วันที่ 3 กรกฎาคม 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีที่ได้ทราบว่า 13 มหาวิทยาลัยของไทยได้รับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลก ประจำปี 2567 (QS World University Rankings 2024) จากรายงานการจัดอันดับของ Quacquarelli Symonds (QS) สถาบันชั้นนำระดับโลกด้านการวิเคราะห์สถาบันอุดมศึกษา (https://www.topuniversities.com/university-rankings/world-university-rankings/2024) โดยคัดเลือกสถาบันอุดมศึกษากว่า 1,500 แห่ง จาก 104 ประเทศทั่วโลก มาวิเคราะห์และจัดอันดับตาม 9 เกณฑ์ที่กำหนด สะท้อนพัฒนาการทางการศึกษาไทย ยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศสู่ระดับสากล

 
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รายงานการจัดอันดับดังกล่าวเป็นการรายงานต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ซึ่งปี 2566 นี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 20 โดยกำหนดเกณฑ์การให้คะแนนทั้งหมด 9 เกณฑ์ ได้แก่ 
1. ความมีชื่อเสียงทางด้านวิชาการ (Academic Reputation) 
2. ทัศนคติของผู้จ้างงานต่อบัณฑิต (Employer Reputation) 
3. สัดส่วนจำนวนอาจารย์ต่อนักศึกษา (Faculty Student Ratio) 
4. การอ้างอิงผลงานทางวิชาการ (Citations per Faculty) 
5. สัดส่วนจำนวนอาจารย์ชาวต่างชาติ (International Faculty Ratio) 
6. สัดส่วนจำนวนนักศึกษาชาวต่างชาติ (International Student Ratio) 
7. เครือข่ายด้านการวิจัยระหว่างประเทศ (International Research Network) 
8. ผลลัพธ์ด้านการจ้างงานบัณฑิต (Employment Outcomes) และ 
9. การสนับสนุนความยั่งยืน (Sustainability) รวมทั้งวิเคราะห์เอกสาร งานวิจัยทางวิชาการ และรวบรวมความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญจากคณาจารย์และนายจ้าง  
 
โดยมหาวิทยาลัยของไทยได้รับการคัดเลือกทั้งหมด 13 แห่ง ได้แก่ 
  • จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
  • มหาวิทยาลัยมหิดล 
  • มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 
  • มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 
  • มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 
  • มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 
  • มหาวิทยาลัยขอนแก่น 
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ 
  • สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 
  • มหาวิทยาลัยนเรศวร 
  • มหาวิทยาลัยศิลปากร และ
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
 
“นายกรัฐมนตรียินดีกับชื่อเสียง และพัฒนาการของสถาบันอุดมศึกษาไทยที่มีอย่างต่อเนื่อง สามารถส่งเสริม และพัฒนาบุคลากร และผลงานทางวิชาการต่าง ๆ ให้มีมาตรฐาน ได้รับการยอมรับในระดับสากล โดยรัฐบาลพร้อมที่จะสนับสนุนการศึกษาไทยให้ครอบคลุมทุกมิติ สร้างระบบการศึกษาที่มีความยืดหยุ่น สอดรับกับความต้องการของผู้เรียน รวมทั้งต้องเท่าทันกับบริบททั่วโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพื่อการสร้างบุคลากรในฐานะทรัพยากรมนุษย์ที่จะเติบโตเป็นอนาคตของประเทศชาติต่อไป” นายอนุชาฯ กล่าว
 
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME