เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 ธันวาคม 2566 กิจกรรมเปิดงาน “พลัดถิ่น ดินแดนใคร”  ณ ลานกิจกรรมสามเหลี่ยมทองคำ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 ครั้งที่ 3 โดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ จังหวัดเชียงราย ภายใต้ธีม “เปิดโลก”

มีนายประสพ เรียงเงิน ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวถึงการจัดงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023  ร่วมถึงนายเชาว์วัฒน์ รัตนการุณจิต ปลัดอำเภอเชียงแสน (เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการพิเศษ) ปฏิบัติราชการแทน นายอำเภอเชียงแสน กล่าวต้อนรับ ท่านกงสุล กฤษณะ จัยตัญญา กงสุลอินเดียประจำจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวพบปะผู้มีเกียรติและศิลปินผู้เข้าร่วมงานคุณนาวิน ลาวัลย์ชัยกุล ศิลปิน กล่าวถึงผลงานและเล่าถึงป๊อเฒ่าติ๊บ สรนันท์

 

โอกาสนี้ คุณกฤษ์ฤทธิ์ ตีระวานิช ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ พร้อมด้วย คุณกฤติยา กาวีวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ คุณอังกฤษ อัจฉริยโสภณ ภัณฑารักษ์ คุณมนุพร เหลืองอร่าม ภัณฑารักษ์ และคณะบุคลากรจากสำนักงานศิลปะวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม เข้าร่วมงานอย่างพร้อมเพรียงกัน

 

จัดโดยคุณนาวิน ลาวัลย์ชัยกุล ศิลปิน และทีมงานสตูดิโอเค จัดพิธีเปิดงานในผลงานชุดนี้ยังเป็นส่วนขยายของงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับชุมชนพลัดถิ่นในพื้นที่เขตติดต่อชายแดนภาคเหนือตอนบนของไทย โดยผลงานส่วนแรกได้นำไปจัดแสดงที่ศูนย์ศิลปะแห่งเมืองเกาสง ประเทศไต้หวัน ต่อเนื่องมาถึงงานที่พัฒนาขึ้นในครั้งนี้ ได้เลือกพื้นที่ประวัติศาสตร์ของเมืองเก่าเชียงแสน ในการออกเดินทางเพื่อศึกษาความเป็นมาของชุมชนบริเวณริมน้ำโขง โครงการนี้ยังได้ขยายขอบเขตไปยังเมืองเชียงตุงและเมืองชนบทอื่น ๆ ในเขตรัฐฉานของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

 

โดยมีเป้าหมายในการสำรวจวิถีชีวิตและการย้ายถิ่นฐานของชาวไต ซึ่งถือเป็นต้นกำเนิดของชนชาติไทย ศิลปินยังได้สำรวจการเปลี่ยนแปลงของชุมชนในบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ รวมถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่เป็นคิงส์โรมัน ประสบการณ์จากผู้คนที่ศิลปินได้พบปะตลอดการเดินทาง

 

ซึ่งบ่อยครั้งมักเกี่ยวพันกับภูมิหลังส่วนตัวและรากเหง้าของบรรพบุรุษก่อเกิดเป็นกระบวนการทางศิลปะที่เชื่อมระหว่างศิลปะและชุมชนเข้าด้วยกัน ประวัติศาสตร์ของชุมชนและการตั้งถิ่นฐานของผู้คนหลากหลายกลุ่มในพื้นที่นี้ร้อยเรียงขึ้นเป็นชุดผลงานศิลปะผ่านบันทึกการเดินทางของศิลปินจนเกิดเป็นผลงานจิตรกรรมแนวโปสเตอร์หนังอันเป็นเอกลักษณ์ของศิลปินและทีมงานสตูดิโอเค

 

นำโดยช่างวาดภาพโรงหนังยุคสุดท้ายของไทยเชื่อมต่อกับภาพยนตร์สารคดีซึ่งประพันธ์ขึ้นจากจดหมายฉบับหนึ่งที่ศิลปินเขียนถึงชาวเชียงแสน เพื่อบอกเล่าประสบการณ์ในการเดินทาง การทำเสียงบรรยายภาพยนตร์สารคดีชุดนี้ศิลปินเลือกใช้ภาษาถิ่นทางภาคเหนือด้วยสำเนียงที่แตกต่างกันผสมผสานกับภาษาอื่น ๆ ของกลุ่มคนพลัดถิ่นรวมทั้งชนกลุ่มน้อยเพื่อสะท้อนถึงความหลากหลายทางชาติพันธุ์ของผู้คนชาวเชียงแสน

 

จัดแสดงอยู่ในพื้นที่จุดชมวิวสามเหลี่ยมทองคำ อำเภอเชียงแสน ซึ่งเป็นจุดบรรจบของแม่น้ำโขงและแม่น้ำรวกอันเป็นเขตติดต่อระหว่างไทย ลาว เมียนมา สอดคล้องกับชื่อผลงาน “พลัดถิ่น ดินแดนใคร” ชี้ให้เห็นแนวคิดเรื่องเขตแดนที่เปลี่ยนแปลงไปจากโลกในอดีตอันส่งผลต่อวิถีชีวิตและการโยกย้ายถิ่นฐานผู้คนในแต่ละยุคสมัย วัฒนธรรม ชาติพันธุ์ และมุมมองทางสังคมที่หลากหลาย ซึ่งการจัดงานดังกล่าว มีกิจกรรมสำคัญ ดังนี้

  1. การแสดงดนตรีของ พ่อเฒ่าติ๊บ สรนันท์ และคณะ
  2. รำนกรำโต โดย กลุ่มเยาวชนบ้านสบรวก
  3. รำกลองมองเซิง โดยชุมชนชาวไต บ้านสบรวก
  4. การฉายภาพยนตร์ “พลัดถิ่น ดินแดนใคร” จดหมายจากนาวินถึงชาวเชียงแสน
  5. การแสดงนิทรรศการภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองเชียงแสน โดย แสนศิลป์เชียงราย
  6. นิทรรศการและการแสดง โดย กลุ่มชาตพันธุ์ในเชียงแสน
  7. การถ่ายภาพที่ระลึกกับชาวเชียงแสน
  8. การบริการอาหารและเครื่องดื่ม อาหารพื้นเมืองอัตลักษณ์ของท้องถิ่น

ในโอกาสนี้ นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วย นางพรทิวา ขันธมาลา ผู้อำนวยการกลุ่มยุทธศาสตร์และเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม นางกัลยา แก้วประสงค์ นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ นายสุพจน์ ทนทาน นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ และนายพร้อมพงษ์ ทาสิทธิ์ ข้าราชการและบุคลากรสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย เข้าร่วมงาน ดังกล่าว

 

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สนง.วัฒนธรรม เชียงราย

พัชรนันท์ แก้วจินดา, สุพจน์ ทนทาน : รายงาน 
พร้อมพงษ์ ทาสิทธิ์ : ภาพ 
อภิชาต กันธิยะเขียว : บรรณาธิการข่าว 
 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME