Categories
NEWS UPDATE

กระทรวงอุตฯ ร่วม TikTok ยกระดับความปลอดภัยออนไลน์

กระทรวงอุตสาหกรรมจับมือ TikTok ร่วมยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยผู้บริโภคในโลกดิจิทัล

เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2567 นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูงจากกระทรวงอุตสาหกรรม ได้หารือร่วมกับผู้บริหารจากบริษัท ติ๊กต๊อก เทคโนโลยีส์ จำกัด ณ สำนักงานการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กรุงเทพฯ โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับความร่วมมือในการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ตลอดจนเพิ่มมาตรฐานความปลอดภัยบนแพลตฟอร์ม TikTok

การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลผ่าน TikTok Shop

ในการพบปะครั้งนี้ TikTok ได้นำเสนอถึงศักยภาพของแพลตฟอร์มที่สามารถสร้างโอกาสทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยและ SME ผ่าน TikTok Shop ซึ่งเติบโตอย่างรวดเร็ว แพลตฟอร์มนี้ได้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ ได้อย่างกว้างขวางและสะดวกยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าถึงลูกค้าผ่านสื่อสังคมออนไลน์ที่มีกลุ่มผู้ใช้เป็นจำนวนมาก ทำให้ผู้ประกอบการสามารถเพิ่มขีดความสามารถทางการตลาดและขยายธุรกิจได้รวดเร็วยิ่งขึ้น นอกจากนี้ TikTok ยังมีแผนการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาทักษะด้านการตลาดดิจิทัลและการสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่มีความน่าสนใจแก่ผู้ประกอบการ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถและทำให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้

ความร่วมมือเพื่อยกระดับความปลอดภัยให้ผู้บริโภค

นอกจากการสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัลแล้ว ความปลอดภัยของผู้บริโภคยังเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ได้รับการหารือ ในยุคที่การช้อปปิ้งออนไลน์เติบโตอย่างรวดเร็ว การควบคุมคุณภาพสินค้าที่จำหน่ายบนแพลตฟอร์มออนไลน์กลายเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง โดย TikTok ได้แสดงความรับผิดชอบในการปกป้องผู้บริโภคและให้ความสำคัญกับการควบคุมสินค้าที่จำหน่ายในแพลตฟอร์มของตนเอง เพื่อลดความเสี่ยงของการจำหน่ายสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน

กระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ร่วมมือกับ TikTok เพื่อพัฒนาระบบคัดกรองสินค้าที่เข้มงวดมากขึ้น โดยมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันเพื่อให้สามารถตรวจสอบและควบคุมคุณภาพสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ การดำเนินการนี้จะช่วยลดความเสี่ยงที่ผู้บริโภคจะได้รับสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานหรืออาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้งาน

การป้องกันการแพร่กระจายสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานบนแพลตฟอร์มออนไลน์

นายเอกนัฏ กล่าวว่า “การแพร่กระจายของสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานบนแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นเรื่องที่น่ากังวล เนื่องจากส่งผลกระทบโดยตรงต่อความปลอดภัยของประชาชน กระทรวงอุตสาหกรรมมีความมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อสร้างมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคให้มีประสิทธิภาพสูงสุด” นอกจากนี้ยังได้แสดงความขอบคุณต่อ TikTok ที่ให้ความสำคัญกับปัญหานี้และพร้อมที่จะร่วมมือกับภาครัฐในการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยบนแพลตฟอร์ม

TikTok เองก็ได้ยืนยันถึงความรับผิดชอบต่อสังคม โดยระบุว่าการร่วมมือกับภาครัฐเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค และให้ความมั่นใจว่าการใช้ TikTok Shop จะได้รับการป้องกันและการควบคุมคุณภาพสินค้าที่ดีเยี่ยม ทั้งนี้ TikTok ยังมีแผนจัดทำแนวทางสำหรับผู้ค้าในแพลตฟอร์ม เพื่อสร้างความเข้าใจในการปฏิบัติตามมาตรฐานและการคุ้มครองผู้บริโภค

นโยบาย “Save อุตสาหกรรมไทย” และการสร้างสังคมดิจิทัลที่ปลอดภัย

การประชุมครั้งนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย “Save อุตสาหกรรมไทย” ของกระทรวงอุตสาหกรรมที่เน้นการสร้างมาตรการเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและยกระดับคุณภาพสินค้าที่จำหน่ายในตลาดออนไลน์ นโยบายนี้มีเป้าหมายในการปกป้องผู้บริโภคจากสินค้าที่อาจก่อให้เกิดอันตราย และเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทยในการเข้าถึงตลาดดิจิทัลที่มีการแข่งขันสูง

การประชุมในครั้งนี้สะท้อนถึงความตั้งใจของทั้งภาครัฐและเอกชนในการร่วมมือกันเพื่อยกระดับมาตรฐานสินค้าให้มีความปลอดภัยและน่าเชื่อถือมากขึ้น การทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและ TikTok นับเป็นก้าวสำคัญที่จะแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะสร้างสังคมดิจิทัลที่ปลอดภัยและเชื่อถือได้ เพื่อให้ประชาชนสามารถมั่นใจในคุณภาพสินค้าที่จำหน่ายบนแพลตฟอร์มออนไลน์

