Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE ECONOMY

‘เบียนนาเล่ เชียงราย’ เงินสะพัดกว่า 2.4 หมื่นล้าน นักท่องเที่ยว 2.7 ล้านคน

 

เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2567 นายประสพ เรียงเงิน ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาล โดย กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) มอบหมายให้สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) จัดงานมหกรรมศิลปะนานาชาติไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย ระหว่างวันที่ 9 ธันวาคม 2566 -30 เมษายน2567 โดยได้มีการประชุมเพื่อสรุปผลการดำเนินงาน พบว่า การดำเนินงานเป็นหลักสำคัญในการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ ทั้งด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยว และด้านการส่งเสริมเทศกาล หรือเฟสติวัล ซึ่งจากการเก็บข้อมูล ของ สศร. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง สรุป ยอดผู้เข้าชมงาน จัดแสดง ใน 3 ส่วนสำคัญ ณ วันที่ 21 เมษายน รวมจำนวน 2,790,964 คน โดยแบ่งเป็นเข้าชมนิทรรศการหลัก แสดงผลงานศิลปะการจัดวางเฉพาะพื้นที่ของศิลปิน 60 คนในเขต อ.เมือง อ.เชียงแสน และอ.แม่ลาว จำนวน 17 จุด จำนวน 714,235 คน ส่วนที่ Pavilion หรือ ศาลา แสดงผลงานนิทรรศการกลุ่มของศิลปิน พิพิธภัณฑ์ และองค์กรต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ 13 แห่ง มีผู้เข้าชมจำนวน 42,893 คน และในส่วน Collateral Events กิจกรรมพิเศษ มีผู้เข้าชม จำนวน 2,033,836 คน มีการเข้าถึงสื่อประชาสัมพันธ์ออนไลน์ ทาง Facebook Instagram YouTube TikTok จำนวนมากเป็นปรากฎการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นของมิติศิลปะ รวม 22,403,688 ครั้ง และมีการปฏิสัมพันธ์ทางสื่อโซเชียลเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว

 

นายประสพ กล่าวอีกว่า ขณะที่การเก็บข้อมูลตัวเลขเชิงเศรษฐกิจ จาก การประมาณการของสำนักงานสถิติแห่งชาติ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พบว่า มีนักท่องเที่ยว ใน จ.เชียงรายเพิ่มมากขึ้น ร้อยละ 11 เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบนไม่ต่ำกว่า 24,000 ล้านบาท เกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจในพื้นที่ ในช่วงการจัดงาน มีการจ้างงาน 8,000 กว่าอัตรา โดยเป็นการจ้างในระบบประกันสังคม 844 อัตรา ชุมชนได้รับประโยชน์จากการจัดงาน 560 ชุมชน มีศิลปินทั้งในและต่างประเทศตั้งใจมาชมงานนี้โดยตรง 1,000 กว่าคน มี สถาบันการศึกษาทุกระดับมาดูงาน เกิน 500 กว่าแห่ง จึงเห็นภาพของจำนวนคนและการเข้าถึงงานเป็นอย่างมาก ซึ่ง นายเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ ในฐานะผู้นำการจัดงาน แสดงข้อคิดเห็นว่า ต่อไป ไม่ต้องมีคำอธิบายแล้วว่า ไทยแลนด์เบียนนาเล่คืออะไร เพราะคนไทยมีความเข้าใจ และเข้าถึงงานศิลปะแล้ว และที่สำคัญ ได้เกิดการทำงานร่วมระหว่างหน่วยงานรัฐ ศิลปินไทย และต่างชาติ ช่างฝีมือ ลูกมือทำงาน เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ และถ่ายทอดองค์ความรู้ ระหว่างกันทำให้ศิลปิน และชาวชุมชนทุกที่มีความผูกพัน และมีความภูมิใจที่ได้ทำงานศิลปะระดับโลกให้เกิดขึ้นในประเทศไทย

 

“ผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้นเกินความคาดหวัง เกิดผลทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม อย่างไรก็ตาม สศร. จะมีการถอดบทเรียนจากการจัดงานครั้งนี้ ไปทำการศึกษาวิจัย เพื่อการปรับปรุงและพัฒนาการจัดงานในครั้งต่อไป ที่ จ.ภูเก็ต ในปี 2568 และจะมีการสรุปข้อมูลภาพรวมอย่างเป็นทางการโดย สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. หลังการจัดงาน ในระยะเวลา 3 เดือน เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป” ผอ.สศร.

