Categories
AROUND CHIANG RAI TRAVEL

เปิดอีก 2 งานมหกรรมไม้ดอกอาเซียน โซนอ.ป่าแดด และ อ.แม่จัน เชียงราย

 
เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2566 เวลา 18.00 น. นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย เปิดงานมหกรรมไม้ดอกอาเซียนเชียงรายโซนอำเภอ (อำเภอป่าแดด) “วิจิตรศิลป์ดอกไม้งามตา ของดีล้ำค่าข้าวหอมป่าแดด” ณ ที่ว่าการอำเภอป่าแดด จังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยนายชัยสิทธิ์ ชัยเนตร เลขานุการนายก อบจ.เชียงราย นายทัศพงษ์ สุวรรณมงคล เลขานุการนายก อบจ.เชียงราย นายชัยวัฒน์ อุดขา สมาชิกสภา อบจ.เชียงราย อ.ป่าแดด นายอำนาจ ทาจินา สมาชิกสภา อบจ.เชียงราย อ.เมือง นายรามิล พัฒนมงคลเชฐ ปลัด อบจ.เชียงราย นายญาณาฤทธิ์ หนสมสุข รองปลัด อบจ.เชียงราย และหัวหน้าส่วนราชการ อบจ.เชียงราย ในการนี้นายสุรเชษฐ์ พุ้ยน้อย นายอำเภอป่าแดด กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดงาน และนำหัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนันผู้ ใหญ่บ้าน ประชาชน อำเภอป่าแดดร่วมให้การต้อนรับ
 
 
โดยงานมหกรรมไม้ดอกอาเซียนเชียงราย (โซนอำเภอป่าแดด) “วิจิตรศิลป์ดอกไม้งามตา ของดีล้ำค่าข้าวหอมป่าแดด” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 ธันวาคม 2566 – 2 มกราคม 2567 ณ ที่ว่าการอำเภอป่าแดด การจัดงานดังกล่าว เป็นการกระจายรายได้ไปสู่ชุมชน และเพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ในจังหวัดเชียงรายให้เป็นที่ รู้จักของนักท่องเที่ยว อีกทั้งยังเป็นการเผยแพร่ผลผลิตข้าวจากท้องทุ่งนาของอำเภอป่าแดด และเผยแพร่วัฒนธรรมพื้นบ้านของอำเภอป่าแดดอีกด้วย
จากนั้น นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ร่วมลงนาม MOU 
 
 
เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงรายเพื่อยกระดับให้พื้นที่ในจังหวัดเชียงราย เป็นแหล่งท่องเที่ยวของภาคเหนือ สนองนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาล และรองรับแผนส่งเสริมการท่องเที่ยวตามยุทธศาสตร์จังหวัดเชียงราย รวมถึงเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการค้า กลุ่มเกษตรกร แสดงสินค้าและจำหน่ายผลผลิตต่างๆ ผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน ตลอดจนผลิตภัณฑ์แปรรูปสินค้าเกษตรในท้องถิ่น เป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชนรวมถึง สืบสาน อนุรักษ์ เผยแพร่ ศิลปวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงามของล้านนา และกลุ่มชาติพันธุ์ อีกด้วย
 
 
 
และต่อมาเมื่อวันพุธที่ 27 ธันวาคม 2566 เวลา 18.00 น. นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย เปิดงานมหกรรมไม้ดอกอาเซียนเชียงราย (โซนอำเภอแม่จัน) “ดอกไม้บาน ตี้ลานโป่ง” พร้อมด้วยนายประเสริฐ ชุ่มเมืองเย็น รองประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย นายชินกร ก๊อใจ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย อำเภอแม่จัน เขต 2 นางปาริชาติ จิระมณี สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย อำเภอแม่จัน เขต 3 นายรามิล พัฒนมงคลเชฐ ปลัด อบจ.เชียงราย นายญาณาฤทธิ์ หนสมสุข รองปลัด อบจ.เชียงราย และหัวหน้าส่วนราชการ อบจ.เชียงราย ซึ่งมีนายบุญส่ง ตินารีนายอำเภอแม่จัน นายวรายุทธ ค่อมบุญ นายอำเภอเทิง นำหัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนันผู้ ใหญ่บ้าน ประชาชน อำเภอแม่จันร่วมให้การต้อนรับ ในการนี้ นายประเสริฐ ชุ่มเมืองเย็น รองประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย เป็นผู้กล่าวรายงานการจัดงาน และวัตถุประสงค์การจัดงานในครั้งนี้ ณ น้ำพุร้อนป่าตึง ตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย
 
 
มหกรรมไม้ดอกอาเซียนเชียงรายโซนอำเภอแม่จัน องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ได้เลือกสถานที่ น้ำพุร้อนป่าตึงแห่งนี้ เป็นพื้นที่ในการจัดงาน มหกรรมไม้ดอกอาเซียนเชียงราย โซนอำเภอแม่จัน เนื่องด้วยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนที่กำลังพัฒนา เป็น แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของอำเภอแม่จัน และเป็นหนึ่งในเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของจังหวัดเชียงราย “Chiangrai Wellness City” ซึ่งภายในบริเวณโปงน้ำร้อน มีลานน้ำพุร้อนธรรมชาติ อาคารอาบน้ำแร่ บ่อแช่เท้า และบริการนวดแผนไทย
 
 
นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน ผลผลิตทางการเกษตร มหกรรมไม้ดอกอาเซียนเชียงรายโซนอำเภอแม่จัน ได้เนรมิตพื้นที่น้ำพุร้อนป่าตึง ให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สร้างความประทับใจ ให้กับนักท่องเที่ยว อาทิ การปรับภูมิทัศน์ทุ่งดอกคอสมอส ดอกทิวลิป การจัดสวน ไม้ประดับพันธุ์แคคตัส น้ำพุร้อน
7 สี การสร้างประติมากรรมขนาดใหญ่ “น้องต้มโป่ง” ซึ่งจะเป็นสัญลักษณ์หรือมาสคอตของงาน และสถานที่ท่องเที่ยวแห่งนี้ “น้ำพุร้อนป่าตึง”
 
 
ทั้งนี้ มหกรรมไม้ดอกอาเซียนเชียงราย (โซนอำเภอแม่จัน) “ดอกไม้บาน ตี้ลานโป่ง” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2566 – 2 มกราคม 2567
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : อบจ.เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
All

ตำรวจเมืองเชียงรายยึดรถ 32 คัน หลังเปิดปฏิบัติการ “เชียงรายไร้ท่อดัง”

 

เมื่อ27 ธันวาคม 2566 พล.ต.ต.มานพ เสนากูล ผบก.ภ.จว.เชียงราย มอบหมายให้ พ.ต.อ.โสภณ ม่วงเฟื่อง ผกก.สภ.เมืองเชียงราย พ.ต.ท.พันชาติ สมตัว รอง ผกก.จร.สภ.เมืองเชียงราย พ.ต.ท.ฉันทฤทธิ์ เหล่าไพโรจน์จารี รอง ผกก.ป.สภ.เมืองเชียงราย พ.ต.ท.พรต เศรษฐกร รอง ผกก.สส.สภ.เมืองเชียงราย ร่วมกับทาง ฝ่ายปกครอง กองร้อยอาสารักษาดินแดนจังหวัดเชียงราย และ สำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงราย ร่วมประชุมวางแผนดำเนินการป้องกันและปราบปรามรถจักรยานยนต์ดัดแปลงสภาพและท่อไอเสียเสียงดัง สร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ประชาชน ณ ห้อง ศปก.สภ.เมืองเชียงราย

พร้อมได้เปิดปฏิบัติการ “เชียงรายไร้ท่อดัง” ร่วมบูรณาการ ปฏิบัติการร่วม 4 หน่วยงาน ได้แก่ ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย (สภ.เมืองเชียงราย) ฝ่ายปกครองอำเภอเมืองเชียงราย สำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงราย และ วิทยาลัยเทคนิคเชียงราย โดยความร่วมมือจาก ดร.ศรากร บุญประถัมภ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคเชียงราย ลงพื้นที่ดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแข่งขันรถในทางและรถเสียงดัง แต่งซิ่ง และตั้งจุดตรวจ จุดสกัด
 
โดยแบ่งเป็น 2 ชุด คือ บริเวณถนนสันโค้งน้อย และ ถนนสนามบิน ต.รอบเวียง อ.เมือง จ.เชียงราย และได้ออกตรวจจุดจอดรถภายในวิทยาลัยเทคนิคเชียงราย และบริเวณโดยรอบ ทำการตรวจสอบรถจักรยานยนต์ที่มีลักษณะเข้าข่ายท่อเสียงดังจำนวน 45 คัน โดยเจ้าหน้าที่ขนส่งจังหวัดเชียงรายได้นำเครื่องวัดระดับเสียงทำการทดสอบรถจักรยานยนต์ดังกล่าว ผลการดำเนินการ สามารถจับกุมตรวจยึด รถจักรยานยนต์ดัดแปลงสภาพและท่อเสียงดังเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดได้จำนวน 32 คัน นำส่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงรายดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

ชาวบ้านป่าตึงริมกก เชียงราย รับพระธุดงค์กว่า 80 รูป มุ่งหน้า อ.แม่จัน

 

วันที่ 28 ธันวาคม 2566 คณะพระสงฆ์-สามเณรกว่า 80 รูป จาริกธุดงค์โครงการจาริกธรรมตามรอยบาทพระศาสดาปีที่10 ฝึกฝนอบรมเพื่อที่จะไปจาริกที่ประเทศ อินเดีย เนปาล ได้เดินทางมาถึงป่าตึงริมกก โดยมีพุทธศาสนิกชนชาวอำเภอเมือง จ.เชียงราย ที่ทราบข่าวต่างยินดี พร้อมทั้งเตรียมข้าวสาร อาหารแห้งเพื่อนำมาถวายเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์ได้สอบถามจากคณะพระสงฆ์ และสามเณรกว่า 80 รูป ที่เข้าร่วมโครงการจาริกธรรมตามรอยบาทพระศาสดาปีที่ 10 ฝึกฝนอบรมเพื่อที่จะไปจาริกที่ประเทศ อินเดีย เนปาล โดยท่านได้เดินทางมาจากวัดเกาะวาลุการาม ต.สวนดอก อ.เมือง จ.ลำปาง เดินเท้าธุดงค์ผ่านเส้นทางต่างๆ มุ่งหน้าสู่วัดดอยเทพนิมิต ต.ป่าซาง อ.แม่จัน จ.เชียงรายตั้งแต่วันจันทร์ที่ 12 ธันวาคม 2566 -วันศุกร์ที่ 29 ธันวาคม 2566 โดยมีพระภิกษุสงฆ์ สามเณร แม่ชี และคณะศรัทธาผู้ติดตาม เดินทางร่วมกว่า 80 รูป

ซึ่งกำหนดการคณะพระสงฆ์-สามเณรกว่า 80 รูป ดังนี้

27 ธันวาคม 2566 เข้าพัก ป่าช้าหมู่5 บ้านป่าตึงริมกก ต.ริมกก อ.เมือง จ.เชียงราย

28 ธันวาคม 2566 จุดที่พัก คือ วัดสุวรรณคีรี ต.แม่จัน อ.แม่จัน จ.เชียงราย

29 ธันวาคม 2566 จุดสุดท้ายวัดดอยเทพนิมิต ต.ป่าซาง อ.แม่จัน จ.เชียงราย

โดยมีการทำวัตรเย็น และ ทำวัตรเช้า ผู้ใจบุญ สามารถไปร่วมใส่บาตรและถวายภัตตาหารได้เวลา 07.30 น. สามารถร่วมบุญได้ตามกำลังศรัทธา

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
SOCIETY & POLITICS

ช่วยกลับไทย 500 คน สั่งขยายผลดำเนินคดีขบวนการค้ามนุษย์เล่าก์ก่ายเมียนมาหลัง

 
เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 66 ที่ห้องประชุม 1 ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย (ศูนย์ราชการ) ตำบลริมกก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย พลตำรวจตรี มานพ เสนากูล ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วย รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย เจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย และผู้แทนสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงราย ร่วมรับฟังและรับมอบนโยบายจาก พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ผ่านระบบ Video Conference จากส่วนกลาง จากกรณีเมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมาได้มีเหตุการณ์สู้รบในหลายพื้นที่เขตชายแดนประเทศเมียนมา ทำให้มีประชาชนได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก โดยมีคนไทยที่เดินทางไปทำงานอยู่ในเมืองเล่าก์ก่าย ติดอยู่ในพื้นที่พิพาทเป็นจำนวนมาก และได้ร้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลไทยในการให้ความช่วยเหลือนำกลับประเทศตามที่สื่อมวลชนและโซเชียลมีเดียได้นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น 


กรณีดังกล่าว พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ได้สั่งการให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง (ศพดส.ตร.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ กองทัพบก กองทัพอากาศ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย เป็นต้น ในการประสานงานกับทางการเมียนมาในการให้ความช่วยเหลือคนไทยที่ติดอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อนำกลับมายังประเทศไทยอย่างปลอดภัย ปัจจุบันสามารถช่วยเหลือคนไทยนำกลับมายังประเทศไทยได้แล้ว 5 ครั้ง ประกอบด้วย 1. เมื่อวันที่ 18 พ.ย.66 ช่วยเหลือคนไทยได้ 41 คน 


โดยรับตัวผ่านจุดผ่านแดนที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย 2. เมื่อวันที่ 19 พ.ย.66 ช่วยเหลือคนไทยได้ 266 คน โดยนำตัวข้ามชายแดนจากเมืองเล่าก์ก่าย เมียนมา ไปยังเมืองคุนหมิง ประเทศจีน แล้วเดินทางกลับไทยโดยสายการบินพาณิชย์ลงที่สนามบินดอนเมือง 3. เมื่อวันที่ 24 พ.ย.66 ช่วยเหลือคนไทยได้ 24 คน โดยรับตัวผ่านจุดผ่านแดนที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย 4. เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.66 ช่วยเหลือคนไทยได้ 83 คน โดยนำตัวข้ามชายแดนจากเมืองเล่าก์ก่าย เมียนมา ไปยังเมืองคุนหมิง ประเทศจีน แล้วเดินทางกลับไทยโดยสายการบินพาณิชย์ลงที่สนามบินดอนเมือง 5. เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.66 ช่วยเหลือคนไทยได้ 111 ราย โดบรับตัวผ่านจุดผ่านแดน อ.แม่สาย จ.เชียงราย รวมสามารถช่วยเหลือคนไทยได้แล้ว 525 ราย โดยนำเข้าสู่กระบวนการกลไกส่งต่อระดับชาติ (NRM) ที่มณฑลทหารบกที่ 37, กองร้อยอาสารักษาดินแดน จ.เชียงราย และศูนย์บูรณาการคัดกรองหนองจอก กทม. 


