Categories
LIFESTYLE

#ฅนเจียงฮาย EP.05 : เคยโดนว่า “เต้นกินรำกิน” ตอนนี้มันเป็นอาชีพไปแล้ว

 

คอลัมน์ #ฅนเจียงฮาย EP.05 : เคยโดนว่า “เต้นกินรำกิน” ตอนนี้มันเป็นอาชีพไปแล้ว

ฅนเจียงฮาย : ครูกร้อ ครูสอนเต้น

เป็นใครมาจากไหน เล่าให้ฟังหน่อย? : ชื่อ “ครูก้อ” ครับ หรือว่าตะกร้อครับ เคยเรียนที่ ท.6 (โรงเรียนเทศบาล 6 นครเชียงราย) มาก่อน แล้วก็ย้ายไปที่ มฟล. หรือ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ก็จบเป็นนักศึกษาสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศครับ เกี่ยวกับไอที ไม่ได้เกี่ยวกับสายเต้นเลย เราเรียนไม่ได้เป็นความชอบส่วนตัว แต่เป็นความชอบของพี่สาวครับ แบบครอบครัวเมื่อก่อนก็คือเรารู้สึกว่า พี่เรียนสายอาชีพทางบ้านก็คิดว่าน่าจะทำงานได้ดีในสายนี้เราก็เลยเรียนแต่พอเราเข้ามหาวิทยาลัยเราก็รู้สึกว่าตัวเองชอบสิ่งอื่นที่น่าสนใจมากกว่านั้น ซึ่งมันก็คือ ‘การเต้น’ ที่เรารู้สึกว่าเราหลงรักเสียงเพลง ก็เลยผันตัวเองมาลองเต้นดูครับ

 

ที่บ้านก็มีไม่เข้าบ้างครับ เราเต้นเพื่ออะไรหรือว่าจุดมุ่งหมายเราที่เราจริงจังเนี่ยเพื่ออะไร? แบบนี้ครับ มันก็เหมือนมีคนบอกว่าเป็นการ ‘เต้นกินรำกิน’ ยังมีคำนี้อยู่นะครับมันมีมาตั้งแต่เมื่อก่อนแล้ว เรารู้สึกว่าจริง ๆ แล้วมันก็เป็นอาชีพได้นะในวันนึง แต่เมื่อก่อนคุณพ่อคุณแม่อาจจะยังไม่เข้าใจครับ

เราก็พิสูจน์ตัวเองแล้วก็เต้นมาเรื่อย ๆ จนเราได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่ง Hip Hop International ครับ ปี 2014 ได้รางวัล รองชนะเลิศอันดับ 1 ครับ ได้ร่วมเป็นตัวแทนประเทศในทีมใหญ่ที่เป็นการรวมตัวกันของหลาย ๆ ทีม แข่งที่ Las Vegas ปี 2015 ได้รางวัล อันดับที่ 4 ครับ ได้เป็นตัวแทนไปแข่งที่ San Diego

พอได้รางวัลมาพ่อแม่ก็เข้าใจ ก็ปล่อยให้ทำเต็มที่เลยครับ เราได้แชมป์เราก็จะไปแข่งที่อเมริกามาอีกสองปี กับครูยุ้ย ครูเมฆ เจ้าของสถาบัน MY DANCE นี่แหละ แต่ก็ไม่ได้รางวัลครับ เพราะที่อเมริกา การแข่งขันมันสูงมากครับ ตอนนี้เราเริ่มผันตัวเองมาเป็นโค้ชด้วย ลงแข่งบ้างบางครั้งบางคราวครับ


คือผมเป็นคนเชียงรายมาดั้งเดิม แต่ว่ามันมีช่วงที่เราไปทำงาน คิดจะไปเต้นที่กรุงเทพฯ เป็นแบบผู้ช่วยพวกในบริษัทค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ อย่างแกรมมี่ครับ เป็นผู้ช่วยของพี่ที่ทำงานสายเต้นด้วยกันนี่แหละ แต่เราก็อยู่ได้ ประมาณเดือนนึงแล้วก็กลับ ด้วยความรู้สึกว่าพอเราไปอยู่เบื้องหลังอะมันยังไม่ใช่ตัวตนเราครับ เพราะเราอาจจะชอบเต้นมาก ๆ ด้วยแหละ ชอบสอนด้วย เลยรู้สึกว่ามาทำสิ่งที่เราชอบตั้งแต่ต้นดีกว่า แล้วสอนเต้นนี่ประมาณเกือบจะสองปีแล้วครับ มีทั้งวัยเด็กน้อยสุดก็ประมาณ 3 ขวบ มากสุดอยู่ที่ 47 ปี เกือบ 50 ปี ก็คิดว่าจะทำไปเรื่อย ๆ เพราะชีวิตเราอยู่กับการเต้นและเราก็ชอบมากครับ
 