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

ศิลปินจากนิวยอร์คและ CiNEMA For All ชวนชาวเชียงแสนร่วมกิจกรรมศิลปะร่วมสมัย

 
เมื่อวันศุกร์ที่ 5 มกราคม   2567 นายประสพ เรียงเงิน ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม พร้อมด้วยนายฤษ์ฤทธิ์ ติระวณิช และนางกฤติยา กาวีวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ นายอังกฤษ อัจฉริยโสภณ และนางสาวมนุพร เหลืองอร่าม ภัณฑารักษ์ นางสาวชลิดา เอื้อบำรุงจิต ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ นายพิสันต์ จันทรศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย นายสุวิทย์ ใจป้อม นายกสมาคมขัวศิลปะ และเจ้าหน้าที่สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย 
 
 
เข้าร่วมกิจกรรมในงานไทยแลนด์เบียนนาเล่เชียงราย ได้แก่ ขบวนพาเหรดของศิลปิน  Arto Lindsay ศิลปินจากนิวยอร์คในชุด “Liquid  Paper” ซึ่งมีประชาชนชาวศรีดอนมูลแต่งกายเข้าร่วมขบวนพาเหรดอย่างสนุกสนาน เริ่มจากวัดศรีชัยแม่มะ ไปยังโรงเรียนบ้านแม่มะ จากนั้นร่วมกิจกรรมเสวนาของ Cinema for All พาวิลเลี่ยนของพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ (MoMA) จากนิวยอร์ค โดยมี Tilda Swinton นักแสดงชื่อดังจากฮอลล์วู้ด จอซ ซีเกล ภัณฑารักษ์ภาพยนตร์ของพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ (MoMA) นิวยอร์ค และ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทยฝีมือระดับโลก ร่วมเสวนา โดยชมวรรณ วีรวรวิทย์ ดำเนินรายการ และร่วมชมภาพยนตร์ตามโปรแกรม  “เงาเหล่าบรรพชนที่ถูกลืมของเรา” ผ่านการฉายภาพยนตร์นานาชาติแบบหนังกลางแปลงทั้งจอหน้าและจอหลัง 
 
 
โดยได้รับการสนับสนุนจากชาแนล แบรนด์ชั้นนำระดับโลก โดยได้รับการสนับสนุนจากหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) หอภาพยนตร์และภาพยนตร์สถานฝรั่งเศส หอภาพยนตร์เบลเยียมและฝรั่งเศส หอภาพยนตร์เมืองโบโลญญา สถาบันภาพยนตร์เนเธอร์แลนด์ และคลังจัดเก็บ Archivo National de la Imagen-Sodre (Montevideo) ภายในงานมีศิลปิน บุคคลในวงการศิลปะร่วมสมัย วงการภาพยนตร์ ภัณฑารักษ์ชั้นนำ นักแสดง ผู้สนใจงานศิลปะ และประชาชนในพื้นที่อำเภอเชียงแสน เข้าร่วมกิจกรรมฯ ครั้งนี้อย่างคับคั่ง อาทิ คุณพิมพกา โตวิระ หมาก ปริญ มิว นิษฐา ฯลฯ
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
CULTURE

3 เครือข่ายภาครัฐและเอกชนหนุน พัฒนางานศิลปะร่วมสมัยผ่านนิทรรศการเครือข่าย

 

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2566 นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม  เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนางานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ประจำปี 2567 ระหว่างกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรมกับธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) บริษัท ไอคอนสยาม จำกัดและกลุ่ม Chat Lab โดยมีคุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ประธานกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย นายประสพ เรียงเงิน ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย นางวีระอนงค์ จิระนคร ภู่ตระกูล กรรมการผู้จัดการ Retail and Brand ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) นายสุพจน์ ชัยวัฒน์ศิริกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท ไอคอนสยาม จำกัด และนายณัฏฐาปกรณ์ คะปูคำ สถาปนิกผู้แทนกลุ่ม Chat Lab ร่วมลงนามความร่วมมือ 

 

โดยมีนายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ  ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม นางลาลีวรรณ กาญจนจารี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม นางสุภัทร กิจเวช ผู้ช่วยปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นางสาวเพ็ญพิสุทธิ์ จินตโสภณ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม คณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย ศิลปินและผู้แทนหน่วยงานเครือข่ายที่ได้รับการส่งเสริมจากกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 และปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ศิลปิน แขกผู้มีเกียรติ และสื่อมวลชน เข้าร่วม ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน กรุงเทพฯ 

 

นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับองค์กรเครือข่ายและศิลปินทุกท่าน ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตลอดจนความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นจากพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในวันนี้ ระหว่าง กองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย และสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายทั้ง 3 หน่วยงานได้แก่ 1. ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) 2. บริษัท ไอคอนสยาม จำกัด 3. กลุ่ม Chat Lab และการจัดนิทรรศการแสดงผลงานโครงการที่ได้รับการสนับสนุนในปี 2566 จะทำให้การขับเคลื่อนนโยบาย Soft Power ของรัฐบาล โดยการนำศิลปะร่วมสมัยมาเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาความรู้ ความสามารถ และส่งเสริมพลังความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยให้พัฒนาไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าและบริการบนพื้นฐานของทุนทางสังคมและวัฒนธรรม อันเป็นสิ่งสำคัญที่จะผลักดันและเสริมสร้างอัตลักษณ์ความเป็นไทยให้แพร่หลายในประชาคมโลกและยังเป็นก้าวสำคัญในการบูรณาการความร่วมมือเชิงรุก 
ที่สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนในอนาคต 
 
 
 
คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูลประธานกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย ได้ทำหน้าที่เป็นแหล่งทุนที่ให้การส่งเสริมศิลปะร่วมสมัยแก่ศิลปินและเครือข่ายฯ ทั้งภาครัฐและเอกชนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561- 2566 โดยได้ให้การสนับสนุนโครงการต่างๆ รวมทั้งสิ้น 162 โครงการ เป็นงบประมาณรวมกว่า 43 ล้านบาท และในปี พ.ศ. 2567 มีโครงการที่ได้รับการส่งเสริมจากกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย จำนวนทั้งสิ้น 27 โครงการ เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 3,950,000 บาท ครอบคลุม 4 แนวทางหลัก ได้แก่ แนวทางที่ 1 วิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย และ/หรือนำงานวิจัยมาประยุกต์ใช้ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม  แนวทางที่ 2 ส่งเสริมสนับสนุนการสร้างสรรค์งานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยเพื่อเป็นการเพิ่มคุณค่า มูลค่าทางเศรษฐกิจ แนวทางที่ 3 สร้างความร่วมมือเครือข่ายเพื่อยกระดับคุณค่าที่หลากหลายทางสังคมและชุมชน  แนวทางที่ 4 ส่งเสริมการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยไทยผ่านสื่อแขนงต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ
 
โครงการที่ได้รับการส่งเสริมล้วนมีแนวทางการดำเนินงานที่มุ่งเน้นการให้เกิดการมีส่วนร่วมกับเครือข่ายในระดับชุมชน ระดับชาติ และระดับนานาชาติ และต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้ง 3 ด้านได้แก่ ด้านสังคม วัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งก่อให้เกิดการบูรณาการส่งเสริมศิลปะร่วมสมัยเชิงรุกผ่านระบบนิเวศศิลปะ ช่วยยกระดับคุณค่าทางสังคมและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
 
 
ทั้งนี้ นิทรรศการโครงการที่ได้รับการส่งเสริมจากกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัยประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เปิดให้เข้าชมผลงานโดยไม่เสียค่าเข้าชม ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2566 จนถึงวันที่ 5 มกราคม 2567  ณ ห้องปฏิบัติการ 1 และ 2 บริเวณชั้น 2 ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน กรุงเทพฯ 
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงวัฒนธรรม

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

กิจกรรมเปิดงาน “พลัดถิ่น ดินแดนใคร” Thailand Biennale, Chiang Rai 2023

 

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 ธันวาคม 2566 กิจกรรมเปิดงาน “พลัดถิ่น ดินแดนใคร”  ณ ลานกิจกรรมสามเหลี่ยมทองคำ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 ครั้งที่ 3 โดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ จังหวัดเชียงราย ภายใต้ธีม “เปิดโลก”