โดยในจำนวนดังกล่าว มีผู้ต้องหาตามหมายจับ (คดีทั่วไปและคดีคอลเซ็นเตอร์) จำนวน 20 ราย จากนั้นนำเข้ากระบวนการคัดกรองพบเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์จำนวน 174 ราย ในส่วนของกระบวนการคัดแยกนั้น เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้ทำการซักถามและคัดกรองตามขั้นตอนกระบวนการคัดแยกเหยื่อจากการค้ามนุษย์ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมทั้งขยายผลดำเนินคดีกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด โดยเฉพาะการหลอกลวงคนไทยไปทำงานคอลเซ็นเตอร์ ในส่วนของคนไทยชุดแรกที่ได้รับการช่วยเหลือจำนวน 41 คน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินการคัดแยกและพบเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์จำนวน 20 คน และดำเนินการขยายผลดำเนินคดีกับผู้ต้องหาซึ่งเป็นขบวนการหลอกคนไทยไปทำงานคอลเซ็นเตอร์ที่ประเทศเมียนมา (เมืองเล่าก์ก่าย) 


ในส่วนของคนไทยชุดล่าสุดที่ได้รับการช่วยเหลือจำนวน 111 คน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินการคัดแยกและพบเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์จำนวน 85 คน และดำเนินการขยายผลดำเนินคดีกับผู้ต้องหาซึ่งเป็นขบวนการหลอกคนไทยไปทำงานคอลเซ็นเตอร์ที่ประเทศเมียนมา ( เมืองแผน ) โดยยังมีผู้ต้องหาหลบหนีอีก 2 ราย ซึ่งทั้งหมดจะถูกดำเนินคดีในความผิดฐาน สมคบกันค้ามนุษย์ด้วยการบังคับใช้แรงงานขบวนการค้ามนุษย์กลุ่มนี้มีการแบ่งหน้าที่กันทำ โดยมีคนทำหน้าที่ต่างๆ ในองค์กร เช่น หัวหน้าฝ่ายบริหาร ฝ่ายฝึกอบรมในการทำคอลเซ็นเตอร์ ฝ่ายชักชวนคนมาทำงาน ฝ่ายการเงิน ฝ่ายจัดหาล่าม ฝ่ายควบคุมการทำงานและทำโทษ รวมทั้งฝ่ายปฏิบัติการโทรหลอกลวง ซึ่งผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงจากขบวนการนี้ ถูกชักชวนว่าจะให้ไปทำงานเป็นแอดมินเว็บพนันออนไลน์ในเมืองเล่าก์ก่าย เมียนมา แต่เมื่อไปถึงกลับถูกบังคับให้ทำงานคอลเซ็นเตอร์ และชักชวนลงทุน หากไม่ยอมทำงานจะถูกจับเรียกค่าไถ่จำนวนระหว่าง 2-7 แสนบาท หากไม่มีเงินค่าไถ่ก็จะถูกบังคับทำงานและทำร้ายร่างกายและกักขัง ก่อนที่ผู้เสียหายจะหาทางของความช่วยเหลือเพื่อกลับประเทศไทย

 

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า ปัจจุบันในส่วนของการประสานงานเพื่อช่วยเหลือคนไทยในพื้นที่พิพาทเมืองเล่าก์ก่าย เมียนมานั้น ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในการประสานงานกับทางการเมียนมาและทางการจีน ในการเร่งพาคนไทยที่ยังติดอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวกลับมาอย่างปลอดภัยโดยเร็วที่สุด โดยหลังจากที่มีการช่วยเหลือคนไทยเหล่านี้กลับมาแล้ว ก็จะนำตัวเข้ารับการดูแลและคัดแยกเหยื่อที่ทางรัฐจัดหาให้ในการดำเนินการตามกลไก NRM ซึ่งที่ผ่านมาได้คัดกรองผู้เสียหายออกมาได้แล้วจำนวนหนึ่ง รวมทั้งมีการจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับได้อีก 20 ราย

 

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจยังดำเนินการขยายผลดำเนินคดีกับขบวนการหลอกคนไทยไปบังคับทำงานคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งในกลุ่มแรกสามารถขยายผลออกหมายจับผู้ร่วมขบวนการแล้ว 10 ราย จับกุมแล้ว 4 ราย กลุ่มอื่นสามารถขยยายผลออกหมายจับผู้ร่วมขบวนการแล้ว 19 ราย จับกุมและอายัดตัวดำเนินคดีแล้ว 17 ราย ในส่วนของคนไทยที่ได้รับการช่วยเหลือกลับมาทั้งหมด ก็จะมีการขยายผลเช่นนี้ทั้งหมด เพื่อดำเนินคดีกับคนที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด รวมทั้งช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ตกเป็นเหยื่อจากการหลอกลวงดังกล่าว
 
ทั้งนี้ขอประชาสัมพันธ์ไปยังพี่น้องประชาชน กรณีการจะเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ขอให้มีการพิจารณาข้อมูลให้ถี่ถ้วน เน้นความปลอดภัยและถูกต้องตามกฎหมาย หากพบเบาะแสของขบวนการหลอกลวงคนไทยไปทำงานคอลเซ็นเตอร์ สามารถแจ้งเบาะแสได้ผ่านช่องทางสายด่วน 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

เพิ่มมูลค่าทางวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน โครงการสืบทอดภูมิปัญญาพื้นบ้าน

 

วันอังคารที่ 26 ธันวาคม  2566 เวลา 09.00 เป็นต้นไป ณ สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย สภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงรายบูรณาการร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงรายและเครือข่ายสภาวัฒนธรรมอำเภอ 18 อำเภอ จัดกิจกรรมภายใต้โครงการสืบทอดภูมิปัญญาพื้นบ้าน สู่การเพิ่มมูลค่าทางวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566

  โดยมี ผศ. ยิ่งศักดิ์ เพชรนิล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เป็นประธานกล่าวเปิดโครงการฯ  อาจารย์ ดร.อดิเทพ วงศ์ทอง ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย กล่าวต้อนรับ และ นางสลักจฤฎดิ์ ติยะไพรัช ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย กล่าวรายงาน

   โครงการสืบทอดภูมิปัญญาพื้นบ้าน สู่การเพิ่มมูลค่าทางวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน ประจำปีงบประมาณ 2566 สภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมจังหวัดเชียงราย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อดำเนินโครงการดังกล่าว มีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างองค์ความรู้ และกระตุ้นให้บุคคลในท้องถิ่นตลอดจนเด็กและเยาวชน ตระหนักถึงคุณค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยนำหลักคุณธรรมมาใช้ในการดำรงชีวิตบนพื้นฐานความพอเพียงได้ รวมถึงการอนุรักษ์ สืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ถูกต้องตามแบบฉบับให้คงอยู่สู่เด็ก เยาวชนและประชาชนตลอดไป เพื่อสร้างทัศนคติ ค่านิยม ให้บุคคลในท้องถิ่นเกิดความรักถิ่นฐาน หวงแหนมรดกทางวัฒนธรรม อันดีงามให้อยู่คู่สังคมไทย

 

มีกิจกรรมภายใต้โครงการฯ ประกอบด้วย

  1. การเสวนา “ภูมิปัญญาพื้นบ้าน สู่การเพิ่มมูลค่าทางวัฒนธรรม” ผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย

      1.1 พระครูปิยวรรณพิพัฒน์ ,ดร. ประธานคลังปัญญาจังหวัดเชียงราย เรื่อง แนวทางการบริหารจัดการคลังปัญญาผู้สูงอายุจังหวัดเชียงราย

      1.2 ร.ศ. มาลี หมวกกุล ประธานสาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ประยุกต์ มร.ชร. เรื่อง อาหารภูมิ อาหารถิ่น กับการยกระดับสู่สากล

      1.3 อาจารย์ ดร.อดิเทพ วงศ์ทอง ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มร.ชร. เรื่อง ประเพณีท้องถิ่นล้านนา

     1.4 นายอนุสรณ์ บุญเรือง ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรม สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มร.ชร. เรื่อง ความเชื่อ วรรณกรรมพื้นบ้านและภาษาอักขระล้านนา

      1.5 นายธันวา เหลี่ยมพันธุ์ รองประธานสภาวัฒนธรรมเชียงราย เรื่อง การส่งเสริม รักษา และต่อยอดมรดกภูมิปัญญาท้องถิ่น

     …ผู้ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.รณิดา ปิงเมือง ที่ปรึกษาอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย

  1. การแสดงมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ด้านการละเล่นพื้นบ้าน และศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว “การแสดงชุดจายเจิงหาญ”
  2. การขับซอพื้นบ้าน โดย นางบัวลอย โชติสิริพัชญ์ คนดีศรีเชียงราย สาขาศิลปะการแสดง ประจำปี 2566
  3. การสาธิตมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม จากเครือข่ายสภาวัฒนธรรมทั้ง 18 อำเภอ
  4. การสาธิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม (CPOT) และภูมิปัญญาพื้นบ้าน

ในการนี้ นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย ได้มอบหมายให้นักวิชาการวัฒนธรรม ผู้ประสานงานวัฒนธรรมอำเภอ และเจ้าหน้าที่มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ร่วมจัดกิจกรรมและอำนวยความสะดวกแก่เครือข่ายทางวัฒนธรรมและผู้มาร่วมงาน และการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สนง.วัฒนธรรม เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI TRAVEL

เปิด “สี่เผ่าชาวดอยหลวง” มหกรรมไม้ดอกอาเซียน เชียงราย

 

เมื่อวันจันทร์ที่ 25 ธันวาคม 2566 เวลา 18.00 น. นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย เปิดงานมหกรรมไม้ดอกอาเซียนเชียงรายโซนอำเภอ (อำเภอดอยหลวง) “สี่เผ่าชาวดอยหลวง” ณ หนองหางปง บ้านแม่บงใต้ หมู่ที่ 5 ตำบลปงน้อย อำเภอดอยหลวง จังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยนายชัยสิทธิ์ ชัยเนตร เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย นายประเสริฐ ชุ่มเมืองเย็น รองประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย นายสมเกียรติ กันธิพันธ์ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย อำเภอดอยหลวง เขต 1 นางนิตยา ยาละ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย อำเภอเวียงแก่น เขต 1 และหัวหน้าส่วนราชการ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ในการนี้มีนางสาวมินทิรา ภดาประสงค์ นายอำเภอดอยหลวงกล่าวต้อนรับนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงรายและคณะ พร้อมกันนี้นายภัคพณ รักษ์ธรรม ปลัดอำเภอหัวหน้ากลุ่มงานบริหารงานปกครอง ได้กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดงาน และนำหัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนันผู้ ใหญ่บ้าน ประชาชน อำเภอดอยหลวงร่วมให้การต้อนรับ

 
โดยงานมหกรรมไม้ดอกอาเซียนเชียงราย (โซนอำเภอดอยหลวง) “สี่เผ่าชาวดอยหลวง” จัดขึ้นระว่างวันที่ 25 ธันวาคม 2566 – 28 ธันวาคม 2566 ณ หนองหางปง บ้านแม่บงใต้ หมู่ที่ 5 ตำบลปงน้อย อำเภอดอยหลวง จังหวัดเชียงราย การจัดงานดังกล่าว เป็นการกระจายรายได้ไปสู่ชุมชน และเพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ในจังหวัดเชียงรายให้เป็นที่ รู้จักของนักท่องเที่ยวในการที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวจุดที่สวยงามของจังหวัดเชียงรายที่มีอยู่มากมาย อีกทั้งเป็นการ กระจายรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่ ที่จะมีรายได้จากการมาเที่ยวชมของนักท่องเที่ยว การให้บริการที่พัก ร้านอาหาร เป็นการกระจายรายได้ไปสู่ชุมชน
 
 
จากนั้น นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ร่วมลงนาม MOU เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงรายเพื่อยกระดับให้พื้นที่ในจังหวัดเชียงราย เป็นแหล่งท่องเที่ยวของภาคเหนือ สนองนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาล และรองรับแผนส่งเสริมการท่องเที่ยวตามยุทธศาสตร์จังหวัดเชียงราย รวมถึงเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการค้า กลุ่มเกษตรกร แสดงสินค้าและจำหน่ายผลผลิตต่างๆ ผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน ตลอดจนผลิตภัณฑ์แปรรูปสินค้าเกษตรในท้องถิ่น เป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชนรวมถึง สืบสาน อนุรักษ์ เผยแพร่ ศิลปวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงามของล้านนา และกลุ่มชาติพันธุ์ อีกด้วย
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : อบจ.เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI NEWS UPDATE

ผู้ว่าฯ เคาะกำหนดจัดงานพ่อขุนฯ และกาชาด ปี 67 “รำลึกอดีต ถึงปัจจุบัน ก้าวสู่อนาคต เมืองเชียงราย”

 

เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2566 นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการดำเนินงานพ่อขุนเม็งรายมหาราชและงานกาชาด ประจำปี 2567 ที่ห้องประชุมธรรมลังกา ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดเชียงราย โดยมี นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นางสุภาเพ็ญ ศิริมาตย์ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดเชียงราย นางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดเชียงราย หัวหน้าส่วนราชการ ทหาร ตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมในการกำหนดจัดงานพ่อขุนเม็งรายมหาราชและงานกาชาด ประจำปี 2567 ระหว่างวันศุกร์ที่ 26 มกราคม 2567 ถึงวันอาทิตย์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2567 รวม 10 วัน 10 คืน ณ ฝูงบิน 416 (สนามบินเก่า) อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย 

 

เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพ่อขุนเม็งรายมหาราช ที่ทรงสร้างเมืองเชียงราย เมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 1805 รวมถึงเป็นการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวล้านนา และนำเสนอผลงานความก้าวหน้าทางวิชาการของทุกภาคส่วน การออกร้านนิทรรศการของส่วนราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ สำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัด สถาบันการศึกษา สมาคมและมูลนิธิ การแสดงมหรสพ กีฬา และการละเล่นบันเทิงต่างๆ ของภาคเอกชน และเพื่อจัดหารายได้สำหรับใช้ในกิจการที่ไม่มีงบประมาณสนับสนุนและงานสาธารณกุศลของจังหวัดเชียงราย รวมทั้งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงราย ที่ประชุมได้แจ้งประกาศจังหวัดเชียงราย เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการจัดงานพ่อขุนเม็งรายมหาราชและงานกาชาด ประจำปี 2567 จำนวน 12 กองงาน เพื่อให้การดำเนินการจัดงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เน้นย้ำการให้ความสำคัญความเป็นมาของจังหวัดเชียงราย ให้ลูกหลานชาวเชียงรายได้รับรู้ประวัติศาสตร์เมืองเชียงรายจากอดีตถึงปัจจุบัน ก้าวสู่อนาคตที่รุ่งเรือง และขอให้ประชาชนชาวเชียงรายได้มีส่วนร่วมในงานฉลองครบรอบ 762 ปี เมืองเชียงราย ด้วย

 

 

ทั้งนี้ จะมีพิธีสักการะฯ และพิธีเปิดงานพ่อขุนเม็งรายมหาราชและงานกาชาด ประจำปี 2567 ในวันที่ 26 มกราคม 2567 เวลา 07.30 น. พิธีถวายสักการะพระบรมอัฐิพ่อขุนเม็งรายมหาราช ณ วัดดอยงำเมือง 
 
เวลา 08.30 น. พิธีบวงสรวง สืบชะตา และทำบุญเมืองเชียงราย ณ อนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราช (ห้าแยกพ่อขุน) จัดพิธีพร้อมกัน 6 อำเภอ (อำเภอแม่สาย อำเภอเชียงแสน อำเภอเชียงของ อำเภอเทิง อำเภอพาน และอำเภอแม่สรวย) เสร็จแล้ว ต่อด้วยการฟ้อนเมืองไหว้สาปูจาพญามังราย กว่า 1,000 คน ฉลองครบรอบ 762 ปี เมืองเชียงราย 
 
เวลา 14.30 น. พิธีไหว้สาพญาเม็งราย จากอำภอต่างๆ ทั้ง 18 อำเภอ ณ อนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราช 
 
เวลา 16.00 น. พิธีกล่าวเปิดงานเฉลิมฉลองครบรอบ 762 ปี เมืองเชียงราย และตีฆ้องชัยเฉลิมฉลองความเจริญรุ่งเรืองเมืองเชียงราย
 
 
จากนั้นขบวนแห่ 12 ขบวน จากขบวนวงโยธวาทิต ขบวนผู้บริหารจังหวัดเชียงราย ขบวนองค์การปริหารส่วนจังวัดเชียงราย ขบวนเทศบาลนครเชีองราย ขบวนมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และขบวนกลุ่มอำเภอ 8 กลุ่มอำเภอ เริ่มเคลื่อนขบวนจากนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราช ไปตามเส้นทางผ่านหน้าสวนตุงและโคมฯ เลี้ยวซ้ายแยกศาลเข้าสู่แยกประตูสลี เลี้ยวขวาเข้าสู่หอนาฬิกาเฉลิมพระเกียรติ และเลี้ยวช้ายแยกบรรพปราการ (แยกวัดมิ่งเมือง) มุ่งหน้าสู่สถานที่จัดงานฝูงบิน 416 (สนามบินเก่า) ระยะทางประมาณ 3.2 กิโลเมตร ตลอดการเคลื่อนขบวนจะมีการแสดง 3 จุด 
 
จุดที่ 1 บริเวณหน้าอนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราช 
 
จุดที่ 2 ระหว่างทาง บริเวณหอนาฬิกาเฉลิมพระเกียรติ 
 
จุดที่ 3 บริเวณทางเข้าสถานที่จัดงาน ฝูงบิน 416 (สนามบินเก่า) 
 
เวลา 18.30. น. พิธีเปิดงานพ่อขุนเม็งรายมหาราช และงานกาชาด ประจำปี 2567 ณ เวทีกลาง 
 
เวลา 19.00 น. ประธานในพิธี ประกอบพิธีเฉลิมฉลองครบรอบ 762 ปี เมืองเชียงราย โดยการกดปุ่มเปิดไฟ เพื่อให้ไฟสว่างไสวทั่วทุกมุมเมืองและสถานที่สำคัญของ จังหวัดเชียงราย พร้อมกันอีก 2 จุด โดยนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย กดปุ่มเปิดไฟเฉลิมฉลองครบรอบ 762 ปี เมืองเชียงราย ณ บริเวณวัดร่องเสือเต้น นายกเทศมนตรีนครเชียงราย กดปุ่มเปิดไฟเฉลิมฉลองครบรอบ 762 ปี เมืองเชียงราย ณ บริเวณสวนตุงและโคม เทศบาลนครเชียงราย
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

พิธีอัญเชิญพระอุปคุตขึ้นจากลำน้ำกกและขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนร่วมตักบาตรเที่ยงคืน

 
เมื่อเวลา 15.00 น. วันอังคารที่ 26 ธันวาคม 2566 เทศบาลนครเชียงรายโดย ดร.วันชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย คณะผู้บริหาร สมาชิกสภาเทศบาลนครเชียงราย พ.จ.อ.อัษฎางค์ วิเศษวงศ์ษา ปลัดเทศบาลนครเชียงราย ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ เทศบาลนครเชียงราย ร่วมกับจังหวัดเชียงรายและวัดมิ่งเมือง ทำพิธีอัญเชิญพระอุปคุตขึ้นจากลำน้ำกก ขึ้นประดิษฐานยังราชรถบุษบก โดยพระครูโสภณ ศิลปาคมเจ้าอาวาสวัดมิ่งเมือง เจ้าคณะตำบลเวียงเขต 1 สวนบริเวณสวนสาธารณะแม่ฟ้าหลวง ให้พี่น้องประชาชนได้มีโอกาสทำบุญกราบไหว้สักการะ ซึ่งเชื่อกันว่าหากท่านได้ทำบุญตักบาตรพระอุปคุตแล้ว จะเกิดโชคลาภและความเป็นสิริมงคลยิ่งแก่ชีวิต
 
ขอถือโอกาสเชิญชวนทุกท่านได้มาร่วมพิธีตักบาตรในวันเป็งปุ๊ด และกราบไหว้สักการะพระอุปคุต บริเวณหน้าวัดมิ่งเมืองไปจนถึงหอนาฬิกาเชียงราย ตั้งแต่เวลา 23.39 น.เป็นต้นไป ร่วมพิธีตักบาตรข้าวสาร อาหารแห้ง แด่พระภิกษุสงฆ์ สามเณร บริเวณหน้าวัดมิ่งเมือง ไปตามถนนบรรพปราการ จนถึงหอนาฬิกานครเชียงราย
 
ตามความเชื่อของชาวล้านนา มีความเชื่อว่าองค์พระอุปคุตจะขึ้นมาโปรดสัตว์ก่อนเวลารุ่งเช้า ในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ ตรงกับวันพุธ หลังได้เสด็จลงไปจำศีลภาวนาอยู่ใต้สะดือทะเลในรอบหนึ่งปี หากพุทธศาสนิกชน ประชาชนทั่วไป ได้มีโอกาสทำบุญกราบไหว้สักการะพระอุปคุต และได้ทำบุญตักบาตรพระอุปคุตแล้ว จะเกิดโชคลาภและความเป็นสิริมงคลยิ่งแก่ชีวิตของตนและครอบครัว
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : เทศบาลนครเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI TOP STORIES

ดราม่าค่าที่ “งานพ่อขุนฯ” พ่อค้าแม่ค้าหวั่นแพง ผู้จัดฯ ยัน! ค่าที่ถูกกว่าครั้งที่แล้วแน่นอน

 

