Categories
FEATURED NEWS

Whoscall เผยคนไทยตกเป็นเหยื่อ มิจฉาชีพเฉลี่ย 36,000 บาทต่อคน

 
 

บริษัท โกโกลุก (Gogolook) ผู้นำด้านเทคโนโลยีเพื่อความเชื่อมั่น (TrustTech) ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน Whoscall ร่วมกับองค์กรต่อต้านกลโกงระดับโลก Global Anti-Scam Alliance (GASA) และ ScamAdviser เปิดรายงานสถานการณ์การหลองลวงจากมิจฉาชีพในประเทศไทย (State of Scams in Thailand) ประจำปี 2567 เผยถึงรูปแบบการหลอกลวงที่เปลี่ยนแปลงและส่งผลกระทบต่อคนไทย ผ่านการสำรวจความคิดเห็นของคนไทยกว่า 9,360 คนจากหลากหลายกลุ่มประชากรตลอด 1 ปี ที่ผ่านมา

    แมนวู จู ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โกโกลุก (ประเทศไทย) กล่าวว่า “แม้จะมีความพยายามในการ ป้องกัน ภัยมิจฉาชีพอย่างต่อเนื่องทั้งจากภาครัฐและเอกชน แต่ประเทศไทยยังคงประสบกับปัญหาจากการ หลอกลวง และความพยายามในการหลอกกลวงจากมิจฉาชีพ รายงานที่เราได้จัดทำ ร่วมกับ GASA และ Scam Adviser ในปีนี้แสดงให้เห็นถึงระดับความถี่ของการหลอกลวงที่เพิ่มขึ้นรวมไปถึง ข้อมูลเชิงลึกกลลวงใหม่ๆ จากมิจฉาชีพ และผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยพบว่ามูลค่าความเสียหายที่เหยื่อถูกหลอกจากมิจฉาชีพเฉลี่ยสูงถึง 1,106 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 36,000 บาทต่อคนในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา

 

การหลอกลวงเกิดบ่อยขึ้น และมีมูลค่าความเสียหายมากขึ้นแม้ว่าคนจะรู้ทันมิจฉาชีพ

    รายงานระบุว่ากว่า 1 ใน 4 หรือ 28% ของผู้ตอบแบบสอบถามตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ทั้งนี้พบว่าคนไทยมีความระมัดระวังในการป้องกันตนเองจากมิจฉาชีพมากขึ้น ราว 55% มั่นใจว่ารู้ทันกลลวงของมิจฉาชีพ โดย 44% มีการตรวจสอบหมายเลขโทรศัพท์ และ 37% ใช้แอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่ได้รับ

อย่างไรก็ตาม 89% เผยว่ายังต้องรับมือกับมิจฉาชีพอย่างน้อยเดือนละครั้ง และ 58% ระบุว่าต้องรับมือกับมิจฉาชีพบ่อยขึ้น โดยเกือบ 10% ระบุว่าถูกก่อกวนจากมิจฉาชีพถี่ขึ้นต่อเดือนเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ในขณะที่ 35% ได้รับโทรศัพท์และข้อความหลอกลวงหลายครั้งต่อสัปดาห์

​    รายงานยังพบว่าการโทรเข้าและส่งข้อความผ่านมือถือยังเป็นวิธีการหลอกลวงที่มิจฉาชีพใช้มากที่สุด ตามด้วยโฆษณาออนไลน์ การใช้แอปพลิเคชันต่างๆ สำหรับส่งข้อความ และโพสต์บนโซเชียลมีเดีย โดย 5 ช่องทางที่ มิจฉาชีพใช้มากที่สุดในการหลอกลวง ได้แก่ Facebook 50% ตามด้วย Line 43%, Messenger 39%, TikTok 25% และ Gmail 20%

 

ในส่วนของการได้รับคืนเงินที่ถูกมิจฉาชีพหลอกไปนั้นทำได้ยากขึ้นเมื่อเทียบกับปีผ่านมา ผลสำรวจพบว่ากว่า 1 ใน 3 หรือ 39% สูญเสียเงินภายใน 1 ชั่วโมงหลังจากได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพ โดยมีเหยื่อเพียง 2% ได้เงินที่ถูกหลอกไปคืนทั้งหมด แต่มีเหยื่อมากถึง 71% ไม่สามารถนำเงินที่สูญเสียไปกลับคืนมาได้ และ 73% ระบุว่าได้รับผลกระทบทางจิตใจอย่างรุนแรงหลังจากถูกหลอก

 

การขโมยข้อมูลส่วนบุคคลและการใช้เทคโนโลยี AI เป็นวิธีการหลอกลวงที่แพร่หลาย

    การขโมยข้อมูลส่วนบุคคล (Identity Thef) และการใช้เทคโนโลยี AI เป็นรูปแบบกลโกงที่มิจฉาชีพใช้มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ผลสำรวจระบุว่าการขโมยข้อมูลส่วนบุคคลโดยการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อหลอกให้เหยื่อโอนเงินเป็นกลลวงที่พบมากที่สุดถึง 22% แซงหน้าการหลอกลวงให้ซื้อสินค้าซึ่งอยู่ที่ 19% ตามมาด้วยการออกใบแจ้งหนี้ปลอมหรือการหลอกให้ชำระหนี้ที่ 16% และการหลอกให้ลงทุน 14% ตามลำดับ

 

นอกจากนี้ รายงานระบุว่าคนไทยมีความตระหนักรู้มากขึ้นว่ามิจฉาชีพนำเทคโนโลยี AI มาเป็นเทคนิคใหม่ในการ เขียนข้อความสร้างบทสนทนาเลียนแบบเสียง รวมถึงสร้างภาพของบุคคลหรือสถานการณ์หลอกลวงในรูปแบบต่างๆ โดย 66 % ของผู้ตอบแบบสอบถามมั่นใจว่าเคยได้รับข้อความที่เขียนโดยใช้เทคโนโลยี AI

    จอริจ อับบราฮัม ผู้จัดการทั่วไป Global Anti-Scam Alliance (GASA) กล่าวว่า “รายงานสถานการณ์การหลองลวงจากมิจฉาชีพในประเทศไทยฉบับนี้แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อปรับปรุงมาตรการป้องกัน เพิ่มการดำเนินการที่เข้มงวดและสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับภัยจาก มิจฉาชีพ จากความสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลและผลกระทบทางจิตใจที่เกิดขึ้นต่อผู้เสียหายทำให้เรา จำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อปกป้องประชาชนและฟื้นความเชื่อมั่นในการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล”