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงอุตสาหกรรม

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
AROUND CHIANG RAI ECONOMY

เตรียมเคาะ 2 SME เชียงราย ให้เงินทุนพัฒนาสนับสนุนสินค้า

 

เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2567 ที่ห้องประชุมนารายณ์ ชั้น 2 สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงราย นางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ประจำจังหวัดเชียงราย ประจำปี 2567 ครั้งที่ 2/2567 ซึ่งมีคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ประจำจังหวัดเชียงราย เข้าร่วมพิจารณาความคืบหน้าของผู้ประกอบการที่ผ่านการพิจารณา กลั่นกรอง และคัดเลือกเอสเอ็มอีที่มีคุณสมบัติและเข้าข่ายได้รับการสนับสนุน ด้านสินเชื่อกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ โครงการสินเชื่อ ลดโลกร้อน Decarbonize Loan (ปี 2566) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยมีผู้ขอกู้รายใหม่จำนวน 2 ราย ได้แก่ บริษัท ไท้ หยวน จินซาน จำกัด ประกอบกิจการ โรงอบลำไย ที่อยู่ 194 หมู่ 9 ตำบลห้วยสัก อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย และบริษัท เวียงป่าเป้า วิศวกรรม (ประเทศไทย) จำกัด ประกอบกิจการ ผลิตและจำหน่ายเครื่องมือทางการเกษตร (เครื่องสีกาแฟ , เครื่องคั่วกาแฟ และอื่นๆ ที่อยู่ 68 หมู่ 3 ตำบลสันสลี อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย และผู้กู้รายเก่าพิจารณาเพิ่มเติม จำนวน 1 ราย ได้แก่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด นงเยาว์ ฟู้ดส์ โปรดักส์ ประกอบกิจการ แปรรูปสับปะรด ที่อยู่ 238 หมู่ 14 ตำบลนางแล อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย

 

ทั้งนี้คณะอนุกรรมการฯ ลงมติเห็นชอบ และส่งมอบให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (สาขาแม่สาย) (SME D BANK) เป็นผู้ดำเนินการวิเคราะห์การอนุมัติสินเชื่อต่อไป
 
 
กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ กระทรวงอุตสาหกรรม มุ่งมั่นสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงศักยภาพและขีดความสามารถของผู้ประกอบการเป็นหลัก เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาธุรกิจได้อย่างยั่งยืนและเติบโตได้อย่างมั่นคงและเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต่อไป
 
 
ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่สนใจสามารถสมัครสินเชื่อได้ผ่านเว็บไซต์ของกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ www.thaismefund.com หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
SOCIETY & POLITICS

พร้อมบังคับ “บันไดเลื่อน” ให้เป็นสินค้าควบคุม หลังประชาชนเกิดอุบัติเหตุอยู่บ่อยครั้ง

 

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากกรณีอุบัติเหตุบันไดเลื่อน  หรือ ทางลาดเลื่อนในห้างสรรพสินค้าและสถานที่ต่างๆ หนีบขาประชาชนอยู่บ่อยครั้ง ตนจึงได้สั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) จัดทำมาตรฐานบันไดเลื่อน ทางเดินอัตโนมัติ และ ลิฟท์ เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ประชาชน ซึ่งเป็นไปตามมาตรการของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อคุ้มครองประชาชนให้ปลอดภัยจากการใช้สินค้า โดยบอร์ด สมอ. ได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ให้จัดทำมาตรฐานดังกล่าวเพิ่มเติมเป็นการด่วนจากแผนการกำหนดมาตรฐานในปีงบประมาณ 2567 ที่กำหนดไว้จำนวน 600 เรื่อง นอกจากนี้ ยังเห็นชอบให้ “คาร์ซีท” หรือที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กเป็นสินค้าควบคุม โดยเร่งรัด สมอ. ประกาศใช้มาตรฐานโดยเร็ว เพื่อให้เด็กเล็กที่ใช้คาร์ซีทได้รับความปลอดภัยในการโดยสารรถยนต์ 

 

นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม รักษาราชการแทน รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.)  กล่าวว่า ในการประชุมบอร์ด สมอ. ครั้งนี้ ได้เห็นชอบร่างมาตรฐานและวิธีทดสอบอื่นๆ อีก จำนวน 43 เรื่อง เช่น  มาตรฐานหลอดฟลูออเรสเซนส์สำหรับเปลี่ยนสีผิวเป็นสีแทน  มาตรฐานวิธีทดสอบยานยนต์ไฟฟ้า และมาตรฐานระบบอัตโนมัติในกระบวนการอุตสาหกรรม  เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเห็นชอบให้ จัดทำมาตรฐานเพิ่มเติมในปี 2567 อีก 3 เรื่อง โดยเพิ่มเติมจากแผนการกำหนดมาตรฐานเดิมที่ สมอ. ตั้งเป้าไว้ 600 เรื่อง ได้แก่  

1) มาตรฐานบันไดเลื่อน ทางลาดเลื่อน คุณลักษณะที่ต้องการด้านความปลอดภัยที่จำเป็น  

2) มาตรฐานบันไดเลื่อน ทางลาดเลื่อน พารามิเตอร์ตามคุณลักษณะที่ต้องการด้านความปลอดภัยที่จำเป็น และ  

3) ฟิล์มติดกระจกรถยนต์ 

 

ด้าน นายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทน เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า บันไดเลื่อน เป็นสิ่งประชาชนได้พบเจอและใช้บ่อยมากในที่สาธารณะ เช่น ห้างสรรพสินค้า สนามบิน อาคารสำนักงาน ซึ่งที่ผ่านมา จะได้ยินข่าว บันไดเลื่อนไม่ได้มาตรฐาน หนีบขาคน หรือบางครั้ง  ถึงขั้นตัดขาคนขาด ท่านรัฐมนตรีพิมพ์ภัทรา จึงได้มีปรารภว่าจะปล่อยให้ประชาชนมารับเคราะห์กรรมจากการใช้บันไดเลื่อนไม่ได้มาตรฐาน แบบนี้ไม่ได้ สมอ. จึงได้เตรียมออกประกาศมาตรฐาน “บันไดเลื่อน ทางเลื่อน และลิฟท์” เป็นมาตรฐานด้านความปลอดภัยและระบบไฟฟ้า โดยอ้างอิงตามมาตรฐานระหว่างประเทศ (มาตรฐาน ISO) ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และทั่วโลกได้นำไปใช้ โดยจะเกี่ยวข้องกับอุปกรณ์ ส่วนประกอบ การติดตั้ง ความสูง ความเร็ว น้ำหนักบรรทุก รวมถึงการประเมินความเสี่ยงและการลดความเสี่ยงจากการใช้งาน  ซึ่งจะช่วยป้องกันอันตรายให้แก่ผู้ใช้งาน ทั้งนี้ คาดว่าจะประกาศใช้มาตรฐานดังกล่าวได้ภายในเดือนมีนาคม 2567

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงอุตสาหกรรม

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
ECONOMY

กระทรวงอุตฯ ลุยเหนือเสริมศักยภาพ อุตสาหกรรมดึงดูดต่างชาติลงทุน

 

เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2566 เวลา 13.00 น. นางสาวพิมพ์ภัทรา  วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ลำพูน หารือร่วมเอกชน ถึงแนวทางขับเคลื่อน ภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดลำพูน พร้อมด้วย นางสาวศิรินันท์ ศิริพานิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวไพลิน เทียนสุวรรณ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายเอกภัทร วังสุวรรณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะผู้บริหารระดับสูง กระทรวงอุตสาหกรรม เข้าร่วม โดยมี นายสันติธร ยิ้มละมัย ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน  นางจันทนา ไวยาวัจมัย อุตสาหกรรมจังหวัดลำพูน และหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ที่เกี่ยวข้องร่วมต้อนรับ ณ ห้องประชุมสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จังหวัดลำพูน

 

สำหรับในพื้นที่จังหวัดลำพูน มีผู้ประกอบกิจการโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ 73 ราย แบ่งเป็น ญี่ปุ่น 35 ราย ไทย 19 ราย ยุโรป 11 ราย เกาหลี 3 ราย ไต้หวัน 2 ราย สหรัฐอเมริกา 1 ราย สิงคโปร์ 1 ราย และอินเดีย 1 ราย มีจำนวนการจ้างงาน 35,000 คน โดยเป็นกลุ่มอุตสาหกรรม แบ่งเป็นด้าน ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องมือวิทยาศาสตร์ 27 โรงงาน อุตสาหกรรมเหล็ก และผลิตภัณฑ์โลหะ 8 โรงงาน อุตสาหกรรมน้ำมัน และพลังงาน 7 โรงงาน อุตสาหกรรมอาหาร และเครื่องดื่ม 5 โรงงาน อุตสาหกรรมเครื่องยนต์ เครื่องจักร และอะไหล่ 5 โรงงาน และอุตสาหกรรมด้านอื่นๆ เช่น อัญมณี เครื่องแต่งกาย ฯลฯ 21 โรงงาน

 

โดยการประชุมหารือในครั้งนี้ ได้นำเสนอในประเด็นต่าง ๆ อาทิ โครงการพัฒนาและเชื่อมโยงผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรายใหญ่กับ SMEs ลำพูน (Lamphun Supply Chain) : เพื่อเปิดโอกาสแสดงศักยภาพ และสร้างโอกาสเจรจาธุรกิจร่วมกัน ,โครงการขนส่งสินค้าทางรถไฟ และสถานี Container Yard : เพื่อสนับสนุนให้เกิดการขนส่งสินค้าในภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมภายในประเทศไทยและขนส่งออกไปต่างประเทศ, การปรับปรุงผังเมือง เพื่อรองรับการขยายตัวของการค้าและอุตสาหกรรมลำพูน NEC ,การปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับเศรษฐกิจ และ อุตสาหกรรมเกษตรเพิ่มมูลค่าสูง (Lamphun Superfoods Valley)

 

