงในเขตอำเภอเมืองเชียงราย อำเภอแม่ลาวและอำเภอเชียงแสน 
2) ศาลา (Pavilion) แสดงผลงานนิทรรศการกลุ่มของศิลปิน พิพิธภัณฑ์ และองค์กรต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ 10 แห่งในอำเภอเมืองเชียงรายและอำเภอใกล้เคียง 
และ3) Collateral Events เป็นกิจกรรมพิเศษที่จัดขึ้นในช่วงงาน เช่น ดนตรีชาติพันธุ์ งานฉายภาพยนตร์ การแสดงอื่นๆและการเยี่ยมชมบ้านหรือสตูดิโอของศิลปินในจังหวัดเชียงรายตามอำเภอต่างๆ 
 
 
ซึ่ง วธ.โดยสศร.จะร่วมกับหน่วยงานรัฐ เอกชนและเครือข่ายศิลปินและศิลปินชาวไทยและชาวต่างชาติดำเนินการจัดแสดงผลงานศิลปะร่วมสมัยและกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2567 เช่น นิทรรศการ My Bulgarian Neighbor “Melting” Seventh Layer กิจกรรม OPEN WORLD CINEMA – Hours of ours กิจกรรมดนตรีชาติพันธุ์ “กวาคีลา : เป่า ร้อง กลอง รำ เปิดโลกวิถีวัฒนธรรมดนตรีชาติพันธุ์เมืองเชียงราย และนิทรรศการทัวร์เส้นทางท่องเที่ยวชุมชนเฮือนโบราณ เจียงฮาย เป็นต้น
 
 
น่ายินดีที่มีชาวไทยและชาวต่างชาติ คณะบุคคลต่างๆมาเข้าชมและร่วมกิจกรรมในงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 เป็นจำนวนมาก ช่วงเวลาของการจัดงานที่เหลือกว่า 1 เดือน ขอเชิญชวนคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวชมงานเพื่อศึกษาเรียนรู้งานศิลปะร่วมสมัย ซึ่งเป็นหนึ่งใน Soft Power 11 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่รัฐบาลมุ่งส่งเสริมเพื่อสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนและชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ ตลอดจนเสริมสร้างภาพลักษณ์ และยกระดับบทบาทด้านศิลปวัฒนธรรมของไทยในเวทีโลกและพัฒนางานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยไทยสู่ความเป็นสากล” นายเสริมศักดิ์ กล่าว
 
 
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวต่อไปว่า นอกจากงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 แล้ว ช่วงเดือนมีนาคม 2567 สศร.จัดกิจกรรมแสดงผลงานศิลปะร่วมสมัยอื่นๆ อาทิ นิทรรศการศิลปะ “ลายมือ” ของนายแสงมณี แสงบุญ ศิลปินและดีไซน์เนอร์มืออาชีพผู้มีผลงานสร้างสรรค์ห้องเสื้อ “แสงบุญ” เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในวงการของแฟชั่น โดยนำผลงานศิลปะที่แสดงเรื่องราวซึ่งมีที่มาจากจิตภายในสู่ภายนอก ต่อเส้นสายจากใจสู่มือ ถ่ายทอดผ่านลายมือ ลายเส้น ทั้งขาวดำและสีสัน ออกมาเป็นผลงานศิลปะอันมีเสน่ห์ 
 
 
โดยจัดแสดงตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2567 ณ เฮินศิลป์ใจ๋ยอง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ และนิทรรศการ “1+2 CNX” นำเสนอผลงานศิลปะของศิลปินชั้นครู ผู้มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ ได้แก่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณพงศ์เดช ไชยคุตร นายพีระพงษ์ ดวงแก้วและนางสาวราษี ศรบรรจง โดยเป็นการส่องสะท้อนนิเวศทางศิลปะและวัฒนธรรมผ่านทักษะฝีมือของศิลปินชั้นครูทั้ง 3 ท่าน เปิดให้เข้าชมตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 30 มีนาคม 2567 ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งกิจกรรมเสพศิลป์…ฟินอาร์ต เช่น กิจกรรมฟื้นชีวิตเรือนพื้นถิ่นโบราณเชื่อมประสานเศรษฐกิจชุมชน จัดขึ้นตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 28 เมษายน 2567 ณ อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง กิจกรรมดนตรีในสวนป่า ครั้งที่ 3 จัดขึ้นวันที่ 23 มีนาคม 2567 ณ อุ้มฮุ่มโฮมสเตย์และสวนป่าเกษตรอินทรีย์ อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงวัฒนธรรม

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SPORT

งานวิ่งรูปแบบ ART NIGHT RUN BIENNALE CHIANGRAI 2023

 
เมื่อค่ำวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2567 ที่หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย นางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เข้าร่วมงานวิ่ง “ART NIGHT RUN BIENNALE CHIANGRAI 2023” โดยมีอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ นายสุวิทย์ ใจป้อม นายกสมาคมขัวศิลปะเชียงราย นายประสพ เรียงเงิน ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย นางชญาณ์นันท์ เชื้อศิริถาวร ผู้อํานวยการสํานักงานการกีฬาแห่งประเทศไทย จังหวัดเชียงราย นำหัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สื่อมวลชน และนักวิ่งกว่าพันคนเข้าร่วมงานอย่างคึกคัก
 
 
การวิ่งในครั้งนี้สำนักงานการกีฬาแห่งประเทศไทยจังหวัดเชียงราย ร่วมกับสมาคมขัวศิลปะ จัดโครงการพัฒนาเมืองกีฬา ( Sports City ) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งานวิ่ง “ Art Night Run Biennale Chiang Rai 2023 “ เพื่อสร้างภาพลักษณ์เมืองในรูปแบบ Sports Tourism ตามนโยบายของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาที่ได้ประกาศให้จังหวัดเชียงรายเป็นเมืองกีฬา Chang Rai Sports City ร่วมส่งเสริมการประชาสัมพันธ์มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 และยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนรายได้ทั้งหมดจะมอบเป็นทุนให้กับโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ กองทุนสนับสนุนการป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันจังหวัดเชียงราย และมูลนิธิเพื่อการพัฒนากีฬาจังหวัดเชียงราย
 
 
ภายในงานนักวิ่งทั้งหมดรวมตัวที่จุดปล่อยตัว ที่หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย โดยการวิ่งแบ่งออกเป็น 3 ระยะทางคือ ระยะทาง 3 กิโลเมตร ระยะทาง 6 กิโลเมตร และระยะทาง 12 กิโลเมตร ที่หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย โดยวิ่งไปตามเส้นทาง และทำกิจกรรมร่วมกันจุดที่ 1 บริเวณขัวศิลปะ (บ้านขัวแคร่) และวิ่งต่อไปตามเส้นทางร่วมทำกิจกรรมจุดที่ 2 บริเวณสวนสาธารณะริมน้ำกก จากนั้นวิ่งตามเส้นทางเข้าสู่เส้นชัย ณ หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย ซึ่งนักวิ่งจะได้สัมผัสบรรยากาศที่เย็นสบาย พร้อมได้บันทึกภาพไฟที่สวยงามตลอดเส้นทางการแข่งขัน นอกจากนี้ยังมีโซนกิจกรรมศิลปะ Body paint ถนนศิลปะร้านค้าศิลปะ DIY ร้านอาหารดังในเชียงรายกว่า 40 ร้าน, ลานอาหารเครื่องดื่ม และชมฟรีคอนเสิร์ตอีกด้วย
 
 
ส่วนด้านการแข่งขันประเภทระยะทาง 3,6 และประเภทระยะทาง 12 กิโลเมตร จะเป็นการแข่งขันแบบสนุกสนาน วิ่งไป ชมงานศิลป์ไป ไม่มีการชิงรางวัล ส่วนด้านประเภทการวิ่งระยะทาง 12 กิโลเมตร Overall เป็นการชิงถ้วยรางวัลสุดพิเศษที่ออกแบบโดยอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ และอาจารย์สุวิทย์ ใจป้อม นายกสมาคมขัวศิลปะเชียงราย ซึ่งมีทั้งหมด 6 รางวัล ประเภท 12 กิโลเมตร Overall มอบให้ชาย – หญิง 3 อันดับแรก ที่วิ่งเข้าเส้นชัย สำหรับเหรียญรางวัลที่สามารถหมุนได้ โดยสีดำเป็นตัวแทนอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติ และสีขาวเป็นตัวแทนอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ 
 
 
ซึ่งนักวิ่งทุกคนจะได้รับหลังจากเสร็จสิ้นงานผ่านทางไปรษณีย์ หรือติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.facebook.com/ArtNightRunChiangraiBiennale
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

​เสริมศักดิ์ ปลื้ม! แลนด์มาร์ค Thailand Biennale ในน้ำมีปลา ในนามีแมว”

 

นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรมได้ขับเคลื่อนงานด้านวัฒนธรรมตามกรอบนโยบายหลัก “วัฒนธรรมนำเศรษฐกิจ”พร้อมทั้งขับเคลื่อน Soft Power สร้างเสน่ห์วิถีไทย ครองใจคนทั้งโลก โดยการสำรวจรวบรวมทุนทางวัฒนธรรมที่มีศักยภาพ เพื่อพัฒนาให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์และยกระดับงานวัฒนธรรมเดิมให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เป็นการเปิดมุมมองแห่งความสำเร็จจากการใช้วัฒนธรรมสร้างพลังแห่งอนาคตตามเป้าหมายในปี 2567
นอกเหนือจากการโครงการส่งเสริมการสร้างรายได้ด้วยการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมแล้ว งาน “Thailand Biennale Chiangrai 2023” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 ธ.ค. 66 – 30 เม.ย. 67 เป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญที่จะช่วยเปิดโลกศิลปะวัฒนธรรมของประเทศไทยให้ชาวโลกได้รับรู้ และส่งเสริมให้จังหวัดเชียงรายก้าวกระโดดสู่นิเวศของการเป็น “เมืองศิลปะระดับโลก” นอกจากนิทรรศการหลักของศิลปินทั้ง 60 คนและ 13 พาวิลเลี่ยนแล้ว 

 

ยังมีการนำเสนอผลงานศิลปะในลักษณะ Collateral Event จัดแสดงคู่ขนานเกิดขึ้นอีกหลายแห่งในจังหวัดเชียงราย โดยเฉพาะงานศิลปะบนนาข้าว(Tanbo Art)  ในคอนเซปต์ “ในน้ำมีปลา ในนามีแมว”ที่โด่งดังในกระแสโซเชียล สร้างความสนใจให้สื่อต่างประเทศนำไปเผยแพร่ เชิญชวนให้มาท่องเที่ยว แลนด์มาร์คแห่งใหม่ของไทย ซึ่งอยู่ใกล้กับ “ศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน” พื้นที่จัดแสดงนิทรรศการหลักของ“Thailand Biennale Chiangrai 2023”อีกแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงราย

 


“ในน้ำมีปลา ในนามีแมว”เป็นไอเดียที่น่าชื่นชมของคุณธันยพงศ์  ใจคำ เจ้าของ”เกี้ยวตะวัน ธัญฟาร์ม” ในอำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย ที่ทำงานร่วมกับศิลปินนักออกแบบชาวเชียงราย นักปราชญ์  อุทธโยธา และทีมงานอีกกว่า 200 คน โดยนำงานวิจัยพันธุ์ข้าวสรรพสีจากโครงการ MOU เพื่อทำวิจัยร่วมกับทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์วิทยาเขตกำแพงแสน ทั้งหมด 7 สายพันธุ์มีสายพันธุ์ดั้งเดิม 2 สายพันธุ์และอีก 5 สายพันธุ์ที่พัฒนาขึ้นจากการวิจัย เป็นการผสมผสานงานวัฒนธรรมการปลูกข้าว เข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ จนกลายเป็นงานศิลปะที่โดดเด่นด้วย สีสันของพันธุ์ข้าวสีรุ้ง ที่มีหลากหลายเฉดสี ตั้งแต่สีม่วงเข้มไปจนถึงสีเหลืองอ่อน ซึ่งขณะนี้ข้าวสรรพสีพากันออกรวงสีทองอร่ามงามตา ต้อนรับการมาเยือนของนักเที่ยว โดยคาดว่าจะเก็บเกี่ยวได้ในช่วงระยะเวลา 145 วันหลังการเพาะปลูกเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2566 ซึ่งใกล้เคียงกับช่วงเสร็จสิ้นงานงาน “Thailand Biennale Chiangrai 2023”ในช่วงเดือนเมษายน 2567    

 


ศิลปะบนนาข้าวจึงเป็น อีกหนึ่งสำคัญในการนำซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศมาพัฒนาต่อยอด เพื่อสร้างมูลค่า สอดคล้องกับแนวทางการส่งเสริม การต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนโดยเริ่มต้นจากต้นข้าวเล็กๆ เติบโตสู่พื้นที่สร้างสรรค์งานศิลปะให้งอกงามและเบ่งบานอยู่ในใจผู้คนอย่างมีคุณค่า  

 

