Categories
AROUND CHIANG RAI TRAVEL

วธ.เปิดตัวเที่ยวชุมชน ยลวิถี เชียงแสน ชุมชนวัดพระธาตุผาเงา (บ้านสบคำ)

 
เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2567 นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีเปิดตัว      สุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ชุมชนคุณธรรมฯ วัดพระธาตุผาเงา (บ้านสบคำ) และลานวัฒนธรรมสร้างสุข โดยมี พระพุทธิญาณมุนี เจ้าคณะจังหวัดเชียงราย เจ้าอาวาสวัดพระธาตุผาเงา นางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม คณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลประจำกระทรวงวัฒนธรรม (ค.ต.ป.วธ.) นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย รวมถึงหัวหน้าหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เครือข่ายสภาวัฒนธรรม และชาวชุมชนวัดพระธาตุผาเงา (บ้านสบคำ) เข้าร่วม ณ ชุมชนคุณธรรมฯ วัดพระธาตุผาเงา (บ้านสบคำ) ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ในโอกาสนี้ ได้มีการแสดงศิลปวัฒนธรรม เพื่อต้อนรับ ชุด “ตีกลองหลวง” โดยกลุ่มตีกลองหลวงวัดพระธาตุผาเงา การแสดงในพิธีเปิด ชุด “ฮอมขวัญตราบนิรันดร์ สถิตมั่นแขกแก้วมาเยือน”  จากโรงเรียนเชียงแสนวิทยาคม รวมถึงการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน ชุดการเต้นบาสโลบ และการแสดงของกลุ่มแม่บ้านสบคำ ที่มีความสวยงาม สนุกสนาน สะท้อนอัตลักษณ์ วิถีชีวิตของชาวชุมชนวัดพระธาตุผาเงา(บ้านสบคำ) ได้เป็นอย่างดี
 
 
จากนั้น ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และคณะได้เดินเยี่ยมชมตลาดวัฒนธรรม “อิ่มบุญ ยลวิถีผาเงา”ชมการแสดงขับทุ้มหลวงพระบาง โดยคณะขับทุ้มบ้านสบคำ ชมการสาธิตภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม อาทิ กลุ่มทอผ้าล้านนาลายอัตลักษณ์เชียงแสน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรวัดพระธาตุผาเงา ชมฐานการเรียนรู้ของโรงเรียนคนสามวัยวัดพระธาตุผาเงา เช่น การตัดตุง การทำตุงข้าวเปลือก การทำผางประทีป รวมถึงชมฐานแหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นของชุมชน อาทิ พิธีเรียกขวัญ (ซ้อนขวัญ) ตามความเชื่อชาวไท-ลาว ฐานการเรียนรู้ “การประดิษฐ์เรือไฟเล็ก (สะเปา)” ในงานประเพณีไหลเรือไฟ ซึ่งเป็นประเพณีสำคัญของชุมชนบ้านสบคำ หนึ่งเดียวในจังหวัดเชียงราย อีกด้วย นอกจากนี้ ภายในงานมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย CPOT และผลิตภัณฑ์ สินค้า ของดีชุมชนฯ ตลอดจนการจัดแสดงนิทรรศการและสาธิตโดยหน่วยงานในพื้นที่
 
 
นางยุพาฯ กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับจังหวัดเชียงราย และชุมชนคุณธรรมฯ วัดพระธาตุผาเงา(บ้านสบคำ) ที่ได้รับรางวัล 10 สุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ประจำปี พ.ศ. 2566 ที่คัดอย่างเข้มข้นจาก 76 ชุมชน ทั่วประเทศ ตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้ขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม จัดโครงการ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 จนถึงปัจจุบัน มีชุมชนได้รับการคัดเลือกมาแล้วกว่า 30 ชุมชน ตามนโยบายของรัฐบาล ในการขับเคลื่อน Soft Power ของไทยสู่นานาชาติ ด้วยการนำทุนทางวัฒนธรรมของชุมชน มาพัฒนาต่อยอด สร้างสรรค์สินค้าและบริการ ทั้งนี้ ชุมชนวัดพระธาตุผาเงา หรือชุมชนบ้านสบคำ นับเป็นชุมชนคุณธรรมที่น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีผู้นำ “พลังบวร” และเครือข่ายที่เข้มแข็ง ประชาชนมีความสุข มีความรักสามัคคี มีการสืบสาน รักษา ต่อยอด ภูมิปัญญาของท้องถิ่น ซึ่งยืนยันได้ว่า ชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนที่มีศักยภาพ มีคุณภาพ และมีความพร้อมด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมสร้างสรรค์ในทุกมิติ สามารถต่อยอดไปสู่การท่องเที่ยวคุณภาพสูงเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวทุกประเภทอย่างยั่งยืนสืบไป โดยการต่อยอดต่อจากนี้ กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) พร้อมร่วมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ให้นักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติมาเยือน และศึกษาเรียนรู้อัตลักษณ์ วิถีชีวิต วัฒนธรรม และประเพณีของชุมชนมากยิ่งขึ้น
 
 
“ชุมชนวัดพระธาตุผาเงา (บ้านสบคำ)” ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงทางด้านทิศตะวันตก ชื่อของวัดนี้มาจาก พระธาตุที่ตั้งอยู่บนยอดหินก้อนใหญ่มีลักษณะคล้ายรูปทรงเจดีย์ คำว่า “ผาเงา” คือ เงาของก้อนหิน จึงตั้งชื่อว่า “พระธาตุผาเงา” ตั้งอยู่ในเขตประวัติศาสตร์เมืองเชียงแสนน้อย หรือเวียงปรึกษา มีการขุดค้นพบ “พระพุทธรูปหลวงพ่อผาเงา” เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2519 คาดว่ามีอายุเก่าแก่มากถึง 1,300 ปี ภายในวัดพระธาตุผาเงา มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ประชาชนสามารถมาสักการะและท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี เป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้  ด้านศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ อาทิ หอพระไตรปิฎกเฉลิมพระเกียรติฯ หอพระบรมฉายามหาราชพุทธิรังสรรค์ หอวัฒนธรรมนิทัศน์ และพิพิธภัณฑ์ผ้าทอล้านนาเชียงแสน
 
 
เชิญมาสัมผัสวิถีวัฒนธรรม  อันดีงามของชาวบ้านสบคำเป็นชาวไทยเชื้อสาย ไท-ลาว ไท-ยวน ไท-ลื้อ มีอัตลักษณ์เฉพาะตัว และยังมีเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงจากวัดพระธาตุผาเงาอีกหลายแห่ง ได้แก่ สกายวอร์คผาเงาสามแผ่นดิน พิพิธภัณฑ์ผ้าทอล้านนาเชียงแสน จุดชมวิวสองฝั่งโขงบ้านสบคำ และวัดสบคำ เป็นต้น เมื่อเดินทางไปเที่ยวในชุมชนแห่งนี้ พลาดไม่ได้คืออาหาร คือ ปลาเนื้ออ่อนทอดกระเทียม และลาบปลาแม่น้ำโขง รวมถึงยังมีผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย ให้ซื้อกัน     เป็นที่ระลึก คือ ผ้าทอล้านนาลายเชียงแสน และสมุนไพรวัดพระธาตุผาเงา ด้านเทศกาลประเพณีที่จะดึงดูด ให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวกันตลอดปี ไม่ว่าจะเป็นประเพณีสรงน้ำพระธาตุผาเงา ในช่วง 12-20 เมษายนของทุกปี ประเพณีบุญข้าวประดับดิน ในวันแรม 14 ค่ำ เดือน 9 ของทุกปี และประเพณีไหลเรือไฟ 12 ราศี เป็นต้น

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สนง.วัฒนธรรม เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

นบไหว้สาบูชาครู ลื้อลายคำ คนเชียงของที่มีใจรักในศิลปะล้านนา

 

เมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๖๗ ที่ พิพิธภัณฑ์ มรดกวัฒนธรรม ผ้าทอไทลื้อ  ลื้อลายคำ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ได้มีพิธีไหว้ครูลื้อลายคำ ซึ่งทางเพจ Chiang Khong TV รายงานว่าเป็นการนบไหว้สาบูชาครู ลื้อลายคำ ความรู้ ศิลปะ วิชา ทุกแขนงสาขา ล้วนแล้วแต่มีครูบาอาจารย์ผู้ประสาทประสิทธิ์วิชา เมื่อศึกษาจนสำเร็จลุล่วงก็ต่างแยกย้ายไปตามทิศทางที่หมาย จะยากดีมีจน เป็นคนดีคนเลว ก็ล้วนแล้วแต่มีวิชาความรู้ติดตนติดตัว ถือว่าเป็นคนมีครู เป็นผู้ที่ได้รับการศึกษา  และหากผู้ใด รำลึกได้ถึงคุณของครูบาอาจารย์ ผู้นั้นย่อมจักมีความเจริญในชีวิต

