Categories
FEATURED NEWS

ในหลวง – พระราชินี พระราชทานบัตรพระราชทานพรปีใหม่ 2567 แก่ปวงชนชาวไทย

 
วันที่ 31 ธันวาคม 2566 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชทานพรเนื่องในวาระขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2567 เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่ปวงชนชาวไทย ความว่า “ในโอกาสขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2567 นี้ ข้าพเจ้าขอส่งความสุขและความปรารถนาดีมายังท่านทั้งหลายโดยทั่วกัน ในรอบปีที่ล่วงแล้ว มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นในบ้านเมืองเราหลายอย่างดังที่ท่านทั้งหลายก็คงทราบกันเป็นอย่างดีแล้ว 
 
เรื่องหนึ่งที่ควรกล่าวถึงก็คือ ได้มีการประกาศให้วันที่ 13 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นวันนวมินทรมหาราช และได้มีพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ ณ อุทยานเฉลิมพระเกียรติ เมื่อวันที่ 13 ตุลาคมที่ผ่านมา มีประชาชนไปร่วมงาน ร่วมถวายราชสักการะ และร่วมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณเป็นจำนวนมาก
 

ทั้งยังมีเรื่องที่น่ายินดี คือ เมืองโบราณศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้รับการขึ้นทะเบียนโดยองค์การเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม นำความปลาบปลื้มใจมาสู่เราทุกคนโดยถ้วนหน้ากัน

การที่บ้านเมืองเราดำรงมั่นคงและมีเกียรติยศศักดิ์ศรีเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศชาติจวบจนทุกวันนี้ ก็ด้วยเราทุกคนต่างร่วมแรงร่วมใจกันบำเพ็ญความดีและมุ่งประโยชน์ของส่วนรวมมาโดยตลอด ดั่งเช่น โครงการต่างๆ ที่จัดตั้งขึ้น เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนก็เป็นการทำงานร่วมกันของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ทำให้ประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ

นอกจากนี้ ทุกคนยังช่วยกันสืบสาน รักษา ต่อยอด วัฒนธรรมอันดีงามของไทย โดยเต็มกำลังความสามารถ ด้วยเห็นได้ชัดเจนจากการจัดแสดงโขนของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างดงาม

ในปีใหม่นี้ ข้าพเจ้าจึงใคร่ขอให้ทุกท่านร่วมมือร่วมใจกันอย่างมั่นคงแน่วแน่ และหากมีอุปสรรคปัญหาใดๆ เกิดขึ้น ก็เผชิญปัญหาอย่างผู้มีสติมีปัญญา และร่วมกันคิดอ่านปฏิบัติแก้ไขด้วยเหตุผล ด้วยหลักวิชา และด้วยความบริสุทธิ์จริงใจ รวมกำลังความรู้ความสามารถของทุกคนทุกฝ่าย มาใช้ให้ถูกต้องและเหมาะสม ทันต่อเหตุการณ์ ถ้าทุกคนร่วมแรงร่วมใจกันได้ดังนี้ ประเทศชาติของเราก็จะเจริญวัฒนาเป็นที่อยู่ที่อาศัยอันสงบร่มเย็นของเราทั้งหลายได้สืบไป

ขออานุภาพแห่งพระรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ท่านเคารพนับถือ พร้อมด้วยพระบารมีแห่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จงคุ้มครองรักษาทุกท่าน ให้ปราศจากทุกข์โศก โรคภัย ทุกๆ ประการ บันดาลให้มีกำลังกาย กำลังใจ กำลังปัญญา ประสบแต่สิ่งที่พึงปรารถนาตลอดศกหน้านี้และตลอดไป

ด้านหน้าของบัตรพระราชทานพรปีใหม่ มีตราประจำพระราชวงศ์จักรีอยู่กึ่งกลาง ด้านล่างเป็นตราพระปรมาภิไธย ว.ป.ร. และตราพระนามาภิไธย ส.ท.

เมื่อเปิดบัตรพระราชทานพร ด้านขวา มีพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงฉายกับสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ใต้พระบรมฉายาลักษณ์ระบุพระปรมาภิไธย “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” และพระนามาภิไธย “สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี” ส่วนด้านซ้ายของบัตรพระราชทานพร มีข้อความว่า “พระราชทานพรปีใหม่ พ.ศ.๒๕๖๗ พร้อมทั้งทรงลงพระปรมาภิไธย และพระนามาภิไธย

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักพระราชวัง

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
AROUND CHIANG RAI NEWS UPDATE

7 วันอันตรายเชียงราย สังเวยแล้ว 2 ราย อุบัติเหตุ 9 ครั้ง เจ็บ รวม 7 คน

 

เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 66 นายครรชิต ชมภูแดง หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงราย เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2567 จังหวัดเชียงราย ณ ห้องประชุมอูหลง ศาลากลางจังหวัดเชียงราย พร้อมคณะกรรมการศูนย์ฯ เข้าร่วมประชุม และประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ณ ห้องประชุม 1 ปภ. อาคาร 3 ชั้น 5 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผ่านจอภาพ (Video Conference) พร้อมกันทั่วประเทศ 

 

โดยมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” รมว.กระทรวงยุติธรรม เป็นประธานเพื่อติดตามข้อสั่งการ และสรุปยอดผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนนเพื่อนำมาวิเคราะห์หาสาเหตุในการวางมาตรการป้องกันเเละลดอุบัติเหตุ ในที่ประชุมคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 ข้อมูลประจำปวันที่ 30 ธันวาคม 2566 ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงแนวทางในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตามบริบทแต่ละพื้นที่ 

 

โดยขอให้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัด ประสานศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนอำเภอ และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีการรายงานข้อมูลด่านชุมชนเพื่อให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป และให้จังหวัดเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายตาม 10 รสขม มาตรการหลักและให้ด่านชุมชนตรวจสอบพฤติกรรมการขับขี่ที่ผิดและฝ่าฝืนกฎหมายโดยให้คำแนะนำและห้ามปราม หากฝ่าฝืนประสานตำรวจบังคับใช้กฎหมายดำเนินคดีทันที พบว่าไม่สวมหมวกนิรภัย 488 ราย ไม่มีใบขับขี่ 224 ราย ดื่มแล้วขับ 87 ราย ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย 8 ราย

 

 

สรุปข้อมูลจากศูนย์ปฏิบัติการร่วมป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2567 จังหวัดเชียงราย ของวันที่ 30 ธ.ค. 66 มีอุบัติเหตุทางถนนในจังหวัดเชียงรายเกิดขึ้นรวม 9 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ (Admit) รวม 7 คน เป็นเพศชาย 6 คน เพศหญิง 1 คน มีผู้เสียชีวิต 2 ราย เป็นเพศชาย 2 ราย สาเหตุเกิดจากขับรถเร็วเกินกำหนด ดื่มแล้วขับ ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดได้แก่ รถจักรยานยนต์ โดยจังหวัดเชียงรายได้บูรณาการร่วมในการรณรงค์ลดอุบัติเหตุทางถนน ได้มีการตั้งจุดตรวจหลักทั้งหมดรวม 35 จุดตรวจ และจุดบริการหน่วยงาน / อปท. มีผู้ปฏิบัติหน้าที่ จำนวน 1,119 คน
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงราย 

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
LIFESTYLE

#ฅนเจียงฮาย EP.04 : ไม่ได้อยากเปลี่ยนคนอื่น อยากเปลี่ยนตัวเอง เพื่อให้อยู่รอดในทุกสถานการณ์

 
คอลัมน์ #ฅนเจียงฮาย EP.03 : ไม่ได้อยากเปลี่ยนคนอื่น อยากเปลี่ยนตัวเอง เพื่อให้อยู่รอดในทุกสถานการณ์
 
ฅนเจียงฮาย : ชิงชิง สาวอาข่า วัย 22 ปี
 
เป็นใครมาจากไหน เล่าให้ฟังหน่อย? : ชื่อชิงชิง เป็นกลุ่มชาติพันธุ์อาข่า อายุ 22 ปีค่ะ อยู่ที่บ้านห้วยไร่ ตำบลห้วยไคร้ แล้วก็เคยเรียนที่โรงเรียนแม่จันวิทยาคมมาค่ะ หลังจากนั้นก็มาเรียนที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงราย ที่ตัวเมืองเชียงรายค่ะ อยากเรียนสายอาชีพ ก็เลยลงมาในเมืองเชียงรายตัวคนเดียวค่ะ แล้วก็มาพักอยู่หอใกล้กับที่เรียนเพราะว่าไม่อยากเดินทางไกล ค่าใช้จ่ายมันจะได้ลดน้อยลงค่ะ แล้วช่วงตอนเย็น ๆ ก็มาหางานพาร์ทไทม์ทําที่นี่ค่ะ
 
ถามถึงเรื่องเรียน เลือกเรียนเกี่ยวกับอะไรบ้างตอนนี้? : เรียนสาขาท่องเที่ยวค่ะ ตอนนี้เรียนระดับปริญญาตรี ปีหนึ่ง แต่ถ้าเทียบเท่าก็คือปริญญาตรีปีสองค่ะ เพราะว่าหนูจบปวส.มาแล้ว
 
 
ทําไมถึงเลือกเรียนท่องเที่ยว? : ที่จริงเรื่องเลือกเรียนการท่องเที่ยวคือหนูไม่ได้ชอบขนาดนั้น แต่ว่าสาขานี้ได้ตรงกับการเรียนเรื่องภาษามากที่สุด ก็เลยเลือกเรียนสาขาการท่องเที่ยวค่ะ
 
ทําไมถึงชอบเรื่องของภาษาเป็นพิเศษ? : รู้สึกว่าเข้าใจง่าย เหมือนกับว่าตัวเราชอบ แล้วถ้าศึกษาหรือพยายามอีกนิดก็น่าจะประสบความสำเร็จได้ดีเลยค่ะ เพราะว่าตัวเองถนัดเรื่องภาษามากกว่าเรื่องอื่น ๆ ส่วนตัวชอบภาษาจีน ตอนที่อยู่ที่บ้านก็เรียนโรงเรียนจีน
 
ครอบครัวว่ายังไงบ้างที่เราชอบเรื่องภาษาเป็นพิเศษ? : ครอบครัวก็คือสนับสนุนเลย เขาอยากให้หนูเรียนหนังสือให้จบ คือครอบครัวหนูมี 3 คนพี่น้อง และหนูเป็นพี่คนโต แล้วตัวหนูเองก็รู้สึกว่า ยังไงหนูก็ต้องเรียนให้จบ เพราะในประเทศไทยการศึกษาสำคัญจริง ๆ และหนูก็รู้สึกว่าใบจบก็สําคัญในการยื่นเพื่อทํางาน ฐานเงินเดือนมันก็จะได้ดีขึ้น คงจะมีโอกาสมากกว่าค่ะ
 
 
อาชีพที่ใฝ่ฝัน สิ่งที่อยากทําที่สุด? : ตอนแรกคือหนูอยากเป็นหมอ แต่รู้สึกว่าพอเริ่มโตขึ้นความคิดมันก็ค่อย ๆ เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ จนตอนนี้ยังไม่รู้เลยว่าจะทําอะไร แค่รู้สึกว่าต้องเรียนให้จบ แล้วก็ทําในสาขาที่เรียนจบมาสัก 2-3 ปีเพื่อเก็บเงินก่อน แล้วก็ค่อยหาว่าตัวเองชอบอะไร
 
การมาทํางานพาร์ทไทม์นอกจากได้รายได้พิเศษแล้วเราได้อะไรเพิ่ม ประสบการณ์ หรือทัศนคติใหม่? : ได้รู้ว่าการเอาตัวรอดเป็นสิ่งสําคัญค่ะ เรารู้สึกว่าเราไม่ควรไว้ใจคนอื่นมากเกินไป แม้แต่ตัวเราเอง เพราะสุดท้ายแล้วมันอาจจะไม่ใช่อย่างที่เราคิดค่ะ แล้วก็แบบเหมือนเราต้องเอาตัวรอดอยู่ทุกวันนะคะ การซื่อสัตย์มากเกินไปบางทีก็โดนเอาเปรียบค่ะ
 
สิ่งที่อยากเปลี่ยนมากที่สุด? : ส่วนตัวไม่ได้อยากเปลี่ยนคนอื่น อยากเปลี่ยนตัวเอง เพื่อให้อยู่รอดในทุกสถานการณ์ บนโลกใบนี้มันไม่มีอะไรที่สมบูรณ์แบบอยู่แล้ว ช่วงนี้หนูรู้สึกไม่ค่อยขยันเลยค่ะ คือหนูมีเป้าหมายแบบนั้น แบบนี้ หนึ่งสองสามสี่ วางแผนไว้หมด แต่ความไม่ค่อยขยันมันเข้ามาครอบงํา หนูอยากมีวินัยมากขึ้นกว่านี้ เพื่อที่จะทําให้เป้าหมายของตัวเองสําเร็จ เพราะการที่เราจะทําอะไรให้สําเร็จมันไม่ใช่แค่ฝันแบบลม ๆ แล้ง ๆ ไปวัน ๆ เราต้องเราต้องมีแผน ต้องมีความมุ่งมั่น หนูเลยรู้สึกว่า หนูอยากเปลี่ยนตรงจุดนี้ค่ะ
 
ฅนเดินเรื่องโดย : “ชิงชิง” สาวอาข่า วัย 22 ปี
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : อบจ.เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
LIFESTYLE

#ฅนเจียงฮาย EP.03 : ค่าของความสุข คือได้ทำงานที่ชอบ และอยู่ในเมืองที่ใช่

 
คอลัมน์ #ฅนเจียงฮาย EP.03 : ค่าของความสุข คือได้ทำงานที่ชอบ และอยู่ในเมืองที่ใช่
 
ฅนเจียงฮาย : @JAck Teerasak
เป็นใครมาจากไหน เล่าให้ฟังหน่อย? : ชื่อเล่นชื่อแจ๊คครับ ทำงานประชาสัมพันธ์ อบจ.เชียงรายครับ จบจากมหาวิทยาลัยนเรศวร คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
 
ผมเคยอยู่จังหวัดตาก ทํางานประชาสัมพันธ์จังหวัดตาก เป็นจังหวัดเล็ก ๆ เราก็เลยมองหาโอกาสที่จังหวัดใหญ่เพื่อที่จะได้มามาหาประสบการณ์เพิ่มเติม เลยมาสมัครงานที่ อบจ.เชียงราย ในตําแหน่งผู้ช่วยนักประชาสัมพันธ์ครับ
 
 
เมื่อก่อนเคยทํางานอยู่ที่สนามบิน ทําได้ประมาณสองเดือนแล้วรู้สึกว่าร่างกายมันไม่ไหวก็เลยออกมาช่วยที่บ้านทํากิจการธุรกิจส่วนตัว แต่ว่าคุณตารับราชการ เขาก็อยากให้เราทําราชการก็เลยสอบเข้ามาในวงการราชการ
 
อาชีพที่ใฝ่ฝัน อยากทำที่สุด? : เอาจริง ๆ ความฝันของเราคือถ้าเราอยากทําอะไรก็จะเรียนตรงสายเลย แบบถ้าอยากเข้าสายนี้เพื่อจะต่ออันนี้เราก็อยากเป็นนัก PR เราจะไม่ไปออกาไนซ์ เคยไปลองแล้วแต่มันก็หนักไป ก็เลยมาสายราชการแล้วมันแล้วมันดูมีวันหยุด แต่ว่ารายได้ก็อาจจะไม่ได้เยอะมาก แต่สวัสดิการดี อะไรดี แล้วเราก็ค่อยไปสอบเพิ่มเติม
 
อยากมาอยู่ทางเหนือครับ อากาศดี แล้วก็เมืองไม่เล็กไม่ใหญ่กําลังกําลังดี ถ้าเป็นเชียงใหม่อาจจะวุ่นวายไป
แต่ที่เชียงรายกําลังดี ถ้ามีโอกาสสอบบรรจุได้เป็นบรรจุที่ไหนก็ไปก่อน แต่สุดท้ายก็อยากจะกลับมาอยู่ที่เชียงรายเนี่ยแหละครับ
 
 
ชอบอะไรใน จ.เชียงราย? : ชอบในตัวเมือง ชอบบรรยากาศ ชอบวัฒนธรรม ชอบชีวิตความเป็นอยู่ที่ไม่วุ่นวายเท่าเชียงใหม่ครับ เคยมาเที่ยวเชียงรายตอนเด็ก ๆ ครั้งสองครั้ง แล้วก็มีญาติอยู่พะเยา แล้วก็เรามาเที่ยวพะเยาบ่อยเขาก็จะพามาเชียงราย ก็เลยรู้สึกว่าเป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่น่าสนใจ ตอนนี้อยู่ที่นี่ 7 ปีเข้าปีที่ 8 แล้ว
 
