Categories
SOCIETY & POLITICS

เชียงราย รับรางวัลดีเด่นด้านการป้องกัน และปราบปรามการค้ามนุษย์

 
เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2566 ที่ห้องฟีนิกซ์ บอลรูม อาคารอิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น เซ็นเตอร์ จังหวัดนนทบุรี นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานเปิดงานการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เนื่องในวันรณรงค์ต่อต้านการค้ามนุษย์ ประจำปี 2566 “Together We Can หยุด ค้า คน” เพื่อสื่อถึงการรวมพลังทุกภาคส่วนในการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ให้หมดสิ้นจากประเทศไทย โดยนางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นผู้แทนจังหวัดเชียงรายรับรางวัลดีเด่นด้านการป้องกัน และปราบปรามการค้ามนุษย์ และมีนางสาวภาณี จันทร์ตัน พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงราย เข้าร่วม
 
รัฐบาลตระหนักถึงอันตรายของการค้ามนุษย์ เนื่องจากเป็นอาชญากรรม ข้ามชาติ และเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง จึงได้กำหนดให้ วันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปี เป็น “วันรณรงค์ต่อต้านการค้ามนุษย์” เพื่อแสดงความมุ่งมั่นอย่างจริงจังของประเทศไทยในการต่อต้านการค้ามนุษย์ และให้ความสำคัญ กับการผนึกกำลังของทุกภาคส่วนในการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ในประเทศไทย
 
ทั้งนี้นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นผู้แทนจังหวัดเชียงรายรับรางวัลดีเด่นด้านการป้องกัน และปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยภายในงานมีผู้เข้ารับโล่เกียรติยศ และเงินรางวัล จำนวน 4 ประเภท รวมทั้งสิ้น 26 รางวัล บุคคลต้นแบบ จำนวน 2 รางวัล บุคคลดีเด่น จำนวน 15 รางวัล หน่วยงานดีเด่น จำนวน 6 รางวัล และจังหวัดต้นแบบตามกลไกการส่งต่อระดับชาติจำนวน 3 รางวัล นอกจากนี้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ยังได้จัดการประกวดคลิปวิดีโอ TIK TOK เพื่อรณรงค์ต่อต้านการค้ามนุษย์อีกด้วย
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
TOP STORIES

ผบช.ภ.5 ลงพื้นที่ติดตามคดี สั่งพลิกแผ่นดินไล่ล่า “เจ้เปิ้ล” นายหน้าที่ดิน

 

เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2566 เวลา 11.00 น. พล.ต.ท.ปิยะ ต๊ะวิชัย ผบช.ภ.5 พร้อมด้วย พล.ต.ต.วีรชน บุญทวี รอง ผบช.ภ.5 ,พล.ต.ต.ธวัชชัย พงษ์วิวัฒนชัย ผบก.ภ.จว.เชียงใหม่ ได้รับเรื่องร้องเรียนของความเป็นธรรมจากผู้เสียหายให้เร่งรัดติดตามจับกุมตัว “เจ้เปิ้ล” กับสามี ผู้ต้องหาซึ่งได้ถูกออกหมายจับแล้ว

สำหรับคดีนี้ เหตุเกิดประมาณปลายปี 64-ต้นปี 66 เจ้เปิ้ลพร้อมด้วยสามี ได้ให้นายหน้าไปหาซื้อที่ดินที่มีขนาดติดต่อกัน 10 ไร่ ขึ้นไป โดยไม่จำกัดพื้นที่ว่าสามารถขออนุญาตจัดสรรได้หรือไม่ เมื่อได้ที่ดินมาแล้ว เจ้เปิ้ล จะไปทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินแปลงดังกล่าวกับเจ้าของ จากนั้นจะทำการจัดสรร ทำผังแปลง แล้วจ้างนายหน้า ให้ทำการโฆษณาขายที่ดินแต่ละแปลง โดยมีการติดป้ายขาย ณ แปลงที่ดิน และมีการโฆษณาผ่านสื่อเฟซบุ๊ค และเพจขายอสังหริมทรัพย์ ต่างๆ และยังโฆษณาด้วยว่าต่างด้าวสามารถซื้อที่ดินดังกล่าวได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อผู้เสียหายสนใจซื้อ จะทำสัญญาจองแปลง 5,000 บาท จากนั้นนัดทำสัญญาและจ่ายเงินดาวน์ 30-50% ส่วนที่เหลือผ่อนจ่ายเป็นงวด รวม 36 งวด โดยไม่มีดอกเบี้ย แต่เมื่อผู้ต้องหาได้เงินแล้ว ไม่นำไปชำระค่าที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน เป็นเหตุให้เจ้าของที่ดินยึดที่ดินคืน ไม่สามารถโอนขายให้กับผู้เสียหายได้ โดยพื้นที่ที่เจ้เปิ้ลกับสามีดำเนินการนำมาจัดสรรนั้น อยู่ในพื้นที่ อ.สารภี อ.สันกำแพง อ.แม่ริม จว.เชียงใหม่ และ อ.เมืองลำพูน รวมแล้วจำนวน 11 โครงการ ผู้เสียหายกว่า 400 ราย

พล.ต.ท.ปิยะ ต๊ะวิชัย ผบช.ภ 5 กล่าวว่า ได้รับทราบความเดือดร้อนของผู้เสียหายแล้ว พร้อมกันนี้ได้เรียกประชุมทีมพนักงานสืบสวนสอบสวน และมอบหมายให้ พล.ต.ต.วีรชน บุญทวี รอง ผบช.ภ 5 และ พล.ต.ต.ธวัชชัย พงษ์วิวัฒนชัย ผบก.ภ.จว.เชียงใหม่ เร่งรัดดำเนินการเกี่ยวกับคดีนี้อย่างเร่งด่วนที่สุด ให้ทำการสืบสวนสอบสวนและอายัดบัญชีธนาคารของผู้ต้องหาตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องทุกราย พร้อมทั้งตรวจสอบเส้นทางการเงินอย่างละเอียดเพื่อติดตามเงินมาคืนให้กับผู้เสียหาย ทั้งนี้ในการติดตามจับกุมผู้ต้องหานั้น เวลานี้ผู้ต้องหาไม่ได้อยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ แต่ยังไม่ได้หลบหนีออกนอกประเทศ ซึ่งจะเร่งจับกุมตัวให้ได้ภายใน 15 วัน นอกจากนี้ได้ให้ทีมสืบสวนดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานหาความเชื่อมโยงกับพนักงานขายที่เป็นทีมงานของผู้ต้องหาด้วยอีกกว่า 10 ราย ว่าจะมีส่วนรู้เห็นหรือไม่ เนื่องจากยังพบว่ามีการนำรูปแบบวิธีการเดียวกันไปใช้ในหลายโครงการตามพื้นที่ต่างๆของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งถ้าพบว่าเป็นการกระทำความผิดอาญา จะดำเนินการกับผู้กระทำความผิดอย่างเด็ดขาดทุกราย

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ถนนคนข่าว

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
SOCIETY & POLITICS

ชาวปกาเกอะญอบ้านแม่หมี จ.ลำปาง ค้านฝังหลักเขตอุทยานฯ ในที่ทำกิน

 

เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2566 ชาวปกาเกอะญอชุมชนบ้านแม่หมี หมู่ที่ 6 ต.หัวเมือง อ.เมืองปาน จ.ลำปาง ได้ยื่นหนังสือถึง เทวัญ จันทร์พรหม หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน คัดค้านการฝังหลักแนวเขตอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อนในพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน เนื่องจากต้องการให้มีการชี้แจงและตรวจสอบแนวเขตร่วมกันอีกครั้งก่อนดำเนินการ เกรงว่าจะมีแปลงที่ทำกินที่ตกหล่นจากการสำรวจ และกังวลผลกระทบจากพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ตามมาตรา 64 ว่าด้วยเรื่องที่ดินทำกินในเขตอุทยานแห่งชาติ

 

หัวหน้าอุทยานฯ แจงฝังหลักเขตเพื่อทราบขอบเขตชัด ย้ำดำเนินการ ‘โฉนดชุมชน’ ได้ในอนาคต
เทวัญ จันทร์พรหม หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน ได้ชี้แจงต่อชุมชนบ้านแม่หมีถึงกระบวนการรังวัดที่ดินทำกินก่อนหน้านั้นตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 โดยการดำเนินการฝังหลักแนวเขตนั้นเพื่อให้มีข้อมูลชัดเจนร่วมกัน ให้ทราบว่ามีที่ทำกินอยู่ตรงไหน ส่วนการดำเนินการหลังจากนั้นตามแนวทางโฉนดชุมชนที่ชุมชนบ้านแม่หมีได้ร่วมผลักดันกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ทางอุทยานฯ ไม่ก้าวล่วง
“อย่างน้อยไม่ว่ากันในอนาคต พี่น้องอาจจะได้โฉนดชุมชน ผมไม่ก้าวล่วง แต่เราต้องมีข้อมูลร่วมกันก่อน ซึ่งตอนนี้เรามีข้อมูลร่วมกันแล้วเพื่อเดินหน้าต่อไป ยิ่งมีรัฐบาลใหม่ อาจจะเป็นโฉนดชุมชนก็ได้ อุทยานฯ ไม่มีปัญหาอะไรเลย เรามีความหวังดีกับพี่น้องทุกภาคส่วน” เทวัญกล่าว
 
นอกจากนั้นหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อนยังได้ชี้แจงถึงแนวทางการสำรวจการเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่อุทยานฯ ซึ่งเป็นข้อสั่งการจาก อรรถพล เจริญชันษา รักษาการอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งชุมชนบ้านแม่หมีขอไม่ร่วมการสำรวจ เนื่องจากเป็นการสำรวจด้วยข้อสันนิษฐานว่าการเลี้ยงสัตว์เป็นสาเหตุหนึ่งของไฟป่า เป็นความเข้าใจที่ยังไม่ตรงกันของชาวบ้านและหน่วยงาน และอาจเกี่ยวข้องกับการเสียค่าธรรมเนียมตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 อย่างไรก็ตามหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อนได้ชื่นชมชาวบ้านแม่หมีที่ช่วยกันควบคุมสถานการณ์ไฟป่าปีนี้ได้เป็นอย่างดี
 
“ต้องขอบคุณพี่น้องปกาเกอะญอบ้านแม่หมี ชัดเจนว่าพี่น้องปกาเกอะญอหลายกลุ่มบ้านในอุทยานฯ แจ้ซ้อน บางวันฮอตสปอตขึ้นเยอะมาก เจ้าหน้าที่เรามีไม่เพียงพอ แต่บ้านแม่หมีจัดการกันได้เองเลย เราแค่ประสานงาน ก็ได้ผู้นำชุมชนเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงไปช่วย ถึงแม้ปีนี้จะหนักกว่าปีที่ผ่านมา แต่พี่น้องก็ช่วยเหลือกันอย่างดีจนสถานการณ์ผ่านพ้นไป” หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อนย้ำ
 

พีมูฟแจงเงื่อนไขกฎหมายอุทยานจำกัดสิทธิทำกิน
ประยงค์ ดอกลำใย ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ชี้แจงว่าที่ผ่านมามีช่องว่างทางนโยบายที่เป็นการจำกัดสิทธิชาวบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการรัฐประหารปี 2557 นโยบายทวงคืนผืนป่าที่สร้างผลกระทบกับชาวบ้านกว่า 48,000 คดี และการผลักดันจนมีพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ที่เนื้อหาไม่สอดคล้องกับวิถีชุมชน
เขายังกล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรา 64 ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวว่าด้วยเรื่องที่ดินทำกินในเขตอุทยานแห่งชาติ กำหนดให้เจ้าหน้าที่ไปสำรวจ พบว่าหลายกรณีขาดการมีส่วนร่วม หลักเกณฑ์ภาพถ่ายทางอากาศปี 2545 ก็ทำให้แปลงที่ดินทำกินต้องตกหล่นไปเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะไร่หมุนเวียนพักฟื้น หรือ ไร่เหล่า ของชาวปกาเกอะญอ ชาวบ้านจึงไม่มั่นใจให้ฝังหลักแนวเขตในครั้งนี้
 
“หลังปักหลัก จะออกเป็นพระราชกฤษฎีกาออกมารับรอง แล้วถ้ามีแปลงที่หลุด มันจะแก้ปัญหาไม่ได้เลย เพราะกระบวนการมันสิ้นสุดแล้ว แนวหลักนี้จะเป็นแผนที่ให้ชาวบ้านอยู่เป็นการชั่วคราวครั้งละไม่เกิน 20 ปี เป็นการอนุญาต ทั้งที่ชาวบ้านอยู่มาก่อนอุทยานฯ ทำไมกลายเป็นผู้บุกรุก ทำไมต้องได้รับอนุญาต” ประยงค์กล่าว
นอกจากนั้นประยงค์ยังย้ำถึงสถานการณ์ทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง ที่มีแนวโน้มได้รัฐบาลใหม่ฝั่งประชาธิปไตย โดยพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลคือพรรคก้าวไกลนั้น มีแนวทางการปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ ซึ่งหมายรวมถึงที่ดินในเขตป่าด้วย
“รัฐบาลใหม่ที่จะมาถึง ไม่ใช่วราวุธ ศิลปอาชา (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) เราต้องมาให้บทเรียนกับนักการเมืองแบบนี้ วันแรกที่รัฐบาลพรรคก้าวไกลเข้าไปทำงาน ต้องรับรองให้ได้ว่าจะไม่สร้างความขัดแย้งกับชาวบ้านในป่า ถ้ายังมีรัฐมนตรีที่มีอคติต่อชาวบ้าน ก็ต้องหาคนอื่นมาทำงานแทน” ประยงค์ย้ำ
 