ปกติตอนแรกเรารู้สึกว่าเราไม่ชอบการสอนตั้งแต่แรก แต่พอทำไปเรื่อย ๆ ก็รู้สึกว่าการสอนผู้คนมันเปลี่ยนผู้คนได้ เราเห็นเขายิ้ม ได้เห็นเขามีความสุขกับการเต้น เราพอใจละ เราไม่ต้องการอะไร ไม่ต้องเก่งก็ได้แต่ให้เขาได้เปลี่ยนไปทำในสิ่งที่เขาชอบ เพลงที่เขาชอบ เหมือนเดี๋ยวนี้คนชอบที่จะได้ฟังเสียงเพลงหรือว่าอยากให้การเต้นมาช่วยบําบัดเพื่อให้ตัวเองมีความสุขมากขึ้น สิ่งนี้ทำให้เรารู้สึกว่า เออ เขามีความสุขขึ้นจริง ๆ กับเสียงเพลงและการที่ได้มาเต้นกับเรา มันทำให้คนดีขึ้นได้ ผมก็โอเคแล้ว มันมีความสุข รู้สึกถูกเติมเต็มมาก ๆ เลยครับ
 

อย่างเช่นเคสนึง มีนักเรียนเขามาเรียนกับเรา คือเขาอกหัก แล้วเขาบอกว่าอยู่คนเดียวไม่ไหว รู้สึกว่าเหมือนจะมีอาการซึมเศร้า เขาก็เลยออกมาเรียนเต้น ออกมาแสดงตัวตน สุดท้ายเขาก็มีความสุขขึ้น รู้สึกหลุดพ้นไม่ต้องคิดอะไร ดังนั้นตรงนี้มันโอเคที่สุดแล้วสําหรับเราครับ
 

สิ่งที่อยากเปลี่ยนมากที่สุด? : ถ้าถามว่าอยากจะเปลี่ยนอะไร อยากเปลี่ยนให้ทุกคนยอมรับในการเต้นมากขึ้นครับ เพราะว่ามันยุคใหม่แล้วมันต่างจากเมื่อก่อนเยอะ ไม่มีใครมาดูถูกแล้วว่าการเต้นมันไม่มีคุณค่า ทุกอย่างทุกอาชีพมันมีคุณค่าของมันอยู่แล้ว การเต้นก็เหมือนกันครับ


ฅนเดินเรื่องโดย : ครูกร้อ ครูสอนเต้น
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : MY Dance Academy

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
LIFESTYLE

#ฅนเจียงฮาย EP.04 : ไม่ได้อยากเปลี่ยนคนอื่น อยากเปลี่ยนตัวเอง เพื่อให้อยู่รอดในทุกสถานการณ์

 
คอลัมน์ #ฅนเจียงฮาย EP.03 : ไม่ได้อยากเปลี่ยนคนอื่น อยากเปลี่ยนตัวเอง เพื่อให้อยู่รอดในทุกสถานการณ์
 
ฅนเจียงฮาย : ชิงชิง สาวอาข่า วัย 22 ปี
 
เป็นใครมาจากไหน เล่าให้ฟังหน่อย? : ชื่อชิงชิง เป็นกลุ่มชาติพันธุ์อาข่า อายุ 22 ปีค่ะ อยู่ที่บ้านห้วยไร่ ตำบลห้วยไคร้ แล้วก็เคยเรียนที่โรงเรียนแม่จันวิทยาคมมาค่ะ หลังจากนั้นก็มาเรียนที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงราย ที่ตัวเมืองเชียงรายค่ะ อยากเรียนสายอาชีพ ก็เลยลงมาในเมืองเชียงรายตัวคนเดียวค่ะ แล้วก็มาพักอยู่หอใกล้กับที่เรียนเพราะว่าไม่อยากเดินทางไกล ค่าใช้จ่ายมันจะได้ลดน้อยลงค่ะ แล้วช่วงตอนเย็น ๆ ก็มาหางานพาร์ทไทม์ทําที่นี่ค่ะ
 
ถามถึงเรื่องเรียน เลือกเรียนเกี่ยวกับอะไรบ้างตอนนี้? : เรียนสาขาท่องเที่ยวค่ะ ตอนนี้เรียนระดับปริญญาตรี ปีหนึ่ง แต่ถ้าเทียบเท่าก็คือปริญญาตรีปีสองค่ะ เพราะว่าหนูจบปวส.มาแล้ว
 
 
ทําไมถึงเลือกเรียนท่องเที่ยว? : ที่จริงเรื่องเลือกเรียนการท่องเที่ยวคือหนูไม่ได้ชอบขนาดนั้น แต่ว่าสาขานี้ได้ตรงกับการเรียนเรื่องภาษามากที่สุด ก็เลยเลือกเรียนสาขาการท่องเที่ยวค่ะ
 
ทําไมถึงชอบเรื่องของภาษาเป็นพิเศษ? : รู้สึกว่าเข้าใจง่าย เหมือนกับว่าตัวเราชอบ แล้วถ้าศึกษาหรือพยายามอีกนิดก็น่าจะประสบความสำเร็จได้ดีเลยค่ะ เพราะว่าตัวเองถนัดเรื่องภาษามากกว่าเรื่องอื่น ๆ ส่วนตัวชอบภาษาจีน ตอนที่อยู่ที่บ้านก็เรียนโรงเรียนจีน
 
ครอบครัวว่ายังไงบ้างที่เราชอบเรื่องภาษาเป็นพิเศษ? : ครอบครัวก็คือสนับสนุนเลย เขาอยากให้หนูเรียนหนังสือให้จบ คือครอบครัวหนูมี 3 คนพี่น้อง และหนูเป็นพี่คนโต แล้วตัวหนูเองก็รู้สึกว่า ยังไงหนูก็ต้องเรียนให้จบ เพราะในประเทศไทยการศึกษาสำคัญจริง ๆ และหนูก็รู้สึกว่าใบจบก็สําคัญในการยื่นเพื่อทํางาน ฐานเงินเดือนมันก็จะได้ดีขึ้น คงจะมีโอกาสมากกว่าค่ะ
 
 
อาชีพที่ใฝ่ฝัน สิ่งที่อยากทําที่สุด? : ตอนแรกคือหนูอยากเป็นหมอ แต่รู้สึกว่าพอเริ่มโตขึ้นความคิดมันก็ค่อย ๆ เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ จนตอนนี้ยังไม่รู้เลยว่าจะทําอะไร แค่รู้สึกว่าต้องเรียนให้จบ แล้วก็ทําในสาขาที่เรียนจบมาสัก 2-3 ปีเพื่อเก็บเงินก่อน แล้วก็ค่อยหาว่าตัวเองชอบอะไร
 
การมาทํางานพาร์ทไทม์นอกจากได้รายได้พิเศษแล้วเราได้อะไรเพิ่ม ประสบการณ์ หรือทัศนคติใหม่? : ได้รู้ว่าการเอาตัวรอดเป็นสิ่งสําคัญค่ะ เรารู้สึกว่าเราไม่ควรไว้ใจคนอื่นมากเกินไป แม้แต่ตัวเราเอง เพราะสุดท้ายแล้วมันอาจจะไม่ใช่อย่างที่เราคิดค่ะ แล้วก็แบบเหมือนเราต้องเอาตัวรอดอยู่ทุกวันนะคะ การซื่อสัตย์มากเกินไปบางทีก็โดนเอาเปรียบค่ะ
 
สิ่งที่อยากเปลี่ยนมากที่สุด? : ส่วนตัวไม่ได้อยากเปลี่ยนคนอื่น อยากเปลี่ยนตัวเอง เพื่อให้อยู่รอดในทุกสถานการณ์ บนโลกใบนี้มันไม่มีอะไรที่สมบูรณ์แบบอยู่แล้ว ช่วงนี้หนูรู้สึกไม่ค่อยขยันเลยค่ะ คือหนูมีเป้าหมายแบบนั้น แบบนี้ หนึ่งสองสามสี่ วางแผนไว้หมด แต่ความไม่ค่อยขยันมันเข้ามาครอบงํา หนูอยากมีวินัยมากขึ้นกว่านี้ เพื่อที่จะทําให้เป้าหมายของตัวเองสําเร็จ เพราะการที่เราจะทําอะไรให้สําเร็จมันไม่ใช่แค่ฝันแบบลม ๆ แล้ง ๆ ไปวัน ๆ เราต้องเราต้องมีแผน ต้องมีความมุ่งมั่น หนูเลยรู้สึกว่า หนูอยากเปลี่ยนตรงจุดนี้ค่ะ
 
ฅนเดินเรื่องโดย : “ชิงชิง” สาวอาข่า วัย 22 ปี
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : อบจ.เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
LIFESTYLE

#ฅนเจียงฮาย EP.03 : ค่าของความสุข คือได้ทำงานที่ชอบ และอยู่ในเมืองที่ใช่

 
คอลัมน์ #ฅนเจียงฮาย EP.03 : ค่าของความสุข คือได้ทำงานที่ชอบ และอยู่ในเมืองที่ใช่
 
ฅนเจียงฮาย : @JAck Teerasak
เป็นใครมาจากไหน เล่าให้ฟังหน่อย? : ชื่อเล่นชื่อแจ๊คครับ ทำงานประชาสัมพันธ์ อบจ.เชียงรายครับ จบจากมหาวิทยาลัยนเรศวร คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
 
ผมเคยอยู่จังหวัดตาก ทํางานประชาสัมพันธ์จังหวัดตาก เป็นจังหวัดเล็ก ๆ เราก็เลยมองหาโอกาสที่จังหวัดใหญ่เพื่อที่จะได้มามาหาประสบการณ์เพิ่มเติม เลยมาสมัครงานที่ อบจ.เชียงราย ในตําแหน่งผู้ช่วยนักประชาสัมพันธ์ครับ
 
 
เมื่อก่อนเคยทํางานอยู่ที่สนามบิน ทําได้ประมาณสองเดือนแล้วรู้สึกว่าร่างกายมันไม่ไหวก็เลยออกมาช่วยที่บ้านทํากิจการธุรกิจส่วนตัว แต่ว่าคุณตารับราชการ เขาก็อยากให้เราทําราชการก็เลยสอบเข้ามาในวงการราชการ
 
อาชีพที่ใฝ่ฝัน อยากทำที่สุด? : เอาจริง ๆ ความฝันของเราคือถ้าเราอยากทําอะไรก็จะเรียนตรงสายเลย แบบถ้าอยากเข้าสายนี้เพื่อจะต่ออันนี้เราก็อยากเป็นนัก PR เราจะไม่ไปออกาไนซ์ เคยไปลองแล้วแต่มันก็หนักไป ก็เลยมาสายราชการแล้วมันแล้วมันดูมีวันหยุด แต่ว่ารายได้ก็อาจจะไม่ได้เยอะมาก แต่สวัสดิการดี อะไรดี แล้วเราก็ค่อยไปสอบเพิ่มเติม
 
อยากมาอยู่ทางเหนือครับ อากาศดี แล้วก็เมืองไม่เล็กไม่ใหญ่กําลังกําลังดี ถ้าเป็นเชียงใหม่อาจจะวุ่นวายไป
แต่ที่เชียงรายกําลังดี ถ้ามีโอกาสสอบบรรจุได้เป็นบรรจุที่ไหนก็ไปก่อน แต่สุดท้ายก็อยากจะกลับมาอยู่ที่เชียงรายเนี่ยแหละครับ
 
 
ชอบอะไรใน จ.เชียงราย? : ชอบในตัวเมือง ชอบบรรยากาศ ชอบวัฒนธรรม ชอบชีวิตความเป็นอยู่ที่ไม่วุ่นวายเท่าเชียงใหม่ครับ เคยมาเที่ยวเชียงรายตอนเด็ก ๆ ครั้งสองครั้ง แล้วก็มีญาติอยู่พะเยา แล้วก็เรามาเที่ยวพะเยาบ่อยเขาก็จะพามาเชียงราย ก็เลยรู้สึกว่าเป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่น่าสนใจ ตอนนี้อยู่ที่นี่ 7 ปีเข้าปีที่ 8 แล้ว
 
ถ้าถามถึงสิ่งที่อยากเปลี่ยนมากที่สุด? : อยากเปลี่ยนทัศนคติของผู้ใหญ่กับเด็กครับ เพราะว่าเดี๋ยวนี้โลกเราพัฒนาไปไกล สังคมค่อนข้างเปิดกว้างครับ แต่ว่าความคิดของผู้ใหญ่ส่วนมาก ก็ยังติดอยู่กับแบบเดิม บางทีเด็กแสดงความคิดเห็น ก็จะกลายเป็นเถียงผู้ใหญ่ไปครับ เลยอยากให้มีการปรับจูนกันตรงนี้มากกว่า เพื่อที่คนสองวัยจะได้เข้าใจกัน แล้ช่องว่างระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ก็จะน้อยลง ทำให้ได้ใกล้กันมากขึ้นด้วยครับ
 
ฅนเดินเรื่องโดย : “แจ๊ค” – ผู้ช่วยนักประชาสัมพันธ์
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : อบจ.เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
LIFESTYLE

#ฅนเจียงฮาย EP.02 : เมื่อยิ่งพยายามหนีห่างจากเสียงดนตรี เหมือนยิ่งใกล้มันไปเรื่อย ๆ

 
 

คอลัมน์ #ฅนเจียงฮาย EP.02 : เมื่อยิ่งพยายามหนีห่างจากเสียงดนตรี เหมือนยิ่งใกล้มันไปเรื่อย ๆ

 
ฅนเจียงฮาย : Luis Phanpum
 
เป็นใครมาจากไหน เล่าให้ฟังหน่อย? : จริง ๆ ผมเรียนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เกิดที่จังหวัดนนทบุรีเติบโตที่นู่นแล้วก็กลับมาอยู่จังหวัดเชียงรายได้สัก 4 ปีครับ มัธยมก็เรียนเตรียมอุดมศึกษาแม่เป็นคนที่นี่ (เชียงราย) แล้วก็มีญาติอยู่ที่นี่ครับ เล่นดนตรีมาตั้งแต่เรียนประถม แล้วก็หยุดเล่นตามภาษาเด็ก แล้วก็มาเล่นเป็นอาชีพจริง ๆ คือตอนที่มาอยู่เชียงราย ใช้หาเงินที่นี่ครับ
 
ก่อนหน้านี้ทำงานอะไรมาก่อน? : เคยทํางานตามสายงานอยู่ประมาณ 3-4 ปี เพราะเรียนจบสถาปัตย์ดีไซเนอร์ รับงานสถาปัตย์ ทำอินทีเรีย (interior) ตกแต่งภายใน ไม่ได้เล่นดนตรี ไม่ได้ร้องเพลงเลย ซึ่งทํางานเกี่ยวกับ 3D ทางสายวิชาชีพที่เรียนมา หลังจากนั้นผมก็ลาออกจากงาน ใช้ชีวิตต่ออีก 2-3 เดือน ที่กรุงเทพฯ ก็ใช้เงินที่มีอยู่เท่าที่เหลือตอนออกจากงานมา ก็ใช้ชีวิตไปเรื่อย ๆ ไม่ได้ทําอะไรให้เป็นประโยชน์อยู่อย่างนั้น
 
 
วันนึงตื่นขึ้นมาเราก็ไม่เข้าใจตัวเอง คนอื่นก็ไม่เข้าใจเรา แต่ว่าทางออกของเรา เราแค่รู้ว่าอยากไปลําบากนิดนึง อยากไปที่ ๆ ไม่มีใครรู้จักเราเยอะ ไปลองดูอะไรใหม่ ๆ ไม่ต้องเอาอะไรไปเยอะ ผมมาที่นี่ (เชียงราย) คิดง่าย ๆ ว่าเฮ้ย! ต้องมาที่เชียงรายแล้ว ก็คือเราคิดว่ามันน่าจะไม่ยากมากเพราะว่าเรามีญาติอยู่นี่ และรู้แค่ว่าแม่มาเที่ยวบ่อยปีละครั้ง สองครั้งอะไรอย่างนี้ เรารู้ว่าเรามาเที่ยวได้ก่อนแน่นอน
 
 
มาด้วยกระเป๋า ที่มีโน๊ตบุ๊ค กีต้าร์ กับมอเตอร์ไซค์ เอาไปใส่รถไฟที่หัวลําโพง ซื้อตั๋วลงที่เชียงใหม่ พอถึงแล้วก็ขี่จากเชียงใหม่มาเชียงราย จำได้ว่าลงจากรถไฟมาตี 3 ที่เชียงใหม่ ขับมอเตอร์ไซค์มาเรื่อย ๆ กว่าจะมาถึงเชียงรายก็ฟ้าขึ้นแล้วอะ ตาสว่างครับ ถึงที่นี่เช้าประมาณ 7 โมง 8 โมง แล้วก็ยังไม่คิดอะไรก็เที่ยวก่อนแล้วก็ไปบ้านยายที่ อ.เวียงชัย
 
 
แล้วเรื่องดนตรี? : ส่วนเรื่องดนตรีมันมาเริ่มต่อที่นี่ คือเราเล่นกีต้าร์เป็นอยู่แล้ว เราไม่ได้ร้องเพลงด้วย ก็ใช้เวลาสักพักนึง แล้วผมก็มารู้ว่าตัวเองชอบชากาแฟ และมีญาติที่นี่ก็ทําชาเราก็เห็นโซเชียล ก็เฮ้ยไปนี่ดีกว่าไปลองทําร้านชากาแฟ โดยร้านแรกที่ไปทำคือร้านสวรรค์บนดิน ทำปีกว่าก็ช่วงโควิดผมเลยออกมา แล้วก็เปลี่ยนร้านไปเรื่อย ๆ ครับ
 
 
มาเล่นดนตรีจริง ๆ จากพี่ที่เป็นลูกค้าที่ร้าน เขาจำเราได้จากโซเชียลรู้ว่าเราเป็นนักดนตรีประมาณนั้น เขาก็มีเถียง ๆ กันกับแฟนเขา เหมือนจำเราได้ ว่าแบบใช่ไม่ ใช่ไม่ใช่ อยู่แบบนั้น ตอนเรามาเสิร์ฟเขา คือครอบครัวผมเป็นครอบครัวนักดนตรีครับ ตอนที่พี่เขาทักคือเรารู้ว่าคงจะต้องเป็นคนที่รู้จักเราจริง ๆ ถึงจะรู้ว่าเราเป็นลูกใครอะไรประมาณนั้น คือปกติที่เคยเจอจะถูกทักว่าใช่ญาติของศิลปินคนนึงที่มีชื่อเสียงหรือเปล่า (ญาติคือ แมว จิรศักดิ์ ปานพุ่ม) แต่ว่าพี่คนนี้คือรู้จักพ่อผมเลย เพราะพ่อผมก็คือ “เล็ก ทีโบน” มือกลอง พ่อผมตีกลองประมาณนั้น ตอนนั้นผมก็เลยบอกว่าใช่ เขาก็เลยพามาที่นี่ ผมก็ถามว่าจําผมได้จากไหน เขาบอกพี่ไม่เล่นเฟซบุ๊กแต่เพื่อนเล่นและตีกลองรู้จักกับพ่อน้องในเฟซบุ๊ก แล้วก็เคยเห็นเอ็งกับพ่ออะเล่นดนตรีไปด้วยกัน ผมก็เลยแบบเฮ้ยเขาจําได้!
 
 
 
ผมก็เลยแบบเออโอเค ผมมาที่นี่ตอนแรกเล่นเพลงสากลอย่างเดียวเลย เมื่อก่อนร้านชื่อนอนนั่งเล่น ค่อย ๆ หัดมาเรื่อย ๆ ไม่ได้ร้องดีแบบนี้ตั้งแต่แรก ทุกวันนี้ก็ไม่ได้คิดว่าดีนะครับ แต่ตอนที่มาแจมคือแจมอาทิตย์ละหนึ่งครั้ง เรามาแบบ 3 -4 เพลง แล้วก็กินอะไรก่อนกลับบ้าน ไม่ได้เงินด้วย มาแจมทุกวันอังคาร มันเป็น activity ที่รู้สึกว่ามันเป็น activity ที่ดีอะ
 
เราพยายามหนีมัน (ดนตรี) ช่วงตอนเรียนสถาปัตย์ คือเราไปเรียนสถาปัตย์เพราะเราคิดว่ามันหาเงินง่าย แล้วก็หาเงินได้เร็ว เราคิดแค่ว่าเราไม่เก่งแบบพ่อเรา ต่อให้แบบพอเราตีกลอง เราไปเรียนกลองเลยวันนึงเราก็เจอแบบเอ้ย “ไม่เท่าพ่อหรอก” คือยังไงเราคงเห็นลูกหลานศิลปินดาราส่วนใหญ่ มีคํานี้ทุกคน คือมันอยู่ที่ว่าใครจะผ่านไปได้ใครจะผ่านไปไม่ได้
.
ถ้าแบบว่ามันต้องเป็นเงินเดือนแล้วนะ มันจะต้องเป็นเงินเท่าไหร่ มันได้กี่เดือน ก็จริง ๆ ถ้าทําแบบนั้นจริงจังประมาณปีเดียวครับ ปีเดียว แต่ถ้าเล่นมาเรื่อย ๆ โดยไม่เคยมานับเงินอยู่ 4 ปี กลางวันเรายังมีงานร้านกาแฟ แล้วก็ทํากลางวันเสร็จกลับบ้านเปลี่ยนชุดเล่นดนตรี
.
 
ถ้าถามถึงสิ่งที่อยากเปลี่ยนมากที่สุด? : ถ้าสิ่งที่อยากเปลี่ยนอย่างเดียว ที่มีผลถึงขนาดว่าแบบเกี่ยวกับวงการดนตรี ก็คงอยากให้ทุกคนเปลี่ยนเรื่องมุมมองการฟังเพลง เราเห็นว่านักท่องเที่ยวมาเชียงรายกันเยอะครับ แต่จริง ๆ แล้วเชียงรายถึงจะไม่ได้เที่ยวทั้งปี แต่มันมีหลายอย่างที่ผลักดันได้นะ เราก็มองเห็นว่ามุมมองการฟังเพลงมันยังไม่กว้างพอ ดนตรีทุกที่เลย มีร้านเยอะมาก เราแค่บอกว่าอยากให้ฟังดนตรีจริง ๆ ฟังสิ่งที่เราเรียบเรียงมา ไม่อยากให้ทุกคนมาเสียใจในสิ่งที่ขอเพลงนักร้องแล้วเขาเล่นไม่ได้ แล้วก็หายไป
 
ฅนเดินเรื่องโดย : “หลุยส์” – นักดนตรีกลางคืนร้านโรงสี เชียงราย
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
LIFESTYLE

#ฅนเจียงฮาย พ่อค้าสถานีปิ้งเตาถ่าน

 
 
คอลัมน์ #ฅนเจียงฮาย EP.01
.
ฅนเจียงฮาย : Wittawat Wimolkawsir
.
เป็นใครมาจากไหน เล่าให้ฟังหน่อย? : “ผมเป็นชาติพันธุ์ครับ” ผมเป็นอาข่า อยู่ที่นี่เลยครับ พ่อกับแม่ก็เป็นคนที่นี่ ท่านเจอกันที่นี่ แต่งงานกันที่นี่ แล้วมีผมที่นี่ ครอบครัวผมตอนนี้มีอยู่ 4 คนครับ คือผมเป็นลูกชายคนแรกแล้วก็มีน้องชาย ปกติผมเป็นคนชอบหาอะไรทําอยู่แล้วเวลาว่าง ๆ ไม่ชอบอยู่เฉย ๆ ครับ พอช่วงปิดเทอมหรือสงกรานต์ผมก็จะไปขายพวกส้มตําไก่ย่างตามริมน้ำในจังหวัดเชียงราย ที่มันจะมีล่องแพครับ
.
ชีวิตครอบครัวเป็นยังไง? : พ่อผมมีงานประจําอยู่ครับ รับจ้างทั่วไปแผนกการเกษตรที่ อบต.แม่ฟ้าหลวงครับ เงินเดือนก็ตามทั่วไป ที่ผ่านมาก็หนักอยู่ แต่ตั้งแต่ผมมาช่วยขายของ ช่วยแม่งานลอยกระทง พาแม่ออกอีเว้นท์พอมีเงินมาก็เก็บ ๆ ไว้บ้าง ตอนนี้ก็เลยรู้สึกว่าดีขึ้นครับ ดีขึ้นกว่าแต่ก่อนเยอะมาก
.
ถ้าจะให้เล่าถึงเรื่องการศึกษา? : คือต้องเข้าใจว่าด้วยพ่อแม่ผมไม่มีการศึกษาเพราะเขาไม่ได้รับการศึกษาเหมือนกับเรา ด้วยความที่เขาเป็นคนที่อยู่บนดอยคือต้องทํางาน ต้องหาเงินครับ ผมเข้าใจดีก็บอกแม่ว่าโอเคแม่ ไม่เป็นไรผมเรียนแทนแล้วเรียบร้อย ผมมองว่าผมอยู่อย่างนี้ไม่ได้ หยุดแค่นี้ไม่ได้ ต้องทำอะไรให้มันดีขึ้นเพื่อตัวเอง แล้วก็เพื่อพ่อแม่ ผมรู้สึกว่าผมไม่ได้น้อยใจในเรื่องโชคชะตาเลย ว่าเฮ้ย! นี่เป็นเด็กชนเผ่ารึเปล่า ใช่เราเป็น แต่เราภูมิใจ ทําไมต้องน้อยใจ คือมันเป็นแรงผลักดันของเราด้วยซ้ำที่จะทําให้เราวิ่งต่อไป
.
อาชีพที่ใฝ่ฝัน อยากทำที่สุด? : ส่วนตัวผมอยากติดปีกคือผมอยากเป็นสจ๊วต ในใจผมผมอยากเป็นสจ๊วตสายการบินชื่อดังเจ้าหนึ่ง แต่ด้วยหลาย ๆ อย่างด้วยสถานการณ์ตอนนี้ ใจนึงผมก็ชอบทําอาหารชอบขายของ เลยทําให้ผมมองว่าชอบกับใช่ มันอาจจะมีอะไรที่ต้องเลือก ผมก็ยังไม่ค่อยชัดเจนกับตัวเองร้อยเปอร์เซ็นต์เท่าไหร่ แต่ว่าโดยส่วนตัวของผมชอบภาษา ชอบคุย ชอบพบเจอผู้คนครับ
.
ถ้าถามถึงสิ่งที่อยากเปลี่ยนมากที่สุด? : สิ่งที่อยากเปลี่ยนมากที่สุดคือการเอาใจเขามาใส่ใจเรา การเอาใจใครคนใดคนนึงมาใส่ใจเรา มันจะทําให้อะไรหลายอย่างมันดีขึ้นมาก ๆ สมมุติเหตุการณ์ถ้าเกิดขึ้นในตลาด หรือกาดชนเผ่าแห่งนี้ แบบถ้าเรากินอะไรเสร็จ หรือซื้ออะไรสักอย่างแล้วทิ้ง รู้สึกว่าจะทิ้งที่ไหนก็ได้ เราเข้าใจคนทิ้ง แน่นอนว่ามันสบายจะทิ้งตรงไหนก็ได้ แต่พนักงานที่อยู่ที่นี่ เขาดูแลที่นี่มาเป็น 10 ปี เขาก็ต้องมาคอยตามเก็บให้ นี่คือสิ่งที่ผมอยากเปลี่ยน เรื่องของการเอาใจเขามาใส่ใจเราให้มากขึ้น ลดเรื่องของตัวเอง ลดความเห็นแก่ตัว ให้เห็นแก่เพื่อนมนุษย์ อยากให้ทุกคนคิดเยอะ ๆ เพื่อเพื่อนร่วมโลกมากขึ้น
.
ต้นเรื่องโดย : วิท วิทวัฒน์ วิมลแก้วศรี อายุ 18 ปี – พ่อค้าสถานีปิ้งเตาถ่าน ในงานเทศกาลสีสันแห่งดอยตุง ครั้งที่ 10
 