นางสาวเพ็ญพิสุทธิ์ จินตโสภณ โฆษกกระทรวงวัฒนธรรม (ฝ่ายการเมือง) เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ขณะนี้กระทรวงวัฒนธรรมกำลังเร่งเดินหน้าผลักดัน Soft Power ศิลปวัฒนธรรมไทยอย่างต่อเนื่องใน “งานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ ครั้งที่ 4 Thailand Biennale 2025” ซึ่งจังหวัดภูเก็ต เป็นเจ้าภาพในการจัดงาน โดยเฉพาะการนำเอา Soft Power ที่มีพลังในความเป็นไทย และความภาคภูมิใจของภูเก็ต ส่งผ่านงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย เชื่อมไทย เชื่อมโลก ก้าวไปสู่การเป็นหมุดหมายสำคัญของการจัดแสดงงานศิลปะนานาชาติระดับโลกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอนาคต รวมทั้งการนำงานศิลปะร่วมสมัยทั้ง 9 สาขามาขับเคลื่อน Soft Power สร้างเสน่ห์วิถีไทยครองใจคนทั้งโลก อาทิ ส่งเสริมให้เกิด 1 ครอบครัว 1 ทักษะ Soft power การผลีกดัน Bangkok เมืองแฟชั่น และการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนเชิงวัฒนธรรม

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงวัฒนธรรม

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

ศิลปะบนจานข้าวมูลค่าเป็นล้าน ครั้งแรกของประเทศไทย “จานศิลปะ”

 

เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2567 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุทัศน์ คล้ายสุวรรณ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ผู้ช่วยศาสตราจารย์นฤมล เรืองรังษี นายกสมาคมศิลปินลุ่มน้ำโขง อาจารย์สุวิทย์ ใจป้อม นายกสมาคมขัวศิลปะเชียงราย และศิลปิน สมาคมศิลปินลุ่มน้ำโขง สมาคมขัวศิลปะเชียงราย ร่วมกันเปิดนิทรรศการ “จานศิลปะ” (Art Plate Exhibition) ณ หอปรัชญารัชกาลที่ 9 มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย ซึ่งเป็นนิทรรศการ “จานศิลปะ” (Art Plate Exhibition) ทางสมาคมศิลปินลุ่มน้ำโขง ร่วมกับสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย จัดขึ้นเนื่องในวาระครบรอบ 50 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย และ สร้างสรรผลงานสู่เทศกาลไทยแลนด์เบียนนาเล่เชียงราย 2023 (Thailand Biennale, Chiang Rai 2023) อีกด้วย

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์นฤมล เรืองรังษี นายกสมาคมศิลปินลุ่มน้ำโขง กล่าวว่า นิทรรศการจานศิลปะ Art Plate Exhibition เป็นภารกิจขององค์กรและสถาบันในท้องถิ่น ในการส่งเสริมเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งเป็นการสนับสนุนภาพลักษณ์ของจังหวัดเชียงราย เมืองแห่งศิลปะ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่มีการจัดนิทรรศการ “จานศิลปะ” ร่วมสมัยขึ้นโดยมีแนวคิดในการนำจานอันเป็นภาชนะเพื่อการบริโภคอาหารในวิถีวัฒนธรรมของมนุษย์มาอย่างยาวนาน เป็นจานเครื่องปั้นดินเผาท้องถิ่นของจังหวัดลำปาง ดินแดนแห่งเซรามิก อันเลื่องชื่อของล้านนามาบูรณาการกับงานศิลปะ 
 
 
โดยที่ศิลปินได้สร้างสรรค์งานศิลปะร่วมสมัยบนแผ่นจานที่เป็นภาชนะดินเผาธรรมดา ให้มีสีสันลวดลายอันวิจิตร เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับจานในเชิงสุนทรีย์ และเชิงเศรษฐกิจ อีกทั้งเป็นการสร้างความแปลกใหม่ให้โดดเด่นน่าสนใจ การดำเนินงานในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากศิลปินที่มีชื่อเสียงทั้งจากประเทศไทยและประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง รวม 36 ท่าน ร่วมสร้างสรรค์จานศิลปะ จำนวนกว่า 71 ชิ้น ทั้งนี้เพื่อเปิดโลกทัศน์ในการใช้งานหัตถกรรมของท้องถิ่นมาประกอบเป็นงานศิลปะร่วมสมัย และส่งมอบสุนทรียภาพแห่งงานศิลปะสู่ผู้คนในสังคม”
 
 
นิทรรศการ “จานศิลปะ” เปิดให้เข้าชมระหว่างวันที่ 12 มกราคม – 29 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 9.00 -16.00 น. ณ หอปรัชญารัชกาลที่ 9 มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สมาคมศิลปินลุ่มน้ำโขง
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

