Categories
EDITORIAL

นักวิจัยเตือนฝนตกหนักปลายสัปดาห์เฝ้าระวังกทม.-ปริมณฑลและอยุธยา

 

รศ. ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ผู้อำนวยการแผนงานการนำผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ ด้านการบริหารจัดการน้ำ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำและน้ำท่วมในขณะนี้ว่า ภาคเหนือน้ำเริ่มลดแล้วแต่ต้องเฝ้าระวังภาคกลางเพิ่มขึ้น โดยขณะนี้ระดับน้ำสูงขึ้นไล่มาตั้งแต่จังหวัดกำแพงเพชร พิษณุโลก อุทัยธานี นครสวรรค์ ลงมาถึงพระนครศรีอยุธยา อาจมีน้ำท่วมริมตลิ่งและมีโอกาสล้นคันกั้นน้ำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระนครศรีอยุธยาระดับน้ำเพิ่มจาก 1,832 ลบ.ม./วินาที เป็น 2,682 ลบ.ม./วินาที ถือว่าใกล้ปริ่มน้ำมาก หากเกิน 3,000 ลบ.ม./วินาที อาจต้องปล่อยน้ำเข้าพื้นที่อำเภอบางบาลและบางไทรซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำ

“การคาดการณ์ฝนในช่วงนี้ ร่องความกดอากาศต่ำจะทำให้ปลายสัปดาห์นี้ มีโอกาสฝนตกหนักในพื้นที่บริเวณภาคกลาง จึงต้องเฝ้าระวังและเตรียมรับมือทั้งพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะบ้านเรือนริมน้ำ ซึ่งได้ส่งข้อมูลให้กรุงเทพมหานครแล้ว โดยทาง กทม. ได้เตรียมขุดลอกคูคลองและท่อระบายน้ำ แก้ปัญหาพื้นที่ฟันหล่อพร้อมรับมือ กับสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้นตามแผนรับมือหน้าฝนปี 2567 แล้ว” รศ. ดร.สุจริตระบุ

สำหรับสถานการณ์น้ำ ฝนคาดการณ์ การบริหารเขื่อน และสภาพน้ำท่าท้ายเขื่อน ตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน ถึง 14 ตุลาคม 2567 จากการวิเคราะห์ข้อมูลของทีมวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน พบว่ามีพื้นที่น้ำท่วมครอบคลุมภาคเหนือตอนบนและภาคกลางในเขตลุ่มน้ำโขงเหนือ น่าน ยม วัง และเจ้าพระยารวม 20 จังหวัด จำนวน 1.347 ล้านไร่ โดยจะยังคงมีปริมาณน้ำฝนสูงในบริเวณพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และเริ่มลงภาคใต้ โดยปริมาณน้ำเก็บกักในเขื่อนภูมิพลอยู่ที่ร้อยละ 61 เขื่อนสิริกิติ์ร้อยละ 91 เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนร้อยละ 68 และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ร้อยละ 64

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
SOCIETY & POLITICS

‘วงปล่อยแก่’ สู้ศึกมหกรรมขับร้อง ประสานเสียงนานาชาติแห่งประเทศไทย 2024

 

เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงาน ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ตัวเลขกลุ่มผู้สูงอายุในปัจจุบันขณะนี้มีมากกว่า 13.64 ล้านคน และในอีก 16 ปีข้างหน้าคาดว่าประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว กลุ่มคนเหล่านี้จะกลายเป็นคนไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ มีแต่รายจ่าย และสุดท้ายคือไม่มีคนสนใจเหลียวแล หากมีอายุยืนจากการดูแลสุขภาพดีกินดีมีโรงพยาบาลดีหมอดีการดูแลรักษาร่างกายดี คนแก่เหล่านี้จะมีอายุยืนยาวไปถึง 90 ปี จึงเกิดคำถามที่ว่าคนแก่ 20 ล้านคนนี้จะไปทำอะไร หรือจะกลายเป็นทรัพยากรที่ศูนย์เปล่าของสังคมไทย

 

รองศาสตราจารย์ ดร.สุกรี เจริญสุข ประธานมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข และผู้อำนวยการวงปล่อยแก่ เปิดเผยว่า ด้วยเห็นถึงความสำคัญของกลุ่มผู้สูงอายุในประเทศไทย มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ จึงร่วมกันผลักดันกิจกรรมที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในประเทศไทย โดยเริ่มต้นจากมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้การสนับสนุนทุนในโครงการดนตรีพลังบวกปล่อยแก่ ซึ่งเป็นวงขับร้องประสานเสียง และเริ่มต้นจากวงปล่อยแก่บ้านคา จ.ราชบุรี ภายในหลังมีการขยายโครงการโดยการสนับสนุนทุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ในการวิจัยโครงการ “วงปล่อยแก่ ภาคส่งเสริมต่อยอดสู่วัยเกษียณอย่างมีพลัง” ซึ่งเน้นการทำงานวิจัย การประเมินเรื่องความมีชีวิตชีวาของผู้สูงอายุและการทำ Soft power กิจกรรมนอกห้องเรียนและการรวมตัวกันทำนวัตกรรมเกี่ยวกับเพลง เนื่องจากเล็งเห็นว่าการเรียนดนตรีในห้องเรียนอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ จำเป็นต้องมีกิจกรรมนอกห้องเรียน และมีเวทีแสดงผลงานอย่างเป็นทางการ ทำให้โครงการปล่อยแก่ได้ขยับขยายพื้นที่ขึ้นเรื่อย ๆ จวบจนปัจจุบัน พ.ศ.2567 มีทั้งหมดถึง 13 วง 12 จังหวัด จากวงปล่อยแก่บ้านคา เกาะลอย เดินหน้าไปที่ จ.ยะลา จ.ลำปาง จ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย จ.อุดรธานี จ.บุรีรัมย์ จ.นครสวรรค์ จ.ภูเก็ต จ.สุราษฎร์ธานี จ.นครราชสีมา รวมถึงตัวแทนวงปล่อยแก่กรุงเทพมหานคร จากชมรมสายใจ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ซึ่งมีสมาชิกกว่า 25 คน นับเป็นต้นแบบของการทำวงปล่อยแก่ในรูปแบบองค์กร และเป็นการเตรียมความพร้อมของผู้ที่จะเกษียณอายุและนำผู้ที่เกษียณอายุไปแล้วกลับเข้าสู่องค์กรในบทบาทใหม่อีกครั้ง

ต้องยอมรับว่าไม่คาดคิดว่าวงปล่อยแก่จะมาได้ไกลถึงขนาดนี้ มาจากความร่วมมือของภาคีเครือข่ายทั้งหมด เพราะแต่ละหน่วยงงานเป็นฟันเฟืองที่จะทำให้การขับเคลื่อนโครงการประสบผลสำเร็จและเป็นรูปธรรมมากขึ้น เนื่องจากการทำงานกับวงปล่อยแก่ทั้ง 13 จังหวัด ต้องใช้ทุนสนับสนุนเยอะ รวมกับการใช้องค์ความรู้ด้านดนตรี  เนื่องจากเป็นองค์ประกอบทุกส่วนคือส่วนสำคัญที่จำเป็น อาทิเช่น การที่คุณครูไปสอนในแต่ละพื้นที่ทุกสัปดาห์ การเดินทาง อาหาร การติดตามผล การกระตุ้นให้กิจกรรมดำเนินไปถึงเป้าหมาย ฯลฯ เพื่อให้โครงการสัมฤทธิ์ผล และเมื่อการดำเนินโครงการมาถึงวันนี้ต้องยอมรับว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่ที่เคยถูกมองว่าไร้ค่าในสังคม เมื่อได้มาเข้าร่วมในวงปล่อยแก่ กลับพบว่า “วงปล่อยแก่” 

มีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น มีความสุข มีพลังในการดำเนินชีวิต เห็นคุณค่าของตนเองมากขึ้น และทำให้เกิดผลกระทบ (Impact) ต่อสังคมไทยอย่างมาก สามารถขึ้นขับร้องเพลงประสานเสียงบนเวทีต่างๆ ได้อย่างมั่นใจ และมีแนวโน้มที่วงปล่อยแก่จะขยายพื้นที่ในจังหวัดต่างๆ มากขึ้น ซึ่งแท้ที่จริงแล้วภารกิจเหล่านี้ควรเป็นภารกิจของหน่วยงานหลักของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กลุ่มผู้ดูแล กรุงเทพมหานคร ผู้ดูแลเทศบาล อบจ. อบต. จริง ๆ เป็นหน้าที่ของพวกเขาโดยตรง แต่เราในนามของมูลนิธิฯ และภาคีเครือข่าย เราเป็นอาสาสมัครที่เข้ามาทำตรงนี้และทำสำเร็จด้วยพลังของพวกเราเอง

ในส่วนการประกวดมหกรรมขับร้องประสานเสียงนานาชาติแห่งประเทศไทย 2024 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-6 กันยายน 2567 ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ยังเป็นผู้สนับสนุนการส่ง “วงปล่อยแก่” เข้าร่วมแข่งขันชิงชัยในครั้งนี้ด้วย โดยเป้าหมายของสมาชิกในวงคือการที่จะได้ขึ้นไปยืนบนเวทีของศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเวทีอันทรงเกียรติและหากคว้ารางวัลมาได้ก็จะเป็นสิ่งที่จะจดจำไปตลอดชีวิตของพวกเขาครับ

ด้าน นายรองรักษ์ พนาปวุฒิกุล กรรมการและเหรัญญิก มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ดำเนินโครงการหลาย ๆ โครงการ เพื่อให้เกิดผลกระทบ (Impact) ในเชิงบวกกับสังคม ซึ่งหนึ่งในโครงการที่มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องมากกว่า 4 ปี คือ โครงการดนตรีพลังบวก ที่ได้ดำเนินการร่วมกับมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ด้วยการสร้างวงดนตรีประสานเสียงสำหรับผู้สูงวัย ชื่อ “วงปล่อยแก่” เพื่อที่จะนำเสียงเพลงและดนตรีมาใช้เป็นสื่อในการสร้างความสุขทั้งกายและใจ รวมถึงสร้างความภาคภูมิใจให้กับผู้สูงอายุ อันส่งผลต่อการสร้างกำลังใจในการดูแลตนเองของผู้สูงอายุ อีกทั้งยังส่งผลให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นในครอบครัวและในชุมชน นับเป็นการสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้น ทั้งต่อผู้สูงอายุ ตลอดจนสังคมและชุมชนโดยรวม การที่ผู้สูงอายุที่เป็นตัวแทนจากวงประสานเสียง “วงปล่อยแก่” จากทั่วประเทศ ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมในการประกวดมหกรรมขับร้องประสานเสียงนานาชาติแห่งประเทศไทยในครั้งนี้ จึงนับเป็นความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจ เป็นการแสดงให้เห็นว่า ผู้สูงอายุของไทยมีคุณภาพ มีความสามารถ มีสุขภาวะที่ดี มีพลังที่จะสร้างสรรค์สังคมที่มีคุณภาพ และยังมีส่วนในการสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศอีกด้วย ทั้งนี้ มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ฯ มุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนภารกิจโดยมีเป้าหมายในการยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อสร้างความอยู่ดีมีสุขให้กับคนไทย มุ่งหวังที่จะสร้างสังคมที่เข้มแข็งจากฐานราก อันจะมีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของประเทศ ซึ่งหนึ่งในเรื่องที่มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ความสำคัญ คือ การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ โดยเน้นการส่งเสริมคุณค่าของผู้สูงอายุเพื่อลดการพึ่งพิงให้สามารถดำรงชีวิตได้ โดยมีสุขภาพกายและใจที่ดี

ด้าน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เปิดเผย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้ความสำคัญกับการศึกษาและวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามสภาวะประชากรสูงอายุ (Aging Population) โครงการ “วงปล่อยแก่” นับเป็นการนำองค์ความรู้ทางด้านจิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology) และดนตรีบำบัด (Music Therapy) มาประยุกต์ใช้ในการส่งเสริมสุขภาวะของผู้สูงอายุ โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิต ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรัง และเสริมสร้างความเข้มแข็งของสังคม ผลการวิจัยเบื้องต้นพบว่า ผู้สูงอายุที่เข้าร่วมโครงการมีระดับความสุขและความพึงพอใจในชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยก่อนหน้านี้ที่ระบุว่าการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมและการเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมสุขภาวะของผู้สูงอายุ

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้เข้ามาสนับสนุนโครงการวิจัย โดยช่วยให้สามารถพัฒนาเครื่องมือวัดผลกระทบของโครงการที่ครอบคลุมทั้งด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิต และสังคม โดยใช้แบบสอบถามและการสัมภาษณ์เชิงลึก ผลการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ พบว่า โครงการ “วงปล่อยแก่” มีส่วนช่วยลดระดับความเครียดและภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังส่งผลให้เกิดการสร้างเครือข่ายทางสังคมที่เข้มแข็งขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนการดูแลตนเองและการอยู่ร่วมกันในสังคมของผู้สูงอายุ

ในอนาคต วช. มีแผนที่จะขยายผลโครงการ “วงปล่อยแก่” ไปยังกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายมากขึ้น เช่น ผู้สูงอายุในชนบท ผู้สูงอายุที่มีความบกพร่องทางร่างกาย และผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่คนเดียว นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมสำหรับผู้ดูแลผู้สูงอายุ เพื่อให้สามารถนำองค์ความรู้จากโครงการไปประยุกต์ใช้ในการดูแลผู้สูงอายุในครอบครัวและชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลการวิจัยจากโครงการนี้จะถูกนำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดนโยบายสาธารณะที่เอื้อต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในประเทศไทยต่อไป และอาจต่อยอดกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ ร่วมกับมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข รวมถึงหน่วยงานพื้นที่ที่ดูแลผู้สูงอายุในระดับพื้นที่ต่อไป 

อย่างไรก็ตามขอเชิญชวนกลุ่มผู้สูงอายุในประเทศไทยให้เข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม เช่น การร้องเพลงประสานเสียงในโครงการ “วงปล่อยแก่” เป็นกลยุทธ์สำคัญในการส่งเสริมสุขภาวะของผู้สูงอายุตามแนวคิดของการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน (Active Aging) ซึ่งสอดคล้องกับหลักฐานทางวิชาการที่ชี้ให้เห็นว่ากิจกรรมดังกล่าวมีส่วนช่วยในการรักษาสุขภาพจิตที่ดีและป้องกันโรคเรื้อรังในผู้สูงอายุ จึงขอเชิญชวนผู้สูงอายุทุกท่านมาร่วมสร้างเสียงเพลงแห่งความสุขไปด้วยกัน หรือผู้ที่สนใจสามารถมารับชมการขับร้องจากกลุ่มโมเดลทั้ง 13 จังหวัด ซึ่งกิจกรรมนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นการดูแลสุขภาพที่ดี แต่ยังเป็นการสร้างสังคมที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุอีกด้วย

