Categories
FEATURED NEWS

เซ็นทรัลเชียงราย จัดมหกรรมไม้ผล อัตลักษณ์ภาคใต้ 66

 

สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา กรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัด 14 จังหวัดภาคใต้ จัดงานมหกรรมไม้ผลอัตลักษณ์ภาคใต้ ประจำปี 2566 ในระหว่างวันที่ 7 – 9 กรกฎาคม 2566 ณ ลานกาสะลอง ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเชียงราย อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย

จำหน่ายผลไม้สดและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผลไม้ของกลุ่มเกษตรกร จากกรมส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่

1.ทุเรียนคุณภาพจากแหล่งผลิตที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร เช่น ทุเรียนสะเด็ดน้ำ จังหวัดยะลา ทุเรียนทะเลหอย จังหวัดกระบี่ ทุเรียนบางนรา จังหวัดนราธิวาส

2.จำปาดะคุณภาพจากแหล่งผลิตที่มีชื่อเสียงทั้งในรูปแบบผลสดและจำปาดะทอด เช่น จำปาดะควนโดน จังหวัดสตูล จำปาดะบ้านนา จังหวัดพัทลุง จำปาดะเขาพระ จังหวัดสงขลา

3.ลองกองคุณภาพจากระนอง กระบี่ สุราษฎร์ธานี สงขลา

4.มังคุดชุมพร นครศรีธรรมราช

5.มะม่วงเบา สงขลา

6.สละพัทลุง นราธิวาส

และสินค้าอื่นๆ อีกมากมาย และพบกับกิจกรรมส่งเสริมการขายต่าง ๆ เช่น แข่งขันกินผลไม้ จำหน่ายผลไม้ในราคาพิเศษ (นาทีทอง)

 
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
FEATURED NEWS

ครบรอบ 26 ปี สภาการสื่อมวลชนฯ กางโจทย์ใหญ่ “สังคม-เศรษฐกิจ-การเมือง” ให้รัฐบาลหน้า

 
 

เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2566 สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ จัดงานครบรอบ 26 ปี ณ ห้องกรุงธนบอลล์รูม โรงแรมรอยัลริเวอร์ เขตบางพลัด กรุงเทพฯ โดย นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวเปิดงานว่า สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ องค์กรวิชาชีพสื่อที่ทำหน้าที่กำกับดูแลกันเองทางด้านจริยธรรม รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนเสรีภาพของสื่อมวลชนในประเทศไทย ครอบคลุมทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และดิจิทัล โดยทำหน้าที่มาแล้ว 26 ปี การกำกับดูแลกันเองในด้านจริยธรรมของสมาชิกนั้น ถือเป็นภารกิจหลักของสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ประกอบด้วยการกำกับดูแลจริยธรรมในเชิงรุก โดยมีกลไกในการสอดส่องและรับฟังข้อคิดเห็นจากสาธารณชนที่มีต่อการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนที่เป็นสมาชิกว่า มีการละเมิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชนในเรื่องใดหรือไม่ อย่างไร ก่อนจะนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาเรื่องร้องเรียน และการกำกับดูแลในเชิงรับ หรือการรับเรื่องร้องเรียนจากผู้เสียหายหรือผู้ที่เห็นว่าสื่อมวลชนหรือผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนกระทำการละเมิดจริยธรรมเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

สำหรับการจัดกิจกรรมเนื่องในโอกาสครบรอบ 26 ปี เริ่มที่ในส่วนภูมิภาค จัดที่จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมา ด้วยปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “BCG: โอกาสของการพัฒนาอีสาน” โดย ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ถัดมาเป็นปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “บทบาทสื่อและองค์กรสื่อที่สังคมคาดหวัง” โดย ดร.เจษฏ์ โทณะวณิก ประธานหลักสูตรนิติศาสตร์ วิทยาลัยบัณทิตเอเชีย อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) และอดีตกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และเวทีเสวนา หัวข้อ “จริยธรรมสื่อกับความอยู่รอดทางธุรกิจของสื่อภูมิภาค”

“สภาการฯยืนยันที่จะทำหน้าที่กำกับดูแลกันเองในด้านจริยธรรมสื่อมวลชนอย่างแข็งขัน และประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป” นายชวรงค์ ระบุ

ทั้งนี้ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ได้จัดเวทีเสวนาในหัวข้อ “อนาคตประเทศไทยหลังเลือกตั้ง” โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ มาให้ทรรศนะมุมมองอนาคตประเทศไทย ด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เริ่มด้วย ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ทิศทางการเมืองไทยในบริบทการเมืองโลก”

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข กล่าวว่า สถานการณ์ในเวทีในปัจจุบัน มีลักษณะเป็น “วิกฤตถาวร” หรือ “Permacrisis” ซึ่งหมายถึงวิกฤตที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องถาวร โดยเป็นการผสมระหว่างคำว่า “Permanent” แปลว่า คงทน ถาวร และ “Crisis” ที่แปลว่า วิกฤติ คำดังกล่าวนี้ เกิดขึ้นภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ซึ่งเป็นวิกฤตที่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนทั้งโลก แม้ว่าทุกคนจะปรับตัวและหวังว่าสถานการณ์จะกลับมาสงบ แต่ในปัจจุบันโลกก็ยังผันผวนไม่แน่นอน มีวิกฤตเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเชื้อไวรัส หรือสงคราม โดยปัจจัยที่ก่อให้เกิดความผันผวนใหญ่ในเวทีโลกปัจจุบัน ประกอบไปด้วย 5 โจทย์ใหญ่ คือ 1) การสิ้นสุดของ “สงครามเย็นเก่า” ในปี 1991 และระเบียบโลกใหม่ 2) การก่อการร้ายกับสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 3) การแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่ หรือ “สงครามเย็นใหม่” 4) การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปี 2019 และ 2020  และ 5) สงครามรัสเซีย-ยูเครน ในปี 2022

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรชาติ กล่าวว่า โลกขับเคลื่อนด้วยการเปลี่ยนแปลงที่เป็นผลจากการ “Disruption” ของปัจจัยที่เกิดขึ้น และส่งผลโดยตรงต่อการจัดระเบียบระหว่างประเทศ แต่ทั้งนี้ คำว่า “ระเบียบระหว่างประเทศ (International Oder)” หมายถึงแบบแผนหรือการจัดโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างตัวแสดงที่เป็นรัฐในเวทีระหว่างประเทศ ไม่ใช่ความเป็นระเบียบเรียบร้อยในเวทีโลก โดยระเบียบระหว่างประเทศวางอยู่บน 3 เสาหลัก คือ กฎและกติการะหว่างประเทศ บรรทัดฐานระหว่างประเทศ และระบอบระหว่างประเทศ  สำหรับข้อกำหนดของระเบียบระหว่างประเทศ ในปัจจุบันมีแบบแผนเป็น “ระเบียบเสรีนิยม” ซึ่งขัดแย้งกับคุณค่าแบบอำนาจนิยม และมุ่งเน้นคุณค่าหลัก คือ ประชาธิปไตย เสริภาพ นิติรัฐ สิทธิมนุษยชน การค้าเสรี และความร่วมมีอระหว่างประเทศแบบพหุภาคี โดยยอมรับถึงการดำรงอยู่ของเอกราช บูรณภาพ และอธิปไตยแห่งรัฐ แต่ไม่ยอมรับต่อการใช้กำลังเป็นเครื่องมือในการปรับเส้นเขตแดนของรัฐ

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรชาติ กล่าวถึงวิกฤตโลกกับสงครามยูเครน-รัสเซีย ส่งผลกระทบในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตด้านเศรษฐกิจ พลังงาน อาหาร รวมถึงผู้อพยพ โดยสงครามถือว่าเป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดระเบียบระหว่างประเทศ โดยระเบียบโลกใหม่เกิดขึ้นหลังวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 วันที่รัสเซียเปิดฉากส่งกำลังทหารกว่า 2 แสนนายบุกข้ามชายแดนเข้าสู่ยูเครน ส่งผลให้เกิดการแบ่งโลกเป็น 2 ค่าย และ 2 ชุดความคิดทางการเมือง ทำให้การแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่เข้มข้นมากขึ้น นอกจากนี้ยังส่งผลต่อการลากเส้นภูมิรัฐศาสตร์ใหม่ของยุโรป รวมถึงการขยายระบบพันธมิตรในเวทีระหว่างประเทศ  อย่างไรก็ตาม สงคราม ไม่ได้มีเฉพาะมิติทางทหารเพียงเท่านั้น ยังรวมถึงพัฒนาการของเทคโนโลยีทหารสมรรถนะสูง การควบคุมอาวุธ และลดอาวุธนิวเคลียร์ นอกจากนี้ ยังโยงถึงองค์กรระหว่างประเทศกับการควบคุมความขัดแย้ง และการกำหนดพื้นที่ทางภูมิรัฐศาสตร์ใหม่ในส่วนต่างๆ ของโลกอีกด้วย

เมื่อมองกลับมาที่ประเทศไทย ว่าอยู่ในสถานะไหนในจุดวิกฤติโลก พบว่า สงครามเย็นในศตวรรษที่ 21 ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงไทย ในส่วนปัญหาบทบาทและสถานะของรัฐไทยในเวทีสากล พบว่าตกต่ำลงอย่างเห็นได้ชัด รวมถึงวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรชาติ กล่าวต่อว่า ไทยยังมีปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ เช่น ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดเหตุก่อความไม่สงบ อันเนื่องจาก ปัญหาการบริหารพื้นที่ / การกระจายอำนาจ นำมาสู่ปัญหาการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน และปัญหาความเชื่อมั่นต่อรัฐ อีกทั้ง ปัญหาสถานะของกองทัพในสังคมไทย จากบทบาทของทหารในการเมือง ส่งผลต่อการจัดความสัมพันธ์พลเรือน – ทหาร รวมถึงภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือ

“นอกจากนี้ ไทยยังมีปัญหาความแตกแยกและความเห็นต่างทางการเมืองในสังคม ไม่ว่าจะเป็นสงครามความคิด – สงครามความเชื่อ – สงครามความศรัทธา ปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ (Climate Change) ปัญหาความมั่นคงของมนุษย์และการฟื้นฟูสังคมไทยในยุคหลังโควิด-19 รวมถึงการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของไทย ที่จะเป็นตัวการสร้างขีดความสามารถของรัฐและสังคมในการรับมือกับ Global Disruption ในอนาคต” ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรชาติ กล่าว

จากปัญหามากมายที่ไทยกำลังเผชิญอันเนื่องมาจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอก นำมาสู่คำถามว่า รัฐบาลใหม่จะวางประเทศไทยไว้ตรงไหนบนแผนที่ภูมิรัฐศาสตร์โลก และจะพลิกฟื้นสถานะและสร้างเสถียรภาพทางการเมือง สร้างความเชื่อถือทางเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในเวทีสากลโลกได้อย่างไร

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรชาติ กล่าวทิ้งท้ายว่า ทางเดินสำหรับประเทศไทยบนเวทีโลกที่เป็น Permacrisis นั้น จากเดิมที่ประเทศไทยวางตัวเป็นกลาง จะเป็นเหมือน “สนลู่ลม” ถ้าลมแรงสองทาง จะลู่ไปทางใด และการไม่เลือกข้างใดข้างหนึ่งนั้น ไทยอาจจะต้องตีความใหม่ว่า อะไรคือความเป็นกลาง การไม่เลือกข้างนั้น แปลว่าเราเลือกข้างไปแล้วหรือไม่

ด้าน ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ทิศทางเศรษฐกิจไทย” โดยเริ่มต้นที่คำถามว่า เศรษฐกิจไทย จะเป็นอย่างไรหลังการเลือกตั้ง โดยโจทย์สำคัญของรัฐบาลชุดใหม่ มีหลายเรื่องให้ตัดสินใจ เรื่องที่ 1 คือ ภาวะเงินเฟ้อและการเติบโตของเศรษฐกิจโลก เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังไม่ได้ลดลงตามเป้าหมายที่น่าพอใจหลังการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา เศรษฐกิจที่คาดว่าจะชะลอตัวหรืออาจถดถอย ก็อาจจะกระทบแรงกว่าที่คาดไว้ จึงอาจเห็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกประมาณ 2 ครั้งในช่วงครึ่งปีหลัง

เช่นเดียวกับแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อาจชะลอตัวลงกว่าที่คาดการณ์ซึ่งจะมีผลต่อการพิจารณาปรับขึ้นหรือไม่ขึ้นดอกเบี้ยได้อีกเช่นกัน ขณะที่เศรษฐกิจไทยย่อมได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวซึ่งเริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัวของภาคการผลิตและส่งออก แต่ยังมีข้อดีที่ภาคการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัวจึงมาช่วยชดเชยเอาไว้ได้ส่วนหนึ่ง ฉะนั้นถ้าประเทศไทยปลดล็อกเรื่องการท่องเที่ยวได้ดี จะมีแรงส่งให้ก้าวผ่านสถานการณ์นี้ไปได้

ส่วนทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่คาดว่าช่วงครึ่งหลังของปีนี้ อาจเห็นการปรับขึ้นอีก 1-2 ครั้ง ทำให้ดอกเบี้ยจะปรับมาอยู่ที่ 2.25-2.50% ซึ่งเป็นระดับที่ไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับสถานการณ์ก่อนเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ปัจจุบันยังเผชิญกับปัญหาเรื่องหนี้นอกระบบและภาระหนี้ที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 โจทย์สำคัญจึงยังต้องทำให้ประชาชนมีรายได้เพื่อมาแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างต่อเนื่อง และหวังว่าการปลดล็อกเรื่องท่องเที่ยวจะเข้ามาช่วยประเด็นนี้ได้ดีขึ้นเช่นกัน

“ความท้าทายของโจทย์ในข้อนี้อาจจะไม่ใช่ว่าจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้เท่าไหร่ แต่อยู่ที่จะทำอย่างไรที่ทำให้เรายืนหยัดอยู่ได้ผ่านก้อนวิกฤตที่จะเกิดขึ้นได้ และสามารถวิ่งได้อีกครั้งเมื่อทุกอย่างจบลง ถือว่าเป็นชัยชนะที่ดีน่าพอใจในระดับหนึ่ง” ดร.กอบศักดิ์ ระบุ

ดร.กอบศักดิ์ กล่าวว่า ความท้าทายเรื่องที่ 2 คือ การเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยีใหม่ โดยเฉพาะการนำปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่พลิกโลกอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน แม้ปัจจุบันยังเป็นช่วงเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง แต่เชื่อว่าในอีก 1-2 ปีข้างหน้าจะเห็นความเปลี่ยนแปลงนี้อย่างรวดเร็วมากเรียกว่าก้าวกระโดดยิ่งกว่าทวีคูณ ดังนั้น ประเทศไทยต้องก้าวให้ทันกับเทรนด์ความเปลี่ยนแปลงและเทคโนโลยีใหม่นี้

เรื่องต่อมา คือสถานการณ์เงินลงทุนที่ไหลเข้ามาในภูมิภาคอาเซียนจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่ไปที่อินโดนีเซีย เวียดนาม และสิงคโปร์ มาที่ประเทศไทยบ้างแต่เป็นส่วนน้อย โจทย์นี้จึงอยู่ที่จะทำอย่างไรเพื่อสร้างเสน่ห์ให้ประเทศไทยน่าดึงดูดให้เข้ามาลงทุน ประเด็นนี้อาจจะไม่เห็นผลลัพธ์ในทันที แต่ในอีก 5 ปีข้างหน้าเมื่อสร้างโรงงาน สร้างนิคมอุตสาหกรรม โครงสร้างพื้นฐานและห่วงโซ่การผลิตต่าง ๆ เสร็จเรียบร้อยแล้ว จะเห็นความแตกต่างที่ชัดเจน หากประเทศไทยไม่สามารถดึงดูดเงินลงทุนเหล่านี้ได้ เราจะตกขบวนในอนาคต และขีดความสามารถการแข่งขันในภูมิภาคอาเซียนจะเปลี่ยนไป