 เพื่อรับมือกับภัยคุกคามจากมิจฉาชีพที่เพิ่มขึ้นบริษัท โกโกลุก (ประเทศไทย) จึงให้ความสำคัญกับการออกมาตรการในระยะยาว เพื่อป้องกันกลลวงในรูปแบบที่เน้นการจัดการความเสี่ยงและเสริมสร้างความระมัดระวัง ให้แก่ประชาชนจากการให้ความรู้ ตลอดจนมุ่งพัฒนาเครื่องมือที่ทันสมัยเพื่อรับมือกับกับภัยคุกคามจากมิจฉาชีพที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มีการผสานเทคโนโลยี AI เพื่อพัฒนาฟีเจอร์ ใหม่บนแอปพลิเคชัน Whoscall ทั้งเวอร์ชั่นฟรีและพรีเมียมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อปกป้องผู้ใช้งานทุกคน

    “นอกเหนือจากฟีเจอร์ Caller ID และ Smart SMS Assistant ที่เป็นด่านหน้าในการป้องกันสายโทรเข้า และข้อความหลอกลวงแล้ว ปัจจุบัน Whoscall ได้เปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ เช่น ID Security (เช็กข้อมูลรั่วไหม) เพื่อช่วยตรวจสอบความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลเช็ก Auto Web Checker เพื่อปกป้องผู้ใช้จากการคลิกลิงก์ฟิชชิ่งรวมไปถึง Scam Alert ศูนย์รวมข้อมูลเตือนภัยกลโกงมิจฉาชีพแห่งแรกในไทยอีกด้วย” แมนวู กล่าวปิดท้าย

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : บริษัท โกโกลุก (ประเทศไทย)

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
NEWS UPDATE

Whoscall เผยคนไทยถูกมิจฉาชีพ โทร-SMS หลอก อันดับ 1 ของเอเชีย

 
เมื่อวันที่ 2 เม.ย.2567 รายงานประจำปี 2566 ของฮูสคอลล์ (Whoscall) แพลตฟอร์มระบุตัวตนสายเรียกเข้าที่ไม่รู้จัก และป้องกันสแปม พบว่า คนไทยถูกมิจฉาชีพหลอกลวงผ่านการโทรศัพท์ และส่งข้อความ 79 ล้านครั้ง เพิ่มมาจากปี 2565 ที่มี 66.7 ล้านครั้ง หรือ ร้อยละ 18
 
 

ข้อมูลนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ได้นำมาเปิดเผยในเวทีสัมมนา “วันตรวจสอบข่าวลวงโลก ปี 2567” เพื่อสร้างความตระหนักให้กับประชาชน ที่อาจตกเป็นเหยื่อกลุ่มมิจฉาชีพได้ง่าย พร้อมร่วมมือกับภาคีโคแฟค (Cofact) และ กรุงเทพมหานคร เปิดช่องทางสร้างการรับรู้ และให้การช่วยเหลือประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อ

 

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ให้ความสำคัญกับภัยคุกคามออนไลน์ทุกรูปแบบ จึงร่วมโครงการครั้งนี้ เพื่อเร่งสร้างการรับรู้ และแนวทางป้องกันให้ประชาชน ขณะที่เครือข่ายโคแฟค ที่ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงผ่านสื่อออนไลน์ตั้งแต่ปี 2563 ช่วยเหลือประชาชนไม่ให้ถูกหลอกกว่า 5,000 คน โดยให้คำแนะนำผ่านเว็บไซต์ Cofact.org เปิดเผยว่า

 

การหลอกลวงผ่านสื่อออนไลน์เปลี่ยนแปลงไปรวดเร็ว จากเดิมที่เป็นการหลอกลวงผ่านข่าวปลอม เป็นการหลอกลวงด้วยการโทร และส่งข้อความหลอกโอนเงินเพิ่มมากขึ้น โดยข้อมูลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่า ประชาชนมักถูกหลอกให้ซื้อสินค้าหรือบริการ หลอกโอนเงินเพื่อทำงาน และหลอกให้กู้เงิน ซึ่งเป็นตัวเลขการถูกหลอกที่สูงเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย ส่วนอันดับ 2 คือ ฟิลิปปินส์ และ อันดับ 3 คือ ฮ่องกง

 

ปีนี้ โคแฟค ยังเตรียมที่จะบูรณาการกับภาครัฐและเอกชนอบรมสร้างทักษะการตรวจสอบข้อมูลในยุค AI ทั่วประเทศ พร้อมสร้างคอนเทนต์ในอินฟลูเอนเซอร์สายตรวจสอบข่าว พัฒนาให้เกิดศูนย์ตรวจสอบข่าวลวงภูมิภาคกว่า 7 แห่ง และเปิดรับภาคีใหม่มาทำกิจกรรมตรวจสอบข่าวและสร้างพลเมืองทุกคนให้เป็น fact-checker ต่อไป

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : Whoscall

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
SOCIETY & POLITICS

อย่าหลงเชื่อ! มิจฉาชีพ อ้างกฟภ. ส่ง SMS แจ้งมิเตอร์ไฟฟ้าเสี่ยงชำรุดเปลี่ยนฟรี

 
นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะโฆษกกระทรวงฯ ฝ่ายข้าราชการประจำ กล่าวถึงผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 16 – 22 กุมภาพันธ์  2567 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 1,203,939 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 186 ข้อความ ทั้งนี้ช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 180 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 6 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 138 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 81 เรื่อง

ทั้งนี้ ดีอี ได้แบ่งข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย

กลุ่มที่ 1 : นโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความสงบเรียบร้อยของสังคม ขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในประเทศ จำนวน 81 เรื่อง อาทิ กรมการจัดหางาน เปิดรับสมัครตัวแทน งานฝีมือ เพื่อสร้างรายได้เสริมในครอบครัว เป็นต้น

กลุ่มที่ 2 : ผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมาย จำนวน 32 เรื่อง อาทิ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดบริการแจ้งความออนไลน์ ติดต่อผ่านเพจ กรมป้องกันและบรรเทา Cyber Crime เป็นต้น

กลุ่มที่ 3 : ภัยพิบัติ จำนวน 10 เรื่อง อาทิ NOAA วิเคราะห์ผล ENSO ทำให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีโอกาสเจอซุปเปอร์ลานีญ่าอุณหภูมิน้ำทะเล ต่ำกว่า -2.0 องศาฯ ทำให้เกิดอุทกภัยรุนแรงได้ เป็นต้น

กลุ่มที่ 4 : เศรษฐกิจ จำนวน 15 เรื่อง อาทิ ตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดโอกาสให้ลงทุน สำหรับมือใหม่ 2024 เริ่มต้นเปิดพอร์ต 1,000 บาท เป็นต้น

