Categories
NEWS UPDATE

รัฐบาลเชิญชวนคนไทย ลด ละ เลิกเหล้าเข้าพรรษา สร้างภูมิคุ้มกันร่างกาย

วันที่ 31 กรกฎาคม 2566 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า  เนื่องด้วยวันเข้าพรรษาของทุกปี เป็นวันงดดื่มสุราแห่งชาติ ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 2 ส.ค. 66 กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคประชาสังคมและเครือข่ายงดเหล้า จัดกิจกรรมเพื่อรณรงค์ให้คนไทย ลด ละ เลิกการดื่มแอลกอฮอล์ ภายใต้คำขวัญ “ไกลเหล้า ไกลโรค ไกลอุบัติเหตุ”
 
ในโอกาสนี้ รัฐบาลจึงขอเชิญคนไทยทุกคนร่วมลด ละ เลิก เหล้า หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดตลอดเทศกาลเข้าพรรษาที่จะมาถึง ให้ช่วงเวลานี้เป็นจุดเริ่มต้นในการดูแลสุขภาพ ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคร้ายต่างๆ  ซึ่งข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ระบุว่าทุกปีทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากพิษของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ประมาณ 3 ล้านคน และเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมากกว่า 230 ชนิด  นอกจากนี้ ยังช่วยลดโอกาสที่เกิดความสูญเสียกับครอบครัวและสังคมโดยรวมจากอุบัติเหตุ ที่นำมาซึ่งการบาดเจ็บ พิการ หรือเสียชีวิตก่อนวัยอันควรซึ่งไม่สามารถประเมินเป็นมูลค่าความเสียหายได้
 
 น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า การลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังช่วยลดรายจ่ายภาคครัวเรือนได้มาก ซึ่งข้อมูลจากศูนย์วิจัยปัญหาสุรา ด้านพฤติกรรมการดื่มสุราของประชากรไทย ปี 65 ระบุว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แนวโน้มค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 64 เหล่านักดื่มต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดื่มเพิ่มขึ้นจากในปี 60 เกือบ 2 เท่า โดยผู้ดื่มหนักเป็นประจำ มีค่าใช้จ่ายการดื่มสุราเฉลี่ยสูงถึง 3,722 บาทต่อเดือน
 
ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลได้มีแนวนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้มีความสมดุลระหว่างมิติทางเศรษฐกิจ และมิติของสังคม โดยมิติทางเศรษฐกิจนั้นได้มีกฎกระทรวงที่ลดข้อจำกัดทางกฎระเบียบการอนุญาตให้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่เดือนพ.ย.65 เพื่อประโยชน์ในการรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่น และลดการผูกขาดทางการตลาด แต่ขณะเดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้มีการขับเคลื่อนให้มีการบังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 เพื่อจำกัดไม่ให้กิจกรรมที่มาจากการแข่งขันทางธุรกิจกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมการดื่มที่มากขึ้น
 
ตลอดจนขับเคลื่อนการรณรงค์เพื่อสร้างความรอบรู้ผลกระทบต่อสุขภาพที่มาจากการดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งทางตรงและทางอ้อมให้ประชาชนอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่ต้องเน้นการป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ เช่น ควบคุมจุดจำหน่าย ความหนาแน่นของร้านค้า การกำหนดโซนนิ่ง เป็นต้น

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักนายกรัฐมนตรี

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
FEATURED NEWS

รัฐบาลเร่งจ่ายเยียวยา-ฟื้นฟูพื้นที่ผู้เสียหายพลุระเบิดที่นราธิวาส

วันที่ 31 กรกฎาคม 2566 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2566 เกิดเหตุโกดังดอกไม้ไฟ เก็บพลุระเบิดกลางตลาดมูโนะ ในพื้นที่
ตำบลมูโนะ อาเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ และบ้านเรือนประชาชนได้รับ ความเสียหายเป็นจำนวนมาก รัฐบาลนำโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้ความช่วยเหลือดูแลพี่น้องประชาชนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนอย่างเต็มที่ และทั่วถึงครบถ้วน จากรายงานสรุปยอดรวมล่าสุด (30 ก.ค.66 ) มีผู้เสียชีวิต จำนวน 12 ราย ผู้ได้รับบาดเจ็บ จำนวน 121 ราย อาการหนัก 1 ราย อาการปานกลาง 9 ราย กลับบ้านได้ 101 ราย พักอาศัยที่ศูนย์พักพิงผู้ประสบภัย ศูนย์กีฬา อบต.มูโนะ จำนวน 10 ราย และมีผู้ลงทะเบียนเพื่อขอรับความช่วยเหลือแล้วจำนวน 365 ราย
 
ส่วนเรื่องเร่งด่วนที่ นายกรัฐมนตรีได้กำชับไปก่อนหน้านี้ให้เร่งสำรวจความเสียหาย นางสาวรัชดา กล่าวว่า มีการจัดชุดเจ้าหน้าที่ช่าง ผู้นำในพื้นที่ เจ้าหน้าที่อบต. แบ่งเป็นเจ็ดชุด ลงตรวจสอบข้อมูลบ้านเรือนเสียหาย และจะนำไปสู่ขั้นตอนการทำเรื่องเบิกจ่ายเงินเยียวยาต่อไป ซึ่งเบื้องต้นจะมาจากสองส่วนคือ กองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี และจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และท่านนายกฯยังพิจารณาการให้ความช่วยเหลือด้านอื่นๆเพื่อบรรเทาทุกข์ของประชาชนมากที่สุด รวมถึงติดตามแนวทางการฟื้นฟูสภาพพื้นที่ด้วย
 