ผู้ค้ารายย่อยบางรายในจังหวัดเชียงราย เผยเกิดกระแสดราม่าค่าที่ จากกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าที่ต้องการจับจองขายของที่งานพ่อขุนเม็งรายมหาราชและงานกาชาด ประจำปี 2567 รวม 10 วัน 10 คืน ณ สนามบินฝูงบิน 416
.
เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2566 มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ซึ่งมีอาชีพค้าขาย จะขายของตามงานเทศกาลต่าง ๆ ในจังหวัดเชียงราย โดยในโพสต์ระบุว่า “งานพ่อขุนปี 67 ตอนนี้ตกลงได้จัดงานแล้ว แต่อยากทราบว่าใครได้มาจัดงานครับ ในฐานะพ่อค้าในจังหวัดอยากให้ทาง จว.พิจารณาผู้ที่มาจัดงาน เล็งเห็นและให้โอกาสพ่อค้าแม่ค้าในจังหวัดที่ราคาไม่สูง เนื่องจากยุคเศรษฐกิจแบบนี้ ผมในฐานะคนค้าขายซึ่งเป็นคนเชียงราย อยากให้ จว.พิจารณาให้ถี่ถ้วนเล็งเห็นความเดือดร้อนของพ่อค้าแม่ค้า ไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้จัดงาน เพราะการลงทุนในแต่ละครั้งมีความเสี่ยง ถ้าค่าล็อกแพงไป ทำให้ผู้ประกอบการร้านค้ารายย่อยในจังหวัดเชียงรายที่เคยค้าขายกันมาทุก ๆ ปีได้รับความเดือดร้อนกันเป็นจำนวนมากเนื่องจากราคาค่าที่สูงเกินความเป็นจริงกว่าทุก ๆ ปี ทางกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าชาวเชียงรายจึงขอความเมตตากับทางจังหวัดได้โปรดพิจารณาคัดเลือกทีมงานผู้จัดที่มีคุณธรรมและเก็บค่าเช่าที่แบบมีเมตตาธรรม”
.
ทั้งนี้ หลังจากโพสต์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไปก็มีผู้ใช้เฟซบุ๊กเข้ามาคอมเมนต์แสดงความคิดเห็นกันเป็นจำนวนมาก อาทิ “จัดงานผูกขาดรายเดิม ๆ ค่าล็อกเพิ่มขึ้นทุกปีครับ”, “เขาบ่าสนใจหรอก ได้เงินประมูลงานไปแล้วกะตัวใครตัวมันละ มันบ่าเหมือนสมัยก่อน”, “ตอนนี้ผมยังไม่รู้ราคาค่าล็อกเลยพี่แต่ถ้าแพงเกินไปก็ไม่ไหวในฐานะคนเชียงราย”
.
ล่าสุดวันนี้ (24 ธ.ค. 66) ทีมข่าว ได้ลงพื้นที่ไปสำรวจแผงขายของตามเทศกาลต่าง ๆ ในเขตเทศบาลเมืองเชียงราย ก็ยังมีพ่อค้าแม่ค้าพูดถึงเรื่องนี้กันเป็นจำนวนมาก โดยทีมข่าวได้มีโอกาสสัมภาษณ์ “นายเอ” (นามสมมติ) หนึ่งในพ่อค้าที่กำลังตัดสินใจจะลงขายในงานพ่อขุนเม็งรายมหาราชและงานกาชาด ประจำปี 2567 ซึ่งปกติแล้วนายเอจะขายพวกของทอด และจะขายเฉพาะงานเทศกาลเท่านั้น เพราะปกติทำงานประจำอยู่แล้ว

[บทสัมภาษณ์ระหว่างทีมข่าวกับนายเอ]

ทีมข่าว : การขายของในงานฯ ปีที่ผ่าน ๆ มาเป็นอย่างไรบ้าง?

นายเอ : คนจัดงานฯ ครั้งก่อนถ้ามีปัญหาตรงไหน อะไรที่แพงไป หรือว่าเศรษฐกิจไม่ดี ก็จะรับฟังทุกปัญหา และอะลุ่มอล่วยเสมอ หากเราได้ที่ขายของเล็กไปหรือใหญ่ไปก็สามารถที่จะขอคุยกับเขาได้ตลอด

ทีมข่าว : ครั้งที่แล้วมีคนพูดถึงเรื่องค่าที่แพง หรือมีนายหน้ามาเหมาที่ไปขาย ตามที่มีพ่อค้าแม่ค้าพูด ๆ ถึงกันหรือไม่?

นายเอ : ถ้าหมายถึงมีคนเหมาแล้วไปขายต่อแพง ๆ ไม่แน่ใจเหมือนกันนะครับ เพราะว่าเมื่อรอบที่แล้วผู้จัดงานฯ ที่ผ่านมาคือจะมาตั้งโต๊ะที่งานเลย ที่สนามบินเก่า ไม่ใช่แค่วันเดียวนะ ตั้งเป็นเกือบเดือนเราก็ขับรถไปที่สนามบินเก่าเพื่อที่จะไปคุยดูว่าจะได้ที่ตรงไหนได้ จะเอากี่เมตร ขนาดใหญ่เท่าไหร่ ราคาเท่าไหร่ครับ เมื่อครั้งก่อนผู้จัดจะรู้อยู่แล้วว่าร้านใครอยู่ตรงไหนเพราะจัดทุก ๆ ปี พ่อค้าแม่ค้าก็จะเป็นการโทรไปจองบอกแค่ชื่อร้าน เขาก็มีข้อมูลเก็บไว้ แต่ถ้าเป็นเจ้าใหม่ก็ต้องไปเสียบพื้นที่ว่าว่างไหม ใครอยากจะขายของมีพื้นที่ว่างอยู่ ยังไม่มีเจ้าประจําก็เข้าไปติดต่ออะไรประมาณนั้น ส่วนครั้งนี้ส่งข่าวมาทางไลน์กลุ่ม แล้วก็คือมีคนไปเดินแจกใบปลิวตามงาน ให้โทรจองล็อกแล้วก็ขอเก็บค่าล็อก

ทีมข่าว : ของงานรอบที่แล้ว ค่าที่เท่าไหร่?

นายเอ : มันอยู่ที่ 10,000 – 20,000 บาทนะ มันแล้วแต่ว่าได้ตรงไหน หมายถึงว่าถ้าได้ที่ลานขายเครื่องดื่มมันก็แพง ก็สแกนหน้างานเอาครับ ดูหน้างานอีกทีนึงครับ ทางผู้จัดเดิมก็ชัดเจน เขาก็จะบวกเพิ่มหรือลดลงก็ตามนั้นไป เขาก็มีข้อมูลหมดทุกอย่าง

ทีมข่าว : ที่มีคนโทรไปถามเรื่องค่าที่ตามใบปลิวของงานในครั้งนี้ ราคาเท่าไร?

นายเอ : ก็ได้ยินข่าวมาว่าค่าล็อกประมาณ 40,000 ถึง 50,000 บาท เลยคิดว่าค่อนข้างแพง ทีนี้ส่วนตัวยังไม่ได้ตัดสินใจที่จะเอา เพราะราคาล็อกแพงขนาดนั้น ผมไม่ไหว แต่ก็คือล่าสุดที่ผมไปเจอคนที่เขาขายที่งานนี่มานานแล้วเป็น10-20 ปี เขาก็ให้ฟังว่าปีนี้ค่าที่แพง เขาก็เลยยังไม่ตัดสินใจที่จะเอาหรือไม่เอา ทั้ง ๆ ที่เขาขายมา 20 กว่าปีแล้ว เป็นร้านใหญ่เป็นของคนเชียงราย

ทีมข่าว : มีสิ่งที่ต้องการพูด หรือมีข้อเสนอแนะอะไรไหม?