ด้าน “พี่จิตร” นางวิจิตร ชมหมู่ จากวงปล่อยแก่เกาะลอย จ.ราชบุรี กล่าวรอยยิ้มว่า พี่เป็นชาวบ้านธรรมดาหน้าตาดำ ๆ เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่หาเงินเลี้ยงลูกมาตลอดชีวิต ทำงานตั้งแต่ตี 4 เลิกเที่ยง หลังจากนั้นก็รับจ้างทั่วไป  ชีวิตในทุกวันคือการหมกมุ่นอยู่กับการหาเงินเลี้ยงลูก จนไม่รู้ว่าความสุขของเราอยู่ตรงไหน เมื่อลูกเรียนจบ ดูแลตัวเองได้เราก็เริ่มมีเวลาให้ตัวเอง และหลังจากได้เข้าร่วมโครงการปล่อยแก่ มันเหมือนตอบโจทย์คำว่าความสุขของเรา เราได้ออกมาพบปะเพื่อนฝูง ได้ร่วมกับขับร้องเพลง ทุกสัปดาห์จะมีคุณครูเข้าแนะนำ มาสอนเทคนิควิธีการร้องที่ถูกต้อง รู้สึกเพลิดเพลินและมีความสุขอย่างแท้จริง มันเหมือนยกภูเขาออกจากอก และใส่แม่น้ำใสไหลเย็นลงไปอยู่ในหัวใจ ทำให้หัวใจเราเบิกบาน จากคนที่ไม่เคยแต่งหน้าแต่งตัว เราก็เปลี่ยนแปลงตัวเองในทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ พอ เรามีความสุข ในการร้องเพลงจิตใจเรามันก็สบายขึ้น เราทำแล้วเราได้ความสุข และส่งต่อความสุขตรงนี้มาบอกกับทุกคนค่ะ

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้เข้ามาสนับสนุนโครงการวิจัย โดยช่วยให้สามารถพัฒนาเครื่องมือวัดผลกระทบของโครงการที่ครอบคลุมทั้งด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิต และสังคม โดยใช้แบบสอบถามและการสัมภาษณ์เชิงลึก ผลการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ พบว่า โครงการ “วงปล่อยแก่” มีส่วนช่วยลดระดับความเครียดและภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังส่งผลให้เกิดการสร้างเครือข่ายทางสังคมที่เข้มแข็งขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนการดูแลตนเองและการอยู่ร่วมกันในสังคมของผู้สูงอายุ

ด้านนางวารุณี สกุลรีอานธาราง จากวงปล่อยแก่ จ.ภูเก็ต กล่าวว่า วงปล่อยแก่ของจังหวัดภูเก็ตเราอยู่ร่วมกันแบบพี่น้องที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เป็นการรวมตัวกันในนามวงปล่อยแก่ จ.ภูเก็ต และเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นในระดับจังหวัด หากมีงานของส่วนราชการ องค์กรเอกชน วงปล่อยแก่ภูเก็ตจะได้ไปขับร้องประสานเสียงได้เป็นส่วนหนึ่งของการแสดงในงานระดับจังหวัดเสมอ ถือเป็นการยกระดับการร้องเพลงของเราให้มีคุณภาพขึ้นค่ะ สมาชิกทุกคนมีทักษะการร้องเพลงที่ถูกต้อง อ่านโน้ตเป็น รู้จักการควบคุมลมหายใจ การใช้เสียงสูงเสียงต่ำ และที่สำคัญการเข้ามาอยู่ในวงปล่อยแก่ทำให้คนวัย 60 ปีอย่างพวกเรารู้สึกมีความสุข ได้มีเพื่อนมากขึ้น วันนี้ดีใจที่ผ่านการคัดเลือก (Audition)  และได้มาเข้าค่ายนี้ เพื่อที่จะปฏิบัติภารกิจการแข่งขันระดับนานาชาติ พวกเราจะทำให้เต็มที่และดีที่สุดค่ะ

ด้าน “พี่หน่า” หรือ นางบรรจง ศรีทองแท้ อดีตข้าราชการ เปิดเผยว่า กว่า ปีที่เกษียณอายุราชการ ในทุกวันที่ใช้ชีวิตตามปกติจะอยู่บ้านทำงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ ให้ค่ำมืดไปวันๆ ไม่ได้มีแพชชั่นอะไร พอทราบว่ามีวงปล่อยแก่และเราสามารถเข้าร่วมได้ ก็ใจฟูเลย ใจจดใจจ่อที่จะมาฝึกซ้อมร้องเพลงกับคุณครู ไม่เคยขาดเลยสักครั้ง ทุกครั้งที่มาคือความสุข อิ่มใจ รู้สึกชอบมากๆ ได้มาเจอเพื่อนที่ชอบกิจกรรมเหมือนกัน พูดคุยภาษาเดียวกัน และยังได้รู้เทคนิคการขับร้องที่ถูกต้อง  รู้จักการอ่านโน้ต จริงๆ แค่นี้ก็พอแล้วค่ะสำหรับคนแก่ ได้ร้องเพลงได้มีความรู้สึกว่าดีใจที่มีโครงการสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ มันเหมือนเป็นการเติมเต็มความรู้สึกของคนแก่ที่อยากจะมีชีวิตที่ดีขึ้น อย่างน้อยก็ทำให้หัวใจที่กำลังแห้งเหี่ยว กลับมาใจฟูได้อีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม จากความร่วมแรงร่วมใจ ผนึกกำลังเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ครูผู้ฝึกสอน ผู้ประสานงานทุกจังหวัด และการควบคุมวงโดย “ครูโอม” นายเกื้อกูล เดชมี ผู้ควบคุมวงปล่อยแก่ประเทศไทย Let’s be young ทำให้ได้รับ “เหรียญเงิน” จากการประกวดมหกรรมขับร้องประสานเสียงนานาชาติแห่งประเทศไทย 2024 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-6 กันยายน 2567 ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย มาครองได้สำเร็จ ขอบคุณทุกพลังความร่วมมือที่ทำให้งานนี้ประสบความสำเร็จด้วยดีครับ รศ.ดร.สุกรี กล่าวตอนท้าย

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
FEATURED NEWS

ทีมวิจัยเตือนเฝ้าระวังพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เผยน้ำท่วมนาข้าวเสียหายกว่า 1.6 พันลบ.

 

รศ. ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ประธานแผนงานวิจัยแผนงานการขับเคลื่อนแนวทางการใช้ประโยชน์ด้านการบริหารจัดการน้ำ ระยะที่ 1 ซึ่งได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยว่า คณะวิจัยได้คาดการณ์น้ำเขื่อน น้ำท่า น้ำท่วม ล่วงหน้า 2 สัปดาห์ โดยใช้ฝนคาดการณ์ของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) ร่วมกับงานน้ำเขื่อนโดยมหาวิทยาลัยมหิดล งานน้ำท่าของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน และงานน้ำท่วมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันคาดการณ์ว่าวันที่ 8 กันยายน 2567 ปริมาณน้ำที่จังหวัดนครสวรรค์จะเพิ่มขึ้นถึง 2,180 ลบ.ม.ต่อวินาที หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องเฝ้าระวัง (เนื่องจากจะเกิดผลกระทบต่อพื้นที่ริมแม่น้ำ และค่าเกิน 2,000 ลบ.ม.ต่อวินาที ตามเกณฑ์การจัดการน้ำที่จังหวัดนครสวรรค์จะเป็นการจัดการน้ำระดับชาติ)

 

 

ผลจากการวิเคราะห์ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2567 พบว่าพื้นที่น้ำท่วมในลุ่มน้ำเจ้าพระยามีขนาด 407,311 ไร่ ครอบคลุมจังหวัดเชียงราย พะเยา ลำพูน แพร่ สุโขทัย น่าน และลำปาง โดยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่การเกษตร พื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำสายหลักและสายรอง รวมถึงพื้นที่อยู่อาศัยบางส่วน คาดว่าพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมในปีนี้อาจจะแผ่ขยายออกไปอีกในช่วงต้นเดือนกันยายนในบริเวณเส้นทางน้ำหลากไหลผ่าน รวมถึงพื้นที่ตามแนวเส้นทางผันน้ำทางตอนกลางของประเทศสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาบางส่วน

 

ทั้งนี้ สถานการณ์น้ำของเขื่อนหลักในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล มีเปอร์เซ็นต์ปริมาณน้ำเก็บกัก 47% (ปริมาตรเก็บกักที่รับได้ 7,104 ล้านลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ มีเปอร์เซ็นต์ปริมาณน้ำเก็บกัก 78% (ปริมาตรเก็บกักที่รับได้ 2,110 ล้านลบ.ม. เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีเปอร์เซ็นต์ปริมาณน้ำเก็บกัก 46% (ปริมาตรเก็บกักที่รับได้ 503 ล้านลบ.ม. เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีเปอร์เซ็นต์ปริมาณน้ำเก็บกัก 28% (ปริมาตรเก็บกักที่รับได้ 688 ล้านลบ.ม. เขื่อนกิ่วคอหมา มีเปอร์เซ็นต์ปริมาณน้ำเก็บกัก 89% (ปริมาตรเก็บกักที่รับได้ 18 ล้านลบ.ม.

