Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

วัฒนธรรมเชียงราย โชว์เหนือ คว้าโล่รางวัลชุมชนต้นแบบ 3 ปีติด

 

เมื่อวันจันทร์ที่ 22 เมษายน 2567 ณ หอศิลป์แห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรมกระทรวงวัฒนธรรมจัดพิธีมอบโล่รางวัลเชิดชูเกียรติ 10 สุดยอด ชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดย  นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีมอบโล่เชิดชูเกียรติ 10 สุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยมีนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม รองผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้นำชุมชน 10 สุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ข้าราชการและเจ้าหน้าที่กระทรวงวัฒนธรรม เข้าร่วม ณ หอศิลป์แห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม

 ทั้งนี้ นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย มอบหมายให้ นางสุภาพรรณ  หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และนายพิสันต์  จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย เข้ารับโล่รางวัลผู้สนับสนุนการขับเคลื่อนชุมชนฯ

 

ในการนี้ พระพุทธิญาณมุนี เจ้าคณะจังหวัดเชียงราย เจ้าอาวาสวัดพระธาตุผาเงา และนายอานนท์  สมพันธ์ ผู้ใหญ่บ้านสบคำ เข้ารับโล่รางวัล 10 สุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566

 

ในโอกาสนี้ ชุมชนคุณธรรมฯ วัดพระธาตุผาเงา (บ้านสบคำ) ได้นำทุนทางวัฒนธรรมของชุมชนมาพัฒนาต่อยอดสู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หรือ Soft Power ด้านต่างๆ เพื่อให้เกิดคุณค่าและมูลค่าอย่างสร้างสรรค์ โดยร่วมจัดแสดงนิทรรศการ สาธิตภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม และนำผลิตภัณฑ์ชุมชน อาทิ ผ้าทอล้านนาลายอัตลักษณ์เชียงแสน และสมุนไพรวัดพระธาตุผาเงา มาร่วมจัดแสดงในงานดังกล่าวด้วย

 

ทั้งนี้ จังหวัดเชียงรายโดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย กำหนดจัดพิธีเปิดสุดยอดชุมชนคุณธรรมต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ชุมชนคุณธรรมฯ วัดพระธาตุผาเงา (บ้านสบคำ) โดยได้รับเกียรติจาก นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม จะมาเป็นประธานในพิธีฯ ในวันเสาร์ที่ 27 เมษายน 2567 เวลา 9.00 น. เป็นต้นไป ณ บริเวณลานจอดรถ1 วัดพระธาตุผาเงา ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย กิจกรรมประกอบด้วย การแสดงศิลปะวัฒนธรรมพื้นบ้าน อาทิ การขับทุ้ม การตีกลองหลวง การเต้นบาสโลบ เป็นต้น การสาธิตภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม อาทิ วิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ไท-ลาว การบายศรีสู่ขวัญ อาหารพื้นบ้าน ภูมิปัญญาของโรงเรียนสามวัยวัดพระธาตุผาเงา ฯลฯนิทรรศการของส่วนราชการ ชุมชนต่างๆ ชมและช้อปสินค้าทางวัฒนธรรม CPOT และสินค้าชุมชนในตลาดวัฒนธรรม “อิ่มบุญ ยลวิถีผาเงา” และลานวัฒนธรรมสร้างสุข

          จังหวัดเชียงราย เป็นจังหวัดเดียวที่ได้รับการคัดเลือกสุดยอดชุมชนคุณธรรมต้นแบ “เที่ยวชุมชนยลวิถี” ติดต่อกัน 3 ปี คือ พ.ศ.2564 ชุมชนวัดท่าข้ามศรีดอนชัย อ.เชียงของ, พ.ศ.2565 ชุมชนบ้านเมืองรวง อ.เมืองเชียงราย และ พ.ศ.2566 ชุมชนวัดพระธาตุผาเงา(บ้านสบคำ) อ.เชียงแสน

ความศักดิ์สิทธิ์ของวัดพระธาตุผาเงาตามความเชื่อของชาวบ้านนั้น เชื่อกันว่าหากใครเจ็บไข้ได้ป่วยแล้วมาสักการบูชาที่วัดนี้ อาการป่วยก็จะทุเลาลงและหายในที่สุดอย่างน่าอัศจรรย์ใจ

ตั้งอยู่บ้านสบคำ ตำบลเวียง สันนิษฐานว่าเป็นวัดที่สำคัญในสมัยอาณาจักรโยนก เดิมชื่อว่า วัดสบคำ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ต่อมาถูกกระแสน้ำพัดพังทลายลงเกือบหมดวัดจึงได้สร้างวัดขึ้นมาใหม่ ปี พ.ศ. 2519 มีการปรับพื้นที่บริเวณวัดใหม่จึงมีการขุดพบพระพุทธรูป อายุระหว่าง 700-1,300 ปี จึงได้เรียกพระพุทธรูปว่า “หลวงพ่อผาเงา” คำว่า “ผาเงา” หมายถึง เงาของก้อนผาหรือก้อนหิน ซึ่งมีขนาดใหญ่ทรงคล้ายเจดีย์ เวลาพระอาทิตย์ส่องผ่านก้อนหินทำให้เกิดเงาขนาดใหญ่ ชาวบ้านจึงเรียกว่า “พระธาตุผาเงา”

 

สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด ได้แก่ – พระอุโบสถ เป็นอาคารไม้แกะสลักด้วยไม้สักทอง สถาปัตยกรรมแบบล้านช้างผสมผสานล้านนา ภายในประดิษฐาน พระเชียงแสนสิงห์ 1 เป็นพระประธาน มีพุทธลักษณะงดงาม มีจิตรกรรมฝาผนังบอกเล่าเรื่องราวพุทธประวัติ – หอพระบรมฉายามหาราชพุทธิรังสรรค์ ภายในมีอนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราชและพระฉายาลักษณ์ของราชวงศ์ รวมทั้งบุคคลสำคัญที่มาเยือนวัดพระธาตุผาเงา – วิหารหลวงพ่อผาเงา ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปหลวงพ่อผาเงา

 

ซึ่งถูกขุดพบเมื่อมีการปรับแต่งพื้นที่ของวัดมีพุทธลักษณะงดงาม จึงตั้งชื่อว่า “หลวงพ่อผาเงา” และเปลี่ยนชื่อวัดใหม่จากเดิมที่ชื่อวัดสบคำ มาเป็นวัดพระธาตุผาเงา – พระธาตุผาเงา ตั้งอยู่บนยอดหินก้อนใหญ่ คำว่าผาเงา ก็คือเงาของก้อนหิน มีลักษณะสูงใหญ่คล้ายรูปทรงเจดีย์และสร้างร่มเงาได้ดีมาก – พระบรมธาตุพุทธนิมิตเจดีย์ ตั้งอยู่บนยอดเขา เป็นเจดีย์ขนาดใหญ่สร้างครอบองค์พระธาตุเจ็ดยอดที่เหลือแต่ซากฐาน สูง 5 เมตร ภายในยังมีฐานของพระธาตุเจ็ดยอดองค์เดิมและมีภาพเขียนฝาผนังบอกเล่าเรื่องราวพระราชประวัติพระนางจามเทวี ด้านนอกสามารถเดินรอบได้ลักษณะคล้ายป้อมปราการ

 

สามารถมองเห็นทิวทัศน์สวยงามได้โดยรอบ – สกายวอร์กผาเงา 3 แผ่นดิน ตั้งอยู่ใกล้กับพระบรมธาตุพุทธนิมิตเจดีย์ ห่างจากแม่น้ำโขงประมาณ 400 เมตร เป็นสะพานกระจกรูปแปดเหลี่ยม มีความสูง 25 เมตร ทางเข้าและออกเชื่อมต่อกับถนนรอบพระบรมธาตุพุทธนิมิตเจดีย์ เป็นทางเดินพื้นกระจกนิรภัยลามิเนตและโลหะ สามารถเห็นวิวทิวทัศน์ริมแม่น้ำโขงทั้งฝั่งไทย และบ้านดอนสะหวัน เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

 

มีบริการรถรับส่งบริเวณลานจอดรถหน้าพระอุโบสถ อัตราค่าเข้าชม สกายวอร์ก วัดพระธาตุผาเงา ผู้ใหญ่ 40 บาท เด็กสูงไม่เกิน 120 เซนติเมตร ไม่มีค่าใช้จ่าย จำกัดจำนวนผู้เข้าชมรอบละ 10

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สนง.วัฒนธรรม เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
CULTURE

ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง สูมาคารวะ สระเกล้าดำหัว วัฒนธรรมจังหวัดเจียงฮาย

 
เมื่อววันพฤหัสบดีที่ 18 เมษายน 2567 เวลา 09.00 น. “สืบสานสงกรานต์วิถีไทย สูมาคารวะ สระเกล้าดำหัว วัฒนธรรมจังหวัดเจียงฮาย ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง 2567” ในเทศกาลสงกรานต์ 2567

 

บุคลากรสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย ร่วมรดน้ำดำหัว นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย เพื่อขอพรเนื่องในโอกาสเทศกาลสงกรานต์ และปีใหม่ล้านนา ประจำปี 2567 เพื่อความเป็นสิริมงคล และขอพรเนื่องในโอกาสเทศกาลสงกรานต์ และวันขึ้นปีใหม่ไทย ซึ่งถือเป็นการสืบทอด ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมอันดีงามของชาวเหนือมาแต่โบราณ

 

ประเพณีรดน้ำดำหัว เป็นสิ่งที่ทำต่อเนื่องกันมายาวนานในปีใหม่ไทย เป็นการแสดงความเคารพและความกตัญญูต่อบิดามารดา ผู้ใหญ่ และผู้มีพระคุณ ด้วยความเชื่อที่ว่า เป็นการขอขมาลาโทษ พร้อมทั้งรับคำอวยพรเพื่อสิริมงคลของชีวิต และประเพณีนี้ยังทรงคุณค่ามาจนทุกวันนี้

 

ประเพณีสงกรานต์ หรือที่รู้จักกันดีว่าคือวันขึ้นปีใหม่ไทย ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง หมายถึงการขึ้นศักราชใหม่หรือปีใหม่ตามปฏิทินสุริยคติ โดยคำว่า สงกรานต์ เป็นคำภาษาสันสกฤต แปลว่า ผ่าน หรือ เคลื่อนย้ายไป ในที่นี้คือ การเคลื่อนย้ายของพระอาทิตย์จากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ ถือเป็นการเคลื่อนที่สำคัญ จึงเรียกว่า มหาสงกรานต์
ใน พ.ศ. 2432 ได้ประกาศให้วันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ จนถึง พ.ศ. 2484 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ประกาศเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ตามหลักสากล คือ วันที่ 1 มกราคม ส่วนเทศกาลสงกรานต์หรือการขึ้นปีใหม่แบบเดิม ได้กำหนดให้ตรงกับวันที่ 13 – 15 เมษายน ของทุกปี