‘ลาลีวรรณ’ นำทีม ก.วัฒนธรรม ลงพื้นที่มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ 2023 เชียงราย

 
เมื่อวันเสาร์ที่ 23 ธันวาคม 2566 ณ พื้นที่อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย นางลาลีวรรณ กาญจนจารี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมด้วย นายประสพ เรียงเงิน ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย คณะผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ข้าราชการและบุคลากรสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ลงพื้นที่จังหวัดเชียงรายเพื้อเยี่ยมชมงานศิลปะโครงการจัดงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023

นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย มอบหมายให้ นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย ร่วมลงพื้นที่ต้อนรับคณะและนำชมงานศิลปะของศิลปิน จำนวน 4 แห่ง ดังนี้

  1. ศาลากลางจังหวัดเชียงรายหลังเก่า รัชกาลที่ 5 ตำบลเวียง
  2. ศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน ตำบลห้วยสัก
  3. หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย (CIAM) ตำบลริมกก
  4. ขัวศิลปะเชียงราย ตำบลริมกก

ในการนี้ นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วย นางพัชรนันท์ แก้วจินดา ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม นางพรทิวา ขันธมาลา ผู้อำนวยการกลุ่มยุทธศาสตร์และเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม นายสุพจน์ ทนทาน นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ และนายอภิชาต กันธิยะเขียว นักวิชาการวัฒนธรรมปฏิบัติการ ข้าราชการสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย ร่วมลงพื้นที่ติดตามและอำนวยความสะดวกให้แก่คณะผู้บริหาร ดังกล่าว

จังหวัดเชียงราย ร่วมกับ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ดำเนินงานโครงการจัดมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 ซึ่งกำหนดจัดระหว่างวันที่ 9 ธันวาคม 2566 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2567 เพื่อส่งเสริมต่อยอด และแสดงศักยภาพในการสร้างสรรค์งานศิลปะร่วมสมัยของศิลปิน บูรณาการความร่วมมือเชิงรุกของทุกภาคส่วน ซึ่งเป็นการใช้มิติทางศิลปะสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ สร้างรายได้จากต้นทุนและทรัพยากรทางวัฒนธรรมและส่งเสริมการท่องเที่ยวด้านศิลปวัฒนธรรม  

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สนง.วัฒนธรรม เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI NEWS UPDATE

นายกฯ ยืนยันความยิ่งใหญ่ศิลปะร่วมไทย Thailand Biennale, Chiang Rai 2023

 
 

9 ธันวาคม 2566 เวลา 19.00 น. ณ หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย หรือ Chiang Rai International Art Museum (CIAM) ตำบลริมกก อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานพิธีเปิดงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยระดับนานาชาติ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 ภายใต้แนวคิด ‘เปิดโลก’ หรือ ‘The Open World’ ซึ่งจัดโดยกระทรวงวัฒนธรรม โดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) ร่วมกับจังหวัดเชียงราย และภาคีเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ โดยมีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปี 2554 เอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย ศิลปินเชียงราย และประชาชนชาวเชียงราย ตลอดจนสื่อมวลชน เข้าร่วมงาน ซึ่งเมื่อนายกรัฐมนตรีเดินทางถึงหอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย ได้ชมการแสดงศิลปะวัฒนธรรมร่วมสมัย และทำพิธีเปิดงานโดยการตีกลองสะบัดชัย 3 ครั้ง ต่อด้วยรับฟังรายงานจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม 

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวในโอกาสการจัดงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 ว่า ในนามของรัฐบาลรู้สึกยินดีที่ได้มาเป็นประธานในพิธีเปิดงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติฯ ซึ่งรัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรมและจังหวัดเชียงรายจัดงานนี้ขึ้นในวันนี้ กระทรวงวัฒนธรรมโดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยได้นำแนวคิดการจัดงานมหกรรมร่วมสมัยระดับโลกในต่างประเทศให้ปรากฏขึ้นในประเทศไทย ครั้งที่ 3 และจังหวัดเชียงราย นับจากจังหวัดกระบี่และจังหวัดนครราชสีมา ถือเป็นความภาคภูมิใจและยืนยันถึงความยิ่งใหญ่ในการเป็นศิลปะร่วมสมัยของประเทศไทยให้ชาวโลกได้รับรู้ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและการแข่งขันได้อย่างยั่งยืน