 

ซึ่งกลุ่ม ลื้อลายคำ ครั้งหนึ่งเคยสร้างชื่อกระฉ่อนไปทั่วประเทศ โดยการรวมตัวกันของ เยาวชน อ.เชียงของที่มีใจรักในศิลปะล้านนา ศิลปะไทลื้อ ที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ถึงแม้ในปัจจุบัน กลุ่มลื้อลายคำ จะไม่ได้รวมตัวกันเช่นแต่ก่อน แต่ทุกคนเมื่อได้ชื่อว่าลื้อลายคำ ก็จะเป็นลื้อลายคำตลอดไป เมื่อใด ที่มีโอกาสได้แสดงวิชา ก็จะมารวมตัวกันไม่ห่างหาย และเมื่อถึงเวลาที่ต้องกลับมาไหว้ครูอาจารย์ ทุกคนก็พร้อมกลับมารวมตัวกันอย่างสมัครสมานเช่นเคย

 

คุณสุริยา วงค์ชัย ลูกหลานไทลื้อรุ่นปัจจุบัน ที่อยากให้มรดกวัฒนธรรมผ้าทอไทลื้อ สืบทอด สานต่อ ไปยังรุ่นต่อไป โดยใช้บ้านไม้ 2 ชั้น ทรงเก่าๆจัดสร้างที่วัฒนธรรมของไทลื้อถูกเก็บรวบรวมไว้ในพิพิธภัณฑ์ลื้อลายคำ  ไม่ว่าจะเป็นข้าวของเครื่องใช้ รวมถึงได้เก็บประวัติเรื่องราว การกล่าวขาน การต่อสู้การ อพยพต่างๆ ของชาวไทลื้อในอดีต เมื่อเดินขึ้นไปชั้นบน มีหุ่นจัดแสดงเครื่องแต่งกายไทลื้อแบบต่างๆ ผ้าทออันมีคุณค่า ที่ต้องใช้เวลาในการเก็บรวมรวม มาให้ชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ เครื่องประดับของมีค่า จำลองวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทลื้อ ดูแล้วมีมนต์ขลังเหมือนพาตัวเองเข้าไปอยู่ในบ้านหลังนั้นจริงๆ

 

จากข้อมูลของสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เล่าว่ากลุ่มชาติพันธ์  “ลื้อ/ยอง/ขึน (เขิน)”

“ลื้อ”   ชาวไทลื้อที่มีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่แคว้นสิบสองปันนา  ทางตอนใต้ของประเทศจีน มีประวัติการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานไปยังรัฐฉาน ประเทศพม่า

“ยอง”  ชาวไทลื้อที่มีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่เมืองยอง  อำเภอหนึ่งของเมืองเชียงตุง รัฐฉาน ประเทศพม่า

“ขึน/เขิน”  ชาวไทลื้อ (+ไทใหญ่?) ที่อาศัยอยู่ในประเทศพม่า จีน ไทย และประเทศลาว ตั้งชุมชนหนาแน่นที่บริเวณลุ่มแม่น้ำขึนเมืองเชียงตุง รัฐฉาน ประเทศพม่า

.

ไทลื้อ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่พูดภาษาตระกูลไทยอีกกลุ่มหนึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณภาคเหนือของประเทศไทยอีกกลุ่มหนึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณภาคเหนือของประเทศไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐฉาน ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน และภาคเหนือของลาว ชาวไทลื้อในสิบสองพันนามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับไทยวนล้านนาในยุค “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” ชาวไทลื้อจากสิบสองพันนาได้ถูกกวาดต้อนลงมาอยู่ในล้านนาจำนวนมาก  ชาวไทลื้อนับถือศาสนาพุทธและปฏิบัติตามจารีตประเพณีทางพุทธศาสนา

 