รายละเอียดการให้การช่วยเหลือจากกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรีแบ่งออก ดังนี้
 
กรณีเสียชีวิต
ค่าจัดการศพ รายละ 50,000 บาท
เงินทุนเลี้ยงชีพแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต ครอบครัวละ 30,000 บาท
เงินทุนเลี้ยงชีพแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตที่มีบุตรอายุไม่เกิน 25 ปีบริบูรณ์ อีกครอบครัวละ 50,000 บาท
 
กรณีบาดเจ็บ
เงินทุนเลี้ยงชีพผู้บาดเจ็บสาหัส รายละ 30,000 บาท  เงินทุนเลี้ยงชีพผู้บาดเจ็บทั่วไป รายละ 15,000 บาท
 
กรณีบ้านเรือนเสียหาย
ค่าวัสดุในการก่อสร้าง/ซ่อมแซมบ้านเรือนที่เสียหาย ตามความเสียหาย เท่าที่จ่ายจริง ไม่เกินหลังละ  :เสียหายทั้งหลัง (เกิน 70%) 230,000 บาท
: เสียหายมาก (30% – 70%) 70,000 บาท
: เสียหายน้อย (น้อยกว่า 30%) 15,000 บาท
ค่าเครื่องอุปโภค และเครื่องใช้อื่น ๆ ที่จำเป็น (เฉพาะบ้านเรือนที่เสียหายทั้งหลัง และเสียหายมาก) ครัวเรือนละ 5,000 บาท
 
ส่วนเงินช่วยเหลือจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แยกเป็นกรณีบ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง จ่าย 49,700 บาท กรณีเสียหายบางส่วนประเมินตามสถานการณ์  และกรณีเสียชีวิต ช่วยเหลือรายละ 29,700 บาท ถ้าเป็นหัวหน้าครอบครัว จ่ายเพิ่มอีก 29,700 บาท
 
 
นางสาวรัชดา ต่อว่า สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกับจังหวัดนราธิวาส และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ฯ ในวันจันทร์ที่ 31 กรกฎาคม 2566 ณ ตลาดมูโนะ ตาบลมูโนะ อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนเบื้องต้น
 
“นายกรัฐมนตรีกำชับให้จังหวัดนราธิวาสโดยสำนักงานป้องกันและ บรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนราธิวาส รวบรวมข้อมูลความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ฯ เสนอให้คณะกรรมกองทุนเงินช่วยเหลือ ผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี พิจารณาให้ความช่วยเหลือโดยเร็วต่อไป พร้อมเน้นย้ำส่วนราชการให้ความช่วยเหลือดูแล พี่น้องประชาชนผู้ประสบภัยอย่างทั่วถึง ครอบคลุม และระยะยาวเรื่องการฟื้นฟู อย่างเต็มกำลังความสามารถ” นางสาวรัชดา กล่าว

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักนายกรัฐมนตรี

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
NEWS UPDATE

กรมการขนส่งทางราง เผยช่วงวันหยุดสะสม 3 วัน 3.01 ล้านคน-เที่ยว

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในช่วงวันหยุดต่อเนื่อง ระหว่างวันที่ 28 กรกฎาคม – 2 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา 3 วันคือ วันที่ 28 – 30 กรกฎาคม 2566 มีประชาชนใช้บริการระบบรางรวม 3,005,848 คน-เที่ยว ประกอบด้วย รถไฟระหว่างเมืองของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีผู้ใช้บริการรวม 261,625 คน-เที่ยว แบ่งเป็นผู้โดยสารเชิงพาณิชย์ 104,502 คน-เที่ยว และผู้โดยสารเชิงสังคม 157,123 คน-เที่ยว 

 

โดยมีผู้โดยสารขาออกสะสม 134,645 คน-เที่ยว และขาเข้า 126,980 คน-เที่ยว ซึ่งพบว่า 

 – สายใต้มีผู้ใช้บริการมากสุดถึง 87,610 คน-เที่ยว (ขาออก 45,357 คน-เที่ยว และขาเข้า 42,253 คน-เที่ยว) 

 – รองลงมาคือสายตะวันออกเฉียงเหนือ 66,501 คน-เที่ยว (ขาออก 35,022 คน-เที่ยว และขาเข้า 31,479 คน-เที่ยว) 

 – สายเหนือ 54,009 คน-เที่ยว (ขาออก 26,597 คน-เที่ยว ขาเข้า 27,412 คน-เที่ยว) 

 – สายตะวันออก 32,763 คน-เที่ยว (ขาออก 17,077 คน-เที่ยว ขาเข้า 15,686 คน-เที่ยว) 

 – และสายมหาชัย/แม่กลอง 20,742 คน-เที่ยว (ขาออก 10,592 คน-เที่ยว ขาเข้า 10,150 คน-เที่ยว) 

 

และระบบรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (รวมรถไฟฟ้าชานเมือง(สายสีแดง)) สะสม 3 วัน มีผู้ใช้บริการแล้ว 2,744,223 คน-เที่ยว ประกอบด้วย Airport Rail Link 144,397 คน-เที่ยว สายสีแดง 44,770 คน-เที่ยว สายฉลองรัชธรรม(สีม่วง) 97,759 คน-เที่ยว สายเฉลิมรัชมงคล (สีน้ำเงิน) 701,465 คน-เที่ยว สายสีเหลือง 110,108 คน-เที่ยว และรถไฟฟ้าบีทีเอส (สีเขียวและสีทอง) 1,645,724 คน-เที่ยว ทั้งนี้ พบว่า เมื่อวาน (วันที่ 30 กรกฎาคม 2566) ซึ่งเป็นวันที่ 3 ของวันหยุดต่อเนื่องระหว่างวันที่ 28 กรกฎาคม 2566 – 2 สิงหาคม 2566 มีประชาชนใช้บริการระบบราง รวมทั้งสิ้นจำนวน 933,794 คน-เที่ยว (ไม่รวมผู้โดยสารรถไฟทางไกลต่อสายสีแดงฟรี 12 คน) แบ่งเป็น รถไฟระหว่างเมืองของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จำนวน 80,348 คน-เที่ยว และรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลและรถไฟชานเมือง (รวมสายสีแดง) จำนวน 853,446 คน-เที่ยว โดยมีรายละเอียด ดังนี้ 

 

1. รถไฟระหว่างเมืองของ รฟท. ให้บริการรวม 228 ขบวน มีผู้ใช้บริการจำนวน 80,348 คน-เที่ยว แบ่งเป็นผู้โดยสารเชิงพาณิชย์ 32,769 คน-เที่ยว และเชิงสังคม 47,579 คน-เที่ยว โดยมีผู้โดยสารขาออกจำนวน 38,195 คน-เที่ยว และผู้โดยสารขาเข้า 42,153 คน-เที่ยว โดยพบว่า สายใต้มีผู้ใช้บริการมากสุดถึง 27,238 คน-เที่ยว (ผู้โดยสารขาออก 13,067 คน-เที่ยว ผู้โดยสารขาเข้า 14,171 คน-เที่ยว) รองลงมาคือสายตะวันออกเฉียงเหนือมีผู้ใช้บริการ 20,032 คน-เที่ยว (ผู้โดยสารขาออก 9,640 คน-เที่ยว ผู้โดยสารขาเข้า 10,392 คน-เที่ยว) สายเหนือ 16,001 คน-เที่ยว (ผู้โดยสารขาออก 7,277 คน-เที่ยว ผู้โดยสารขาเข้า 8,724 คน-เที่ยว) สายตะวันออก 10,440 คน-เที่ยว (ผู้โดยสารขาออก 4,857 คน-เที่ยว ผู้โดยสารขาเข้า 5,583 คน-เที่ยว) และสายแม่กลองและมหาชัย 6,637 คน-เที่ยว (ผู้โดยสารขาออก 3,354 คน-เที่ยว ผู้โดยสารขาเข้า 3,283 คน-เที่ยว) 

2. ระบบรถไฟฟ้า ให้บริการเดินรถไฟฟ้ารวม 2,433 เที่ยว มีผู้ใช้บริการรวมจำนวน 853,446 คน-เที่ยว ประกอบด้วย รถไฟฟ้า Airport Rail Link ให้บริการ 174 เที่ยว จำนวน 44,119 คน-เที่ยว รถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) ให้บริการ 230 เที่ยว จำนวน 13,179 คน-เที่ยว (ไม่รวมผู้โดยสารรถไฟทางไกลต่อสายสีแดงฟรี 12 คน) รถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม (สีม่วง) 216 เที่ยว จำนวน 29,448 คน-เที่ยว รถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล (สีน้ำเงิน) 278 เที่ยว จำนวน 238,873 คน-เที่ยว รถไฟฟ้าสายสีเหลือง 216 เที่ยว จำนวน 25,788 คน-เที่ยว และรถไฟฟ้าบีทีเอส (สีเขียวและสีทอง) ให้บริการรวม 1,319 เที่ยว มีผู้ใช้บริการจำนวน 502,039 คน- เที่ยว (สายสีเขียว 493,740 คน-เที่ยว และสายสีทอง 8,299 คน-เที่ยว) สำหรับด้านความปลอดภัย มีเหตุอันตรายต่อการเดินรถไฟ 2 ครั้ง 

 

โดยเมื่อเวลา 06.38 น. ผู้โดยสารหญิง บนขบวนรถด่วนที่ 51 (กรุงเทพอภิวัฒน์ – เชียงใหม่) ถูกประตูห้องน้ำหนีบบริเวณมือ ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย ขอลงรักษาตัวที่โรงพยาบาลอุตรดิตถ์ และเมื่อเวลา 07.17 น. ขบวนรถด่วนที่ 86 รถนั่งชั้น 3 เลขที่ 1193 เพลาล้อที่ 1 ด้านซ้ายมีอาการร้อนจนไม่สามารถพ่วงต่อไปปลายทางได้ เจ้าหน้าที่ได้ตัดรถไว้ที่สถานีศาลายาเพื่อทำการซ่อมแซม โดยไม่มีผู้โดยสารได้รับอันตรายจากเหตุการณ์นี้ และสำหรับระบบรถไฟฟ้า ไม่มีเหตุรถไฟฟ้าขัดข้อง ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางรางได้ประสานผู้ให้บริการระบบราง พิจารณาดำเนินการตามมาตรการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยฯ มีการตรวจวัดแอลกอฮอล์ผู้ปฏิบัติงานในการให้บริการเดินรถไฟ รวมทั้งประสานฝ่ายความมั่นคงมาช่วยดูแลในพื้นที่ระบบรางมากขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในช่วงวันหยุดต่อเนื่อง ระหว่างวันที่ 28 กรกฎาคม 2566 – 2 สิงหาคม 2566นี้

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กรมการขนส่งทางราง

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
NEWS UPDATE

กรมธนารักษ์เปิดจ่ายแลกเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก 130 ปี องค์กรอัยการ

วันนี้ (27 กรกฎาคม 2566) ณ กรมธนารักษ์ นายจำเริญ โพธิยอด อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง จัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก 130 ปี องค์กรอัยการ เพื่อเป็นการน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว    ที่พระองค์ทรงนำระบบอัยการในประเทศภาคพื้นยุโรป และอังกฤษมาปฏิรูประบบกฎหมายและการศาลของไทย รวมทั้งเพื่อเป็นที่ระลึก และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานของสำนักงานอัยการสูงสุดให้หน่วยงาน องค์กร ประชาชนทั่วไปได้รับทราบ โดยจัดทำเป็นเหรียญกษาปณ์โลหะสีขาว (ทองแดงผสมนิกเกิล) ชนิดราคา 20 บาท ประเภทธรรมดา มีลวดลาย

ด้านหน้า กลางเหรียญมีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉลองพระองค์ชุดสากล ภายในวงขอบเหรียญเบื้องล่างมีข้อความว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว”

ด้านหลัง กลางเหรียญมีรูปเครื่องหมายราชการของสำนักงานอัยการสูงสุด ภายในวงขอบเหรียญเบื้องบนมีข้อความว่า “๑๓๐ ปี องค์กรอัยการ ๑ เมษายน ๒๕๖๖” เบื้องล่างมีข้อความว่า “ประเทศไทย” ด้านขวามีเลขบอกราคาว่า “๒๐” ด้านซ้ายมีข้อความว่า “บาท”

ผู้ที่ประสงค์จะขอแลกเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกดังกล่าว สามารถติดต่อขอแลกได้ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2566 เป็นต้นไป ตามช่องทางดังนี้
ส่วนกลาง
• กองบริหารเงินตรา ถนนพหลโยธิน จังหวัดปทุมธานี โทร. 0 2565 7944
• หน่วยรับและจ่ายแลกเหรียญกษาปณ์ ถนนจักรพงษ์ กรุงเทพมหานคร โทร. 0 2282 4109
• หน่วยจ่ายแลกเหรียญกษาปณ์ ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพมหานคร โทร. 0 2618 6340
ส่วนภูมิภาค
• สำนักงานธนารักษ์พื้นที่ทั่วประเทศ
ช่องทางออนไลน์
• www.treasury.go.th (บริการออนไลน์ระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ด้านเหรียญ)
โดยการสั่งซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ ผู้สั่งซื้อเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายในการจัดส่ง
ทั้งนี้ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กองบริหารเงินตรา โทร. 0 2565 7944 และCall Center กรมธนารักษ์ โทร. 0 2059 4999

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กรมธนารักษ์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
ECONOMY

ธ.ก.ส. พร้อมเดินหน้าแก้หนี้ครัวเรือน “สินเชื่อแทนคุณ” แก้ปัญหา Aging ลูกค้า

ธ.ก.ส. ร่วมสมาคมสถาบันการเงินของรัฐและสมาคมธนาคารไทย เดินหน้าแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนสอดคล้องกับนโยบายของ ธปท. โดยจัดกลุ่มลูกหนี้ตามศักยภาพ พร้อมวางแนวทางและเครื่องมือเข้าไปช่วยแก้ปัญหาเฉพาะกลุ่ม เสริมด้วยความรู้เทคโนโลยีในการยกระดับรายได้ จัดทำโครงการสินเชื่อแทนคุณ วงเงิน 20,000 ล้านบาท แก้ปัญหา Aging ลูกค้า วางเป้าดึงทายาท 42,000 คน ร่วมบริหารจัดการหนี้และรักษาทรัพย์สินของครอบครัว พร้อมหนุนการต่อยอด สร้างมูลค่าเพิ่มสินค้า ยกระดับสู่ตลาดที่มีกำลังซื้อสูง

นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. ได้มีการดำเนินนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนสอดรับกับนโยบายธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยแบ่งกลุ่มลูกหนี้ตามศักยภาพเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มลูกหนี้ปกติ กลุ่มลูกหนี้ Hybrid และกลุ่มลูกหนี้ NPL และจัดทำเครื่องมือหรือวิธีการแก้ไขหนี้ให้สอดคล้องกับปัญหาที่แท้จริงของลูกหนี้เฉพาะกลุ่ม ควบคู่กับการเสริมความรู้ ทางการเงิน เทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการประกอบอาชีพและยกระดับรายได้ ซึ่งการดำเนินงานมีทั้งการวางแนวทางป้องกันไม่ให้หนี้ดีกลายเป็นหนี้เสียผ่านมาตรการต่าง ๆ ได้แก่ โครงการชำระดีมีคืน โดยคืนดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 20 ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง วงเงินดอกเบี้ยที่จ่ายคืนไปแล้ว 2,840 ล้านบาท มีลูกค้าได้รับประโยชน์ 2.58 ล้านราย มาตรการทางด่วนลดหนี้ มาตรการจ่ายน้อย ผ่อนคลายได้ลดดอกเบี้ย ปี 2565 มาตรการตัดชำระหนี้ตามสัดส่วน (จ่ายดอก ตัดต้น) มาตรการปรับตารางชำระหนี้ (จ่ายต้น ปรับงวด) และแนวทางการช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีหนี้อันเป็นภาระหนัก เพื่อลดภาระและความกังวลใจในด้านภาระหนี้สินผ่านโครงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แบบยั่งยืน โดยปรับตารางการชำระหนี้ใหม่ให้สอดคล้องกับศักยภาพของลูกค้าและที่มาของรายได้ รวมถึงการฟื้นฟูอาชีพ โดยพัฒนาอาชีพและเสริมสภาพคล่องในการลงทุน เพื่อประกอบอาชีพเพิ่มรายได้ ซึ่งการดำเนินงานตามแนวทางและมาตรการต่าง ๆ ดังกล่าวช่วยแก้ปัญหาหนี้ NPL ภาคการเกษตร ลดลงจากร้อยละ 14.6ไปอยู่ที่ร้อยละ 7.68 ณ 31 มีนาคม 2566