นายกรัฐมนตรีเชื่อว่าการจัดงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยฯ ครั้งนี้ จะเป็นวาระสำคัญในการจุดประกายให้คนไทยศิลปินชาวไทย นำจุดเด่นทางด้านศิลปวัฒนธรรมของบ้านเมืองเรามาแสดงศักยภาพเพื่อนำพาประเทศไปสู่การเป็นสังคมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ต่อไป เหมือนกับประเทศต่าง ๆ ที่เคยทำสำเร็จมาแล้ว งานครั้งนี้ไม่เพียงแต่เป็นมหกรรมศิลปะร่วมสมัยระดับนานาชาติเท่านั้น แต่ยังเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการนำทุนทางวัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Soft Power มาเป็นเครื่องมือในการสร้างงานสร้างรายได้ในภาพรวม โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดเชียงรายและจังหวัดใกล้เคียง เป็นการระดมความคิดเห็น ประสานมุมมองและความคิดสร้างสรรค์จากศิลปิน หน่วยงาน และชุมชนท้องถิ่นเพื่อสร้างสรรค์ผลงานผ่านการใช้นวัตกรรมต่าง ๆ ให้เกิดเป็นงานศิลปะร่วมสมัยที่หลากหลายอย่างน่าสนใจ ซึ่งทุกท่านจะได้รับชมผลงานต่อไป

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในนามรัฐบาลไทยขอขอบคุณกระทรวงวัฒนธรรมและสำนักงานศิลปะวัฒนธรรมร่วมสมัย ที่นำวิสัยทัศน์จากการศึกษางานศิลปะระดับโลกมาจัดเป็นงานศิลปะระดับนานาชาติในประเทศไทยได้สำเร็จอย่างต่อเนื่อง และขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย หน่วยงานทุกภาคส่วนและประชาชนชาวเชียงราย ที่ได้มีส่วนร่วมในการบูรณาการงานครั้งนี้อย่างเข้มแข็งตลอดจนขอบคุณหน่วยงานภาคเอกชนในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ที่ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการจัดงานและร่วมมือกันในการสนับสนุนอำนวยความสะดวกในการจัดงานด้วยดี และที่สำคัญยิ่งขอขอบคุณศาสตรเมธี ดร.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ที่ทุ่มเทอุทิศแรงกาย แรงใจ กำลังทรัพย์และเป็นแกนนำในการขับเคลื่อนการจัดการในครั้งนี้ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงพลังและศักยภาพของศิลปะที่สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดเชียงรายและประเทศไทย รวมทั้งขอบคุณศิลปินทุกท่านที่ได้ถ่ายทอดมุมมองความคิดสร้างสรรค์ในตัวของท่านเอง สื่อสารสุนทรียะออกมาเป็นรูปธรรม สร้างความปิติและส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับผู้รับชมอย่างถ้วนหน้า จากนั้น นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมผลงานศิลปะและกิจกรรมบริเวณงาน ก่อนเดินทางกลับกรุงเทพมหานคร 

 

ทั้งนี้ มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale ครั้งที่ 3 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 ธันวาคม 2566 – 30 เมษายน 2567 ภายใต้ชื่องาน Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 ด้วยแนวคิด “เปิดโลก” (The open World) ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากพระพุทธรูปปางเปิดโลกที่โบราณสถาน วัดป่าสัก อำเภอเชียงแสน คัดเลือกผลงานจากศิลปิน 60 คน จาก 21 ประเทศทั่วโลก จัดแสดงเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 

1) นิทรรศการหลัก แสดงผลงานศิลปะการจัดวางเฉพาะพื้นที่ (Site Specific Installation) จัดแสดงในเขตอำเภอเมืองและเชียงแสน 

2) Pavilion หรือ ศาลา แสดงผลงานนิทรรศการกลุ่มของศิลปิน พิพิธภัณฑ์ และองค์กรต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ 10 แห่งในอำเภอเมืองและอำเภอใกล้เคียง 

3) Collateral Events เป็นกิจกรรมพิเศษที่จัดขึ้นในช่วงงาน เช่น ดนตรีชาติพันธุ์ งานฉายภาพยนตร์ การแสดงอื่น ๆ และการเยี่ยมชมบ้านหรือสตูดิโอของศิลปินในจังหวัดเชียงรายตามอำเภอต่าง ๆ 

โดยการจัดงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยระดับนานาชาติไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย 2023  มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากด้วยมิติทางวัฒนธรรม และพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมวัฒนธรรมไทย ให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก พัฒนาสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรม เพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้และสร้างสรรค์งานด้านศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนเสริมสร้างภาพลักษณ์ และยกระดับบทบาทด้านวัฒนธรรมของไทยในเวทีโลก และพัฒนางานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยไทยสู่ความเป็นสากลในอนาคต 

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก :Thailand Biennale

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

ตามความก้าวหน้าผลงานศิลปะของศิลปิน Thailand Biennale, Chiang Rai 2023

 

สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม โดย นายประสพ เรียงเงิน ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปะร่วมสมัย พร้อมคณะ ลงพื้นที่เพื่อติดตามความก้าวหน้าในการผลิตและติดตั้งผลงานศิลปะของศิลปินในโครงการการจัดงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 ในวันจันทร์ที่ 6 พฤศจิกายน 2566 เวลา 08.30 – 16.30 น. ณ พื้นที่อำเภอเมืองเชียงราย จำนวน 5 แห่ง ดังนี้

  1. หอศิลป์แทนคุณ (Tankhun Art Gallery) วัดร่องขุ่น ตำบลป่าอ้อดอนชัย
  2. ศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน ตำบลห้วยสัก
  3. หอศิลปะร่วมสมัยเมืองเชียงราย (CIAM) ตำบลริมกก
  4. อาคารปฐมาคารนุสรณ์ 2542 (MFU MEMORIAL HALL 1999) มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ตำบลท่าสุด
  5. พิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ตำบลท่าสุด

     ในการนี้ นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วย นายวรพล จันทร์คง นักวิชาการวัฒนธรรมปฏิบัติการ นายยุทธนา สุทธสม นักวิชาการวัฒนธรรมปฏิบัติการ และ นายสุพจน์ ทนทาน นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ ข้าราชการสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย ร่วมลงพื้นที่เพื่อสนับสนุน อำนวยความสะดวก และตามคณะดังกล่าว

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม

พัชรนันท์ แก้วจินดา, สุพจน์ ทนทาน : รายงาน

วรพล จันทร์คง : ภาพ 

อภิชาต กันธิยะเขียว : บรรณาธิการข่าว 

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE VIDEO

(มีคลิป)เก็บข้อมูลชาติพันธุ์ดาราอางและอิ้วเมี่ยน เตรียมงาน เบียนนาเล่ เชียงราย

 

วันอาทิตย์ที่ 5 พ.ย.2566 เวลา 9.30 น.ได้ลงพื้นที่บันทึกการเล่นดนตรีและศิลปะการแสดง ของพี่น้องชาติพันธุ์อิ้วเมี่ยน บ้านห้วนแม่ซ้าย  ม.11 ต.แม่ยาว อ.เมือง ถึงเวลา 12.30 น. ซึ่งจากข้อมูลวารสารสันติศึกษาปริทรรศน์ มจร ของณัฐนนท์ จิรกิจนิมิตร สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้พูดถึงกลุ่มชาติพันธุ์ที่เรียกตนเองว่า “เมี่ยน” หรือ “อิ้วเมี่ยน” มักเป็นที่รู้จักกันในนามว่า “เย้า” เมี่ยนเป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์บนที่สูงตั้งชุมชนกระจายอยู่ทางภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยมีวิถีการดำรงชีพหลักคือ ทำเกษตรแบบกึ่งยังชีพบนพื้นที่สูง รวมถึงมีความจงรักภักดีและความเชื่อต่อเทพเทวดา สิ่งศักดิ์สิทธิเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการนับถือระบบเครือญาติแบบแซ่ ตระกูล และผีบรรพบุรุษ

 

 

ต่อมาคณะได้เดินทางไปบ้านพี่น้องดาราอาง บ้านโป่งเหนือ ม.8 ต.ห้วยไคร้ อ.แม่สาย จึงถึงเวลา 16.30 น. ดาราอาง เดิมตั้งถิ่นฐานในตอนเหนือของรัฐฉาน ภายใต้อาณาจักรไตมาว จากเหตุการณ์ไม่สงบทางการเมืองทำให้ชาวดาราอางได้หลบหนีภัยสงครามมาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดเชียงราย และเชียงใหม่ ชาวดาราอาง ถือเป็นกลุ่มตนที่มีความโดดเด่นด้านการแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีสดใส ทางทีมงานนำโดย ผศ. ดร.องอาจ อินทนิเวศ  จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายเป็นผู้ดำเนินการเก็บข้อมูล เพื่อเตรียมงาน เบียนนาเล่ เชียงราย ในวันที่ 9-10 มีนาคม 2567 

 

 