ถ้าถามถึงสิ่งที่อยากเปลี่ยนมากที่สุด? : อยากเปลี่ยนทัศนคติของผู้ใหญ่กับเด็กครับ เพราะว่าเดี๋ยวนี้โลกเราพัฒนาไปไกล สังคมค่อนข้างเปิดกว้างครับ แต่ว่าความคิดของผู้ใหญ่ส่วนมาก ก็ยังติดอยู่กับแบบเดิม บางทีเด็กแสดงความคิดเห็น ก็จะกลายเป็นเถียงผู้ใหญ่ไปครับ เลยอยากให้มีการปรับจูนกันตรงนี้มากกว่า เพื่อที่คนสองวัยจะได้เข้าใจกัน แล้ช่องว่างระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ก็จะน้อยลง ทำให้ได้ใกล้กันมากขึ้นด้วยครับ
 
ฅนเดินเรื่องโดย : “แจ๊ค” – ผู้ช่วยนักประชาสัมพันธ์
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : อบจ.เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

นักท่องเที่ยวคึกคัก ‘ตักบาตรดอกไม้’ อัญเชิญพระพุทธรูป 9 องค์ หนึ่งเดียวในล้านนานักท่องเที่ยวคึกคัก ‘ตักบาตรดอกไม้’

 
เมื่อบ่ายวันศุกร์ที่  29 ธ.ค. 66 ที่ผ่านมา ที่บริเวณสวนตุงและโคมนครเชียงราย ถนนธนาลัย ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานฝ่ายฆราวาส และพระพุทธิญาณมุนี เจ้าคณะจังหวัดเชียงราย เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ในพิธีตักบาตรดอกไม้ หนึ่งเดียวในล้านนา
 
โดยมี นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัด ดร.วันชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย นางรัตนา จงสุทธานามณี ที่ปรึกษา รองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรม เวชยชัย ) และ นายกสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดเชียงราย นำชาวเชียงรายเเละ นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศร่วมกันตักบาตรดอกไม้ หนึ่งเดียวในล้านนา ซึ่งมีขบวนฟ้อนเชียงรายจากนักเรียนโรงเรียนในสังกัดเทศบาลนครเชียงราย
 
ซึ่งเทศบาลนครเชียงรายได้จัดให้มีงานเชียงรายดอกไม้งาม ปีที่ 20 ณ บริเวณสวนตุงและโคมนครเชียงราย ในระหว่างวันที่ 28 ธันวาคม 2566 ถึง 15 มกราคม 2567 นี้ โดยมีการอัญเชิญพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ 9 องค์จาก 9 วัดในอำเภอเมืองเชียงราย ประดิษฐานบนรถบุษบก 9 คัน เคลื่อนไปตามถนนธนาลัย เพื่อให้ประชาชนและนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ได้ร่วมกันนมัสการและร่วมตักบาตรดอกไม้เพื่อความเป็นสิริมงคลจากนั้น พระสงฆ์และสามเณรออกรับบิณฑบาตรดอกไม้ โดยพร้อมเพียงกัน 
 
มีประชาชนออกมาร่วมทำบุญใส่บาตรด้วยดอกไม้ ร่วมกันอย่างคับคั่ง ซึ่งสร้างความประทับใจให้นักผู้ร่วมทำบุญตักบาตรอย่างมาก เพราะราชรถแต่ละคันมีความสวยที่ไม่ซ้ำกัน และสร้างโดยศิลปินแต่ละจังหวัด ใช้ระยะเวลาสร้าง 9 ปี โดยในหนึ่งปีจะนำออกให้ประชาชนและนักนักท่องเที่ยวได้ชมในการร่วมพิธีที่สำคัญเพียง 2 ครั้งเท่านั้น คือ ตักบาตรดอกไม้และตักบาตรวันขึ้นปีใหม่เท่านั้น
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

พิธีต่อไฟพระฤกษ์ประทานจากสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

 

พิธีต่อไฟพระฤกษ์ประทานจากสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกในกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี เสริมสิริมงคลทั่วไทย ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับศักราชใหม่ 2567 นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย เป็นประธานในพิธีฯ จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย และเปิดกรวยดอกไม้ธูปเทียนแพ ถวายสักการะเบื้องหน้าพระรูปสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

 

นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย และ นายโสไกร ใจหมั้น ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเชียงราย ถวายไฟพระฤกษ์ประทานของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก และน้ำพระพุทธมนต์ แด่เจ้าคณะจังหวัดเชียงราย (มหานิกาย และธรรมยุติกนิกาย)

 

พระพุทธิญาณมุนี (ประเสริญ ปญฺญาวชิโร) เจ้าคณะจังหวัดเชียงราย (มหานิกาย) เจ้าอาวาสวัดพระธาตุผาเงา อำเภอเชียงแสน พร้อมด้วย พระสิริวัฒโนดม วิ. (สุขเลิศ กนฺตธมฺโม) เจ้าคณะจังหวัดเชียงราย (ธรรมยุติกนิกาย) เจ้าอาวาสวัดบ้านเหล่า (ธ) อำเภอเวียงเชียงรุ้ง จุดไฟพระฤกษ์ประทานฯ และดำเนินพิธีต่อไฟพระฤกษ์ประทานฯ แก่เจ้าอาวาสพระอารามหลวง และเจ้าคณะอำเภอทุกอำเภอ ทั้ง 2 นิกาย ในโอกาสมงคลนี้ เจ้าคณะจังหวัดเชียงราย ทั้ง 2 นิกาย เมตตากล่าวสัมโมทนียกถา

 

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ประทานไฟพระฤกษ์แด่ กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม นำไปถวายเจ้าคณะจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อจุดเทียนมงคลในพิธีสวดมนต์ข้ามปี เสริมสิริมงคลทั่วไทย ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับศักราชใหม่ 2567 อันเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจแก่พุทธศาสนิกชนที่เข้าร่วมกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีของแต่ละวัดในคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2566 และเป็นสิริมงคลยิ่งของการเข้าสู่ศักราชใหม่ ดังนั้น สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย จึงได้ดำเนินการจัดพิธีต่อไฟพระฤกษ์ประทานฯ ในวันศุกร์ที่ 29 ธันวาคม 2566 เวลา 14.30 – 16.00 น. ณ อุโบสถวัดพระสิงห์ พระอารามหลวง ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย

 

ในการนี้ นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย นำข้าราชการและบุคลากรสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย ประกอบด้วย นางพัชรนันท์ แก้วจินดา ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม นางพรทิวา ขันธมาลา ผู้อำนวยการกลุ่มยุทธศาสตร์และเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม นายภัทรพงษ์ มะโนวัน หัวหน้ากลุ่มพิธีการศพที่ได้รับพระราชทาน นายพิพัฒน์ สุ่มมาตย์ นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ นางสุพรรณี เตชะตน นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ นายสุพจน์ ทนทาน นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ และนายอภิชาต กันธิยะเขียว นักวิชาการวัฒนธรรมปฏิบัติการ และเจ้าหน้าที่กลุ่มพิธีฯ ดำเนินการจัดพิธีฯ ดังกล่าว พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกแด่คณะสงฆ์

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สนง.วัฒนธรรม เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI TRAVEL

ท่องเที่ยวชุมชน ยลวิถี ประเพณีกราบพระใหญ่ เสริมราศี ชม! ชิม ช็อป ของดีบ้านป่าตาลประชาสันติ“

 

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 ธันวาคม 2566 เวลา 17.00 น. นายก นก อทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “ท่องเที่ยวชุมชน ยลวิถี ประเพณีกราบพระใหญ่ เสริมราศี ชม! ชิม ช็อป ของดีบ้านป่าตาลประชาสันติ” พร้อมด้วย นายชัยสิทธิ์ ชัยเนตร เลขานุการนายก อบจ.เชียงราย ณ สนามกีฬากลางบ้านป่าตาลประชาสันติ โดยมี นายจำนงค์ มินทขัติ นายกเทศมนตรีตำบลป่าตาล กล่าวรายงาน นายธราวุธ วรรณสอน กำนัน ต.ป่าตาล นายเจริญ ตระการฤทธิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิกองทุนหมู่บ้านระดับภาคเหนือ หัวหน้าส่วนราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะผู้บริหารเทศบาลตำบลป่าตาล สมาชิกสภาเทศบาล ผู้นำท้องถิ่น กลุ่มพัฒนาสตรี กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่ม อสม. ต.ป่าตาล ร่วมพิธีเปิดในครั้งนี้ด้วย

 

ซึ่งงานนี้ ได้จัดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสแก่ชุมชน อื่นๆ และหน่วยงานราชการได้มาเรียนรู้ ศึกษาดูงาน ด้านการเกษตรและสัมผัสวิถีชีวิตชุมชนและวัฒนธรรมชุมชนที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นโดยมีแหล่งท่องเที่ยว แหล่งเรียนรู้ที่น่าสนใจ เช่น ฟาร์มแพะเนื้อส่งออก สวนเกษตรมะละกอฮอแลนด์ สวนเกษตรขนุนทองประเสริฐ ฟาร์มควายเผือก ความสวยงามด้านวัฒนธรรม จะได้ศึกษาเรียนรู้ในอุทยานศูนย์เรียนรู้ป่าชุมชน วัดสันหนองบัว และกราบนมัสการพระใหญ่ “พระพุทธปัญญาภิรมย์” อีกทั้งในชุมชนยังมีบริการบ้านพักโฮมสเตย์ 15 หลัง มีข่วงวัฒนธรรมแสดงอัตลักษณ์ของชุมชน จึงเชื่อมั่นว่าในอนาคตบ้านป่าตาลประชาสันติจะเป็นหมู่บ้านที่เชื่อมเครือข่ายการท่องเที่ยวของชุมชนต่อไป
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : อบจ.เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI TRAVEL

“ตามรอยศรัทธา ไหว้สา คุ้มพญามังราย” เปิดงานมหกรรมไม้ดอกอาเซียน อ.พญาเม็งราย

 

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 ธันวาคม 2566 เวลา 18.00 น. นายก นก อทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย เปิดงานมหกรรมไม้ดอกอาเซียนเชียงราย (โซนอำเภอพญาเม็งราย) “ตามรอยศรัทธา ไหว้สา คุ้มพญามังราย” ณ หนองโป่ง ต.แม่เปา อ.พญาเม็งราย โดยมีนายนิคม ยะป๊อก ส.อบจ.เชียงราย อ.พญาเม็งราย เขต 1 เป็นผู้กล่าวรายงาน และ นายรามิล พัฒนมงคลเชฐ ปลัด อบจ.เชียงราย นายญาณาฤทธิ์ หนสมสุข รองปลัด อบจ.เชียงราย นายชัยสิทธิ์ ชัยเนตร เลขานุการนายก อบจ.เชียงราย นายฑราวุธ กันทะเขียว ส.อบจ.เชียงราย อ.ขุนตาล เขต 1 หัวหน้าส่วนราชการ อบจ.เชียงราย เข้าร่วมพิธีเปิดในครั้งนี้ด้วย

 

ทั้งนี้ยังได้รับเกียรติจากนายชูสวัสดิ์ สวัสดี นายอำเภอพญาเม็งราย นายอานุภาพ กิตติวารา ปลัดอำเภอหัวหน้ากลุ่มงานบริหารงานปกครอง พ.ต.อ.สุทีป แสงนัยนา ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรพญาเม็งราย พ.ต.ปิยะ สิทธิฤๅชัย สัสดี อ.พญาเม็งราย นายสุรชัย พิชคา สาธารณสุข อ.พญาเม็งราย นายอุดม พรมจันทร์ตา เกษตร อ.พญาเม็งราย นางโสภิชา หงส์คำ พัฒนาการ อ.พญาเม็งราย ผู้นำท้องถิ่นและประชาชนในพื้นที่ ร่วมให้การต้อนรับ
 