สุดท้ายคือ เรื่องความขัดแย้งในสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา ที่ทั้งสองฝ่ายต่างต้องการให้แต่ละประเทศเลือกข้าง ซึ่งในมุมมองของตนนั้นเห็นว่า การเลือกข้างใดข้างหนึ่งอาจไม่ใช่คำตอบ แต่การเลือกเป็นกลางน่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า ทั้งเชื่อว่าในอนาคตประเทศที่เลือกเป็นกลางน่าจะเหลือน้อยลงเรื่อย ๆ แต่จะมีคุณมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ประเทศไทยต้องกำหนดบทบาทและการวางตัวให้ชัดเจน ซึ่งจะมีผลต่อการกำหนดกลยุทธ์ของประเทศไทยในระยะยาว 20 ปีข้างหน้าด้วย

“จากโจทย์ทั้งหมดนี้ ความยากคือตอนนี้เรายังไม่เห็นหน้าตาที่ชัดเจนของรัฐบาล และด้วยโครงสร้างของการเป็นรัฐบาลผสม ซึ่งจะต้องจัดสรรเกี่ยวกับการดูแลกระทรวงต่างๆ ดังนั้น นโยบายเศรษฐกิจจึงอาจไม่มีเอกภาพมากเพียงพอ เป็นความท้าทายสำหรับรัฐบาลใหม่ว่าจะขับเคลื่อนประเทศไทยอย่างไรต่อไป” ดร.กอบศักดิ์ กล่าว

ปิดท้ายด้วย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ในปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ทิศทางสังคมไทย” ว่า ในปัจจุบัน สังคมไทยก้าวหน้าไปมาก จากสถิติเพื่อสำรวจความเห็นว่า “กฎหมายควรยอมรับการสมรสคนเพศเดียวกันหรือไม่” เมื่อปี 2558 มีคนเห็นด้วยเกือบ 60 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ในปี 2565 มีคนเห็นด้วยมากถึงเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ เช่นเดียวกับการสำรวจความเห็นว่า “เพศที่ 3 ควรเปลี่ยนคำนำหน้านามได้” ในปี 2562 มีคนเห็นด้วยประมาณ 55 เปอร์เซ็นต์ และในปี 2565 มีคนเห็นด้วยราว 64 เปอร์เซ็นต์ จาก 2 สถิติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า สังคมไทยมีความก้าวหน้า และยอมรับความหลากหลายในสังคมมากขึ้น

สำหรับทิศทางสังคมไทย ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า การจ้างงานฟื้นตัว หลังจากที่ ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ของไทยติดลบ โดยในไตรมาสที่ 3 ปี 2564 จำนวนคนว่างงานเพิ่มสูงขึ้นถึง 2.29 พันคน และปรับลดลงมาเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบันมีคนว่างงานอยู่ที่ 1.05 พันคน

ในขณะที่อัตราการจ้างงานฟื้นตัว แต่ค่าจ้างขั้นต่ำยังต่ำมาก เมื่อเปรียบเทียบกับผลิตภาพ ราคา และค่าจ้างขั้นต่ำ จนนำมาสู่วลีเด็ดว่า “เงินเดือนใช้หนี้ โอทีใช้กิน” โดยค่าแรงขั้นต่ำในประเทศไทยเริ่มต้นที่ 300 บาทมาตั้งแต่ปี 2556 และปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยอยู่ที่ 350 บาท เมื่อเทียบกับการเพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำและระยะเวลาเกือบสิบปี พบว่า มีอัตราการปรับขึ้นอยู่ที่ 12 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งถือว่าขึ้นน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับสิ่งที่ลูกจ้างควรจะได้รับ

“ค่าแรงขั้นต่ำควรอย่างน้อย 380 บาท ที่ควรจะได้ ก็เรียกได้ว่าอาจจะยังต่ำไปเมื่อเทียบกับนโยบายที่พรรคการเมืองหาเสียงไว้ 450 หรือ 600 บาท หรือถ้าจะรวมอัตราเงินเฟ้อในปีนี้เข้าไปด้วย ก็น่าจะได้อยู่ที่ 390 บาทต่อวัน รายได้ขั้นต่ำที่ควรจะเป็นขั้นต่ำจริงๆ ไม่ควรต่ำกว่านี้” ดร.สมเกียรติ ระบุ

เมื่อคนไทยมีงานทำ แต่ค่าจ้างไม่เพียงพอที่จะเลี้ยงตัวเองได้ดีพอ นำมาสู่ปัญหาถัดมาคือ “หนี้ครัวเรือนพุ่งสูงขึ้น” ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า จากข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่าเมื่อปลายปีที่แล้ว หนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ที่ 15 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนของ GDP อยู่ที่ประมาณ 87 เปอร์เซ็นต์ เรียกได้ว่าสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในเชิงของมูลค่า คือ จาก 14 ล้านล้านบาท ไล่ต่อเนื่องมาจนถึง 15 ล้านล้านบาท แต่เมื่อเทียบกับ GDP สัดส่วนไม่ค่อยเพิ่มขึ้นเร็วมากหนัก เพราะ GDP ก็ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น หนี้ครัวเรือนก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน และเมื่อเร็ว ๆ นี้ ธปท.ได้ปรับปรุงข้อมูลสถิติและนิยาม “หนี้สินครัวเรือน” ใหม่ ให้ครอบคลุมหนี้ 4 กลุ่ม คือ หนี้ กยศ. หนี้ประกอบธุรกิจ หนี้การเคหะแห่งชาติ และหนี้พิโกไฟแนนซ์ ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นถึง 16 ล้านล้านบาท และคิดเป็น 91 เปอร์เซ็นต์ของ GDP แต่ในภาพรวมก็ถือว่ายังไม่น่าเป็นห่วงมากนัก

“เมื่อหนี้ทะยานสูงขึ้น คนก็มักจะหาทางไต่เต้าทางเศรษฐกิจสังคมยากขึ้น และเราก็จะเห็นปรากฎการณ์ซ้ำ ๆ ที่เกิดขึ้นทุก ๆ ต้นเดือนและกลางเดือน คือ ระบบ Online Payment หรือระบบโอนเงินออนไลน์ล่ม จากการศึกษาพบว่า สาเหตุเกิดจากการเสี่ยงโชค ซื้อหวย เนื่องจากคนมีรายได้ไม่พอ และเมื่อการขยันทำงานก็ยังยากสู่การสร้างเนื้อสร้างตัวได้ วิธีรวยทางลัด ก็คือการเสี่ยงโชค คำถามว่า ทำไมไม่ปรับปรุงระบบโอนเงินให้รองรับการใช้จำนวนมาก เพราะการใช้จำนวนมากเกิดขึ้นเพียงแค่สองวัน และไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น จึงไม่คุ้มกับการลงทุน”  ดร.สมเกียรติ กล่าว