3 ข้อเรียกร้องชาวบ้านแม่หมี ขอยุติฝังหลักเขตอุทยานฯ-ยึดมติ ครม. ฟื้นฟูวิถีกะเหรี่ยงในการปฏิบัติงาน
หลังจากนั้น ชาวบ้านแม่หมีได้ยื่นหนังสือข้อเรียกร้องถึงหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน โดยมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ดังนี้
 
1. ยุติการดำเนินการฝังหลังแนวเขตอุทยานแห่งชาติในพื้นที่ และยุติการดำเนินการตามแนวทางคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) และมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 รวมถึงมาตรการในการปลูกป่าทับที่ทำกินของชาวบ้านแม่หมีใน และ แม่หมีจกปก และต้องยุติการข่มขู่คุกคามชาวบ้านโดยทันที
 
2. การดำเนินการใดๆ ในพื้นที่ชุมชนบ้านแม่หมีใน และ แม่หมีจกปก ซึ่งเป็นชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอที่มีประวัติศาสตร์การก่อตั้งชุมชนมาอย่างยาวนานกว่าการประกาศเขตป่าทุกประเภท หน่วยงานของท่านต้องยึดเอามติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง เป็นหลักการสำคัญ
 
3. คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือ คทช. จะต้องไม่เป็นเงื่อนไขและข้อจำกัด ในการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของชุมชน
 
ซึ่งข้อสรุปหลังจากนั้น ชุมชนบ้านแม่หมี อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน และพีมูฟ เห็นตรงกันให้มีการนัดชี้แจงตรวจสอบแนวเขตสำรวจที่ดินทำกินให้ชุมชนอีกครั้ง ก่อนการดำเนินการใดๆ ในพื้นที่ โดยการฝังหลักแนวเขตครั้งนี้ให้ยุติไปก่อน
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
SOCIETY & POLITICS

อนุสรณ์สถานสามผู้กล้า พลเรือน ตำรวจ ทหาร บ้านห้วยกว๊าน อ.เชียงเเสน

 

เมื่อวันจันทร์ที่ 12 มิถุนายน 2566 เวลา เวลา 14.30 น. พ.อ. เกียรติอุดม นาดี รอง เสธ.มทบ.37 เดินทางไปตรวจงานซ่อมปรับปรุงอนุสรณ์สถานสามผู้กล้า พ.ต.ท. (พลเรือน ตำรวจ ทหาร ) บ้านห้วยกว๊าน ต.บ้านแซว อ.เชียงเเสน จว.ช.ร. ซึ่ง มทบ.37 ได้จัดชุดช่างเข้าดำเนินการซ่อมปรับปรุงในห้วงวันที่ 29 พ.ค. – 9 มิ.ย. 66 ที่ผ่านมา เพื่อให้สง่างาม สมเกียรติ และเป็นสถานที่เชิดชูวีรกรรมของผู้กล้า ที่เสียสละชีวิตเพื่อประเทศชาติ โดยมี รองนายกเทศมนตรีตำบลบ้านแซว, หัวหน้าสำนักงานปลัดเทศบาลตำบลบ้านแซว, ผู้ใหญ่บ้านห้วยกว๊าน และสมาชิกเทศบาลตำบลบ้านแซว ร่วมตรวจงานฯ พร้อมกันนี้ได้ประสานเทศบาลตำบลบ้านแซวและบ้านห้วยกว๊าน ในการจัดกำลังจิตอาสาช่วยกันดูแลปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณอนุสรณ์สถานให้เกิดความสะอาด มีทัศนียภาพที่สวยงาม

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
SOCIETY & POLITICS

ศอ.จอส.พระราชทาน มทบ.37 จัดกำลังพล ทำฝายชะลอน้ำแบบแกนดินซีเมนต์ อ.เชียงแสน

 

เมื่อวันจันทร์ที่ 12 มิถุนายน 2566 เวลา 09.00 น. ศอ.จอส.พระราชทาน มทบ.37 จัดกำลังพลจิตอาสา ร่วมกับ บริษัท ทรูวิชั่น จำกัด กลุ่มรวมพลังขับเคลื่อนราชอาณาจักรไทย และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงาน ชพส.3211 , ชป.กร.313 , และราษฎรบ้านสันทรายกองงาม ทำฝายชะลอน้ำแบบแกนดินซีเมนต์ บริเวณลำห้วยแม่บง บ้านสันทรายกองงาม ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ด้านการเกษตรในพื้นที่ โดยใช้งบประมาณจากการทอดผ้าป่าของหมู่บ้าน โดยมี นายสุภัทรดิศ ราชธา อนุกรรมาธิการวุฒิสภา เป็นผู้ให้ความรู้ ควบคุมการก่อสร้างฝาย และ ได้รับการสนับสนุนเครื่องจักรกลรถแม็คโคร จาก อบจ.เชียงราย จำนวน 1 คัน

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
SOCIETY & POLITICS

อบจ.เชียงราย พัฒนาศักยภาพ และส่งเสริมอาชีพรุ่นที่ 4

 

เมื่อวันจันทร์ที่ 12 มิถุนายน 2566 เวลา 09.00 น. นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย เป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาศักยภาพและส่งเสริมอาชีพให้ประชาชนในจังหวัดเชียงราย กิจกรรมที่ 12 ศึกษาดูงานเพื่อพัฒนาทักษะการประกอบอาชีพ รุ่นที่ 4 พร้อมด้วย นายสุธีระพงษ์ วันไชยธนวงศ์ ประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย และนายญาณาฤทธิ์ หนสมสุข รองปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ร่วมพบปะผู้เข้าร่วมโครงการฯ ณ หอประชุม อ.เวียงชัย จ.เชียงราย

 
โครงการดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมอาชีพให้กับประชาชนในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงรายให้ มีรายได้และมีกิจกรรมเสริม สามารถยกระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิตที่ดี และมีความสุขบนพื้นฐานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สนับสนุนการพัฒนาเครือข่ายประชาชนในพื้นที่จังหวัดเชียงราย หรือการพัฒนาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องซึ่งจะสามารถเป็นกลไกในการบริหารจัดการกลุ่มเครือข่ายอาชีพได้อย่างต่อเนื่อง สร้างโอกาสและทางเลือกในการประกอบอาชีพให้กับประชาชนในพื้นที่จังหวัดเชียงราย
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : อบจ.เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
SOCIETY & POLITICS

ศูนย์เยาวชน อบจ.เชียงราย เพิ่มทักษะศิลปะ การใช้สีชอล์ก และวาดภาพสร้างสรรค์

 

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 11 มิถุนายน 2566 เวลา 15.00 น. ณ ศูนย์เยาวชน องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย พบปะให้กำลังใจ และ มอบประกาศนียบัตร แก่เด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการอบรมเทคนิคการใช้สีชอล์ก และวาดภาพสร้างสรรค์ ในครั้งนี้

โดยการจัดกิจกรรมครั้งนี้เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนในจังหวัดเชียงรายได้ ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ มีพื้นที่ให้แสดงความคิดสร้างสรรค์ ห่างจากเทคโนโลยีหรือสังคมก้มหน้า และห่างไกลจากยาเสพติด เยาวชน คือ ประชาชนคนรุ่นใหม่ที่เป็นอนาคตและเป็นพลังของชาติรุ่นต่อไป ที่จะเข้าไปมีบทบาทในการพัฒนาท้องถิ่นของจังหวัดเชียงรายให้เจริญก้าวหน้า เป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยกำหนดทิศทางการพัฒนาอนาคตของจังหวัดเชียงรายให้ดียิ่งขึ้นอย่างมีเสถียรภาพ
นโยบาย “สภาเยาวชนร่วมกำหนดอนาคตเชียงราย” เป็นนโยบายที่จะเปิดโอกาสให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาเชียงรายตามหลักการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี สนับสนุนให้เยาวชนมีความรู้และเข้าใจในหลักการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เยาวชนได้มีพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นแสดงออกอย่างถูกต้อง เป็นประโยชน์ต่อสังคม กิจกรรมโครงการของเด็กและเยาวชนต้องสอดรับกับแนวทางการพัฒนาจังหวัดเชียงรายอย่างเป็นรูปธรรม อันจะมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนทิศทางการพัฒนาจังหวัดเชียงรายให้เกิดความยั่งยืนจากรุ่นสู่รุ่นในอนาคตต่อไป
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : อบจ.เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
FEATURED NEWS

มฟล. ร่วมชุมชนปลูกป่าเชิงนิเวศ ฟื้นฟูแหล่งต้นน้ำชุมชน

 
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) โดยโครงการสวนพฤกษศาสตร์ฯ ได้ดำเนินการโครงการรักษ์ดิน รักษ์น้ำ รักษ์ป่า ซึ่งเป็นโครงการทางด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 และเนื่องในวันต้นไม้แห่งชาติประจำปี 2566 ซึ่งปีนี้ตรงกับวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ถือเป็นโอกาสดีในการจัดกิจกรรมปลูกป่าเชิงนิเวศ ในพื้นที่อนุรักษ์ เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากไฟป่าซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำที่ชุมชนใช้ประโยชน์ อีกทั้งยังเป็นการสร้างความรู้ ความเข้าใจ ปลูกฝังให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรม ได้แก่ นักศึกษา บุคลากร มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง บุคลากรเทศบาลตำบลนางแล และประชาชนทั่วไปในชุมชนตำบลนางแล ให้มีความรู้สึกรัก และหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ โดยมีอาจารย์วิทยาศักดิ์ รุจิวรกุล รักษาการแทนรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) พร้อม ดร.จันทรารักษ์ โตวรานนท์ หัวหน้าโครงการสวนพฤกษศาสตร์ฯ นำบุคลากรและนักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรม เมื่อวันพุธที่ 31 พฤษภาคม 2566 เวลา 08.00-14.00 น. ณ ที่พื้นที่อนุรักษ์บ้านนางแลใน – บ้านร่องปลาค้าว ตำบลนางแล อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย
 
ทั้งนี้กิจกรรมที่โครงการรักษ์ดิน รักษ์น้ำ รักษ์ป่า โดยโครงการสวนพฤกษศาสตร์ฯ ได้ดำเนินการแล้ว ได้แก่ การปลูกต้นไม้ การสร้างฝาย โดยนักศึกษา บุคลากรของมหาวิทยาลัย โดยมีเป้าหมายพัฒนาสภาพแวดล้อมมหาวิทยาลัยให้ร่มรื่น ผลักดันมหาวิทยาลัยสู่การเป็น Green & Clean Campus และส่งเสริมการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กิจกรรมในครั้งนี้หวังที่จะทำให้พื้นที่ป่าได้รับการฟื้นฟู มีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น สามารถเพิ่มความหลายหลายทางชีวภาพภายในพื้นที่มหาวิทยาลัยได้มากขึ้น สร้างจิตสำนึกรักทรัพยากรธรรมชาติให้แก่นักศึกษาและบุคลากรตลอดจนประชาชนทั่วไปได้ เพิ่มความชุ่มชื้นให้ผืนป่าทำให้ระบบนิเวศดีขึ้น และทำให้ไม้ยืนต้นเจริญเติบโตมากขึ้น ทดแทนไผ่ป่า ลดอัตราการเกิดไฟป่าได้
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
FEATURED NEWS

มฟล. จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ ความปลอดภัยทางชีวภาพ

 
มฟล. จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ ความปลอดภัยทางชีวภาพและการรักษาความปลอดภัยทางชีวภาพ หวังสร้างมาตรฐานการวิจัยระดับสากล
 
ส่วนบริหารงานวิจัย สถาบันวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) จัดการอบรมอบรมเชิงปฏิบัติการ ความปลอดภัยทางชีวภาพและการรักษาความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosafety and Biosecurity Training Course) หลักสูตรอบรมภาคภาษาอังกฤษ ระหว่างวันที่ 8-9 มิถุนายน 2566 ณ ห้องประชุมคำมอกหลวง อาคาร M-Square มฟล. โดยมี นายกานต์กุญช์ บำรุงชาติ หัวหน้าส่วนบริหารงานวิจัย กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมการอบรมทั้งที่เป็นนักศึกษานานาชาติ อาจารย์และนักวิจัยของมหาวิทยาลัย และได้รับเกียรติจากวิทยากร ดร.ฉายสุรีย์ ศุภวิไล ข้าราชการบำนาญ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บรรยายเรื่อง กฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับคามปลอดภัยทางชีวิภาพ (Biosafety) และการรักษาความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) ผศ. ดร.วีระชัย ทิตภากร อาจารย์ประจำวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บรรยายเรื่อง หลักการด้านความปลอดภัยทางชีวภาพและการรักษาความปลอดภัยทางชีวภาพ ดร.บุญเฮียง พรมดอนกอย นักวิจัยอาวุโส ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ บรรยายเรื่อง การจัดการความเสี่ยงทางชีวภาพ (Biorisk Management) และอีกหลายหัวข้อที่เกี่ยวข้อง
 