การขยายตัวของชาวไทลื้อสมัยเจ้าอินเมืองได้เข้าตีเมืองแถน เชียงตุง เชียงแสน และล้านช้าง กอบกู้บ้านเมืองให้เป็นปึกแผ่น พร้อมทั้งหัวเมืองไทลื้อเป็นสิบสองเขต เรียกว่า สิบสองปันนา และในยุคนี้ได้มีการอพยพชาวไทลื้อบางส่วนเพื่อไปตั้งบ้านเรือนปกครองหัวเมืองประเทศราชเหล่านั้น  จึงทำให้เกิดการกระจายตัวของชาวไทลื้อ ในลุ่มน้ำโขงตอนกลาง (รัฐฉานปัจจุบัน) อันประกอบด้วย เมืองยู้ เมืองยอง เมืองหลวง เมืองเชียงแขง เมืองเชียงลาบ เมืองเลน เมืองพะยาก เมืองไฮ เมืองโก และเมืองเชียงทอง (ล้านช้าง) เมืองแถน (เดียนเบียนฟู)  ซึ่งบางเมืองในแถบนี้เป็นถิ่นที่อยู่ของชาวไทลื้ออยู่แล้ว เช่น อาณาจักรเชียงแขง ซึ่งประกอบด้วย เมืองเชียงแขง เมืองยู้ เมืองหลวย เมืองเชียงกก เมืองเชียงลาบ เมืองกลาง เมืองลอง เมืองอาน เมืองพูเลา เมืองเชียงดาว เมืองสิง เป็นต้น

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สุริยา วงค์ชัย พิพิธภัณฑ์ ลื้อลายคำ / Chiang Khong TV / Anirut Ti

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

งานสืบสานวัฒนธรรมไทลื้อ ปี 67 บ้านสันบุญเรือง ครั้งที่ 6 อ.แม่สาย

 

เมื่อวันที่วันเสาร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 19.00 น. นายก นก นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายก อบจ.เชียงราย เป็นประธานในพิธีเปิดงานสืบสานวัฒนธรรมไทลื้อ บ้านสันบุญเรือง ครั้งที่ 6 ประจำปี 2567 พร้อมด้วย นายจิราวุฒิ แก้วเขื่อน ที่ปรึกษานายก อบจ.เชียงราย นายชัยสิทธิ์ ชัยเนตร เลขานุการนายก อบจ.เชียงราย นายชาญชัย แสนรัตน์ สมาชิกสภา อบจ.เชียงราย อ.แม่สาย เขต 2 ณ ลานอเนกประสงค์ บ้านสันบุญเรือง ต.เกาะข้าง อ.แม่สาย โดยมี ร.ต.อ.เด่นวุฒิ จันต๊ะขัติ นายก อบต.เกาะช้าง เป็นผู้กล่าวรายงาน และได้รับเกียรติจาก นายณรงค์พล คิดอ่าน นายอำเภอแม่สาย นายชัยยนต์ ศรีสมุทร นายกเทศมนตรี ต.แม่สาย นายเด่นชัย ลาวิชัย นายก อบต.ศรีเมืองชุม เข้าร่วมพิธีเปิดในครั้งนี้ด้วย

 

ในงานดังกล่าวมีกิจกรรมการประกวดหนูน้อยขวัญใจไทลื้อ 4 ไตยเฮือน การแสดงชุดสีสันไทลื้อ โดยกลุ่มพัฒนาสตรีบ้านสันบุญเรือง การประกวดขบวนไตยเฮือน และการแสดงของนักเรียนโรงเรียนบ้านสันบุญเรือง โดยทางบ้านสันบุญเรือง ต.เกาะช้าง อ.แม่สาย ได้จัดกิจกรรมนี้ขึ้นทุกๆปี เพื่อเป็นการสืบทอดวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ นำเสนอวิถีชีวิต การแต่งกายที่สวยงาม เป็นเอกลักษณ์และมีคุณค่า แก่การอนุรักษ์ ส่งเสริมให้คงอยู่สืบไป
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : อบจ.เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

เปิดงานประเพณีมหาบุญจุลกฐินถิ่นไทลื้อ ครั้งที่ 19 ณ วัดท่าข้ามศรีดอนชัย

 