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สนง.วัฒนธรรม เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

หน่วยราชการลงตรวจเข้มด่านชุมชน ช่วงเทศกาลสงกรานต์

 
เมื่อวันศุกร์ที่ 12 เมษายน 2567 นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย หัวหน้าคณะทำงานติดตาม ตรวจเยี่ยม จุดตรวจ จุดบริการ ด่านชุมชน ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี พ.ศ. 2567 จังหวัดเชียงราย  พร้อมด้วยคณะทำงาน ประกอบด้วย  นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย, วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย, ผู้แทนผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์, ผู้แทนพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงราย, ผู้แทนผู้อำนวยการ สนง. พระพุทธศาสนาจังหวัดเชียงราย โดยผู้ช่วยหัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงราย เป็นคณะทำงานและเลขาฯ

 

ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมฯ เพื่อให้กำลังใจ มอบนโยบาย แนวทางปฏิบัติ และมอบเครื่องดื่ม น้ำดื่ม สิ่งของอุปโภค/บริโภค ให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานประจำจุดตรวจเยี่ยมฯ ในพื้นที่อำเภอแม่ฟ้าหลวง แม่สาย เชียงแสน เชียงของ และเวียงแก่น ดังนี้

 

  1. จุดตรวจตู้ยามบ้านห้วยน้ำขุ่น หมู่ที่ 1 ตำบลแม่ฟ้าหลวง อำเภอแม่ฟ้าหลวง
  2. จุดตรวจบ้านถ้ำปลา บ้านถ้ำ หมู่ที่ 3 ตำบลโป่งงาม อำเภอแม่สาย
  3. จุดตรวจบ้านเกาะผาคำ สามแยกเกาะผาคำ ตำบลบ้านแซวอำเภอเชียงแสน
  4. จุดตรวจห้วยเย็น บ้านห้วยเย็น หมู่ที่ 7 ตำบลริมโขง อำเภอเชียงของ
  5. จุดตรวจบ้านท่าเจริญ หมู่ที่ 10 ตำบลศรีดอนชัย อำเภอเชียงของ
  6. จุดตรวจบ้านห้วยเอียน หมู่ที่ 6 ตำบลหงาว อำเภอเวียงแก่น

 

ในการนี้ นายพิสันต์  จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วย นายฐิติการณ์  ศิริอิศรานุวัฒน์ นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย ร่วมลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม ติดตามการปฏิบัติงาน ณ จุดตรวจ จุดบริการ ด่านชุมชน ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ในพื้นที่อำเภอแม่ฟ้าหลวง แม่สาย เชียงแสน เชียงของ และเวียงแก่น ดังกล่าว

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สนง.วัฒนธรรม เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

MOU บริการวิชาการทำนุบำรุงกิจการพระพุทธศาสนาและศิลปวัฒนธรรม

 

เมื่อวันจันทร์ที่ 8 มีนาคม 2567 เวลา 13.00 น. ณ ห้องประชุมวิทยาลัยสงฆ์เชียงราย ศาลากลางจังหวัดหลังเดิม (ดอยจำปี) อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย วิทยาลัยสงฆ์เชียงราย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยการบริการวิชาการทำนุบำรุงกิจการพระพุทธศาสนาและศิลปวัฒนธรรม ระหว่างวิทยาลัยสงฆ์เชียงราย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย และสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเชียงราย โดยมี พระพุทธิญาณมุนี ผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์เชียงราย, นายโสไกร  ใจหมั้น ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเชียงราย และนายพิสันต์  จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย มอบหมายผู้แทน ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU)ฯ ในที่ประชุมคณะสงฆ์จังหวัดเชียงราย สมัยสามัญ ครั้งที่ 2/2567 ระดับเจ้าคณะจังหวัด รองเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ รองเจ้าคณะอำเภอ กองงานเลขานุการเจ้าคณะจังหวัดเชียงราย และเลขานุการ

 

 

    บันทึกความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยการบริการวิชาการทำนุบำรุงกิจการพระพุทธศาสนาและศิลปวัฒนธรรม มีวัตถุประสงค๋เพื่อร่วมกันพัฒนาวิชาการ การทำนุบำรุงกิจการพระพุทธศาสนาและศิลปวัฒนธรรม, เพื่อร่วมมือกันจัดทำกิจกรรมวิชาการพระพุทธศาสนากับศาสตร์สมัยใหม่และศิลปวัฒนธรรม และเพื่อแลกเปลี่ยนด้านการศึกษา การวิจัยทางพระพุทธศาสนาและศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยมีระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน 2567 ถึงวันที่ 7 เมษายน 2572

 

 

     ในการนี้ นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย มอบหมายให้ นางพรทิวา  ขันธมาลา ผู้อำนวยการกลุ่มยุทธศาสตร์และเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม เป็นผู้แทนร่วมพิธีลงนาม เและนางสาวสุพิชชา  ชุ่มมะโน นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ เป็นพยานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU)ฯ ดังกล่าว

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สนง.วัฒนธรรม เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
CULTURE

แข่งขันกลองปู่จานครลำปางชิงถ้วยรางวัลพระราชทาน ครั้งที่ 20

 

เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2567 เวลา 18.30 น. ดร.ลาลีวรรณ กาญจนจารีผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีเปิดการแข่งขันตีก๋องปู่จานครลำปางชิงถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ครั้งที่ 20 ประจำปี พ.ศ. 2567 ในงานสลุงหลวง กลองใหญ่ ปีใหม่เมือง นครลำปาง ประจำปี 2567 โดยมีนายชัชวาลย์ ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กล่าวต้อนรับ นางกาญจนี อุดมกุลวณิชย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านปฏิบัติการคลังปิโตรเลียม บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) กล่าวให้การสนับสนุน

 

นางกรวรรณ สุ่มมาตย์ วัฒนธรรมจังหวัดลำปาง กล่าวรายงานฯ รศ.ดร.สุพรรณี ฉายะบุตร นายกเหล่ากาชาดจังหวัดลำปาง นายสถาพร เที่ยงธรรม ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม นางสาวลิปิการ์ กำลังชัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม นางจิตรี จิวะสันติการ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง หัวหน้าส่วนราชการ วัฒนธรรมจังหวัด 16 จังหวัดภาคเหนือ ภาคเอกชน สภาวัฒนธรรมอำเภอ 13 อำเภอ และภาคีเครือข่ายวัฒนธรรม

 

การแข่งขันตีก๋องปู่จานครลำปาง บูรณาการความร่วมมือระหว่างสภาวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง สมาคมก๋องปู่จาและศิลปะการแสดงพื้นบ้านนครลำปาง สภาวัฒนธรรม 13 อำเภอ เครือข่ายก๋องปู่จา 13 อำเภอ ร่วมกับบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) เพื่อสืบสานวัฒนธรรมประเพณีตีก๋องปู่จานครลำปางในกลุ่มเด็กและเยาวชนอย่างต่อเนื่อง และร่วมอนุรักษ์ ฟื้นฟูประเพณีตีก๋องปู่จา ซึ่งเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นให้ดำรงอยู่สืบไป ณ ลานศาลหลักเมือง และสนามหน้าพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้เมืองลำปาง (มิวเซียมลำปาง) อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง

 

สำหรับผลการแข่งขันตีก๋องปู่จานครลำปาง ชิงถ้วยพระราชทานฯ ดังนี้

1.รางวัลชนะเลิศพร้อมถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท

  • อำเภอห้างฉัตร

2.รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 รางวัล 40,000 บาท

  • อำเภองาว

3.รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 รางวัล 30,000 บาท

  • อำเภอเกาะคา

รางวัลชมเชย 10 รางวัล รางวัล 25,000บาท

  • อำเภอเมืองลำปาง
  • อำเภอแจ้ห่ม
  • อำเภอแม่พริก
  • อำเภอเสริมงาม
  • อำเภอสบปราบ
  • อำเภอวังเหนือ
  • อำเภอแม่ทะ
  • อำเภอเถิน
  • อำเภอเมืองปาน
  • อำเภอแม่เมาะ

รางวัลขวัญใจมหาชน รางวัลละ 5,000 บาท

  • อำเภอแจ้ห่ม

โดยจังหวัดลำปาง โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง ร่วมบูรณาการกับสภาวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง บริษัท ปตท.น้ำมัน และการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) และภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชน กำหนดจัดงานสลุงหลวง กลองใหญ่ ปีใหม่เมือง นครลำปาง ประจำปี พ.ศ. 2567 ระหว่างวันที่ 7 – 13 เมษายน 2567 โดยมีพิธีเปิดการแข่งขันกลองปู่จานครลำปางชิงถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ครั้งที่ 20 ในงานสลุงหลวง กลองใหญ่ ปีใหม่เมือง นครลำปาง ประจำปี พ.ศ. 2567 ในวันจันทร์ที่ 8 เมษายน 2567 ณ ลานศาลหลักเมืองนครลำปาง และสนามหน้าพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้เมืองลำปาง (มิวเซียมลำปาง) อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง ซึ่งมีกิจกรรมสำคัญ ดังนี้

  1. กิจกรรมข่วงแก้วเวียงละกอน และถนนสายวัฒนธรรม
  2. ขบวนอัญเชิญรางวัลพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
  3. การแข่งขันตีก๋องปู่จานครลำปางชิงถ้วยรางวัลพระราชทานฯ
  4. พิธีมอบรางวัลพระราชทานฯ และบันทึกภาพร่วมกัน
  5. การแสดงศิลปวัฒนธรรมของเด็กและเยาวชนจังหวัดลำปาง
  6. การจำหน่ายสินค้าทางวัฒนธรรม และผลิตภัณฑ์ชุมชน

ซึ่งนายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วย นายสุพจน์ ทนทาน นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ และนายพร้อมพงษ์ ทาสิทธิ์ ข้าราชการและบุคลากรสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย เข้าร่วมกิจกรรมฯ ดังกล่าว

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สนง.วัฒนธรรม เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

เที่ยวสงกรานต์ เชียงรายเบียนนาเล่สาดศิลป์ สาดสุข ลุ้นรับรางวัล

 

สายอาร์ตห้ามพลาด !! เที่ยวสงกรานต์เชียงราย สนุกสนานสราญศิลป์ ในงานไทยแลนด์เบียนนาเล่ และร่วมสนุกกับกิจกรรม “สาดศิลป์ สาดสุข สนุกกับเบียนนาเล่”  ลุ้นรับรางวัล สุดชีค Limited Edition มากมาย

 

นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว วธ) เปิดเผยว่า เทศกาลสงกรานต์เป็นอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ที่เดินทางมาท่องเที่ยวเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ความประทับใจ ในสีสันบรรยกาศ ความรื่นเริง สนุกสนาน การละเล่นและวัฒนธรรมประเพณีของแต่ละภูมิภาคในประเทศไทย ประกอบกับขณะนี้กระทรวงวัฒนธรรม 

 

โดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ร่วมกับจังหวัดเชียงรายได้จัดงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ หรือไทยแลนด์เบียนนาเล่เชียงราย ระหว่างวันที่ 9 ธันวาคม 2566 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2567 ซึ่งมีกิจกรรมต่างๆ มากมาย และมีผู้เข้าชมงานเป็นจำนวนมากเกือบ 3,000,000 คนแล้ว จึงเชิญชวนผู้สนใจไปเที่ยวชมต่อจนกว่าจะจบงาน ซึ่งในช่วงวันที่ 6-7 เมษายน จะมีงาน “กวาคีลา : เป่า ร้อง กลอง รำ เปิดโลกวิถีวัฒนธรรมดนตรีชาติพันธุ์เมืองเชียงราย” เป็นกิจกรรมการแสดงดนตรีชาติพันธุ์ ส่วนหนึ่งของการจัดมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 ภายใต้ความร่วมมือกับผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.องอาจ อินทนิเวศ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย   ควบคู่ไปกับนิทรรศการศิลปะจากศิลปินระดับโลก

 

รมว วธ กล่าวต่อว่า เพื่อให้คนเดินทางไปเที่ยวเชียงรายได้มีโอกาสชมงานศิลปะระดับโลกไปพร้อมๆ กับการเที่ยวงานสงกรานต์ที่เชียงราย กระทรวงวัฒนธรรมและจังหวัดเชียงราย จึงจัดกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้ร่วมสนุกลุ้นรับรางวัล โดยขอเชิญผู้ที่เดินทางไปเที่ยวเชียงราย ระหว่างวันที่ 13 – 15 เมษายน 2567 นี้ ไปเชียงราย แล้วอย่าลืมแวะชมงานศิลปะ ในจุดแสดงงานไทยแลนด์เบียนนาเล่เชียงราย แล้วถ่ายภาพ/ถ่ายคลิปที่มีภาพตัวท่านเองคู่กับงานศิลป์ และโพสต์/แชร์บนเฟซบุ๊ก หรืออินสตาแกรม ตั้งค่าสาธารณะ ติดแฮชแทค ตามนี้ 

#thailandbiennalechiangrai2023
#thailandbiennale
#สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI FEATURED NEWS

เซ็นทรัลเชียงราย ร่วมวัฒนธรรมจังหวัด “เปิดศักราชใหม่ ประเพณี ปี๋ใหม่เมือง” ชาวล้านนา

 

เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2567 ณ ลานกาสะลอง ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เชียงราย คุณสายัณห์ นักบุญ ผู้จัดการทั่วไป  พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร พนักงาน ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เชียงราย ร่วมเป็นหนึ่งในการเปิดงาน “เปิดศักราชใหม่ ประเพณี ปี๋ใหม่เมือง” ต้อนรับปีใหม่ของชาวล้านนา ร่วมกันสืบสานวัฒนธรรม ประเพณีอันดีงามในช่วงเปลี่ยนศักราชใหม่ ประจำปี 2567 โดยมีคุณพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วยคุณจักรภัทร แสนภูธร อุปนายกสมาคมสื่อมวลชนและนักประชาสัมพันธ์เชียงราย

 

ในกิจกรรม “เปิดศักราชใหม่ประเพณี  ปี๋ใหม่เมือง”จัดขึ้นเพื่อให้ความสำคัญของประเพณีปี๋ใหม่เมือง โดยถือเป็นการเริ่ต้นศักราชใหม่ การร่วมมือกันอย่างศูนย์การค้าเซ็นทรัล เชียงรายและ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย  ถือเป็นประเพณีที่ปรากฏในเดือนเมษายน หรือเดือน 7 เหนือ ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนศักราชใหม่ การเอาเดือนเมษายนเป็นเดือนแรกของปีนั้น เพื่อทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระ ดำหัว เล่นน้ำ และขอพรจากผู้ใหญ่ เป็นสิริมงคลในชีวิต ตามควมเชื่อของชาวเมืองล้านนาเรา

 

โดยภายในงานพบการแสดงเปิดศักราชใหม่เอาฤกษ์เอาชัยกับการแสดงตีกลองสะบัดชัย จำนวน 9 ชุด เปิดรับความเป็นศิริมงคล, การแสดงฟ้อนเล็บ และการแสดงมหาราชันล้านนา  ที่รวมเอาเยาวชนในจังหวัดเชียงราย ที่มีความรักในศิลปะการแสดงพื้นบ้าน มาแสดงภายในงานมากกว่า 50 ชีวิต อย่างสุดอลังการ

 

ซึ่งศูนย์การค้าเซ็นทรัล ทั่วไทย ยังมีการฉลองยิ่งใหญ่ Thailand’s Songkran Festival 2024ยืนหนึ่ง!! World’s Best Culturetainment  #เทศกาลมหาบันเทิงระดับโลกที่ทุกคนรอคอย ปีนี้ จัดยิ่งใหญ่ ครบทุกความมหาบันเทิง ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัล ทั่วประเทศ  

 

เทศกาลดนตรี & สาดน้ำมหาบันเทิง  #มันส์ที่สุดของที่สุด กับ 30 แลนด์มาร์ก World’s Best Water Fight Entertainment เทศกาลดนตรีและสาดน้ำมหาบันเทิง ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัล ทั่วไทยสถานที่ดังนี้

 

กรุงเทพฯ ปริมณฑล และภาคกลาง

 เซ็นทรัลเวิลด์, เซ็นทรัล พระราม 2, เซ็นทรัล ปิ่นเกล้า, เซ็นทรัล เวสต์เกต,  เซ็นทรัล ศาลายา, เซ็นทรัล วิลเลจ,  เซ็นทรัล เวสต์วิลล์, เซ็นทรัล มหาชัย, เซ็นทรัล อยุธยา และเซ็นทรัล นครสวรรค์ 

ภาคตะวันออก

เซ็นทรัล ชลบุรี, เซ็นทรัล พัทยา, เซ็นทรัล มารีนา, เซ็นทรัล ศรีราชา, เซ็นทรัล ระยอง, เซ็นทรัล จันทบุรี

ภาคเหนือ

เซ็นทรัล พิษณุโลก, เซ็นทรัล เชียงใหม่ แอร์พอร์ต, เซ็นทรัล เชียงใหม่, เซ็นทรัล เชียงราย และเซ็นทรัล ลำปาง

ภาคใต้

เซ็นทรัล นครศรี, เซ็นทรัล หาดใหญ่, เซ็นทรัล สมุย, เซ็นทรัล สุราษฎร์ธานี, เซ็นทรัล ภูเก็ต

ภาคอีสาน

 เซ็นทรัล โคราช, เซ็นทรัล ขอนแก่น, เซ็นทรัล อุบล, เซ็นทรัล อุดร

 

เทศกาล #ไทยมหาบันเทิง  ชมการแสดงโชว์เคสสุดพิเศษ “มรดกไทย” ได้รับการยกย่องจาก UNESCO อาทิ   โขน หุ่นละครเล็ก โจหลุยส์ มโนราห์ และนวดไทย ต้นตำรับนวดวัดโพธิ์  และการแสดงวัฒนธรรมไทยที่หาดูได้ยากจากกระทรวงวัฒนธรรม ตลอดจน ขบวนสงกรานต์มหาบันเทิง กิจกรรมสืบสานและอนุรักษ์ประเพณีในท้องถิ่น และส่งเสริมวัฒนธรรมไทยมากมาย

เทศกาล #สุขมหาบันเทิง กิจกรรมเสริมสิริมงคลรับปีใหม่ สรงน้ำสักการะขอพรพระพุทธรูปวัดดัง และพระประจำวันเกิด ครอบคลุมทั่วภูมิภาคไทย

เทศกาล #อร่อยมหาบันเทิง เที่ยวตลาดไทยในบรรยากาศเย็นสบาย ลิ้มลองอาหารไทยซิกเนเจอร์ อาหารไทยพื้นถิ่น และผลไม้ไทย

เทศกาล #แต่งชุดไทยมหาบันเทิง พบกับกิจกรรมรณรงค์การแต่งชุดไทย อนุรักษ์ผ้าไทย ผ้าถิ่น พร้อมชูอัตลักษณ์ท้องถิ่นสนับสนุนสินค้าไทย และกิจกรรมเวิร์กช้อปงานคราฟต์มากมาย

 

และเทศกาล #ช้อปมหาบันเทิง พบกับโปรโมชันสำหรับสมาชิก The 1, Central Life X  และ Tourist มากมาย พบกัน 2 เม.ย. 67 -21 เม.ย. 67 ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัล ทั่วประเทศ

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

ไฮไลต์ ‘เบียนนาเล่ เชียงราย’ 6-7 เม.ย. 67 ดนตรีของ 10 ชาติพันธุ์

 

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า งานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 ประสบความสําเร็จอย่างดงามด้วยความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วน รวมถึงการสนับสนุนจากคนไทยและนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกเดินทางมาเที่ยวชมงานศิลปะที่จัดแสดงในสถานที่สําคัญซึ่งเชื่อมโยงแหล่งเที่ยวของจังหวัดเชียงราย ด้วยนิทรรศการหลักและกิจกรรมคู่ขนานที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องไปจนสิ้นสุดโครงการในวันที่ 30 เมษายน 2567

 

นายเสริมศักดิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับกิจกรรมคู่ขนานสำคัญในช่วงปลายเดือนมีนาคม จนถึงช่วงต้นเดือนเมษายน 2567 ได้แก่

1) งาน “Chiangrai Cosplay summer meeting 2024” วันที่ 30 มีนาคม 2567 โดยกลุ่มเยาวชนคอสเพลย์เชียงราย (Chiangrai Cosplay Club) ซึ่งเป็นกิจกรรมสร้างสรรค์และพัฒนาทักษะความสามารถด้านศิลปะของคนรุ่นใหม่ที่มารวมตัวกันสร้างสรรค์กิจกรรม พร้อมออกบูธจำหน่ายของสะสมและของที่ระลึก ณ บริเวณลานใต้ต้นจามจุรี หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย (CIAM) 

 

2) ข่วง Crafts โดยจาก Craftsman Cafe & Spaces เครือข่ายศิลปะร่วมสมัยในจังหวัดเชียงราย ที่ตั้งใจเปิดพื้นที่ให้ผู้สร้างงานศิลปะได้มีโอกาสทำงานร่วมกัน โดยจัดกิจกรรมต่อเนื่องทุกวันเสาร์ – อาทิตย์แรกของเดือน นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566 เป็นต้นมา เช่น กิจกรรม Workshop โดยสมาชิกศิลปินสมาชิก งาน Paint โมเดลจิ๋ว, การระบายสีน้ำ, งานผ้า และงานเพนต์ก้อนหิน โดยล่าสุดข่วง Crafts ร่วมกับ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 และ สสส. จัดกิจกรรม “ปิดเทอมสร้างสรรค์ อัศจรรย์วันว่าง” เพื่อเปิดโอกาสการเรียนรู้ทางศิลปะให้แก่เยาวชนในช่วงปิดเทอมได้เข้าร่วม Class เรียนศิลปะสำหรับเด็ก เรียนรู้พื้นฐานเส้น การเล่นสี การวาดรูปและฝึกใช้จินตนาการสร้างผลงานศิลปะขั้นพื้นฐาน ในวันที่ 30-31 มีนาคม 2567 ณ Craftsman Cafe And Spaces หมู่บ้านลานทอง จังหวัดเชียงราย

