วันที่ 27 พฤษภาคมปีนี้ ครบรอบ 1 ปีที่มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาและเห็นชอบรายงานการศึกษาเรื่อง “แนวทางการเสนอกฎหมายบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ” โดยคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การสวัสดิการสังคม เพื่อให้สภาส่งต่อไปยังรัฐบาล ให้พิจารณาดำเนินการตามรายงานและข้อสังเกตต่อไป ได้แก่ การกำหนดเป้าหมายความคุ้มครองความยากจน แหล่งรายได้ และ การบูรณาการระบบบำนาญของประเทศ เป็นต้น
ตลอด 1 ปีที่ผ่านมาได้มีเสียงสะท้อนในสังคม ทำให้ทุกท่านน่าจะตระหนักดีว่า ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว โดยสัดส่วนของประชากรวัยทำงานกำลังลดลง ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและความยากจนในครัวเรือนผู้สูงอายุ
เมื่อประมาณ 10 ปีก่อน รายงานธนาคารโลกเรื่อง “การลดปัญหาความยากจนของผู้สูงอายุในประเทศไทย:บทบาทของโครงการบำนาญและการช่วยเหลือทางสังคม” ปี 2555 ระบุว่า รัฐบาลมีโครงการบำนาญหลายโครงการเพื่อรับมือกับปัญหา แต่ก็ยังมีสิ่งที่ประเทศไทยสามารถจะทำได้อีกมากเพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการคุ้มครองความยากจน
เนื่องจากประเทศไทยมีโครงการบำนาญอยู่ 8 โครงการ ครอบคลุมประชากรกลุ่มที่แตกต่างกัน ได้แก่ ประกันสังคม มาตรา 33 และ 39, กบข. และ บำนาญข้าราชการ, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ, เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ, กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.), และ ประกันสังคม มาตรา 40 ดังนั้น การที่ไม่มีนโยบายบำนาญแห่งชาติที่ชัดเจน จึงทำให้เกิดความซ้ำซ้อนและขาดการประสานงานระหว่างแต่ละหน่วยงานที่ดูแลโครงการบำนาญต่างๆ
ลักษณะสำคัญบางประการของระบบบำนาญของประเทศไทย คือ สิทธิประโยชน์ส่วนใหญ่จะตกอยู่กับผู้ที่ไม่ได้ยากจน, มีเพียงระบบ “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” เท่านั้นที่มีความครอบคลุมผู้สูงอายุได้แบบถ้วนหน้า, หลายโครงการมีข้อจำกัดด้านกรอบกฎหมายไว้ไม่เพียงพอ ไม่มีหน่วยงานซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแล เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือทำหน้าที่กำกับดูแลด้านการเงินโดยรวม, และ ไม่มีนโยบายบำเหน็จบำนาญระดับชาติที่มีความเชื่อมโยงกัน
รายงานธนาคารโลกฉบับดังกล่าวยังระบุด้วยว่า ประเทศไทยมีโครงการบำนาญมากเกินไป จึงควรพิจารณาบูรณาการแต่ละโครงการเข้าด้วยกัน และ มีการปรับเปลี่ยนระบบบำนาญทั้งหมด โดยมุ่งเน้นที่การลดความยากจนในผู้สูงอายุ, ตั้งหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลโครงการบำนาญ, และ กำหนดความรับผิดชอบ (accountability) ที่ชัดเจนไว้ในนโยบายบำนาญรวม
อย่างไรก็ตาม เมื่อเรามาพิจารณาสภาพในปัจจุบัน ปี 2566 คนจำนวนมากที่ยากไร้โอกาสตั้งแต่กำเนิด ก็ยังคงไม่มีระบบรองรับทางสังคม (social safety net) ด้านความยากจนในวัยชรา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศไทยยังไม่มีระบบการออมที่สามารถครอบคลุมทุกคนในวัยทำงาน เหมือนหลายประเทศพัฒนาแล้วที่บังคับให้ทุกคนต้องอยู่ในระบบ และ มีข้อน่ากังวลที่เบี้ยยังชีพขั้นพื้นฐานต่ำเกินไปจนไม่สามารถคุ้มครองความยากจนได้ และเป็นอัตราที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงตามภาวะเงินเฟ้อ
ทั้งนี้ การพิจารณาเรื่องความยากจนผู้สูงอายุในมุมมองของระบบความคุ้มครองทางสังคม จำเป็นต้องตระหนักถึงปัญหาความเป็นธรรมในการพัฒนาเศรษฐกิจ และ ความเหลื่อมล้ำแบบรวยกระจุกจนกระจาย เพราะคนที่เกิดมาในพื้นที่ขาดแคลน ไม่มีโอกาสทางการศึกษา ต้องทำงานเป็นแรงงานราคาถูก มีรายได้เติบโตไม่ทันค่าครองชีพ ทำงานจนเกษียณก็ไม่มีทางลืมตาอ้าปาก
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในช่วงวัยทำงานจะมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ก็ได้ร่วมจ่ายภาษีผ่านการบริโภค เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีการค้า ภาษีธุรกิจเฉพาะ อากรแสตมป์ ภาษีศุลกากร ภาษีน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน ภาษีเครื่องดื่ม ภาษีเครื่องใช้ไฟฟ้า ภาษีรถยนต์ ภาษีรถจักรยานยนต์ ภาษีแบตเตอรี่ ภาษีสุราและยาสูบ เป็นต้น
ดังนั้น เราควรที่จะมีการจัดสรรทรัพยากรเพื่อทำให้สังคมโดยรวมมีระดับความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อันจะส่งผลทางบวกต่อศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ ช่วยทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้เร็วกว่า และ ช่วยให้สังคมมีความปรองดอง ซึ่งหากใช้เหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ ก็ควรที่จะใช้นโยบายการคลัง เพื่อจัดสรรให้มีการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม
ดังที่ คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เคยให้สัมภาษณ์ว่า “ผมมองไม่เห็นทางอื่น นอกจากปฏิรูปภาษีครั้งใหญ่ ถ้าจะไปอย่างเต็มสูบ ไม่รื้อระบบภาษีครั้งใหญ่ ผมไม่คิดว่าจะทำได้ ทั้งหมดนี้เพื่อปูทางไปสู่แนวคิดที่ว่า ทุกคนจะต้องมีหลักประกัน ถ้ารัฐยังไม่มีกำลัง ก็ต้องมีการร่วมจ่าย … การเมืองประชาธิปไตยมันช่วยแน่ ๆ” และ คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ระบุว่า “ที่ผ่านมาคนรวยร่วมทุกข์ร่วมสุขกับคนส่วนใหญ่ของประเทศน้อยเกินไป คนกลุ่มนี้ได้ผลประโยชน์มหาศาลจากคนในชาติ หากเราสามารถคำนวณ Effective Tax Rate ของคนรวยได้ เราน่าจะเห็นช่องทางในการเก็บภาษีได้อีกมาก” (โครงการวิจัย ระบบบำนาญแห่งชาติ, 2566)
ขณะนี้เรารอการผลการเลือกตั้ง ซึ่งน่าจะอีก 3-4 เดือน จึงจะรู้ว่า ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี พรรคใดจะเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องนโยบายบำนาญ ซึ่งข้อเสนอพรรคการเมืองที่หาเสียง มีตั้งแต่นโยบายขายฝันดีจนสื่อไม่นำไปลงข่าว ไปจนกระทั่งนโยบายที่กำหนดเป้าหมายระบบความคุ้มครองความยากจนผู้สูงอายุ พร้อมทั้งระบุแหล่งที่มาของรายได้ เช่น ตัดลดงบประมาณที่ไม่จำเป็น เพิ่มประสิทธิภาพและความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี และ ใช้ภาษีก้าวหน้าที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ
แม้บำนาญประชาชนจะเป็นข้อเรียกร้องจากทั้งภาคประชาชน ภาควิชาการ รวมทั้งเป็นมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในปัจจุบันที่สะท้อนความต้องการของสังคม ซึ่งภาคการเมืองให้ความสนใจอย่างจริงจัง แต่จากสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันก็ประเมินได้ถึงอุปสรรคสำคัญในทางปฏิบัติ
เพราะแม้ว่ากลุ่มที่ถูกคาดหวังจากเจตจำนงของประชาชนจะให้เป็นพรรครัฐบาล มีเป้าหมายการขับเคลื่อนเรื่องนี้ แต่ยังต้องเผชิญกับเงื่อนไขและความไม่แน่นอนทางการเมืองอื่น ๆ ที่อาจเป็นอุปสรรคทำให้ไม่สามารถขับเคลื่อนนโยบายได้ โดยเฉพาะกับกลุ่มการเมืองเดิมหรือกลุ่มอำนาจทุนเดิมบนยอดปิรามิดที่อาจเสียประโยชน์ เพราะการพัฒนาบำนาญประชาชน จะต้องมีการปฏิรูปด้านภาษีและงบประมาณ แล้วจัดสรรให้แบ่งปันทรัพยากรอย่างเป็นธรรมมากขึ้น
ท้ายสุดนี้ ผู้เขียนขอเรียนให้ทุกท่านโปรดช่วยกันพิจารณาว่า หากไม่ทำอะไรเลย งบประมาณสำหรับผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วภายในสองทศวรรษข้างหน้า โดยส่วนมากมาจากงบบำนาญข้าราชการ ซึ่งจะเพิ่มสูงขึ้นไปพร้อมกับงบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ดังนั้น ในเมื่อประเทศไทยจำเป็นต้องมีรายรับรัฐบาลที่เพิ่มขึ้น ก็ควรจะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสแก้ไขปัญหาโครงสร้างของประเทศ โดยปฏิรูประบบเศรษฐกิจให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น และ สร้างระบบสวัสดิการเพื่อให้คุณภาพชีวิตของทุกคนดีขึ้น
อ่านเพิ่มเติม
การลดปัญหาความยากจนของผู้สูงอายุในประเทศไทย : บทบาทของโครงการบำนาญและการช่วยเหลือทางสังคม. ตุลาคม 2555. Brixi,Hana; Jitsuchon,Somchai; Skoufias,Emmanuel; Sondergaard,Lars M.; Tansanguanwong,Pamornrat; Wiener,Mitchell. Reducing elderly poverty in Thailand : the role of Thailand’s pension and social assistance programs (Thai). Washington, D.C. : World Bank Group. https://documents1.worldbank.org/curated/en/355211468120870525/pdf/805270WP0THAI00Box0382091B00PUBLIC0.pdf
โครงการวิจัย “การวิเคราะห์ช่องว่างทางการคลัง แหล่งรายได้ และความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์การเมืองของการจัดตั้งระบบบำนาญแห่งชาติ โดยคำนึงถึงผลกระทบของ COVID-19 ที่มีต่อผู้สูงอายุ” 2566. โดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) https://theepakornblog.wordpress.com/2023/01/20/powerpoint_move_mountain/
เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ดร.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์