ในส่วนของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ผ่านมา ธ.ก.ส. ได้ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลในโครงการพักชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยทั้งระบบ ตั้งแต่งวด เม.ย. 2563 ถึงงวด มี.ค. 2564 เป็นระยะเวลา 1 ปี มีผู้เข้าร่วมโครงการ 3 ล้านราย ต้นเงิน 938,466 ล้านบาท โครงการพักชำระหนี้โควิดภาคสมัครใจ และการจ่ายสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็น วงเงินรายละ ไม่เกิน 10,000 บาท ซึ่งมีผู้ได้รับสินเชื่อไปแล้วทั้งสิ้น 913,548 ราย วงเงิน 9,086 บาท โดยในปัจจุบันยังมีหนี้คงค้างในกลุ่มดังกล่าว จำนวน 336,486 ราย จำนวนเงินคงค้าง 2,193 ล้านบาท
ด้านปัญหา Aging ของลูกค้า ธ.ก.ส. ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนประมาณ 35% ของลูกค้าทั้งหมด ธ.ก.ส. ได้จัดทำ โครงการสินเชื่อแทนคุณ วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้าที่อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ที่มีหนี้อันเป็นภาระหนักและมีความประสงค์จะโอนทรัพย์สินและหนี้สินให้กับทายาท เพื่อเปิดโอกาสให้ทายาทเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขหนี้อย่างยั่งยืนและร่วมรักษาทรัพย์สินให้คงอยู่กับครอบครัว โดย ธ.ก.ส. จะจ่ายสินเชื่อให้ทายาทที่มารับช่วงประกอบอาชีพ เพื่อปิดชำระหนี้เดิมของผู้สูงอายุ แบ่งเป็นสัญญาต้นเงิน (รวมต้นเงินเดิม) อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1 – 5 เท่ากับ MRR (ปัจจุบัน MRR เท่ากับร้อยละ 6.975) ปีที่ 6 – 10 เท่ากับ MRR-1 และปีที่ 11 เป็นต้นไป เท่ากับ MRR-2 กำหนดชำระคืนภายใน 15 ปี พิเศษไม่เกิน 20 ปี และสัญญาต้นเงิน (รวมดอกเบี้ยเดิม) อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0กำหนดชำระคืนภายใน 15 ปี นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังพร้อมสนับสนุนทายาทในการต่อยอดการดำเนินธุรกิจของครอบครัว โดยการเติมความรู้ทางการเงิน เทคโนโลยี นวัตกรรม และเงินทุน เพื่อเพิ่ม Added Value สร้างความหลากหลายในผลิตภัณฑ์และการออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อยกระดับสินค้าไปสู่ตลาดที่มีกำลังซื้อสูง โดยตั้งเป้าทายาทเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 42,000 คน

นายฉัตรชัย กล่าวอีกว่า การแก้ไขหนี้ครัวเรือน สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ์ (สศป.) ธปท. ร่วมกับ ธ.ก.ส. จัดทำโครงการแก้ไขหนี้สินเกษตรกรอย่างยั่งยืน โดยศึกษา วิเคราะห์ และจัดทำข้อเสนอแนะในการแก้ไขสถานการณ์หนี้ครัวเรือน เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ สร้างความเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำในระยะยาวอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มรายได้และศักยภาพครัวเรือนเกษตรกร สร้างเสริมภูมิคุ้มกัน และความรู้เท่าทันทางการเงินให้แก่เกษตรกร การปล่อยหนี้ใหม่ให้ยั่งยืน ทั่วถึงและตอบโจทย์ แก้หนี้เก่าให้ลูกหนี้ลดภาระหนี้และปลดหนี้ได้ การสร้างข้อมูลและองค์ความรู้ การศึกษาพฤติกรรม การชำระหนี้ของเกษตรกร และมีการกำหนดมาตรการจูงใจในการชำระหนี้ เพื่อเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกหนี้ให้มีวินัยในการชำระหนี้อย่างต่อเนื่อง ธ.ก.ส. ได้จัดทำโครงการชำระดีมีโชค โดยลูกค้าที่ชำระหนี้ตรงตามกำหนดเวลาและจำนวนดอกเบี้ยที่ชำระจริงทุก ๆ 1,000 บาท จะได้รับสิทธิ์ 1 สิทธิ์ ไปชิงโชครางวัลรวมมูลค่า 402 ล้านบาท ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566 – 31 มีนาคม 2567 พร้อมกับพัฒนาเครื่องมือและช่องทางต่าง ๆ เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงบริการ ธ.ก.ส. ได้ง่ายขึ้น เช่น การชำระหนี้ผ่านแอปพลิเคชัน A-Mobile Plus การชำระหนี้ผ่าน Banking Agent เป็นต้น ดังนั้น ขอให้เกษตรกรลูกค้าที่มีภาระหนี้สิน อย่ากังวลใจหรือปล่อยให้ปัญหาทับถม ขอให้เดินเข้ามาหาและปรึกษากับ ธ.ก.ส. ได้ทุกสาขาทั่วประเทศ ซึ่ง ธ.ก.ส. ได้จัดทำโครงการมีหนี้นอกบอก ธ.ก.ส. ที่จะเข้าไปช่วยตอบโจทย์การแก้ไขหนี้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศและ Call Center 02 555 0555
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
CULTURE