 

นายเสริมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า 3) กิจกรรมไฮไลต์สำคัญ คือ เทศกาลดนตรีชาติพันธุ์ “กวาคีลา : เป่า ร้อง กลอง รำ เปิดโลกวิถีวัฒนธรรมดนตรีชาติพันธุ์เมืองเชียงราย” ซึ่งเป็นการแสดงดนตรีของ 10 ชาติพันธุ์เมืองเชียงราย ได้แก่ กลุ่มชาติพันธุ์ อาข่า อิ้วเมี่ยน ม้ง ลีซู ลาหู่ บาเกียว ปกาเกอะญอ ดาราอ้าง  คะฉิ่น ขมุ และลัวะ ในวันที่ 6-7 เมษายน 2567 ภายใต้ความร่วมมือของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.องอาจ อินทนิเวศ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย กิจกรรมการสร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัยที่จะเนรมิตบรรยากาศของหอศิลป์   ร่วมสมัยเมือง เชียงราย (CIAM) ให้อบอวลไปด้วยเสียงดนตรีอันเป็นเครื่องมือสื่อสารวิถีวัฒนธรรม อันหลากหลาย จากกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยกิจกรรมทีน่าสนใจในเทศกาล  เช่น นิทรรศการให้ความรู้เรื่องดนตรีชาติพันธุ์ของแต่ละกลุ่ม การแสดงดนตรีพื้นเมืองจากวงดนตรีนักเรียน  ในจังหวัดเชียงราย การแสดงดนตรีจากวงดนตรีกลุ่มชาติพันธุ์ร่วมสมัย การเสวนาจากนักวิชาการด้านดนตรี การเสวนาจากปราชญ์ชาติพันธุ์ท้องถิ่น การออกร้านจำหน่ายอาหารและสินค้าของกลุ่มชาติพันธุ์ และกิจกรรมการละเล่นพื้นบ้านชาติพันธุ์ โดยรอบบริเวณงาน ขอเชิญชวนคนรุ่นใหม่สายอาร์ตมาร่วมกิจกรรม Collateral Event เปิดมุมมองใหม่ ส่งเสริมเศรษฐกิจและภาคภูมิใจไปกับอัตลักษณ์ของเมืองเชียงราย ในงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 ซึ่งยังคงจัดต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2567 นี้

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงวัฒนธรรม

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

ไหว้สาพระธาตุดอยตุง ปี 67 “2006 ปีสืบมา หกเป็งล่องฟ้า”

 

เมื่อวันที่ วันอาทิตย์ที่ 23 มีนาคม 2567 เวลา 13.00 น. จังหวัดเชียงราย จัดงานประเพณีนมัสการ และสรงน้ำพระธาตุดอยตุง ประจำปี 2567 “2006 ปีสืบมา หกเป็งล่องฟ้า ไหว้สาพระธาตุดอยตุง” ระหว่างวันที่ 23-24  มีนาคม 2567 ณ วัดพระธาตุดอยตุง ตำบลห้วยไคร้ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย

 

กิจกรรมวันที่ 23 มีนาคม 2567

     เวลา 13.00 น. พิธีตักน้ำทิพย์เพื่อนำไปสรงน้ำพระธาตุดอยตุง ณ บ่อน้ำทิพย์ โดยมีนายพุฒิพงศ์  ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานในพิธีฯ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการทุกภาคส่วน จัดพิธีฯ ดังนี้

     – ประกอบพิธีตักน้ำทิพย์สรงพระธาตุดอยตุง

     – ขบวนอัญเชิญน้ำทิพย์มายังวิหารวัดน้อยดอยตุง

     – ขบวนอัญเชิญน้ำสรงพระราชทาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และน้ำสรงพระราชทาน  สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมด้วย ผ้าไตรพระราชทาน 10 ไตร  และผ้าห่มองค์พระธาตุดอยตุง พระราชทาน โดยมีนายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ  รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และว่าที่ ร.ต.ศาวุธ จันทวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นผู้อัญเชิญ พร้อมด้วยข้าราชการ และเจ้าหน้าที่จากอำเภอแม่สาย ได้อัญเชิญประดิษฐานไว้หน้าพระประธาน เชียงแสนสิงห์ 1 ในวิหารวัดน้อยดอยตุง  

   เวลา 17.00 น. พิธีเจริญพระพุทธมนต์สมโภชสวดเบิก ณ วิหารวัดน้อยดอยตุง ตำบลห้วยไคร้ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย โดยนายพุฒิพงศ์  ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายมอบหมายนางสุภาพรรณ  หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานในพิธี

 

 การจัดกิจกรรมในครั้งนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยได้รับความร่วมมือจากทุกส่วนราชการ ประชาชน คณะศรัทธาฯ เข้าร่วมกิจกรรม

