Categories
AROUND CHIANG RAI NEWS UPDATE

AIS จับมือ ม.ราชภัฏเชียงราย สร้างพลเมืองดิจิทัล “อุ่นใจไซเบอร์”

 

เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2567 จากผลการศึกษาล่าสุดของดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย หรือ Thailand Cyber Wellness Index ปี 2023 พบว่าในพื้นที่ภาคเหนือ มีระดับสุขภาวะดิจิทัล 0.33 อยู่ในระดับที่ต้องพัฒนา เมื่อเทียบจากค่ามาตรฐานของประเทศ 0.51 นั่นหมายความว่า มีความเสี่ยงต่อภัยไซเบอร์ จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่วันนี้ ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ กับ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรชัย มุ่งไธสง อธิการบดีฯ เป็นผู้ลงนาม ร่วมกับ นายศุภชัย ผ่อนวัฒนา หัวหน้างานปฏิบัติการด้านเทคนิค ภูมิภาค – ภาคเหนือ AIS เพื่อขยายผลส่งต่อ หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ไปยังกลุ่มนักเรียน นักศึกษา รวมถึงบุคลากรในสังกัด ยกระดับทักษะการเป็นพลเมืองดิจิทัล เสริมสร้างทักษะดิจิทัล การใช้งานสื่อดิจิทัล และเทคโนโลยีให้มีภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ไม่ตกเป็นเหยื่อของการใช้งานออนไลน์และมิจฉาชีพ สามารถการใช้ชีวิตบนโลกดิจิทัลได้อย่างปลอดภัย

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรชัย มุ่งไธสง อธิการบดีฯ ม.ราชภัฎเชียงราย กล่าวว่า อาชญากรรมทางไซเบอร์ถือเป็นภัยคุกคามที่สร้างความเสียหายให้กับประชาชนอย่างมาก ทุกฝ่ายจึงจำเป็นต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน เราพร้อมบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการส่งเสริมความรู้และทักษะที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตในโลกดิจิทัล เพื่อให้ นักเรียน นักศึกษา บุคลากร ในสังกัด ได้เรียนรู้เพื่อเพิ่มทักษะทางดิจิทัล ตลอดจนการขยายผลองค์ความรู้ไปยังประชาชนคนทุกช่วงวัยในเครือข่ายชุมชน และโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดเชียงราย อาทิ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 62 , กลุ่มผู้สูงวัยในเขตพื้นที่เทศบาลแม่จัน และในพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลแม่กรณ์ จังหวัดเชียงราย ด้วยการนำหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ที่จะถูกนำเข้าไปบูรณาการ โดยคณะเทคโนโลยีดิจิทัล ได้เข้าถึงองค์ความรู้ใหม่ๆ จนนำไปสู่การเสริมสร้างทักษะดิจิทัล การใช้งานสื่อดิจิทัล และเทคโนโลยีให้มีภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ไม่ตกเป็นเหยื่อของการใช้งานออนไลน์และมิจฉาชีพ สามารถการใช้ชีวิตบนโลกดิจิทัลได้อย่างปลอดภัย”
 
 
ทางด้าน นายศุภชัย ผ่อนวัฒนา หัวหน้างานปฏิบัติการด้านเทคนิค ภูมิภาค – ภาคเหนือ AIS ได้กล่าวว่า “AIS ในฐานะผู้ให้บริการด้านดิจิทัลเราไม่เพียงเดินหน้าเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลที่แข็งแกร่งเพื่อคนไทยเพียงเท่านั้น แต่เรายังให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในด้านการยกระดับทักษะดิจิทัลของคนไทยที่เราเชื่อว่าการเสริมสร้างองค์ความรู้คือหัวใจสำคัญที่จะช่วยแก้ไขปัญหาด้านภัยไซเบอร์ได้อย่างยั่งยืน ทำให้ที่ผ่านมาเราได้พัฒนาการเรียนรู้ด้านทักษะดิจิทัลอย่าง หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ที่มีเนื้อหาแกนหลักสำคัญที่ถูกแบ่งออกเป็น 4P 4ป ประกอบไปด้วย Practice ปลูกฝังให้มีความรู้ ความเข้าใจในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างถูกต้องและเหมาะสม, Personality ปกป้องความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์, Protection เรียนรู้การป้องกันภัยไซเบอร์บนโลกออนไลน์ และ Participation รู้จักการปฏิสัมพันธ์ด้วยทักษะและพฤติกรรมการสื่อสารบนออนไลน์อย่างเหมาะสม ซึ่งหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ถูกขยายผลไปยังบุคลากรทางการศึกษา นักเรียน นิสิต นักศึกษา ผ่านความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่วันนี้ได้เรียนรู้หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์นี้แล้วกว่า 350,000 คน
 
 
โดยครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งความร่วมมือครั้งสำคัญกับ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย ที่ร่วมขับเคลื่อนการส่งเสริมและพัฒนาทักษะดิจิทัล ผ่านหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ให้เป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพ สามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย และสร้างสรรค์ และมีสุขภาวะดิจิทัลที่ดีอย่างยั่งยืน
 
 
วันนี้เรายังคงเดินหน้าขยายความร่วมมือเพื่อให้เนื้อหาเข้าถึงคนไทยในวงกว้างมากขึ้น โดยครั้งนี้เราได้ทำงานร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย ซึ่งเป็นสถาบันทางการศึกษาที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาพลเมืองดิจิทัล และร่วมกันขยายผลการเรียนรู้หลักสูตร “อุ่นใจไซเบอร์” ให้เข้าถึงนักเรียน นักศึกษา บุคลากรในสังกัด รวมถึงประชาชนทุกช่วงวัยในเครือข่ายชุมชนอย่างเป็นระบบ โดยเราเชื่อว่าการทำงานร่วมกันอย่างสอดประสานกันในครั้งนี้ จะช่วยทำให้เป้าหมายการทำงานที่ทั้งสององค์กรมีร่วมกันคือมุ่งลดการเกิดปัญหาภัยไซเบอร์ สร้างทักษะทางดิจิทัล ทั้งความสามารถในการเข้าใจ เข้าถึง และใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้เกิดประโยชน์และปลอดภัย ได้อย่างแน่นอน”
 
 
เรียนรู้หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ได้ที่ www. learndiaunjaicyber.ais.co.th, แอปพลิเคชัน อุ่นใจ CYBER.
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
FEATURED NEWS

AIS เผย จ.เชียงใหม่ ใช้มือถือสูงสุด อันดับ 5 ช่วงสงกรานต์ ปี 2567

 

เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2567 โดยจากการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานตั้งแต่วันที่ 12-15 เมษายน 2567 พบข้อมูลที่น่าสนใจอีกหลายประเด็น อาทิ

Top 10 จุดเล่นน้ำใช้อินเทอร์เน็ตฉ่ำที่สุด คือ 1. ถนนข้าวหลาม ชลบุรี 2. ป่าตอง ภูเก็ต 3. ถนนข้าวเหนียว ขอนแก่น 4. ประตูชุมพล นครราชสีมา 5. ถนนข้าวสุก อ่างทอง 6. ไอคอนสยาม กรุงเทพ 7. สยามสแควร์ กรุงเทพ 8. RCA กรุงเทพ 9. ถนนข้าวดอกข่า พังงา 10. ถนนข้าวสาร กรุงเทพ

 

 

ส่วนจังหวัดที่มีการใช้งานมือถือสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, ชลบุรี, นครราชสีมา, สมุทรปราการ และเชียงใหม่ โดยจังหวัดที่มีการใช้งานเน็ตบ้านสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, นนทบุรี, ชลบุรี, ปทุมธานี และสมุทรปราการ ซึ่งมีอัตราการเติบโตของการใช้งานสูงขึ้นจากปีก่อน กว่า 15.78% แสดงให้เห็นว่ายังมีลูกค้าที่ใช้เวลาในช่วงวันหยุดยาวทำกิจกรรมร่วมกันภายในบ้านกับครอบครัว

 

ขณะที่จุดท่องเที่ยววันหยุดยาวที่มีการใช้งาน AIS Super Wifi สูงสุด คือ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ด้านถนนสายหลักยอดฮิตในการเดินทางที่ใช้งานสูงสุด ได้แก่ ถนนเพชรเกษม, ถนนพหลโยธิน, ถนนสุขุมวิท และถนนมิตรภาพ ตามลำดับ ส่วนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ที่ถูกใช้งานสูงสุดผ่านมือถือ ได้แก่คือ Facebook, TikTok และ YouTube ตามลำดับ และบนเน็ตบ้าน ได้แก่ Facebook, TikTok และ YouTube เช่นกัน

 

สำหรับคอนเทนต์ที่ถูกรับชมมากที่สุดบน AIS PLAYBOX คือ หนังและซีรีย์ 24% รายการเกี่ยวกับเด็กและครอบครัว 10% โดยพบว่ารายการเกี่ยวกับเด็กและครอบครัวถูกใช้เวลาในการรับชมนานกว่าหนังและซีรีย์ถึง 2 เท่า แสดงถึงพฤติกรรมการใช้งานของกลุ่มครอบครัวที่ใช้เวลาร่วมกันในช่วงวันหยุดยาว

 

ขณะที่อัตราการเติบโตของนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย (Inbound Roamer) เติบโตถึง 38% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน และอัตราการเติบโตของการแลกสิทธิเศษในช่วงสงกรานต์ เพิ่มขึ้น 15-30% ต่อวัน โดย Top 3 อันดับ สิทธิพิเศษที่ลูกค้าใช้คะแนน AIS 1 Points แลกมากที่สุด อันดับ 1 คูปองส่วนลดบิ๊กซี มูลค่า 100 บาท อันดับ 2 อุ่นใจซองกันน้ำ และอันดับ 3 แลกรับโค้ดชม WeTV VIP

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : AIS

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
FEATURED NEWS

AIS เปิดผลสำรวจชี้ “คนไทย” พบ 44% ยังเสี่ยงภัยด้านไซเบอร์

 

เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2566 นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (AIS) กล่าวว่า มีการประมาณการว่า จำนวนผู้ใช้งานดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะเพิ่มจำนวนเป็น 1.5 พันล้านคน จาก 1.2 พันล้านคน ภายในปี 2025 และการที่จำนวนผู้ใช้งานดิจิทัลเพิ่มขึ้นทุกปี ผลักดันให้ AIS พัฒนาโครงการด้านความปลอดภัยทางดิจิทัลมาอย่างต่อเนื่อง

“ดิจิทัลเป็นเครื่องมือเดียวที่ทำให้ไทย สามารถพัฒนาและแข่งขันกับนานาประเทศได้ แต่มันมีทั้งประโยชน์มหาศาลและโทษอย่างมากถ้าใช้ไม่ถูกต้อง ตลอดเวลาที่ผ่านมา เราได้ทำงานเกี่ยวกับการใช้งานดิจิทัลอย่างปลอดภัย เริ่มตั้งแต่ปี 2562 ที่เราเปิดตัวภารกิจอุ่นใจ CYBER”

“ทำไมเราต้องทำงานอย่างต่อเนื่อง เพราะว่าการใช้งานดิจิทัลเพิ่มขึ้นทุกปี มีการประมาณการในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกว่า จำนวนผู้ใช้งานดิจิทัลมีถึง 1.2 พันล้านคน และในปี 2025 หรืออีก 3 ปีข้างหน้า จำนวนผู้ใช้งานจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 พันล้านคน พูดง่าย ๆ คือดิจิทัลแทรกซึมไปกับทุกคนแล้ว”

ล่าสุด AIS ยกระดับการทำงานด้านความปลอดภัยทางดิจิทัลด้วยการสร้าง “ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล” (Thailand Cyber Wellness Index หรือ TCWI) ร่วมกับ “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี” และนักวิชาการด้านเทคโนโลยี สุขภาพ สื่อสารมวลชน การศึกษา และการประเมินผล เพื่อออกแบบกรอบการศึกษาและการวิเคราะห์ผล

ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล ชี้ให้เห็นถึงทักษะดิจิทัลที่ครอบคลุมพฤติกรรมการใช้งานดิจิทัลของคนไทย 7 ด้าน ดังนี้

1. ทักษะการใช้ดิจิทัล (Digital Use)
2. ทักษะการรู้เท่าทันดิจิทัล (Digital Literacy)
3. ทักษะด้านการสื่อสารและการทำงานร่วมกันบนดิจิทัล (Digital Communication and Collaboration)
4. ทักษะด้านสิทธิทางดิจิทัล (Digital Rights)
5. ทักษะด้านความมั่นคงความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security and Safety)
6. ทักษะด้านการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ (Cyberbullying)
7. ทักษะด้านความสัมพันธ์ทางดิจิทัล (Digital Relationship)

วิธีการสำรวจจะเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างที่มีความหลากหลายทั้งช่วงอายุ (อายุ 10-60 ปีขึ้นไป) และกลุ่มอาชีพจากทุกจังหวัด ทั่วประเทศกว่า 21,862 คน แบ่งเป็นผู้ชาย 48.24% และผู้หญิง 51.76%

ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล แบ่งระดับสุขภาวะดิจิทัลของคนไทยเป็น 3 ระดับ

สุขภาวะดิจิทัลระดับสูง (Advanced): ผู้ที่มีความรู้และทักษะในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย สร้างสรรค์ รู้เท่าทันการใช้งานและภัยไซเบอร์ทุกรูปแบบ และยังสามารถแนะนําให้คนรอบข้างเกิดทักษะในการใช้งานดิจิทัลได้เป็นอย่างดี

สุขภาวะดิจิทัลระดับพื้นฐาน (Basic): ผู้ที่มีความรู้และทักษะในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและโลกไซเบอร์ได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย และสร้างสรรค์

สุขภาวะดิจิทัลระดับที่ต้องพัฒนา (Improvement): ผู้ที่มีความรู้ความสามารถไม่เพียงพอที่จะใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล มีความเสี่ยงต่อการใช้งานในโลกไซเบอร์

ผลการศึกษาจากดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล

ภาพรวมระดับสุขภาวะดิจิทัลของ “คนไทย” อยู่ในระดับ “พื้นฐาน” (0.51)

แบ่งตามภูมิภาค พบว่า 

  • ภูมิภาคที่มีระดับสุขภาวะดิจิทัลอยู่ในระดับ “พื้นฐาน” ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (0.59), ภาคตะวันออก (0.52), กรุงเทพมหานครและปริมณฑล (0.61), ภาคใต้ (0.49) และภาคกลาง (0.50)
  • ภูมิภาคที่มีระดับสุขภาวะดิจิทัลอยู่ในระดับ “ต้องพัฒนา” ได้แก่ ภาคเหนือ (0.33) และภาคตะวันตก (0.40)

แบ่งตามกลุ่มอายุ พบว่า

  • ระดับสุขภาวะดิจิทัลของคนอายุ 10-12 ปี อยู่ในระดับ “พื้นฐาน” (0.52)
  • ระดับสุขภาวะดิจิทัลของคนอายุ 13-15 ปี อยู่ในระดับ “พื้นฐาน” (0.56)
  • ระดับสุขภาวะดิจิทัลของคนอายุ 16-18 ปี อยู่ในระดับ “พื้นฐาน” (0.59)
  • ระดับสุขภาวะดิจิทัลของคนอายุ 19-22 ปี อยู่ในระดับ “พื้นฐาน” (0.58)
  • ระดับสุขภาวะดิจิทัลของคนอายุ 23-59 ปี อยู่ในระดับ “พื้นฐาน” (0.52)
  • ระดับสุขภาวะดิจิทัลของผู้สูงวัย (อายุ 60 ปีขึ้นไป) อยู่ในระดับ “ต้องพัฒนา” (0.28)

แบ่งตามกลุ่มอาชีพ พบว่า

  • อาชีพที่มีระดับสุขภาวะดิจิทัลอยู่ในระดับ “พื้นฐาน” ได้แก่ นักเรียน/นักศึกษา (0.59), ข้าราชการ (0.67), ข้าราชการบำนาญ (0.47) และพนักงานของรัฐ (0.78)
  • อาชีพที่มีระดับสุขภาวะดิจิทัลอยู่ในระดับ “ต้องพัฒนา” ได้แก่ คนว่างงาน (0.42), พนักงานรัฐวิสาหกิจ (0.31), พนักงานบริษัทเอกชน (0.41), ค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว (0.38), รับจ้างทั่วไป (0.33) และเกษตรกร (0.24) ซึ่งกลุ่มอาชีพเหล่านี้ มีสุขภาวะทางดิจิทัลระดับเดียวกับผู้สูงวัย

โครงการนี้เป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากภารกิจหลักของ AIS อุ่นใจ CYBER ที่มุ่งสร้างทักษะด้านดิจิทัล รวมถึงการพัฒนาบริการดิจิทัล คัดสรรโซลูชัน และเครื่องมือป้องกันภัยไซเบอร์ให้กับคนไทยมาอย่างต่อเนื่อง วันนี้ได้ยกระดับการทำงานขึ้นไปอีกขั้นด้วยการสร้างมาตรวัดทักษะทางดิจิทัลขึ้นเป็นฉบับแรกของไทยกับ ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล Thailand Cyber Wellness Index (TCWI) ด้วยที่ระดมความคิดในการออกแบบกรอบการศึกษา ขั้นตอนและวิธีการเก็บผล กลุ่มตัวอย่าง รวมถึงการวิเคราะห์และสรุปผลการศึกษา จนออกมาเป็นดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย ที่เป็นไปตามมาตรฐาน แม่นยำ และถูกต้องตรงกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งจะเป็นมาตรฐานใหม่ในการสร้างพลเมืองดิจิทัลและสังคมการใช้งานดิจิทัลที่ดียิ่งขึ้น พร้อมกันนี้ยังเดินหน้าผสานกำลังส่งมอบดัชนีนี้ไปยังเครือข่ายความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อร่วมกันนำองค์ความรู้ เสริมสร้างความเข้าใจในการใช้งานดิจิทัลให้แก่คนไทยทุกกลุ่มต่อไป

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : บริษัท AIS ร่วมกับ มจธ.(มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี) 

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News