อุตสาหกรรมจังหวัดลำพูน กล่าวว่า สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดลำพูน จากข้อมูล ประจำปี พ.ศ. 2564 ต่อหัว ลำพูน เป็นอันดับ 1 ของภาคเหนือ ลำดับที่ 14 ของประเทศ และจังหวัดลำพูน มีประเด็นการพัฒนาจังหวัดให้เป็นเมืองอุตสาหกรรม หัตถกรรม และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ยกระดับศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทย ให้สอดรับกับการขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ภาคเหนือ (Northern Economic Corridor) หรือ NEC ซึ่งรัฐบาลหวังพัฒนาภาคเหนือในส่วนของ 4 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง และลำพูน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดลำพูน ให้เป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ของประเทศอย่างยั่งยืน เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปวิสัยทัศน์ของจังหวัดลำพูนในปี 2570 ต่อไป

 

ทั้งนี้ รัฐมนตรีฯ พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ นายเศรษฐา  ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งดึงดูดนักลงทุน ในส่วนภาคอุตสาหกรรมจังหวัดลำพูนว่า รัฐบาลมีความพร้อมในการสนับสนุนศักยภาพภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย ให้สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก พร้อมกับมีโยบายในการส่งเสริมการจัดทำโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อดึงดูดการลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศให้มากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งให้กำลังใจพี่น้องประชาชน และผู้ประกอบการภาคธุรกิจ และเน้นย้ำให้การนิคมฯ ดูแลในส่วนของการบริหารจัดการน้ำ การใช้น้ำของโรงงานอุตสาหกรรม ไม่ให้กระทบต่อภาคการเกษตรของประชาชน ซึ่งนายกรัฐมนตรี เป็นห่วงสถานการณ์น้ำแล้งเป็นอย่างมาก

 

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงอุตสาหกรรม

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
SOCIETY & POLITICS

ปลัดฯ ณัฐพล นำทีม MIND แพค “ถุงยิ้มพิมพ์ใจ MIND ไม่ทิ้งกัน ช่วยผู้ประสบภัย

 

วันนี้ (21 ตุลาคม 2566) ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม รักษาราชการแทน รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายสุรพล ชามาตย์  นางสุชาดา โพธิ์เจริญ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายศุภกิจ บุญศิริ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม นายวัชรุน จุ้ยจำลอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายเอกนิติ รมยานนท์ นายวีรพงษ์ เอี่ยมเจริญชัย รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม นางศิริเพ็ญ เกียรติเฟื่องฟู นายกฤศ จันทร์สุวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม นายนรุณ สุขสมาน รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย นำทีม MIND มาร่วมกันแพค “ถุงยิ้มพิมพ์ใจ MIND ไม่ทิ้งกัน” จำนวน 2,000 ถุง เตรียมนำไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย 

หลังจากนั้น ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รับมอบสิ่งของอุปโภค บริโภค และของใช้ที่จำเป็น เพื่อเตรียมแพคเป็น “ถุงยิ้มพิมพ์ใจ MIND ไม่ทิ้งกัน” ซึ่งเป็นถุงยังชีพจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ที่รวมใจส่งมอบรอยยิ้ม เพื่อเป็นกำลังใจให้กับผู้ประสบอุทกภัยในการก้าวข้ามช่วงเวลาที่ยากลำบาก ภายใต้โครงการ “อุตสาหกรรมรวมใจ ช่วยพี่น้องชาวไทย” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย สถาบันพลาสติก  สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดจันทบุรี สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดตราด สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสระแก้ว สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรปราการ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสงคราม เข้าร่วมมอบสิ่งของ เพื่อนำไปช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นให้กับผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วมโดยเร่งด่วนต่อไป ณ ห้องโถง ชั้น 1 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงอุตสาหกรรม

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
SOCIETY & POLITICS

ปลัดฯ ณัฐพล นำทีมผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าเฝ้าสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายเงินรายได้จากการออกร้านในงานกาชาด

เมื่อ 3 สิงหาคม 2566 เวลา 08.00 น. ที่ผานมา ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าเฝ้าสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงินรายได้จากการออกร้านกระทรวงอุตสาหกรรม ภายในงานกาชาดประจำปี 2565 จำนวนทั้งสิ้น 6,007,896.46 บาท (หกล้านเจ็ดพันแปดร้อยเก้าสิบหกบาทสี่สิบหกสตางค์) โดยเสด็จพระราชกุศลบำรุงสภากาชาดไทย ณ วังสระปทุม

กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ร่วมออกร้านในงานกาชาด ประจำปี 2565 ณ บริเวณสวนลุมพินี ระหว่างวันที่ 8 – 18 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา ภายใต้แนวคิด “อุตสาหกรรมรวมใจ ใต้ร่มพระบารมี สดุดี 90 พรรษา” เพื่อเป็นการร่วมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษา 90 พรรษา และทรงดำรงตำแหน่งองค์สภานายิกาสภากาชาดไทย ครบ 66 ปี และเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ภารกิจของกระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้นโยบาย MIND ใช้หัวและใจปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชน โดยภายในร้านกระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดกิจกรรมการเล่นเกมส์กระสวยอวกาศเพื่อลุ้นโชครางวัลมากมาย รวมทั้งการจำหน่ายสลากกาชาดร้านกระทรวงอุตสาหกรรม อีกจำนวน 60,000 ใบ ในราคาใบละ 100 บาท ด้วย