ทั้งนี้ แบ่งเป็นเรื่องการหลอกลวงธุรกรรมทางการเงิน จำนวน 10 เรื่อง

นายเวทางค์ กล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจในลำดับต้นๆ ในสัปดาห์ล่าสุดนี้ พบว่าส่วนใหญ่เป็นข่าวด้านกลุ่มนโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ รองลงมาเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ และกลุ่มเศรษฐกิจ ตามลำดับ โดยข่าวที่ได้รับความสนใจจากประชาชน มากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่

อันดับที่ 1 : เรื่อง กฟภ. ส่ง SMS แจ้งมิเตอร์ไฟฟ้าเสี่ยงชำรุด คิดค่าไฟเกินจริง ให้ติดต่อเปลี่ยนมิเตอร์ฟรี พร้อมรับเงินคืน

อันดับที่ 2 : เรื่อง กรมการขนส่งเปิดทำใบขับขี่ออนไลน์ ผ่านเพจเฟซบุ๊ก Pages DTL Noline

อันดับที่ 3 : เรื่อง กรมการจัดหางาน เปิดรับสมัครงาน handmade สร้างรายได้เสริม สมัครผ่านเพจ เฟซบุ๊ก กู๊ดไอเดียไทย

อันดับที่ 4 : เรื่อง เปิดให้ลงทุนกับกองทุนหุ้นเครือ CP ราคาเปิดพอร์ต 1,000 บาท รับปันผล 220 ต่อวัน และ 5,000 บาท รับปันผล 1,200 ต่อวัน

อันดับที่ 5 : เรื่อง หากสัมผัสโดนสารกันบูดในปลาทูนึ่งจะเป็นมะเร็งผิวหนัง

อันดับที่ 6 : เรื่อง ธนาคารกรุงไทยปล่อยสินเชื่อเงินด่วน กรุงไทยใจป้ำ ผ่านเพจเฟซบุ๊ก สินเชื่อส่วนบุคคล

อันดับที่ 7 : เรื่อง ภัยร้ายที่มาพร้อมกับความหอม 5 สารเคมีอันตรายในน้ำยาปรับผ้านุ่ม

อันดับที่ 8 : เรื่อง รักษาโรคมะเร็งตับ ด้วยสมุนไพรฉัตรพระอินทร์

อันดับที่ 9 : เรื่อง เพจเฟซบุ๊กกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดรับสมัครพนักงานใหม่ ทำงานที่บ้านได้เลย

อันดับที่ 10 : เรื่อง บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เปิดโอกาสให้ลงทุนในกองทุนผู้สูงอายุ เริ่มต้น 13,000 บาท กำไร 1-3% ต่อสัปดาห์

กระทรวงดีอี ขอให้ประชาชนตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายบนสื่อออนไลน์/โซเชียล ซึ่งหากขาดความรู้เท่าทัน และมีการส่งต่อข้อมูลข่าวปลอมเหล่านี้ ก็จะทำให้ได้รับข้อมูลผิดๆ และส่งผลกระทบกับประชาชนที่หลงเชื่อข่าวปลอม ดังกล่าว โดยสามารถติดตามและแจ้งเบาะแสข่าวปลอม ผ่านช่องทางต่างๆ ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ที่ ไลน์ @antifakenewscenter เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com/ ทวิตเตอร์ https://twitter.com/AFNCThailand และช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87 ตลอด 24 ชั่วโมง
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
FEATURED NEWS

โอนเงินเกิน 50,000 บาท ทุกครั้ง บนแอปฯ ธนาคาร ต้องสแกนหน้า

 

สมาคมธนาคารไทย และ ศูนย์ประสานงานด้านความมั่นคงปลอดภัยเทคโนโลยีสารสนเทศภาคการธนาคาร ได้ตรวจสอบระบบของภาคธนาคารแล้ว ยืนยันว่า โปรแกรมดังกล่าวไม่สามารถใช้กับบัญชีลูกค้าทั่วไปได้ เพราะจะต้องมีข้อมูลของเจ้าของบัญชีทั้งหมด รวมทั้ง ข้อมูลการยืนยันตัวตน รหัส PIN โมบายแบงกิ้ง รหัสผ่านใช้งานครั้งเดียว (OTP) และการสแกนใบหน้า

การโอนเงินตั้งแต่ 50,000 บาท ต่อครั้ง และ 200,000 บาท ต่อวัน ยืนยันว่าต้องยืนยันตัวตนโดยสแกนใบหน้า  รวมทั้งย้ำว่า ระบบโมบายแบงกิ้งของทุกธนาคารมีความปลอดภัย และมีเสถียรภาพขอให้มั่นใจว่า ระบบโมบายแบงกิ้งของทุกธนาคารมีความปลอดภัยสูง

อย่างไรก็ตาม ลูกค้าและประชาชน ต้องติดตามข้อมูลและปฏิบัติตามแนวทางการป้องกันภัยทางการเงินอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดความเสี่ยงการตกเป็นเหยื่อจากมิจฉาชีพ ดังนี้

 

  • ไม่ดาวน์โหลดโปรแกรมจากแหล่งอื่น
  • ไม่เปิดเผยรหัสผ่านเข้าโมบายแบงก์กิ้ง รวมถึงรหัสOTP กับบุคคลอื่น
  • ไม่สแกนใบหน้า หรือยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชันที่ไม่รู้จัก
  • ไม่กดลิงก์จาก SMS แปลกปลอม เพราะธนาคารไม่มีนโยบายส่งข้อความ SMS ที่แนบลิงก์ทุกชนิด หรือมีข้อความให้แอด Line ID หลงเชื่อเด็ดขาด
  • ควรสังเกตโล่ ที่อยู่ด้านหน้า Line account เสมอ ซึ่งมีโล่สีเขียว หรือน้ำเงินเข้ม เท่านั้น
  • หากมีข้อสงสัยเรื่องการทำธุรกรรมใด ๆ ติดต่อแบงก์ เพื่อตรวจสอบข้อมูลเสมอ หรือ แจ้งไปยังสายด่วน 1441

 

พร้อมขอเตือนว่าประชาชนอย่าไปรับจ้างเปิดบัญชีม้า หรือ เบอร์ม้า เพราะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สมาคมธนาคารไทย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

ไหวตัวทัน! มิจฉาชีพหลอกญาติ กดลิงก์ดูดเงินแรงงานอิสราเอล

 
วันที่ 19 ตุลาคม 2566 จากกรณีได้มีแรงงานชาว จ.เชียงราย เดินทางไปทำงานที่ประเทศอิสราเอลจำนวน 2,174 คน มีภูมิลำเนากระจายอยู่ครบทั้ง 18 อำเภอโดยบางคนเดินทางกลับประเทศไทยแล้วนั้น ล่าสุดนายสมพงษ์ แก้ววรรณดี จัดหางาน จ.เชียงราย ได้เผยแพร่ข้อมูลว่าจากสถานการณ์ที่ประเทศอิสราเอลทำให้แรงงานชาวเชียงรายได้รับผลกระทบบางคนเสียชีวิต บางคนได้รับบาดเจ็บและบางคนกำลังขอเดินทางกลับประเทศ แต่ปรากฎว่าได้ปรากฎมีมิจฉาชีพอาศัยช่วงที่ญาติแรงงานในประเทศไทยได้รับผลกระทบทางจิตใจได้ส่งข้อความทางไลน์อ้างว่าเป็นผู้ให้บริการด้านบัญชีธนาคารจากประเทศอิสราเอล และอ้างว่าขอตรวจสอบยอดเงินคงเหลือในบัญชีของแรงงานคนดังกล่าว
.
นายสมพงษ์ เปิดเผยอีกว่ามิจฉาชีพได้แจ้งให้ใช้แอพลิเคชั่น MONOX และใช้การติดต่อทางไลน์พร้อมแจ้งหมายเลขวอทแอพให้ญาติของแรงงานที่ทำงานอยู่ที่ประเทศอิสราเอลรายดังกล่าวด้วย อีกทั้งยังแจ้งลิงก์บางอย่างมาให้เพื่อให้กดเข้าไปตรวจสอบหรือถ้าไม่สะดวกยังแจ้งหมายเลขโทรศัพท์ที่นำหน้าด้วยหมายเลข 055 กำหนดให้โทรศัพท์ตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น.ซึ่งเมื่อโทรเข้าไปก็จะมีให้เลือก 2 ภาษาด้วย ซึ่งหลังจากได้รับแจ้งจากชาวบ้านทางสำนักงานจัดหางาน จ.เชียงรายได้เตือนให้แรงงาน และญาติอย่าได้หลงเชื่อทั้งหมดโดยเด็ดขาดแล้ว
.
นอกจากนี้ขอแจ้งไปยังญาติทุกคนหากได้รับการติดต่อทางโทรศัพท์หรือข้อควม SMS ไลน์ ฯลฯ ให้โหลดแอฟพลิเคชั่นบางอย่างก็อย่าได้โหลดอย่างเด็ดขาด หากมีข้อสงสัยให้โทรแจ้งสายด่วน 1441 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) หรือหากเผลอติดตั้งแอพลิเคชั่นปลอมไปแล้วก็ให้รีบติดสัญญานอินเตอร์เน็ตหรือถอดซิมโทรศัพท์มือถือออก รวมทั้งไปแจ้งความกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่หรือ www.thaipoliceonline.com จากนั้นได้ช่างล้างมือถือโดยเอาข้อมูลเงินค้างจ่าย สิทธิประโยชน์ในประเทศอิสราเอล เงินกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนไปทำงานต่างประเทศกรณีได้รับผลกระทบจากภัยสงคราม ฯลฯ ออกด้วย หรือหากมีข้อสงสัยเพิมเติมสามารถสอบถามได้ที่สำนักงานจัดหางาน จ.เชียงราย โทรศัพท์ 053-152051 ต่อ 213 ได้ในวันและเวลาราชการ หรือช่องทางออนไลน์ของสำนักงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง
.
รายงานข่าวแจ้งว่าก่อนหน้านี้นางสุภาเพ็ญ ศิริมาตย์ นายกเหล่ากาชาด จ.เชียงราย ได้พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ได้ตระเวนไปเยี่ยมญาติของแรงงานชาว จ.เชียงราย ตามอำเภอต่างๆ โดยเฉพาะในรายที่ได้รับแจ้งข่าวร้ายหรือไม่สามารถติดต่อกับแรงงานที่ประเทศอิสราเอลได้ พร้อมทั้งได้แจ้งเตือนญาติทุกคนไม่ให้หลงเชื่อผู้ที่ทำทีเข้าไปติดต่อกับญาติด้วยช่องทางต่างๆ โดยไม่ผ่านเจ้าหน้าที่โดยขอให้ชาวบ้านได้ระวังจึงทำให้ชาวบ้านที่ได้รับข้อความจากมิจฉาชีพแจ้งกับเจ้าหน้าที่ดังกล่าว

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
NEWS UPDATE

เตือน! อย่าหลงเชื่อมิจฉาชีพหลอกลงทุน อ้างตลาดหลักทรัพย์และก.ล.ต.

 

วันที่ 20 สิงหาคม 2566 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีมีการส่งต่อบนสื่อออนไลน์เรื่อง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนเทรดทองเริ่มต้น 1,999 บาท พร้อมระบุว่าจะมีผู้เชี่ยวชาญคอยดูแลและจะได้กำไรร้อยละ 15 – 30 ต่อวันนั้น

ทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแจ้งว่า หน่วยงานไม่มีเสนอการลงทุน เป็นข้อมูลปลอมที่มีการแอบอ้างชื่อ และตราสัญลักษณ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมถึงข่าวสารต่าง ๆ ที่เผยแพร่นั้น ทางหน่วยงานไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ ทั้งสิ้น
 
นอกจากนี้ ยังมีข่าวปลอมเรื่อง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ชวนลงทุนหุ้นส่วนของบริษัทจดทะเบียนแห่งหนึ่ง เริ่มต้น 1,199 บาท โดยแอบอ้างว่าสามารถเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อยได้ โดย ก.ล.ต. แจ้งว่า ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเพจดังกล่าว รวมถึงเป็นการชักชวนลงทุนโดยแอบอ้างใช้ชื่อบริษัทจดทะเบียน และสัญลักษณ์ของ ก.ล.ต. โดยไม่ได้รับอนุญาต
 
“ขอเตือนพี่น้องประชาชนอย่าหลงเชื่อการชักชวนลงทุนทางสื่อสังคมออนไลน์ และให้พี่น้องประชาชนตรวจสอบข้อมูล ข้อเท็จจริงจากหน่วยงานที่มีการกล่าวอ้างถึงหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนเผยแพร่และส่งต่อข้อมูลดังกล่าวในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ เพื่อป้องกันการเข้าใจผิดและความสับสนขยายในวงกว้าง สำหรับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ประชาชนสามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.set.or.th หรือโทร. SET Contact Center 0 2009 9999 สำหรับข่าวสารของ ก.ล.ต. สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.sec.or.th หรือ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. SEC Help Center 1207” นางสาวรัชดาฯ กล่าว
 
ทั้งนี้ รัฐบาลโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้เร่งรัดและติดตามการดำเนินการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีมาอย่างต่อเนื่อง โดยดีอีเอสได้บูรณาการการทำงานกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดความเสียหาย บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน รวมถึงมีการจับกุมผู้กระทำความผิด และดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้อง ดังนี้
 
ในปี 2565 มีการดำเนินคดีแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในต่างประเทศ 8 ครั้ง จับกุมผู้ต้องหา 166 คน ปิดกั้นการโทรและ SMS หลอกลวง 118,530 หมายเลข อายัดบัญชีม้า 58,463 บัญชี ปิดกลุ่มโซเชียลมีเดียซื้อขายบัญชีม้า 8 กลุ่ม ดำเนินคดีหลอกลงทุน ระดมทุน และหลอกลวงทางการเงิน 657 คดี จับผู้ต้องหา 673 ราย ปราบพนันออนไลน์ 318 คดี จับผู้ต้องหา 461 ราย ปิดเว็บพนัน 1,830 เว็บ ดำเนินคดีซื้อหลอกขายสินค้าบริการออนไลน์ 263 คดี จับผู้ต้องหา 270 ราย
 
ในส่วนของการดำเนินการตาม พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ซึ่งมีการบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2566 ข้อมูล ณ วันที่ 23 มิถุนายน มีดังนี้
 
– ปิดกั้น SMS/เบอร์โทร.หลอกลวงรวม 188,915 รายการ ปิดกลุ่ม facebook ซื้อขายบัญชีม้า 19 กลุ่ม อายัดบัญชี 101,904 บัญชี แจ้งรายชื่อบุคคล/เจ้าของบัญชีธนาคารที่ใช้กระทำความผิด 993 รายชื่อ และดำเนินคดีบัญชีม้า ซิมม้า 219 คดี ผู้ต้องหา 216 คน
 
– ดำเนินคดีผู้ที่หลอกลวงลงทุน-ระดมทุนออนไลน์และหลอกลวงทางการเงิน 740 คดี/ผู้ต้องหา 762 ราย
 
– ดำเนินคดีการพนันออนไลน์ 662 คดี/ผู้ต้องหา 774 ราย พร้อมปิดกั้น 2,334 เว็บไซต์
 
– ดำเนินคดีผู้หลอกลวงซื้อขายสินค้าบริการออนไลน์ 331 คดี ผู้ต้องหา 347 ราย

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักนายกรัฐมนตรี

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
FEATURED NEWS

เตือนผู้สมัครสอบ ธ.ก.ส. ระวัง !! มิจฉาชีพแอบอ้างหลอกเงินแลกเข้าทำงาน

 

ธ.ก.ส. แจ้งเตือนผู้สมัครสอบเพื่อเป็นพนักงาน ปี 2566 ทุกท่าน อย่าหลงเชื่อมิจฉาชีพแอบอ้างเป็นผู้มีอำนาจหรือมีความสามารถฝากเข้าทำงาน ธ.ก.ส. ได้ และมีการเรียกรับผลประโยชน์ตอบแทนทั้งทางตรงและทางอ้อม ธ.ก.ส. ยืนยันไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และพร้อมดําเนินการเอาผิดตามขั้นตอนทางกฎหมายกับผู้ที่หลอกลวงต่อไป

นายไพศาล หงษ์ทอง ผู้ช่วยผู้จัดการและโฆษกธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า จากการที่ ธ.ก.ส. ได้มีการเปิดรับสมัครบุคคลภายนอก เพื่อเป็นพนักงานปฏิบัติงานประจำสาขาและสำนักงาน ธ.ก.ส. จังหวัดทั่วประเทศ ปีบัญชี 2566 และมีผู้สนใจเข้าสมัครเป็นจำนวนมาก ซึ่งต่อมาพบว่า มีผู้แอบอ้างว่า สามารถให้ความช่วยเหลือให้สามารถเข้าทำงานกับ ธ.ก.ส. ได้ และมีการเรียกรับผลประโยชน์ตอบแทนทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมถึงการติวและการขายข้อสอบ ทำให้มีผู้สมัครบางคนหลงเชื่อและสูญเสียเงินให้แก่บุคคลดังกล่าว จึงขอเรียนว่า ในการสอบคัดเลือกดังกล่าว ธ.ก.ส. ไม่มีวิธีการอื่นใด นอกเหนือจากการใช้ความรู้ ความสามารถของผู้สมัครในการสอบตามเกณฑ์ที่ประกาศเท่านั้น ขอให้ผู้สมัครทุกท่านอย่างหลงเชื่อบุคคลผู้มีพฤติการณ์ดังกล่าว  

ทั้งนี้ สามารถติดตามข้อมูลและข่าวสารที่ถูกต้องได้ผ่านช่องทางการสื่อสารหลักของธนาคาร ได้แก่ เว็บไซต์ www.baac.or.th Facebook Page “ธกส BAAC Thailand” “ธกส บริการด้วยใจ” และ LINE Official Account : @baacfamily  เนื่องด้วยปัจจุบันมิจฉาชีพมีรูปแบบการหลอกลวงที่หลากหลาย ดังนั้น หากไม่แน่ใจโปรดติดต่อโดยตรงที่ธนาคาร หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 02 555 0555 *3 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งธนาคารจะดําเนินการเอาผิดตามขั้นตอนทางกฎหมายกับผู้ที่หลอกลวงในลักษณะดังกล่าวต่อไป

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
TOP STORIES

แอป Whoscall พบเบอร์มือถือรั่วไหล 13 ล้านเบอร์ มิจฉาชีพโทรหลอกสูงขึ้น 165%

whoscall แอปที่จะช่วยตรวจสอบเบอร์แปลกๆ ทั้งหลาย รวมไปถึงมิจฉาชีพ และบอกได้ว่าเป็นใครโทรหรือส่งข้อความมา ล่าสุดเผยสถิติประจำปี พบยอดสายมิจฉาชีพพุ่ง 165% พร้อมเบอร์มือถือคนไทยรั่วไหลกว่า 13 ล้านเบอร์ คิดเป็นจำนวนการรั่วไหลของเบอร์โทรศัพท์ในประเทศไทยกว่า 45% เป็นข้อความหลอกลวงและสแปมนับไม่ถ้วน

โดยภัยคุกคามจากการหลอกลวงที่เพิ่มขึ้นมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่อต้านการทุจริต (Anti-Fraud Prevention) จากข้อมูลของ Fortune Business Insight อุตสาหกรรมนี้คาดว่า จะมีมูลค่าถึง 129.2 พันล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2572 ด้วยอัตราการเติบโตต่อปีที่ 22.8% จากการเพิ่มขึ้นของ AI และช่องโหว่ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลขององค์กร คาดว่าจะมีการใช้เทคโนโลยี เพื่อหลอกลวง และเกิดผลเสียทวีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต 

ดูเหมือนว่าที่ผ่านมามีมิจฉาชีพเกิดขึ้นทุกวัน ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะตามกลลวงให้ทันยังไง เพื่อน ๆ ทุกคนก็คงเห็นว่าคนร้ายเหล่านี้มักหามุขใหม่ ๆ มาหลอกพวกเราได้ตลอดเวลา จึงอยากแชรข้อมูลสถิตให้เราได้ระวังภัยกันมากขึ้นและรัดกุมกว่าเดิม

ซึ่ง 7 ใน 10 ครั้งของข้อความ SMS ที่คนไทยได้รับเป็นข้อความสแปมและข้อความหลอกลวง หรือคิดเป็น 73% ของข้อความที่ได้รับทั้งหมด ในส่วนของยอดสายโทรศัพท์หลอกลวงพุ่งขึ้น 165% จาก 6.4 ล้านครั้งในปี 2564 เป็น 17 ล้านครั้งในปี 2565 

มิจฉาชีพนิยมส่งข้อความหลอกลวงเนื่องจากสามารถเข้าถึงเหยื่อจำนวนมากด้วยต้นทุนต่ำ ข้อความ SMS ถูกใช้เป็น เครื่องมือเพื่อ “ติดต่อครั้งแรก” โดยหลอกให้เหยื่อกดลิงก์ฟิชชิ่งเพื่อขโมยข้อมูลส่วนตัว เพิ่มบัญชีไลน์เพื่อหลอกให้ส่งข้อมูลหรือ โอนเงินให้ กลอุบายที่พบบ่อยได้แก่

  • การเสนอเงินกู้โดยมักอ้างรัฐบาลหรือธนาคาร 
  • การให้สิทธิ์เข้าตรงเว็บพนันออนไลน์ ที่ผิดกฎหมาย 
  • คีย์เวิร์ดของข้อความหลอกลวงที่ถูกรายงานที่พบบ่อยที่สุดเช่น “รับสิทธิ์ยื่นกู้” “เครดิตฟรี” “เว็บตรง” “คุณได้รับสิทธิ์” “คุณได้รับทุนสำรองโครงการประชารัฐ” “คุณได้รับสิทธิ์สินเชื่อ” และ “คุณคือผู้โชคดี”   

รูปแบบและประเด็นการหลอกลวงถูกปรับเปลี่ยนไปตาม  บริบทของแต่ละประเทศจากการค้นหาและระบุการหลอกลวง (รวมการโทรและข้อความ) ต่อผู้ใช้ Whoscall 1 คน ประเทศไทยอยู่ในอันดับต้น ๆ ที่มีข้อความและสายโทรเข้าหลอกลวง เฉลี่ย 33.2 ครั้งต่อปี (เพิ่มขึ้น 7%) ขณะที่ไต้หวันมี 17.5 ครั้ง (ลดลง 20%) และมาเลเซีย 16.5 ครั้ง  (เพิ่มขึ้น 15%) ตัวเลข ดังกล่าวตอกย้ำว่าการหลอกลวงนั้นยังคงแพร่หลายไปยังหลายประเทศ 

แถมกลหลอกลวงใหม่ๆ ในประเทศไทยมักเกิดขึ้นตามความสนใจและเทรนด์ต่าง ๆ เช่นการปล่อยเงินกู้, หลอกส่งพัสดุเพื่อเก็บเงินปลายทาง,  หลอกเป็นกรมทางหลวง, หลอกให้คลิกไปเล่นพนันออนไลน์,  หลอกว่ามีงาน part time  หลอกว่าได้รางวัลจาก TikTok และแพลตฟอร์มต่างๆ  มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

ข้อมูลส่วนตัวที่รั่วไหลมักเป็นด่านแรกที่มิจฉาชีพใช้เข้าถึงรายละเอียดการติดต่อเพื่อหลอกลวงเหยื่อ  การรั่วไหลอาจเกิดขึ้นจากฐานข้อมูลขององค์กรหรือรัฐบาลถูกโจมตีทางไซเบอร์ หรือผู้ใช้กรอกแบบสำรวจ แบบทดสอบทางจิตวิทยา หรือแบบฟอร์มในเว็บไซต์ฟิชชิ่ง เพื่อลดภัยคุกคามตั้งแต่เริ่มต้น พบว่าในประเทศไทยมีการรั่วไหลของเบอร์โทรศัพท์ 45% ทั้งนี้ รหัสผ่าน เบอร์โทรศัพท์ และชื่อ เป็นข้อมูลส่วนตัว ที่มีการรั่วไหลมากที่สุด ตามด้วยสัญชาติ อีเมล ที่อยู่ และวันเกิด

ข้อมูลที่รั่วไหลแต่ละประเภทอาจทำให้เกิดความเสี่ยงที่ต่างกัน ตัวอย่างเช่น บัญชีธนาคารออนไลน์หรือบัญชีโซเชียลเน็ตเวิร์ก อาจถูกขโมยได้หากรหัสผ่านรั่วไหล หรือในกรณีที่มิจฉาชีพได้ชื่อ เบอร์โทรศัพท์ แม้แต่บันทึกการชำระเงินและการซื้อของ ก็จะสามารถใช้หลอกลวงทางโทรศัพท์และข้อความ SMS ได้อย่างง่ายดาย เพื่อป้องกันภัยจากมิจฉาชีพเราจึงควร ใช้การยืนยันตัวตนแบบสองขั้น (Two-Factors Authentication) เมื่อใช้บริการออนไลน์ เปลี่ยนรหัสผ่านที่รัดกุมเป็นประจำ และใช้ Whoscall เพื่อระบุสายโทรเข้าและข้อความ SMS ที่ไม่รู้จัก

วิธีป้องกันเบื้องต้น
  • ห้ามคลิก : หากได้รับลิงก์ใน SMS  โดยเฉพาะข้อความที่มาจากธนาคารหรือหมายเลขที่ไม่รู้จัก เนื่องจาก ปัจจุบัน มีข้อห้ามไม่ให้ธนาคารและสถาบันการเงินในประเทศไทยส่งลิงก์ทาง SMS ให้กับลูกค้าโดยตรง
  • ห้ามกรอก: หากได้รับ SMS เพื่อขอข้อมูลส่วนบุคคลหรือขออัปเดตชื่อ ผู้ใช้/รหัสผ่าน หรือข้อมูลทางการเงินที่มีลิงก์ไปยัง เว็บไซต์ ที่น่าสงสัย อย่าให้ข้อมูลส่วนบุคคลใด ๆเด็ดขาด
  • ห้ามเพิกเฉย: ผู้ใช้สามารถช่วยกันต่อต้านกลโกงและหลอกลวงทางโทรศัพท์ โดยการรายงานเบอร์โทรศัพท์ที่น่าสงสัย หรือหลอกลวง ทางแอปพลิเคชัน Whoscall เพื่อป้องกันและช่วยส่งคำเตือนไปยังกลุ่มผู้ใช้รายอื่นได้

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : whoscall

 
 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
TOP STORIES

ตำรวจเตือนภัยมิจฉาชีพ แนบลิงก์ปลอมผ่าน SMS

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. ขอประชาสัมพันธ์เตือนภัยประชาชน กรณีมิจฉาชีพแนบลิงก์ปลอมผ่าน SMS โดยได้ข้อมูลเหยื่อจากการใช้ False Base Station (FBS) หรือ Stingray IMSI Catcher ดังนี้
 
ตามที่ บช.สอท. ได้ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนกรณีมิจฉาชีพแอบอ้างเป็นธนาคารกสิกรไทย ส่งข้อความสั้น (SMS) ไปยังประชาชนหลายรายว่ามี ผู้เข้าสู่ระบบธนาคารของคุณจากอุปกรณ์อื่น โดยมิจฉาชีพใช้วิธีการส่งข้อความสั้น (SMS) โดยไม่ผ่านเครือข่ายของผู้ให้บริการ หรือที่เรียกว่า False Base Station (FBS) Attack ประกอบกับการสร้างความน่าเชื่อถือโดยการปลอมแปลงชื่อผู้ส่งข้อความเป็นชื่อของธนาคารดังกล่าว และใช้ข้อความที่มีลักษณะทำให้ผู้ที่ได้รับตกใจกลัว หลอกลวงให้กดลิงก์ปลอมที่แนบมา แล้วกดติดตั้งแอปพลิเคชันปลอมที่ฝังมัลแวร์สามารถควบคุมโทรศัพท์มือถือและโอนเงินออกจากบัญชีผู้เสียหายนั้น
 
ต่อมาเมื่อวันที่ 24 พ.ค.66 เจ้าหน้าที่ตำรวจ บช.สอท. ได้จับกุมตัวผู้ต้องหา 6 ราย พร้อมตรวจยึดของกลาง รถยนต์ที่มีการติดตั้งเครื่องจำลองสถานีฐาน (False Base Station) ซึ่งประกอบไปด้วย
1.แบตเตอรี่ (battery)
2.สายอากาศ (Antenna) 3.เครื่องคอมพิวเตอร์พกพา (Laptop) และ
4. IMSI-Catcher หรือ Stingray ในข้อหา “ ร่วมกัน ทำ มี ใช้ นําเข้า นําออก หรือค้าซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคม 
 
โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต, ร่วมกันตั้งสถานีวิทยุคมนาคม โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต ตาม พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 มาตรา 6, 11 ร่วมกันใช้คลื่นความถี่ในการประกอบกิจการโทรคมนาคม โดยไม่ได้รับอนุญาตอันมีลักษณะที่เป็นการประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม ตาม พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม มาตรา 67 (3), และเป็นอั้งยี่หรือซ่องโจร ตาม ป.อาญา มาตรา 209 ” ส่ง พงส.ดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยมิจฉาชีพได้ใช้การโจมตีแบบ False Base Station (FBS) หรือ Stingray IMSI Catcher อาศัยการยิงสัญญาณที่แรงกว่าเสาสัญญาณจริง ทำให้โทรศัพท์มือถือของเหยื่อเชื่อมต่อไปยังเสาปลอมแทน
 
จากการตรวจสอบในระบบการรับแจ้งความออนไลน์พบว่า ยังคงมีผู้เสียหายถูกมิจฉาชีพหลอกลวงในลักษณะดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการได้รับข้อความแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน แจ้งว่าเป็นการสำรวจผู้เสียภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างให้อัปเดตข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน หรือการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าแจ้งว่าจดเลขมิเตอร์ผิดชำระค่าไฟเกินจะคืนเงินให้ เป็นต้น
 
โฆษก บช.สอท. กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา บช.สอท. ได้เร่งระดมกวาดล้างจับกุมผู้กระทำความผิด ตัดวงจรการก่ออาชญากรรมที่เป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน นอกจากนี้แล้วฝากเตือนไปยังประชาชนให้ระมัดระวังการหลอกลวงในลักษณะดังกล่าว เมื่อท่านได้รับข้อความสั้น (SMS) แนบลิงก์อ้างว่ามาจากหน่วยงานต่างๆ ให้ตรวจสอบให้ดีเสียก่อน อย่าหลงเชื่อเพียงเพราะเป็นข้อความที่ถูกส่งเข้ากล่องข้อความเดียวกับหน่วยงานนั้นๆ เนื่องจากมิจฉาชีพสามารถปลอมแปลงชื่อผู้ส่งได้ ทั้งนี้ในปัจจุบันทุกธนาคารได้ยกเลิกการส่งข้อความสั้น (SMS) แนบลิงก์ไปยังประชาชนแล้ว หากท่านได้รับข้อความใดๆ เชื่อได้ว่าเป็นมิจฉาชีพอย่างแน่นอน และไม่ว่ามิจฉาชีพจะมาในรูปแบบใดก็ตาม ให้ระมัดระวังและมีสติอยู่เสมอ โดยหากพบเห็นข้อความสั้น (SMS) แนบลิงก์เข้ามาในลักษณะดังกล่าวให้แจ้งเตือนไปยังบุคคลใกล้ชิด และหน่วยงานภาครัฐ หรือหน่วยงานนั้นๆ ให้ช่วยตรวจสอบทันที เพื่อลดการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ
 