 

 

“ข้อมูลผลกระทบจากน้ำท่วม ประเมินผล ณ วันที่ 4 กันยายน 2567 ทั้งประเทศไทย พบว่ามีพื้นที่น้ำท่วมรวมทั้งสิ้น 749,511 ไร่ ส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจในพื้นที่ปลูกข้าว 355,255 ไร่ คิดเป็นมูลค่า 1,608 ล้านบาท โดยพื้นที่ 4 จังหวัดภาคเหนือได้รับผลกระทบมากที่สุด รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง จังหวัดที่มีข้าวเสียหายมากที่สุดคือ อุตรดิตถ์ มูลค่า 323.7 ล้านบาท รองลงมาคือ พิจิตร และนครพนม มูลค่า 266.3 ล้านบาท และ 243.1 ล้านบาทตามลำดับ มีพื้นที่ถนนได้รับผลกระทบรวมระยะทาง 508.9 กม. ขณะที่ผลกระทบด้านสังคมทำให้มีผู้ประสบภัย 123,603 คน” รศ. ดร.สุจริตกล่าวสรุป

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
FEATURED NEWS

สกสว.หนุนพื้นที่พลิกวิกฤติน้ำ ต่อจิ๊กซอว์ “โมเดลน่าน”

 

รศ. ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ผู้อำนวยการแผนงานการนำผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ ด้านการบริหารจัดการน้ำ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) นำคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ศึกษาดูงานพื้นที่รูปธรรมการบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่จังหวัดน่าน เพื่อสร้างความเข้าใจแนวทางการขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำระดับพื้นที่ เรียนรู้การพัฒนาผู้บริหาร บุคลากรและแกนนำตำบลในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อจัดทำแผนน้ำชุมชนแบบมีส่วนร่วม โดยมีจิ๊กซอว์สำคัญคือ นักจัดการ ที่เป็นทีมงานหลังบ้านผู้ขับเคลื่อนงาน รวมถึงเรียนรู้การนำระบบภูมิสารสนเทศด้านน้ำมาขับเคลื่อนการจัดทำแผนงานและกิจกรรม นำโดยนายชิษนุวัตร มณีศรีขำ หัวหน้าโครงการขยายผลการเพิ่มประสิทธิภาพในการวางแผนการบริหารจัดการน้ำขององค์กรผู้ใช้น้ำและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เชื่อมโยงกับแผนการจัดการน้ำระดับจังหวัด

            นายสุรพล เธียรสูตร นายกเทศมนตรีเมืองน่าน ระบุว่าการบริหารจัดการน้ำระดับพื้นที่ต้องวิเคราะห์ปัญหาและดำเนินงานตามหลักวิชาการทั้งเรื่องมวลน้ำ ความสามารถในการผ่านน้ำของเขื่อนและประตูระบายน้ำ เพื่อจัดทำแผนฟื้นฟูและตั้งรับ มีระบบป้องกันและคันกั้นน้ำ ควบคู่กับความสามารถในการจัดการน้ำที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่และการใช้ประโยชน์ของแม่น้ำ รวมถึงการปรับตัวของชุมชนเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกับการออกแบบเชิงนโยบาย การจัดการสิ่งแวดล้อม คน น้ำ ป่า ด้วยหลักวิศวกรรมแบบผสมผสาน เพื่อปกป้องและช่วยเหลือตัวเองได้ ขณะที่ภาครัฐต้องมีมาตรการที่คล่องตัว ต่อรองและจูงใจคนส่วนรวมได้ ตัดสินใจแจ้งเตือนโดยไม่ผิดพลาดด้วยองค์ความรู้และข้อมูล รวมถึงสร้างองค์ความรู้ใหม่ให้ประชาชน งานวิชาการจะเป็นตัวตอบโจทย์ที่นำไปสู่การสื่อสารและการวิเคราะห์ที่แม่นยำ

เช่นเดียวกับนายมนูญศักดิ์ สังข์ทอง นายอำเภอบ้านหลวง ที่กล่าวว่าเป็นโอกาสดีที่ภาควิชาการมาช่วยพื้นที่ขนาดเล็กที่มีศักยภาพระดับหนึ่งตามนโยบายของปลัดกระทรวงมหาดไทยที่เน้นการบูรณาการกับ 7 ภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งการป้องกัน เฝ้าระวัง แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ ด้วยการบริหารจัดการแบบพึ่งพาด้วยความรวดเร็วโดยไม่ต้องรอส่วนราชการ ขณะที่นายประดิษฐ์ เพชรแสนอนันต์ กรรมการลุ่มน้ำน่านและ เลขานุการชมรมคนรักษ์ดิน น้ำ ป่า น่าน เสริมว่า การบริหารจัดการน้ำชุมชนต้องใช้ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมร่วมกับทุกภาคส่วนให้มีน้ำกินน้ำใช้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี ขับเคลื่อนเมืองน่านให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ โดยมีพื้นที่ต้นแบบที่เห็นผลจริงซึ่งใช้กระบวนการวิจัยหนุนเสริมจัดการน้ำโดยท้องถิ่นชุมชนผ่านการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างง่าย จัดทำแผนที่เดินดิน ปฏิทินการผลิตตามฤดูกาล

ด้าน ว่าที่ ร.ต.อลงกต ประสมทรัพย์ รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ่อสวก กล่าวถึงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการจัดการน้ำขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยกลไกการมีส่วนร่วม เพื่อจัดเก็บข้อมูลแหล่งน้ำในพื้นที่ สมดุลน้ำ ผังน้ำ ว่าจะอัพเดตทุกปี ๆ ละ 2 ครั้ง คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำระดับตำบลทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายและนักวิชาการ วิเคราะห์สถานการณ์และแก้ไขปัญหาเร่งด่วนด้วยตัวเอง ในระยะกลางโครงการที่เกินศักยภาพของ อบต. ต้องใช้งบประมาณร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ทำแผนผ่านระบบ Thai Water Plan และระยะยาวโครงการที่ใช้งบประมาณสูงในการพัฒนาแหล่งน้ำ เช่น อ่างเก็บน้ำ จะทำงานร่วมกับทีมวิชาการเสนอไปยัง หน่วยงานที่รับผิดชอบ

            รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. เปิดเผยว่า สกสว.สนับสนุนการขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำชุมชนมาหลายปีแล้ว ทำให้มีต้นแบบที่เป็นรูปธรรมหลายแห่ง หนึ่งในนั้นคือจังหวัดน่านที่มีศักยภาพในระดับท้องถิ่น การศึกษาดูงานครั้งนี้ทำให้รับรู้ถึงความซับซ้อนของระบบการจัดการน้ำและภัยพิบัติ ชุดข้อมูลและองค์ความรู้ที่มีอยู่อาจไม่เพียงพอ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนมากขึ้นทำให้การทำงานยากขึ้น จึงต้องมีความรู้ใหม่ ๆ ในการทำงานร่วมกับพื้นที่และระดับนโยบาย เพื่อให้องคาพยพทั้งหมดเห็นปัญหาที่มีความแตกต่างในแต่ละพื้นที่ร่วมกัน และหาทางเชื่อมโยงกับท้องถิ่นและจังหวัดตลอดจนลุ่มน้ำอย่างเป็นรูปธรรม บูรณาการการทำงานโดยใช้ศักยภาพของพื้นที่ วิเคราะห์ปัญหาด้วยข้อมูลต่าง ๆ ส่งต่อให้จังหวัด มีภาควิชาการช่วยให้การคาดการณ์แม่นยำมากขึ้น ซึ่งโมเดลน่านมีความน่าสนใจในการขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ ได้

“การจัดการน้ำชุมชน ชุมชนต้องเข้าใจและลุกขึ้นมาจัดการด้วยตัวเอง เติมเต็มด้วยการพัฒนากลไกและถอดบทเรียนความสำเร็จแก่ อบต.อื่น สกสว.จะทำงานร่วมกับทีมวิชาการและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็ง ใช้เครื่องมือ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่รัฐบาลอาจจะต้องลงทุนเพิ่มเติมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมถึงสื่อสารกับภาคส่วนต่าง ๆ ให้ได้ข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม เพื่อให้ประเทศไทยก้าวข้ามความยากลำบากไปได้ โดยจะคัดเลือกพื้นที่ 10 จังหวัดเพื่อขับเคลื่อนงานตามโจทย์ปัญหาและความพร้อมของพื้นที่ เราจะหนุนเสริมความพร้อมของทีมวิชาการ จังหวัดและชุมชน สิ่งสำคัญคือต้องมีรายละเอียดของชุดข้อมูลที่ถูกต้องน่าเชื่อถือ พร้อมแบ่งปันข้อมูลชุมชนและความต้องการใช้น้ำที่แท้จริงไปสู่กลไกระดับจังหวัดและระดับลุ่มน้ำ และมีองค์ความรู้ตามหลักวิชาการมาประกอบการตัดสินใจวางแผนการบริหารจัดการน้ำของแต่ละภาคส่วน”

ด้าน รศ. ดร.สุจริต กล่าวทิ้งท้ายว่า จากนี้ไปจะเตรียมต่อยอดขับเคลื่อนงานโดยเพิ่มเครือข่ายการบริหารจัดการน้ำจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และกระทรวงมหาดไทย (มท.) โดยใช้แนวคิดการบริหารจัดการน้ำระดับพื้นที่ ชุมชน และจังหวัด เสริมด้วยการจัดการด้านการตลาด เพื่อเตรียมแผนงานและงบประมาณรองรับในการจัดทำกลไกคลินิกวิชาการสนับสนุน โดยวางเป้าไว้ว่ามากกว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจะมีความเป็นอยู่ดีขึ้น

“จากผลงานวิจัยชี้ว่าพื้นที่มีความสามารถในการพัฒนาโครงการได้ดี จะแก้ปัญหาให้ชาวบ้านได้ดีกว่า รูปแบบการทำงานในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันตามปัจจัยและบริบท ซึ่งต้องกำหนดผู้ขับเคลื่อน โดยมีนโยบายจากกระทรวงมหาดไทยที่ชัดเจน เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอร่วมรับผิดชอบดำเนินการในระดับพื้นที่ ในระยะยาวควรมีกฎกระทรวงรองรับการวางแผนและทำงานด้านน้ำระดับพื้นที่ที่ชัดเจน และมีโอกาสได้รับงบสนับสนุนจากสำนักงบประมาณเพิ่มขึ้น เริ่มจากการทำ sandbox เชื่อมโยงกับกระทรวงมหาดไทย อว. และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยมีนักวิชาการเป็นกลไกด้านเทคนิค มีงานวิจัยประกอบการทำแผนงานหลักในการบริหารจัดการน้ำและแผนงานสร้างรายได้ รวมทั้งเชื่อมโยงกับภาคเอกชนเพื่อทำแผนการตลาดนำเป็นเครือข่ายร่วมกัน” รศ. ดร.สุจริตกล่าวสรุป

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
FEATURED NEWS

วช.ปักธง Soft Power หนุนตั้งฮับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหาร

 

รศ. ดร.พรรณี สวนเพลง ผู้บริหารจัดการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญทางด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหาร เปิดเผยว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้เปิดตัวโครงการ ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหาร (Hub of Talent Gastronomy Tourism) ในงาน อว.แฟร์: SCI POWER FOR FUTURE THAILAND มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์ อววน. มุ่งใช้ “อาหารเป็นตัวช่วยสร้างการท่องเที่ยวระดับท้องถิ่น”

ทั้งนี้ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการลิ้มลองอาหารเท่านั้น แต่เป็นการเดินทางเพื่อสัมผัสประสบการณ์ทางด้านอาหารในแต่ละพื้นที่ โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ ความบันเทิงและสันทนาการ ทั้งการรับประทานอาหาร เยี่ยมชมสถานที่ทำอาหาร เทศกาลอาหาร ตลาด งานแสดงและสาธิตการทำอาหาร หรือกิจกรรมการท่องเที่ยวต่าง ๆ ที่สัมพันธ์กับอาหาร ที่ครอบคลุมไปถึงการผลิต ซึ่งเชื่อมโยงไปสู่การท่องเที่ยวเชิงเกษตร เยี่ยมชมแหล่งผลิตแบบพื้นถิ่น การเลือกสรรวัตถุดิบจากแปลงเกษตรต่าง ๆ การปรุงอาหาร ซึ่งนำเสนอผ่านรูปแบบของครัวเปิด หรือการให้นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมในกิจกรรมการปรุงอาหารไปจนถึงขั้นหลังการบริโภค ซึ่งต่อยอดไปสู่การผลิตสินค้าที่ระลึกเพิ่มมูลค่า ตลอดจนการจัดการเศษอาหารเหลือทิ้งด้วยวิธีการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน

รูปแบบการจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารตลอดห่วงโซ่นี้ จะเป็นโอกาสอันดีให้นักท่องเที่ยวได้เติมเต็มประสบการณ์ เก็บเกี่ยว วัฒนธรรมท้องถิ่น และสัมผัสกิจกรรมท่องเที่ยวอันหลากหลายที่เกี่ยวเนื่องมาจากอาหาร ซึ่งสอดแทรกประโยชน์ให้เกิดกับสังคมเศรษฐกิจของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแต่ละภูมิภาค โดยมี 4 เสาหลักเป็นองค์ประกอบ คือ การผลิตอาหารและการเกษตร เรื่องเล่าอาหาร ผลิตภัณฑ์อาหารส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งประเทศไทยมีความโดดเด่นและเอกลักษณ์ของอาหารไทยอันเกิดจากรากเหง้าของความเป็นเมืองพหุวัฒนธรรม ผสมผสานการใช้เครื่องเทศ วัตถุดิบ กรรมวิธีการผลิต การประยุกต์อาหารจากหลายชาติให้เข้ากับวัตถุดิบในท้องถิ่นไทย ผนวกกับการคิดค้นกรรมวิธีการปรุง ความประณีตในการจัดตกแต่งอาหาร งานแกะสลักที่เริ่มมีลักษณะเฉพาะในราชสกุลของกลุ่มชนชั้นสูงตามวังของขุนนางต่าง ๆ ในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นและตอนกลาง จึงทำให้อาหารไทยในปัจจุบันมีความหลากหลาย รสชาติกลมกล่อม และมีรูปร่างหน้าตาอาหารที่ดูน่ารับประทาน ที่สามารถนำไปสู่การสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจภาคธุรกิจอาหารและการท่องเที่ยว ตามนโยบายของรัฐบาลในการใช้ “วัฒนธรรมอาหารไทย” เป็นกลไกให้เกิด Soft Power  บนพื้นฐานของทุนมนุษย์ที่เข้มแข็งยอมเป็นส่วนสำคัญต่อการแข่งขันกับตลาดโลก

“การจัดตั้งศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญในครั้งนี้จึงมีส่วนสำคัญในการนำองค์ความรู้เชิงวิชาการ ศักยภาพของนักวิทยาศาสตร์การอาหาร นักวิชาการการท่องเที่ยวและแขนงอื่น ๆ มาช่วยเพิ่มศักยภาพและเสริมความเข้มแข็งตลอดห่วงโซ่อุปทาน รวมศาสตร์ด้านอาหารและการท่องเที่ยวเพื่อการพัฒนาสังคมและประเทศอย่างยั่งยืน” รศ. ดร.พรรณีระบุ

ทั้งนี้ กิจกรรมหนึ่งที่สำคัญในงาน อว.แฟร์ คือ การฝึกอบรมและการทดสอบ โดยได้รับเกียรติจาก ดร.จันทร์จนา ศิริพันธ์วัฒนา ผู้จัดการสวนดุสิตโฮมเบเกอรี่ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต มาให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสุขาภิบาลอาหาร รวมถึงสำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย ที่ร่วมเปิดการทดสอบแก่ผู้สัมผัสอาหาร เพื่อขึ้นทะเบียนผ่านการอบรมหลักสูตรสำหรับผู้ประกอบกิจการตามกฎกระทรวงสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร โดยผู้ผ่านเกณฑ์จะได้รับหนังสือรับรองผู้สัมผัสอาหารเป็นเครื่องยืนยันถึงความเชี่ยวชาญและมาตรฐานของบุคลากรในการให้บริการอาหาร ซึ่งเป็นอีกก้าวหนึ่งที่สำคัญในการยกระดับความเชี่ยวชาญของบุคลากรการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารสู่มาตรฐานสากล และส่งเสริมการสร้าง Soft Power ด้านอาหารไทยที่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

วช. ผนึกกำลัง ทีม EARTH รับมือ 1 ทศวรรษ แผ่นดินไหวแม่ลาว

 

 เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ ศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ (EARTH: Earthquake Research Center of Thailand) มูลนิธิมดชนะภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว จ.เชียงราย โดยมี ผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาวิชา ผู้ทรงคุณวุฒิ และนักวิจัยในพื้นที่ เป็นผู้นำคณะลงพื้นที่ศึกษาข้อมูลผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ทั้งหมด 5 จุด ณ พื้นที่ จ.เชียงราย 

 

           จุดแรกคณะได้ลงพื้นที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์” นำโดย รศ.ดร.ธีรพันธ์ อรธรรมรัตน์ จาก มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายแพทย์ศุภโชค มาศปกรณ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ 2 และทีมผู้บริหารโรงพยาบาลให้การต้อนรับ 

 

          รศ.ดร.ธีรพันธ์ฯ กล่าวว่า โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ได้รับความเสียหายตรงบริเวณช่วงจุดเชื่อมต่อระหว่างอาคารเก่าและใหม่ โดยความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น อาคารแตกเป็นรอยแนวตั้งยาวสามารถเห็นได้อย่างชัดเจนจากภายนอก และในวันที่เกิดแผ่นดินไหวนั้น ภายในอาคารมีผู้ป่วย แพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่ที่ต้องใช้อาคารอยู่เป็นจำนวนมาก โดยได้ทำการซ่อมแซมเพื่อความมั่นใจของประชาชนที่เข้ารับบริการ และเพิ่มเติมระบบป้องกันเพื่อเตรียมรับแรงสั่นสะเทือนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

 

          จากนั้นคณะได้เดินทางไปยัง โรงเรียนชุมชนบ้านป่าก่อดำ นำโดย ศ.ดร.อมร พิมานมาศ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายพัฒน์พงษ์ เต็มเสาร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนบ้านป่าก่อดำ กล่าวต้อนรับ และ ศ.ดร.อมรฯ ได้อธิบายว่า โรงเรียนชุมชนบ้านป่าก่อดำ อาคารเรียนได้รับความเสียหายอย่างหนัก 1 หลัง ต่อมาได้มีการสำรวจความเสียหายของสถานศึกษา ผู้เชี่ยวชาญทำการประเมินแล้วว่าต้องทุบทิ้งทั้งหมดอาคารเรียนไม่สามารถใช้งานได้อีกต่อไป และไม่สามารถรองรับแรงสั่นสะเทือนที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต จึงได้ทำการทุบอาคารเรียนทิ้งและสร้างอาคารใหม่ทดแทน และเนื่องจากโรงเรียนตั้งอยู่บนพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง จึงได้มีการหารือกับวิศวกร เพื่อเสริมกำลังอาคารเรียนด้วยโครงสร้างใหม่ที่รองรับการเกิดแผ่นดินไหวในอนาคต

 

            ต่อด้วยการเดินทางไปยังวัดดงมะเฟือง  นำโดย รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ จาก มูลนิธิมดชนะภัย ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายสุทัศน์ กิจพิทักษ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลจอมหมอกแก้ว นายเหลี่ยม ปัญญาไว ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 9 บ้านดงมะเฟือง ให้การต้อนรับ และให้ข้อมูลว่า ในขณะนั้น วิหารของวัดที่เสียหายบางส่วนจากเหตุแผ่นดินไหวก็ได้พังเสียหายทั้งหลัง และเกิดรอยร้าวที่เสากลางเพิ่มขึ้น ผนังหลังพระประธานพังทลายลง หลังคาหลุดร่อน ต้องรื้อทิ้งสร้างใหม่ทั้งหมด โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานจากหลายภาคส่วนระดมเข้ามาช่วยเหลือในการสร้างและปรับปรุงอาคารใหม่ ที่ออกแบบให้เหมาะสมกับพื้นที่ และมีโครงสร้างที่ยืดหยุ่น รองรับแรงสั่นสะเทือนได้ดี และลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากแผ่นดินไหว อีกทั้งได้รับความร่วมมือกับชุมชนในการเตรียมรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

 

          และคณะได้เดินทางไปยัง  “เขื่อนแม่สรวย” นำโดย รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ จาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายศุภชัย พินิจสุวรรณ ผู้อำนวยการส่วนวิศวกรรม กรมชลประทาน และคณะให้การต้อนรับ และนายทรงพล พงษ์มุกดา หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน กล่าวว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวในอดีตนั้นจากการตรวจวัดค่าความเร่งสูงสุดที่ตรวจวัดได้มีค่าเท่ากับ 0.0000877g ซึ่งต่ำกว่าค่าความเร่งของพื้นดินจากแผ่นดินไหวที่ใช้ในการออกแบบอย่างมาก ดังนั้นเหตุการณ์แผ่นดินไหวดังกล่าว จึงไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแข็งแรงของตัวเขื่อนทั้งขนาดใหญ่และขนาดกลางที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน ในพื้นที่ จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่ และบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งนี้กรมชลประทานยังร่วมมือกับคณะวิจัยในการปรับปรุงโครงสร้างของเขื่อนให้มีความแข็งแรง ทนทาน และรองรับต่อการเกิดเหตุแผ่นดินไหวได้ดียิ่งขึ้น

 