 

ผมมองว่าผมอยู่อย่างนี้ไม่ได้ เราเป็นแบบนี้ไม่ได้ เราต้องอะไรก็ได้ให้มันดีกว่าอะไรก็ได้ให้มันมากกว่ามากขึ้น เพื่อตัวเองด้วยแล้วก็เพื่อพ่อแม่ ผมรู้สึกผมไม่ได้น้อยใจในเรื่องโชคชะตาเลย ว่าเฮ้ย! นี่เป็นเด็กชนเผ่ารึเปล่า ใช่เราเป็น แต่เราภูมิใจ ทําไมต้องน้อยใจ คือมันเป็นแรงผลักดันของเราด้วยซ้ำที่จะทําให้เราวิ่งต่อไปนะ คือเราต้องไปเวลาพ่อแม่มองเราเนี่ยคือเราต้องไปสูงกว่าดีกว่า

ส่วนตัวผมอยากติดปีกคือผมอยากเป็นสจ๊วต ในใจผมผมอยากเป็นสจ๊วตแอร์เอเชียแอร์ แต่ด้วยหลายๆ อย่างด้วยสถานการณ์ตอนนี้ใจผมชอบทําอาหารชอบขายของ เลยทําให้ผมแบบชอบกับใช่ เออมันอาจจะมีอะไรแบบที่ต้องเลือกอะไรแบบนี้ครับ ผมก็ยังแบบยังไม่ค่อยชัดเจนกับตัวเองร้อยเปอร์เซ็นต์เท่าไหร่ แต่ว่ามีในใจว่าอยากทําอะไรครับแต่ ว่าโดยส่วนตัวของผมชอบภาษา ชอบคุย ชอบเจอ

 

 

สิ่งที่อยากเปลี่ยนมากที่สุดคือการเอาใจเค้ามาใส่ใจเรา การเอาใจใครคนใดคนนึงมาใส่ใจเรา มันจะทําให้อะไรหลายอย่างมันดีขึ้นมากๆ สมมุติถ้าเราซื้ออะไรสักอย่างแล้วทิ้ง รู้สึกว่าจะทิ้งที่ไหนก็ได้เราเข้าใจคนทิ้งสบายอย่างนี้ แต่พนักงานที่อยู่ที่นี่ เขาดูแลที่นี่มาเป็น 10 ปีเขาก็ต้องมาแบบคอยตามเก็บอะไรอีก คือเนี่ยมันผมสิ่งที่ผมอยากเปลี่ยน เรื่องของการเอาใจเขามาใส่ใจเรามากขึ้น ลดเรื่องของตัวเอง คือเห็นแก่เพื่อนมนุษย์ คือคิดเยอะๆ เพื่อเพื่อนร่วมโลกมากขึ้น

ตนเรื่องโดย : วิท วิทวัฒน์ วิมลแก้วศรี อายุ 18 ปี – พ่อค้าสถานีปิ้งเตาถ่าน ในงานเทศกาลสีสันแห่งดอยตุง ครั้งที่ 10

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News