 
โครงการนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นการกระจายรายได้ไปสู่ชุมชน และเพื่อ พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ในจังหวัดเชียงรายให้เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวในการที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวจุดที่สวยงามของจังหวัดเชียงรายที่มีอยู่มากมาย อีกทั้งเป็นการกระจายรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่อำเภอพญาเม็งราย ที่จะมีรายได้จากการมาเที่ยวชมของนักท่องเที่ยว ทั้งจากการให้บริการที่พัก ร้านอาหาร
 
 
ทั้งนี้ มหกรรมไม้ดอกอาเซียนเชียงราย (โซนอำเภอพญาเม็งราย) “ตามรอยศรัทธา ไหว้สา คุ้มพญามังราย” วันที่ 28 ธันวาคม 2566 – 2 มกราคม 2567 ณ หนองโป่ง ตำบลแม่เปา และคุ้มพญามังราย ตำบลเม็งราย
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : อบจ.เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
LIFESTYLE

#ฅนเจียงฮาย EP.02 : เมื่อยิ่งพยายามหนีห่างจากเสียงดนตรี เหมือนยิ่งใกล้มันไปเรื่อย ๆ

 
 

คอลัมน์ #ฅนเจียงฮาย EP.02 : เมื่อยิ่งพยายามหนีห่างจากเสียงดนตรี เหมือนยิ่งใกล้มันไปเรื่อย ๆ

 
ฅนเจียงฮาย : Luis Phanpum
 
เป็นใครมาจากไหน เล่าให้ฟังหน่อย? : จริง ๆ ผมเรียนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เกิดที่จังหวัดนนทบุรีเติบโตที่นู่นแล้วก็กลับมาอยู่จังหวัดเชียงรายได้สัก 4 ปีครับ มัธยมก็เรียนเตรียมอุดมศึกษาแม่เป็นคนที่นี่ (เชียงราย) แล้วก็มีญาติอยู่ที่นี่ครับ เล่นดนตรีมาตั้งแต่เรียนประถม แล้วก็หยุดเล่นตามภาษาเด็ก แล้วก็มาเล่นเป็นอาชีพจริง ๆ คือตอนที่มาอยู่เชียงราย ใช้หาเงินที่นี่ครับ
 
ก่อนหน้านี้ทำงานอะไรมาก่อน? : เคยทํางานตามสายงานอยู่ประมาณ 3-4 ปี เพราะเรียนจบสถาปัตย์ดีไซเนอร์ รับงานสถาปัตย์ ทำอินทีเรีย (interior) ตกแต่งภายใน ไม่ได้เล่นดนตรี ไม่ได้ร้องเพลงเลย ซึ่งทํางานเกี่ยวกับ 3D ทางสายวิชาชีพที่เรียนมา หลังจากนั้นผมก็ลาออกจากงาน ใช้ชีวิตต่ออีก 2-3 เดือน ที่กรุงเทพฯ ก็ใช้เงินที่มีอยู่เท่าที่เหลือตอนออกจากงานมา ก็ใช้ชีวิตไปเรื่อย ๆ ไม่ได้ทําอะไรให้เป็นประโยชน์อยู่อย่างนั้น
 
 
วันนึงตื่นขึ้นมาเราก็ไม่เข้าใจตัวเอง คนอื่นก็ไม่เข้าใจเรา แต่ว่าทางออกของเรา เราแค่รู้ว่าอยากไปลําบากนิดนึง อยากไปที่ ๆ ไม่มีใครรู้จักเราเยอะ ไปลองดูอะไรใหม่ ๆ ไม่ต้องเอาอะไรไปเยอะ ผมมาที่นี่ (เชียงราย) คิดง่าย ๆ ว่าเฮ้ย! ต้องมาที่เชียงรายแล้ว ก็คือเราคิดว่ามันน่าจะไม่ยากมากเพราะว่าเรามีญาติอยู่นี่ และรู้แค่ว่าแม่มาเที่ยวบ่อยปีละครั้ง สองครั้งอะไรอย่างนี้ เรารู้ว่าเรามาเที่ยวได้ก่อนแน่นอน
 
 
มาด้วยกระเป๋า ที่มีโน๊ตบุ๊ค กีต้าร์ กับมอเตอร์ไซค์ เอาไปใส่รถไฟที่หัวลําโพง ซื้อตั๋วลงที่เชียงใหม่ พอถึงแล้วก็ขี่จากเชียงใหม่มาเชียงราย จำได้ว่าลงจากรถไฟมาตี 3 ที่เชียงใหม่ ขับมอเตอร์ไซค์มาเรื่อย ๆ กว่าจะมาถึงเชียงรายก็ฟ้าขึ้นแล้วอะ ตาสว่างครับ ถึงที่นี่เช้าประมาณ 7 โมง 8 โมง แล้วก็ยังไม่คิดอะไรก็เที่ยวก่อนแล้วก็ไปบ้านยายที่ อ.เวียงชัย
 
 
แล้วเรื่องดนตรี? : ส่วนเรื่องดนตรีมันมาเริ่มต่อที่นี่ คือเราเล่นกีต้าร์เป็นอยู่แล้ว เราไม่ได้ร้องเพลงด้วย ก็ใช้เวลาสักพักนึง แล้วผมก็มารู้ว่าตัวเองชอบชากาแฟ และมีญาติที่นี่ก็ทําชาเราก็เห็นโซเชียล ก็เฮ้ยไปนี่ดีกว่าไปลองทําร้านชากาแฟ โดยร้านแรกที่ไปทำคือร้านสวรรค์บนดิน ทำปีกว่าก็ช่วงโควิดผมเลยออกมา แล้วก็เปลี่ยนร้านไปเรื่อย ๆ ครับ
 
