Categories
FEATURED NEWS

“สกสว. บพข. ททท. และ ATTA ผนึกกำลังวิจัย Market Foresight และ Thailand Tourism Carrying Capacity มุ่งสู่ศูนย์กลางการท่องเที่ยวระดับโลก”

 

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 30 พฤษภาคม  2567 เวลา 09.00 – 12.00 น.  ที่ โรงแรม เอส 31 สุขุมวิทกรุงเทพมหานคร สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA)  จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU)  “การพัฒนาและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ด้วยงานวิจัยการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์” ทั้ง 4 หน่วยงานในเป้าหมายสำคัญที่จะร่วมมือกันสนับสนุนการพัฒนาและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การตลาดภาคการท่องเที่ยวและบริการ ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อยกระดับศักยภาพของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) อย่างยั่งยืนบนฐานทรัพยากรของประเทศ และสอดคล้องตามแผนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2566-2570 (ววน.) ในด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ตามแนวทางการพัฒนาระบบเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG) ในด้านการท่องเที่ยวให้เป็นระบบเศรษฐกิจมูลค่าสูง มีความยั่งยืนและเพิ่มรายได้ของประเทศ ผ่านการทำงานและขับเคลื่อนร่วมกันตามบทบาทภารกิจของแต่ละหน่วยงาน โดยใช้กลไกการสนับสนุนงบประมาณวิจัยที่มีโจทย์ความต้องการของภาคเอกชน เพื่อให้เกิดผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมและเกิดผลกระทบในวงกว้าง  โดยมีนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานในพิธี ณ ห้องบอลรูม 1 ชั้น 5 โรงแรม เอส 31 สุขุมวิท กรุงเทพมหานคร 30 พฤษภาคม 2567

 

ในโอกาสนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว.ได้มอบหมายให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว.เป็นผู้แทนเข้าร่วม พร้อมกันนี้ ด้านของ บพข. รองศาสตราจารย์ ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์  ผู้อำนวยการ บพข. ได้มอบหมายให้ รองศาสตราจารย์ ดร.ชาลีดา บรมพิชัยชาติกุล รองผู้อำนวยการด้านกลยุทธ์วิจัย บพข.เป็นผู้แทน สำหรับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มีนายอภิชัย ฉัตรเฉลิมกิจ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว ในฐานะผู้แทนผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และ ATTA มี นายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือภายใต้โครงการวิจัยของแผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ งบประมาณจากกองทุนส่งเสริม วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม โดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

 

นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ประธานในพิธี กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายในการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 3 ล้านล้านบาท มุ่งเน้นให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยว (Tourism Hub) พร้อมขับเคลื่อนการท่องเที่ยวร่วมกับภาคเอกชน สมาคมแอตต้า รวมทั้งสมาคมอื่นๆ ซึ่งถือเป็นหัวจักรสำคัญของภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการของประเทศไทย           โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและหน่วยงานในสังกัด พร้อมสนับสนุนเต็มกำลัง นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้ผู้แทนสมาคมต่างๆ เสนอประเด็นสำคัญในการขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของประเทศไทย      ทั้งการเปิดตลาดใหม่ที่มีศักยภาพสูง การเพิ่มเที่ยวบิน การพิจารณาเรื่องวีซ่า การแต่งตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการเพื่อขับเคลื่อนการท่องเที่ยวไทย รวมทั้ง การส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล (Tourism for All) รองรับสังคมผู้สูงอายุเพื่อคุณภาพชีวิต การเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของคนไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ นักท่องเที่ยวกลุ่มฟื้นฟูสุขภาพ กลุ่มครอบครัว กลุ่มผู้พิการ ซึ่งถือเป็นตลาดนักท่องเที่ยวขนาดใหญ่ ซึ่งการพัฒนานี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยองค์ความรู้จากฐานงานวิจัยและพัฒนา เพื่อนำไปสู่การเตรียมความพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มศักยภาพสูงนี้ให้ได้รับความสะดวกสบายและปลอดภัยในระดับมาตรฐานสากลตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยในปัจจุบันกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้ดำเนินการพัฒนาอารยสถาปัตย์ (universal design) เตรียมความพร้อมในการอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวสำหรับคนทุกคนในสังคมได้อย่างเท่าเทียมกัน

 

ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. ในฐานะผู้แทนผู้อำนวยการ สกสว. เผยว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวระหว่างปี พ.ศ. 2559-2562 สร้างรายได้ให้กับประเทศปีละประมาณ 2.1 ถึง 2.7 ล้านล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 18 ของ GDP และรัฐบาลมีนโยบายเชื่อมโยงระหว่างการท่องเที่ยวกับซอฟต์พาเวอร์ ผ่านเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ เสน่ห์ไทย นำจุดแข็งของมรดกทางวัฒนธรรมมาเป็นจุดขายที่นักท่องเที่ยวสามารถสัมผัสผ่านประสบการณ์ตรง อาทิ ศิลปะการต่อสู้มวยไทย วัฒนธรรมอาหารไทย ผ้าไทย เทศกาลและโชว์ไทย เป็นต้น ความร่วมมือ (MOU) นี้จึงมุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการวิจัย      การยกระดับและขับเคลื่อนการท่องเที่ยวโดยภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นที่ 2 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1) ด้าน Demand : ภาพอนาคตการตลาด (Market Foresight) เพื่อปรับกลยุทธ์ธุรกิจให้สอดคล้องกับพฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไปหลังการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยใช้ข้อมูลจาก Social Listening และ Foresight การทำงานในด้านนี้จะช่วยให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบสนองต่อความต้องการของนักท่องเที่ยวได้ดียิ่งขึ้น นำไปสู่การเพิ่มรายได้และความพึงพอใจของนักท่องเที่ยว 2) ด้าน Supply : ความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยว (Carrying Capacity) เพื่อลดปัญหานักท่องเที่ยวล้นเมืองหลักในกรุงเทพฯ ภูเก็ต สมุย เชียงใหม่ และชลบุรี ด้วยการกระจายนักท่องเที่ยวไปยังเมืองน่าเที่ยวอื่นๆ โดยนำเสนอข้อมูลผ่าน Dashboard เพื่อให้ภาคเอกชนมีเครื่องมือในการประเมินพื้นที่รองรับนักท่องเที่ยวในอนาคต การกระจายนักท่องเที่ยวจะช่วยลดความแออัดในเมืองหลัก เพิ่มความพึงพอใจของนักท่องเที่ยว และส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่อื่น ๆ

 

สำหรับ รศ.ดร.ชาลีดา บรมพิชัยชาติกุล รองผู้อำนวยการด้านกลยุทธ์วิจัย (บพข.) กล่าวว่า บพข.ในฐานะหน่วยบริหารและจัดการทุนที่ดูแลงานวิจัยด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มองว่าในระยะยาว ผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตสำหรับความร่วมมือสำคัญในครั้งนี้ คือ 1)ความยั่งยืนของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว : การท่องเที่ยวของประเทศไทยจะมีความยั่งยืนมากขึ้น ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ 2)การเติบโตของเศรษฐกิจท้องถิ่น : เมืองและชุมชนที่ได้รับการกระจายนักท่องเที่ยวจะมีโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้น และ 3)การเพิ่มความพึงพอใจของนักท่องเที่ยว : นักท่องเที่ยวจะได้รับประสบการณ์ที่ดีขึ้นจากการท่องเที่ยวในประเทศไทย นำไปสู่การเพิ่มจำนวนของนักท่องเที่ยวที่กลับมาเที่ยวอีกครั้ง

 

นายอภิชัย ฉัตรเฉลิมกิจ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยวผู้แทน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)  เผยว่า สำหรับการท่องเที่ยวแห่งประเทศ หรือ ททท.ในฐานะภาครัฐที่เป็นผู้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวไทยในการสร้างประสบการณ์ที่ทรงคุณค่าและมุ่งสู่ความยั่งยืน ความร่วมมือในนี้แสดงให้เห็นถึงการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในการพัฒนานโยบายและกลยุทธ์การท่องเที่ยวที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับนโยบาย IGNITE Thailand ของภาครัฐที่มุ่งผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวในภูมิภาค

 

ด้าน นายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) กล่าวว่า ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งเป็นเป้าหมายระยะกลาง คือ ประการแรก การยกระดับความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งความร่วมมือของ 4 หน่วยงานสำคัญในครั้งนี้ จะช่วยให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการของประเทศไทยมีความสามารถในการปรับตัวและแข่งขันในตลาดโลกได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะในด้านการตอบสนองต่อความต้องการที่เปลี่ยนแปลงของนักท่องเที่ยว ประการที่สอง การกระจายนักท่องเที่ยว : ลดความแออัดในเมืองหลักและเพิ่มโอกาสในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ ทั่วประเทศ ส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจในพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ และประการสุดท้ายคือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ : ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณภาพและตรงกับความต้องการของนักท่องเที่ยวมากขึ้น นำไปสู่การเพิ่มรายได้และการสร้างชื่อเสียงที่ดีให้กับประเทศไทยได้เป็นอย่างยิ่ง

 

ซึ่งการลงนามบันทึกข้อตกลงฉบับนี้ เป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของการสร้างความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง ระหว่างภาครัฐ ทั้ง สกสว. บพข. และ ททท. และ ATTA ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นางสาวศุภมาส อิศรภักดี ที่ว่า “เอกชนนำ รัฐสนับสนุน” เพราะภาคเอกชนผู้ที่มีเครื่องมือและข้อมูลที่สามารถช่วยในการวางแผนและปรับกลยุทธ์จะทำให้ธุรกิจสามารถตอบสนองต่อความต้องการของนักท่องเที่ยวได้ดียิ่งขึ้น ลดความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสในการเติบโต ทั้งนี้สมาคมท่องเที่ยวอื่นๆ ก็จะสามารถได้รับข้อมูลและแนวทางปฏิบัติที่ดีจากความร่วมมือนี้ สามารถนำไปปรับใช้เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของสมาคมและสมาชิกให้มีความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยวและพัฒนาการท่องเที่ยวในอนาคต สามารถผลักดันการท่องเที่ยวของประเทศไทยให้มีความยั่งยืนและสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมั่นคง

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
TRAVEL

มหาสงกรานต์ 21 วัน จัด 20 พาเหรด คาดต่างชาติเข้าไทย 5.1 แสนคน

 

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2567 นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และนายเกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมแถลงข่าวงาน “Maha Songkran World Water Festival 2024 เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567” เตรียมจัดขบวนพาเหรดสงกรานต์ยิ่งใหญ่ พร้อมนำเสนอความวิจิตรตระการตา สะท้อนอัตลักษณ์วัฒนธรรม Soft Power ไทย บริเวณถนนราชดำเนินกลาง และท้องสนามหลวง ระหว่างวันที่ 11 – 15 เมษายน นี้

 นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า จากการที่ประเพณีสงกรานต์ในประเทศไทยได้รับการประกาศจากองค์การ UNESCO ให้ขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรมจึงได้สนับสนุนการจัดกิจกรรมสงกรานต์ในกรุงเทพมหานคร และส่วนภูมิภาค 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น สมุทรปราการ ชลบุรี และภูเก็ต พร้อมจัดทำปฏิทินการจัดกิจกรรมสงกรานต์ ประจำปีพุทธศักราช 2567 ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคในช่วงเดือนเมษายน และได้แต่งตั้งนางสาว แอนโทเนีย โพซิ้ว รองนางงามจักรวาลอันดับ 1 เป็น “นางมโหธรเทวี” นางสงกรานต์ ประจำปี 2567 
 
 
เพื่อร่วมถ่ายทอดคุณค่าและแสดงอัตลักษณ์ของประเพณีสงกรานต์ไทย พร้อมกันนี้ ยังได้จัดทำบทเพลงสงกรานต์ 4 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน และภาษาฝรั่งเศส เพื่อให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวต่างชาติรับรู้ถึงคุณค่าสาระของประเพณีสงกรานต์ไทย สนับสนุนการสร้างพลังสร้างสรรค์ Soft Power ให้สร้างมูลค่าและรายได้แก่ประเทศไทย
 
 
 นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยได้จัดทำแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2567 โดยใช้ชื่อ “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” โดยจะจัดตั้งศูนย์อำนวยการ ศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์ประสานการปฏิบัติช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2567 บูรณาการการดำเนินงานทุกภาคส่วนกำหนดแนวทางมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน เน้นการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ควบคู่กับการรณรงค์สร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยทางถนน 
 
 
จัดตั้งจุดตรวจ จุดอำนวยความสะดวก จุดบริการ และให้อำนวยความสะดวกให้ประชาชนเดินทางอย่างปลอดภัย โดยสำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ ได้เตรียมควบคุมดูแลพื้นที่ที่คาดว่าจะมีผู้มาร่วมงานสงกรานต์หนาแน่น จัดให้มีศูนย์กล้องวงจรปิด (CCTV) ติดตามเฝ้าสังเกต เพื่อจำกัดไม่ให้ผู้ร่วมงานเกินกว่าพื้นที่ที่รองรับได้ โดยสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร ได้เตรียมการดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว สนับสนุนกำลังเจ้าหน้าที่ พร้อมรถดับเพลิงและกู้ภัย รถไฟฟ้าส่องสว่าง และอุปกรณ์ด้านการดับเพลิงและกู้ภัย ประจำจุดเฝ้าระวังอัคคีภัย อาทิ บริเวณย่านถนนสีลม ถนนข้าวสาร เป็นต้น รวมทั้งจุดบริการประชาชนบริเวณเส้นทางเข้าออกเมือง รวม 41 จุด
 
นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่าการจัดงานครั้งนี้เป็นการเริ่มต้นของการปฏิบัติให้เห็นเป็นรูปธรรมในการผลักดันเทศกาลสงกรานต์ไทยสู่เทศกาลระดับโลก ตามนโยบายของรัฐบาลและนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยเป็นการทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ภายใต้คณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ที่มี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ประธานกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติที่ ต้องการสร้างความแปลกใหม่ของขบวนพาเหรดที่สะท้อนวัฒนธรรมของไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย 
 
 
จึงได้กำหนดจัดงาน Maha Songkran World Water Festival 2024 เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567 อย่างยิ่งใหญ่ และวิจิตรตระการตา ในวันที่ 11 – 15 เมษายน 2567 ณ บริเวณถนนราชดำเนินกลางและพื้นที่ท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานครโดยนำเสนอภาพลักษณ์ความสวยงามของประเพณีสงกรานต์ไทยด้วยขบวนรถพาเหรดมหาสงกรานต์กว่า 20 ขบวน พร้อมด้วยการแสดงศิลปวัฒนธรรมจากนักแสดงและผู้ร่วมขบวนแห่กว่าพันคนเคลื่อนจากถนนราชดำเนินกลางสู่ท้องสนามหลวง 
 
 
พร้อมกิจกรรมนำเสนอศิลปวัฒนธรรมประเพณี และ Soft Power หลากหลายสาขาบริเวณท้องสนามหลวง ซึ่งจะทำให้สงกรานต์เป็นเทศกาลที่จะอยู่ในความทรงจำและสร้างความประทับใจให้กับประชาชนชาวไทยและชาวต่างชาติจากทั่วโลกที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมเฉลิมฉลองประเพณีที่ยิ่งใหญ่และทรงคุณค่าของชาวไทย
 
 
นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยอีกว่า การจัดงาน Maha Songkran World Water Festival 2024 เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567 จะมีการจัดสงกรานต์ยาว 21 วัน ตั้งแต่วันที่ 1-21 เมษายน 2567 เริ่มวันที่ 1 เมษายน ที่จังหวัดเชียงใหม่ ในงานป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองเจียงใหม่ วันที่ 1-15 เมษายน สถานที่จัดงานทั่วเมืองเชียงใหม่ 
 
 
ส่วนวันสุดท้าย 21 เมษายน จัดที่ จังหวัดชลบุรี และ จังหวัดสมุทรปราการ ตั้งเป้าหมายผลักดันสงกรานต์ไทยเป็นงานเฟสติวัลติด 1 ใน 10 งานเฟสติวัลโลก งาน “Maha Songkran World Water Festival 2024 เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567” จัดขึ้น ณ บริเวณถนนราชดำเนินกลางและพื้นที่ท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานคร 
 
 
โดย ขบวนพาเหรดที่สะท้อนวัฒนธรรมของไทย ภายในงานจะมีการนำเสนอภาพลักษณ์ความสวยงามของประเพณีสงกรานต์ไทยด้วยขบวนรถพาเหรดมหาสงกรานต์กว่า 20 ขบวน พร้อมด้วยการแสดงศิลปวัฒนธรรมจากนักแสดงและผู้ร่วมขบวนแห่กว่าพันคน เคลื่อนจากถนนราชดำเนินกลางสู่ท้องสนามหลวง 
 
 
ทั้งได้ร่วมกับพันธมิตรสื่อมวลชนระดับโลก CNN และ BBC ในการนำเสนอคอนเท้นต์เทศกาลสงกรานต์ของประเทศไทยผ่านสื่อประชาสัมพันธ์หลากหลายรูปแบบ รวมถึงเตรียมเผยแพร่โฆษณาผ่าน IQYI ช่องทางสตรีมมิ่งยอดนิยมในตลาดจีน ไต้หวัน ฮ่องกง และกลุ่มประเทศอาเซียน และเชิญ Celebrity และ Influencer ชาวต่างชาติที่มีชื่อเสียงเดินทางสัมผัสประสบการณ์การท่องเที่ยวประเทศไทย
 
 
 นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่า การจัดงาน Maha Songkran World Water Festival 2024 เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567 ในครั้งนี้ จะเป็นการประกาศให้ทั่วโลกรับรู้ถึงวัฒนธรรมประเพณีอันทรงคุณค่าของประเทศไทย โดยนอกจากการจัดงานภายในประเทศอย่างยิ่งใหญ่แล้ว ททท. เตรียมประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ความสวยงามของวัฒนธรรมประเพณีไทยไปสู่สายตาชาวต่างชาติทั่วโลก 
 
 
โดยได้ร่วมกับพันธมิตรสื่อมวลชนระดับโลก CNN และ BBC ในการนำเสนอคอนเท้นต์เทศกาลสงกรานต์ของประเทศไทยผ่านสื่อประชาสัมพันธ์หลากหลายรูปแบบ รวมถึงเตรียมเผยแพร่โฆษณาผ่าน IQYI ช่องทางสตรีมมิ่งยอดนิยมในตลาดจีน ไต้หวัน ฮ่องกง และกลุ่มประเทศอาเซียน และเชิญ Celebrity และ Influencer ชาวต่างชาติที่มีชื่อเสียงเดินทางสัมผัสประสบการณ์การท่องเที่ยวประเทศไทยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการเดินทางให้นักท่องเที่ยวทั่วทุกมุมโลกให้มาสัมผัสประสบการณ์ที่มีคุณค่าและความหมาย พร้อมส่งต่อความรู้สึกที่เกิดขึ้นในระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทยให้เป็น Amazing Thailand : Your Stories Never End
 
 งาน Maha Songkran World Water Festival 2024 เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567 จัดระหว่างวันที่ 11 – 15 เมษายน 2567 บริเวณถนนราชดำเนินกลางและท้องสนามหลวง โดยมีไฮไลท์ในการจัดงาน ได้แก่ กิจกรรมขบวนรถพาเหรดมหาสงกรานต์ในวันที่ 11 เมษายน 2567  ซึ่งจะเริ่มต้นเคลื่อนขบวนจากสะพานผ่านฟ้าลีลาศผ่านบริเวณถนนราชดำเนินกลางและสิ้นสุดที่ท้องสนามหลวง โดยมีขบวนรถพาเหรดกว่า 20 ขบวน ได้แก่ ขบวนรถพระพุทธรูป  ขบวนรถเทพีสงกรานต์ ประจำปี 2567 “มโหธรเทวี” เสด็จไสยาสน์ลืมเนตรเหนือหลังนกยูง ขบวนรถพาเหรด 16 จังหวัด ประกอบด้วย 5 จังหวัดที่มีอัตลักษณ์การจัดเทศกาลสงกรานต์ที่โดดเด่นซึ่งเป็นกลุ่มจังหวัดที่ประเทศไทยนำเสนอเพื่อขอขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น ชลบุรี สมุทรปราการ นครศรีธรรมราช กลุ่ม 5 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ เชียงราย หนองคาย พิษณุโลก สงขลา บุรีรัมย์ และกลุ่มจังหวัดอื่นๆ ที่มีศักยภาพและมีการจัดงานประเพณีสงกรานต์ที่มีเอกลักษณ์ 6 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา นครพนม ลำปาง เลย สุโขทัย และภูเก็ต 
 
 
โดยจัดตกแต่งขบวนรถพาเหรดที่แสดงถึงประเพณีวัฒนธรรม บ่งบอกถึงสัญลักษณ์หรือของดีประจำจังหวัด พร้อมด้วยการแสดงศิลปวัฒนธรรมโดยนักแสดงและผู้ร่วมขบวนแห่กว่าพันคน รวมถึงขบวนรถพาเหรด Soft Power 4 สาขา ได้แก่ แฟชั่น เกม ภาพยนตร์และซีรีส์ และเฟสติวัล ที่จะมานำเสนอเอกลักษณ์ Soft Power ของประเทศไทยในแต่ละสาขาอย่างน่าสนใจ อาทิ ธีม SiamBL (สยามบีแอล) ในชุดไทยประยุกต์ร่วมสมัย ซึ่งจะมีนักแสดงจากค่ายผู้ผลิตซีรีส์วายชั้นนำร่วมในขบวนรถพาเหรด การแสดงทางวัฒนธรรม 4 ภาค ที่สะท้อนเทศกาลและงานประเพณีต่าง ๆ ของไทย เป็นต้น ทั้งนี้ ขบวนรถพาเหรดมหาสงกรานต์จะจอดแสดงโชว์ที่ท้องสนามหลวง ตั้งแต่วันที่ 11-15 เมษายน 2567

นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมในบริเวณพื้นที่ท้องสนามหลวง มุ่งนำเสนอศิลปวัฒนธรรมไทย อัตลักษณ์ประเพณีสงกรานต์ และ Soft Power ไทย ด้วยนวัตกรรมและความสร้างสรรค์ 

 

ประกอบด้วย เวทีจัดแสดงศิลปวัฒนธรรม เช่น การแสดงโขน รำมโนราห์ การแสดงร่วมสมัยผสมผสาน และการแสดงดนตรีออเครสต้าร่วมกับศิลปินที่มีชื่อเสียงระดับโลก โซนสงกรานต์อัตลักษณ์ 5 ภาคที่มีความสวยงามของวัฒนธรรมประเพณีแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น ได้แก่ เวณีปี๋ใหม่เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ ประเพณีสงกรานต์กรุงเก่า จ.พระนครศรีอยุธยา ประเพณีแห่ต้นดอกไม้ จ.เลย ประเพณีก่อพระทรายวันไหล จ.ชลบุรี และประเพณีแห่นางดาน จ.นครศรีธรรมราช โซน Soft Power นำเสนอเอกลักษณ์ในแต่ละสาขาได้แก่ กีฬา อาหาร ท่องเที่ยว หนังสือ และการออกแบบ อาทิ สาขากีฬานำเสนอภายใต้แนวคิด Muaythai Maha Songkran ซึ่งจะมีการแสดงไหว้ครูมวยไทย การแสดงนาฏยุทธ์มวยไทย การแข่งขันมวยไทย 

 

โดยมีนักกีฬามวยไทยที่มีชื่อเสียงเข้าร่วมงาน รวมถึงการสาธิตมวยโบราณ สาขาอาหาร ด้วยแนวคิด “อาหารหน้าร้อนเย็นชื่นใจ มหาสงกรานต์” สาธิตอาหารไทยโบราณ อาหารไทยชาววัง และจำหน่ายอาหารไทยหน้าร้อนรูปแบบ Food Truck สาขาท่องเที่ยว เชิญสัมผัสประสบการณ์ 365 วัน มหัศจรรย์เที่ยวเมืองไทย เสนอขายแพคเกจส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ รวมถึงลานเล่นน้ำ การแสดงน้ำพุประกอบดนตรี อุโมงค์น้ำ ถังน้ำล้นยักษ์ สถานีน้ำ สำหรับให้นักท่องเที่ยวร่วมเล่นน้ำ และ โซนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ และสุดยอดของดี OTOP จากทั่วประเทศ โดยในวันที่ 13 เมษายน 2567 เนื่องในโอกาสวันปีใหม่ไทยจะจัดให้มีกิจกรรมพิเศษทำบุญตักบาตร กิจกรรมสรงน้ำพระเพื่อขอพรเสริมสิริมงคล รดน้ำผู้สูงอายุ เพื่อร่วมอนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมประเพณีไทยอันดีงามอีกด้วย

 

ททท. ยังส่งเสริมให้ใช้ทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและได้คำนึงถึงการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม โดยได้ร่วมมือกับบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC จัดกิจกรรม GCYOU เทิร์น บริหารจัดการขยะจากพลาสติก ขวดน้ำดื่ม โดยจัดจุดรับขวด YOU เทิร์น Droppoint 20 จุดบริเวณงาน จัดกิจกรรมส่งเสริมรณรงค์การทิ้งขยะ นำขวดน้ำดื่มมาแลกของรางวัล และกิจกรรม Upcycling โดยการนำฝาขวดน้ำดื่ม มา DIY เป็นพวงกุญแจ สร้อย ที่เปิดขวด รวมถึงออกบูธจำหน่ายสินค้าจากการ Upcycling อาทิ เสื้อลายดอกที่ทำจากพลาสติก Recycle

 

ทั้งนี้ ททท. คาดการณ์ว่าในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 ระหว่างวันที่ 12 – 16 เมษายน 2567บรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศจะมีการเดินทางอย่างคึกคักมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะส่งผลให้เกิดรายได้รวมประมาณ 24,420 ล้านบาท สำหรับตลาดในประเทศ คาดว่าจะมีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ 4,299,500 คน-ครั้ง และใช้จ่ายสร้างรายได้หมุนเวียน 15,660 ล้านบาท ขณะที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวประเทศไทย 510,000 คน สร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวประมาณ 8,760 ล้านบาท เติบโตประมาณร้อยละ 49 จากปี 2566 โดยสำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานคร คาดว่าในช่วงการจัดกิจกรรมจะสร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวประมาณ 3,690 ล้านบาท และมีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย 653,590 คน – ครั้ง

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
ECONOMY

นายกฯ ยินดีนักท่องเที่ยวจีน มาไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง

นายกฯ ยินดีนักท่องเที่ยวจีน มาไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง

Facebook
Twitter
Email
Print

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบรายงานสถานการณ์การท่องเที่ยวไทยของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ยินดียอดนักท่องเที่ยวต่างชาติเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งเดินทางมาท่องเที่ยวยังประเทศไทยมากถึง 1,003,893 คน (1 มกราคม – 18 พฤษภาคม 2566) และมียอดเที่ยวบินเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 98 สะท้อนความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวชาวจีนที่มีต่อประเทศไทย ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลอำนวยความสะดวกด้านความปลอดภัย พร้อมส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและดึงดูดนักท่องเที่ยว

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ล่าสุด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เดินหน้าจัดกิจกรรม Trusted Thailand, You Taiguo Yue Wan Yue Kaixin หรือ เที่ยวเมืองไทยยิ่งไปยิ่งสนุก โดยเชิญชาวจีนผู้ที่มีอิทธิพลทางความคิด (Key Opinion Leaders: KOLs) จำนวน 60 คน สื่อมวลชน สายการบิน และพันธมิตร เข้าร่วม เพื่อนำเสนอข้อมูลการบริการ การอำนวยความสะดวก ตลอดจนมาตรการในการดูแลรักษาความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาอำนวยความสะดวกในการสื่อสารกับนักท่องเที่ยวผ่านรูปแบบรถโมบายล์ ศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน 1155 และแอปพลิเคชัน Police I lert u ซึ่งรองรับหลายภาษา เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถขอความช่วยเหลือจากตำรวจได้ ทั้งนี้ ททท. คาดการณ์ว่า นักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยปี 2566 จะเป็นไปตามเป้าหมายที่ 5 ล้านคน และสร้างรายได้ 446,000 ล้านบาท

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า จากรายงานของบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) ระบุว่า ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 – เมษายน 2566 มีเที่ยวบินระหว่างไทย – จีน รวมทั้งหมด 12,805 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 ร้อยละ 98 ซึ่งจากการที่ทางการจีนมีนโยบายเปิดประเทศตั้งแต่ช่วงต้นปี 2566 ทำให้สายการบินจากจีนต้องการเปิดทำการบินและเพิ่มความถี่ในการบินมากขึ้น โดย บวท. คาดการณ์ว่า ในปีงบประมาณ 2566 (ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 – กันยายน 2566) จะมีเที่ยวบินจากจีนรวมกว่า 46,175 เที่ยวบิน ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมการบิน และส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ 

“นายกรัฐมนตรีชื่นชมความสำเร็จจากการร่วมมือกันทุกภาคส่วนที่ทำให้ ไทยคงได้รับความเชื่อมั่นและเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ พร้อมทั้งขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่บูรณาการการทำงานร่วมกันตามแนวนโยบายของรัฐบาล สนับสนุนการฟื้นตัวอย่างสมดุลของภาคการท่องเที่ยว และภาคส่วนที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและความประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ทำให้อยากกลับมาท่องเที่ยวยังประเทศไทยอีก ในครั้งต่อไป” นายอนุชาฯ กล่าว

Facebook
Twitter
Email
Print

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักนายกรัฐมนตรี

Facebook
Twitter
Email
Print
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
NEWS UPDATE