มีนายประสพ เรียงเงิน ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวถึงการจัดงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023  ร่วมถึงนายเชาว์วัฒน์ รัตนการุณจิต ปลัดอำเภอเชียงแสน (เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการพิเศษ) ปฏิบัติราชการแทน นายอำเภอเชียงแสน กล่าวต้อนรับ ท่านกงสุล กฤษณะ จัยตัญญา กงสุลอินเดียประจำจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวพบปะผู้มีเกียรติและศิลปินผู้เข้าร่วมงานคุณนาวิน ลาวัลย์ชัยกุล ศิลปิน กล่าวถึงผลงานและเล่าถึงป๊อเฒ่าติ๊บ สรนันท์

 

โอกาสนี้ คุณกฤษ์ฤทธิ์ ตีระวานิช ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ พร้อมด้วย คุณกฤติยา กาวีวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ คุณอังกฤษ อัจฉริยโสภณ ภัณฑารักษ์ คุณมนุพร เหลืองอร่าม ภัณฑารักษ์ และคณะบุคลากรจากสำนักงานศิลปะวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม เข้าร่วมงานอย่างพร้อมเพรียงกัน

 

จัดโดยคุณนาวิน ลาวัลย์ชัยกุล ศิลปิน และทีมงานสตูดิโอเค จัดพิธีเปิดงานในผลงานชุดนี้ยังเป็นส่วนขยายของงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับชุมชนพลัดถิ่นในพื้นที่เขตติดต่อชายแดนภาคเหนือตอนบนของไทย โดยผลงานส่วนแรกได้นำไปจัดแสดงที่ศูนย์ศิลปะแห่งเมืองเกาสง ประเทศไต้หวัน ต่อเนื่องมาถึงงานที่พัฒนาขึ้นในครั้งนี้ ได้เลือกพื้นที่ประวัติศาสตร์ของเมืองเก่าเชียงแสน ในการออกเดินทางเพื่อศึกษาความเป็นมาของชุมชนบริเวณริมน้ำโขง โครงการนี้ยังได้ขยายขอบเขตไปยังเมืองเชียงตุงและเมืองชนบทอื่น ๆ ในเขตรัฐฉานของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

 

โดยมีเป้าหมายในการสำรวจวิถีชีวิตและการย้ายถิ่นฐานของชาวไต ซึ่งถือเป็นต้นกำเนิดของชนชาติไทย ศิลปินยังได้สำรวจการเปลี่ยนแปลงของชุมชนในบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ รวมถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่เป็นคิงส์โรมัน ประสบการณ์จากผู้คนที่ศิลปินได้พบปะตลอดการเดินทาง

 

ซึ่งบ่อยครั้งมักเกี่ยวพันกับภูมิหลังส่วนตัวและรากเหง้าของบรรพบุรุษก่อเกิดเป็นกระบวนการทางศิลปะที่เชื่อมระหว่างศิลปะและชุมชนเข้าด้วยกัน ประวัติศาสตร์ของชุมชนและการตั้งถิ่นฐานของผู้คนหลากหลายกลุ่มในพื้นที่นี้ร้อยเรียงขึ้นเป็นชุดผลงานศิลปะผ่านบันทึกการเดินทางของศิลปินจนเกิดเป็นผลงานจิตรกรรมแนวโปสเตอร์หนังอันเป็นเอกลักษณ์ของศิลปินและทีมงานสตูดิโอเค

 

นำโดยช่างวาดภาพโรงหนังยุคสุดท้ายของไทยเชื่อมต่อกับภาพยนตร์สารคดีซึ่งประพันธ์ขึ้นจากจดหมายฉบับหนึ่งที่ศิลปินเขียนถึงชาวเชียงแสน เพื่อบอกเล่าประสบการณ์ในการเดินทาง การทำเสียงบรรยายภาพยนตร์สารคดีชุดนี้ศิลปินเลือกใช้ภาษาถิ่นทางภาคเหนือด้วยสำเนียงที่แตกต่างกันผสมผสานกับภาษาอื่น ๆ ของกลุ่มคนพลัดถิ่นรวมทั้งชนกลุ่มน้อยเพื่อสะท้อนถึงความหลากหลายทางชาติพันธุ์ของผู้คนชาวเชียงแสน

 

จัดแสดงอยู่ในพื้นที่จุดชมวิวสามเหลี่ยมทองคำ อำเภอเชียงแสน ซึ่งเป็นจุดบรรจบของแม่น้ำโขงและแม่น้ำรวกอันเป็นเขตติดต่อระหว่างไทย ลาว เมียนมา สอดคล้องกับชื่อผลงาน “พลัดถิ่น ดินแดนใคร” ชี้ให้เห็นแนวคิดเรื่องเขตแดนที่เปลี่ยนแปลงไปจากโลกในอดีตอันส่งผลต่อวิถีชีวิตและการโยกย้ายถิ่นฐานผู้คนในแต่ละยุคสมัย วัฒนธรรม ชาติพันธุ์ และมุมมองทางสังคมที่หลากหลาย ซึ่งการจัดงานดังกล่าว มีกิจกรรมสำคัญ ดังนี้

  1. การแสดงดนตรีของ พ่อเฒ่าติ๊บ สรนันท์ และคณะ
  2. รำนกรำโต โดย กลุ่มเยาวชนบ้านสบรวก
  3. รำกลองมองเซิง โดยชุมชนชาวไต บ้านสบรวก
  4. การฉายภาพยนตร์ “พลัดถิ่น ดินแดนใคร” จดหมายจากนาวินถึงชาวเชียงแสน
  5. การแสดงนิทรรศการภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองเชียงแสน โดย แสนศิลป์เชียงราย
  6. นิทรรศการและการแสดง โดย กลุ่มชาตพันธุ์ในเชียงแสน
  7. การถ่ายภาพที่ระลึกกับชาวเชียงแสน
  8. การบริการอาหารและเครื่องดื่ม อาหารพื้นเมืองอัตลักษณ์ของท้องถิ่น

ในโอกาสนี้ นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วย นางพรทิวา ขันธมาลา ผู้อำนวยการกลุ่มยุทธศาสตร์และเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม นางกัลยา แก้วประสงค์ นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ นายสุพจน์ ทนทาน นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ และนายพร้อมพงษ์ ทาสิทธิ์ ข้าราชการและบุคลากรสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย เข้าร่วมงาน ดังกล่าว

 

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สนง.วัฒนธรรม เชียงราย

พัชรนันท์ แก้วจินดา, สุพจน์ ทนทาน : รายงาน 
พร้อมพงษ์ ทาสิทธิ์ : ภาพ 
อภิชาต กันธิยะเขียว : บรรณาธิการข่าว 
 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

ตามความก้าวหน้าผลงานศิลปะของศิลปิน Thailand Biennale, Chiang Rai 2023

 

สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม โดย นายประสพ เรียงเงิน ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปะร่วมสมัย พร้อมคณะ ลงพื้นที่เพื่อติดตามความก้าวหน้าในการผลิตและติดตั้งผลงานศิลปะของศิลปินในโครงการการจัดงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 ในวันจันทร์ที่ 6 พฤศจิกายน 2566 เวลา 08.30 – 16.30 น. ณ พื้นที่อำเภอเมืองเชียงราย จำนวน 5 แห่ง ดังนี้

  1. หอศิลป์แทนคุณ (Tankhun Art Gallery) วัดร่องขุ่น ตำบลป่าอ้อดอนชัย
  2. ศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน ตำบลห้วยสัก
  3. หอศิลปะร่วมสมัยเมืองเชียงราย (CIAM) ตำบลริมกก
  4. อาคารปฐมาคารนุสรณ์ 2542 (MFU MEMORIAL HALL 1999) มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ตำบลท่าสุด
  5. พิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ตำบลท่าสุด

     ในการนี้ นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วย นายวรพล จันทร์คง นักวิชาการวัฒนธรรมปฏิบัติการ นายยุทธนา สุทธสม นักวิชาการวัฒนธรรมปฏิบัติการ และ นายสุพจน์ ทนทาน นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ ข้าราชการสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย ร่วมลงพื้นที่เพื่อสนับสนุน อำนวยความสะดวก และตามคณะดังกล่าว

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม

พัชรนันท์ แก้วจินดา, สุพจน์ ทนทาน : รายงาน

วรพล จันทร์คง : ภาพ 

อภิชาต กันธิยะเขียว : บรรณาธิการข่าว 

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News