whoscall แอปที่จะช่วยตรวจสอบเบอร์แปลกๆ ทั้งหลาย รวมไปถึงมิจฉาชีพ และบอกได้ว่าเป็นใครโทรหรือส่งข้อความมา ล่าสุดเผยสถิติประจำปี พบยอดสายมิจฉาชีพพุ่ง 165% พร้อมเบอร์มือถือคนไทยรั่วไหลกว่า 13 ล้านเบอร์ คิดเป็นจำนวนการรั่วไหลของเบอร์โทรศัพท์ในประเทศไทยกว่า 45% เป็นข้อความหลอกลวงและสแปมนับไม่ถ้วน

โดยภัยคุกคามจากการหลอกลวงที่เพิ่มขึ้นมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่อต้านการทุจริต (Anti-Fraud Prevention) จากข้อมูลของ Fortune Business Insight อุตสาหกรรมนี้คาดว่า จะมีมูลค่าถึง 129.2 พันล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2572 ด้วยอัตราการเติบโตต่อปีที่ 22.8% จากการเพิ่มขึ้นของ AI และช่องโหว่ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลขององค์กร คาดว่าจะมีการใช้เทคโนโลยี เพื่อหลอกลวง และเกิดผลเสียทวีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต 

ดูเหมือนว่าที่ผ่านมามีมิจฉาชีพเกิดขึ้นทุกวัน ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะตามกลลวงให้ทันยังไง เพื่อน ๆ ทุกคนก็คงเห็นว่าคนร้ายเหล่านี้มักหามุขใหม่ ๆ มาหลอกพวกเราได้ตลอดเวลา จึงอยากแชรข้อมูลสถิตให้เราได้ระวังภัยกันมากขึ้นและรัดกุมกว่าเดิม

ซึ่ง 7 ใน 10 ครั้งของข้อความ SMS ที่คนไทยได้รับเป็นข้อความสแปมและข้อความหลอกลวง หรือคิดเป็น 73% ของข้อความที่ได้รับทั้งหมด ในส่วนของยอดสายโทรศัพท์หลอกลวงพุ่งขึ้น 165% จาก 6.4 ล้านครั้งในปี 2564 เป็น 17 ล้านครั้งในปี 2565 

มิจฉาชีพนิยมส่งข้อความหลอกลวงเนื่องจากสามารถเข้าถึงเหยื่อจำนวนมากด้วยต้นทุนต่ำ ข้อความ SMS ถูกใช้เป็น เครื่องมือเพื่อ “ติดต่อครั้งแรก” โดยหลอกให้เหยื่อกดลิงก์ฟิชชิ่งเพื่อขโมยข้อมูลส่วนตัว เพิ่มบัญชีไลน์เพื่อหลอกให้ส่งข้อมูลหรือ โอนเงินให้ กลอุบายที่พบบ่อยได้แก่

  • การเสนอเงินกู้โดยมักอ้างรัฐบาลหรือธนาคาร 
  • การให้สิทธิ์เข้าตรงเว็บพนันออนไลน์ ที่ผิดกฎหมาย 
  • คีย์เวิร์ดของข้อความหลอกลวงที่ถูกรายงานที่พบบ่อยที่สุดเช่น “รับสิทธิ์ยื่นกู้” “เครดิตฟรี” “เว็บตรง” “คุณได้รับสิทธิ์” “คุณได้รับทุนสำรองโครงการประชารัฐ” “คุณได้รับสิทธิ์สินเชื่อ” และ “คุณคือผู้โชคดี”   

รูปแบบและประเด็นการหลอกลวงถูกปรับเปลี่ยนไปตาม  บริบทของแต่ละประเทศจากการค้นหาและระบุการหลอกลวง (รวมการโทรและข้อความ) ต่อผู้ใช้ Whoscall 1 คน ประเทศไทยอยู่ในอันดับต้น ๆ ที่มีข้อความและสายโทรเข้าหลอกลวง เฉลี่ย 33.2 ครั้งต่อปี (เพิ่มขึ้น 7%) ขณะที่ไต้หวันมี 17.5 ครั้ง (ลดลง 20%) และมาเลเซีย 16.5 ครั้ง  (เพิ่มขึ้น 15%) ตัวเลข ดังกล่าวตอกย้ำว่าการหลอกลวงนั้นยังคงแพร่หลายไปยังหลายประเทศ 