นายกานต์กุญช์ บำรุงชาติ หัวหน้าส่วนบริหารงานวิจัย กล่าวว่า มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ร่วมมือกับ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (National Center for Genetic Engineering and Biotechnology: BIOTEC) จัดหลักสูตรอบรมภาคภาษาอังกฤษเรื่อง “ความปลอดภัยทางชีวภาพและการรักษาความปลอดภัยทางชีวภาพ” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างให้เกิดความรู้และความเข้าใจแก่นักวิจัย นักศึกษาต่างชาติ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในห้องปฏิบัติการชีวภาพ เพื่อสามารถปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องและมีความปลอดภัย โดยได้รับเกียรติจากวิทยากร 3 ท่านคือ ดร.บุญเฮียง พรมดอนกอย และ ผศ. ดร.วีระชัย ทิตภากร รวมทั้ง ดร.ฉายสุรีย์ ศุภวิไล ซึ่งเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการความปลอดภัยทางชีวภาพของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงอีกด้วย
 
ทั้งนี้ การวิจัย ถือเป็นหนึ่งในภารกิจหลักของคณาจารย์ของมหาวิทยาลัย เพื่อสร้างองค์ความรู้นำมาใช้ในการเรียนการสอน การพัฒนาประเทศ และพัฒนาคุณภาพในด้านวิชาการของมหาวิทยาลัย ในปัจจุบันการทำงานวิจัยที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่หรือพันธุวิศวกรรม มีจำนวนที่เพิ่มขึ้นและมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ในการสร้างประโยชน์ด้านอุตสาหกรรม การแพทย์ การเกษตร และด้านอื่นที่เกี่ยวข้อง 
 
โดยตามหลักสากลในการดำเนินงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ ต้องมีการดูแลความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการ ซึ่งประกอบด้วยมาตรฐานการควบคุมความปลอดภัยทางชีวภาพ และมาตรฐานความปลอดภัยทางห้องปฏิบัติการ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าการวิจัยการทดลองนั้น มีความปลอดภัยต่อผู้ที่เกี่ยวข้องและสิ่งแวดล้อมในทุกด้าน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่นักวิจัยและผู้ปฏิบัติงาน จะต้องมีความรู้ มีความเข้าใจ ในเรื่องความปลอดภัยทางชีวภาพและการรักษาความปลอดภัยทางชีวภาพที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะส่งผลให้ผลงานวิจัยที่ได้มีมาตรฐานในระดับสากล และเป็นที่ยอมรับในวงกว้างต่อไป
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
FEATURED NEWS

มฟล. ขึ้นทะเบียนหลักสูตรพุทธศิลปกรรม รุ่น 3 สร้างศิลปินมืออาชีพรุ่นต่อรุ่น

 
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) โดย ศูนย์บริการวิชาการ จัดการรายงานตัวและขึ้นทะเบียนผู้เรียนหลักสูตรระยะสั้น สาขาวิชาพุทธศิลปกรรม รุ่นที่ 3 พ.ศ. 2566 ณ อาคารพลเอกสำเภา ชูศรี มฟล. มีรายชื่อผู้รายงานตัวจำนวน 60 รูป/คน โดยได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มัชฌิมา นราดิศร อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวแสดงความยินดี และมอบเข็มกลัดที่ระลึกของหลักสูตรฯ ให้แก่ผู้เรียน ดร.ณัฐวุฒิ ยอดสุวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ บรรยายภาพรวมของหลักสูตร รองศาสตราจารย์ ดร.พลวัฒ ประพัฒน์ทอง อาจารย์ประจำหลักสูตร แนะนำหลักสูตร แนวทางการสอน การวัดและการประเมินผล รวมทั้งชี้แจงรายละเอียดสัญญาการจัดการสิทธิและการจัดสรรผลประโยชน์ทรัพย์สินทางปัญญาภายใต้การศึกษาในหลักสูตรฯ พร้อมทั้งคณาจารย์ประจำหลักสูตรให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอน ได้แก่ อาจารย์ทองเดช ทิพย์ทอง อาจารย์วาทิตย์ เสมบุตร อาจารย์ขจรเดช หนิ้วหยิ่น อาจารย์วัชระ กว้างไชย์ และ อาจารย์กาญจนา ชลศิริ
 
ในโอกาสนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มัชฌิมา นราดิศร อธิการบดี มฟล. กล่าวแสดงความยินดีกับผู้รายงานตัวเป็นผู้เรียนของหลักสูตรว่า ในนามของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ขอแสดงความยินดีเป็นอย่างยิ่งกับผู้เรียนทุกท่าน ที่ได้ผ่านการคัดเลือกอย่างเข้มข้นในการเข้าศึกษาในหลักสูตรระยะสั้น สาขาวิชาพุทธศิลปกรรมของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งรุ่นนี้นับเป็นรุ่นที่ 3 รวมผู้เรียนทั้งสิ้นจำนวน 60 รูป/คน
 