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สนง.วัฒนธรรม เชียงราย

สุพจน์ ทนทาน, วิชากรณ์ กาศโอสถ : รายงาน
พร้อมพงษ์ ทาสิทธิ์ : ภาพ 
อภิชาต กันธิยะเขียว : บรรณาธิการข่าว 
 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

ตามรอยครูบาเจ้าศรีวิชัยสู่ลานพระธาตุดอยตุง ประจำปี 2567

 

เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 67 ที่ภายในวัดศาลาเชิงดอย ตำบลห้วยไคร้ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานในพิธีปล่อยขบวนเดินจาริกแสวงบุญตามรอยครูบาเจ้าศรีวิชัย ในงานสืบสานประเพณีนมัสการและสรงน้ำพระธาตุดอยตุง ประจำปี 2567 ภายใต้ชื่อว่า “2006 ปีสืบมา หกเป็งล่องฟ้า ไหว้สาพระธาตุดอยตุง” ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยมี พระพุทธิวงศ์วิวัฒน์ ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดเชียงราย รักษาการเจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยตุง ตลอดจนพระเถรานุเถระ นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย นายอำเภอแม่สาย หัวหน้าส่วนราชการ พุทธศาสนิกชนชาวจังหวัดเชียงราย และจังหวัดใกล้เคียง

 

เข้าร่วมพิธีกันอย่างคึกคักท่ามกลางอากาศที่เย็นสบายไร้หมอกควัน หลังจากก่อนหน้านี้ได้มีฝนตกลงมาอย่างมากมายทั่วทั้งจังหวัดทำให้อากาศและบรรยากาศโดยทั่วไปสดใส สดชื่น ทำให้เป็นที่สนใจแก่นักเดิน นักวิ่ง และผู้แสวงบุญ ที่ต้องการเดินจาริกแสวงบุญตามรอยครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งชาวล้านนาที่นับถือกันมายาวนานจนถึงปัจจุบัน เข้าร่วมจำนวนมาก

 

 ภายในพิธีช่วงเช้ามืดของวันนี้ นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และพระพุทธิวงศ์วิวัฒน์ ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดเชียงราย รักษาการเจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยตุง ประกอบพิธีทางศาสนา วางพานพุ่มดอกไม้สดสักการะครูบาเจ้าศรีวิชัย ที่ด้านหน้าวัดศาลาเชิงดอย เพื่อความเป็นสิริมงคลในการประกอบพิธีเดินจาริกแสวงบุญ โดยได้มีการปล่อยขบวนเดินจาริกแสวงบุญตามรอยครูบาเจ้าศรีวิชัย ตนบุญแห่งล้านนา เป็นระยะทาง 9 กิโลเมตร เพื่อขึ้นไปไหว้สาพระธาตุดอยตุงเจดีย์องค์แรกของล้านนา เพื่อสืบสานประเพณีนสมัสการและสรงน้ำพระธาตุดอยตุง ประจำปี 2567 ระหว่างวันที่ 23-24 มีนาคม 2567 นี้

 

 นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า พระธาตุดอยตุง ตั้งอยู่ตำบลห้วยไคร้ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เป็นโบราณสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา สร้างมาแต่โบราณกาล และเป็นหลักฐานแรกที่พระพุทธศาสนาเข้ามาประดิษฐานในล้านนา ตามประวัติได้กล่าวไว้ว่า พระมหากัสสะปะเถระ ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ส่วนพระธาตุรากขวัญเบื้องซ้าย หรือ กระดูกไหปลาร้าข้างซ้าย ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาถวายแด่พระพุทธเจ้าอุชุตราช เจ้าผู้ครองนครนาคพันธ์โยนกชัยบุรี รัชกาลที่ 3 แห่งราชวงศ์สิงหนวัติ เป็นประธานบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ณ ดอยดินแดง หรือดอยตุงในปัจจุบัน เมื่อ พ.ศ 561 ซึ่งการบูชาพระธาตุเจดีย์ ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลาตั้งแต่โบราณกาล ซึ่งคนล้านนาถือเอาพระธาตุเจดีย์เป็นที่พึ่งของตน ทุกคืนเวลาไหว้พระจะต้องไหว้พระธาตุคือไหว้พระเจดีย์ ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ประดิษฐาน ณ ที่ต่างๆ โดยเฉพาะผู้ที่เกิดปีกุน คือปีหมู หรือกุลชอน คือมปีช้าง  ตามความเชื่อของชาวล้านนาต้องไหว้พระธาตุเจดีย์ที่ดอยตุง จะเป็นสิริมงคลแก่การดำรงชีวิต

 

สำหรับปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 23 มีนาคม 2567 จังหวัดเชียงราย จึงได้ร่วมกับคณะสงฆ์จังหวัดเชียงราย จัดให้มีกิจกรรมเดินจริกแสวงบุญ ตามรอยครูบาเจ้าศรีวิชัย ขึ้นไปนมัสการพระธาตุดอยตุง ซึ่งเมื่อครั้งครูบาเจ้าศรีวิชัย ได้เดินทางจารึกแสวงบุญและทำการบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุดอยตุง ด้วยแรงแห่งความศรัทธา เมื่อปีพุทธศักราช 2470 พระครูบาเจ้าศรีวิชัยได้ใช้เส้นทางแห่งนี้ เป็นทางเดินขึ้นองค์พระธาตุดอยตุง คณะศรัทธาพุทธศาสนิกชนชาวจังหวัดเชียงราย จึงได้ยึดถือเป็นประเพณีการเดินจาริกแสวงบุญ สืบต่อมาเป็นประเพณีทุกๆ ปี อีกด้วย

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News