วัฒนธรรมเชียงราย ส่งเสริมการท่องเที่ยว เชิงสร้างสรรค์ อ.แม่สาย

เมื่อวันจันทร์ที่ 24 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา เวลา 13.00- 18.00 น. สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเชียงรายดำเนินการทดสอบกิจกรรมการท่องเที่ยว โครงการการพัฒนากิจกรรมและการตลาด เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ กิจกรรมหลัก การพัฒนากิจกรรมและผลิตภัณฑ์เพื่อส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว กิจกรรมย่อย การพัฒนาสินค้าและบริการด้วยนวัตกรรมการออกแบบบริการ เพื่อต่อยอดชุมชนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ จังหวัดเชียงราย ณ ชุมชนไตหย่า บ้านศาลาเชิงดอย ตำบลห้วยไคร้ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
 
วัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมเพื่อทดสอบและพัฒนาต่อยอดสินค้า และบริการทางการท่องเที่ยวชุมชน โดยมีเส้นทางท่องเที่ยว ดังนี้
 
จุดที่ 1 ไหว้พระวัดศาลาเชิงดอย
จุดที่ 2 เรียนรู้วิถีชุมชนไตหย่า ณ คริสตจักรนทีธรรมบ้านน้ำบ่อขาว ได้แก่ การทอเสื่อกก, ทำขนมข้าวแหลก, การทำกระเป๋าใบเล็ก, ชมช็อปผลิตภัณฑ์ผ้าทอ เสื้อ กระเป๋าผ้า, ชิมชา ขนมไต่หย่า, ชมศิลปะการแสดง และรับประทานอาหารไต่หย่า
 
ในการนี้ นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย มอบหมายให้ นางพรทิวา ขันธมาลา ผอ.กลุ่มยุทธศาสตร์และเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม และนายเอกณัฏฐ์ กาศโอสถ นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ เข้าร่วมทดสอบกิจกรรมการท่องเที่ยวฯ และ ผอ.กลุ่มยุทธศาสตร์ฯ ได้ร่วมให้ข้อเสนอแนะเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาให้เป็นชุมชนท่องเที่ยวในโอกาสต่อไปด้วย
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สนง.วัฒนธรรม เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
SOCIETY & POLITICS

อบจ.เชียงราย เปิดโครงการจัดการทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม อย่างยั่งยืน

วันอังคารที่ 25 กรกฎาคม 2566 เวลา 10.45 น. ณ ห้องประชุมโรงเรียนปล้องวิทยาคม ตำบลปล้อง อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยนายชัยสิทธิ์ ชัยเนตร เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย และนายบุญตัน เสนคำ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย อำเภอเทิง เปิดโครงการพัฒนาศักยภาพสมาชิกเครือข่ายการเรียนรู้ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อย่างยั่งยืน จังหวัดเชียงราย โดยมีนายพลวัฒน์ ปริญญาเจริญกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนปล้องวิทยาคม กล่าวต้อนรับ
 
การจัดโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของเครือข่ายและบูรณาการ
การดำเนินงานด้านจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดเชียงราย มีกลุ่มเป้าหมาย คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดเชียงราย ทุกแห่ง สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทุก สังกัด พี่น้องอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน แบ่งจัดเป็น 4 รุ่น ๆ ละ
200 คน ได้รับการสนับสนุนวิทยากรจาก สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดเชียงราย สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงราย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย และสำนักวิชา วิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : อบจ.เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
SOCIETY & POLITICS

อบจ.เชียงรายหล่อเทียนพรรษา วัดปงสนุก อ.เทิง

วันอังคารที่ 25 กรกฎาคม 2566 เวลา 09.30 น. ณ วัดปงสนุก ตำบลปล้อง อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย เป็นประธานหล่อเทียนพรรษา ประจำปี 2566 โดยมีนายกเทศมนตรีตำบลบ้านปล้อง และองค์การบริหารส่วนตำบลปล้อง สมาชิกสภาฯ ชมรมกำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน ประชาชนในพื้นที่ให้การต้อนรับ

โดยพิธีหล่อเทียนพรรษา ประจำปี 2566 เป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมจารีตประเพณี ภูมิปัญญาอันดีงามของท้องถิ่น และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชร ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ในการจัดกิจกรรมการอนุรักษ์ประเพณี ร่วมทั้งการสร้างความเข้มแข็งและความสามัคคีในชุมชน
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : อบจ.เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AUTOMOTIVE SOCIAL & LIFESTYLE

ครึ่งปีแรก ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ไทยเติบโต สูงกว่า 3 เท่า

เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2566 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลได้ผลักดันและส่งเสริมการลงทุนอย่างจริงจัง ทำให้ใน 6 เดือนแรกของปี 2566  มีผู้สนใจเข้าลงทุนในประเทศเพิ่มต่อเนื่อง และ ได้มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 เมื่อเปรียบเทียบช่วงเวลาเดียวกันปี 2565 โดยอยู่ที่จำนวน 326 ราย รวมมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 48,927 ล้านบาท สร้างการจ้างงาน 3,222 คน
 