          และจุดสุดท้ายคณะได้เดินทางไปยัง  โรงเรียนศรีถ้อยสุนทรราษฎร์วิทยา  นำโดย รศ.ดร.สุทัศน์ ลีลาทวีวัฒน์ จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายรักษ์ชัย ฉัตรเงิน ผู้อำนวยการโรงเรียน กล่าวต้อนรับ และรศ.ดร.สุทัศน์ฯ กล่าวว่า แม้ว่าในวันเกิดเหตุแผ่นดินไหวโรงเรียนจะได้รับความเสียหายไม่มากนัก แต่จากการดำเนินการสำรวจของทีมวิจัย พบว่า โรงเรียนตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง และอาคารของโรงเรียนมีรูปแบบที่เหมาะสมที่จะดำเนินการปรับปรุงให้มีความแข็งแรงมากขึ้น ด้วยวิธีเสริมความแข็งแรงของเสาอาคารเรียน หรือ concrete jacketing ซึ่งเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้อาคารเดิมที่มีอยู่แล้วสามารถรองรับแรงแผ่นดินไหวได้มากขึ้นและป้องกันความเสียแก่อาคารเรียนได้ดียิ่งขึ้น

 

          สำหรับผลกระทบจากการเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว ที่ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย นั้น นำไปสู่การสร้าง Research Ecosystem Facilities ที่จะเป็นกลไกหลักในการนำเสนอนโยบายและเพื่อการสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการ โดยปัจจุบันประเทศไทยมีเทคโนโลยีสำหรับตรวจวัดแผ่นดินไหวที่ทันสมัย แต่ยังคงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลหรือข้อแนะนำในการปฏิบัติตัวหากเกิดแผ่นดินไหวได้จาก “ศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ วช. (EARTH)”

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

วช. รำลึก “1 ทศวรรษ แผ่นดินไหวแม่ลาว” “สิบปีผ่านไป แผ่นดินไหว เราไหวอยู่”

 
เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หรือ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ ศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ มูลนิธิมดชนะภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันจัดกิจกรรมรำลึกถึง “1 ทศวรรษ แผ่นดินไหวแม่ลาว” จัดให้มีบรรยายพิเศษ “รู้ทันแผ่นดินไหว” และการเสวนาในหัวข้อ “สืบปีผ่านไปปีผ่านไป แผ่นดินไหว เราไหวอยู่ และผู้เชี่ยวชาญด้านภัยพบัติได้มาร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ พร้อมทั้งนิทรรศการพิเศษแผ่นดินไหว ณ บ้านสิงคไคล อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย โดยมี นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานในพิธี และยังมี รองศาสตราจารย์ ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ประธานมูลนิธิมดชนะภัย พร้อมทั้งหน่วยงานกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรธรณี กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมชลประทาน และประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมกิจกรรม 
 

         นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า จังหวัดเชียงราย ถือว่าเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหว เนื่องจากตั้งอยู่ในแนวเขตรอยเลื่อนของแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ โดยเฉพาะรอยเลื่อนแม่จัน ที่เป็นรอยเลื่อนขนาดใหญ่อันดับต้นๆ ของประเทศไทย และยังมีรอยเลื่อนพะเยาที่อยู่พื้นที่ข้างเคียงและยังมีพลัง โดยเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2557 รอยเลื่อนพะเยาได้เกิดแรงสั่น ทำให้เกิดแผ่นดินไหวที่อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ขนาด 6.3 ริกเตอร์ ศูนย์กลางอยู่ลึกประมาณ 7 กิโลเมตร ส่งผลทำให้ส่งผลทำให้ครั้งนั้นเส้นทางคมนาคม โบราณสถาน และบ้านเรือนของประชาชนในพื้นที่ และจังหวัดใกล้เคียงได้รับผลกระทบ ทั้งหมด 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ พะเยา น่าน แพร่ ลำปาง และจังหวัดกำแพงเพชร อีกทั้งถนนหลายสายเกิดการทรุดตัวและเกิดรอยแยกเป็นทางยาว ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวเป็นการรำลึกเหตุการณ์แผ่นดินไหวแม่ลาว  ครบรอบ 10 ปี และสร้างความตระหนักรู้ ถอดบทเรียนจากประสบการณ์ตรง ทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้น ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนนำไปสู่การเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
 

          รองศาสตราจารย์ ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ประธานมูลนิธิมดชนะภัย กล่าวอีกว่า มูลนิธิมดชนะภัย ตั้งอยู่บ้านสิงหไคล อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร เพื่อร่วมส่งเสริมสังคมและศิลปวัฒนธรรมให้จังหวัดเชียงราย เป็นเมืองน่าอยู่ และเป็นเมืองศิลปะ รวมทั้งมุ่งเน่นการใช้วิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ เข้ามาช่วยเหลือประชาชนให้ปลอดภัยจากภัยธรรมชาติ โดยทางมูลนิธิมดชนะภัย ได้ร่วมจัดกิจกรรม “1 ทศวรรษแผ่นดินไหว” เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านภัยพิบัติแผ่นดินไหว ผ่านสื่อศิลปะและวิทยาศาสตร์ ให้กับผู้ที่สนใจตลอดเดือนพฤษภาคมนี้ และเป็นจุดเชื่อมต่อไปสู่เรื่องราวเหตุการณ์แผ่นดินไหวแม่ลาว ระหว่างภาคประชาสังคม ภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อเป็นการสะท้อนให้ประชาชนได้เล็งเห็นความสำคัญของการจัดการภัยพิบัติที่ดีร่วมกัน ภายใต้ชื่อว่า “แผ่นดินไหว เราไหวอยู่” 
 

          สำหรับกิจกรรมภายในงานจัดให้มีการบรรยายพิเศษ “รู้ทันแผ่นดินไหว” และการเสวนาในหัวข้อ “สิบปีผ่านไปแผ่นดินไหว เราไหวอยู่” โดยมี นายประจญ ปรัชญ์สกุล อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ตลอดจนผู้บริหารหน่วยงาน ภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ได้ให้ข้อมูลความรู้ดังกล่าว จะเห็นได้ว่าแผ่นดินไหวเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดจากการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลก ดังนั้นจึงควรศึกษาเพื่อให้เข้าใจถึงกระบวนการเกิดของแผ่นดินไหวที่แท้จริง เพื่อเป็นแนวทางในการลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งนี้นิทรรศการพิเศษ “1 ทศวรรษ แผ่นดินไหวแม่ลาว” ได้จัดให้มีการออกนิทรรศการภาพเล่าเรื่อง นิทรรศการเชิงศิลปะสะท้อนภาพเหตุการณ์ และ นิทรรศการเชิงวิทยาศารต์ การสาธิตการเกิดเหตุแผ่นดินไหว ซึ่งจะจัดขึ้นตลอดเดือนพฤษภาคม ณ บ้านสิงหไคล มูลนิธิมดชนะภัย อำเภอเมืองเชียงราบ จังหวัดเชียงราย ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าชมได้ฟรี ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

วช.-ภาคีเครือข่าย ร่วมแถลง “1 ทศวรรษ แผ่นดินไหวแม่ลาว”

 

เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2567 ที่ผ่านมาสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ ศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ และมูลนิธิมดชนะภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดแถลงข่าวกิจกรรม “1 ทศวรรษ แผ่นดินไหวแม่ลาว” พร้อมประกาศเจตนารมณ์ “ภาคี เครือข่าย ร่วมมือ ร่วมใจ สู้ภัย แผ่นดินไหว ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม” ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์

โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการวช. เป็นประธาน ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย, นายฐิติพันธ์ จูจันทร์โชติ รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี น.ส.ชัชดาพร บุญพีระณัช รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, นายนัฐวุฒิ แดนดี ผู้อำนวยการกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา

นายนพดล น้อยไพโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 2 กรมชลประทาน, นายชานนท์ โตเบญจพร ผู้แทน กรมโยธาธิการและผังเมือง, ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ และรศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ประธานมูลนิธิมดชนะภัย ร่วมแถลงข่าวจัดกิจกรรม “1 ทศวรรษ แผ่นดินไหวแม่ลาว” ในระหว่างวันที่ 5 – 7 พ.ค. ที่ จ. เชียงราย