ทั้งนี้ ขอฝากประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงแนวทางการป้องกัน ดังนี้
1. ไม่กดลิงก์ที่เเนบมากับข้อความสั้น (SMS) หรือที่ส่งมาทางสื่อสังคมออนไลน์ ไม่กดลิงก์ติดตั้งแอปพลิเคชันต่างๆ เพราะอาจเป็นการดักรับข้อมูล หรือการฝังมัลแวร์ของมิจฉาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มาพร้อมกับข้อความในลักษณะทำให้ตกใจ หรือเป็นกังวล เช่น ข้อมูลท่านรั่วไหล มีการเข้าถึงโทรศัพท์มือถือผิดปกติ
2. หากได้รับโทรศัพท์จากหมายเลขที่ไม่คุ้นเคย และมีการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ให้ขอชื่อนามสกุล และหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อกลับของเจ้าหน้าที่ โดยให้แจ้งว่าจะติดต่อกลับไปภายหลัง
3. ตรวจก่อนว่ามาจากหน่วยงานนั้นๆ จริงหรือไม่ โดยการโทรศัพท์ไปสอบถามผ่านหมายเลขคอลเซ็นเตอร์ หรือผ่านเว็บไซต์ทางการของหน่วยงานนั้น โดยตรง รวมถึงตรวจสอบว่ามีการประกาศแจ้งเตือนการหลอกลวงในลักษณะดังกล่าวหรือไม่
4. ระวัง LINE Official Account ปลอม โดยสังเกตบัญชีที่ผ่านการรับรองจะมีสัญลักษณ์โล่สีเขียว หรือโล่สีน้ำเงิน หากเป็นโล่สีเทาหรือไม่มีโล่เลยจะเป็นบัญชีทั่วไปยังไม่ได้ผ่านการรับรอง ต้องตรวจสอบยืนยันให้ดีเสียก่อน
5. ไม่ติดตั้งโปรแกรม หรือแอปพลิเคชันที่ผู้อื่นส่งมาให้โดยเด็ดขาด แม้จะเป็นโปรแกรมที่รู้จักก็ตาม เพราะอาจเป็นแอปพลิเคชันปลอม โดยหากต้องการใช้งานให้ทำการติดตั้งผ่าน App Store หรือ Play Store เท่านั้น
6. ไม่อนุญาตให้ติดตั้งแอปพลิเคชันที่ไม่รู้จัก หรือไฟล์ที่อาจเป็นอันตราย ไฟล์นามสกุล .Apk หรือซอฟต์แวร์ที่เป็นอันตราย
7. ไม่อนุญาตให้เข้าถึงอุปกรณ์ และควบคุมอุปกรณ์ หรือโทรศัพท์มือถืออย่างเด็ดขาด
8. ไม่กรอกข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลทางการเงินใดๆ ลงในลิงก์ หรือแอปพลิเคชันในลักษณะดังกล่าวโดยเด็ดขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งรหัสผ่าน 6 หลัก ที่ซ้ำกับรหัสแอปพลิเคชันของธนาคารต่างๆ
9. หากท่านติดตั้งแอปพลิเคชันปลอมแล้ว ให้รีบทำการ Force Reset หรือการบังคับให้อุปกรณ์นั้นรีสตาร์ต (ส่วนใหญ่เป็นการกดปุ่ม Power พร้อมปุ่มปรับเสียงค้างไว้) ในกรณีเกิดอาการค้างไม่ตอบสนอง หรือเปิดโหมดเครื่องบิน (Airplane Mode) หรือปิดเครื่องเพื่อตัดสัญญาณไม่ให้โทรศัพท์สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ ถอดซิมการ์ดโทรศัพท์ออก หรือทำการปิด Wi-fi Router
10. อัปเดตระบบปฏิบัติการของโทรศัพท์ หรืออุปกรณ์ให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ
11. ปิดใช้งานการรองรับเครือข่าย 2G (เพื่อให้อุปกรณ์สามารถเชื่อมต่อได้เฉพาะเครือข่าย 3G และ 4G)

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี บช.สอท. – CCIB

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
ECONOMY FEATURED NEWS

ธ.ก.ส. เตือน ! ระวังมิจฉาชีพแอบอ้างชื่อและตราสัญลักษณ์ธนาคารปล่อยเงินกู้นอกระบบ

ธ.ก.ส. เตือน ! ระวังมิจฉาชีพแอบอ้างชื่อและตราสัญลักษณ์ธนาคารปล่อยเงินกู้นอกระบบ

Facebook
Twitter
Email
Print

ธ.ก.ส. เตือน ! ระวังมิจฉาชีพแอบอ้างเป็นตัวแทนธนาคารปล่อยเงินกู้นอกระบบ โดยใช้ตราสัญลักษณ์และชื่อธนาคาร ยืนยัน ! ธ.ก.ส. ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำดังกล่าวและไม่มีนโยบายปล่อยเงินกู้ผ่านตัวแทนบริษัทแต่อย่างใด พร้อมแจ้งความเอาผิดผู้หลอกลวง

นายไพศาล หงษ์ทอง ผู้ช่วยผู้จัดการและโฆษกธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ด้วยขณะนี้ มีกลุ่มผู้ไม่หวังดีแอบอ้างเป็นบริษัทตัวแทนธนาคารในการนำเสนอเงินกู้นอกระบบ จัดทำเอกสารนัดรับเงินกู้และแอบอ้างชื่อและตราสัญลักษณ์ รวมถึงลายเซ็นต์พนักงาน โดยให้ชำระค่าคิวล่วงหน้าก่อนการรับสินเชื่อด้วยนั้น ธ.ก.ส. ขอเรียนว่า ธ.ก.ส. ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำดังกล่าว อีกทั้งธนาคารไม่มีนโยบายในการให้สินเชื่อผ่านตัวแทนบริษัท หรือมีการชำระค่าคิวล่วงหน้าก่อนรับสินเชื่อ จึงขอให้เกษตรกรลูกค้าและประชาชนทั่วไปอย่าหลงเชื่อบริษัทหรือบุคคลที่มีพฤติการณ์ดังกล่าว

ทั้งนี้ ธ.ก.ส. มีผลิตภัณฑ์ด้านสินเชื่ออย่างหลากหลายที่มีอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน เช่น สินเชื่อสานฝันสร้างอาชีพ สินเชื่อนวัตกรรมดี มีเงินทุน และสินเชื่อ SME เสริมแกร่ง อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 4 เป็นต้น สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลและข่าวสารด้านผลิตภัณฑ์และบริการ ผ่านช่องทางการสื่อสารหลักของธนาคาร ได้แก่ เว็บไซต์ www.baac.or.th Facebook Page “ธกส BAAC Thailand” และ LINE Official Account : @baacfamily พร้อมกันนี้ ธ.ก.ส. ขอย้ำเตือนให้ลูกค้าทุกท่าน เพิ่มความระมัดระวังมากยิ่งขึ้นในการติดต่อหรือทำธุรกรรมออนไลน์ เนื่องด้วยปัจจุบันมิจฉาชีพมีรูปแบบการหลอกลวงที่หลากหลาย ดังนั้น หากไม่แน่ใจโปรดติดต่อโดยตรงที่ธนาคาร หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 02 555 0555 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งธนาคารจะดําเนินการเอาผิดตามขั้นตอนทางกฎหมายกับผู้ที่หลอกลวงในลักษณะดังกล่าวต่อไป

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 

Facebook
Twitter
Email
Print
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
NEWS UPDATE