Categories
AROUND CHIANG RAI ECONOMY

น่าน – เชียงราย ขอ 5 ปี มุ่งการค้าสากล เด่นวัฒนธรรมล้านนาสินค้าเกษตรปลอดภัย

 

เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2567 ที่ห้องประชุมจอมกิตติ ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดเชียงราย นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ให้การต้อนรับนายเทวา ปัญญาบุญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ที่ลงพื้นจังหวัดเชียงราย เพื่อศึกษาดูงาน และรับฟังความคิดเห็นทิศทางการพัฒนาในอนาคตของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ฉบับทบทวน ประจำปี 2568 – 2570 ประกอบด้วย เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน เพื่อทราบความต้องการของประชาชนในกลุ่มจังหวัดฯ รวมถึงทราบจุดแข็ง จุดอ่อน ของแต่ละจังหวัด ในการเตรียมรับมือกับปัญหาในทุกๆ มิติ โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ภาคประชาคม หน่วยงานภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาในจังหวัดเชียงราย เข้าร่วม

 

กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ได้กำหนดวิสัยทัศน์การพัฒนาในระยะเวลา 5 ปี “เป็นประตูการค้าสากล โดดเด่นวัฒนธรรมล้านนาสินค้าเกษตรปลอดภัย ประชาชนร่วมใจอนุรักษ์ทรัพยากร” โดยมียุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนใน 4 ประเด็นการพัฒนา ดังนี้ 
 
1.พัฒนาสภาพแวดล้อมในการค้า การลงทุน และโลจิสติกส์เชื่อมโยงกับต่างประเทศ เชื่อมโยงกับกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง AEC เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน เพิ่มรายได้จากการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ รวมทั้งลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกอบการ 
2.สร้างความเข็มแข็งและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตภาคเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรปลอดภัยที่มีศักยภาพมุ่งสู่ตลาดโลก 
3.พัฒนาและยกระดับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ศิลปวัฒนธรรม สุขภาพ และ MICE เพื่อสร้างรายได้สู่ชุมชนและเชื่อมโยงห่วงโซ่มูลค่าเพิ่มการท่องเที่ยวของกลุ่มจังหวัดอย่างยั่งยืน 
และ 4.ดำรงฐานทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและพลังงานโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนสู่การเป็นกลุ่มจังหวัดสีเขียว
 
 
โดยกล่าวสรุปจากการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ได้ว่า มีศักยภาพเชิงพื้นที่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการการค้าและธุรกิจที่เชื่อมโยงกับการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ส่วนด้านภาคเกษตรยังคงต้องส่งเสริมให้ปรับเข้าสู่รูปแบบการเกษตรมูลค่าสูง สำหรับด้านสังคมการรับมือสังคมผู้สูงอายุเป็นสิ่งสำคัญ จึงจำเป็นต้องพัฒนาในทุกมิติ และด้านสิ่งแวดล้อมปัญหาหมอกควันไฟป่ายังคงเป็นปัญหาหลักที่ต้องเร่งมือแก้ไขต่อไป
ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมจะได้ร่วมระดมความคิดเห็น ช่วยกันสำรวจความต้องการของประชาชนในพื้นที่ เพื่อที่จะได้ไม่ซ้ำซ้อนความต้องการของประชาชนในแต่ละจังหวัด ทั้งด้านการท่องเที่ยว การการเกษตร ด้านการค้าการลงทุน ด้านทรัพยากรธรรมชาติ และด้านอื่นๆที่สำคัญ เพื่อที่จะได้รวบรวม และจัดส่งให้ทีมบูรณาการกลางพิจารณาต่อไป
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

จัดอบรมผู้ประกอบการ ดีไซน์เนอร์ ต่อยอดผลิตภัณฑ์ผ้าเชียงราย

 

เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 67 ณ ห้องยูโทเปีย 2 โรงแรม เลอ เมอริเดียน เชียงราย รีสอร์ท นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดจังหวัดเชียงราย เป็นประธานเปิดกิจกรรมอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับ ผ้าไทย ผ้าถิ่น ผ้าชาติพันธุ์ ผ้าอัตลักษณ์อาภรณ์นครเชียงราย และการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ผ้าของเชียงรายในเชิงสร้างสรรค์ ประจำปี พ.ศ. 2567 เพื่อส่งเสริมการนำทุนทางวัฒนธรรมมาต่อยอดเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ การนำมรดกภูมิปัญญาการทอผ้าให้คงอยู่สืบไป รวมทั้ง สนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เด็ก เยาวชน และประชาชน ให้ความสนใจในการอนุรักษ์ผ้าไทย ผ้าถิ่น ผ้าชาติพันธุ์ ผ้าอัตลักษณ์อาภรณ์นครเชียงราย มากยิ่งขึ้น โดยมี เจ้าหน้าที่สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย คณะวิทยากรจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และวิทยาลัยการอาชีวศึกษาเชียงราย ภาคีเครือข่ายนักออกแบบ ดีไซน์เนอร์ ช่างทอผ้า ช่างเย็บผ้า ผู้ประกอบการ และบุคคลทั่วไป เข้าร่วมการอบรม

 

ซึ่งการอบรมจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 – 28 มิถุนายน 2567 ณ โรงแรม เลอ เมอริเดียน เชียงราย รีสอร์ท โดยมีผู้เข้าอบรม ได้แก่ นักออกแบบ ดีไซน์เนอร์ ช่างทอผ้า ช่างเย็บผ้า ผู้ประกอบการ และบุคคลทั่วไป รวมจำนวน 50 ราย เพื่อต่อยอดสำหรับการจัดประกวด การออกแบบแฟชั่นผ้าไทย ในวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 ณ โรงแรมเอ็ม บูทีค รีสอร์ท เชียงราย และการจัดงานแสดงแบบแฟชั่น กิจกรรมการสาธิตภูมิปัญญาฯ ในวันที่ 12 – 14 กรกฎาคม 2567 ณ ลานธรรม ลานศิลป์ ถิ่นพญามังราย (ศาลากลางหลังแรก)
 
 
นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายผลักดัน Soft Power ความเป็นไทย สู่ระดับโลก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ที่มีศักยภาพ 5 F ได้แก่ Food Film Fashion Fighting และ Festival อีกทั้ง เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 UNESCO ได้ยกจังหวัดเชียงรายเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ (City of Design) เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาล จังหวัดเชียงรายจึงส่งเสริมสนับสนุน การนำมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ทุนทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น ส่งเสริมการพัฒนาต่อยอดผ้าไทย ผ้าถิ่น ผ้าชาติพันธุ์ ผ้าอัตลักษณ์อาภรณ์นครเชียงราย มาเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยนำวิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น มาสร้างงาน สร้างอาชีพ สู่การเป็นวัฒนธรรมสร้างสรรค์ นำมาซึ่งรายได้สู่ชุมชน และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจจังหวัดเชียงรายได้อย่างยั่งยืนต่อไป
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

อบจ.เชียงราย ลงนาม MOU จัดตั้งศูนย์ใหม่ “TCDC Chiangrai”

 
เมื่อวันพุธที่ 26 มิถุนายน 2567 ณ Creative Space ชั้น 5 TCDC สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อาคารไปรษณีย์กลาง ถนนเจริญกรุง กรุงเทพฯ นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยนางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายก อบจ.เชียงราย ร่วมลงนาม MOU จัดตั้งศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบแห่งใหม่ (NEW TCDC) เพื่อร่วมกันพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้และแหล่งข้อมูลด้านการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ สำหรับประชาชน เยาวชน ผู้ประกอบการ และชุมชนในท้องถิ่น รวมทั้งการต่อยอดคุณค่าทรัพย์สินทางวัฒนธรรมที่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนได้อย่างยั่งยืน พร้อมเยี่ยมชมการจัดแสดงนิทรรศการภายใน TCDC แห่งใหม่ 
 
 
โดยมีนายฐิติวัชร ไลศิริพันธุ์ ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม สำนักการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม อบจ.เชียงราย ร่วมให้เกียรติในการลงนามฯ ครั้งนี้ด้วย โดยภายในงานฯ ดร.อรรชกา สีบุญเรือง ประธานกรรมการสํานักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นผู้กล่าวต้อนรับและกล่าววัตถุประสงค์ของการจัดงาน และนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กล่าวเปิดงาน “นโยบายการสร้างความร่วมมือกับภูมิภาคเพื่อพัฒนาทุนวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์สู่ Soft Power”
 
 
การจัดทำบันทึกความเข้าใจความร่วมมือในโครงการจัดตั้งศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบส่วนภูมิภาค ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างแหล่งเรียนรู้ด้านการออกแบบที่มีส่วนประกอบทางด้านพื้นที่ให้บริการทรัพยากรสารสนเทศการจัดกิจกรรมในด้านต่างๆเพื่ออํานวยความสะดวกแก่ประชาชนให้มีโอกาสเข้าถึงองค์ความรู้และการพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นใหม่และนักสร้างสรรค์ให้สามารถต่อยอดทางความคิดสร้างสรรค์ในการทําธุรกิจต่อไปได้เพื่อเป็นการสำรวจศักยภาพสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมต่อยอดสินค้าและบริการเพื่อสนับสนุนการสร้าง Soft Power ให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล เพื่อพัฒนาทักษะความรู้ และข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาสินค้าและบริการในอนาคต 
 