แถมกลหลอกลวงใหม่ๆ ในประเทศไทยมักเกิดขึ้นตามความสนใจและเทรนด์ต่าง ๆ เช่นการปล่อยเงินกู้, หลอกส่งพัสดุเพื่อเก็บเงินปลายทาง,  หลอกเป็นกรมทางหลวง, หลอกให้คลิกไปเล่นพนันออนไลน์,  หลอกว่ามีงาน part time  หลอกว่าได้รางวัลจาก TikTok และแพลตฟอร์มต่างๆ  มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

ข้อมูลส่วนตัวที่รั่วไหลมักเป็นด่านแรกที่มิจฉาชีพใช้เข้าถึงรายละเอียดการติดต่อเพื่อหลอกลวงเหยื่อ  การรั่วไหลอาจเกิดขึ้นจากฐานข้อมูลขององค์กรหรือรัฐบาลถูกโจมตีทางไซเบอร์ หรือผู้ใช้กรอกแบบสำรวจ แบบทดสอบทางจิตวิทยา หรือแบบฟอร์มในเว็บไซต์ฟิชชิ่ง เพื่อลดภัยคุกคามตั้งแต่เริ่มต้น พบว่าในประเทศไทยมีการรั่วไหลของเบอร์โทรศัพท์ 45% ทั้งนี้ รหัสผ่าน เบอร์โทรศัพท์ และชื่อ เป็นข้อมูลส่วนตัว ที่มีการรั่วไหลมากที่สุด ตามด้วยสัญชาติ อีเมล ที่อยู่ และวันเกิด

ข้อมูลที่รั่วไหลแต่ละประเภทอาจทำให้เกิดความเสี่ยงที่ต่างกัน ตัวอย่างเช่น บัญชีธนาคารออนไลน์หรือบัญชีโซเชียลเน็ตเวิร์ก อาจถูกขโมยได้หากรหัสผ่านรั่วไหล หรือในกรณีที่มิจฉาชีพได้ชื่อ เบอร์โทรศัพท์ แม้แต่บันทึกการชำระเงินและการซื้อของ ก็จะสามารถใช้หลอกลวงทางโทรศัพท์และข้อความ SMS ได้อย่างง่ายดาย เพื่อป้องกันภัยจากมิจฉาชีพเราจึงควร ใช้การยืนยันตัวตนแบบสองขั้น (Two-Factors Authentication) เมื่อใช้บริการออนไลน์ เปลี่ยนรหัสผ่านที่รัดกุมเป็นประจำ และใช้ Whoscall เพื่อระบุสายโทรเข้าและข้อความ SMS ที่ไม่รู้จัก

วิธีป้องกันเบื้องต้น
  • ห้ามคลิก : หากได้รับลิงก์ใน SMS  โดยเฉพาะข้อความที่มาจากธนาคารหรือหมายเลขที่ไม่รู้จัก เนื่องจาก ปัจจุบัน มีข้อห้ามไม่ให้ธนาคารและสถาบันการเงินในประเทศไทยส่งลิงก์ทาง SMS ให้กับลูกค้าโดยตรง
  • ห้ามกรอก: หากได้รับ SMS เพื่อขอข้อมูลส่วนบุคคลหรือขออัปเดตชื่อ ผู้ใช้/รหัสผ่าน หรือข้อมูลทางการเงินที่มีลิงก์ไปยัง เว็บไซต์ ที่น่าสงสัย อย่าให้ข้อมูลส่วนบุคคลใด ๆเด็ดขาด
  • ห้ามเพิกเฉย: ผู้ใช้สามารถช่วยกันต่อต้านกลโกงและหลอกลวงทางโทรศัพท์ โดยการรายงานเบอร์โทรศัพท์ที่น่าสงสัย หรือหลอกลวง ทางแอปพลิเคชัน Whoscall เพื่อป้องกันและช่วยส่งคำเตือนไปยังกลุ่มผู้ใช้รายอื่นได้

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : whoscall

 
 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME