Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

พิธีอัญเชิญพระอุปคุตขึ้นจากลำน้ำกกและขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนร่วมตักบาตรเที่ยงคืน

 
เมื่อเวลา 15.00 น. วันอังคารที่ 26 ธันวาคม 2566 เทศบาลนครเชียงรายโดย ดร.วันชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย คณะผู้บริหาร สมาชิกสภาเทศบาลนครเชียงราย พ.จ.อ.อัษฎางค์ วิเศษวงศ์ษา ปลัดเทศบาลนครเชียงราย ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ เทศบาลนครเชียงราย ร่วมกับจังหวัดเชียงรายและวัดมิ่งเมือง ทำพิธีอัญเชิญพระอุปคุตขึ้นจากลำน้ำกก ขึ้นประดิษฐานยังราชรถบุษบก โดยพระครูโสภณ ศิลปาคมเจ้าอาวาสวัดมิ่งเมือง เจ้าคณะตำบลเวียงเขต 1 สวนบริเวณสวนสาธารณะแม่ฟ้าหลวง ให้พี่น้องประชาชนได้มีโอกาสทำบุญกราบไหว้สักการะ ซึ่งเชื่อกันว่าหากท่านได้ทำบุญตักบาตรพระอุปคุตแล้ว จะเกิดโชคลาภและความเป็นสิริมงคลยิ่งแก่ชีวิต
 
ขอถือโอกาสเชิญชวนทุกท่านได้มาร่วมพิธีตักบาตรในวันเป็งปุ๊ด และกราบไหว้สักการะพระอุปคุต บริเวณหน้าวัดมิ่งเมืองไปจนถึงหอนาฬิกาเชียงราย ตั้งแต่เวลา 23.39 น.เป็นต้นไป ร่วมพิธีตักบาตรข้าวสาร อาหารแห้ง แด่พระภิกษุสงฆ์ สามเณร บริเวณหน้าวัดมิ่งเมือง ไปตามถนนบรรพปราการ จนถึงหอนาฬิกานครเชียงราย
 
ตามความเชื่อของชาวล้านนา มีความเชื่อว่าองค์พระอุปคุตจะขึ้นมาโปรดสัตว์ก่อนเวลารุ่งเช้า ในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ ตรงกับวันพุธ หลังได้เสด็จลงไปจำศีลภาวนาอยู่ใต้สะดือทะเลในรอบหนึ่งปี หากพุทธศาสนิกชน ประชาชนทั่วไป ได้มีโอกาสทำบุญกราบไหว้สักการะพระอุปคุต และได้ทำบุญตักบาตรพระอุปคุตแล้ว จะเกิดโชคลาภและความเป็นสิริมงคลยิ่งแก่ชีวิตของตนและครอบครัว
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : เทศบาลนครเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

กลุ่มชาติพันธุ์ 500 ครอบครัว แสดงตนเป็นพุทธมามกะ วัดพระธาตุดอยตุง

 
วันที่ 24 ธันวาคม 2566 ที่พระบรมธาตุเจ้าดอยตุง อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย พระเทพเวที เจ้าคณะภาค 6 พระอุดมบัณฑิต รองเจ้าคณะภาค 6 พระพุทธิญาณมุนี เจ้าคณะจังหวัดเชียงราย พระพุทธิวงศ์วิวัฒน์ รักษาการเจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยตุง ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดเชียงราย และ คณะสงฆ์จังหวัดเชียงราย ประกอบพิธี การแสดงตนเป็นพุทธมามกะ (ประกาศตนว่าเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา) ของกลุ่มชาติพันธุ์ 500 ครอบครัว ซึ่งอยู่ในพื้นที่ อำเภอแม่ฟ้าหลวง และ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
 
โดยพิธีเริ่มจากขบวนแห่ พุทธมามกะชาติพันธุ์ อัญเชิญพระพุทธรูป 500 องค์ จากการสมโภชพระพุทธมงคลธรรม โดยมี นายทชัย และ นางปุณณกา รัตนะฉัตตา เป็นประธานอุปถัมภ์ จากนั้นแห่พระพุทธรูป “มงคลธรรมบพิตร” ไปยังพระบรมธาตุ เจ้าดอยตุง เวียนรอบพระบรมธาตุฯ 3 รอบ ก่อนเริ่มประกอบพิธี ในการถวายพระพุทธรูป 500 องค์ ให้คณะสงฆ์ และคณะสงฆ์ ได้มอบ พระพุทธรูป “มงคลธรรมบพิตร” ให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ 500 ครอบครัว เพื่อนำไปกราบไหว้บูชาที่บ้าน
พระเทพเวที เจ้าคณะภาค 6 กล่าวว่า การแสดงตนเป็นพุทธมามกะ หรือ ประกาศตนว่าเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา ของกลุ่มชาติพันธุ์ในครั้งนี้ ถือว่าคณะสงฆ์จังหวัดเชียงราย ได้เผยแพร่พระพุทธศาสนาได้อย่างดีเยี่ยม ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์เลื่อมใสในคำสอนของพระพุทธเจ้า และได้เข้ามานับถือศาสนาพุทธ
 
ซึ่งทุกคนจะต้องปฏิบัติตามหลักศาสนา และปฏิบัติตัวตามศีล 5 ให้ได้มากที่สุด หากติดขัดในเรื่องใด ก็สามารถปรึกษาคณะสงฆ์ได้ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีอย่างมาก ที่ทุกคนได้เผยแพร่พระพุทธศาสนาให้กว้างขึ้น ทั้งนี้ก็เช่นกัน พระสงฆ์ก็จะต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้ชาวพุทธเช่นกัน ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ และนำคำสอนมาเผยแพร่ต่อไปได้อีก
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

เปิดศูนย์ผ้า ‘ปางห้า’ คงอัตลักษณ์ของผ้าทอเชียงราย แบบที่เรียกว่า “ชิ้นเดียวในโลก” และพิเศษเฉพาะคุณ

 

เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2566 สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพ จังหวัดเชียงราย ร่วมกับ จินนาลักษณ์ กระดาษสา เทศบาลตำบลแม่สายและบริษัท วัฒนกูล กรุ๊ป จำกัด เปิดศูนย์ผ้าปางห้า และร้าน ModalooM ภายใต้ Welcome to Chiang Rai Shop สาขาที่ 3 อย่าง เป็นทางการ ณ ศูนย์ผ้าปางห้า หมู่ 1 บ้านปางห้า ต.เกาะช้าง อ.แม่สาย จ.เชียงราย

 

สำหรับจำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้า โครงการจำหน่ายสินค้าของสมาชิกสมาคมสตรี นักธุรกิจและวิชาชีพ จังหวัดเชียงราย ร่วมกับสินค้า 10 ชาติพันธุ์แม่สาย พัฒนาแผนงานเพื่อส่งเสริมผ้าไทยของจังหวัดเชียงราย แบบเต็มรูปแบบจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ และหลักการนำเสนอตัวสินค้าที่เข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย และการเชื่อมโยงการพัฒนาตัวสินค้าให้ตรงตามกับความต้องการของตลาด และยังคง มี อัตลักษณ์ของผ้าทอเชียงรายแบบที่เรียกว่า “ชิ้นเดียวในโลก” และพิเศษเฉพาะคุณ โดยสนับสนุนให้สินค้าและบริการของสมาชิกทำการตลาดและการขาย ให้เป็นไปตามกลไกของสถานการณ์ปัจจุบัน นำของที่ไม่ได้ใช้มาใช้ หรือสินค้าที่มีอยู่เพิ่มช่องทาง เสริม เล็งเห็นจุดเชื่อมในการสร้างความเป็นหนึ่งเดียวของสินค้าที่ผลิตในเชียงราย

 

โดยคนเชียงราย ส่งเสริมเชียงราย สร้างงาน สร้างคน สร้างรายได้ ทำอย่างไรที่จะ นำเอา สินค้าต่างๆโดยเฉพาะ เริ่มต้นจากกลุ่มสมาชิก ในการมีส่วนร่วมในผลิตภัณฑ์และบริการให้เกิดการพัฒนาตัวสินค้าให้ถึงความต้องการของลูกค้า ของที่มีประโยนช์เก็บไว้นำมาผลิตเป็นสินค้าใหม่ ตีตรามาจากเชียงราย รับประกัน คุณภาพ รวมถึงการขยาย ทั้งกลุ่มลูกค้า พัฒนา ทำการตลาดในทุกช่องทาง แบบ ขายตรง ขายส่ง ทั้งในเชียงราย ในไทยและต่างประเทศ

 

การเชื่อมต่อคือ เอาสินค้ามาเสนอขายและเป็น supplier ของ บางธุรกิจในเชียงราย เช่น ผลิตสินค้าใช้ใน ร้านอาหาร และโรงแรม เราสามารถ กล่าวได้ว่า การสนับสนุนสินค้าในจังหวัดเชียงราย ช่วยเหลือสนับสนุนสร้างความยั่งยืน ในจังหวัดก่อน ออกนอกจังหวัด
 
ทั้งนี้ สมาคมสตรี ได้ตั้งทีมบริหารโครงการเพื่อรวบรวมสินค้าของสมาชิกที่สนใจเข้าร่วมสมาคมสตรีจัดเตรียม พื้นที่ขาย สินค้าของสมาชิกเพิ่มช่องทางการขาย และร่วมในการพัฒนาตัวสินค้า
 
สาขาแรก : เปิดขายภายใต้ชื่อ WELCOME TO CHIANGRAI SHOP ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเชียงรายเปิดร้านเพื่อจำหน่ายสินค้าในวันที่ :8 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ชาวไทย และ นักท่องเที่ยว
 
สาขาที่ 2 : เปิดขายภายใต้ชื่อ WELCOME TO CHIANGRAI SHOP ณ วัดพระธาตุดอยเวา เปิดร้านจำหน่ายสินค้าในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ชาวไทย ชาวต่างชาติและ นักท่องเที่ยว
 
สาขาที่ 3 เปิดขายภายใต้ชื่อ ModalooM ณ ศูนย์ผ้าปางห้า เปิดร้านจำหน่ายสินค้าในวันที่ 22 ธันวาคม 2566 กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ชาวไทยและ ชาวต่างประเทศ นักท่องเที่ยวการส่งออกนอกประเทศ trade การค้า และเปิดกลุ่มลูกค้าทางการค้าส่งออก หรือ ส่งขายนอกพื้นที่เชียงราย เป้าหมายการเปิดร้านจากเชียงรายสู่ทั่วประเทศ อาทิเช่น เซ็นทรัลเชียงใหม่ กรุงเทพ พัทยา และศูนย์การค้าสยามพารากอน ไอคอนสยาม จังชีลอน ภูเก็ต
 
กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย นักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ บริษัท วัฒนกูล กรุ๊ป จำกัด ตัวแทนประสานงานที่ปรึกษาสมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพ จังหวัดเชียงราย โทร. 061 659 4540, โทร. 097 135 7074
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพ จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

‘ครูบาอริยชาติ’ นำพระเกจิ ทำพิธีมหาพุทธาภิเษกเหรียญ ‘บิ๊กต่อ’ ร่วม

 
เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.66 ครูบาอริยชาติ อริยจิตฺโต วัดแสงแก้วโพธิญาณ พร้อมด้วยพระเกจิอาจารย์ ได้จัดทำพิธี บวงสรรวงเทพยดา และพิธีมหาพุทธาภิเษก เจริญพุทธมนต์เหรียญอาร์ม ตราโล่ตำรวจ รุ่น “ต่อศักดิ์ ต่อบารมี” โดยมี พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานฝ่ายฆาราวาส นำข้าราชการตำรวจ พุทธศานิกชน ประชาชนทั่วไป เข้าร่วมในพิธีจำนวนมาก ที่วัดแสงแก้วโพธิญาณ ต.เจดีย์หลวง อ.แม่สรวย จ.เชียงราย
 
 
 
ซึ่งการจัดสร้างเหรียญดังกล่าวมีวัตถุประสงฆ์เพื่อนำรายได้มอบให้สาธารณกุศล ตามแต่ครูบาอริยชาติ อริยจิตฺโต เห็นสมควร และจัดซื้อ อุปกรณ์ทางการแพทย์ให้โรงพยาบาลตำรวจ มอบปัจจัยให้กับสมาคมแม่บ้านตำรวจ เพื่องานสาธารณกุศล และสมทบทุนก่อสร้างพระมหาเจดีย์ วัดแสงแก้วโพธิญาณ
 
 
 
สำหรับพระมหาเจดีย์ “พระมหาเจติยะธาตเจ้าเจดีย์” มีความสูง 119 เมตร สร้างในเนื้อที่ 4 ไร่ มีขนาด 9 ชั้น กว้าง 65 เมตร ยาว 65 เมตร สามารถขึ้นไปชมความสวยงามได้ 7 ชั้น ออกแบบเป็นสถาปัตยกรรมล้านนา ผสม พม่า ภายในออกแบบ สถาบัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับศาสนาหลายๆ ประเทศ จนสุดท้ายไปสิ้นสุดที่อินเดีย ชั้นที่ 7 จะประดิษฐาน หลวงพ่อพุทธเมตตาหยกแคนนาดา องค์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย หน้าตัก 75 นิ้ว ให้ญาติโยมเข้าไปสักการะได้
 
 
โดยมีการจัสร้างเหรียญ ชุดประธานอุปถัมภ์จำนวน 108 ชุด เนื้อทองคำบริสุทธิ์นำฤกษ์ จำนวน 9 เหรียญ เนื้อทองคำลงยา แดง เขียว น้ำเงิน รวม 52 เหรียญ เนื้อทองคำบริสุทธิ์ฝังเพชร จำนวน 9 เหรียญ เนื้อน้ำเงินลงยาน้ำเงินหน้ากากทองคำ 1 ด้าน จำนวน 299 เหรียญ เนื้อเงินลงยาแดงขอบดำ จำนวน 499 เหรียญ เนื้อเงินบริสุทธิ์ จำนวน 599 เหรียญ เนื้อนวะโลหะลงยาแดงหน้ากากเงิน จำนวน 666 เหรียญ เนื้อนวะโลหะจำนวน 99 9 เหรียญ เนื้อมหาชนวนชุบสามกษัตริย์จำนวน 666 เหรียญ ชุดกรรมการ จำนวน 1499 ชุด เนื้อทองแดงรมดำโบราณ จำนวน 9999 ชุด และเหรียญสำหรับแจกมีสองรายการคือเนื้อมหาชนวน จำนวน 5555 เหรียญและเนื้อมหาชนวนกะไหล่ทองวงเล็บกรรมการ จำนวน 5555 เหรียญ
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

‘ลาลีวรรณ’ นำทีม ก.วัฒนธรรม ลงพื้นที่มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ 2023 เชียงราย

 
เมื่อวันเสาร์ที่ 23 ธันวาคม 2566 ณ พื้นที่อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย นางลาลีวรรณ กาญจนจารี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมด้วย นายประสพ เรียงเงิน ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย คณะผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ข้าราชการและบุคลากรสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ลงพื้นที่จังหวัดเชียงรายเพื้อเยี่ยมชมงานศิลปะโครงการจัดงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023

นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย มอบหมายให้ นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย ร่วมลงพื้นที่ต้อนรับคณะและนำชมงานศิลปะของศิลปิน จำนวน 4 แห่ง ดังนี้

  1. ศาลากลางจังหวัดเชียงรายหลังเก่า รัชกาลที่ 5 ตำบลเวียง
  2. ศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน ตำบลห้วยสัก
  3. หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย (CIAM) ตำบลริมกก
  4. ขัวศิลปะเชียงราย ตำบลริมกก