นายเอ : ส่วนตัวไม่มีติดใจอะไร ก็คืออยากให้คิดเรื่องใจเขาใจเรา ว่าปีที่ผ่านมามันเป็นยังไงแล้วถ้าปีนี้เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ค่าที่แรงกว่าเดิม พ่อค้าแม่ค้าคงเหนื่อย ทํามาค้าขายยาก ทุกคนก็ขายเพื่อหวังกําไรอยู่แล้ว แต่ว่าการขายเพื่อที่จะให้ได้กําไรมันต้องดูต้นทุนด้วยไง แต่ถ้าล็อก 40,000 บาท ซื้อของอีก 20,000 บาท และมีอย่างอื่นอีก ยังไม่ได้ทําอะไรเลย แต่ตังค์เสียไปเป็นแสนประมาณนั้น มันก็ใจเขาใจเรา ผมก็เลยยังไม่ตัดสินใจที่จะเอา

วันก่อนก็เจอพี่ชายที่ค้าขายด้วยกัน แกก็เล่าให้ฟังว่าค่าล็อกแพงมากแล้วก็ครั้งนี้การจัดมันอาจจะแออัดกว่าเดิมที่มีเห็นผังที่เค้าเอามาแจก ซึ่งเราก็เข้าใจระบบการจัดการ ก็คือมีทั้งส่วนราชการทั้งมูลนิธิ แต่ปีนี้ในผังไม่ค่อยเห็นเยอะเท่าไหร่เพราะมันเหลือครึ่งเดียว ยังไงก็ต้องมีคนไปขายของเนาะ แต่ต้นทุนที่มันแพงขึ้นกว่าเดิมแล้ว เราต้องการการบริหารจัดการให้พ่อค้าแม่ค้าได้ขายของดีเหมือนเดิมแค่นั้นเอง คือตอนนี้รู้สึกว่าค่าล็อกแพงครับ

สุดท้ายตอนนี้เรายังไม่รู้นะว่าการที่เขาเปิดราคามาที่ผมได้ยินมาเนาะ ที่ราคา 40,000 – 50,000 งานครั้งที่แล้วร้านค้าไม่ได้จํากัดเวลาว่าหลัง 6 โมงหรือทุ่มนึงเนี่ยเก็บบัตร แต่ต้องมีตัวตนที่แท้จริงว่าขายอะไรประมาณนี้ ครั้งนี้ไม่รู้ว่าเขาจะจํากัดเวลาใหม่ คืออารมณ์ประมาณแบบพ่อค้าแม่ค้าต้องอยู่ภายในงานหรือภายในร้านก่อน 5 โมงเย็น 6 โมงบางร้านมันต้องวิ่งออกไปซื้อของมาเพิ่มเติมหรือบางร้านนู่นนี่นั่นขาด เขาต้องออกไปมันจะยุ่งยากไหมไม่รู้ แล้วเข้ามาต้องเสียค่าบัตรหรือไม่

ตอนนี้คือหนึ่งมีการแจกใบปลิว แต่ผู้จัดคือคนไหน ตอนนี้คือเขายังไม่ชัวร์ใช่ไหม ตอนนี้พ่อค้าแม่ค้าเขาก็กลัวเหมือนกันที่จะเอาหรือไม่เอาเพราะว่ามันก็เปลี่ยนผู้จัดเนาะ และค่าล็อกที่อาจจะแพงขึ้นกว่าเดิม คำถามก็คือ คนที่ขายอยู่แล้ว 20 กว่าปีเนี่ยเขาก็จะไม่ได้ที่เดิมหรือได้ที่เดิมเขาก็ยังไม่รู้อะ เขาก็เลยไม่กล้าที่จะจอง ผมอยากให้คนในพื้นที่จังหวัดเชียงรายที่เคยขายก่อนเนี่ย ได้มีที่ขายเดิมอะไรประมาณนี้ครับ โดยเฉพาะคนในจังหวัดนั้นให้มีสิทธิ์เลือกก่อน เพราะนี่มันเป็นงานของจังหวัดไม่ใช่เป็นงานที่อื่น

ต่อมาทางทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์ ได้ลองติดต่อไปยังเบอร์โทรศัพท์บนใบปลิวดังกล่าวจากข้อมูลที่ได้รับแจ้งมา โดยใบปลิวได้ลงชื่อผู้ติดต่อจองล็อกว่าคือคุณดำ เบื้องต้นทราบว่าเป็นผู้จัดการเรื่องการจองล็อกขายของในงานดังกล่าว ทางทีมข่าวจึงได้ขอสัมภาษณ์เพื่อสอบถามถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับค่าเช่าพื้นที่ ว่ามีการตั้งเกินราคาตามคำกล่าวอ้างของกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าหรือไม่

[บทสัมภาษณ์ระหว่างทีมข่าวกับคุณดำ]

ทีมข่าว : ค่าที่ในงานพ่อขุนเม็งรายมหาราช และงานกาชาด ประจำปี 2567 ครั้งนี้ 40,000 ถึง 50,000 บาท ราคานี้จริงหรือไม่?

คุณดำ : เป็นไปไม่ได้ แล้วใครจะไปจอง 50,000 บาท พูดเป็นนิยายนะคะ เป็นไปไม่ได้ค่ะเพราะเราไม่เคยจัดงานแพงขนาดนั้น มันคือ 20,000-30,000 กว่า แต่ต้องวัดเป็นเมตร รอบนี้ของเรายังถูกกว่าที่ผ่าน ๆ มาอีก ตอนนี้เท่าที่สรุปเหมือนว่าเมตรนึงก็อยู่ที่ประมาณ 4,500 บาท นี่คือขั้นราคาสูงนะ ขั้นต่ําก็มีนะเพราะมันมีเป็นโซน ๆ นะคะ แต่ละโซน ราคานี้มันอยู่ที่สาย สาย A สาย B มันอยู่ที่เลือก คนต้องการพื้นที่สวยหน่อยตั้งร้านขายดีการเข้างานดี มันก็สวย มันก็แพงอยู่แล้วไม่ว่าที่ไหน

ทีมข่าว : แล้วครั้งที่ผ่านมา ราคาอยู่ที่เท่าไหร่?

คุณดำ : เมื่อปีที่แล้ว เมตรนึงก็อยู่ที่ 5,000 6,000 บาท 7,000 บาทก็มีแต่มันขึ้นอยู่กับโซน สูงสุด 8,000 บาท แต่ปีนี้เริ่มที่ 4,500 ค่ะ สูงสุดไม่เกิน 5,000 บาท

ทีมข่าว : แล้วที่บอกว่าที่ละร้านค้าแจ้งว่าราคาแพง คือซื้อไปปล่อยต่อให้ มันแพงจริงหรือไม่?

คุณดำ : มีค่ะ มีส่วนค่ะ เช่นมีมุมแบบสวย แล้วรู้อยู่แล้วว่าตัวนี้มีร้านค้าในมืออยู่แล้ว เขาก็ขอซื้อเลย 20 ล็อก 30 ล็อกแล้วก็เอาไปบวก แต่ไม่น่าจะถึง 40,000 กว่า ไม่น่าจะมีนะคะ มันแรงเกินไป มันก็เป็นไปไม่ได้ เชียงรายเราก็รู้อยู่มันไม่ใช่ว่าที่แพงแล้วคุณจะต้องแย่งกันเข้า มันเป็นไปไม่ได้ค่าที่แพง เขาไม่ลงก็มี

ทีมข่าว : วิธีการซื้อพื้นที่ต้องทำอย่างไร คำนวนอย่างไร?

คุณดำ : คือล็อกนึงจะคิดเป็นเมตร เช่น 1 เมตร แล้วตลอดงานก็คืออย่างครั้งนี้มี 10 วัน ก็ตกวันละ 450 บาท คิดมาละ 10 วัน ก็คือ 4,500 บาท มันต้องคิดอย่างนี้ แล้วก็มีค่าไฟก็ดวงและ 30 บาท ต่อวัน ต่อดวง

ทีมข่าว : แล้วปีนี้ไม่มาตั้งโต๊ะ แต่เปลี่ยนเป็นแจกใบปลิวให้โทรศัพท์หาแทน เกิดจากอะไร ติดปัญหาส่วนไหน?

คุณดำ : เรากําลังเตรียมงานเนาะ ปีนี้เนี่ยเราพยายามจัดงานให้ไม่เหมือนที่ผ่าน ๆ มา เพราะว่าที่ผ่านมาการเดินเข้างานมันไกลมาก แล้วอีกอย่างงานก็เหมือนเดินไปโซนหัวถึงหาง นี่มันเป็นหลายกิโลเลยนะ แล้วอีกอย่างร้านค้ามันก็กระจาย ตอนนี้เราทํายังไงก็ได้ ให้คนที่มางานเดินวนอยู่เที่ยวในงานจะได้ค้าขายกันไปให้ทั่ว ถ้ามันกว้างความยาวมันมากไปมันก็เหมือนจะกระจายไป คนเดินที่อยู่ในล็อกบางทีก็เป็นแค่เมตรดีกว่าค่ะ เมตรมันถูกกว่า

ถ้าเทียบค่าที่กับภาคกลาง ภาคอีสาน ของเราภาคเหนือถูกที่สุดที่อื่นมาเป็นแสน ๆ นะ สมัยก่อนพี่วิ่งทีงาน 9 วัน 10 วันเนี่ยเสียค่าที่ 70,000 บาทถึงแสนนะ ถ้าพูดถึงทางเหนือเราเนี่ยมันก็ได้ประมาณขนาดนี้เลย แพงกว่านี้เป็นไปไม่ได้แล้วค่ะ ส่วนงานนี้พ่อค้าแม่ค้าคนไหนที่จะจอง ต้องบอกว่าเดี๋ยวรอผังก่อน รอผังงานมาก่อนว่าเราจะจัดโซนไหน แล้วโซนไหนราคาเท่าไหร่

ทีมข่าว : เป็นไปได้หรือไม่ที่มีทีมของคุณดำเอง ไปปล่อยราคาล็อกแพง?

คุณดำ : พี่เป็นคนเชียงราย ใครที่เป็นคนเชียงรายลงกับพี่ถูกกว่า เราเป็นคนในท้องถิ่น ดูแลกันเองอยู่แล้ว แล้วอีกอย่างร้านค้าก็รู้อยู่แล้วว่าที่ใครที่มัน แต่ถามว่ามีไหม มันก็มีคนที่ตัดเอาโซนไปปล่อย รู้อยู่แล้วว่าข้างหน้าเนี่ย 30 ล็อกเนี่ย มีคนต้องการอยู่ เอาเงินสดไปตัดไปจองก่อนมันก็มีอยู่ แต่เราก็ไม่ไปยุ่งมันขึ้นอยู่กับการสะดวกใจของร้านค้าที่จะซื้อราคานั้น

แต่ไม่ต้องกลัวนะ คนเชียงรายจองที่กับพี่ไม่มีแพง เราไม่ให้คนเชียงรายต้องมาเสียเปรียบคนอื่น หรือต้องให้คนอื่นมาว่าบ้านเมืองทําไมขายกันเองทำไมแพง อะไรแบบนี้ไม่มีแน่ ราคาคนเชียงรายราคาพิเศษ ซึ่งผู้จัดก็ย้ำกับพี่บอกว่าไม่เป็นไร การทําปีนี้คืนกําไรให้ลูกค้าไปเลย

ทีมข่าว : แต่ถูกกว่าปีก่อนแน่ ๆ ใช่ไหม?

คุณดำ : แน่นอนคอนเฟิร์ม ส่วนคนที่จะซื้อราคาที่มีคนตัดล็อกไป ก็ขึ้นอยู่กับความพอใจตกลงกันเองเขาก็ต้องยอม ก็ถ้าคุณเป็นคนที่อื่นจะกล้าซื้อราคาล็อก 40,000 บาทกว่า

ยิ่งปีนี้ลดวันกว่าปีที่แล้วไปวันหนึ่ง แล้วเราจะไปเอาแพงกว่า มันเป็นไปได้ยังไง เป็นไปไม่ได้หรอกค่ะ ใครสนใจจะจองล็อกติดต่อพี่ดำได้เลย อยากจะเข้ามาค้าขายติดต่อพี่ดําได้ คนเชียงรายต้องมีสิทธิ์ได้ลง ค่าที่ต้องไม่แพง เรื่องโซนเดี๋ยวมาว่ากันอีกที เพราะต้องรอผู้ใหญ่สรุป
.
และสำหรับใครที่สนใจติดต่อจองพื้นที่กับคุณดำในงานพ่อขุนเม็งรายมหาราช และงานกาชาด ประจำปี 2567 สามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 0891795458 (คุณดำ) โดยทางทีมข่าวได้ทำการขออนุญาตลงเบอร์โทรศัพท์ในบทสัมภาษณ์เรียบร้อยแล้ว เพื่อให้พ่อค้าแม่ค้าชาวเชียงรายทุกท่านได้จองล็อกในราคาพิเศษ อย่างที่คุณดำแจ้งไว้ในตอนต้น

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

กลุ่มชาติพันธุ์ 500 ครอบครัว แสดงตนเป็นพุทธมามกะ วัดพระธาตุดอยตุง

 
วันที่ 24 ธันวาคม 2566 ที่พระบรมธาตุเจ้าดอยตุง อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย พระเทพเวที เจ้าคณะภาค 6 พระอุดมบัณฑิต รองเจ้าคณะภาค 6 พระพุทธิญาณมุนี เจ้าคณะจังหวัดเชียงราย พระพุทธิวงศ์วิวัฒน์ รักษาการเจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยตุง ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดเชียงราย และ คณะสงฆ์จังหวัดเชียงราย ประกอบพิธี การแสดงตนเป็นพุทธมามกะ (ประกาศตนว่าเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา) ของกลุ่มชาติพันธุ์ 500 ครอบครัว ซึ่งอยู่ในพื้นที่ อำเภอแม่ฟ้าหลวง และ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
 
โดยพิธีเริ่มจากขบวนแห่ พุทธมามกะชาติพันธุ์ อัญเชิญพระพุทธรูป 500 องค์ จากการสมโภชพระพุทธมงคลธรรม โดยมี นายทชัย และ นางปุณณกา รัตนะฉัตตา เป็นประธานอุปถัมภ์ จากนั้นแห่พระพุทธรูป “มงคลธรรมบพิตร” ไปยังพระบรมธาตุ เจ้าดอยตุง เวียนรอบพระบรมธาตุฯ 3 รอบ ก่อนเริ่มประกอบพิธี ในการถวายพระพุทธรูป 500 องค์ ให้คณะสงฆ์ และคณะสงฆ์ ได้มอบ พระพุทธรูป “มงคลธรรมบพิตร” ให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ 500 ครอบครัว เพื่อนำไปกราบไหว้บูชาที่บ้าน
พระเทพเวที เจ้าคณะภาค 6 กล่าวว่า การแสดงตนเป็นพุทธมามกะ หรือ ประกาศตนว่าเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา ของกลุ่มชาติพันธุ์ในครั้งนี้ ถือว่าคณะสงฆ์จังหวัดเชียงราย ได้เผยแพร่พระพุทธศาสนาได้อย่างดีเยี่ยม ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์เลื่อมใสในคำสอนของพระพุทธเจ้า และได้เข้ามานับถือศาสนาพุทธ
 
ซึ่งทุกคนจะต้องปฏิบัติตามหลักศาสนา และปฏิบัติตัวตามศีล 5 ให้ได้มากที่สุด หากติดขัดในเรื่องใด ก็สามารถปรึกษาคณะสงฆ์ได้ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีอย่างมาก ที่ทุกคนได้เผยแพร่พระพุทธศาสนาให้กว้างขึ้น ทั้งนี้ก็เช่นกัน พระสงฆ์ก็จะต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้ชาวพุทธเช่นกัน ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ และนำคำสอนมาเผยแพร่ต่อไปได้อีก
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News