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงอุตสาหกรรม

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
ECONOMY

ลุยภาคเหนือ โชว์นวัตกรรมและ เทคโนโลยีสร้างสรรค์ หนุนรายได้ช่วยชุมชน

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2566 เวลา 19.00 น. ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดงาน อุตสาหกรรมแฟร์ ภายใต้แนวคิด “อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ปั้นแต่ง โตไวด้วยดีพร้อม” พร้อมด้วย นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (รปอ.) นายวิษณุ ทับเที่ยง หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม (หน.ผตร.อก.) นายเดชา จาตุธนานันท์ นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม (ผตร.อก.) และคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าร่วม โดยมี นายใบน้อย สุวรรณชาตรี อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้การต้อนรับ พร้อมกล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดงาน พร้อมได้รับเกียรติจาก นายชัชวาลย์ ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เข้าร่วมด้วย ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าอุตสาหกรรมภาคเหนือ (DIPROM MICE CENTER) อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ปลัดฯ ณัฐพล กล่าวว่า สำหรับการจัดงานใน ครั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้ ดีพร้อม จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ปั้นแต่ง โตไว ด้วยดีพร้อม” 

 

ซึ่งเป็นงานแสดงเทคโนโลยี นวัตกรรมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์จากผู้ประกอบการ ภาคีเครือข่ายภาครัฐ-ภาคเอกชน รวมถึงเปิดพื้นที่ให้ผู้ประกอบการแสดงศักยภาพด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เกิดจากภูมิปัญญาและผสมผสานเทคโนโลยีการวิจัยและพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ ทั้งผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการพัฒนาด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป รวมถึงการนำผลิตภัณฑ์เด่นและเน้นเอกลักษณ์ของภาคเหนือมาจัดจำหน่ายในราคาพิเศษ ตลอดจนส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดลำปางและใกล้เคียง อีกทั้งยังเชื่อมโยงให้อุตสาหกรรมอยู่คู่ชุมชนอย่างเป็นมิตร อันจะเป็นการสร้างความสมดุลและกระตุ้นเศรษฐกิจของภูมิภาคให้เติบโตอย่างยั่งยืน ตามนโยบาย “MIND” ใช้ “หัว”และ “ใจ” 

 

ในการทำงานมุ่งสู่ความสำเร็จ 4 มิติ ประกอบด้วย ความสำเร็จทางธุรกิจ การดูแลสังคม การรักษาสิ่งแวดล้อมและการกระจายรายได้สู่ชุมชน เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมมีการปรับตัวเข้าสู่วิถีใหม่ได้อย่างสมดุลและยั่งยืน โดยเฉพาะในด้านการกระจายรายได้ให้กับประชาชนให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มุ่งการพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากอย่างเป็นระบบเพื่อรักษาวิถีชีวิต สร้างประโยชน์พัฒนาชุมชนรอบอุตสาหกรรม และ ต่อยอดอาชีพดีพร้อม รวมถึงการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม ให้มีการกระจายโอกาสให้ภาคธุรกิจและผู้ประกอบการในระดับภูมิภาคได้รับการพัฒนาและยกระดับศักยภาพให้สามารถแข่งขันได้ 

 

ทั้งนี้ งาน “อุตสาหกรรมแฟร์” จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ปั้นแต่ง โตไวด้วยดีพร้อม” เป็นการผนึกกำลังจากหลายฝ่าย อาทิ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กฟผ. แม่เมาะ และภาคีเครือข่ายภาครัฐ-เอกชน ในโชว์ศักยภาพภาคอุตสาหกรรม เทคโนโลยี นวัตกรรม อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์พื้นถิ่นสู่เชิงพาณิชย์ การดูแลสังคมโดยรอบโรงงานอุตสาหกรรมและรักษาสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิด BCG Model ผ่านการพัฒนาแม่เมาะ เมืองน่าอยู่ (Mae Moh Smart City) โดยมีผู้ประกอบการกว่า 80 ร้านค้าทั่วประเทศ ร่วมทดสอบตลาดและเชื่อมโยงธุรกิจ และเสิร์ฟอาชีพดีพร้อมสร้างรายได้ให้ชุมชน หวังกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น 

 

ทั้งนี้ งานดังกล่าวฯ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-30 มิถุนายนนี้ ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าอุตสาหกรรมภาคเหนือ (DIPROM MICE CENTER) อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง โดยตลอดการจัดงานทั้ง 8 วัน กระทรวงอุตสาหกรรม คาดหวังว่าผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปจะได้รับทราบถึงแนวทางการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม และการแสดงศักยภาพในด้าน1นวัตกรรม และเทคโนโลยีที่สะท้อนภาพอันเกิดจากภูมิปัญญาและการผสมผสานเทคโนโลยีการวิจัยและการพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ ทั้งผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการพัฒนาด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป นอกจากนี้ยังมีการเจรจาจับคู่และเชื่อมโยงธุรกิจของผู้ประกอบการทั่วประเทศมากกว่า 400 ราย รวมถึงมีการจัดสัมมนาให้ความรู้ฝึกอาชีพกว่า 30 หลักสูตร และมีการออกร้านค้าเพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าให้กับผู้ประกอบการ SME โดยคาดการณ์ว่าการจัดงานครั้งนี้จะมีนักท่องเที่ยวเข้าร่วมงานมากกว่า 50,000 คน และสามารถสร้างเงินสะพัดในจังหวัดลำปาง มากกว่า 100 ล้านบาท

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงอุตสาหกรรม 

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
SOCIETY & POLITICS

ก.อุตฯ สั่ง 2.7 หมื่นโรงงาน เร่งรายงานข้อมูลกากอุตสาหกรรมภายใน 30 มิ.ย.นี้ ฝ่าฝืนปรับ 2 หมื่นบาท

 

นายวิษณุ ทับเที่ยง หัวหน้าผู้ตรวจกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่ากระทรวงอุตสาหกรรม มีแนวทางควบคุมผู้ก่อกำเนิดของเสียเป็นผลจากนโยบายของ ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ที่มอบให้กระทรวงอุตสาหกรรมขับเคลื่อนงานภายใต้นโยบาย MIND ใช้หัวและใจ ปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชน มุ่งสู่ความสำเร็จใน 4 มิติ ได้แก่ ความสำเร็จทางธุรกิจ การดูแลสังคม การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม การกระจายรายได้ให้กับชุมชน
และให้ความสำคัญในการยกระดับทุกองค์ประกอบของภาคอุตสาหกรรม ควบคู่กับการสร้างความเข้มแข็งและ
กระจายรายได้สู่ชุมชน เพื่อนำไปสู่เป้าหมาย “อุตสาหกรรมดี อยู่คู่กับชุมชนอย่างยั่งยืน” โดยเฉพาะประเด็น
การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในมิติของการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม

 

นายวิษณุ กล่าวว่า เมื่อเร็วๆนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ปรับปรุงกฎหมายฉบับล่าสุด คือ “ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2566” นำหลักการผู้ก่อมลพิษเป็น
ผู้จ่ายหรือเป็นผู้รับผิดชอบ (Polluter Pays Principle: PPP) มาใช้อย่างเต็มรูปแบบ โดยกำหนดความรับผิดตั้งแต่
ต้นทางโรงงานผู้ก่อกำเนิด ไปจนกว่าสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วจะได้รับการจัดการจนแล้วเสร็จ ซึ่งจะมีผล
บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป

 

ทั้งนี้ ได้กำหนดให้โรงงานผู้ก่อกำเนิดของเสียทุกโรงงานต้องรายงานข้อมูลผ่านระบบการรายงานข้อมูลกลางของกระทรวงอุตสาหกรรม หรือ iSingle Form (https://isingleform.go.th/home) ซึ่งเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ของกระทรวงฯ ที่ใช้ในการกำหนดนโยบาย การกำกับดูแลการประกอบกิจการโรงงาน การป้องกันและปราบปรามการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนและสิ่งแวดล้อม โดยให้โรงงาน
ต้องรายงานภายในกรอบระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนดคือ 30 มิถุนายน 2566 หากฝ่าฝืนไม่รายงานหรือรายงานล่าช้ามีโทษปรับสุงสุด 20,000 บาท

 

“การบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม จำเป็นต้องใช้กฎหมายในการกำกับดูแลอย่างเข้มงวด และต้องมีการจัดการอย่างถูกต้องและเหมาะสมตามหลักวิทยาศาสตร์ เพื่อป้องกันไม่ให้ของเสียจากภาคอุตสาหกรรมหลุดออกจากระบบ อาจส่งผลกระทบกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง ดังนั้น จึงอยากแจ้งเตือนไปยังผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้รายงานข้อมูลกากอุตสาหกรรม ให้เร่งดำเนินการภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยมีโรงงาน
ผู้ก่อกำเนิดของเสียจำนวน 60,638 โรงงานทั่วประเทศ โดยมีโรงงานที่ยังไม่ได้รายงานข้อมูลกว่า 27,000 แห่ง
จึงกำชับให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุตสาหกรรมทั่วประเทศ เร่งประสาน ติดตาม และเน้นย้ำให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานรายงานข้อมูลการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุไม่ใช้แล้วผ่านระบบข้อมูลกลางของกระทรวงอุตสาหกรรม หรือ iSingle Form (https://isingleform.go.th/home) ภายในกรอบระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด คือไม่เกินวันที่คือ 30 มิถุนายน 2566 นี้ ซึ่งหากไม่ปฏิบัติตามมีโทษปรับสูงสุด 20,000 บาท” นายวิษณุ กล่าวทิ้งท้าย

 

ทั้งนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) จะจัดการอบรมให้แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงานโดยไม่มีค่าใช้จ่ายในหัวข้อ “ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ.2566” จำนวน 5 รอบ คือรอบที่ 1 วันที่ 19 มิถุนายน 2566 เวลา 09.00-12.00 น. รอบที่ 2 วันที่ 20 มิถุนายน 2566 เวลา 09.00-12.00 น. รอบที่ 3 วันที่ 21 มิถุนายน 2566 เวลา 13.00-16.00 น. รอบที่ 4 วันที่ 22 มิถุนายน 2566 เวลา 09.00-12.00 น. รอบที่ 5 วันที่ 23 มิถุนายน 2566 เวลา 13.00-16.00 น. โดยผู้สนใจสามารถเลือกเข้ารับการอบรมผ่านระบบออนไลน์ ได้ 2 ช่องทาง ระบบ ZOOM Meeting จำนวนรอบละ 500 ราย และทาง Live Facebook กรมโรงงานอุตสาหกรรม สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กกอ.กรอ.) โทร. 0 2430 6307 ต่อ 1609

 

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงอุตสาหกรรม

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
ECONOMY

ยกระดับมาตรฐานจัดการสิ่งปฏิกูลและกากอุตสาหกรรม

 

เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ส่งเสริมการดำเนินงานเพื่อปรับปรุง “ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2566” มีผลบังคับใช้ 1 พฤศจิกายน 2566 มุ่งยกระดับมาตรฐานการบริหารจัดการสิ่งปฏิกูล ที่เกิดจากการประกอบกิจกรรมของโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งสำหรับผู้ก่อกำเนิดของเสีย และ ผู้รับบำบัดกำจัดของเสียให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และปราบปรามการทิ้งกากอุตสาหกรรมอย่างผิดกฎหมาย สร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2566” ฉบับปรับปรุงล่าสุด ได้อ้างอิงตามหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่ายหรือเป็นผู้รับผิดชอบ (Polluter Pays Principle: PPP) โดยติดตามความรับผิดชอบของโรงงานอุตสาหกรรมผู้ผลิตของเสีย ไปจนกว่าของเสียหรือสิ่งปฏิกูลจะถูกกำจัดอย่างถูกต้องจนเสร็จสิ้นกระบวนการ 

นอกจากนี้ ต้องส่งรายงานประจำปีเกี่ยวกับการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว และรายงานประจำเดือนเกี่ยวกับการจัดการวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ ผ่านระบบการรายงานข้อมูลกลางของกระทรวงอุตสาหกรรม iSingle Form (https://isingleform.go.th/home) ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 และจะมีผลนับถัดจากวันที่ประกาศ 

โดยผู้ก่อกำเนิดของเสีย (Waste Generator: WG) 60,638 โรงงานทั่วประเทศ ต้องส่งรายงานประจำปี (สก.3) ภายในวันที่ 1เมษายน ของปีถัดไป ในส่วนของผู้รับบำบัดกำจัดของเสีย (Waste Processor: WP) คือโรงงานลำดับประเภท 101, 105 และ 106 จำนวน 2,500 โรงงานทั่วประเทศ ต้องส่งรายงานประจำเดือนเกี่ยวกับการจัดการวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ซึ่งตามประกาศฉบับนี้ จะต้องมีการรายงานข้อมูลครั้งแรกภายใน 15 กรกฎาคม 2566 

ผู้ฝ่าฝืนไม่ส่งรายงาน หรือส่งล่าช้าจะมีโทษปรับสูงสุด 20,000 บาท รวมถึงโรงงานอุตสาหกรรมที่ไม่ได้ขออนุญาตการจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างถูกต้อง กระทรวงอุตสาหกรรมสามารถเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานได้ 

“นายกรัฐมนตรี เดินหน้าสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน เชื่อว่าการยกระดับมาตรฐานการบริหารจัดการสิ่งปฏิกูล ที่เกิดจากการประกอบกิจกรรมของโรงงานอุตสาหกรรมจะมีส่วนสำคัญช่วยให้กำจัดของเสียให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และปราบปรามการทิ้งกากอุตสาหกรรมอย่างผิดกฎหมาย ทั้งนี้ การควบคุมมลพิษเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี (BCG model) เพื่อสร้างสรรค์เศรษฐกิจไทย ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน” นายอนุชาฯกล่าว

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงอุตสาหกรรม

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
CULTURE

ก.อุตฯ เตรียมดัน “ผ้าไหมไทยร่วมสมัย” บุกตลาดโลก เล็งเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่-วัยทำงาน

ก.อุตฯ เตรียมดัน “ผ้าไหมไทยร่วมสมัย” บุกตลาดโลก เล็งเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่-วัยทำงาน

Facebook
Twitter
Email
Print

กระทรวงอุตสาหกรรม ชูอัตลักษณ์ความเป็นไทยผสานลวดลายประณีตสวยงามลงใน “ผ้าไหมไทยร่วมสมัย” วางตลาดระดับพรีเมี่ยม เน้นความหรูหราและคุณภาพสูง (Premium & High Quality) เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่วัยทำงานเผยปี 2565 ทำรายได้จากสินค้าผ้าไหมเพิ่มมากขึ้นกว่าร้อยละ 50 พร้อมเตรียมเจรจาเชื่อมโยงการผลิต – การตลาดบินตรงสู่ประเทศเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อิตาลี หวังสร้างตลาดใหม่จากผ้าไหมไทยในต่างประเทศ

 

นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ (สสท.) หน่วยงานเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ดำเนินการยกระดับพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอและผ้าพื้นเมือง ตามยุทธศาสตร์กระทรวงอุตสาหกรรมในการเสริมสร้างศักยภาพของภาคอุตสาหกรรมให้เติบโตและเข้มแข็ง ผ่านโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอด้วยการออกแบบเชิงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมสู่อีสานแฟชั่น โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562-2565 เกิดผ้าไหมมัดหมี่ลวดลายใหม่กว่า 122 ลายรวมทั้งเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า และเครื่องประดับ (Accessories) อีกกว่า 108 ผลิตภัณฑ์ ทำให้ผู้ประกอบการสามารถนำไปผลิตและจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้จริง สร้างโอกาสทางการตลาด     ในผลิตภัณฑ์ผ้าไหมแบบใหม่ และมีการขยายกลุ่มตลาดใหม่ นอกจากนี้ยังได้มีการพัฒนาผู้ประกอบการผ้าไหม และผู้ที่เกี่ยวข้องธุรกิจผ้าพื้นเมืองในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กว่า 1,618 คน สร้างรายได้ สร้างงานให้ชุมชน รวมทั้งสร้างโอกาสทางการตลาด และสร้างยอดขายในประเทศกว่า 6,635,456 บาท (เฉพาะผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาใหม่)

 

สำหรับโครงการพัฒนาผ้าไหมไทยร่วมสมัย (Premium Thai Silk) ประจำปี 2566 ยังคงมุ่งเน้นการพัฒนาเทคนิคการผลิตผ้าไหมในรูปแบบใหม่ ที่มีมูลค่าเพิ่มมากกว่าร้อยละ 50 ให้กับผ้าไหมแพรวา ผ้าไหมขิด ผ้าไหมยกดอก ผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าไหมบาติก และผ้าไหมแต้ม โดยการสร้างภาพลักษณ์ให้ผลิตภัณฑ์มีความหรูหราและคุณภาพสูง (Premium & High Quality) มีลวดลายที่ประณีตสวยงาม (story-material-look & feel) ขณะเดียวกันมุ่งยกระดับผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยในระดับพรีเมี่ยม ด้วยการสร้างและนำเสนออัตลักษณ์ความเป็นไทยลงบนผืนผ้าให้เป็นที่รู้จักในต่างประเทศ  

 

แนวทางการพัฒนาในปีนี้ เรามีเป้าหมายพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้จำนวน 24 ผลิตภัณฑ์ โดยเน้นการออกแบบและผลิตผ้าไหมร่วมสมัยแบบใหม่ ผสมผสานการใช้ทุนทางวัฒนธรรมและแนวโน้มของตลาด ควบคู่กับการพัฒนาการผลิตและการนำเทคนิคใหม่  เข้าไปใช้ในการทอผ้าไหม นอกจากนี้ เรายังมีการยกระดับผู้ประกอบการสิ่งทออีกจำนวน 8 ราย ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น ทั้งในด้านการออกแบบและการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต การแปรรูปสินค้า และการตลาดที่สามารถเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ วัยทำงานได้ เพราะเราเชื่อว่าผ้าไหมไทย ไม่ได้มีไว้สำหรับผู้สูงอายุหรือวัยผู้ใหญ่เท่านั้น แต่คนรุ่นใหม่ วัยทำงาน ก็สามารถสวมใส่ได้เช่นกัน หากมีการนำอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมมาออกแบบให้ทันสมัย สวยงาม ก็จะเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยในปี2566 มีเป้าหมายในการขยายตลาดสู่ต่างประเทศ เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อิตาลี” นางสาวณัฏฐิญา กล่าว

ทั้งนี้ กลุ่มเป้าหมายของการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สาขาสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และผ้าไหมพื้นเมือง ยังคงเป็นกลุ่มผู้ประกอบการ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น : กลุ่มผ้าไหมมัดหมี่ย้อมสีธรรมชาติบ้านหนองหญ้าปล้อง (ผ้าไหมอีรี่มัดหมี่วิสาหกิจชุมชนผ้าไหมมัดหมี่บ้านหัวฝาย (ผ้าไหมแต้มจังหวัดนครราชสีมา : กลุ่มหัตถกรรมผ้าไหมบ้านดู่ (ผ้าไหมมัดหมี่จังหวัดหนองบัวลำพู : กลุ่มทอผ้าแม่เอื้อมคำ by เมเม่ (ผ้าไหมขิดจังหวัดกาฬสินธุ์ : กลุ่มสตรีสหกรณ์บ้านโพนแพรวา (ผ้าไหมแพรวาและจังหวัดสุรินทร์ : กลุ่มสตรีทอผ้าไหมลายยกดอกบ้านดู่นาหนองไผ่ และกลุ่มจันทร์หอม (ผ้าไหมยกดอก

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงอุตสาหกรรม

Facebook
Twitter
Email
Print
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News