 
มาเล่นดนตรีจริง ๆ จากพี่ที่เป็นลูกค้าที่ร้าน เขาจำเราได้จากโซเชียลรู้ว่าเราเป็นนักดนตรีประมาณนั้น เขาก็มีเถียง ๆ กันกับแฟนเขา เหมือนจำเราได้ ว่าแบบใช่ไม่ ใช่ไม่ใช่ อยู่แบบนั้น ตอนเรามาเสิร์ฟเขา คือครอบครัวผมเป็นครอบครัวนักดนตรีครับ ตอนที่พี่เขาทักคือเรารู้ว่าคงจะต้องเป็นคนที่รู้จักเราจริง ๆ ถึงจะรู้ว่าเราเป็นลูกใครอะไรประมาณนั้น คือปกติที่เคยเจอจะถูกทักว่าใช่ญาติของศิลปินคนนึงที่มีชื่อเสียงหรือเปล่า (ญาติคือ แมว จิรศักดิ์ ปานพุ่ม) แต่ว่าพี่คนนี้คือรู้จักพ่อผมเลย เพราะพ่อผมก็คือ “เล็ก ทีโบน” มือกลอง พ่อผมตีกลองประมาณนั้น ตอนนั้นผมก็เลยบอกว่าใช่ เขาก็เลยพามาที่นี่ ผมก็ถามว่าจําผมได้จากไหน เขาบอกพี่ไม่เล่นเฟซบุ๊กแต่เพื่อนเล่นและตีกลองรู้จักกับพ่อน้องในเฟซบุ๊ก แล้วก็เคยเห็นเอ็งกับพ่ออะเล่นดนตรีไปด้วยกัน ผมก็เลยแบบเฮ้ยเขาจําได้!
 
 
 
ผมก็เลยแบบเออโอเค ผมมาที่นี่ตอนแรกเล่นเพลงสากลอย่างเดียวเลย เมื่อก่อนร้านชื่อนอนนั่งเล่น ค่อย ๆ หัดมาเรื่อย ๆ ไม่ได้ร้องดีแบบนี้ตั้งแต่แรก ทุกวันนี้ก็ไม่ได้คิดว่าดีนะครับ แต่ตอนที่มาแจมคือแจมอาทิตย์ละหนึ่งครั้ง เรามาแบบ 3 -4 เพลง แล้วก็กินอะไรก่อนกลับบ้าน ไม่ได้เงินด้วย มาแจมทุกวันอังคาร มันเป็น activity ที่รู้สึกว่ามันเป็น activity ที่ดีอะ
 
เราพยายามหนีมัน (ดนตรี) ช่วงตอนเรียนสถาปัตย์ คือเราไปเรียนสถาปัตย์เพราะเราคิดว่ามันหาเงินง่าย แล้วก็หาเงินได้เร็ว เราคิดแค่ว่าเราไม่เก่งแบบพ่อเรา ต่อให้แบบพอเราตีกลอง เราไปเรียนกลองเลยวันนึงเราก็เจอแบบเอ้ย “ไม่เท่าพ่อหรอก” คือยังไงเราคงเห็นลูกหลานศิลปินดาราส่วนใหญ่ มีคํานี้ทุกคน คือมันอยู่ที่ว่าใครจะผ่านไปได้ใครจะผ่านไปไม่ได้
.
ถ้าแบบว่ามันต้องเป็นเงินเดือนแล้วนะ มันจะต้องเป็นเงินเท่าไหร่ มันได้กี่เดือน ก็จริง ๆ ถ้าทําแบบนั้นจริงจังประมาณปีเดียวครับ ปีเดียว แต่ถ้าเล่นมาเรื่อย ๆ โดยไม่เคยมานับเงินอยู่ 4 ปี กลางวันเรายังมีงานร้านกาแฟ แล้วก็ทํากลางวันเสร็จกลับบ้านเปลี่ยนชุดเล่นดนตรี
.
 
ถ้าถามถึงสิ่งที่อยากเปลี่ยนมากที่สุด? : ถ้าสิ่งที่อยากเปลี่ยนอย่างเดียว ที่มีผลถึงขนาดว่าแบบเกี่ยวกับวงการดนตรี ก็คงอยากให้ทุกคนเปลี่ยนเรื่องมุมมองการฟังเพลง เราเห็นว่านักท่องเที่ยวมาเชียงรายกันเยอะครับ แต่จริง ๆ แล้วเชียงรายถึงจะไม่ได้เที่ยวทั้งปี แต่มันมีหลายอย่างที่ผลักดันได้นะ เราก็มองเห็นว่ามุมมองการฟังเพลงมันยังไม่กว้างพอ ดนตรีทุกที่เลย มีร้านเยอะมาก เราแค่บอกว่าอยากให้ฟังดนตรีจริง ๆ ฟังสิ่งที่เราเรียบเรียงมา ไม่อยากให้ทุกคนมาเสียใจในสิ่งที่ขอเพลงนักร้องแล้วเขาเล่นไม่ได้ แล้วก็หายไป
 
ฅนเดินเรื่องโดย : “หลุยส์” – นักดนตรีกลางคืนร้านโรงสี เชียงราย
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI TRAVEL

เปิดยิ่งใหญ่ “เชียงรายดอกไม้งาม” ปีที่ 20 ซอฟต์พาวเวอร์ กระตุ้นเศรษฐกิจยาวข้ามปี

 
เมื่อช่วงค่ำวันที่ ( 28 ธ.ค. 66 ) ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานเปิด “เชียงรายดอกไม้งาม” ปีที่ 20 ณ สวนตุงและโคมเทศบาลนครเชียงราย โดย มี นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ว่าที่ ร.ต. ศราวุธ จันทวงค์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ดร.วันชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 นางรัตนา จงสุทธานามณี ที่ปรึกษา รองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรม เวชยชัย) และ นายกสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดเชียงราย ร.ต.อ.ดร.ธนรัช จงสุทธานามณี เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วยพี่น้องชาวเชียงรายและนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศร่วมในพิธีเปิด อย่างคับคั่ง
 