เมื่อวันเสาร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2566 เวลา 18.30 น. นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายก อบจ.เชียงรายเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม บูรณาการพี่น้องท้องถิ่นงานประเพณีมหาบุญจุลกฐินถิ่นไทลื้อ ครั้งที่ 19 โดยมีนายชัยสิทธิ์ ชัยเนตร เลขานุการนายก อบจ.เชียงราย นายวสุพล จตุรคเชนทร์เดชา ส.อบจ.เชียงราย อ.เชียงของ เขต 1 นายวราวุธ ไชยวงศ์ ส.อบจ.เชียงราย อ.เชียงของ เขต 2 และหัวหน้าส่วนราชการ อบจ.เชียงราย เข้าร่วมพิธีเปิดในครั้งนี้ด้วย ทั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นายกิตติพงศ์ วงค์ชัย นายกเทศมนตรี ต.ศรีดอนชัย เป็นผู้กล่าวรายงาน และนายประชิต จันเพ็ง ประธานสภาเทศบาล ต.ศรีดอนชัย นายประดิษฐ์ ขันทะ กำนัน ต.ศรีดอนชัย นายธันวา เหลี่ยมพันธุ์ ประธานสภาวัฒนธรรม อ.เชียงของ ร่วมให้การต้อนรับ ณ วัดท่าข้ามศรีดอนชัย ต.ศรีดอนชัย อ.เชียงของ จ.เชียงราย

 

การจัดงานในครั้งนี้เพื่อสร้างพลังสามัคคีและบุญบารมีอันสูงส่งจากการถวายผ้ากฐิน ซึ่งเป็นมหาบุญอันยิ่งใหญ่ เพื่อประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวและงานประเพณีในท้องถิ่น และเพื่อแสดงอัตลักษณ์ ผ้าทอไทลื้อ ศิลปะการแสดง และวัฒนธรรมประเพณีในท้องถิ่น
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : อบจ.เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

เทศกาลดอกฝ้ายบานที่บ้านศรีดอนชัยประเพณีมหาบุญไทลื้อ

 

วันศุกร์ที่ 24 พฤศจิกายน 2566 เวลา 17.00 น.  นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยนางสาวณพิชญา นันตาดี นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ นางกัลยา แก้วประสงค์ นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ นางสุพรรณี เตชะตน นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ และนายยุทธนา สุทธิสม นักวิชาการวัฒนธรรมปฏิบัติการ ลงพื้นที่ ณ วัดท่าข้ามศรีดอนชัย ตำบลศรีดอนชัย อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ร่วมกิจกรรม ดังนี้

  1. ร่วมพิธีอัญเชิญพระอุปคุตในงานมหาบุญกุลกฐินถิ่นไทลื้อศรีดอนชัย ครั้งที่ 19 และเปิดกาดไตลื้อศรีดอนชัย
  2. ส่งมอบเกียรติบัตรแก่ผู้ประกอบการผ้าทอไทลื้อศรีดอนชัย และผู้ประกอบการกระเป๋าและตุ๊กตาไทลื้อศรีดอนชัย ที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นชุมชนต้นแบบการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (CULTURAL PRODUCT OF THAILAND : CPOT) ประจำปีพุทธศักราช 2566
  3. ส่งมอบแผ่นพับประชาสัมพันธ์ชุมชนคุณธรรมฯ บ้านศรีดอนชัย จำนวน 2,000 ฉบับ แก่ผู้นำชุมชนฯ เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ต่อไป
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สนง.วัฒนธรรม เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

อบจ.เชียงรายเปิด งานทอสายบุญจุลกฐิน ถิ่นไทลื้อโบราณ อ.เชียงของ

 

เมื่อวันศุกร์ที่ 27 ตุลาคม 2566 เวลา 16.30 น. นายก นก นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย เป็นประธานในงานแถลงข่าวเสวนาและประชาสัมพันธ์ โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวบูรณาการ พี่น้องท้องถิ่น อ.เชียงของ จ.เชียงราย งานทอสายบุญจุลกฐิน ถิ่นไทลื้อโบราณ (ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมบ้านหาดบ้าย หาดทรายทอง) ณ ลานเวทีบ้านหาดบ้าย – หาดทรายทอง ต.ริมโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย

 

ภายในงานแถลงข่าว มีการเสวนา ในหัวข้อการส่งเสริมและสนับสนุนการท่องเที่ยวในชุมชนให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน ฯลฯ โดยได้ให้เกียรติจาก หลวงพ่อจตุรงค์ กลิ่นบุปผา เจ้าอาวาสวัดบ้านหาดบ้าย นายวิสูตร บัวชุม ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เชียงราย นายวิรุฬห์ สิทธิวงศ์ นายอำเภอเชียงของ นายเกษม ปันทะยม นายก อบต.ริมโขง นายธันวา เหลี่ยมพันธุ์ ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอเชียงของ และนางสุขาวดี ติยะธะ เข้าร่วมการเสวนา พร้อมนี้มีร่วมทำบันทึกข้อตกลง (MOU) โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวบูรณาการ พี่น้องท้องถิ่น อ.เชียงของ จ.เชียงราย งานทอสายบุญจุลกฐิน ถิ่นไทลื้อโบราณ (ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมบ้านหาดบ้ายหาดทรายทอง)
 