ดร.สมเกียรติ ฉายภาพการมองสภาวะสังคมไทยจากการเสียชีวิต พบว่า สาเหตุการเสียชีวิตแบ่งได้ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 เกิดจากโรคไม่ติดต่อ เช่น มะเร็ง หลอดเลือดสมอง ปอดอักเสบ กลุ่มที่ 2 เป็นการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ และกลุ่มที่ 3 เป็นโรคติดต่อที่มีจำนวนมากขึ้นในช่วงโควิด-19 ระบาด แต่ในสถานการณ์ทั่วไปจะไม่ได้มีจำนวนมาก การเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อของคนไทยเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิต แต่เมื่อมองลึกลงไปก็จะพบว่าเป็นการเสียชีวิตที่ไม่จำเป็นเยอะ โดยสาเหตุมาจากปัญหาฝุ่น PM 2.5 ส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพ เช่น มะเร็งปอด ทำให้คนไทยเสียชีวิตปีละ 3.1 หมื่นคน และเสียปีสุขภาวะ 6.6 แสนต่อปี แม้ว่าจะไม่เสียชีวิตแต่ก็นับเป็นมูลค่าการเสียหายหลายแสนล้านบาทเลยทีเดียว นอกจากส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต ทำให้คนไทยมีความเสี่ยงด้านสุขภาพจิตเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเครียด เสี่ยงซึมเศร้า จนถึงเสี่ยงฆ่าตัวตาย ชี้ให้เห็นสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

ดร.สมเกียรติ กล่าวถึงในด้านความปลอดภัย จากข้อมูลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่ารายงานการก่ออาชญากรรมทางทรัพย์หรือทางร่างกายมีมากขึ้น นอกจากนี้จำนวนอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นและมีผู้เสียชีวิตก็ไม่ได้ลดลง ตัวอย่างเช่นกรณีข่าวรถมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์ขับรถชนแพทย์หญิงเสียชีวิต ซึ่งถือว่าเป็นการสูญเสียที่ประเมินค่าไม่ได้ นอกจากนั้นผู้กระทำผิดยังเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายด้วย ถือเป็นโจทย์ใหญ่ของสังคมไทยที่ไม่สามารถแก้ไขได้ง่าย เนื่องจากเป็นเรื่องพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก

ประเด็นต่อมาที่บ่งชี้ให้เห็นว่าสังคมไทยเปลี่ยนแปลงคือ จำนวนเรื่องร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดย 40 เปอร์เซ็นต์ ร้องเรียนเรื่องการบริการ ในเรื่องเสริมความงาม การโฆษณาเกินจริง การกู้เงินทางออนไลน์ นอกจากนี้เรื่องการผูกขาดในธุรกิจขนาดใหญ่ หากไม่ทำอะไรจะกลายเป็นเรื่องใหญ่และรุนแรงมากขึ้น เช่น การควบรวมระหว่างทรูและดีแทค ทำให้ราคาค่าบริการแพงขึ้น การควบรวมโรงพยาบาลที่ทำให้ค่ารักษาที่แพงขึ้น ซึ่งต้องอาศัยการป้องกันไม่ให้รัฐและนายทุนเข้าไปเป็นเนื้อเดียวกัน

ดร.สมเกียรติ กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจรัฐและพลังงานสังคมว่า ประเทศที่จะพัฒนาได้สมดุล จะต้องมีอำนาจรัฐและพลังสังคมที่สมดุลกัน ถ้ามีเพียงด้านใดด้านหนึ่ง การขับเคลื่อนหรือการพัฒนามักจะไม่ประสบผลสำเร็จ ตัวอย่างเช่น ประเทศจีน มีอำนาจรัฐที่แข็งแกร่ง แต่ในส่วนเสรีภาพของประชาชนหรือพลังสังคมนั้นถูกจำกัด ขณะที่ประเทศอินเดีย พลังงานสังคมแข็งแรงมาก มีความเป็นประชาธิปไตย แต่ขณะเดียวกันอำนาจรัฐไม่แข็งแรงมากพอ

โจทย์ของสังคมไทย จะต้องสร้างความเข้มแข็งขึ้นมาทัดทานรัฐและทุน ประเทศที่จะพัฒนาได้อย่างสมดุลจะต้องมีรัฐที่เข้มแข็ง สามารถแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้ และรัฐจะต้องตอบสนองต่อความต้องการคนในสังคม อย่างเรื่อง PM 2.5 ที่เกิดขึ้นมาหลายเดือน แต่รัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาได้ นี่คือตัวอย่างของรัฐที่ไม่มีความเข้มแข็งและไม่สามารถตอบสนองประชาชนได้

“สังคมแยกจากเศรษฐกิจ การเมืองไม่ได้ สังคมจะพัฒนาต่อไปได้ ต้องทำให้สังคมเข้ามาควบคุมรัฐ ซึ่งเงื่อนไขที่จำเป็นคือ ต้องให้กลไกประชาธิปไตยทำงาน โดยรูปธรรมในระบบรัฐสภา ส.ส. ที่เป็นตัวแทนประชาชน ควรมีอำนาจเต็มที่ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่ตัวแทนใครไม่รู้ อย่าง ส.ว. เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง ส่วนตำแหน่งประธานสภาก็เป็นเรื่องที่พรรคการเมืองไปพูดคุยกัน ขออย่าให้มีอำนาจข้างนอกเข้ามาแทรก สังคมจึงจะสามารถควบคุมรัฐได้ และทำให้เกิดเปลี่ยนแปลงขึ้นเดินไปถูกที่ถูกทาง” ดร.สมเกียรติ กล่าวทิ้งท้าย

 
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
ECONOMY

ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ “ส้มโอไทย” ส่งออกไปสหรัฐอเมริกา

 
 

วันที่ 3 กรกฎาคม 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหม ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยสามารถขยายตลาดส่งออกได้เพิ่มขึ้น ผ่านการส่งออกส้มโอฉายรังสี 4 สายพันธุ์ ไปยังกรุงวอชิงตัน ดีซี (Washington, D.C.) สหรัฐอเมริกา ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของไทย และยังส่งออกมะม่วงของฤดูกาลปี 2566 มังคุด และผลไม้อื่น ๆ ของไทย เพื่อนำไปร่วมงานเฉลิมฉลองในวันชาติของสหรัฐอเมริกา และ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – สหรัฐอเมริกา ครบรอบ 190 ปี ในงานจัดแสดงผลไม้เทศกาล “Sawasdee DC Thai Festival” ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี ระหว่างวันที่ 2 – 4 กรกฎาคม 2566 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันที่ 26 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา ไทยได้ส่งออกส้มโอชิปเมนท์แรก ไปยังสหรัฐฯ เพื่อจัดแสดงผลไม้ในงานเทศกาล Sawasdee DC Thai Festival ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี ในโอกาสวันชาติของสหรัฐฯ ในวันที่ 2 – 4 กรกฎาคม 2566 และ เพื่อเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูต ไทย-สหรัฐอเมริกา ครบรอบ 190 ปี ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงรายงานการส่งออกส้มโอไปสหรัฐฯ ครั้งแรก เป็นส้มโอฉายรังสี 4 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ทองดี พันธุ์ขาวใหญ่ พันธุ์ขาวน้ำผึ้ง และพันธุ์ขาวแตงกวา พร้อมด้วย มะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ มหาชนก แดงจักรพรรดิ และเขียวเสวย รวมทั้งมังคุด รวมทั้งสิ้น จำนวน 72 กล่อง น้ำหนัก 864 กิโลกรัม

การส่งออกส้มโอไปสหรัฐฯ ครั้งนี้ ถือเป็นความสำเร็จสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกส้มโอ รวมถึงผู้ประกอบการส่งออกผลไม้ที่จะมีตลาดส่งออกเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสหรัฐฯ เป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง เป็นประเทศที่เข้มงวดด้านมาตรการสุขอนามัยพืชอย่างสูง โดยกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) ได้มอบหมายหน่วยงานบริการตรวจสอบสุขภาพสัตว์และพืช (Animal and Plant Health Inspection Service : APHIS) ให้แจ้งถึงผลการทดสอบประสิทธิภาพการแพร่กระจายรังสีในบรรจุภัณฑ์ส้มโอ ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่จะอนุญาตให้นำเข้า โดยส้มโอส่งออกจะต้องผ่านการฉายรังสีแกรมมา (Gamma: γ) ที่ระดับ 400 เกรย์ นาน 3 ชั่วโมง จากศูนย์ฉายรังสี สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) พร้อมโรงคัดบรรจุที่ได้รับอนุญาตให้คัดบรรจุส้มโอเพื่อการส่งออกได้ โดยผลไม้ของไทยที่ส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศสหรัฐฯ ต้องฉายรังสีแกรมมา ปริมาณ 400 เกรย์ ก่อนส่งออก