 
นางรัตนา จงสุทธานามณี ที่ปรึกษา รองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรม เวชยชัย) และ นายกสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้ อยู่ภายใต้แนวคิด “หยุดโลกไว้ตรงนี้ ที่เชียงราย” ซึ่งเป็นการรังสรรค์ความงดงามของสวนดอกไม้งาม สวยงามมากที่สุดจึงอยากหยุดทุกอย่างไว้ที่เชียงราย เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่มาเยือน และชาวเชียงรายได้ชื่นชม เพิ่มสีสัน และเสน่ห์ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมเกษตรกรชาวสวนดอกไม้ เสริมสร้างรายได้กระตุ้นเศรษฐกิจ และเป็นการประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย โดยการนำดอกไม้มาเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะดอกทิวลิป ลิลลี่ ที่ไม่ต้องเดินทางไปชมถึงต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นซอฟต์พาวเวอร์ ที่ยิ่งใหญ่ของจังหวัดเชียงรายอีกหนึ่งสิ่ง
 
 
ทางด้าน ดร.วันชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย กล่าวว่า “เชียงรายดอกไม้งาม” ปีที่ 20 ถือว่าเป็นปีที่เทศบาลนครเชียงราย มีความตั้งใจที่จะเพิ่มพื้นที่สีสันความสวยงามให้อยู่กลางใจเมือง และเป็นห้องรับแขกของจังหวัดเชียงรายในการต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งประเทศไทยและต่างประเทศเดินทางมาเยือนในช่วงของฤดูหนาวและงานจะจัดไปจนถึง 15 มกราคม 2567 จึงขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวจังหวัดเชียงรายในช่วงของฤดูหนาวนี้
 
 
ด้าน ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ต้องขอขอบคุณทางเทศบาลนครเชียงราย ที่จัดงานเชียงรายดอกไม้งามเสมือนเป็นพื้นที่แห่งการท่องเที่ยวกลางเมือง และจัดมาอย่างต่อเนื่องจนถึง 20 ปี และจากที่ได้เดินชมสวนดอกไม้ ต้องยอมรับว่า มีความสวยงาม กลมกลืนกับสภาพอากาศที่หนาวเย็น จึงอยากให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวกันให้มากๆ และต้องยอมรับว่าการจัดงานเชียงรายดอกไม้งามจะเป็นซอร์ฟพาวเวอร์อย่างแท้จริง จนนำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงราย
 
 
“เชียงรายดอกไม้งาม ปีที่ 20” เทศบาลนครเชียงราย จัดขึ้นในระหว่าง 28 ธันวาคม 2566 ไปจนถึง 15 มกราคม2567 โดยได้เนรมิตพื้นที่สวนตุงและโคมฯ ทั้งหมด เป็นอุทยานไม้ดอกเมืองหนาวกลางแจ้งที่สวยงาม โดยเฉพาะราชินีแห่งไม้ดอกเมืองหนาว ดอกทิวลิป และลิลลี่ เป็นไฮไลท์สำคัญ รวมถึงดอกไม้ชนิดพิเศษที่หาชมได้ยาก และพันธุ์ไม้ดอกเมืองหนาว ที่หาชมได้ยาก นับล้านดอก และปีนี้จะยิ่งใหญ่และสวยงามกว่าทุกปี ภายใต้แนวคิด “หยุดโลกไว้ตรงนี้ ที่เชียงราย”
 
 
นอกจากนี้ยังมี ดนตรีในสวน Music in the park ในทุกวันเสาร์ โดยจะเริ่มเสาร์ ที่ 30 ธันวาคม 2566 ไปจนถึงเสาร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2567 ทั้งนี้ ในวันที่ 29 ธันวาคม 2566 ยังมีพิธีอัญเชิญพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์แวดเวียงเจียงฮาย และตักบาตรดอกไม้ โดยกายรอัญเชิญพระพุทธรูปเก่าแก่จากวัดต่างๆ ในจังหวัดเชียงราย จาก 8 วัด มาประดิษฐานบนราชรถศิลปะล้านนาที่งดงาม ที่ทางเทศบาลนครเชียงรายจัดสร้างขึ้นจำนวน 9 คัน ให้ประชาชนกราบไหว้สักระบูชา เพื่อความเป็นศิริมงคลโดยได้รับความเมตตาจากพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ พระสงฆ์และสามเณร จากวัดต่างๆ มาโปรดเมตตา รับพิจารณาดอกไม้สด โดยการจัดงานจะเริ่มตั้งแต่เวลา 15.00 น. บริเวณด้านหน้าสวนตุงและโคมเทศบาลนครเชียงราย ไปถึงสี่แยกศาลจังหวัดเชียงราย
 
 
และวันที่ 31 ธันวาคม 2566 เวลา 18.00 น. ร่วมส่งมอบความสุข “ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่” ชมคอนเสิร์ตศิลปินชื่อดัง และการแสดงศิลปวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่ตระการตา บริเวณหอนาฬิกานครเชียงราย แลนด์มาร์ค ด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงราย
 
 
วันที่ 1 มกราคม 2567 ต้อนรับศักราชใหม่ กับพิธีอัญเชิญพระพุทธรูปแวดเวียงเจียงฮายทำบุญตักบาตรขึ้นปีใหม่ ซึ่งเทศบาลนครเชียงราย ได้ประกอบพิธีอัญเชิญพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์แวดเวียงเจียงฮาย ครั้งที่ 24 ประจำปี 2567 เริ่มเวลา 07.00 น. ณ ถนนธนาลัย ย่านเมืองเก่า ใจกลางเมืองเชียงรายอีกด้วย
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : เทศบาลนครเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News