 
ทั้งนี้ยังมีนายลิขิต บรรพตพัฒนา กำนันตำบลริมโขง นายสุจิน สิทธิราช ประธานสภา อบต.ริมโขง ร.ท.อภัย วิจารณ์ หัวหน้าชุดพัฒนาสัมพันธ์มวลชน ที่ 3212 หมู่ใหญ่ วิบูรย์ขัติยะ หัวหน้าชุดผ่อนปรนบ้านหาดบ้าย และคณะผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการ กองการท่องเที่ยวและกีฬา งานประชาสัมพันธ์ กองยุทธศาสตร์ฯ อบจ.เชียงราย เข้าร่วมพิธีแถลงข่าวในครั้งนี้ด้วย
ซึ่งงานทอสายบุญจุลกฐิน ถิ่นไทลื้อโบราณ บ้านหาดบ้าย หาดทรายทอง จะจัดขึ้นในวันที่ 11-12 พฤศจิกายน 2566 ณ บ้านหาดบ้าย – หาดทรายทอง ต.ริมโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย
 
 
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : อบจ.เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

“กาดไตลื้อ” นัดที่ 2 คึกคักด้วยมนต์เสน่ห์ชาวไตลื้อ

 

วันเสาร์ที่ 7 ตุลาคม 2566 เวลา 15.00 น. เป็นต้นไป ณ วัดท่าข้ามศรีดอนชัย ตำบลศรีดอนชัย อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย โดย สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย ร่วมกับชุมชนศรีดอนชัยไทลื้อ จัดตลาดวัฒนธรรมชุมชน “กาดไตลื้อ ศรีดอนชัย” นัดที่ 2 ภายใต้โครงการชุมชนวัฒนธรรมไทยสร้างเสริมเศรษฐกิจ

ชุมชนศรีดอนชัยไทลื้อ เป็นพื้นที่ชุมชนและท้องถิ่นที่มีศักยภาพ มีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม “ไทลื้อ” ที่เด่นชัด จึงจัดพื้นที่ตลาดใหม่เพื่อเพิ่มช่องทางให้ประชาชนมีพื้นที่ในการจำหน่ายสินค้าทางวัฒนธรรม กิจกรรมการแสดง บริการ ที่แสดงออกอย่างสร้างสรรค์ผ่านการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน  สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยว และเกิดความประทับใจ ซึ่งจะนำมาสู่ความภาคภูมิใจ รวมถึงเป็นการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ชุมชน กาดไตลื้อ ศรีดอนชัย  นัดที่ 2 ของเรามีแนวคิดในการพัฒนาเป็นตลาดวัฒนธรรม ชิม ช๊อป ชม สินค้า สาธิตผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม CPOT อาหารพื้นถิ่น พืชผัก ผลไม้ ของชาวศรีดอนชัย  ภายในงานมีการแสดงแฟชั่นโชว์ “สีสันเส้นด้าย ลายผ้างาม นามศรีดอนชัย” และการแสดงทางศิลปวัฒนธรรม ม่วนจอยกับการรำวงย้อนยุค พร้อมนี้พ่อค้าแม่ขาย ผู้ประกอบการ ผู้ร่วมงาน และนักท่องเที่ยว ร่วมกันแต่งกายด้วยชุดไทลื้อ ชุดพื้นถิ่น พร้อมหิ้วตะกร้ามาร่วมกิจกรรมเป็นการสร้างบรรยากาศเสน่ห์ที่ยังมีมนต์ขลังของชาวไทลื้อศรีดอนชัย

ในการนี้ นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย มอบหมาย นางกัลยา แก้วประสงค์ นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ นางสุพรรณี เตชะตน นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ และนายยุทธนา สุทธสม นักวิชาการวัฒนธรรมปฏิบัติการ (ผู้ประสานงานวัฒนธรรมอำเภอเชียงของ) เข้าร่วมกิจกรรมฯ

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News