ขณะนี้ผลไม้ที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ มี 8 ชนิด ได้แก่ มะม่วง ลิ้นจี่ ลำไย สับปะรด มังคุด แก้วมังกร เงาะ และล่าสุดได้แก่ ส้มโอ โดยกรมวิชาการเกษตรยังมีแนวทางที่จะสนับสนุนภาคเอกชนให้มีการจัดส่งทางเรือเพื่อลดต้นทุนและจัดส่งได้ครั้งละจำนวนมาก ซึ่งอยู่ระหว่างการทดสอบในเชิงคุณภาพ โดยหากได้ผลดีจะเป็นการเพิ่มช่องทางให้ผู้ประกอบการนำไปใช้ในเชิงการค้าต่อไป 

“นายกรัฐมนตรียินดีต่อผลความสำเร็จในการส่งออกส้มโอทั้ง 4 สายพันธุ์ของไทย เป็นเครื่องสะท้อนถึงคุณภาพของผลไม้ไทยที่มีมาตรฐาน และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ทั้งนี้ นายกฯ เชื่อมั่นว่าเมื่อไทยผ่านมาตรฐานการส่งออกไปสหรัฐฯ จะเพิ่มโอกาสให้ผลไม้ไทยสามารถขยายตลาดส่งออกได้เพิ่มมากขึ้นอีกในอนาคต พร้อมขอบคุณความร่วมมือ การทำงานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการผลักดันสินค้าเกษตรของไทยให้มีศักยภาพ เพิ่มโอกาส เพิ่มขีดความสามารถในตลาดต่างประเทศ” นายอนุชาฯ กล่าว

 
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
SOCIETY & POLITICS

นายกฯ ปลื้ม 13 มหาวิทยาลัยไทย ดีที่สุดในโลก

 
 

วันที่ 3 กรกฎาคม 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีที่ได้ทราบว่า 13 มหาวิทยาลัยของไทยได้รับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลก ประจำปี 2567 (QS World University Rankings 2024) จากรายงานการจัดอันดับของ Quacquarelli Symonds (QS) สถาบันชั้นนำระดับโลกด้านการวิเคราะห์สถาบันอุดมศึกษา (https://www.topuniversities.com/university-rankings/world-university-rankings/2024) โดยคัดเลือกสถาบันอุดมศึกษากว่า 1,500 แห่ง จาก 104 ประเทศทั่วโลก มาวิเคราะห์และจัดอันดับตาม 9 เกณฑ์ที่กำหนด สะท้อนพัฒนาการทางการศึกษาไทย ยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศสู่ระดับสากล

 
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รายงานการจัดอันดับดังกล่าวเป็นการรายงานต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ซึ่งปี 2566 นี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 20 โดยกำหนดเกณฑ์การให้คะแนนทั้งหมด 9 เกณฑ์ ได้แก่ 
1. ความมีชื่อเสียงทางด้านวิชาการ (Academic Reputation) 
2. ทัศนคติของผู้จ้างงานต่อบัณฑิต (Employer Reputation) 
3. สัดส่วนจำนวนอาจารย์ต่อนักศึกษา (Faculty Student Ratio) 
4. การอ้างอิงผลงานทางวิชาการ (Citations per Faculty) 
5. สัดส่วนจำนวนอาจารย์ชาวต่างชาติ (International Faculty Ratio) 
6. สัดส่วนจำนวนนักศึกษาชาวต่างชาติ (International Student Ratio) 
7. เครือข่ายด้านการวิจัยระหว่างประเทศ (International Research Network) 
8. ผลลัพธ์ด้านการจ้างงานบัณฑิต (Employment Outcomes) และ 
9. การสนับสนุนความยั่งยืน (Sustainability) รวมทั้งวิเคราะห์เอกสาร งานวิจัยทางวิชาการ และรวบรวมความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญจากคณาจารย์และนายจ้าง  
 
โดยมหาวิทยาลัยของไทยได้รับการคัดเลือกทั้งหมด 13 แห่ง ได้แก่ 
  • จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
  • มหาวิทยาลัยมหิดล 
  • มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 
  • มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 
  • มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 
  • มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 
  • มหาวิทยาลัยขอนแก่น 
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ 
  • สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 
  • มหาวิทยาลัยนเรศวร 
  • มหาวิทยาลัยศิลปากร และ
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
 
“นายกรัฐมนตรียินดีกับชื่อเสียง และพัฒนาการของสถาบันอุดมศึกษาไทยที่มีอย่างต่อเนื่อง สามารถส่งเสริม และพัฒนาบุคลากร และผลงานทางวิชาการต่าง ๆ ให้มีมาตรฐาน ได้รับการยอมรับในระดับสากล โดยรัฐบาลพร้อมที่จะสนับสนุนการศึกษาไทยให้ครอบคลุมทุกมิติ สร้างระบบการศึกษาที่มีความยืดหยุ่น สอดรับกับความต้องการของผู้เรียน รวมทั้งต้องเท่าทันกับบริบททั่วโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพื่อการสร้างบุคลากรในฐานะทรัพยากรมนุษย์ที่จะเติบโตเป็นอนาคตของประเทศชาติต่อไป” นายอนุชาฯ กล่าว
 
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
SOCIETY & POLITICS

ดันอุตสาหกรรม Semiconductor ร่วมไต้หวัน วิจัยและผลิตบุคลากรที่เชี่ยวชาญ

 
 
วันที่ 3 กรกฎาคม 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ส่งเสริมและผลักดันนโยบายการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) ในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง ชื่นชมการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล และได้ให้ความสำคัญกับการผลิตกำลังคน Semiconductor ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า เมื่อไทยมีความพร้อมด้านกำลังคนมากขึ้น จะผลักดันให้เกิดการลงทุนอุตสาหกรรม Semiconductor ในไทย ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะส่งผลในการพัฒนาประเทศอย่างก้าวกระโดด

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เซมิคอนดักเตอร์ หรือ ชิป เป็นส่วนประกอบสำคัญที่มีความต้องการในตลาด เพื่อใช้ในอุปกรณ์เทคโนโลยีหลากหลายประเภท โดยประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นฐานการผลิต เนื่องจากความพร้อมทางด้านทรัพยากร การจัดตั้งภาคอุตสาหกรรม รวมถึงความสัมพันธ์อันดีกับประเทศอื่นๆ จึงเป็นสถานที่ที่เหมาะสำหรับการลงทุนในอุตสาหกรรมประเภทนี้เป็นอย่างมาก โดยภาคอุตสาหกรรมไทยเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานโลก และเป็นฐานการผลิตสินค้าขั้นสุดท้ายที่ใช้ส่วนประกอบจากอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ เหมาะแก่การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานและการพัฒนาเพื่อใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยไปสู่อุตสาหกรรมการผลิตที่มีความซับซ้อนและใช้เทคโนโลยีขั้นสูงให้ได้โดยเร็ว อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เป็นโอกาสสำคัญสำหรับการลงทุนของผู้ประกอบการในประเทศไทย โดยการลงทุนด้านชิปในไทยยังอยู่ในส่วนการประกอบและทดสอบ (assembly and testing) และเริ่มมีการลงทุนในส่วนของการออกแบบ (IC Design) แต่ยังขาดในส่วนของภาคการผลิต (Foundry) จึงเกิดเป็นความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากร ระหว่างหน่วยงานของไทยและไต้หวัน เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมชิป 

