เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2566 นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (AIS) กล่าวว่า มีการประมาณการว่า จำนวนผู้ใช้งานดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะเพิ่มจำนวนเป็น 1.5 พันล้านคน จาก 1.2 พันล้านคน ภายในปี 2025 และการที่จำนวนผู้ใช้งานดิจิทัลเพิ่มขึ้นทุกปี ผลักดันให้ AIS พัฒนาโครงการด้านความปลอดภัยทางดิจิทัลมาอย่างต่อเนื่อง
“ดิจิทัลเป็นเครื่องมือเดียวที่ทำให้ไทย สามารถพัฒนาและแข่งขันกับนานาประเทศได้ แต่มันมีทั้งประโยชน์มหาศาลและโทษอย่างมากถ้าใช้ไม่ถูกต้อง ตลอดเวลาที่ผ่านมา เราได้ทำงานเกี่ยวกับการใช้งานดิจิทัลอย่างปลอดภัย เริ่มตั้งแต่ปี 2562 ที่เราเปิดตัวภารกิจอุ่นใจ CYBER”
“ทำไมเราต้องทำงานอย่างต่อเนื่อง เพราะว่าการใช้งานดิจิทัลเพิ่มขึ้นทุกปี มีการประมาณการในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกว่า จำนวนผู้ใช้งานดิจิทัลมีถึง 1.2 พันล้านคน และในปี 2025 หรืออีก 3 ปีข้างหน้า จำนวนผู้ใช้งานจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 พันล้านคน พูดง่าย ๆ คือดิจิทัลแทรกซึมไปกับทุกคนแล้ว”
ล่าสุด AIS ยกระดับการทำงานด้านความปลอดภัยทางดิจิทัลด้วยการสร้าง “ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล” (Thailand Cyber Wellness Index หรือ TCWI) ร่วมกับ “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี” และนักวิชาการด้านเทคโนโลยี สุขภาพ สื่อสารมวลชน การศึกษา และการประเมินผล เพื่อออกแบบกรอบการศึกษาและการวิเคราะห์ผล
ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล ชี้ให้เห็นถึงทักษะดิจิทัลที่ครอบคลุมพฤติกรรมการใช้งานดิจิทัลของคนไทย 7 ด้าน ดังนี้
1. ทักษะการใช้ดิจิทัล (Digital Use)
2. ทักษะการรู้เท่าทันดิจิทัล (Digital Literacy)
3. ทักษะด้านการสื่อสารและการทำงานร่วมกันบนดิจิทัล (Digital Communication and Collaboration)
4. ทักษะด้านสิทธิทางดิจิทัล (Digital Rights)
5. ทักษะด้านความมั่นคงความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security and Safety)
6. ทักษะด้านการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ (Cyberbullying)
7. ทักษะด้านความสัมพันธ์ทางดิจิทัล (Digital Relationship)
วิธีการสำรวจจะเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างที่มีความหลากหลายทั้งช่วงอายุ (อายุ 10-60 ปีขึ้นไป) และกลุ่มอาชีพจากทุกจังหวัด ทั่วประเทศกว่า 21,862 คน แบ่งเป็นผู้ชาย 48.24% และผู้หญิง 51.76%
ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล แบ่งระดับสุขภาวะดิจิทัลของคนไทยเป็น 3 ระดับ
สุขภาวะดิจิทัลระดับสูง (Advanced): ผู้ที่มีความรู้และทักษะในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย สร้างสรรค์ รู้เท่าทันการใช้งานและภัยไซเบอร์ทุกรูปแบบ และยังสามารถแนะนําให้คนรอบข้างเกิดทักษะในการใช้งานดิจิทัลได้เป็นอย่างดี
สุขภาวะดิจิทัลระดับพื้นฐาน (Basic): ผู้ที่มีความรู้และทักษะในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและโลกไซเบอร์ได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย และสร้างสรรค์