ดร.วิภารัตน์กล่าวว่า วช. ได้สนับสนุนแผนงานการพัฒนาศูนย์กลางกำลังคนระดับสูง (Hub of Talents) และศูนย์กลางการเรียนรู้(Hub of Knowledge) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการทำงานร่วมกันของผู้เชี่ยวชาญแบบสหวิทยาการที่มีความหลากหลาย เสริมสร้างเครือข่ายในระดับนานาชาติของสถาบันวิจัย หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน โดยวช. ได้สนับสนุนและร่วมขับเคลื่อนศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ (EARTH) ร่วมมือกับ มูลนิธิมดชนะภัย และหน่วยงานภาคีเครือที่เกี่ยวข้อง ทั้งจ.เชียงราย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทรัพยากรธรณี กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่จ.เชียงราย

ร่วมกันจัดกิจกรรม “1 ทศวรรษ แผ่นดินไหวแม่ลาว” ในระหว่างวันที่ 5 – 7 พ.ค. ที่จ.เชียงราย เพื่อรำลึกเหตุการณ์แผ่นดินไหวแม่ลาว และสร้างความเข้าใจ ความตระหนักรู้ และเตรียมความพร้อมรับมือในการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยพิบัติแผ่นดินไหว รวมถึงถอดบทเรียนจากอดีตถึงปัจจุบัน และเผยแพร่ผลงานวิจัยและวิชาการด้านแผ่นดินไหว พร้อมทั้งลงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว จ.เชียงราย ไปสู่การขับเคลื่อนสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการ โดยภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมมาอย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมแผนในการรับมือต่อไปในอนาคต

นายประเสริฐ กล่าวว่า จ.เชียงราย เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ภัยพิบัติแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 5 พ.ค. ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่คนเชียงรายไม่มีวันลืม สำนักงานจ.เชียงราย ในฐานะหน่วยงานบริการภาครัฐเพื่อประชาชนจ.เชียงราย ร่วมจัดกิจกรรม “1 ทศวรรษ แผ่นดินไหว” เป็นการรำลึกเหตุการณ์แผ่นดินไหวแม่ลาว ครบรอบ 10 ปี และสร้างความตระหนักรู้ ถอดบทเรียนจากประสบการณ์ตรง ทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้น ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนนำไปสู่การเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน

ศ.ดร.เป็นหนึ่งกล่าวว่า ศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ (Earthquake Research Center of Thailand : EARTH) วช. เป็นศูนย์รวมบุคลากรวิจัยที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ จากสหสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับแผ่นดินไหว ภายใต้การพัฒนาศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญ (Hub of Talents) ที่ได้รับการสนับสนุนจาก วช. ร่วมจัดกิจกรรม “1 ทศวรรษ แผ่นดินไหว” จัดแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านวิศวกรรมแผ่นดินไหว และการประชุมวิชาการเผยแพร่ผลงานวิจัยและวิชาการด้านแผ่นดินไหว รวมทั้งแสดงต้นแบบการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ร่วมกับหน่วยงานภาคีวิจัย ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม

รศ.ดร.สุทธิศักดิ์กล่าวว่า มูลนิธิมดชนะภัย ตั้งอยู่ที่บ้านสิงหไคล จ.เชียงราย เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร เพื่อร่วมส่งเสริมด้านสังคมและศิลปวัฒนธรรมให้จ.เชียงรายเป็นเมืองที่น่าอยู่ และเป็นเมืองศิลปะ รวมทั้งมุ่งเน้นการใช้วิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์เข้ามามีส่วนช่วยเหลือประชาชนให้ปลอดภัยจากภัยธรรมชาติ โดยทางมูลนิธิมดชนะภัยได้ร่วมจัดกิจกรรม “1 ทศวรรษ แผ่นดินไหว” เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านภัยพิบัติแผ่นดินไหว ผ่านสื่อศิลปะและวิทยาศาสตร์ ให้กับผู้ที่สนใจตลอดเดือนพ.ค.นี้ และเป็นจุดเชื่อมต่อไปสู่เรื่องราวเหตุการณ์แผ่นดินไหวแม่ลาว ระหว่างภาคประชาสังคม ภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อเป็นการสะท้อนให้ประชาชนได้เห็นความสำคัญของการจัดการ ภัยพิบัติที่ดีร่วมกัน “แผ่นดินไหว เราไหวอยู่”

ถัดมาเป็นกิจกรรมการเสวนาวิชาการในหัวข้อ“การเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติแผ่นดินไหวจากอดีตถึงปัจจุบัน” โดย ศ.ดร.เป็นหนึ่งเป็นผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ภัยพิบัติแผ่นดินไหว

วช. ขอประชาสัมพันธ์และเชิญเข้าร่วมกิจกรรม “1 ทศวรรษ แผ่นดินไหวแม่ลาว” ระหว่างวันที่ 5-7 พ.ค. ที่จ.เชียงราย ดังนี้

  • วันอาทิตย์ที่ 5 พ.ค. ที่บ้านสิงหไคล มูลนิธิมดชนะภัย จ.เชียงราย พบกับการบรรยายพิเศษ “รู้ทันแผ่นดินไหว” และการเสวนา “สิบปีผ่านไป แผ่นดินไหว เราไหวอยู่” โดยผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขาวิชา และหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง พร้อมชมนิทรรศการพิเศษเกี่ยวกับภัยพิบัติแผ่นดินไหวและการรับมือในทุกมิติ อาทิ รถจำลองแผ่นดินไหว, แผนที่เสี่ยงภัยพิบัติแผ่นดินไหวกับกิจกรรม “จำได้ไหม?-จำได้ไหว”, การพยาบาลในสถานะการณ์แผ่นดินไหว เป็นต้น (เฉพาะวันอาทิตย์ที่ 5 พ.ค.นี้ เท่านั้น) และรับชมนิทรรศการฟรีตลอดเดือนพ.ค. อาทิ นิทรรศการภาพเล่าเรื่อง, นิทรรศการเชิงศิลปะสะท้อนภาพเหตุการณ์, นิทรรศการเชิงวิทยาศาสตร์ ที่บ้านสิงหไคล มูลนิธิมดชนะภัย จ.เชียงราย
  • วันจันทร์ที่ 6 พ.ค. ที่โรงแรม The Heritage Chiang Rai พบกับการประชุมวิชาการเผยแพร่ผลงานวิจัยและวิชาการด้านแผ่นดินไหวในประเด็นต่างๆ โดยผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ (EARTH: Earthquake Research Center of Thailand) วช. อาทิ การเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติแผ่นดินไหวจากอดีตถึงปัจจุบัน, การออกแบบก่อสร้างอาคารให้ต้านทานแผ่นดินไหว, ธรรมชาติแผ่นดินไหว : ความเสี่ยง, การเสริมกำลังอาคารที่มีอยู่, การเตรียมพร้อมเผชิญเหตุภัยพิบัติแผ่นดินไหว (highlight), การตรวจติดตามสุขภาพโครงสร้างอาคารสูงในจ.เชียงใหม่และเชียงราย และการขับเคลื่อนภาคประชาสังคมกรณีตัวอย่างเขื่อนแม่สรวยและชุมชนชนบท
  • วันอังคารที่ 7 พ.ค. พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว จ.เชียงราย ขอเชิญลงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพื่อเตรียมความพร้อมและรับมือภัยพิบัติแผ่นดินไหว ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาวิชา จุดเริ่มเต้นจาก โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ > โรงเรียนชุมชนบ้านป่าก่อดำ > วัดดงมะเฟือง > เขื่อนแม่สรวย และสิ้นสุดที่ โรงเรียนศรีถ้อยสุนทรราษฎร์วิทยา (รับจำนวนจำกัด 50 ท่าน)

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News