สำหรับมหาวิทยาลัยไทย 9 แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม.เกษตรศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ม.ขอนแก่น ม.สงขลานครินทร์ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และ ม.เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยไต้หวัน 6 แห่ง และบริษัท Taiwan Semiconductor Manufacturing Company(TSMC) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตชิปที่ใหญ่ที่สุดในโลก ร่วมมือวิจัยและผลิตบุคลากร โดยจัดทำหลักสูตรในระดับปริญญาตรี-โท ด้านเซมิคอนดักเตอร์ ตั้งเป้าให้มีนิสิตนักศึกษาที่มีศักยภาพสูงในโครงการไม่น้อยกว่า 200 คน/ปี ในสาขาที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ด้านเครื่องมือ ด้านวัสดุ ด้านการออกแบบวงจรรวม (IC) ด้านกระบวนการผลิต ด้านการทดสอบและpacking เป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปีต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ทางมหาวิทยาลัยไต้หวันบางแห่งจะจัดฝึกอบรมระยะสั้นให้แก่ บุคลากรและนิสิตนักศึกษาของมหาวิทยาลัยไทย เพิ่มพูนทักษะ ส่งเสริมให้นิสิตนักศึกษาไทยได้ฝึกปฏิบัติงานในบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ชั้นนำที่ไต้หวัน เพื่อสร้างความพร้อมให้กับประเทศไทยในการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ส่งเสริมการตั้งฐานการผลิตอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศไทย

ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) พบว่า ไทยมีโอกาสที่จะถูกเลือกเป็นประเทศปลายทางในการตั้งฐานการผลิต โดยหลายบริษัทมีแนวโน้มที่จะย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศคู่ขัดแย้งในการแข่งขันทางเทคโนโลยี เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดกับกิจการ ไทยมีศักยภาพที่จะดึงดูดการลงทุนจากบริษัทเหล่านี้ได้ โดยในปัจจัยด้านห่วงโซ่อุปทานของไทย ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศอื่นไทยยังสามารถแข่งขันได้ เนื่องจากคู่แข่งยังเป็นอุตสาหกรรมที่มีความไม่ซับซ้อนคล้ายคลึงกับไทย รวมถึงภาครัฐของไทยได้เร่งส่งเสริมให้เกิดพันธมิตรทางการค้าใหม่ ๆ เพื่อขยายตลาดให้กับสินค้าและบริการของไทยอย่างต่อเนื่อง ทำให้ไทยมีข้อได้เปรียบและได้อานิสงส์ที่จะถูกเลือกเป็นประเทศปลายทางในการเคลื่อนย้ายฐานการผลิต

“นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นในความร่วมมือด้านการศึกษา พัฒนาคนเพื่อพัฒนาประเทศ เห็นถึงศักยภาพ และโอกาสการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศ เชื่อว่ากลไกการส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรตามความต้องการในอุตสาหกรรมเป้าหมาย จะเป็นการพัฒนาคนได้ตามความต้องการ สามารถรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมประเภทนี้ได้ครอบคลุม โดยภาครัฐได้เร่งส่งเสริมให้เกิดพันธมิตรทางการค้าใหม่ๆ เพื่อขยายตลาดภาคอุตสาหกรรม เชื่อมั่นว่าไทยมีศักยภาพการเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมศักยภาพสูง และเซมิคอนดักเตอร์ ด้วยความพร้อมของไทยที่รัฐบาลให้ความสำคัญ และพัฒนามาโดยตลอด” นายอนุชาฯ กล่าว
 
 
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
TOP STORIES

พรรคก้าวไกล-เพื่อไทย เปิด 4 ข้อ “วันนอร์” นั่งประธานสภา

 
 
วันที่ 3 ก.ค. 2566 หลังการรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา เสร็จสิ้น พรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย แถลงข่าวร่วมกันเวลา 19.00 น. ที่โรงแรมแลงคาสเตอร์ ล่าสุดทั้งสองพรรรได้มีข้อตกลงร่วมระหว่างพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย เรื่อง ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบเสนอชื่อ วันมูหะหมัดนอร์ มะทา เป็นประธานสภาฯ
 
ข้อตกลงร่วมระหว่างพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย เรื่อง ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ตามที่พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคเป็นธรรม พรรคเพื่อไทยรวมพลัง และพรรคพลังสังคมใหม่ ได้ประชุมหารือร่วมกันกรณีตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยมอบหมายให้พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยไปเจรจาตกลงร่วมกันนั้น บัดนี้พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยได้ตกลงร่วมกัน ดังนี้ 
 
1.เสนอชื่อ นาย วันมูหะหมัดนอร์ มะทา เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคก้าวไกล เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเพื่อไทย เป็นรองประธานสภาคนที่ 2 โดยพรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคเป็นธรรม พรรคเพื่อไทยรวมพลัง และพรรคพลังสังคมใหม่ พร้อมให้การสนับสนุนตามข้อตกลงนี้ 
 
2.บุคคลที่จะปฏิบัติหน้าที่เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร พร้อมผลักดันวาระที่ทำให้รัฐสภาไทยก้าวหน้า ให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีประสิทธิภาพ และเป็นของประชาชน 
 
3.ข้อตกลงเรื่องตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรในครั้งนี้ เป็นไปเพื่อสร้างความเป็นเอกภาพระหว่าง 8 พรรคในการจัดตั้งรัฐบาล เสนอและสนับสนุน นาย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี อย่างสุดความสามารถ โดยดำเนินการตามข้อตกลง MOU ที่ได้แถลงร่วมกันเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 
 
4.พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยยืนยันร่วมกันให้ความเห็นชอบกฎหมายสำคัญเพื่อประชาชน ซึ่งรวมถึงการนิรโทษกรรมคดีแสดงออกทางการเมือง และการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปกองทัพ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ร่างพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก และร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร  ตามที่พรรคก้าวไกลเสนอ พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย เชื่อมั่นว่าข้อตกลงเรื่องประธานสภาผู้แทนราษฎรและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานร่วมกันเพื่อจัดตั้งรัฐบาลเข้าไปบริหารประเทศ ตามเจตนารมณ์ที่ประชาชนได้แสดงออกอย่างชัดเจนผ่านการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 3 กรกฎาคม 2566
 
 
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
SOCIETY & POLITICS

แรงงานจัดฝึกอบรมยกระดับทักษะแรงงาน ลาว กัมพูชา เมียนมา

 
สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติร่วมกับกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ จัดฝึกอบรมยกระดับฝีมือภายใต้โครงการสร้างทักษะแรงงาน/วิชาชีพ (ลาว กัมพูชา เมียนมา) จำนวน ๓๐ ชั่วโมง ให้แก่บุคลากรจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จำนวน ๒ หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรระบบการออกแบบและพัฒนาหลักสูตรอิงสมรรถนะ และหลักสูตรตัดเย็บเสื้อสูท หลักสูตรละ ๑๘ คน รวมทั้งสิ้น ๓๖ คน ซึ่งดำเนินการฝึกอบรมระหว่างวันที่ ๓ – ๗ กรกฎาคม ๒๕๖๖ ณ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติ ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย 
 
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะและวิชาชีพของประเทศเพื่อนบ้านที่ตอบสนองความต้องการของภาคเอกชนไทย ที่ลงทุนในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง รองรับการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษของไทยและประเทศเพื่อนบ้าน และการโยกย้ายฐานการผลิตของภาคอุตสาหกรรมของไทยไปในเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน ลดขั้นตอนในการทำงาน ลดการสูญเสียในวงจรการผลิต/บริการ เสริมภาพลักษณ์ที่ดีของหน่วยงาน ส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่/ครูฝึกได้รับความรู้ ทักษะวิชาชีพ และทักษะการสอนเพื่อนำไปถ่ายทอดให้แก่แรงงานในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เพื่อเป็นการขยายผล รวมทั้งเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงกับไทย ในการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานร่วมกัน
 