 
เพื่อบ่มเพาะผู้ประกอบการท้องถิ่นลดต้นทุนในการพัฒนาสินค้าและบริการให้ตรงกับความต้องการของตลาดและผู้บริโภค เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมบนรากฐานการใช้ความคิดสร้างสรรค์ตามนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) โดยให้หน่วยงานหรืองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนแนวนโยบายพื้นฐานของรัฐบาลและเป็นการสนับสนุนภารกิจหลักของสํานักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) อีกทางหนึ่ง เพิ่มพื้นที่การเรียนรู้ และแหล่งข้อมูลด้านการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ สำหรับประชาชน เยาวชน ผู้ประกอบการ และชุมชนในท้องถิ่น เพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันทางธุรกิจในระดับประเทศ พัฒนาการเรียนการสอนด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้แก่สถาบันการศึกษาในพื้นที่ ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในจังหวัดเชียงราย กระตุ้นเศรษฐกิจระดับประเทศ
 
 
ทั้งนี้ จังหวัดเชียงราย อบจ.เชียงราย และภาคีเครือข่าย ตั้งเป้า New TCDC @Chiang Rai แห่งนี้จะเป็นพื้นที่ต่อยอดนวัตกรรมจากความรู้ท้องถิ่น สานสร้างผู้ประกอบการธุรกิจสร้างสรรค์ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเชียงรายเป็นขุมพลังขับเคลื่อนเชียงรายเมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบของ UNESCO ที่จังหวัดเชียงรายได้เข้าร่วมเป็นเครือข่ายสมาชิก เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 พร้อมรองรับการจัดกิจกรรมด้านการออกแบบในอนาคตต่อไป
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : อบจ.เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

ฝึกปฏิบัติการช่วยชีวิตขั้นนักเรียน 6 สถานศึกษาที่จังหวัดเชียงราย

 
เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 67 ว่าที่ร้อยตรี ศราวุธ จันทวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานพิธีเปิดการอบรม “ทำดี ทำง่าย ให้เลือด” ตามโครงการเครือเจริญโภคภัณฑ์สนับสนุนเยาวชนไทยให้โลหิต ประจำปีการศึกษา 2567 (ปีที่ 24) ณ ห้องดอยตุง 2 โรงแรมเดอะริเวอร์รี บายกะตะธานี อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย โดยมีคณะผู้บริหารบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์จำกัด รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดเชียงราย ผู้แทนนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย ผู้แทนโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ และคณะครูอาจารย์จาก 6 สถานศึกษาในจังหวัดเชียงราย ส่งน้องๆ นักเรียน เข้าร่วมโครงการเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗ ส่งเสริมให้เยาวชนมีคุณธรรมและรู้จักการเป็น “ผู้ให้” มีจิตอาสา โดยเริ่มจากการเป็นผู้บริจาคโลหิต สนับสนุนให้เยาวชนมีบทบาทเป็นผู้นำในการประชาสัมพันธ์เผยแพร่การบริจาคโลหิต ส่งเสริมให้สถานศึกษาเป็นจุดศูนย์กลางในการบริจาคโลหิต เพื่อให้ได้รับปริมาณโลหิตบริจาคเต็มตามจำนวนที่คาดหวัง และเพื่อให้การจัดหาโลหิตของประเทศไทยประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน ต่อไป
 

         นายภาคภูมิ จักกะพาก ผู้ช่วยผู้อำนวยการธุรกิจสุกรภาคเหนือตอนบน บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การอบรม “ทำดี ทำง่าย ให้เลือด” ตามโครงการเครือเจริญโภคภัณฑ์สนับสนุนเยาวชนไทยให้โลหิต ประจำปีการศึกษา 2567 (ปีที่ 24) เครือเจริญโภคภัณฑ์มีความเจริญเติบโตในการดำเนินธุรกิจ   ครบ 100 ปี โดยมีปฎิธานมุ่งมั่น สร้างความเจริญให้ประเทศไทย ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนและบริหารงานธุรกิจด้วยหลักคุณธรรมมาอย่างต่อเนื่องสำหรับความรับผิดชอบต่อสังคมนั้น เครือเจริญโภค-ภัณฑ์ได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะงานบริการโลหิต ซึ่งมีความสำคัญต่อการรักษา พยาบาลให้ประชาชนหายจากการเจ็บป่วย ปลูกฝังเยาวชนที่เป็นต้นกล้าที่แข็งแรงให้มีความรู้ ความเข้าใจในงานบริการโลหิต เพื่อเป็นผู้บริจาคโลหิตต่อไปในอนาคต จึงได้จัดทำโครงการ เครือเจริญโภคภัณฑ์สนับสนุนเยาวชนไทยให้โลหิต ด้วยแนวคิด “ทำดี ทำง่าย ให้เลือด” ดำเนิน การมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2543 จนถึงปัจจุบัน กว่า 24 ปี นับว่าประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง โดยได้รับความร่วมมือจากสถานศึกษาในระดับมัธยมศึกษา อาชีวศึกษาและพณิชยการ ให้การสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ อย่างเต็มที่ ซึ่งการอบรมครั้งนี้ โครงการเครือเจริญโภคภัณฑ์สนับสนุนเยาวชนไทยให้โลหิต ประจำปีการศึกษา 2567 จังหวัดเชียงราย ในวันนี้ เป็นจังหวัดลำดับที่ 5 ต่อจาก จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ ขอนแก่น  และหนองคาย มีคุณครูและนักเรียนเข้ารับการอบรม จำนวน 155 คน จากสถานศึกษา จำนวน 6 แห่ง โดยได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่งจาก เหล่ากาชาดจังหวัดเชียงราย ภาคบริการโลหิตแห่งชาติที่ 10 จังหวัดเชียงใหม่ และสถานศึกษาทุกแห่ง
 

       สำหรับช่วงการอบรม ได้จัดให้มีการให้ความรู้เกี่ยวกับการบริจาคเลือด คุณสมบัติ/การเตรียมตัวก่อน – หลังการบริจาคโลหิต กรุ๊ปเลือดจะต่างกัน แต่เลือดเราปลอดภัยนะ ระบบหมู่โลหิต การตรวจหมู่โลหิต และการตรวจคัดกรองโลหิต เลือด 1 ถุง เอาไปทำอะไรต่อ ส่วนประกอบของโลหิตและผลิตภัณฑ์โลหิต ให้เลือดแล้วภูมิใจสุดๆ ประโยชน์ของเลือดที่มีต่อผู้ป่วย และความภาคภูมิใจที่ได้รับจากการบริจาคโลหิต ชมวิดิทัศน์/บรรยาย/สาธิตการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน (CPR) และการใช้เครื่องช็อคหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (AED) ฝึกปฎิบัติการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน (CPR) การใช้เครื่องช็อคหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (AED) อีกด้วย
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

เชียงราย เตรียมจัดตั้งศูนย์ชุมชน คุ้มครองเด็กในระดับตำบล 51 แห่ง

 

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2567 ที่โรงแรมวังคำ ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงรายนางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติงานด้านการคุ้มครองเด็กใน โครงการพัฒนาระบบและขับเคลื่อนกลไกการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชน ประจำปี 2567 โดยมีนางสาวปฏิญญา คงอาวุธ หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดเชียงราย นางสาวสิริลักษณ์ เชียงว่อง หัวหน้าสำนักงานกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย นายโสภณ แก้วล้อมทรัพย์ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงราย นำบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดเชียงราย เจ้าหน้าที่มูลนิธิศูนย์เพื่อน้องหญิง คณะกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย และผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 51 แห่ง เข้าร่วม

 

นางสาวปฏิญญา คงอาวุธ หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ได้หาแนวทาง วิธีการในการสงเคราะห์และคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กและส่งเสริมความประพฤติเด็กให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยมาตรา 24 ได้กำหนดให้ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่คุ้มครอง สวัสดิภาพเด็กที่อยู่ในเขตพื้นที่ ที่รับผิดชอบ 

 

โดยมีคณะกรรมการคุ้มครองเด็กในระดับชาติ และคณะกรรมการคุ้มครองเด็กในระดับจังหวัดเป็นกลไกในการประสานความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องในการสงเคราะห์และคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก เพื่อให้การดำเนินงานคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก รวมทั้ง แก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชน จึงจำเป็นต้องส่งเสริม สนับสนุนให้เกิดศูนย์ชุมชนคุ้มครองเด็กระดับตำบล โดยมีคณะกรรมการคุ้มครองเด็กระดับตำบลเป็นกลไกขับเคลื่อนงานการคุ้มครองเด็ก ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถดำเนินการสงเคราะห์และคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กที่อยู่ในเขต พื้นที่รับผิดชอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้ปราศจากการถูกกระทำความรุนแรง ถูกทอดทิ้ง ถูกแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบหรือมีพฤติกรรม ไม่สมควรแก่วัย ทำให้เด็กอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ปลอดภัย เอื้ออำนวยให้เด็กและเยาวชนเจริญเติบโตมาเป็นประชากรที่มีคุณภาพในอนาคต 

 

นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า สถานการณ์ปัญหาเด็กและเยาวชนที่ตกอยู่ในสภาวะเสี่ยงต่อการถูกกระทำความรุนแรง ถูกทอดทิ้ง ตกอยู่ในสภาพยากลำบาก ถูกแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ หรือเด็กและเยาวชนที่มีพฤติกรรมอันไม่สมควรแก่วัย รวมไปถึงการขาดโอกาสในด้านต่างๆ ทางสังคมเป็นปัญหาอันดับต้นๆของประเทศ การปกป้องคุ้มครองและการให้ความช่วยเหลือแก่เด็กและเยาวชนจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ หากเด็กและเยาวชนไม่ได้รับการคุ้มครอง ดูแล และช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ 

 

อาจส่งผลกระทบให้เด็กและเยาวชนตกอยู่ในสภาวะเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ อาจทำให้เด็กและเยาวชนเหล่านั้นตกเป็นผู้เสียหาย ผู้ถูกกระทำ หรือผู้เปราะบางทางสังคมได้ การแต่งตั้งคณะกรรมการคุ้มครองเด็กระดับตำบล (ศูนย์ชุมชนคุ้มครองเด็ก) จึงเป็นเสมือนกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนงานการคุ้มครองเด็กในระดับ พื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถคุ้มครองสวัสดิภาพแก่เด็กและเยาวชนที่อยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนในทุกรูปแบบ จากนั้นรองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้มอบป้าย “ศูนย์ชุมชนคุ้มครองเด็กในระดับตำบล” ให้กับผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 51 แห่ง

 

ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมการประชุมจะได้รับฟังการบรรยายข้อมูลสำคัญในการพัฒนาศักยภาพ เพิ่มพูนทักษะ องค์ความรู้ให้มีความพร้อม และเท่าทัน ต่อสถานการณ์ปัญหาของเด็กและเยาวชนตลอดจนการส่งเสริมและพัฒนาเชิงประเด็นต่างๆ อันเป็นประโยชน์ต่อเด็กและเยาวชน เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในเครือข่ายพื้นที่ของตนเอง อีกทั้งยีงเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายการคุ้มครองเด็กในระดับตำบลในการให้ความช่วยเหลือ และสงเคราะห์คุ้มครองพิทักษ์สิทธิเด็กในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างและบูรณาการกลไกการคุ้มครองเด็กในระดับตำบลในอนาคต

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI ECONOMY

เตรียมเคาะ 2 SME เชียงราย ให้เงินทุนพัฒนาสนับสนุนสินค้า

 

เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2567 ที่ห้องประชุมนารายณ์ ชั้น 2 สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงราย นางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ประจำจังหวัดเชียงราย ประจำปี 2567 ครั้งที่ 2/2567 ซึ่งมีคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ประจำจังหวัดเชียงราย เข้าร่วมพิจารณาความคืบหน้าของผู้ประกอบการที่ผ่านการพิจารณา กลั่นกรอง และคัดเลือกเอสเอ็มอีที่มีคุณสมบัติและเข้าข่ายได้รับการสนับสนุน ด้านสินเชื่อกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ โครงการสินเชื่อ ลดโลกร้อน Decarbonize Loan (ปี 2566) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยมีผู้ขอกู้รายใหม่จำนวน 2 ราย ได้แก่ บริษัท ไท้ หยวน จินซาน จำกัด ประกอบกิจการ โรงอบลำไย ที่อยู่ 194 หมู่ 9 ตำบลห้วยสัก อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย และบริษัท เวียงป่าเป้า วิศวกรรม (ประเทศไทย) จำกัด ประกอบกิจการ ผลิตและจำหน่ายเครื่องมือทางการเกษตร (เครื่องสีกาแฟ , เครื่องคั่วกาแฟ และอื่นๆ ที่อยู่ 68 หมู่ 3 ตำบลสันสลี อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย และผู้กู้รายเก่าพิจารณาเพิ่มเติม จำนวน 1 ราย ได้แก่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด นงเยาว์ ฟู้ดส์ โปรดักส์ ประกอบกิจการ แปรรูปสับปะรด ที่อยู่ 238 หมู่ 14 ตำบลนางแล อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย

 

ทั้งนี้คณะอนุกรรมการฯ ลงมติเห็นชอบ และส่งมอบให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (สาขาแม่สาย) (SME D BANK) เป็นผู้ดำเนินการวิเคราะห์การอนุมัติสินเชื่อต่อไป
 
 
กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ กระทรวงอุตสาหกรรม มุ่งมั่นสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงศักยภาพและขีดความสามารถของผู้ประกอบการเป็นหลัก เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาธุรกิจได้อย่างยั่งยืนและเติบโตได้อย่างมั่นคงและเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต่อไป
 
 
ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่สนใจสามารถสมัครสินเชื่อได้ผ่านเว็บไซต์ของกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ www.thaismefund.com หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

เพิ่มช่องและการประชาสัมพันธ์ ลดอุบัติเหตุสช่วงเทศกาลสงกรานต์

 

เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 67 นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานการประชุมถอดบทเรียนการดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2567 ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 2 อาคารตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย ต.ริมกก อ.เมืองเชียงราย โดยมีคณะกรรมการจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมถอดบทเรียน ทั้งนี้ นายครรชิต ชมพูแดง หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงราย ได้รายงานผลการดำเนินงาน พร้อมดำเนินการถอดบทเรียน ตามประเด็น และมาตรการที่ได้ดำเนินการ ทั้ง 5 ด้าน

 

จากข้อมูลอุบัติเหตุสะสม ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2567 ( 11-17 เมษายน 2567 ) ที่ผ่านมามีสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนจังหวัดเชียงราย จำนวน 82 ครั้ง บาดเจ็บ 71 ราย และมีผู้เสียชีวิต 17 ราย ซึ่งในการถอดบทเรียนจากผลการปฏิบัติงานตามประเด็นมาตรการ ทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ มาตรการด้านการบริหารจัดการ ด้านลดปัจจัยเสี่ยงด้านถนนและสภาพแวดล้อม ปัจจัยเสี่ยงด้านยานพาหนะ ด้านผู้ใช้รถใช้ถนนที่ขาดความตระหนักถึงความปลอดภัย และมาตรการตอบสนองหลังเกิดอุบัติเหตุและการเยียวยา โดยทุกมาตรการ ที่ประชุมมีความเห็นให้เน้นการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้ เข้าใจ และมีส่วนร่วม ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น สื่อสารผ่านกลุ่มไลน์ / FACEBOOK สถานีวิทยุกระจายเสียง
 
 
รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ให้เพิ่มช่องและการประชาสัมพันธ์ผ่านเสียงตามสายในหมู่บ้าน และสถานที่ท่องเที่ยวทุกแห่ง และในงานประเพณีที่จัดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ทุกงาน เพื่อกระตุ้นเตือนให้ประชาชนตระหนัก ถึงความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน การรณรงค์การสวมหมวกนิรภัยภายในสถานศึกษา ทุกแห่ง และปลูกฝังจิตสำนึกตั้งแต่วัยเด็กรวมถึงการอบรมให้ความรู้ด้านวินัยจราจร
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SPORT

จ.สกลนคร ส่งต่อเจ้าภาพเชียงรายกรีฑาสูงอายุชิงชนะเลิศ ครั้งที่ 29

 

เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 67 นางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมการแข่งขันกรีฑาสูงอายุชิงชนะเลิศประเทศไทย ครั้งที่ 29 ประจำปี 2568 ณ ห้องประชุมพญาพิภักดิ์ ศาลากลางจังหวัดเชียงราย โดยมี นางชญาณ์นันท์ เชื้อศิริถาวร ผู้อำนวยการสำนักงานการกีฬาแห่งประเทศไทย จังหวัดเชียงราย และคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ เข้าร่วมประชุมเพื่อหารือและพิจารณาถึงบทบาทหน้าที่รับผิดชอบของสมาคมกรีฑาผู้สูงอายุไทย และจังหวัดเจ้าภาพคือจังหวัดเชียงราย ซึ่งได้มีการจัดการแข่งขันกรีฑาสูงอายุชิงชนะเลิศประเทศไทย ครั้งที่ 28 ประจำปี 2567 ณ จังหวัดสกลนคร มาแล้วและได้ส่งต่อเจ้าภาพให้กับจังหวัดเชียงราย ต่อไป

โดยก่อวาระการประชุมได้มีการแนะนำตัวคณะสมาคมกรีฑาผู้สูงอายุไทยต่อที่ประชุม คือ นายวิวัฒน์ วิกราตโนรส นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมกรีฑาผู้สูงอายุไทย นางสาวจันทร พิมพ์สกุล ที่ปรึกษาสมาคมกรีฑาผู้สูงอายุไทย นายเพิ่มศักดิ์ สุริยจันทร์ นายกสมาคมกรีฑาผู้สูงอายุไทย ซึ่งเป็นองค์กรกีฬาระดับชาติ ได้รับอนุญาตจัดตั้งตามพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 เป็นสมาชิกของสหพันธ์กรีฑสูงอายุแห่งเอเชียและสหพันธ์ฯโลก มีวัตถุประสงค์หลักในการดำเนินกิจกรรมกรีฑาสูงอายุ เพื่อสร้างพื้นที่และโอกาสให้แก่ประชาชนโดยทั่วไปและอดีตนักกีฬาทีมชาติที่พ้นจากระบบกีฬาเพื่อความเป็นเลิศ ได้เข้าถึงกิจกรรมกีฬาโดยต่อเนื่องตามอุดมการณ์การส่งเสริมให้ทุกคนมีโอกาสเล่นกีฬาต่อเนื่องตลอดชีวิต
 
 
สำหรับที่ประชุม ได้มีการชี้แจงรายละเอียดโครงการแข่งขันกรีฑาสูงอายุชิงชนะเลิศประเทศไทย ด้วยจังหวัดเชียงราย ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สมาคมกีฬาแห่งจังหวัดเชียงราย สำนักงานการกีฬาแห่งจังหวัดเชียงราย และได้รับเกียรติจากสมาคมกรีฑาผู้สูงอายุไทย ให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกรีฑาสูงอายุชิงชนะเลิศประเทศไทย ครั้งที่ 29 ประจำปี 2568 ณ จังหวัดเชียงราย โดยได้กำหนดจัดการแข่งขันฯ ในระหว่างวันที่ 13-16 กุมภาพันธ์ 2568 ณ สนามกีฬากลางจังหวัดเชียงราย โดยจะมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 โดยจะมีการประชุมคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมการจัดการแข่งขันฯ ต่อไป
 
 
สำหรับการจัดการแข่งขันกรีฑาผู้สูงอายุชิงชนะเลิศประเทศไทย เริ่มจัดการแข่งขันครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2539  ครั้งที่ผ่านมาเป็นการจัดการแข่งขัน ครั้งที่ 28 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีทัศนคติด้านบวก ในการรักการออกกำลังกาย  ส่งเสริมผู้สูงอายุ ที่มีความสามารถด้านกรีฑา ได้มีโอกาสเข้าร่วมการแข่งขัน และได้พัฒนาตนเองเป็นตัวแทนระดับจังหวัด ระดับภาค ระดับชาติ และยังเป็นการคัดเลือกนักกรีฑาผู้สูงอายุ เป็นตัวแทนทีมชาติไทยเข้าร่วมการแข่งขันกรีฑาผู้สูงอายุชิงแชมป์เอเชีย ต่อไป   โดยมีนักกีฬาสมัครเข้าร่วมการแข่งขันทั้งสิ้น  1,281 คน   ประกอบด้วย  นักกีฬาไทย 896  คน นักกีฬาเพื่อสุขภาพ 300  คน และนักกีฬาจากต่างประเทศ อีก 85  คน
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI ECONOMY

พัฒนาเศรษฐกิจภาคเหนือตอนบน 2 เชื่อมโยงอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

 

เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2567 ที่ห้องประชุมศรีจอมทอง ชั้น 2 โรงแรมไชยนารายณ์ ริเวอร์ไซด์ ตำบลริมกก อำเภอเมืองเชียงราย นางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน) ภายใต้ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ระหว่างวันที่ 5-7 มิถุนายน 2567 

 

โดยมีนายธนะสิทธิ์ ศรีคำภา หัวหน้าสำนักงานบริหารยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 นำส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนจังหวัดเชียงราย ให้การต้อนรับ รองผู้ว่าราชการจังหวัด พะเยา แพร่ น่าน และเจ้าหน้าที่จากพะเยา แพร่ น่าน เพื่อเตรียมความพร้อม และระดมความคิดเห็นในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ภายใต้ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน สำหรับใช้เป็นข้อเสนอในการจัดทำแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) ฉบับทบทวน พ.ศ. 2568 – 2570 และแผนปฏิบัติราชการประจำปึงบประมาณ พ.ศ. 2569 ให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 “ท่องเที่ยวบนพื้นฐาน วัฒนธรรมร่วมสมัย ยกระดับสินค้าเกษตร สิ่งแวดล้อมยั่งยืน สู่เศรษฐกิจมั่นคง”

 

นางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ปัจจุบันนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ได้ประกาศวิสัยทัศน์ “IGNITE THAILAND” มุ่งเป้าพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก ครอบคลุมทั้งการท่องเที่ยว รักษาพยาบาลและสุขภาพ อาหาร การบิน เทคโนโลยี และการเงิน โดยมีแผนพัฒนาการเป็นศูนย์กลางการบิน การขนส่งของภูมิภาค ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค นอกจากนี้ กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน2 มีโครงข่ายระบบโลจิสติกส์ (Logstics) 

 

ที่สามารถเชื่อมโยงสู่กลุ่มประเทศ GMS ได้สะดวก รวดเร็ว เช่น การสร้างรถไฟทางคู่ สายเด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ ศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของจังหวัดเชียงรายและศูนย์รับซ่อมอากาศยานครบวงจร ของท่าอากาศยานนานาชาติแม่ฟ้าหลวงเชียงราย ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ประกอบกับ กลุ่มจังหวัด ฯ มีภูมิศาสตร์ที่เป็นประตูการค้า การลงทุน และการค้าชายแดน ที่สำคัญในภาคเหนือและของประเทศ มีแหล่งท่องเที่ยวหลากหลายรูปแบบ ดังนั้น กลุ่มจังหวัด จึงควรเตรียมความพร้อมรองรับการพัฒนาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยการระดมความคิดเห็น เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางการพัฒนากลุ่มจังหวัด ๆ ภายใต้ภาคีเครือข่ายภาคเอกชน และภาครัฐ เพื่อให้เป้าหมายการพัฒนาสัมฤทธิ์ผลผ่านแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด ระยะ 5 ปี และแผนปฏิบัติราชการประจำปีของกลุ่มจังหวัดได้ก้าวต่อไปในอนาคต

 

ทั้งนี้ตลอดระยะเวลา 3 วัน ผู้เข้าร่วมฯ จะได้ร่วมระดมความคิดเห็น เพื่อแก้ไข ปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้บริหารจังหวัดภายในกลุ่มจังหวัด ส่วนราชการ และคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน  รวมถึงมีการบรรยายที่สำคัญ ได้แก่ “ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2เชื่อมโยงกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง” จากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง “

 

การเตรียมความพร้อมรองรับการพัฒนาโครงข่ายระบบโลจิสติกส์ภายในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 เชื่อมโยงกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง” จากวิศวกรโครงการ ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) “ศักยภาพระบบโลจิสติกส์ทางอากาศสู่การพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ” จากท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย และ”การพัฒนาโครงข่ายการคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ภายใต้ศูนย์เปลี่ยนถ่าย รูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย” จากขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI ECONOMY

สร้า้งภาพลักษณ์ที่ดีของจังหวัดบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ “ชาเชียงราย”

 

เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2567 ที่ห้องประชุมสำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงราย ศาลากลางจังหวัดเชียงราย นางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกำกับดูแลและอนุญาตการใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ “ชาเชียงราย” โดยมีคณะกรรมการและคณะทำงานทั้ง 3 คณะ ประกอบด้วย คณะกรรมการกำกับดูแลและอนุญาตการใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ “ชาเชียงราย” คณะทำงานเพื่อพิจารณาคำขอตรวจสอบควบคุมคุณภาพ และแหล่งที่มาของสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ “ชาเชียงราย” และคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีเกิดปัญหาละเมิดข้อร้องเรียน ข้อพิพาทและข้อเสียหายจากการใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ “ชาเชียงราย” เข้าร่วมประชุม

 

     โดยในครั้งนี้ มีผู้ประกอบการได้ขอต่ออายุหนังสืออนุญาตใช้ตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) จำนวน 3 ราย ได้แก่ 1. ใบชาหยดน้ำค้าง 2. บริษัท วังพุดตาล จำกัด 3. บริษัท ชา 101 จำกัด ในที่ประชุมได้ยกมติในคราวประชุมเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2567 ณ ห้องประชุมสำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงราย 

 

โดยคณะทำงานเพื่อพิจารณาคำขอตรวจสอบควบคุมคุณภาพ และแหล่งที่มาของสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ “ชาเชียงราย” ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพมาตรฐาน (GI) “ชาเชียงราย” และนำผลการพิจารณาดังกล่าว เสนอต่อคณะกรรมการกำกับดูแลและอนุญาตการใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ “ชาเชียงราย” ในการประชุมครั้งนี้ ซึ่งคณะกรรมการกำกับดูแลและอนุญาตการใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ “ชาเชียงราย เห็นชอบและรับรองการต่ออายุหนังสือผู้ขอยื่นใช้ตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) “ชาเชียงราย” ให้ทั้ง 3 ราย ได้แก่ 


      1. ใบชาหยดน้ำค้าง 126 หมู่ 13 ตำบลแม่เจดีย์ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ได้ยื่นต่ออายุสินค้าจำนวน 1 รายการ ได้แก่ ชาเขียว สายพันธุ์ชาอัสสัม 
      2. บริษัท วังพุดตาน จำกัด 7/1 หมู่ 12 ตำบลแม่สลองนอก อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ได้ยื่นต่ออายุสินค้า จำนวน 2 รายการ ได้แก่ ชาอู่หลงก้านอ่อน สายพันธุ์ชาจีน และชาอู่หลง เบอร์ 12 สายพันธุ์ชาจีน 
      และ 3. บริษัท ชา 101 จำกัด 7/1 หมู่ 12 ตำบลแม่สลองนอก อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ได้ยื่นต่ออายุสินค้า จำนวน 4 รายการ ได้แก่ ชาอู่หลง เบอร์ 17 สายพันธุ์ชาจีน ชาอู่หลง เบอร์ 12 สายพันธุ์ชาจีน ชาอู่หลงสี่ฤดู สายพันธุ์ชาจีน และชาเขียว สายพันธุ์ชาจีน

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News