โดยได้รับความร่วมมือและความพร้อมเพียงจากตัวแทนพี่น้องเราตั้งใจอย่างเต็มที่และสวยงาม ขอขอบคุณผู้ประสานงานทุกฝ่ายที่ให้การสนับสนุนงานนี้ให้เกิดความเป็นวัฒนธรรมที่สวยงามต่อไป

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

Street Art Phan, (Phan Pavilion) มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ

 

เมื่อวันเสาร์ที่ 4 พฤศจิกายน 2566 เวลา 09.00 น. นายวุฒิกร  คำมา นายอำเภอพาน เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม งาน street Art Phan ,(Phan Pavilion) ณ บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอพาน โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตรเมธี ดร.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ นางภัทราวดี สุทธิธนกูล อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นายสุวิทย์ ใจป้อม นายกสมาคมขัวศิลปะ นายนิรันดร์ แปงคำ ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอพานหัวหน้าส่วนราชการ ภาคเอกชน ศิลปิน ประชาชน เด็ก และเยาวชน เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว  

 

 กลุ่มสล่าเมืองพาน ได้รับการสนับสนุนการดำเนินกิจกรรม Street  Art  Phan ,(Phan Pavilion) ซึ่งเป็น 1 ใน 10 ของพาวิลเลียน (Pavilion) จากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม เพื่อสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับอำเภอพาน “เมืองพานบ่ใช่เมืองผ่าน” ใครผ่านเมืองพานต้องแวะชม Street  Art ตั้งแต่บริเวณสามแยกวัดชัยมงคลถึงหกแยกอำเภอพาน บนถนนพหลโยธินสายเก่า ระยะทาง 3 กิโลเมตร ซึ่งในอดีตบริเวณนี้ได้รับการขนานนามว่า “ถนนสายมังกร” โดยวาดภาพในรูปแบบสองมิติ สามมิติ เรื่องราวต่าง ๆ ที่สื่อถึงความเชื่อ ความศรัทธา วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตของคนอำเภอพาน เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวหรือบุคคลที่สนใจศิลปะมาชมบนถนนเส้นนี้ เสริมสร้างเศรษฐกิจ ส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยใช้ศิลปะ สร้างรายได้ให้แก่ชาวอำเภอพาน และเพื่อรองรับงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale Chiang Rai 2023 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 ธันวาคม 2566 – 30 เมษายน 2567 ภายใต้แนวคิด “เปิดโลก” The open world โดยกลุ่มสล่าเมืองพานได้นำกลุ่มเยาวชน Children Art Workshop for Biennale เครือข่ายสถานศึกษา ชมรมผู้สูงอายุ พร้อมด้วยทีมศิลปินทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ดำเนินกิจกรรมดังกล่าว จำนวนกว่า 120 คน

 

ทั้งนี้ นายวุฒิกร คำมา นายอำเภอพาน พร้อมด้วย นายพานทอง แสนจันทร์ ประธานศิลปินกลุ่มสล่าเมืองพาน ได้นำชมประติมากรรมในขบวนแห่ของอำเภอพาน ภายใต้แนวคิดของพระธาตุจอมแว่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ศูนย์รวมใจของชาวอำเภอพาน 1 ในพระธาตุ 9 จอม ของจังหวัดเชียงราย ลอยเด่นเป็นสง่าเหนือกลุ่มเมฆ พร้อมด้วยปลานิล ซึ่งเป็นสัตว์เศรษฐกิจของอำเภอพาน ซึ่งเป็นแหล่งเลี้ยงปลานิลที่ใหญ่ที่สุดของภาคเหนือ โดยมี ศาสตรเมธี ดร.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ ให้คำแนะนำในการตกแต่งขบวนพาเหรดให้ดูสวยงามและมีความโดดเด่นมากขึ้น

 

 

 ในการนี้ ในเวลา 13.00 น. นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วย นางพัชรนันท์ แก้วจินดา ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม นางพรทิวา ขันธมาลา ผู้อำนวยการกลุ่มยุทธศาสตร์และเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม และข้าราชการสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย เยี่ยมชมกิจกรรม และมอบหมายให้นายเอกณัฏฐ์ กาศโอสถ นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ นางเพียรโสม ปาสาทัง นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ ผู้ประสานงานอำเภอพาน และนายอภิชาต กันธิยะเขียว นักวิชาการวัฒนธรรมปฏิบัติการ ลงพื้นที่เพื่อร่วมกิจกรรมดังกล่าว

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สนง.วัฒนธรรม เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News