นายพิเชษฐ์ ทองพันธ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้เผยว่านโยบายรัฐบาลให้ความสำคัญต่อการดำเนินภารกิจความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ โดยกำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๑ – ๒๕๘๐) ด้านความมั่นคง และต่างประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๒ ยุทธศาสตร์ที่ ๑๐ ความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่างประเทศ ระยะ ๒๐ ปี ให้มีการดำเนินภารกิจความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศในทุกด้าน เพื่อส่งเสริมบทบาทที่สร้างสรรค์ของประเทศไทย 
 
ในการสนับสนุนการแก้ปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำในอนุภูมิภาคและในภูมิภาคและ การขับเคลื่อนการพัฒนาภายใต้กรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ซึ่งจะส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งประเทศอื่น ๆ และนำไปสู่การขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้าระหว่างประเทศ การเมืองและความมั่นคง รวมถึงการเสริมสร้างความเข้าใจอันดี และการสร้างมิตรประเทศใหม่ ซึ่งโครงการนี้ถือเป็นกิจกรรมที่ดี ที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน 
 
โดยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติได้ร่วมกับกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ พัฒนาฝีมือและศักยภาพแรงงานบุคลากรภาครัฐในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อพัฒนาความรู้ ทักษะและเสริมสร้างศักยภาพฝีมือแรงงานให้ทัดเทียมกัน สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและมีมาตรฐานฝีมือแรงงานเป็นที่ยอรับในระดับสากลและสามารถแข่งขันในประเทศและตลาดโลกได้
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
FEATURED NEWS

เตรียมจัดงานรำลึกครบรอบ กู้ภัยถ้ำหลวง 5 ปี

 

เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2566 ที่อุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน (เตรียมการ) ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย นายชุติเดช กมนณชนุตม์ (กะ-มน-นะ-ปะ-นุด)ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 นางรุ่งศรัณย์ บันลือศักดิ์ชัย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวงฯ พร้อมผู้ที่เกี่ยวข้องได้จัดเตรียมสถานที่เพื่อจัดงาน “รำลึกครบรอบ 5 ปีกู้ภัยถ้ำหลวง” ในวันจันทร์ที่ 10 ก.ค.นี้ โดยนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีกำหนดเดินทางไปเป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมจะร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) โป่งผา ทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ จำนวน 39 รูป พิธีบวงสรวงเจ้าแม่นางนอน และพิธีเจริญพระพุทธมนต์ กิจกรรมการแสดงความรำลึกถึงผู้เสียสละ ได้แก่ นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร อดีตผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย และเคยเป็นผู้บัญชาการในเหตุการณ์ช่วยเหลือทีมเยาวชนหมูป่าอะคาเดมีจำนวน 13 คน ที่ติดอยู่ในถ้ำหลวงระหว่างวันที่ 23 มิ.ย.-10 ก.ค.2561 นาวาตรีสมาน กุนัน (จ่าแซม) ซึ่งเสียชีวิตในเหตุการณ์ เรือโทเบรุต ปากบารา ทหารเรือซึ่งเสียชีวิตเมื่อเร็วๆ นี้ และนายดวงเพชร พรหมเทพ หรือน้องดอมหนึ่งในสมาชิกทีมหมูป่าที่เสียชีวิตขณะศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ

นอกจากนี้ยังมีการจัดการแสดงแสง สี เสียง บริเวณโถงถ้ำแรกที่อยู่ปากถ้ำซึ่งมีลักษณะเป็นโถงกว้างขวางและเพดานถ้ำมีความสูง รวมทั้งมีการเสวนาในหัวข้อ “การเปลี่ยนแปลงถ้ำหลวงที่เกิดขึ้นหลักจากเกิดเหตุการณ์ค้นหาและกู้ภัย” โดยบุคคลสำคัญเข้าร่วมประกอบด้วยนายจงคล้าย วรพงศธร อดีตรองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งขณะนั้นเป็นรองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ พลเรือโทอาภากร อยู่คงแก้ว ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้บัญชาการบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือหรือหน่วยชีล พ.อ.นายแพทย์ ภาคย์ โลหารชุน นายแพทย์ใหญ่หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ จ.ลพบุรี นายชัยยนต์ ศรีสมุทร นากยกเทศมนตรี ต.แม่สาย พร้อมเยาวชนทีมหมูป่าอะคาเดมีและผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เข้าร่วม
 
นายชุติเดช กล่าวว่าการเสวนาดังกล่าวยังจะมีผู้ที่เกี่ยวข้องมาบอกเล่าเหตุการณ์ซึ่งไม่เคยปรากฎที่สื่อไหนมาก่อนว่าเมื่อ 5 ปีก่อนสถานการณ์ที่พวกเขาพบเจอในเหตุการณ์กู้ภัยที่ถ้ำหลวงเป็นอย่างไรจึงขอเชิญชวนผู้สนใจไปร่วมกิจกรรม โดยจะมีการจัดของที่รำลึกที่มีชิ้นเดียวและหาที่ไหนไม่ได้ให้กับผู้ไปร่วมจำนวน 500 ชุด ทั้งนี้ในปัจจุบันถ้ำหลวงได้รับการพัฒนาทั้งด้านทรัพยากรธรณี และการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน นักท่องเที่ยวสามาถเข้าชมได้ตั้งแต่โถงปากถ้ำไปจนถึงโถงถ้ำที่ 1 ซึ่งเป็นจุดที่เจ้าหน้าที่ใช้เป็นศูนย์บัญชาการช่วยเหลือในเหตุการณ์ปี 2561 และต่อไปจะผลักดันให้เป็นมรดกของอาเซียนต่อไป
 
ในปัจจุบันยังคงมีนักท่องเที่ยวไปเยือนถ้ำหลวงอย่างต่อเนื่อง โดยทางกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้สร้างอาคารบันทึกเหตุการณ์เป็นถ้ำจำลองเพื่อบอกเล่าเรื่องราวช่วยเหลือทีมหมูป่าอะคาเดมี มีศาลาอนุสรณ์สถานที่มีผลงานศิลปะที่เกี่ยวข้องและอนุสาวรีย์จ่าแซมที่สร้างโดยศิลปินนำโดยอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติชาวเชียงราย รวมทั้งมีการพัฒนาถนน ทางเดิน ไฟส่องสว่างและข้อมูลระหว่างทาง เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เดินทางไปชมและเข้าชมภายในโถงปากถ้ำถึงโถงถ้ำที่ 1 ได้โดยสะดวก อย่างไรก็ตามทางอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวงฯ ด้มีประกาศปิดถ้ำหลวงตั้งแต่วันที่ 16 ก.ค. – 30 ก.ย.นี้ เพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวเนื่องจากเข้าสู่ฤดูฝนทำให้อาจมีปริมาณน้ำในถ้ำอาจเพิ่มมากขึ้น กระนั้นนักท่องเที่ยวยังสามารถเดินทางไปเที่ยวชมได้ถึงกลางเดือน ก.ค.นี้
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
TOP STORIES

“ข้าวหมกไก่” และ “ไก่ย่าง” ติดอันดับ 1 ใน 50 อาหารเมนูไก่ที่ดีที่สุดในโลก

 
เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีกับผลการจัดอันดับอาหารเมนูไก่ จากเว็บไซต์ TasteAtlas เว็บไซต์อาหารชื่อดัง ที่จัดอันดับความอร่อยของอาหารหลากหลายจากทั่วโลก ในการจัดอันดับ 50 Best Rated CHICKEN DISHES in the World หรือ เมนูอาหารประเภทไก่ที่ดีที่สุดในโลก ซึ่งผลการจัดอันดับเมนูไก่จากประเทศไทย ติด 1 ใน 50 อาหารเมนูไก่ที่ดีที่สุดในโลกถึง 2 รายการ ได้แก่ ข้าวหมกไก่ (อันดับที่ 38) และไก่ย่าง (อันดับที่ 46) (https://www.tasteatlas.com/50-best-rated-chicken-dishes-in-the-world)
 