ในการนี้ นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วย นางพัชรนันท์ แก้วจินดา ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม นางพรทิวา ขันธมาลา ผู้อำนวยการกลุ่มยุทธศาสตร์และเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม นายสุพจน์ ทนทาน นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ และนายอภิชาต กันธิยะเขียว นักวิชาการวัฒนธรรมปฏิบัติการ ข้าราชการสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย ร่วมลงพื้นที่ติดตามและอำนวยความสะดวกให้แก่คณะผู้บริหาร ดังกล่าว

จังหวัดเชียงราย ร่วมกับ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ดำเนินงานโครงการจัดมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 ซึ่งกำหนดจัดระหว่างวันที่ 9 ธันวาคม 2566 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2567 เพื่อส่งเสริมต่อยอด และแสดงศักยภาพในการสร้างสรรค์งานศิลปะร่วมสมัยของศิลปิน บูรณาการความร่วมมือเชิงรุกของทุกภาคส่วน ซึ่งเป็นการใช้มิติทางศิลปะสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ สร้างรายได้จากต้นทุนและทรัพยากรทางวัฒนธรรมและส่งเสริมการท่องเที่ยวด้านศิลปวัฒนธรรม  

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สนง.วัฒนธรรม เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
CULTURE

3 เครือข่ายภาครัฐและเอกชนหนุน พัฒนางานศิลปะร่วมสมัยผ่านนิทรรศการเครือข่าย

 

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2566 นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม  เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนางานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ประจำปี 2567 ระหว่างกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรมกับธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) บริษัท ไอคอนสยาม จำกัดและกลุ่ม Chat Lab โดยมีคุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ประธานกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย นายประสพ เรียงเงิน ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย นางวีระอนงค์ จิระนคร ภู่ตระกูล กรรมการผู้จัดการ Retail and Brand ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) นายสุพจน์ ชัยวัฒน์ศิริกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท ไอคอนสยาม จำกัด และนายณัฏฐาปกรณ์ คะปูคำ สถาปนิกผู้แทนกลุ่ม Chat Lab ร่วมลงนามความร่วมมือ 

 

โดยมีนายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ  ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม นางลาลีวรรณ กาญจนจารี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม นางสุภัทร กิจเวช ผู้ช่วยปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นางสาวเพ็ญพิสุทธิ์ จินตโสภณ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม คณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย ศิลปินและผู้แทนหน่วยงานเครือข่ายที่ได้รับการส่งเสริมจากกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 และปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ศิลปิน แขกผู้มีเกียรติ และสื่อมวลชน เข้าร่วม ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน กรุงเทพฯ 

 

นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับองค์กรเครือข่ายและศิลปินทุกท่าน ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตลอดจนความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นจากพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในวันนี้ ระหว่าง กองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย และสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายทั้ง 3 หน่วยงานได้แก่ 1. ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) 2. บริษัท ไอคอนสยาม จำกัด 3. กลุ่ม Chat Lab และการจัดนิทรรศการแสดงผลงานโครงการที่ได้รับการสนับสนุนในปี 2566 จะทำให้การขับเคลื่อนนโยบาย Soft Power ของรัฐบาล โดยการนำศิลปะร่วมสมัยมาเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาความรู้ ความสามารถ และส่งเสริมพลังความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยให้พัฒนาไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าและบริการบนพื้นฐานของทุนทางสังคมและวัฒนธรรม อันเป็นสิ่งสำคัญที่จะผลักดันและเสริมสร้างอัตลักษณ์ความเป็นไทยให้แพร่หลายในประชาคมโลกและยังเป็นก้าวสำคัญในการบูรณาการความร่วมมือเชิงรุก 
ที่สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนในอนาคต 
 
 
 
คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูลประธานกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย ได้ทำหน้าที่เป็นแหล่งทุนที่ให้การส่งเสริมศิลปะร่วมสมัยแก่ศิลปินและเครือข่ายฯ ทั้งภาครัฐและเอกชนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561- 2566 โดยได้ให้การสนับสนุนโครงการต่างๆ รวมทั้งสิ้น 162 โครงการ เป็นงบประมาณรวมกว่า 43 ล้านบาท และในปี พ.ศ. 2567 มีโครงการที่ได้รับการส่งเสริมจากกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย จำนวนทั้งสิ้น 27 โครงการ เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 3,950,000 บาท ครอบคลุม 4 แนวทางหลัก ได้แก่ แนวทางที่ 1 วิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย และ/หรือนำงานวิจัยมาประยุกต์ใช้ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม  แนวทางที่ 2 ส่งเสริมสนับสนุนการสร้างสรรค์งานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยเพื่อเป็นการเพิ่มคุณค่า มูลค่าทางเศรษฐกิจ แนวทางที่ 3 สร้างความร่วมมือเครือข่ายเพื่อยกระดับคุณค่าที่หลากหลายทางสังคมและชุมชน  แนวทางที่ 4 ส่งเสริมการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยไทยผ่านสื่อแขนงต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ
 
โครงการที่ได้รับการส่งเสริมล้วนมีแนวทางการดำเนินงานที่มุ่งเน้นการให้เกิดการมีส่วนร่วมกับเครือข่ายในระดับชุมชน ระดับชาติ และระดับนานาชาติ และต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้ง 3 ด้านได้แก่ ด้านสังคม วัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งก่อให้เกิดการบูรณาการส่งเสริมศิลปะร่วมสมัยเชิงรุกผ่านระบบนิเวศศิลปะ ช่วยยกระดับคุณค่าทางสังคมและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
 
 
ทั้งนี้ นิทรรศการโครงการที่ได้รับการส่งเสริมจากกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัยประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เปิดให้เข้าชมผลงานโดยไม่เสียค่าเข้าชม ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2566 จนถึงวันที่ 5 มกราคม 2567  ณ ห้องปฏิบัติการ 1 และ 2 บริเวณชั้น 2 ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน กรุงเทพฯ 
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงวัฒนธรรม

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
CULTURE

วธ.เผยแผนพัฒนา Soft Power ปี 66-70 ดัน GDP 1 ใน 15 ของประเทศ

 

วธ. เผยแผนพัฒนา Soft Power ปี 66-70 ดัน GDP สินค้าและบริการทางวัฒนธรรมจากร้อยละ 8.9 เป็นร้อยละ 15 และเป็น 1 ใน 15 ประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมสูงสุดในตลาดโลก หนุนไทยเป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยววัฒนธรรมที่สำคัญของโลก พร้อมจับมือสถาบันศึกษาปั้นเด็กสู่อุตสาหกรรมบันเทิง

 

 ดร.ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “แนวทางสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ในมุมมองของกระทรวงวัฒนธรรม” ในการเสวนาหัวข้อ “นโยบายภาครัฐและความต้องการของภาคเอกชนในการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ของไทยสู่คอนเทนต์โลก กรณีศึกษา ด้านภาพยนตร์” ในเทศกาลหนังเมืองแคน ครั้งที่ ๗ เมื่อเร็วๆนี้ ว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้เริ่มดำเนินการใช้ Soft Power ความเป็นไทยพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ตั้งแต่ปี 2558 ถึงปัจจุบัน บนแนวคิดนำทุนวัฒนธรรมดั้งเดิม มาพัฒนาใส่ความคิดสร้างสรรค์ นำไปสู่การขับเคลื่อนเป็น Soft Power ผ่านกลไกในการร่างแผนการขับเคลื่อน Soft Power ด้วยมิติวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย (2566-2570) ยุทธศาสตร์การส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ระยะที่ 4 (2566-2570) โดยตั้งเป้าหมายสัดส่วน GDP สินค้าและบริการทางวัฒนธรรมจากร้อยละ 8.9 เป็นร้อยละ 15 และเป็น 1 ใน 15 ประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมสูงสุดในตลาดโลก รวมถึงตั้งเป้าให้อันดับโลกด้านความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมดีขึ้น ไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางการท่อเที่ยววัฒนธรรมและการสร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญของโลก

 

ปลัดวธ. กล่าวต่อไปว่า สำหรับ  Soft Power ความเป็นไทยที่ผ่านมา วธ. ได้พัฒนา ได้แก่ 5F อาหาร (Food) ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) การออกแบบแฟชั่นไทย (Fashion) ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย (Fighting) เทศกาลประเพณีไทย (Festival) และมีการพัฒนาเพิ่มเติมอีก คือ 5F พลัส ได้แก่ ท่องเที่ยวชุมชน ศิลปะการแสดง และศิลปะ ซึ่งในปี 2566 นี้ก็พร้อมจะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อน Soft Power ตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อพัฒนาผู้ที่มีทักษะด้านวัฒนธรรมให้มีทักษะฝีมือสูงขึ้นใน 11 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์อย่างเต็มที่ ได้แก่ 1. แฟชั่น 2. หนังสือ 3. ภาพยนตร์ ละครและซีรีส์ 4. เฟสติวัล 5. อาหาร 6. ออกแบบ 7. ท่องเที่ยว 8.เกม 9.ดนตรี 10. ศิลปะ และ 11.กีฬา โดยขณะนี้ได้มีร่างแผนการขับเคลื่อน Soft Power ด้วยมิติวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย (2566-2570) เป็นครั้งแรก อาทิ มีการศึกษาประเทศที่ประสบความสำเร็จด้าน Soft Power ศึกษาการตลาด พัฒนาบุคลากร ตามแผนของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นำไปใช้ขับเคลื่อนได้จริงและได้ทันที ซึ่ง Soft Power ความเป็นไทยที่มีศักยภาพ นอกจาก 5 F แล้วก็มี 5F+2 ได้แก่ ศิลปะการแสดง และความเชื่อ ตำนาน และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อาทิ เส้นทางท่องเที่ยวสายบุญ การจัดงานมหกรรมเชียงรายเบียนนาเล่ เป็นต้น 

 

ทั้งนี้  ในส่วนของการส่งเสริมอุตสาหกรรมบันเทิงนั้น จะต้องมีการพัฒนาบุคลากรให้เป็นมืออาชีพ เพิ่มช่องทางการตลาดและการเจรจาธุรกิจ โดยการนำผู้ประกอบการเข้าร่วมเทศกาลภาพยนตร์ในต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมามูลค่าทางเศรษฐกิจจากการเจรจาในต่างประเทศ อาทิ งานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ฝรั่งเศส มูลค่า 1,986 ล้านบาท เทศกาลภาพยนตร์ปักกิ่ง มูลค่า 1,976 ล้านบาท งาน Hong Kong International Film & TV Market มูลค่า 1,378 ล้านบาท งานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตเกียว มูลค่า 500 ล้านบาท งานแสดงสินค้าลิขสิทธิ์นานาชาติฮ่องกง มูลค่า 93 ล้านบาท  งานเทศกาลภาพยนตร์เซี่ยงไฮ้มูลค่า  5 ล้านบาท เป็นต้น โดย วธ. พร้อมให้ความร่วมมือทุกภาคีเครือข่ายในการพัฒนาอุตสาหกรรมบันเทิงไทย ไม่ว่าจะเป็นงบสนับสนุน พัฒนาบุคลากร ช่องทางการตลาด ที่สำคัญจะมีการศึกษาแนวทางความร่วมมือจากสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศในการอบรมพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เป็นกำลังสำคัญในอุตสาหกรรมบันเทิงในอนาคต

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงวัฒนธรรม

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
CULTURE

เสริมสิริมงคลทั่วไทย-ทั่วโลก สมเด็จพระสังฆราชประทานไฟพระฤกษ์ สวดมนต์ข้ามปี

 

เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 เวลา 13.00 น. ณ พระอุโบสถ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงมีพระบัญชาโปรดให้ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ กรรมการมหาเถรสมาคม เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ปฏิบัติหน้าที่แทนพระองค์ ประทานไฟพระฤกษ์ให้แก่กระทรวงวัฒนธรรม โดยมี นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เป็นผู้เข้ารับการประทานไฟพระฤกษ์ให้กระทรวงวัฒนธรรมและถวายเจ้าคณะจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ สำหรับจุดในพิธีสวดมนต์ข้ามปี เสริมสิริมงคลทั่วไทย ต้อนรับศักราชใหม่ 2567

 

นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม ได้รับพระเมตตาจากสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานไฟพระฤกษ์ให้แก่กระทรวงวัฒนธรรม เพื่อจุดเทียนมงคลในพิธีสวดมนต์ข้ามปีในส่วนกลาง ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ วัดอรุณราชวราราม และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และประทานกล่องไม้ขีดไฟประทับตราสมเด็จพระสังฆราช (ออป.) 

 

เพื่อมอบให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดทั่วประเทศ นำไปประกอบพิธีจุดเทียนมงคลในกิจกรรมดังกล่าว สร้างขวัญกำลังใจแก่พุทธศาสนิกชนที่เข้าร่วมในพิธี และเป็นสิริมงคลในการเข้าสู่ศักราชใหม่ โดยกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี เสริมสิริมงคลทั่วไทย ต้อนรับศักราชใหม่ 2567 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ถึงวันที่ 1 มกราคม 2567 เพื่อถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และพระบรมวงศานุวงศ์ รวมทั้งส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนได้ปฏิบัติธรรม สวดมนต์ต้อนรับปีใหม่และขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว 

 

ได้เริ่มต้นปีด้วยความเป็นสิริมงคลในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ด้วยการทำบุญตักบาตร ถวายสังฆทาน ในช่วงเทศกาลวันปีใหม่ อันมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ เพราะถือเป็นกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศให้มาเที่ยวในประเทศ ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทย รวมทั้งกิจกรรมดังกล่าว ได้จัดขึ้นในจังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศอาเซียน 17 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย  ตราด  ตาก  นครพนม นราธิวาส บึงกาฬ ยะลา  ระนอง  เลย  ศรีสะเกษ  สงขลา  สตูล สุรินทร์  หนองคาย  อุบลราชธานี  มุกดาหาร  และจังหวัดแม่ฮ่องสอน  ซึ่งจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างประเทศที่มีวัฒนธรรมร่วมกัน 

 

อีกทั้ง กิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีฯ ยังเป็นการส่งเสริมการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย Soft Power สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล Thailand Creative Content Agency (THACCA) ด้วยการนำทุนทางวัฒนธรรมในมิติศาสนา สร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการและแรงงานในท้องถิ่น โดยส่งเสริมให้ประชาชนสักการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วยดอกไม้ธูปเทียน และจำหน่ายสินค้าของที่ระลึกจากร้านค้าชุมชนโดยรอบวัด ตลอดจนการเดินทางไปสวดมนต์ตามสถานที่จัดกิจกรรมทั่วประเทศ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมรายได้ให้กับผู้ประกอบการในการขายสินค้าและบริการต่าง ๆ ก่อให้เกิดรายได้ของประเทศในภาพรวมในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ พุทธศักราช 2567

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวทิ้งท้ายว่า การจัดกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีในปีนี้จะเป็นกิจกรรมสำคัญที่ประชาชนจะได้ร่วมก้าวเข้าสู่ศักราชใหม่ด้วยความเป็นสิริมงคล ลดความเสี่ยงจากอบายมุขและอุบัติเหตุในเทศกาลปีใหม่ ถือเป็นการทำบุญใหญ่ให้กับชีวิตทั้งทางกาย ทางจิตและทางปัญญา ส่งท้ายปีเก่าด้วยธรรมะ ต้อนรับปีใหม่ด้วยศีล เริ่มต้นชีวิตด้วยสิ่งที่เป็นสิริมงคลอันจะส่งผลให้ได้พบสิ่งที่เป็นมงคลตลอดทั้งปี รวมทั้งส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทยที่เป็นเมืองพระพุทธศาสนาและมีประเพณีวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับศาสนาที่ควรค่าแก่การสืบทอดอย่างต่อเนื่องให้เกิดความเข้มแข็งอย่างมั่นคงและยั่งยืนสืบไป

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงวัฒนธรรม

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

องคมนตรี ตรวจเยี่ยมโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ที่จังหวัดเชียงราย

 

เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2566 เวลา 11.00 น. พลเรือเอก พงษ์เทพ หนูเทพ องคมนตรี และประธานกรรมการบริหาร มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมคณะจากส่วนกลาง ไปตรวจเยี่ยมพบปะพูดคุยกับคณะผู้บริหาร ครู บุคลากร และนักเรียน โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 15 (เวียงเก่าแสนภูวิทยาประสาท) อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย โดยมี นายอำเภอเชียงแสน พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงราย หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงราย ผู้แทนผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 37 ผู้แทนผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ นายอนวัช อุ่นกอง ผู้อำนวยการโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 15 ให้การต้อนรับและกล่าวรายงานการจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 1 จนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียนทั้งแบบประจำและไป-กลับ รวมแล้ว 1,360 คน การดำเนินงานที่น่าสนใจ อาทิ การขับเคลื่อนวิถีราชประชานุเคราะห์ : จงรักภักดี มีคุณธรรมน้อมนำแนวทางพระราชดำริ โดยใช้แหล่งเรียนรู้ที่สำคัญคือ โรงเรียนศาสตร์พระราชา วิทยาเขตกู่เต้า เป็นฐานเรียนรู้ให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง และการขับเคลื่อนวิสัยทัศน์เชิงนโยบาย : โรงเรียนแห่งความสุข ปลอดภัย สะอาด น่ายล เป็นต้น ปีการศึกษาที่ผ่านมานักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกาาปีที่ 6 ศึกษาต่อระดับอาชีวศึกษา 25 คน ระดับอุดมศึกษา 116 คน โรงเรียนนายสิบทหารบก 2 คน และประกอบอาชีพควบคู่กับการเรียน 22 คน

 

จากนั้นเวลา 14.30 น. พลเรือเอก พงษ์เทพ หนูเทพ องคมนตรี และประธานกรรมการบริหารมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมคณะจากส่วนกลางไปตรวจเยี่ยมพบปะพูดคุยกับคณะผู้บริหาร ครู บุคลากร และนักเรียน โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 62 อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ซึ่งโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 62 เดิมชื่อโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์แม่จัน เปลี่ยนชื่อมาเป็นโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 62 เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมามีนายนวกฤษต์ ปวนรัตน์ เป็นผู้อำนวยการ จัดการศึกษาแบบโรงเรียนประจำมีการเรียนการสอนในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 มีนักเรียนจำนวน 757 คน โรงเรียนได้มีการจัดการเรียนการสอน ด้านวิชาการ การงานอาชีพ มีแหล่งเรียนรู้เสริมทักษะชีวิตให้นักเรียน อาทิ ศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง, ฐานการเรียนรู้กิจกรรมพระราชดำริ ซึ่งมีกิจกรรมเครื่องเงินและการเจียระไนพลอยพระราชทาน และมีฐานการเรียนรู้ ดีดอยคาเฟ่ เปิดจำหน่ายเครื่องดื่ม อาหารคาว-หวานภายในโรงเรียน เป็นต้น
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

กิจกรรมเปิดงาน “พลัดถิ่น ดินแดนใคร” Thailand Biennale, Chiang Rai 2023

 

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 ธันวาคม 2566 กิจกรรมเปิดงาน “พลัดถิ่น ดินแดนใคร”  ณ ลานกิจกรรมสามเหลี่ยมทองคำ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 ครั้งที่ 3 โดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ จังหวัดเชียงราย ภายใต้ธีม “เปิดโลก”

มีนายประสพ เรียงเงิน ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวถึงการจัดงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023  ร่วมถึงนายเชาว์วัฒน์ รัตนการุณจิต ปลัดอำเภอเชียงแสน (เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการพิเศษ) ปฏิบัติราชการแทน นายอำเภอเชียงแสน กล่าวต้อนรับ ท่านกงสุล กฤษณะ จัยตัญญา กงสุลอินเดียประจำจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวพบปะผู้มีเกียรติและศิลปินผู้เข้าร่วมงานคุณนาวิน ลาวัลย์ชัยกุล ศิลปิน กล่าวถึงผลงานและเล่าถึงป๊อเฒ่าติ๊บ สรนันท์

 

โอกาสนี้ คุณกฤษ์ฤทธิ์ ตีระวานิช ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ พร้อมด้วย คุณกฤติยา กาวีวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ คุณอังกฤษ อัจฉริยโสภณ ภัณฑารักษ์ คุณมนุพร เหลืองอร่าม ภัณฑารักษ์ และคณะบุคลากรจากสำนักงานศิลปะวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม เข้าร่วมงานอย่างพร้อมเพรียงกัน

 

จัดโดยคุณนาวิน ลาวัลย์ชัยกุล ศิลปิน และทีมงานสตูดิโอเค จัดพิธีเปิดงานในผลงานชุดนี้ยังเป็นส่วนขยายของงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับชุมชนพลัดถิ่นในพื้นที่เขตติดต่อชายแดนภาคเหนือตอนบนของไทย โดยผลงานส่วนแรกได้นำไปจัดแสดงที่ศูนย์ศิลปะแห่งเมืองเกาสง ประเทศไต้หวัน ต่อเนื่องมาถึงงานที่พัฒนาขึ้นในครั้งนี้ ได้เลือกพื้นที่ประวัติศาสตร์ของเมืองเก่าเชียงแสน ในการออกเดินทางเพื่อศึกษาความเป็นมาของชุมชนบริเวณริมน้ำโขง โครงการนี้ยังได้ขยายขอบเขตไปยังเมืองเชียงตุงและเมืองชนบทอื่น ๆ ในเขตรัฐฉานของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

 

โดยมีเป้าหมายในการสำรวจวิถีชีวิตและการย้ายถิ่นฐานของชาวไต ซึ่งถือเป็นต้นกำเนิดของชนชาติไทย ศิลปินยังได้สำรวจการเปลี่ยนแปลงของชุมชนในบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ รวมถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่เป็นคิงส์โรมัน ประสบการณ์จากผู้คนที่ศิลปินได้พบปะตลอดการเดินทาง

 

ซึ่งบ่อยครั้งมักเกี่ยวพันกับภูมิหลังส่วนตัวและรากเหง้าของบรรพบุรุษก่อเกิดเป็นกระบวนการทางศิลปะที่เชื่อมระหว่างศิลปะและชุมชนเข้าด้วยกัน ประวัติศาสตร์ของชุมชนและการตั้งถิ่นฐานของผู้คนหลากหลายกลุ่มในพื้นที่นี้ร้อยเรียงขึ้นเป็นชุดผลงานศิลปะผ่านบันทึกการเดินทางของศิลปินจนเกิดเป็นผลงานจิตรกรรมแนวโปสเตอร์หนังอันเป็นเอกลักษณ์ของศิลปินและทีมงานสตูดิโอเค

 

นำโดยช่างวาดภาพโรงหนังยุคสุดท้ายของไทยเชื่อมต่อกับภาพยนตร์สารคดีซึ่งประพันธ์ขึ้นจากจดหมายฉบับหนึ่งที่ศิลปินเขียนถึงชาวเชียงแสน เพื่อบอกเล่าประสบการณ์ในการเดินทาง การทำเสียงบรรยายภาพยนตร์สารคดีชุดนี้ศิลปินเลือกใช้ภาษาถิ่นทางภาคเหนือด้วยสำเนียงที่แตกต่างกันผสมผสานกับภาษาอื่น ๆ ของกลุ่มคนพลัดถิ่นรวมทั้งชนกลุ่มน้อยเพื่อสะท้อนถึงความหลากหลายทางชาติพันธุ์ของผู้คนชาวเชียงแสน

 

จัดแสดงอยู่ในพื้นที่จุดชมวิวสามเหลี่ยมทองคำ อำเภอเชียงแสน ซึ่งเป็นจุดบรรจบของแม่น้ำโขงและแม่น้ำรวกอันเป็นเขตติดต่อระหว่างไทย ลาว เมียนมา สอดคล้องกับชื่อผลงาน “พลัดถิ่น ดินแดนใคร” ชี้ให้เห็นแนวคิดเรื่องเขตแดนที่เปลี่ยนแปลงไปจากโลกในอดีตอันส่งผลต่อวิถีชีวิตและการโยกย้ายถิ่นฐานผู้คนในแต่ละยุคสมัย วัฒนธรรม ชาติพันธุ์ และมุมมองทางสังคมที่หลากหลาย ซึ่งการจัดงานดังกล่าว มีกิจกรรมสำคัญ ดังนี้

  1. การแสดงดนตรีของ พ่อเฒ่าติ๊บ สรนันท์ และคณะ
  2. รำนกรำโต โดย กลุ่มเยาวชนบ้านสบรวก
  3. รำกลองมองเซิง โดยชุมชนชาวไต บ้านสบรวก
  4. การฉายภาพยนตร์ “พลัดถิ่น ดินแดนใคร” จดหมายจากนาวินถึงชาวเชียงแสน
  5. การแสดงนิทรรศการภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองเชียงแสน โดย แสนศิลป์เชียงราย
  6. นิทรรศการและการแสดง โดย กลุ่มชาตพันธุ์ในเชียงแสน
  7. การถ่ายภาพที่ระลึกกับชาวเชียงแสน
  8. การบริการอาหารและเครื่องดื่ม อาหารพื้นเมืองอัตลักษณ์ของท้องถิ่น

ในโอกาสนี้ นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วย นางพรทิวา ขันธมาลา ผู้อำนวยการกลุ่มยุทธศาสตร์และเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม นางกัลยา แก้วประสงค์ นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ นายสุพจน์ ทนทาน นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ และนายพร้อมพงษ์ ทาสิทธิ์ ข้าราชการและบุคลากรสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย เข้าร่วมงาน ดังกล่าว

 

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สนง.วัฒนธรรม เชียงราย

พัชรนันท์ แก้วจินดา, สุพจน์ ทนทาน : รายงาน 
พร้อมพงษ์ ทาสิทธิ์ : ภาพ 
อภิชาต กันธิยะเขียว : บรรณาธิการข่าว 
 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News