สุขภาวะดิจิทัลระดับที่ต้องพัฒนา (Improvement): ผู้ที่มีความรู้ความสามารถไม่เพียงพอที่จะใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล มีความเสี่ยงต่อการใช้งานในโลกไซเบอร์
ผลการศึกษาจากดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล
ภาพรวมระดับสุขภาวะดิจิทัลของ “คนไทย” อยู่ในระดับ “พื้นฐาน” (0.51)
แบ่งตามภูมิภาค พบว่า
- ภูมิภาคที่มีระดับสุขภาวะดิจิทัลอยู่ในระดับ “พื้นฐาน” ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (0.59), ภาคตะวันออก (0.52), กรุงเทพมหานครและปริมณฑล (0.61), ภาคใต้ (0.49) และภาคกลาง (0.50)
- ภูมิภาคที่มีระดับสุขภาวะดิจิทัลอยู่ในระดับ “ต้องพัฒนา” ได้แก่ ภาคเหนือ (0.33) และภาคตะวันตก (0.40)
แบ่งตามกลุ่มอายุ พบว่า
- ระดับสุขภาวะดิจิทัลของคนอายุ 10-12 ปี อยู่ในระดับ “พื้นฐาน” (0.52)
- ระดับสุขภาวะดิจิทัลของคนอายุ 13-15 ปี อยู่ในระดับ “พื้นฐาน” (0.56)
- ระดับสุขภาวะดิจิทัลของคนอายุ 16-18 ปี อยู่ในระดับ “พื้นฐาน” (0.59)
- ระดับสุขภาวะดิจิทัลของคนอายุ 19-22 ปี อยู่ในระดับ “พื้นฐาน” (0.58)
- ระดับสุขภาวะดิจิทัลของคนอายุ 23-59 ปี อยู่ในระดับ “พื้นฐาน” (0.52)
- ระดับสุขภาวะดิจิทัลของผู้สูงวัย (อายุ 60 ปีขึ้นไป) อยู่ในระดับ “ต้องพัฒนา” (0.28)
แบ่งตามกลุ่มอาชีพ พบว่า
- อาชีพที่มีระดับสุขภาวะดิจิทัลอยู่ในระดับ “พื้นฐาน” ได้แก่ นักเรียน/นักศึกษา (0.59), ข้าราชการ (0.67), ข้าราชการบำนาญ (0.47) และพนักงานของรัฐ (0.78)
- อาชีพที่มีระดับสุขภาวะดิจิทัลอยู่ในระดับ “ต้องพัฒนา” ได้แก่ คนว่างงาน (0.42), พนักงานรัฐวิสาหกิจ (0.31), พนักงานบริษัทเอกชน (0.41), ค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว (0.38), รับจ้างทั่วไป (0.33) และเกษตรกร (0.24) ซึ่งกลุ่มอาชีพเหล่านี้ มีสุขภาวะทางดิจิทัลระดับเดียวกับผู้สูงวัย
โครงการนี้เป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากภารกิจหลักของ AIS อุ่นใจ CYBER ที่มุ่งสร้างทักษะด้านดิจิทัล รวมถึงการพัฒนาบริการดิจิทัล คัดสรรโซลูชัน และเครื่องมือป้องกันภัยไซเบอร์ให้กับคนไทยมาอย่างต่อเนื่อง วันนี้ได้ยกระดับการทำงานขึ้นไปอีกขั้นด้วยการสร้างมาตรวัดทักษะทางดิจิทัลขึ้นเป็นฉบับแรกของไทยกับ ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล Thailand Cyber Wellness Index (TCWI) ด้วยที่ระดมความคิดในการออกแบบกรอบการศึกษา ขั้นตอนและวิธีการเก็บผล กลุ่มตัวอย่าง รวมถึงการวิเคราะห์และสรุปผลการศึกษา จนออกมาเป็นดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย ที่เป็นไปตามมาตรฐาน แม่นยำ และถูกต้องตรงกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งจะเป็นมาตรฐานใหม่ในการสร้างพลเมืองดิจิทัลและสังคมการใช้งานดิจิทัลที่ดียิ่งขึ้น พร้อมกันนี้ยังเดินหน้าผสานกำลังส่งมอบดัชนีนี้ไปยังเครือข่ายความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อร่วมกันนำองค์ความรู้ เสริมสร้างความเข้าใจในการใช้งานดิจิทัลให้แก่คนไทยทุกกลุ่มต่อไป