ขอแสดงความชื่นชมหลักสูตรระยะสั้นนี้ ที่ได้มีการบริหารจัดการหลักสูตร ในการจัดการเรียนการสอนให้กับพระภิกษุ สามเณร และบุคคลทั่วไปที่มีความสนใจในด้านพุทธศิลปกรรม ให้ได้มีโอกาสในการศึกษาเรียนรู้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในการศึกษา โดยดำเนินการมาแล้ว 3 รุ่น โดยรุ่นที่ 1 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 เป็นต้นมา
 
หลักสูตรนี้เป็นความคิดริเริ่มจากผู้ก่อตั้ง 3 ท่าน คือ พระเมธีวชิโรดม หรือที่เรารู้จักในนาม ท่าน ว.วชิรเมธี ที่ท่านเป็นผู้อำนวยการศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน ท่านที่ 2 คือ ศาสตรเมธี ดร.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ท่านเป็นศิลปินแห่งชาติ และท่านที่ 3 คือ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.วันชัย ศิริชนะ ท่านเป็นอธิการบดีผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และในปัจจุบันท่านเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โดยท่านทั้ง 3 ได้มีแนวคิดร่วมกัน ในการที่จะก่อตั้งให้มีหลักสูตรนี้ขึ้นมา เพื่อเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ด้านสุนทรียศาสตร์ ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติแบบเข้มข้น ที่สร้างความรู้ความเข้าใจในด้านพุทธศิลปกรรมได้อย่างลึกซึ้ง ตลอดจนการเผยแพร่งานพุทธศิลปกรรมให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณะ และส่งเสริมให้งานพุทธศิลปกรรมให้คงอยู่ตลอดไป
 
สำหรับหลักสูตรระยะสั้น สาขาวิชาพุทธศิลปกรรมนี้ ได้ดำเนินการในลักษณะแบบบูรณาการพันธกิจร่วมกัน ระหว่างการบริการวิชาการแก่สังคม และการทำนุบำรุงศิลปะวัฒนธรรม ซึ่งได้ดำเนินการโดยการทำงานของศูนย์บริการวิชาการของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จะเป็นลักษณะของการดำเนินการที่เป็นโครงการบริการที่ไม่มีรายได้ โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนพุทธศิลปการแห่งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากผู้จิตศรัทธา และรายได้จำนวนร้อยละ 40 จากการจำหน่ายผลงานสร้างสรรค์ของอาจารย์ประจำหลักสูตรและผลงานของผู้เรียน
 
หลักสูตรนี้ได้แบ่งการศึกษาออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับที่ 1 พุทธศิลป์พื้นฐาน ระดับที่ 2 พุทธศิลป์สร้างสรรค์ และระดับที่ 3 พุทธศิลป์สร้างสรรค์ขั้นสูง โดยการดำเนินการสอนโดยผู้ทรงคุณวุฒิ และคณาจารย์ประจำหลักสูตรที่มีความรู้ความสามารถ จัดการเรียนการสอนทุกวันเสาร์และอาทิตย์ ในระยะเวลา 1 ปี โดยที่ผู้ที่จะสำเร็จการศึกษาตามแผนการสอนในแต่ระดับ จะได้รับประกาศนียบัตรสำเร็จการศึกษา ที่รับรองโดยพระเมธีวชิโรดม ศาสตรเมธี ดร.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ และ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.วันชัย ศิริชนะ ซึ่งทั้ง 3 ท่านเป็นผู้ก่อตั้งหลักสูตรนี้
 
หลักสูตรหลักสูตรระยะสั้น สาขาวิชาพุทธศิลปกรรม นับเป็นหลักสูตร Master Class อย่างแท้จริง ด้วยเป็นหลักสูตรที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงมีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง สุดท้ายนี้ก็ขอแสดงความยินดีกับผู้เรียนทุกท่านอีกครั้ง ซึ่งถือว่าตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ท่านเป็นผู้เรียนในหลักสูตรระยะสั้น สาขาวิชาพุทธศิลปกรรมของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงรุ่นที่ 3 ปี พ.ศ 2566 ซึ่งจะได้พัฒนางานด้านพุทธศิลป์ออกไปในวงกว้าง และก่อประโยชน์อย่างมีประสิทธิผลในสังคมไทยและสังคมโลกได้อย่างยั่งยืนต่อไป” อธิการบดี มฟล. กล่าว
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News