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมนูข้าวหมกไก่ ได้รับการจัดอันดับอยู่ที่ 38 ด้วยคะแนน 4.3 คะแนน โดยเว็บไซต์ TasteAtlas ระบุว่า เมนูนี้ได้รับความนิยมในหมู่คนไทยมุสลิม เป็นเมนูฮาลาล ที่พ่อค้าเปอร์เซียได้แนะนำสู่คนไทยเมื่อศตวรรษที่ผ่านมา โดยเมนูนี้เป็นข้าวหมกไก่เวอร์ชั่นไทย และถูกกล่าวถึงครั้งแรกในบทประพันธ์ของไทย ตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 
 
สำหรับ เมนูไก่ย่าง ได้รับการจัดอันดับอยู่ที่ 46 ด้วยคะแนน 4.2 คะแนน ทางเว็บไซต์ระบุว่า ไก่ย่างได้รับความนิยมรับประทานจากคนไทยทั่วประเทศ แม้ว่าจะมีต้นกำเนิดมาจากชาวลาวในภาคอีสานของไทยก็ตาม ปกติจะทานคู่กับข้าวเหนียว น้ำจิ้ม รวมถึงส้มตำ ที่หาทานได้ง่าย โดยไก่ย่างจะมีความแตกต่างจากไก่อื่น คือ กรรมวิธีการหมักไก่นั่นเอง ทั้งนี้ ในประเทศไทยจะหาเมนูไก่ย่างได้ตามร้านอาหารข้างทางทั่วประเทศไทย 
 
“นายกรัฐมนตรีชื่นชมและเชื่อมั่นในอาหารไทยซึ่งได้รับการจัดอันดับอย่างต่อเนื่อง แสดงถึงเอกลักษณ์ ความโดดเด่นทางวัฒนธรรมอาหารที่หลากหลาย และมีรสชาติที่กลมกล่อม พิถีถันในการเลือกวัตถุดิบ ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ทรงคุณค่ามีโภชนาการ เป็นที่นิยมในกลุ่มนักท่องเที่ยว สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศอย่างต่อเนื่อง” นายอนุชาฯ กล่าว

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : TasteAtlas

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
CULTURE

วธ. ปลื้มกระแสตอบรับบ้านศรีดอนชัย “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” จ.เชียงราย

 

วธ. ปลื้มกระแสตอบรับ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ปี 64-65 ดีเกินคาด สร้างรายได้ท่องเที่ยว เพิ่มขึ้น ร้อยละ 134.27 รายได้จำหน่ายผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (CPOT) เพิ่มขึ้นร้อยละ 59.19 เกิดนักท่องเที่ยว เพิ่มขึ้นร้อยละ 100.64 ด้านบ้านเชียง จ.อุดรธานี , บ้านศรีดอนชัย จ.เชียงราย , บ้านถ้ำกลองเพล จ.หนองบัวลำภู ได้รับความนิยมสูงสุด ผู้คนติดใจเสน่ห์บรรยากาศของชุมชน อาหาร และสินค้าชุมชน 

นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า เมื่อเร็วๆนี้ ทางคณะทำงานโครงการ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ได้ทำแบบสอบถามความคิดเห็นที่มีต่อโครงการสุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ บุคลากรของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด เครือข่ายทางวัฒนธรรม นักท่องเที่ยว และประชาชนทั่วไป ซึ่งอยู่ในพื้นที่จังหวัดที่ชุมชนได้รับการคัดเลือกเป็นสุดยอดชุมชนต้นแบบ ฯ จำนวน 19 จังหวัด และในพื้นที่จังหวัดที่ชุมชนไม่ได้รับการคัดเลือกเป็นสุดยอดชุมชนต้นแบบ ฯ จำนวน 57 จังหวัด รวมจำนวน 3,089 คน ซึ่งเป็นการสอบถามเกี่ยวกับการรับรู้ ประสบการณ์ ความประทับใจ การมีส่วนร่วม ตลอดจนมุมมองความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาการท่องเที่ยววิถีชุมชน

ปลัด วธ. กล่าวว่า ผลปรากฏว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ เคยได้ยินหรือรับรู้รับทราบเกี่ยวกับโครงการ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ดังกล่าวมาบ้างแล้ว โดยผู้ที่อยู่ในพื้นที่ชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” จะมีการรับรู้รับทราบมากกว่าผู้ตอบแบบสอบถามที่อยู่นอกพื้นที่ ในส่วนของชุมชนที่ได้รับความนิยมและมีผู้เคยไปท่องเที่ยวมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ 1.ชุมชนคุณธรรมฯ บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี 2.ชุมชนคุณธรรมฯ บ้านศรีดอนชัย จ.เชียงราย และ3.ชุมชนคุณธรรมฯ บ้านถ้ำกลองเพล จ.หนองบัวลำภู ด้านชุมชนที่ส่วนใหญ่คิดว่าจะไปเพิ่มเติมมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ 1.ชุมชนคุณธรรมฯ บ้านศรีดอนชัย จังหวัดเชียงราย 2.ชุมชนคุณธรรมฯ บ้านผาบ่อง จ.แม่ฮ่องสอน 3.ชุมชนคุณธรรมฯ แหลมสัก จ.กระบี่ นอกจากนี้ ด้านเสน่ห์ที่นักท่องเที่ยวชื่นชอบจากการที่ได้ไปท่องเที่ยว ณ สุดยอดชุมชนต้นแบบฯ ได้แก่ “บรรยากาศของชุมชน” รองลงมา คือ “อาหาร” และ “สินค้าชุมชน” ตามลำดับ

นางยุพา กล่าวต่อไปว่า สำหรับการจัดโครงการคัดเลือก 10 สุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ในปี 2564 และ 2565 รวม 20 ชุมชน นั้น ทำให้ระดับการพัฒนาของสุดยอดชุมชนต้นแบบฯ ทั้ง 20 ชุมชน มีแนวโน้มการเติบโตที่ดีขึ้น สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวชุมชน จากเดิมการก่อนได้รับคัดเลือก 133,033,148 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 311,659,739 บาท คิดเป็นร้อยละ 134.27 รายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (CPOT) เดิม 8,929,479 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 14,214,750 บาท คิดเป็นร้อยละ 59.19 จำนวนนักท่องเที่ยว เดิม 678,008 คน เพิ่มขึ้นเป็น 1,360,376 คน คิดเป็นร้อยละ 100.64 โดยเป็นการเปรียบเทียบจากข้อมูลรายได้ภายหลัง 1 ปี ของชุมชนที่ได้รับรางวัลสุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ปี 2564 และครึ่งปีของชุมชนที่ได้รับรางวัลสุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ปี 2565 นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามยังได้ให้ข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาให้ชุมชนเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่มีบรรยากาศของชุมชนมากขึ้น การเดินทางสะดวก ชุมชนแสดงออกถึงอัตลักษณ์ได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น

“ขณะนี้ วธ. กำลังคัดเลือก 10 สุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ทั่วทั้งประเทศ ทั้งนี้ วธ. จะมุ่งส่งเสริมพัฒนาสุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว
ที่มีบรรยากาศของชุมชน มีภูมิทัศน์น่าสนใจและรื่นรมย์ รวมถึงส่งเสริมให้ชุมชนนำอัตลักษณ์และทุนทางวัฒนธรรมของชุมชน มาพัฒนาเป็นจุดขายแก่นักท่องเที่ยวมากขึ้น เน้นให้ความสำคัญในเรื่องการเดินทางสะดวกเข้าถึงได้ง่าย เพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน พร้อมด้วยการจัดพิธีมอบโล่เชิดชูเกียรติจากนายกรัฐมนตรี เป็นการการันตีชุมชนที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง และทำให้มีผู้มาเยือนเพิ่มมากขึ้น” ปลัด วธ.กล่าว

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงวัฒนธรรม

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News