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า นักลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) ญี่ปุ่น 74 ราย เงินลงทุน 17,527 ล้านบาท 2) สหรัฐอเมริกา 59 ราย เงินลงทุน 2,913 ล้านบาท 3) สิงคโปร์ 53 ราย เงินลงทุน 6,916 ล้านบาท 4) จีน 24 ราย เงินลงทุน 11,505 ล้านบาท และ 5) สมาพันธรัฐสวิส 14 ราย เงินลงทุน 1,857 ล้านบาท สำหรับการลงทุนจากชาติอื่น ๆ มีจำนวน 102 ราย เงินลงทุน 8,209 ล้านบาท ทั้งนี้ ธุรกิจส่วนใหญ่สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ นโยบายการส่งเสริมการลงทุน เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยี และองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงให้แก่คนไทย เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการควบคุมแรงดันหลุมขุดเจาะปิโตรเลียม ขั้นตอนดำเนินการขุดสถานีใต้ดิน การออกแบบระบบไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในโครงการรถไฟฟ้า การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม เป็นต้น
 
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังกล่าวเพิ่มเติมถึงความพยายามของรัฐบาลในการมุ่งส่งเสริมการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเทคโนโลยียานยนต์รูปแบบใหม่ อย่างอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า(EV) ซึ่งปัจจุบันตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในช่วงครึ่งปีแรก (เดือนมกราคม-มิถุนายน) ยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าในไทยมีมากถึง 31,738 คัน โดยมากกว่าถึง 3 เท่าของจำนวนทั้งหมดในปี 2565 และจากรายงานของ China Association of Automobile Manufacturers (CAAM) พบว่า ไทยถือเป็น 1 ใน 3 ประเทศ ผู้นำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากจีนมากที่สุด เนื่องจากผู้บริโภคมีความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีรูปแบบใหม่มากขึ้น ประกอบกับภาครัฐได้มีการออกมาตรการสนับสนุนให้มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้กับผู้บริโภค รวมถึงมีมาตรการจูงใจให้นักลงทุนสามารถขยายธุรกิจ และใช้ไทยเป็นฐานในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนในภูมิภาค
 
มากไปกว่านั้น เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม ที่ผ่านมา คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ได้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการชิ้นส่วนอุตสาหกรรมในประเทศไทยที่มีศักยภาพ เข้าร่วมการเจรจาธุรกิจกับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนอย่างบริษัท BYD ซึ่งมีแผนลงทุนตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ของ BYD แห่งแรกในภูมิภาคอาเซียนที่ไทย นับเป็นการเชื่อมโยงธุรกิจระหว่างบริษัทผลิตรถยนต์โลกกับผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศ เพื่อทำให้เกิดการพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน และเป็นการสร้างโอกาสให้ผู้ผลิตในไทยได้มีส่วนร่วมอยู่ในซัพพลายเชนระดับโลก
 
“นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการลงทุนในเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ส่งเสริมการพัฒนาทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้ประเทศไทย มาอย่างต่อเนื่อง โดยประเทศไทยนับได้ว่ามีศักยภาพและความได้เปรียบที่ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ รวมทั้ง มีกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพสูงตามมาตรฐานสากล มีข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ที่เป็นประโยชน์กับการค้าการลงทุน ซึ่งเมื่อประกอบกับนโยบายของไทยที่เป็นไปตามวิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรี ตอบรับความท้าทายระดับโลก เช่น ความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม พลังงานสะอาด ทำให้ประเทศไทยได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง” นางสาวรัชดาฯ กล่าว

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักนายกรัฐมนตรี

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
FEATURED NEWS

สนค. จัดสัมมนาการแยกห่วงโซ่อุปทาน สหรัฐ-จีน และนัยต่อเศรษฐกิจไทย

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ.สนค.) เป็นประธานเปิดงานสัมมนาเผยแพร่ผลการศึกษา “โครงการศึกษาการแยกห่วงโซ่อุปทาน (Decoupling) ของอุตสาหกรรมสำคัญระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน และนัยต่อเศรษฐกิจการค้าไทย” ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 ณ โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท โดยภายในงานมีผู้แทนภาคเอกชนจาก
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หอการค้าไทยในจีน และบริษัท
วิสอัพ จำกัด ร่วมในเวทีสัมมนา

 

            นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ เปิดเผยว่า สงครามการค้าของสองมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างสหรัฐอเมริกากับจีนที่เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 ที่สหรัฐฯ จำกัดการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีไปจีน และได้เพิ่มความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลกระทบต่อประเทศต่าง ๆ ในโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  โดยเฉพาะไทยซึ่งเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจเปิดกับการค้าการลงทุนของโลกอย่างต่อเนื่องยาวนาน จุดเปลี่ยนสำคัญของสงครามการค้าและทำให้เกิดการแยกห่วงโซ่อุปทาน คือ สหรัฐฯ ได้ผ่านกฎหมาย Chip and Science

 
Act 2022 เพื่อจูงใจให้เกิดการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ภายในสหรัฐฯ โดยการให้เงินอุดหนุนอย่างมหาศาล และผ่านกฎหมาย Inflation Reduction Act 2022 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นมาตรการในการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า การใช้นโยบายดังกล่าวของสหรัฐฯ ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมไปยังประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ ต้องออกมาตรการในการดึงดูดการลงทุน รวมถึงป้องกันไม่ให้เม็ดเงินลงทุนไหลออกจากประเทศตน โดยเฉพาะประเทศที่มีการผลิตชิป ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่ทวีความสำคัญในแทบทุกสินค้า ความพยายามแบ่งแยกอุปทานดังกล่าวจึงน่าจะส่งผลกระทบในวงกว้างกับโครงสร้างการผลิต การค้า และการลงทุนของโลก ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ไทยควรติดตาม ประเมิน และเตรียมแนวทางดำเนินการเพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด  เรื่องดังกล่าวเป็นโจทย์ของโครงการศึกษาวิจัยนี้ 

 

            ผลการศึกษา พบว่า decoupling ที่เกิดขึ้น ทำให้สหรัฐฯ และจีน มีบทบาทในฐานะประเทศคู่ค้า
ต่อกันและกันลดลง  โดยเฉพาะส่วนแบ่งตลาดของจีนในตลาดสหรัฐฯ ลดลงอย่างชัดเจน เนื่องจากสหรัฐฯ
หันมานำเข้าสินค้าจากไทยและเวียดนามเพิ่มขึ้นแทนที่  สินค้าที่ไทยมีส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นในช่วงปี
พ.ศ. 2561-2565 เช่น เครื่องปรับอากาศ กล้องบันทึกรูป ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ อุปกรณ์กึ่งตัวนำแบบไวแสง วงจรอิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนยานยนต์  ในขณะที่ไทยยังไม่สามารถเข้าตลาดจีนได้เพิ่มมากนัก โดยส่วนแบ่งตลาด
ของไทยในตลาดจีนทรงตัวที่ประมาณร้อยละ 2 ในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งขยายตัวช้ากว่าประเทศอื่น ๆ อย่างเวียดนาม และมาเลเซีย

 

            อีกทั้งไทยยังได้รับอานิสงค์จากการย้ายฐานการผลิตออกจากจีน โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่การลงทุนจากจีนในกลุ่มยานยนต์ในไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะชิ้นส่วนยานยนต์และยางรถยนต์ แต่มูลค่าการลงทุนในไทยน้อยว่าประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนส่วนใหญ่

 

            บทวิเคราะห์แผนที่การลงทุนของบริษัทข้ามชาติ พบว่า บริษัทจำนวนมากชะลอการลงทุนในจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ต้นน้ำที่เป็นเทคโนโลยีสำคัญท่ามกลางการแยกห่วงโซ่อุปทาน การลงทุนใหม่ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในการผลิตชิป ไม่ใช่เครื่องมือ อุปกรณ์ หรือสารเคมีพื้นฐาน  และการลงทุนที่ผ่านมาเป็นการลงทุนในประเทศกำลังพัฒนาเพียงไม่กี่ประเทศ

 

            ที่ผ่านมา Decoupling ยังไม่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในห่วงโซ่อุปทานในลักษณะที่ทำให้เกิดการหันเหแหล่งนำเข้าชิ้นส่วนและวัตถุดิบจากจีน ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะบทบาทของจีนที่มีอยู่ก่อน การปรับเปลี่ยนต่าง ๆ อาจต้องใช้เวลา โดยเฉพาะชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ในทางกลับกันชิ้นส่วนอื่น ๆ (ที่ไม่ใช่อิเล็กทรอนิกส์) ซัพพลายเออร์ในจีนพยายามเข้าสู่ตลาดอื่น ๆ เพื่อทดแทนตลาดสหรัฐฯ  

 

            ในอุตสาหกรรมยานยนต์ Decoupling ส่งผลดีต่อชิ้นส่วนรถยนต์ระบบเครื่องยนต์สันดาปภายใน โดยสามารถขยายตัวในตลาดชิ้นส่วนทดแทน (Aftermarket) ได้มากขึ้น แต่ไม่มีผลกระทบในส่วนรถยนต์ ทั้งนี้ เพราะรถยนต์ระบบเครื่องยนต์สันดาปภายในมีการแบ่งเขตการขาย ไทยอยู่ในโซนอาเซียนและโอเชียเนีย
จึงไม่ได้อานิสงส์ในการเข้าตลาดสหรัฐฯ แต่อย่างใด  ในส่วนของรถยนต์ไฟฟ้า การผลิตในประเทศยังอยู่ในระยะเริ่มต้นจึงยังไม่เห็นแนวโน้มที่ชัดเจน

 

            นายพูนพงษ์ กล่าวเสริมว่า ผลการศึกษานี้ ชี้ให้เห็นว่า ไทยต้องเตรียมการเพื่อเพิ่มศักยภาพทาง
ด้านการผลิตโดยเฉพาะประเด็นการเตรียมความพร้อมด้านแรงงานเพื่อตักตวงประโยชน์จาก decoupling
ที่เกิดขึ้น เรื่องดังกล่าวต้องทำอย่างเป็นระบบที่มีแผนระยะสั้นและระยะยาวที่สอดรับกัน  นอกจากนั้นไทยจำเป็นต้องเดินหน้ากระจายตลาดส่งออกเพื่อลดความเสี่ยงจากโครงสร้างตลาดส่งออกของไทยที่มีแนวโน้มกระจุกตัวสูง รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลด
ความสลับซับซ้อนของกฎระเบียบ และมียุทธศาสตร์ใหม่ ๆ ที่ไม่ใช่เพียงการให้สิทธิประโยชน์การลงทุน รวมไปถึงการดึงดูดบุคลากรผู้เชี่ยวชาญให้เข้ามาทำงานในประเทศ  สุดท้ายหัวใจสำคัญที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง คือ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งต้องมีเจ้าภาพที่ชัดเจนในการขับเคลื่อน มีอุตสาหกรรมเป็นศูนย์กลางของการออกแบบนโยบายที่ตั้งอยู่บนความสมเหตุสมผลสอดคล้องกับศักยภาพของประเทศ (เราทำอะไรได้ เราต้องระวังอะไร เราพร้อมอะไร) และดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดการพัฒนาในระยะยาว

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News