วันพุธที่ 17 พฤษภาคม 2566 เวลาประมาณ 08.30 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต มายังพลับพลาที่ประทับเพื่อเป็นองค์ประธานในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ปีพุทธศักราช 2566 ณ บริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวง
พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประกอบด้วยพระราชพิธี 2 พิธีรวมกัน คือ พระราชพิธีพืชมงคล
อันเป็นพิธีสงฆ์ ซึ่งเป็นการประกอบพระราชพิธีวันแรกที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง ในวันอังคารที่ 16 พฤษภาคม 2566 เป็นพิธีทำขวัญพืชพันธุ์ธัญญาหารที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอธิษฐาน
เพื่อความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ (วันไถหว่าน) อันเป็นพิธีพราหมณ์ โดยประกอบพระราชพิธีในวันพุธที่ 17 พฤษภาคม 2566 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง
พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีการซึ่งกระทำขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคลและส่งเสริมบำรุงขวัญเกษตรกร เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการเพาะปลูก กำหนดจัดขึ้นในราวเดือนหกของทุกปี หรือเดือนพฤษภาคมที่มีฤกษ์ยามที่เหมาะสม ต้องตามประเพณี ซึ่งเป็นระยะที่เหมาะสมที่จะเริ่มต้นการทำนาอันเป็นอาชีพหลักของประชาชนคนไทย
การจัดพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในปีนี้ ฤกษ์การไถหว่านอยู่ระหว่างช่วงเวลา 08.09 – 08.39 น. ผู้ทำหน้าที่ พระยาแรกนา คือ นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เทพีคู่หาบทอง ได้แก่ นางสาวดวงพร งามประดิษฐ์ นักจัดการงานทั่วไปชำนาญการ กรมวิชาการเกษตร และนางสาวชลธิชา ทองอ่อน นายสัตวแพทย์ชำนาญการ กรมปศุสัตว์ เทพีคู่หาบเงิน ได้แก่ นางสาวปนัดดา เปี่ยมมอญ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนางสาวภัทรปภา มินรินทร์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ กรมส่งเสริมการเกษตร ผู้เชิญเครื่องอิสริยยศ จำนวน 4 ราย และคู่เคียงในกระบวนแห่อิสริยยศพระยาแรกนา จำนวน 16 ราย ส่วนพระโคแรกนา ได้แก่ พระโคพอ และพระโคเพียง
สำหรับผลการพยากรณ์ถึงความสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารของประเทศ นายอภัย สุทธิสังข์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำหน้าที่ถวายรายงานการพยากรณ์ ผลการเสี่ยงทายผ้านุ่งแต่งกาย และพระโคกินเลี้ยง ในปี พ.ศ.2566 นี้ พระยาแรกนาได้ตั้งสัตยาธิษฐาน หยิบได้ผ้านุ่ง 5 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำในปีนี้จะมีปริมาณพอดี ข้าวกล้าในนา จะได้ผลบริบูรณ์ และผลาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี
ผลการเสี่ยงทายของกิน 7 สิ่ง ที่ตั้งเลี้ยงพระโค พระโคกินหญ้าและเหล้า ซึ่งผลเสี่ยงทายกล่าวว่า ถ้าพระโคกินหญ้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี และพระโคกินเหล้า พยากรณ์ว่า การคมนาคมสะดวกขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง
ในโอกาสเดียวกันนี้ ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน เกษตรกรและบุคคลทางการเกษตรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2565 จำนวน 3 ราย และเกษตรกร สถาบันเกษตรกร สหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ และปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ประจำปี 2566 จำนวน 33 ราย รวม 35 ราย ได้รับพระราชทานโล่เกียรติคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังนี้
ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน เกษตรกรและบุคคลทางการเกษตรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2565 จำนวน 3 ราย ที่เข้ารับโล่พระราชทานฯ ในปี พ.ศ. 2566 คือ
1) ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาปราชญ์เกษตรผู้ทรงภูมิปัญญาและมีคุณูปการต่อภาคการเกษตรไทย
ได้แก่ นายอเนก สีเขียวสด จังหวัดอ่างทอง
2) เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ อาชีพเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ นายเกรียงศักดิ์ เสรีรัตน์ยืนยง จังหวัดยะลา
3) เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ อาชีพทำสวน ได้แก่ นายวีรวัฒน์ จีรวงส์ จังหวัดชุมพร
เกษตรกรและบุคคลทางการเกษตรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2566 จำนวน 16 ราย คือ
1) อาชีพทำนา ได้แก่ นายพิชัย โสทะ จังหวัดนครสวรรค์
2) อาชีพทำสวน ได้แก่ นายจักรินทร์ โพธิ์พรม จังหวัดอุดรธานี
3) อาชีพทำไร่ ได้แก่ นายชาญชัย ธนะกมลประดิษฐ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
4) อาชีพไร่นาสวนผสม ได้แก่ นางสาวพนมรัตน์ รักเหล็ก จังหวัดสุราษฎร์ธานี
5) อาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ได้แก่ นางเงินเหรียญ โสมนาม จังหวัดสกลนคร
6) อาชีพเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ นายวุฒิศักดิ์ พรมแก้ว จังหวัดพังงา
7) อาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ได้แก่ นายธนันชัย เอกเผ่าพันธุ์ จังหวัดนครปฐม
8) อาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกร่อย ได้แก่ นายสุชาติ ศรีประสม จังหวัดชลบุรี
9) อาชีพเพาะเลี้ยงปลาสวยงามและพรรณไม้น้ำ ได้แก่ นายปกรณ์ วงศ์มโนพฌิช จังหวัดราชบุรี
10) อาชีพปลูกสวนป่า ได้แก่ นายมนรัตน์ วิวิธธนากร จังหวัดปทุมธานี
11) สาขาบัญชีฟาร์ม ได้แก่ นางบรรจง แสนยะมูล จังหวัดมหาสารคาม
12) สาขาการพัฒนาที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ได้แก่ นายคำภีร์ หงษ์คำ จังหวัดเพชรบูรณ์
13) สาขาการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช ได้แก่ นายสายชล จันทร์วิไร จังหวัดสุโขทัย
14) สาขาเกษตรอินทรีย์ ได้แก่ นายธนิต สมแก้ว จังหวัดพัทลุง
15) ที่ปรึกษายุวชนเกษตรกร ได้แก่ นางสาวสถาพร ตะวันขึ้น จังหวัดสมุทรสงคราม
16) สมาชิกกลุ่มยุวชนเกษตรกร ได้แก่ นางสาวจิราพัชร คุ้มกุดขมิ้น จังหวัดชัยภูมิ
สถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2566 จำนวน 12 กลุ่ม คือ
1) กลุ่มเกษตรกรทำสวน ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรทำนาบ้านร้องประดู่จังหวัดอุตรดิตถ์
2) กลุ่มเกษตรกรทำสวน ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรสวนยาง ตำบลกันทรอม จังหวัดศรีสะเกษ
3) กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ – แกะ จังหวัดแพร่
4) กลุ่มเกษตรกรทำประมง หรือกลุ่มเกษตรกรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรประมงพื้นบ้านปากพูน จังหวัดนครศรีธรรมราช
5) กลุ่มเกษตรกรแปรรูปสัตว์น้ำ ได้แก่ วิสาหกิจชุมชน กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรสว่างวีระวงศ์จังหวัดอุบลราชธานี
6) กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ได้แก่ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านนากอ จังหวัดนราธิวาส
7) กลุ่มยุวเกษตรกร ได้แก่ กลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนโนนกอกวิทยา จังหวัดชัยภูมิ
8) กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ได้แก่ กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวบ้านแฝก – โนนสำราญ จังหวัดนครราชสีมา
9) สถาบันเกษตรกรผู้ใช้น้ำชลประทาน ได้แก่ กลุ่มบริหารการใช้น้ำบางทรายนวล จังหวัดสุราษฎร์ธานี
10) ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน ประเภทข้าวหอมมะลิ ได้แก่ ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านมะยาง จังหวัดศรีสะเกษ
11) ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน ประเภท ข้าวอื่น ๆ ได้แก่ ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านบึงคล้าย – ชัยพัฒนา จังหวัดพิษณุโลก
12) วิสาหกิจชุมชน ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชน ตำบลไร่มะขามจังหวัดเพชรบุรี
สหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2566 จำนวน 3 สหกรณ์ คือ
1) สหกรณ์การเกษตร ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรด่านมะขามเตี้ย จำกัด จังหวัดกาญจนบุรี
2) สหกรณ์ออมทรัพย์ ได้แก่ สหกรณ์ออมทรัพย์ กรมการพัฒนาชุมชน จำกัด กรุงเทพมหานคร
3) สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ได้แก่ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ศูนย์กลางละอาย จำกัด จังหวัดนครศรีธรรมราช
ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ประจำปี 2566 จำนวน 2 สาขา คือ
1) สาขาปราชญ์เศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่ นายเมธี บุญรักษ์ จังหวัดนราธิวาส
2) สาขาปราชญ์เกษตรดีเด่น ได้แก่ นายวีรวัฒน์ จีรวงส์ จังหวัดชุมพร