เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2566 เวลา 13.00 น. นางสาวพิมพ์ภัทรา  วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ลำพูน หารือร่วมเอกชน ถึงแนวทางขับเคลื่อน ภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดลำพูน พร้อมด้วย นางสาวศิรินันท์ ศิริพานิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวไพลิน เทียนสุวรรณ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายเอกภัทร วังสุวรรณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะผู้บริหารระดับสูง กระทรวงอุตสาหกรรม เข้าร่วม โดยมี นายสันติธร ยิ้มละมัย ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน  นางจันทนา ไวยาวัจมัย อุตสาหกรรมจังหวัดลำพูน และหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ที่เกี่ยวข้องร่วมต้อนรับ ณ ห้องประชุมสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จังหวัดลำพูน

 

สำหรับในพื้นที่จังหวัดลำพูน มีผู้ประกอบกิจการโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ 73 ราย แบ่งเป็น ญี่ปุ่น 35 ราย ไทย 19 ราย ยุโรป 11 ราย เกาหลี 3 ราย ไต้หวัน 2 ราย สหรัฐอเมริกา 1 ราย สิงคโปร์ 1 ราย และอินเดีย 1 ราย มีจำนวนการจ้างงาน 35,000 คน โดยเป็นกลุ่มอุตสาหกรรม แบ่งเป็นด้าน ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องมือวิทยาศาสตร์ 27 โรงงาน อุตสาหกรรมเหล็ก และผลิตภัณฑ์โลหะ 8 โรงงาน อุตสาหกรรมน้ำมัน และพลังงาน 7 โรงงาน อุตสาหกรรมอาหาร และเครื่องดื่ม 5 โรงงาน อุตสาหกรรมเครื่องยนต์ เครื่องจักร และอะไหล่ 5 โรงงาน และอุตสาหกรรมด้านอื่นๆ เช่น อัญมณี เครื่องแต่งกาย ฯลฯ 21 โรงงาน

 

โดยการประชุมหารือในครั้งนี้ ได้นำเสนอในประเด็นต่าง ๆ อาทิ โครงการพัฒนาและเชื่อมโยงผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรายใหญ่กับ SMEs ลำพูน (Lamphun Supply Chain) : เพื่อเปิดโอกาสแสดงศักยภาพ และสร้างโอกาสเจรจาธุรกิจร่วมกัน ,โครงการขนส่งสินค้าทางรถไฟ และสถานี Container Yard : เพื่อสนับสนุนให้เกิดการขนส่งสินค้าในภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมภายในประเทศไทยและขนส่งออกไปต่างประเทศ, การปรับปรุงผังเมือง เพื่อรองรับการขยายตัวของการค้าและอุตสาหกรรมลำพูน NEC ,การปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับเศรษฐกิจ และ อุตสาหกรรมเกษตรเพิ่มมูลค่าสูง (Lamphun Superfoods Valley)

 

อุตสาหกรรมจังหวัดลำพูน กล่าวว่า สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดลำพูน จากข้อมูล ประจำปี พ.ศ. 2564 ต่อหัว ลำพูน เป็นอันดับ 1 ของภาคเหนือ ลำดับที่ 14 ของประเทศ และจังหวัดลำพูน มีประเด็นการพัฒนาจังหวัดให้เป็นเมืองอุตสาหกรรม หัตถกรรม และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ยกระดับศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทย ให้สอดรับกับการขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ภาคเหนือ (Northern Economic Corridor) หรือ NEC ซึ่งรัฐบาลหวังพัฒนาภาคเหนือในส่วนของ 4 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง และลำพูน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดลำพูน ให้เป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ของประเทศอย่างยั่งยืน เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปวิสัยทัศน์ของจังหวัดลำพูนในปี 2570 ต่อไป

 

ทั้งนี้ รัฐมนตรีฯ พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ นายเศรษฐา  ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งดึงดูดนักลงทุน ในส่วนภาคอุตสาหกรรมจังหวัดลำพูนว่า รัฐบาลมีความพร้อมในการสนับสนุนศักยภาพภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย ให้สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก พร้อมกับมีโยบายในการส่งเสริมการจัดทำโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อดึงดูดการลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศให้มากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งให้กำลังใจพี่น้องประชาชน และผู้ประกอบการภาคธุรกิจ และเน้นย้ำให้การนิคมฯ ดูแลในส่วนของการบริหารจัดการน้ำ การใช้น้ำของโรงงานอุตสาหกรรม ไม่ให้กระทบต่อภาคการเกษตรของประชาชน ซึ่งนายกรัฐมนตรี เป็นห่วงสถานการณ์น้ำแล้งเป็นอย่างมาก

 

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงอุตสาหกรรม

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME