Categories
TOP STORIES

ครึ่งปีแรกทำ ‘อุตสาหกรรมสื่อ’ ลำบาก 6 องค์กรวิชาชีพ เร่งหาช่องทางบรรเทา

 

เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2567 นางสาว น.รินี เรืองหนู นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา องค์กรวิชาชีพสื่อ 6 องค์กร ประกอบด้วย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และ สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทยได้ประชุมหารือติดตามสถานการณ์สื่อในปัจจุบัน

ที่ประชุม 6 องค์กรวิชาชีพสื่อ ได้แสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเนื่องจากพบว่า อุตสาหกรรมสื่อช่วงครึ่งปีแรกอยู่ในภาวะยากลำบากจากปัญหาเศรษฐกิจ การปรับตัวของสื่อโทรทัศน์ดิจิทัลที่ใบอนุญาตจะหมดอายุทำให้องค์กรสื่อหลายแห่งมีการปรับโครงสร้าง ลดขนาดองค์กรเพื่อลดค่าใช้จ่าย เกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ ต่อการเลิกจ้างพนักงาน การลดค่าใช้จ่าย ลดเงินเดือน ตลอดจนสวัสดิการพนักงาน และมองว่าในอนาคตมีแนวโน้มที่องค์กรสื่อยังต้องเผชิญความท้าทายและผลกระทบหนักหน่วงต่อไปอีก

ทั้งนี้ สื่อมวลชนมีหน้าที่รายงานข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และ ตรวจสอบนโยบายสาธารณะ หากสื่อมวลชนได้รับผลกระทบก็จะมีผลต่อสิทธิในการรับรู้ข่าวสารของประชาชน

องค์กรวิชาชีพสื่อเห็นว่า ในสถานการณ์ยากลำบากเหล่านี้ ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและลูกจ้างพนักงานสื่อโดยตรง จึงอยากขอให้ผู้ประกอบการใช้ความอดทนอย่างถึงที่สุดเพื่อประคับประคอง หลีกเลี่ยง การใช้มาตรการที่ส่งผลต่อการจ้างงานของลูกจ้าง พนักงานสื่อ อย่างไรก็ตาม หากมีเหตุการณ์สุดวิสัยขอให้ผู้ประกอบการสื่อยึดมั่นดำเนินการตามกฎหมายแรงงานอย่างเคร่งครัด

นางสาว น.รินี  กล่าวว่า  6 องค์กรวิชาชีพสื่อ ขอเป็นกำลังใจเพื่อนพี่น้องสื่อมวลชนในการฝ่าฟันอุปสรรคในวิกฤตครั้งนี้ ขณะเดียวกัน ได้หาช่องทางช่วยเหลืออื่น เช่น การเตรียมจัดฝึกอบรมพัฒนาทักษะอาชีพเสริมต่างๆ  ตลอดจนทักษะใหม่ที่จำเป็นของคนข่าวในยุคดิจิทัล เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องในอุตสาหกรรมสื่อ และเปิดช่องทางให้ความรู้ด้านกฎหมายแรงงาน จัดหาทนายความมาให้คำปรึกษากรณีสื่อมวลชนรายใดถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรมหรือถูกลิดรอนสิทธิในการจ้างงานเพื่อเรียกร้องสิทธิตามกฎหมายและการเตรียมจัดทำฐานข้อมูลให้ผู้สื่อข่าวที่ถูกเลิกจ้างมาลงชื่อเป็นช่องทางให้หน่วยงานที่ต้องการจ้างงานมาติดต่อในอนาคต

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
EDITORIAL

ปานปรีย์’ ชี้ 4 เครื่องยนต์ดันเศรษฐกิจไทยรวน รู้ปัญหาแต่ไม่แก้

 

เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2567 ที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ จัดงานครบรอบ 27 ปี โดยจัดเวทีปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ยุทธศาสตร์ประเทศไทย ความท้าทายรัฐบาล” โดย ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ทิศทางเศรษฐกิจไทย” ตอนหนึ่งว่า สังคมเฝ้าติดตามอยู่ว่าเศรษฐกิจไทยวันนี้จะไปอย่างไร การเมืองไทยเปราะบาง ในความเห็นของตนก็เช่นเดียวกัน เศรษฐกิจไทยวันนี้เริ่มมีความเปราะบางค่อนข้างสูง การวางทิศทาง การวางนโยบาย การกำหนดแผนงานต่าง ๆ รวมทั้งการปฏิบัติการในส่วนทำให้นโยบายและไปในทิศทางถูกต้อง เป็นเรื่องสำคัญมาก

 

ดร.ปานปรีย์ กล่าวว่า ความท้าทายของเศรษฐกิจโลก และทิศทางเศรษฐกิจไทย ถ้าจำกันได้เมื่อประมาณ 15-16 ปีที่ผ่านมา โลกได้เคยเผชิญกับปัญหาหลายเรื่อง บางเรื่องเป็นเรื่องรุนแรง ถึงขนาดเป็นวิกฤติด้วย โดยเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ส่งผลให้เกิดการกีดกันทางการค้าที่ชัดเจนมากขึ้น กระทำโดยผู้ที่มีอำนาจระดับโลก ระเบียบการค้าโลกจึงเสื่อมความขลังลงไปเช่นกัน ต่อมาเราเผชิญปัญหาเรื่องการแพร่กระจายของโควิด-19 ในส่วนนี้เป็นที่รับรู้กันว่า ทำให้โลกหยุดนิ่ง รวมทั้งไทยด้วย เราไม่รู้ว่าเวลานั้นจะเดินต่อไปทางไหน แต่สำหรับไทย คิดว่าเรามีความยืดหยุ่น และมีความพร้อมที่จะแก้สถานการณ์ให้กลับคืนมาได้ในระดับหนึ่ง นอกจากนั้นมีเรื่องรัสเซีย ยูเครน ตามมาอีก เป็นสงครามที่คิดว่าไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้น และก็เกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน ส่วนเรื่องอิสราเอล และฮามาส ที่มีปัญหามายาวนาน แต่ปัญหาก็ไม่เคยปะทุรุนแรงเท่ากับครั้งนี้

 

 

ดร.ปานปรีย์ กล่าวอีกว่า เรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้เศรษฐกิจของโลกเกิดความไม่แน่นอน มีความหวั่นไหวมาก นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นที่ถือว่า มีความสำคัญเสริมเข้ามา เช่น เทคโนโลยีดิสรัปชัน สร้างความพลิกผันทางธุรกิจอย่างสูง เรื่องอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น จนถึงเวลาแล้วที่เราต้องจัดการ มิฉะนั้นจะเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และความเป็นอยู่ของชาวโลก ขณะที่เรื่องภูมิรัฐศาสตร์ พวกเราอาจไม่คุ้นเคยนัก แต่ภูมิรัฐศาสตร์มีส่วนสำคัญมากในการกำหนดชะตากรรมแต่ละประเทศ โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ เนื่องจากมีผลกระทบกว้างขวาง ถ้าประเทศใดประเทศหนึ่งเกิดขัดแย้ง อีกประเทศได้รับผลกระทบตามไปด้วย

 

“ทั้งหมดทำให้เศรษฐกิจเกิดความเปลี่ยนแปลง ถ้าเราเดินไม่ถูกทาง จะทำให้เกิดปัญหากับเศรษฐกิจต่อประเทศนั้น ๆ ได้ค่อนข้างรุนแรง ในสภาวะปัจจุบันนี้” ดร.ปานปรีย์ กล่าว

 

ดร.ปานปรีย์ กล่าวว่า เมื่อพิจารณาภาวะเศรษฐกิจไทย เราพบและรับรู้ว่า ไทยพึ่งพารายได้จากการส่งออกสูงถึง 70% รวมทั้งการลงทุนจากต่างประเทศด้วย การลงทุนในประเทศไม่เพียงพออุ้มชูเศรษฐกิจของเรา และขึ้นอยู่กับการส่งออกและการลงทุน เป็นส่วนสร้างรายได้ให้กับประเทศมาก เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิเศรษฐกิจ การส่งออกของไทย และการลงทุนของไทย จะเห็นว่าเริ่มประสบปัญหา โดยจากการขยายตัวของการส่งออกที่ลดลง ส่งผลทำให้ GDP –องไทยมีการขยายตัวอยู่ในระยะต่ำ ซึ่ง IMF คาดการณ์ไว้ที่ประมาณ 2.2-2.7% ถือว่าต่ำกว่าอัตราการขยายตัวของประเทศอื่น ๆ ที่เป็นประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันในกลุ่มอาเซียน

 

ดร.ปานปรีย์ ตั้งคำถามว่า ทำไมไทยขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ต่ำสุดในอาเซียน การใช้จ่ายภาครัฐในเวลานี้ก็มีข้อจำกัด เป็นที่ทราบได้ดีว่า เศรษฐกิจในประเทศมีปัญหา หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 65.05% ทำให้การใช้จ่ายในภาครัฐมีข้อจำกัด หนี้ครัวเรือนในสิ้นปี 2567 มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับ 91.4% ต่อ GDP ซึ่งมีผลต่อภาวการณ์บริโภคในประเทศ หลายฝ่ายก็มีความเป็นกังวลอยู่ แต่ก็ยังไม่มีมาตรการ หรือนโยบายใดที่จะมีความชัดเจน ในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้

 

 

ความสำคัญทิศทางเศรษฐกิจ เหตุใดเราต้องให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ และแผนงานทิศทางเศรษฐกิจ เพราะว่าสามารถวางแผนล่วงหน้าให้แก่ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคราชการ ภาคธุรกิจ นักลงทุนทั้งไทย และต่างประเทศ แรงงาน การศึกษา แลประชาชน ตาม Roadmap ทิศทางที่ถูกต้อง โดยภาครัฐและภาคเอกชนสามารถจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณให้สอดคล้องกับเป้าหมาย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม สนับสนุนภาคเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้อย่างยั่งยืน เสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียน เช่น สิงคโปร์ และเวียดนาม

 

ดร.ปานปรีย์ ชี้ว่าปัญหาของเศณษฐกิจไทยคือ เครื่องยนต์เศรษฐกิจทั้ง 4 ด้านทำได้ไม่เต็มที่ นั่นคือ ส่งออกขยายตัวไม่ตรงเป้า การลงทุนมีการปรับเปลี่ยนย้ายฐานการผลิตจาก New Global Supply Chain หนี้สาธารณะอยู่ในระดับสูง ไม่สามารถลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ส่งผลถึงรายได้และการลงทุนของภาคเอกชน และการบริโภคในประเทศ ส่งผลให้โครงสร้างเศรษฐกิจปรับตัวได้ช้า ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจโลกได้ไม่ทันท่วงที

 

“ที่สำคัญคือการปรับโครงสร้าง มีการพูดคุยเรื่องนี้ยาวนาน รู้ปัญหากันหมด แต่ไม่ได้จัดการแก้ไข หรือมีแผน หรือมีนโยบาย มาตรการที่ชัดเจนว่า จะมีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจต่อไปอย่างไร และควรเริ่มดำเนินการเมื่อไหร่ วันนี้เกือบจะสายไปแล้ว ถ้าเราไม่เห็นความสำคัญของการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ไทยคงชะลอตัวอยู่อย่างนี้ และเติบโตต่อไปยาก” ดร.ปานปรีย์ กล่าว

 

 

อดีตรองนายกฯ กล่าวว่า อีกปัญหาหนึ่งคือเสถียรภาพทางการเมืองไทย ที่ล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอด แต่ที่ผ่านมาก็เติบโตมาได้ ไม่ใช่สุ่มเสี่ยงแบบบางประเทศในกลุ่มอินโดจีน รวมถึงขาดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยในอดีตมีการนำวิสัยทัศน์มาพัฒนาเป็นนโยบายและแผนงานเศรษฐกิจ สามารถออกมาตรการมาสนับสนุนแผนงานได้อย่างชัดเจน เช่น การส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงการผลิตจากภาคเกษตรสู่ภาคอุตสาหกรรม การพัฒนา Eastern Seaboard นโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า เป็นต้น ดังนั้น รัฐบาลควรมีนโยบาย และมาตรการอย่างไรเพื่อปรับทิศทางการบริหารเศรษฐกิจของประเทศ ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงและปัจจัยท้าทายต่าง ๆ ของโลก ซึ่งก่อนอื่นต้องเข้าใจภูมิรัฐศาสตร์ก่อนว่าสำคัญอย่างไร กระทบต่อเศรษฐกิจ ธุรกิจภาคเอกชนอย่างไร

 

ดร.ปานปรีย์ มีข้อเสนอทิศทางเศรษฐกิจไทย  8 ข้อได้แก่ 1. ไทยกําลังเผชิญความท้าทายจากเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ความยืดหยุ่นในการปรับตัวของนโยบายเศรษฐกิจไทยมีความสำคัญเป็นอย่างมาก 2. วิสัยทัศน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ มีการดําเนินการมาถูกทางแล้ว เช่น การปรับโครงสร้างเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิตัล Industry 4.0 หรือการต่อยอดการพัฒนา Eastern Seaboard มาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC แต่หลายเรื่องยังขาดมาตรการรองรับที่ชัดเจน และยังมีกฎระเบียบต่างๆ ที่ต้องเร่งแก้ไขปรับปรุงให้ทันสมัย

  1. การที่ประเทศไทยอยู่ในช่วงระหว่างการเปลี่ยนผ่านไปสู่ Digital Economy, Green and Clean Economy เราคงไม่สามารถที่จะละทิ้งอุตสาหกรรมเก่าไปหาอุตสาหกรรมใหม่ทั้งหมดได้เพียงชั่วข้ามคืน แต่ต้อง Re-Balance การดูแลอุตสาหกรรมเก่า ให้เข้าสู่กระบวนการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมได้อย่างเป็นระบบ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่
  2. นโยบายเศรษฐกิจต้องสามารถตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจโลกได้ เช่น ปัญหาสงครามยูเครน-รัสเซีย ทําให้หลายประเทศขาดแคลนสินค้าที่เดิมนําเข้าจากทั้งสองประเทศ ซึ่งอาจเป็นโอกาสที่ไทยสามารถส่งออกสินค้าทดแทนไปตลาดแบบนี้ก็เป็นได้ หรือพิพาทเรื่อง Chip War ระหว่างจีนกับสหรัฐ เราจะชักชวนใครมาลงทุนการผลิต Semiconductor หรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในไทย เพื่อตอบโจทย์ Geopolitics และ Global Supply Chain ที่เปลี่ยนไป
  3. เรียนรู้จากคู่แข่งขัน เวียดนามสร้างความชัดเจนทางนโยบายที่จับต้องได้ เช่น การเปิดเสรีทางการค้ากับประเทศต่างๆ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อเข้าสู่เศรษฐกิจ Digital การส่งเสริมการลงทุนด้านพลังงานสะอาด หรือ สิงคโปร์มีวิสัยทัศน์มองในเรื่อง Resilient Growth แล้วสามารถนําออกมาพัฒนาเป็นนโยบายและมาตรการต่างๆ เพื่อบริหารทิศทางเศรษฐกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม
  4. Skilled Labour คือสิ่งที่ประเทศไทยเราต้องให้ความสําคัญ และต้องเร่งพัฒนาให้ฝีมือแรงงานไทยให้สามารถยกระดับรองรับอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ของประเทศได้ ซึ่งจะเป็นรากฐานสําคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในอนาคต
  5. ภาคเอกชนคือ Key Economic Driver ของเศรษฐกิจใหม่ในอนาคต ภาครัฐคือ Key Facilitator ทําหน้าที่สนับสนุนการสร้างโอกาสของภาคเอกชนให้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่ได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน
  6. ภาคเอกชนควรทําข้อเสนอเศรษฐกิจ หรือ White Paper เสนอต่อรัฐบาล โดยเฉพาะหากมีประเด็นข้อคิดเห็นใหม่ๆ สําหรับทิศทางเศรษฐกิจไทยในอนาคต

ดร.ปานปรีย์ สรุปภาพรวมว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบโดยตรงต่อทิศทางเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นการบริหารเศรษฐกิจต้องคํานึงถึงผลกระทบจาก “VUCA World” ซึ่งเป็นคําย่อของ ความผันผวน (Volatility) ความไม่แน่นอน (Uncertainty) ความสลับซับซ้อน (Complexity) ความคลุมเครือ (Ambiguity) โดยปัจจุบันนี้ปัจจัยหลักสําคัญที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทิศทางเศรษฐกิจของโลก คือ geopolitics การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และ climate change ไทยมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่มั่นคงและแข็งแรง เกิดขึ้นจากการมองทิศทางการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจได้ อย่างชัดเจน แต่เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงรวดเร็วกว่าเดิม ไทยจําเป็นต้องปรับตัวให้ทันตามกระแสโลก ทั้งนี้ไม่ควรละทิ้งอุตสาหกรรมเและธุรกิจเก่า แต่ควรสนับสนุนให้มีการปรับตัวเพื่อเดินต่อได้ พร้อมกับพัฒนา ความพร้อมให้สามารถยกระดับเข้าสู่เศรษฐกิจใหม่ได้อย่างรวดเร็ว

 

“ที่สำคัญท้ายที่สุดคือ ถึงเวลาแล้วที่เราต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจโดยด่วน ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป” ดร.ปานปรีย์ กล่าว

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
EDITORIAL

‘วุฒิสาร’ ชี้ปัญหาใหญ่การเมืองไทย คือกติกาไม่แฟร์ ลั่นไม่เห็นด้วยยุบพรรค

 

เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2567 ที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ จัดงานครบรอบ 27 ปี โดยจัดเวทีปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ยุทธศาสตร์ประเทศไทย ความท้าทายรัฐบาล”  โดย ศ.วุฒิสาร ตันไชย อดีตเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ปาฐกถาเรื่อง “ทิศทางการเมืองไทย” ตอนหนึ่งว่า ที่มาพูดวันนี้ไม่ได้มาทำนายการเมืองไทย แต่คำถามใหญ่ต่อคนไทย ถ้าพูดถึงการเมืองไทย ย้อนไปปี 2540 ที่นับเป็นการเมืองสมัยใหม่ของสังคมไทย จะพบว่าปี 2540 การตื่นตัวของประชาชนเกี่ยวกับกลไกระบบการเมืองใหม่ มีเครื่องมือใหม่ ดึงสิ่งที่ดีทั่วโลกไว้ในการเมืองไทย มีองค์กรอิสระ แต่คำถามคือตั้งแต่ปี 2540 ถึงบัดนี้ เราพอใจการเมืองปัจจุบันหรือยัง มันดีขึ้น หรือแย่ลง หลายคนบอกดีขึ้น อะไรคือดีขึ้น ทุกวันนี้ทำให้คนเบื่อหน่ายการเมือง ปฏิเสธการเป็นส่วนหนึ่งของการเมือง ก็คือการไม่ลงสมัคร คำถามคือชุดความคิดชุดนี้ เป็นข้อเท็จจริงทั้งหมดหรือไม่

“เป็นข้อเท็จจริงที่พิสูจน์เชิงประจักษ์ชัดเจนแล้ว ใช่หรือไม่ จึงคิดว่า Perception  (การรับรู้) ทางการเมืองเมือง สำคัญกว่าความจริง คนพร้อมจะเชื่อบนพื้นฐานของ Perception ว่าพูดไปแล้วใช่หรือไม่ใช่ ค่าใช่หรือไม่ใช่ เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ขึ้นกับหลักคิดสำคัญคือชอบใคร และไม่ชอบใคร” ศ.วุฒิสาร กล่าว

 

 

ศ.วุฒิสาร กล่าวว่า ในทางการเมืองระบอบประชาธิปไตย เป็นเรื่องของการมีฝักฝ่าย มีพวก มีขั้ว แต่คำถามสำคัญของการเมืองไทยถ้าเทียบกับหลายประเทศ ขั้วทางการเมืองในหลายประเทศ เป็นขั้วเชิงอุดมการณ์และความเชื่อ เรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง ทฤษฎีทางการเมืองบางอย่าง เชื่อเรื่องเสรีนิยม อนุรักษ์นิยม สิ่งแวดล้อม เป็นต้น เป็นชุดความเชื่อที่เป็นอุดมการณ์ทางสังคม แต่ขั้วการเมืองไทย ไม่ใช่เรื่องอุดมการณ์เสียทีเดียว แต่เป็นเรื่องความชอบหรือไม่ชอบ มันคือทัศนะต่อตัวคน มันคือทัศนะที่ทำให้รู้สึกดีหรือไม่ดี หลายเรื่องอาจจะไปถึงคำว่าอคติทางการเมือง

ศ.วุฒิสาร กล่าวอีกว่า คำถามต่อไปคือการเมืองไทยมีอะไรดีขึ้นหรือไม่ ในทัศนะของตน เราอาจรู้สึกว่า ประเทศไทย ผ่านรัฐธรรมนูญ 20 ฉบับ ใช้เปลือง อายุขัยเฉลี่ย 7-8 ปี แต่ถามว่า ถ้ามองด้วยสายตาที่เป็นธรรมมากขึ้น เราอาจบอกว่า รัฐธรรมนูญที่เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ โดยการร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 2550 2560 เป็นการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น แต่สิ่งที่เติบโตมากขึ้นและเราอาจไม่รู้สึกคิดว่ามี 2-3 เรื่อง

 

1.สิทธิเสรีภาพของคนมากขึ้น สื่อมวลชนไม่เคยมีสิทธิเสรีภาพแบบนี้ ไม่เคยได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญ สิทธิเสรีภาพประชาชนก้าวหน้าไปถึงขนาดสมรสเท่าเทียม นี่คือการพัฒนาทางการเมือง  2.กระจายอำนาจไปจากรัฐกลางไปสู่พื้นที่ดีขึ้น 3.การมีช่องทางหรือกลไกให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมดีขึ้น กว้างขวางขึ้น

“กลไกพวกนี้ทำให้ระบบความตื่นตัวของประชาชนในทางการเมืองเปลี่ยนแปลง นี่เป็นพัฒนาการอันหนึ่งที่เราอาจไม่ค่อยรู้สึก เราชอบหรือไม่ชอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่ต้องยอมรับว่าปี 2540 ออกแบบหนึ่ง มีกลไกองค์กรอิสระ แต่ให้ สว.แก้ปัญหานี้ แต่ขณะเดียวกันบอกว่า สว.ต้องเป็นกลาง ห้ามหาเสียง ให้แนะนำ สุดท้ายเราก็พบว่า มีการครอบงำ เราก็มาแก้เรื่อง สว.” ศ.วุฒิสาร กล่าว

อดีตเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า เชื่อว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีพัฒนาทางการเมืองก้าวหน้าขึ้น โดยยกตัวอย่างในรัฐธรรมนูญ มีการให้สิทธิเสรีภาพสื่อมากขึ้น ล่าสุดคือกรณีการสมรสเท่าเทียม เป็นต้น และเมื่อสถาปนาในรัฐธรรมนูญแล้ว ยากที่จะถอยกลับ การมีหลักประกันกับประชาชนเรื่องสุขภาพ การศึกษา การเข้าถึงบริการของรัฐ คิดว่าก้าวหน้าขึ้น อาจไม่ได้ก้าวหน้าเรื่องหนึ่งคือปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ที่เรายังไม่เห็นความชัดเจน

ศ.วุฒิสาร อธิบายว่า คำถามต่อการเมืองไทย อย่าตัดสินบนพื้นฐานของด้านใดด้านหนึ่งบนความชอบหรือไม่ชอบ แต่ที่สำคัญมากที่พบคือ วงจรที่เราคุ้นเคยในทางการเมืองไทย คือการเลือกตั้ง แล้วมีภาพเล่นพรรคเล่นพวก มีความขัดแย้งในสังคม มีคอร์รัปชัน และเกิดการปฏิวัติ เมื่อปฏิวัติเสร็จ ออกกติกา และปล่อยให้มีเลือกตั้ง

“คำถามคือวงจรนี้มันวนอยู่อย่างนี้ ผมเป็น กมธ.ร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 เชื่อว่าหลัง 2550 จะไม่มีปฏิวัติ แต่ 7 ปีต่อมามี วงจรนี้เป็นวงจรที่สังคมไม่ปฏิเสธ และยอมรับ อัศวินม้าขาว คิดว่านี่คือจุดอ่อนอันหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยไทย คือยอมรับในอำนาจที่ไม่ได้มาจากกลไกประชาธิปไตย และรับรองอำนาจนั้น ที่สำคัญมากคือเรามีความอดทนน้อยต่อความไม่สมบูรณ์ของระบบการเมือง” ศ.วุฒิสาร กล่าว

 

ศ.วุฒิสาร กล่าวอีกว่า สถานการณ์ปัจจุบัน ล่าสุดเราเห็นคำหนึ่งที่เท่มากคือ เปราะบาง เราเห็นความเปราะบางทางการเมืองบ่อย ทำไมการเมืองไทยไม่ราบรื่น ไม่ต่อเนื่องเลย มีคนตั้งคำถามคดียุบพรรค นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตออกมาแล้วจะโดนอะไรหรือไม่ ตกลงจะแก้รัฐธรรมนูญได้หรือไม่ ต้องถามประชามติประชาชนก่อน เสีย 3 พันล้านบาท ไม่เสียได้หรือไม่ แต่ถ้าเขาร้องไปแล้วถ้าศาลว่าผิดก็ทำฟรี นิรโทษกรรมทางการเมืองจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่

 ล่าสุด การได้มาและการรับรอง สว.ใหม่ ตกลง สว.ใหม่จะได้หรือไม่ หลายคนที่ไม่ชอบ สว.ชุดเดิม บอกว่า อะไรก็ได้เอามาก่อน คนเก่าได้ไปสักที ชุดวิธีคิดแบบนี้คือความเปราะบางของการเมืองไทย รัฐบาลไม่สามารถเดินอะไรแบบราบรื่น มีหินให้สะดุดอยู่ตลอดเวลา นายกฯจะถูกออกหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอย่างไร ถามว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะอะไร เรื่องเหล่านี้ควรเกิดขึ้นหรือไม่

ศ.วุฒิสาร กล่าวด้วยว่า เมืองไทยต้องกลับมาพูดการเมืองที่มีทัศนะทางบวกบ้าง ต้องมองว่าการเมืองเป็นเรื่องปกติ ขัดแย้งเป็นเรื่องปกติ ในระบอบประชาธิปไตย ไม่มีทางเห็นตรงกัน สังคมสมานฉันท์ ไม่ได้หมายความว่าสังคมต้องเห็นพ้องต้องกัน แต่คนเห็นต่างกันแสดงความเห็นได้ และมีทางออก และไม่ใช้ความรุนแรง จุดแข็งของระบอบประชาธิปไตยมันแก้ไขตัวเองได้ มันฟื้นตัว ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ได้ โดยยังคงหลักการของประชาธิปไตย คือรัฐธรรมนูญ

“คิดว่าสังคมยังขาด Core Value (ค่านิยม) ที่เป็นคุณค่าสำคัญของความเชื่อเรื่องประชาธิปไตย และเราตีความว่าการเลือกตั้งไม่ดี แล้วประชาธิปไตยจะดีได้อย่างไร แต่ประชาธิปไตยคือวิถีชีวิต ที่ยึดความหลากหลาย เคารพเสรีภาพคน ตรงนี้คิดว่าถ้าเราไม่ทำอะไร ก็จะบ่นแบบเดิม” ศ.วุฒิสาร กล่าว

อดีตเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวอีกว่า ข้อเสนอทางออกในอนาคตของการเมืองไทย เราต้องเข้าใจว่า ประชาธิปไตยเป็นอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน จุดสำคัญสุดอันแรกคือ เราต้องเชื่อก่อนว่าประชาชนมีความบริสุทธิ์ใจจะใช้อำนาจ การแบ่งอำนาจ ถ่วงดุล และตรวจสอบ โจทย์นี้เป็นโจทย์ที่การเขียนกติกาบ้านเมือง การแบ่งอำนาจ การออกแบบองค์กรอิสระ รัฐสภา แล้วเราบอกว่าต้องมีถ่วงดุล แต่คิดว่าของเราอาจไม่ค่อยสมดุล เราอาจวางน้ำหนักไปในทางหนึ่งทางใดมากเกินไปหรือไม่ เหตุผลที่วางน้ำหนักแบบนั้นเพราะอะไร ย้อนไปคือมายาคติ และวิธีคิด ที่เรามองว่าทุกคนจะโกง เราจะเขียนกติกาที่ป้องกันเยอะ ถ้าคิดว่าทุกคนดี เราจะเขียนกติกาอีกแบบ คือให้เปิดเผย

ศ.วุฒิสาร ชี้ให้เห็นถึงทางออกของปัญหานี้ว่า ต้องเริ่มจากการออกแบบกติกาให้เป็นสากล โดยกติกาที่ใหญ่ที่สุดคือรัฐธรรมนูญ ดังนั้นอย่าไปบอกว่าใครคนใดคนหนึ่ง มันไม่ได้ โทษไม่ได้ว่า การเมืองสกปรก ก็กติกาเราออกแบบนี้ เมื่อกติกาออกให้มีช่อง เขาก็ทำตามช่อง เพราะวัตถุประสงค์คือทำให้เขาเข้าสู่อำนาจรัฐ ผ่านการชนะการเลือกตั้ง และคนสำคัญที่สุดคือกรรมการ ซึ่งต้องตัดสินตามกติกา เมื่อกติกาเป็นธรรม กรรมการคุมกติกาละเอียด แม่นยำขึ้น โดยไม่ต้องใช้ดุลพินิจ

“มีคนตั้งคำถามว่า ตกลงพรรคการเมืองไทยเป็นอย่างไร ถ้ากลับไปดูพัฒนาการกฎหมายพรรคการเมืองไทยคือ พรรคเกิดง่าย โตยาก ตายง่าย ยุบพรรคง่าย ตนเป็นคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรคมาตั้งแต่ปี 2550 เพราะพรรคเป็นของประชาชน ถ้ากรรมการบริหารพรรคทำผิดควรลงโทษรายบุคคล” ศ.วุฒิสาร กล่าว

ศ.วุฒิสาร กล่าวว่า การออกแบบกติกาที่เป็นธรรม แฟร์ทุกเรื่อง คีย์เวิร์ดสำคัญคือ 1.เราต้องมีภาพกติกา เห็นภาพที่เป็นองค์รวม จะต้องถูกออกแบบว่ากลไกใดควรมีอำนาจแค่ไหน ใครถ่วงดุลใคร ทุกคนต้องถูกตรวจสอบได้ ที่ผ่านมาเราอาจบอกว่า เรื่องนี้เราไม่ได้สัดส่วน ไม่ได้สมดุล การเมืองถูกตรวจสอบเยอะ แต่องค์กรอิสระไม่ได้ถูกตรวจสอบ กติกาแบบนี้คือการมององค์รวม เราอยากเห็นการเมืองเป็นอย่างไร เจตจำนง ออกแบบกติกาอย่างไรให้ไม่ต้องแก้บ่อย ๆ ทุกอย่างต้องออกกติกาเป็นกลาง แล้วปล่อยให้เขาเล่นกัน ส่วนคนคุมกติกาก็กำกับดูแลให้ดีแล้วกัน  2.การเสริมสร้างสถาบันทางการเมืองให้เข้มแข็งจริง กลไกการพัฒนาระบบรัฐสภา กลไกให้พรรคการเมืองเติบโตต่อเนื่อง และกลายเป็นพรรคที่ประชาชนมีส่วน เป็นเรื่องสำคัญ ทำไมต้องออกแบบให้พรรคมีสาขา 4 ภาค สถาบันทางการเมืองต้องพัฒนาตัวเองด้วย แต่ต้องให้โอกาสเขาต่อเนื่อง3.การเมืองจะดีขึ้นเรื่อย ๆ บนพื้นฐานว่าคนทุกคนดี และทุกคนปรารถนาอยาเป็นนักการเมืองที่ดี คือการสร้างสิ่งที่เรียกว่า Social Control หรือการสร้างการควบคุมทางสังคม ให้การเมืองเป็นระบบเปิด บทบาทสื่อสำคัญมาก การถ่ายทอดการอภิปรายในสภาฯทุกครั้งเป็นเรื่องดี เป็นการเปิดให้ประชาชนเฝ้าดู อยู่ในสายตาตลอด

“ยืนยันว่า ผมมองโลกในทางบวกว่า การเมืองไทยดีกว่าเก่า เรามีพรรคการเมืองใหม่ ๆ เข้ามาทำให้ระบบการเมืองเปลี่ยน ถ้าเราอดทนกับมันต่อไป ยอมให้มันผิดถูกบ้าง แล้วปรับปรุงแก้ไข โดยไม่ใช้อำนาจอื่น การเมืองไทยยังมีแสงสว่างในปลายทาง” ศ.วุฒิสาร กล่าว

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
FEATURED NEWS

ผอ.สกสว. ปิดโครงการ ลกส. รุ่นที่ 1 ยันการสนับสนุนสภาการสื่อมวลชนฯ

 
เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 ที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ การจัดอบรม โครงการ “เพิ่มองค์ความรู้สื่อมวลชนเรื่อง : โลกาภิวัตน์ในกระบวนทัศน์ใหม่ของสื่อ” ได้จัดให้มีการนำเสนอโครงงานของผู้เข้ารับการอบรม และปิดการอบรมหลักสูตรโครงการดังกล่าว โดยดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ ประธานคณะกรรมการหลักสูตร กล่าวปัจฉิมนิเทศว่า ครั้งแรกที่หารือกันในที่ประชุมกรรมการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เรื่องอยากจะให้ระดมพลคนสื่อมาเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ซึ่งตอนนั้นใช้คำว่าโลกาภิวัตน์ กรรมการทุกคนเห็นด้วยอย่างยิ่ง จนทำให้เกิดเป็นวันนี้ขึ้นมา

ดร.พิเชฐ กล่าวอีกว่า การนำคน 20-30 คนมาอยู่ด้วยกัน คงมีโอกาสไม่มากนัก ประกอบกับต้องขยายขอบเขตให้คนที่ไม่ได้เป็นสื่อเข้ามาอยู่ในวงด้วยจนเกิดปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เป็นคุณค่าที่จับต้องไม่ได้ แต่สำคัญยิ่ง นับเป็น Real Power ของพวกเราอย่างมาก เมื่อเรามีรุ่นแรก ก็น่าจะเป็นความคิดให้พวกเราช่วยกันมองอนาคตของสื่อที่จะทำอย่างไรให้เข้มแข็ง และขยายโอกาสไปให้กลุ่มอื่นๆ เข้ามาร่วมด้วย หัวข้อในอนาคตอาจเป็นเรื่องอื่นๆ เพราะตอนนี้เราอยู่ในโลกที่มีความหลากหลายอย่างมาก ศาสตร์เดียวเอาไม่อยู่ เราต้องเรียนรู้กันตลอดชีวิต เพราะปัจจุบันมีหลายเรื่องเกิดขึ้น ทั้ง Geopolitics ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ทุกประเทศต้องหาจุดยืน สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันกัน สิ่งแวดล้อมก็เป็นเงื่อนที่สำคัญยิ่ง แต่การตกลงในกรอบความร่วมมือต่างๆ ของโลกกลับยังไม่เห็นผลอะไร แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ อุณหภูมิโลกสูงขึ้นเยอะ หรือเรื่องของเทคโนโลยี ไม่เรียนรู้ก็ไม่ได้ ซึ่งน่าเป็นห่วงอย่างยิ่งสำหรับลูกหลานในอนาคต จึงเป็นเรื่องของพวกเราต้องช่วยกันบอกสังคมให้ตระหนักรู้กับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะเหล่านี้คือเรื่องของอนาคตจริงๆ

 

ดร.พิเชฐ กล่าวว่า ขอบคุณทุกคนที่ทำให้รุ่น 1 เป็นจริงขึ้น ทุกคนล้วนบอกว่าสนุกสนานมีความสุข เพิ่มพูนองค์ความรู้ได้ดี นำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานได้ ก็หวังว่าในอนาคตจะช่วยกันสื่ออะไรที่สำคัญให้สังคมทราบ เพิ่มเครือข่ายการทำงานและความร่วมมือแบบนี้ ให้เพิ่มมากขึ้นอีก

 ส่วนช่วงบ่ายมีการนำเสนอโครงงานกลุ่มของผู้เข้ารับการอบรม กลุ่มที่ 1 ศักยภาพผู้สูงอายุไทยที่ไม่มีวัน…เกษียณแก้โจทย์แรงงานไทย หยุดตีกรอบวัยทำงาน สร้างทางเลือกหลังเกษียณ กลุ่มที่ 2 โอกาสและการขับเคลื่อน SOFT POWER ผ่านอุตสาหกรรมบันเทิงไทย กลุ่มที่ 3 วิกฤตการเกิด เรื่องกำเนิด…ใครกำหนด?

กลุ่มที่ 4 PM 2.5 วิกฤติฝุ่นพิษ “ข้ามแดน” ปัญหาไร้ทางออก? และกลุ่มที่ 5 ผีน้อยส่งออก “Made in Thailand” ผลผลิตจากสังคมไทยไร้โอกาส ซึ่งทั้ง 5 กลุ่มได้นำเสนอให้อาจารย์ที่ปรึกษาให้คำแนะนำ และปรับปรุงแก้ไขมาก่อนหน้านี้ โดยวันนี้กรรมการหลักสูตรและผู้ทรงคุณวุฒิร่วมให้ความเห็นเพิ่มเติมด้วย

 รองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวปิดการอบรมว่า ในนามสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับเกียรติมาเป็นประธานปิดการอบรมโครงการ “เพิ่มองค์ความรู้สื่อมวลชนเรื่อง: โลกาภิวัตน์ในกระบวนทัศน์ใหม่ของสื่อ” ซึ่งจัดโดยสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติร่วมกับสกสว. ในวันนี้ 

ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า สกสว.เป็นองค์กรที่มุ่งยกระดับศักยภาพและขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ ววน. ของประเทศ เพื่อส่งมอบคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน รวมถึงผลักดันให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว การสนับสนุนสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติจัดหลักสูตรอบรมในครั้งนี้ จึงถือว่าสอดคล้องกับพันธกิจของ สกสว. ในการที่จะช่วยยกระดับศักยภาพของสังคมทุกภาคส่วนในการใช้ความรู้และนวัตกรรมร่วมขับเคลื่อนประเทศ  โดยที่สื่อมวลชนไทย ในฐานะที่ท่าน ที่มีหน้าที่สำคัญในการเป็นสื่อกลางให้ข้อมูลความรู้แก่สังคม  สามารถเป็นผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรม โดยเฉพาะองค์ความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของโลกและระเบียบโลก  สภาการสื่อมวลสามารถเป็นสื่อกลางให้กับสื่อมวลชนไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของสื่อมวลชนและบุคลากรในหน่วยงาน ในการรายงานและวิเคราะห์ข่าว ความเคลื่อนไหวในมุมต่าง ๆ ของระเบียบโลกที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างถูกต้อง ครบถ้วน รอบด้าน และเป็นไปตามหลักจริยธรรมของสื่อมวลชน อีกทั้งเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดี และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างสื่อมวลชนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  

 

ผอ.สกสว. กล่าวต่อว่า ส่วนตัวชอบทำงานกับคนรุ่นใหม่ อนาคตของประเทศ ซึ่งทั้ง 5 หัวข้อเลือกมาเป็นประเด็นที่มีความสำคัญและมีความหมายกับประเทศ ดีใจที่ทุกคนได้มีโอกาสสืบค้นข้อมูล สื่อมวลชนกับนักวิจัยมีส่วนคล้ายๆ กัน คือ สืบค้นข้อมูล วิเคราะห์สังเคราะห์ข้อมูล และการสื่อสาร ว่าสิ่งที่ได้จากข้อมูลคืออะไร แต่สิ่งที่ต่างกันมากๆ คือนักวิชาการอาจเข้าถึงยากกำลังพูดหรือเขียนอะไร แต่สื่อมวลชนมีทั้งศาสตร์และศิลป์น่าจะเป็นหน่วยงานที่สำคัญที่จะทำให้สังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ตนเชื่อพลังของการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นวรรณกรรม ที่เมื่อก่อนเปลี่ยนโลก  สร้างแรงบันดาลใจได้ ยุคสมัยผ่านไปวรรณกรรมอาจอยู่เฉพาะคนบางกลุ่ม แต่สื่อมวลชน คนทั่วไปเข้าถึงได้ง่ายกว่า แล้วสื่อมวลชนจะสื่อสารเรื่องอะไร กรณีแบบนี้สื่อมวลชนอาจยากกว่านักวิชาการ งานวิจัยนักวิชาการจบ 1 เรื่อง แต่การทำความเข้าใจกับสาธารณะ ต้องบูรณาการหลายเรื่อง ถึงแก้ปัญหาได้ จะเห็นภาพเชิงระบบเพื่อให้ได้ข้อเสนอแนะและทางออกที่ดีกว่า สื่อมวลชนมีบทบาทช่วยได้มากในเรื่องนี้ ถ้าจะสร้างสังคมที่ดีกว่า คือการสร้างปัญญา การหาข้อเสนอหรือทางออก นักวิชาการกับสื่อจึงควรทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ในการนำข้อมูลที่น่าสนใจและข้อมูลเชิงลึกต่างๆ เสนอให้สาธารณะรับทราบ

 

ผอ.สกสว. กล่าวอีกว่า หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้เข้ารับการอบรมทุกท่านจะได้นำความรู้และประสบการณ์อันมีคุณค่าไปใช้ในการรายงานข่าวที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน พร้อมกันนี้ขอแสดงความยินดีกับผู้ได้รับรางวัลจากการรายงานผลงานกลุ่มทุกท่าน และหวังว่าจะมีการเผยแพร่ผลงานดังกล่าวต่อสาธารณชนหรือภาคนโยบาย เพื่อร่วมกันสร้างพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงของประเทศในประเด็นที่ท้าทายภายใต้ระเบียบโลกใหม่ และหวังว่าสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติจะจัดการอบรมหลักสูตรที่เป็นประโยชน์เช่นนี้ต่อไปอย่างต่อเนื่อง เราอาจจะมาช่วยกันวิเคราะห์สถานการณ์  วิเคราะห์ข้อมูลและเลือกหัวข้อสำหรับการจัดอบรมในครั้งต่อๆไป 

 

ผอ.สกสว. กล่าวว่า สกสว. เป็นหน่วยงานบริหารจัดการกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) มีหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุน ขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ของประเทศในทุกด้าน เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างสมดุลและยั่งยืน

นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวว่า โครงการนี้ เป็นโครงการนำร่องที่สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติตั้งใจจะเพิ่มองค์ความรู้ด้านโลกาภิวัตน์หรือความเปลี่ยนแปลงของโลกให้แก่สื่อมวลชนไทยและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การรายงานข่าวของสื่อมวลชนไทยมีความรอบด้านและครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งสิ่งที่สะท้อนได้อย่างดีว่าผู้เข้ารับการอบรมได้รับความรู้ตามวัตถุประสงค์หรือไม่คือ ผลงานที่ผู้เข้ารับการอบรมผลิตตามที่หลักสูตรมอบหมาย

“ต้องขอบคุณทาง สกสว.เป็นอย่างมากที่เข้าใจและให้ความสำคัญต่อโครงการนี้ เชื่อว่าการสนับสนุนจาก สกสว.จะเป็นเริ่มต้นของการร่วมงานที่เป็นรูปธรรมในการเสริมสร้างความรู้และศักยภาพของสื่อมวลชนไทย ซึ่งผลที่ตามมาคือ การที่สาธารณชนจะได้รับข้อมูลข่าวสารจากสื่อมวลชนที่สมบูรณ์มากขึ้น” ประธานสภาการสื่อมวลชนฯกล่าว.

ซึ่งในการอบรมครั้งนี้ ทางนายกันณพงศ์ ก.บัวเกษร ผู้ก่อตั้ง สำนักข่าวนครเชียงรายนิวส์ ได้เข้าร่วมฝึกอบรมแลกเปลี่ยนในโครงการครั้งนี้ด้วย

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
EDITORIAL

โอกาสและการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ ผ่านอุตสาหกรรมบันเทิงไทย

ประเด็นสำคัญ

ที่ผ่านมา ซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ถูกกล่าวถึงในฐานะของหนึ่งในเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย แต่กลไกสำคัญในกระบวนการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ ไม่ใช่แค่การกำหนดนโยบายที่เหมาะสมเท่านั้น แต่ต้องมีกลไกที่ผสานกันระหว่าง ‘ความคิดสร้างสรรค์’ และ ‘เทคโนโลยี’ จึงจะสามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ให้พัฒนาทั้งรายได้และคุณภาพชีวิตของผู้คน ที่ทำให้ซอฟต์พาวเวอร์ของไทยไปสู่ระดับโลกได้อย่างแท้จริง

ทำไมต้อง ‘Soft Power’ ?

ศาสตราจารย์โจเซฟ ไนย์ (Joseph S. Nye) อาจารย์มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด ได้อธิบายคำว่า ‘Soft Power’ ไว้ว่า ‘การทูตสาธารณะ (Public Diplomacy)’ คือเครื่องมือที่สำคัญในการส่งเสริมการใช้อำนาจการโน้มน้าวใจเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย โดยเครื่องมือหลัก ได้แก่ ภาพยนตร์ สิ่งพิมพ์ การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม วิทยุ และโทรทัศน์

คำนี้เริ่มนำมาใช้ตั้งแต่ทศวรรษ 1980 ในช่วงยุคสงครามเย็นและหลังสงครามเย็น ในฐานะกลยุทธ์ทางการเมืองของสหรัฐอเมริกาและรัสเซีย โดยมีทั้งการใช้กำลังทหารหรือเรียกว่าฮาร์ดพาวเวอร์ (Hard Power) และมีการสร้างอิทธิพลเพื่อให้ประเทศอื่น ๆ ยอมทำในสิ่งที่ต้องการโดยยินยอมพร้อมใจ อย่างซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ควบคู่กันมานับตั้งแต่นั้น

ปัจจุบันซอฟต์พาวเวอร์ถูกนำมาใช้พัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างมีนัยสำคัญ ในประเทศไทยซอฟต์พาวเวอร์ เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ถูกหยิบยกขึ้นมาในระดับประเทศ เช่นในช่วงที่ผ่านมาถูกกล่าวถึงในฐานะนโยบายสำคัญที่รัฐบาลจะผลักดัน ‘1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์’

โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เพื่อกำหนดนโยบายและทิศทางทางรวมเกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ซอฟต์เพาเวอร์ของประเทศอีกด้วย

ซอฟต์พาวเวอร์ที่ขาดหายในประเทศไทย

แม้ประเทศไทยจะมีศักยภาพในด้านซอฟต์พาวเวอร์หลายด้านเป็นต้นทุนเดิม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ให้ได้ผลลัพธ์อย่างที่ควรจะเป็น ยังมีข้อจำกัดอยู่หลายมิติ

1) สังคมไทยยังขาดความเข้าใจในเรื่องซอฟต์พาวเวอร์

2) การถูกนำไปผูกโยงกับการเมือง

และ 3) ขาดการบูรณาการและวางแผนระยะยาว

 

Soft Power ที่โซเชียลมีเดียกล่าวถึง
การจัดอันดับ Global Soft Power Index

จากการจัดอันดับ Global Soft Power Index ประจำปี 2566 ในด้านวัฒนธรรมและมรดก อันประกอบไปด้วย 6 องค์ประกอบ ดังนี้ 

1) ผู้อิทธิพลในด้านศิลปะและความ บันเทิง 

2) อาหารที่ทั่วโลกชื่นชอบ 

3) สถานที่ที่ดีเยี่ยมใน การเยี่ยมชม 

4) มรดกอันยาวนาน 

5) วิถีชีวิตที่น่าดึงดูด ใจ 

และ 6) ผู้นำด้านกีฬา โดยได้มีการจัดอันดับและการ ให้คะแนนเต็มอยู่ที่ 10 คะแนน 

 

ผ่านการรวบรวมคำตอบ จากผู้คนกว่า 110,000 คน ในกว่า 100 ประเทศ ด้วยวิธี สำรวจการรับรู้ของแบรนด์ระดับประเทศจากทั่วโลก ผลการสำรวจ พบว่า ประเทศที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง ในอุตสาหกรรมบันเทิง 5 อันดับ โดยอันดับแรก คือ ประเทศฝรั่งเศส 7 คะแนน รองลงมาจะเป็นประเทศ สหรัฐอเมริกาและประเทศอิตาลี 6.9 คะแนน ประเทศ สเปน 6.6 คะแนน และประเทศอังกฤษ 6.5 คะแนน โดย เรียงตามอันดับ สำหรับในเอเชียประเทศที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจใน อุตสาหกรรมบันเทิงสูงที่สุด ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น 6 คะแนน (อันดับที่ 6 ของโลก) สาธารณรัฐประชาชนจีน 5.3 คะแนน (อันดับที่ 10 ของโลก) ประเทศเกาหลีใต้ 5 คะแนน (อันดับที่ 17 ของโลก) และประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 32 ซึ่งมีคะแนนอยู่ที่ 4.4 คะแนน

 

ภาพรวมสื่อบันเทิงในไทยและระดับโลก

จากการสำรวจของ Intellias Global Technology Partner ในด้านสื่อและอุตสาหกรรมบันเทิงในปี 2567 พบว่าสื่อบันเทิงในรูปแบบสตรีมมิ่งมีการเติบโตและมีความ หลากหลายและจำนวนที่เพิ่มมากขึ้น 

 

นอกจากนี้ยังมีการศึกษาภาพรวมภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2566 – 2567 พบว่าคอนเทนต์ครีเอเตอร์ และอินฟลูเอนเซอร์ที่ ดาหน้าเข้าสู่วงการสื่อมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ตลาด อินฟลูเอนเซอร์จึงยังได้คงรับความนิยมจากทั้งแบรนด์และ เอเจนซี่ต่าง ๆ ส่งผลให้ “แฟนด้อม มาร์เก็ตติ้ง” (Fandom Marketing) หรือกลยุทธ์ในการสร้างแบรนด์ ผ่านทางแฟนคลับถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย เพราะความ เคลื่อนไหวของเหล่าด้อมได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วถึง “บทบาท และอำนาจการซื้อ” ในการสนับสนุนศิลปินหรืออินฟลูเอน เซอร์ในดวงใจจากหลายแคมเปญ สำหรับแพลตฟอร์ม สื่อต่าง ๆ นั้น โซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊ก ยูทูบ ติ๊กต๊อก สามารถครองใจผู้ใช้โซเชียลมีเดียในไทย แต่ยูทูบเป็น แพลตฟอร์มยอดนิยมในการสร้างรายได้ อย่างไรก็ดี การ ที่ติ๊กต๊อกเข้าสู่วงการอีคอมเมิร์ซและผลักดันให้กระแส Live-Commerce หรือการไลฟ์ขายของออนไลน์ถูกใจผู้ใช้ งานติ๊กต๊อกในไทยที่ชื่นชอบการชอปปิงออนไลน์อยู่เป็นทุน เดิมอยู่แล้ว ก็เป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่น่าติดตาม

ถอดบทเรียนซอฟต์พาวเวอร์ ประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ทำอย่างไรให้สำเร็จ
การโปรโมตซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศญี่ปุ่น

ข้อมูลจากเว็บไซต์ Global Asia ที่รายงานเกี่ยวกับ ความเคลื่อนไหวในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ระบุว่า ประเทศญี่ปุ่นได้ดำเนินนโยบายการโปรโมท ซอฟพาวเวอร์ของตัวเองผ่านแคมเปญที่มีชื่อว่า คูล เจแปน (Cool Japan) โดยที่ผ่านมาญี่ปุ่นจะใช้งบ ประมาณสาธารณะสนับสนุนในสิ่งที่ เรียกกันว่า ‘วัฒนธรรมชั้นสูง’ ของตัวเองมาโดยตลอด ต่อมา รัฐบาลญี่ปุ่นก็ต้องการทำแบบเดียวกันกับวัฒนธรรม ‘Pop culture’ ของตัวเองให้เป็นที่รู้จัก รัฐบาลญี่ปุ่น จึงได้มีการสนับสนุนกิจกรรมการแข่งขัน คอสเพล ย์จากทั่วโลกให้มาแข่งที่ญี่ปุ่น และยังได้มอบรางวัล นานาชาติประจำปีให้กับศิลปินวาดการ์ตูน มัง

การโปรโมตซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศเกาหลีใต้

ซอฟต์พาวเวอร์เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยยกระดับจาก ประเทศเกาหลีใต้ จากที่เคยต้องกู้เงินกองทุนการเงิน ระหว่างประเทศ (IMF) มาถึง 57 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วงปลายทศวรรษ 1990 แต่ปัจจุบันเกาหลีใต้กลาย เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ เป็นอันดับที่ 12 ของโลก มีมูลค่ากว่า 1.63 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ

 

เกาหลีใต้ผ่านวิกฤตินี้ไปได้จากการมุ่งพัฒนา อุตสาหกรรมบันเทิงอย่างจริงจัง จนเกิดเป็นกระแส Korean Wave หรือ ฮันรยู (Hallyu) โดยรัฐบาล เกาหลีใต้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในการจัดการและส่ง เสริมอย่างเต็มที่ รวมถึงมีการก่อตั้ง ‘Korea Creative Content Agency (KOCCA)’ หรือสำนักงานส่งเสริม คอนเทนต์เกาหลี เมื่อปี 2009 ที่ส่งเสริมและช่วยเหลือ ด้านเงินทุนให้แก่ภาคเอกชนในการสร้างคอนเทนต์และ พัฒนากลยุทธ์และถ่ายทอดเนื้อหาสาระความเป็นเกาหลี ในคอนเทนต์ทุกรูปแบบสู่สายตาคนทั่วโลก

กรณีศึกษา มูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจาก
Korean Wave หรือ ฮันรยู (Hallyu)

ซอฟต์พาวเวอร์เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้ GDP ของ เกาหลีใต้เติบโตอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่ ด้านการ ท่องเที่ยว อิทธิพลของ Korean Wave ที่เกิดขึ้น จากภาพยนตร์ วงดนตรี ละคร ที่ทำให้คนมีโอกาส ได้เห็นหลายแง่มุมของประเทศผ่านสื่อบันเทิง เช่น ความปลอดภัย ระบบขนส่งสาธารณะ ความทัน สมัยของเทคโนโลยี เป็นต้น ยิ่งส่งเสริมการท่องเที่ยว ในของเกาหลีใต้หรือ K-Travel ให้มีชื่อเสียงในทางที่ดี ขึ้นอย่างชัดเจน

 

ขณะที่ ด้านภาษาและวัฒนธรรม ด้วยพลังของ ซอฟต์พาวเวอร์ที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้ปัจจุบันผู้คน ทั่วโลกจึงให้ความสนใจและเข้าใจในวัฒนธรรมและ ภาษาเกาหลีมากขึ้น จากรายงานของ Duolingo แอปพลิเคชันสอนภาษาพบว่าภาษาเกาหลีได้รับ ความนิยมมากเป็นอันดับที่ 7 ของโลกไปแล้ว

ซอฟต์พาวเวอร์ไทยอยู่ตรงไหนของโลก

ซอฟต์พาวเวอร์สามารถนำมาใช้เพื่อส่งเสริมจุดยืน ของประเทศในเวทีโลกผ่านการสร้างภาพลักษณ์ที่ดี ของประเทศ จากการจัดอันดับ Global Soft Power Index 2023 โดย Brand Finance ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 41 ของโลก ซึ่งตกลงจาก เดิมซึ่งได้ที่ 35 ในปีก่อน 6 อันดับ

ด้าน ดร.ชาคริต พิชยางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่ง เสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) ได้ อธิบายถึงประเด็น ที่ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับตัวชี้วัด Global Soft Power Index ที่ต้องมองแบบองค์รวม “ เมื่อพูดถึง Soft Power คนมักจะคิดว่าเป็นเรื่องทุนวัฒนธรรม แต่ ถ้าเราดูจากการจัดโครงสร้างดัชนีในการจัดอันดับ Global Soft Power Index จะมีการแบ่งนํ้าหนักคะแนน เป็น 5 ส่วน คือ Familiarity 10% หมายความว่า คุณต้องมีความคุ้นเคย Reputation 10% คือความ มีชื่อเสียงเชิงบวก Influence 30% คือคุณต้องรู้สึกว่า สินค้าและบริการสามารถชักจูงให้คุณเชื่อถือและชื่นชม ได้ และให้นํ้าหนัก 7 Soft Power Pillars อีก 40% ฉะนั้นต้องมองเป็น holistic view คือ มุมมองแบบองค์ รวมในการขับเคลื่อน Soft Power ”

ข้อเสนอแนะ
ด้านอุตสาหกรรมบันเทิง

หม่อมราชวงศ์ เฉลิมชาตรี ยุคล ตัวแทนผู้ขับเคลื่อน Soft Power สาขาภาพยนตร์ ได้กล่าวว่า “หาก ต้องการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์วงการบันเทิงไทยให้ไป สู่สายตาชาวโลกและเชื่อมั่นว่า ‘ของไทยดีจริง’ จะต้องมี 3 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) พัฒนาบุคลากรในประเทศให้มี ความสามารถ 2) การเปิดตลาดให้ใหญ่ขึ้นทั้งในประเทศ และต่างประเทศ และ 3) เพิ่มบทบาทของรัฐด้วยการเข้า มาเป็นตัวกลางเพื่อสนับสนุนการขายคอนเทนต์ และ สร้างพื้นฐานของทรัพยากรในประเทศไทยให้แข็งแรง”

 

ดร.ไพบูลย์ ปิตะเสน ประธานศูนย์เกาหลีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ “มองว่าการสร้าง ซอฟต์พาวเวอร์ของไทยให้มีอิทธิพล ควรมีองค์ ประกอบ 3 อย่างที่ร่วมมือกัน 1) ภาคธุรกิจเอกชน B : Business จำเป็นต้องมีความเชื่อมต่อกัน ระหว่างทรัพยากร 2) ภาครัฐ G : Government มี ความสำคัญมากในบทบาทของการจัดองค์กร ภายในประเทศ เช่น หน่วยงานที่รับผิดชอบให้เป็น ระบบ เปลี่ยนโครงสร้างจัดตั้งกลไก และบูรณาการ ได้ทุกกระทรวง และ 3) พลเมือง C : Citizen เกาหลีใต้เป็นอีกหนึ่งตัวเองในการใช้การทูต สาธารณะ โดยใช้พลเมืองเกาหลีที่มีโอกาสออกไป อยู่ในต่างประเทศเป็นทูตในการถ่ายทอดวัฒนธรรม ได้ด้วยตัวเอง นับเป็นการทำการทูตโดยอัตโนมัติ”

 

จากข้อเสนอแนะจากหลายฝ่ายในข้างต้นกำลัง สะท้อนว่าประเทศไทยเริ่มมองเห็นความสำคัญแต่ ยังไม่สามารถผลักดันให้ซอฟต์พาวเวอร์กลายเป็น พลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้เต็มที่ ดังนั้นจึงควรมี แนวทางในการขับเคลื่อนทั้งภาครัฐและเอกชน ดังนี้

 

การขับเคลื่อนจากภาคเอกชน

ด้านสินค้าและบริการ ธุรกิจไทยหลายแห่งมุ่งเน้นการ พัฒนาสินค้าและบริการที่สอดแทรกเอกลักษณ์ของ ไทยเข้าไปผสมผสานกับนวัตกรรมใหม่ ๆ การสนับสนุนงานศิลปะและวัฒนธรรม เช่น แสดงงาน ศิลปะและวัฒนธรรมต่าง ๆ ทั้งระดับประเทศและระดับ นานาชาติ การสื่อสารผ่านสื่อ ภาคเอกชนไทยใช้สื่อเป็นสื่อกลาง ที่มีพลังสำคัญในการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ของ ประเทศไปสู่สายตาชาวโลก การพัฒนาบุคลากร ภาคเอกชน โดยเฉพาะในภาค บริการให้มีคุณภาพตรงความต้องการของตลาด และ เพียงพอต่อความต้องการ

 

การขับเคลื่อนจากภาครัฐ

การขับเคลื่อนจากภาครัฐต้องมีบทบาทสำคัญใน การเป็น ‘Facilitator’ หรือผู้สนับสนุนการขับเคลื่อนของ ภาคเอกชน ผ่านนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ดังนี้ ปรับปรุงกฎเกณฑ์ เนื่องจากปัจจุบันยังมีกฎเกณฑ์ บางข้อในประเทศไทยที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา ซอฟต์พาวเวอร์ เช่น กฎหมายลิขสิทธิ์ใน ประเทศไทยไทยยังมีความซับซ้อน และควร สนับสนุนการระดมทุนสำหรับโครงการซอฟต์พาว เวอร์ผ่านกลไกต่าง ๆ เช่น เงินอุดหนุน การยกเว้น ภาษี หรือการจัดตั้งกองทุนสนับสนุน เป็นต้น พัฒนาบุคลากร การพัฒนาบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ผ่านการ ส่งเสริมการศึกษา พัฒนาหลักสูตร มีทุน สนับสนุนการพัฒนา นอกจากนี้รัฐยังสามารถ สนับสนุนในการสร้างเครือข่ายระหว่างภาครัฐและ ภาคเอกชนด้วย

 

เอกสารอ้างอิง

Brand Finance. GLOBAL SOFT POWER INDEX 2023. สืบค้นจาก https://brandirectory.com/softpower/nation

Intellias. 2024 Media & Entertainment Industry Qutlook + Key Trends. สืบค้นจาก https://intellias.com/media-entertainment-industry-trends/

dataxet infoquest. ภาพรวมภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2566 – 2567. สืบค้นจาก https://www.dataxet.co/media-landscape/2024-th

สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์. ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นซอฟท์พาวเวอร์ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน. สืบค้นจาก https://nida.ac.th/economy-into-soft-power-for-sustainable-development/

 

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
NEWS UPDATE

สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เลือกตั้ง กรรมการสมัย 2 นัดชุดใหม่ 6 มีนาคมนี้

 

เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 ที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ ได้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สมัยที่ 2 โดยแบ่งการเลือกตั้งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทสมาชิกผู้ก่อตั้ง และประเภทสมาชิกสามัญ เพื่อปฏิบัติหน้าที่แทนคณะกรรมการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สมัยที่ 1 ที่จะหมดวาระในวันที่ 5 มีนาคม 2567 โดยมีคณะกรรมการอำนวยการเลือกตั้ง ประกอบด้วย ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล นักหนังสือพิมพ์อาวุโส เป็นประธานฯ ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ นายสมาน สุดโต นักหนังสือพิมพ์อาวุโส นายสุรินทร์ ชัยวีระไทย สื่อมวลชนอาวุโสส่วนภูมิภาคและนายมงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เป็นกรรมการอำนวยการเลือกตั้งฯ

 

สำหรับการเลือกตั้งกันเองโดยองค์กรสมาชิก ปรากฏผลดังนี้ กรรมการประเภทสมาชิกผู้ก่อตั้ง แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มหนังสือพิมพ์ กลุ่มวิทยุ-โทรทัศน์ และกลุ่มดิจิทัล โดยผู้สมัครรับเลือกตั้งกรรมการในกลุ่มหนังสือพิมพ์ เลือกกันเอง 7 คน จากผู้สมัคร 8 คน โดยผู้ที่ได้รับเลือกเป็นกรรมการ ได้แก่ 

1. นางสาวผุสดีคีตวรนาฎ หนังสือพิมพ์ซิงจงเอี๋ยน 

2.นายนพปฎล รัตนพันธ์ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ 

3.นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี เครือไทยรัฐ 

4.นายตุลย์ ศิริกุลพิพัฒน์ เครือผู้จัดการ 

5.นายสวิชย์ บำรุงสุข หนังสือพิมพ์สยามรัฐ 

6.นางสาว น.รินี เรืองหนู เครือมติชน 

และ 7.นางสาวนิภาวรรณ แก้วรากมุกข์ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

 

กลุ่มวิทยุ-โทรทัศน์ เลือกตั้งกันเอง 2 คน จากผู้สมัคร 2 คน โดยผู้ได้รับเลือกเป็นกรรมการ 

ได้แก่ 1.นายธรรมสถิตย์ ผลแก้ว สถานีโทรทัศน์เนชั่นทีวี 

และ 2.นายก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ สถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส

 

กลุ่มดิจิทัล เลือกกันเอง 2 คน จากผู้สมัคร 3 คน โดยผู้ได้รับเลือกเป็นกรรมการ ได้แก่ 

1.นายปฐพร ทรัพย์ไพฑูรย์ เดอะเนชั่นออนไลน์ 

และ 2.นางสาวณยา คัตตพันธ์ คมชัดลึกออนไลน์

 

กรรมการประเภทสามัญ แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มหนังสือพิมพ์ และกลุ่มดิจิทัล โดยผู้สมัครรับเลือกตั้งกรรมการในกลุ่มหนังสือพิมพ์ เลือกกันเอง 3 คน จากผู้สมัคร 6 คน โดยผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการ ได้แก่ 

1. นายภูวสิษฏ์ สุขใส หนังสือพิมพ์ภาคใต้โฟกัส จ.สงขลา 

2.นายศักดิ์สิทธิ์ วิบูลศิลป์โสภณ หนังสือพิมพ์เพชรภูมิ จ.เพชรบุรี 

และ 3.นายจักรกฤชณ์ แววคล้ายหงษ์ หนังสือพิมพ์ประชามติ จ.ตราด

 

ส่วนกลุ่มดิจิทัล ทำการเลือกกันเอง 1 คน จากผู้สมัคร 3 คน โดยผู้ได้รับเลือกเป็นกรรมการ ได้แก่ 

นายสราวุฒิ แซ่เตี๋ยว เชียงใหม่นิวส์ออนไลน์ จ.เชียงใหม่          

 

จากนั้นกรรมการที่ได้รับเลือกตั้งทั้ง 2 ประเภท ได้ประชุมร่วมกันเพื่อเสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาอาชีพต่างๆ 8 คน ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิสาขากฎหมาย นักวิชาการสื่อสารมวลชน ด้านการบริหารจัดการ ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสิทธิมนุษยชน และด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาละ 1 คน และผู้ทรงคุณวุฒิที่มีอาวุโสและประสบการณ์สูงด้านสื่อมวลชน ซึ่งไม่สังกัดองค์กรใดอีก 2 คน เพื่อให้ได้กรรมการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติครบทั้ง 23 คน จากนั้นจะมีการประชุมส่งมอบงานระหว่างกรรมการชุดเก่าและชุดใหม่ในวันพุธที่ 6 มีนาคม 2567

 

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI FEATURED NEWS

ผู้อบรมหลักสูตรวิเคราะห์ข่าวระเบียบโลก ศึกษาดูงาน จ.เชียงราย – สปป.ลาว

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือสกสว.และ สภาการการสื่อมวลชนแห่งชาติ จัดกิจกรรมศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านตลาดการค้าชายแดน สปป.ลาว – ประเทศไทย ” ระหว่างวันศุกร์ที่ 26 – วันเสาร์ที่ 27 มกราคม 2567

 

เมื่อวันที่ 26 – 27 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของระเบียบโลกให้กับสื่อมวลชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงความสามารถของสื่อมวลชนในการรายงานและวิเคราะห์ข่าว ความเคลื่อนไหวในมุมต่างๆ ของระเบียบโลกได้อย่างถูกต้อง รอบด้าน และเป็นไปตามหลักจริยธรรมสื่อมวลชน ที่ซึ่งจัดโดย สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ โดยการสนับสนุนของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) โดยได้ ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แลนายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เข้าร่วมเดินทางในครั้งนี้ด้วย

 

 

 

โครงการได้คัดเลือกในรูปแบบของการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research) โดยการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive Sampling) ตามสัดส่วนของทั้งสื่อมวลชน องค์กรภาครัฐและเอกชนรวม จำนวน 31 คน นอกจากจะมีการศึกษาดูงานในส่วนกลางที่กระทรวงการต่างประเทศ และสหประชาชาติใน ประเทศไทย นอกจกานี้ยังจะมีในส่วนภูมิภาคที่จังหวัดเชียงราย เพื่อศึกษาดูงานการค้าขายชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านทั้ง ลาว – เมียนมา – จีน เพื่อให้ได้รับข้อมูลและความรู้โดยตรงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการจัดทำรายงานกลุ่มเพื่อร่วมกันออกแบบการสื่อสารเกี่ยวกับระเบียบโลกที่เปลี่ยนแปลงไปให้น่าสนใจและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ผู้รับสาร ต้องขอบคุณ สกสว. กองทุน ววน.ที่เห็นความสำคัญในการพัฒนาองค์ความรู้ในครั้งนี้

 

 

ซึ่งทาง สำนักข่าว นครเชียงรายนิวส์ หรือเดิมชื่อหนังสือพิมพ์นครเชียงราย มีนายกันณพงศ์ ก.บัวเกษร ผู้ก่อตั้งนครเชียงรายนิวส์ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งท่านในโครงการอบรมครั้งนี้ด้วย

 

ในวันที่ 26 มกราคม 2567  ผู้เข้ารับการอบรม โครงการ “เพิ่มองค์ความรู้สื่อมวลชนเรื่อง : โลกาภิวัตน์ในกระบวนทัศน์ใหม่ของสื่อ” จัดโดยสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ โดยการสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้เดินทางไปศึกษาดูงานในส่วนภูมิภาค ที่จังหวัดเชียงราย

 

โดยมี นายเกรียงศักดิ์ วันไชยธนวงศ์ รองนายก อบจ. เชียงราย ให้การต้อนรับ และนางสาวผกายมาศ เวียร์รา รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย ได้บรรยาย สถานการณ์การเมือง-เศรษฐกิจชายแดน แก่ผู้เข้ารับการอบรมทราบ

 

จากนั้น คณะฯ เดินทางไปสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) เพื่อศึกษาดูงานแขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว  โดยมี ท่านไพบูน พิลาทอง รองอธิบดีกรมสื่อมวลชน กระทรวงแถลงข่าว วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว แห่ง สปป.ลาว ให้การต้อนรับ และนายสีสุพรรณ สีลิวงศ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมและการค้า แขวงบ่อแก้ว บรรยายสรุปอุตสาหกรรมและการค้าแขวงบ่อแก้ว ให้ผู้เข้ารับการอบรมทราบ และนมัสการพระธาตุสุวรรณผ้าคำ เมืองห้วยทราย 

 

โดยในวันที่ 27 มกราคม คณะฯ ได้เยี่ยมชมหอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย ในช่วงการจัดงาน ไทยแลนด์ เบียนนาเล่ เชียงราย 2023 มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ ครั้งที่ 3 ซึ่งนายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย มอบหมายให้นางสุภัสสร ประภาเลิศ นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ ร่วมต้อนรับ มีนางสาววัจนีย์ บุญเจ็น ผู้จัดการขัวศิลปะ กล่าวต้อนรับและนำชมงาน นอกจากนี้ คณะฯ มีโอกาสได้ไปเยี่ยมกิจการสิงห์ปาร์ค วัดร่องเสือเต้น และถนนคนเดินเมืองเชียงรายด้วย

โดยสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ได้ประกาศรับสมัครผู้เข้ารับการอบรบโครงการ “เพิ่มองค์ความรู้สื่อมวลชนเรื่อง : โลกาภิวัตน์ในกระบวนทัศน์ใหม่ของสื่อ” ตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2566 – 25 ตุลาคม 2566 นั้น บัดนี้ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ได้ดำเนินการพิจารณาแล้ว ผลปรากฎว่ามีผู้มีสิทธิ์เข้ารับการอบรมจำนวน 31 คน ดังนี้

1. นายกันณพงศ์ ก.บัวเกษร ผู้ก่อตั้งสำนักข่าวออนไลน์ นครเชียงรายนิวส์

2. นายกิตติกร แสงทอง ผู้สื่อข่าว สำนักข่าวอิศรา

3. นางสาวจารุพร โอภาสรัตน์ ผู้สื่อข่าว องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย

4. ดร.ฉัตรฉวี คงดี ผู้ช่วยผู้อำนวยการหน่วยข้อมูลและสำนักงานผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

5. นายชนาภัทร กำลังหาญ ผู้สื่อข่าว The Nation (บริษัท เนชั่น กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน))

6. นายณรงค์กร มโนจันทร์เพ็ญ คอนเทนต์ ครีเอเตอร์ บริษัท เดอะสแตนดาร์ด จำกัด (The Standard)

7. นายณัฐพล สมุหเสนีโต นักสื่อสารมวลชนชำนาญการ กรมประชาสัมพันธ์

8. นางสาวณัฐยา เมืองแมน รองผู้อำนวยการอาวุโส ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

9. นางสาวดวงกมล เจนจบ ผู้สื่อข่าว-เว็บไซต์ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย

10. นางสาวดารินทร์ หอวัฒนกุล ผู้สื่อข่าวอาวุโส บริษัท เนชั่น ทีวี จำกัด (เนชั่น ทีวี)

11. อาจารย์ต้นฝน ทรัพย์นิรันดร์ อาจารย์ประจำ วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

12. นางธัญดา วาณิชฤดี ผู้วิเคราะห์อาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย

13. นายนครินทร์ ศรีเลิศ หัวหน้าข่าวเศรษฐกิจ – นโยบายสาธารณะ บริษัท กรุงเทพธุรกิจ จำกัด (หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ)

14. นางสาวนิธิปรียา จันทวงษ์ นักวิชาการอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

15. นางสาวเนาวรัตน์ เสือสอาด ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กร แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

16. นายปรัชญา ชีพเจริญรัตน์ บรรณาธิการบริหารข่าวออนไลน์ (Onenews) บริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) (ช่อง ONE)

17. นายพงษ์ธร กิจเจริญยิ่ง ผู้สื่อข่าว บริษัท ไทย เวิลด์ มีเดีย จำกัด (ผู้จัดการออนไลน์)

18. นางสาวมนกนก ภาณุสิทธิกร ผู้จัดการ – Public Relations บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)

19. นางสาววนิดา เพ็งจันทร์ ผู้ชำนาญการ ขั้นพิเศษ ส่วนสารนิเทศและกิจกรรมสังคม ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

20. นายวรพล เพชรสุทธิ์ หัวหน้าข่าวภูมิภาค บริษัท สี่พระยาการพิมพ์ จำกัด(หนังสือพิมพ์เดลินิวส์)

21. นางสาววรางคณา จำปาทอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท เซียน ทีวี จำกัด

22. นายวิชัย สอนเรือง หัวหน้าข่าวออนไลน์ บริษัท สยามรัฐ จำกัด (หนังสือพิมพ์สยามรัฐ)

23. ผศ.วิภาวี วีระวงศ์ อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

24. นายวีรยุทธ แก้วจินดา ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตรายการ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)

25. นายวีระพันธ์ โตมีบุญ ผู้ดำเนินรายการวิทยุ สถานีวิทยุศึกษา

26. นายศราวุธ ดีหมื่นไวย์ ผู้สื่อข่าวอาวุโส เจาะประเด็น บริษัท เทรนด์วีจี 3 จำกัด (ไทยรัฐออนไลน์)

27. นางสาวศิดาพักตร์ ศักดิ์บุญญารัตน์ บรรณาธิการการเมือง บริษัท ไทย นิวส์ เน็ตเวิร์ค (ทีเอ็นเอ็น 16)

28. นายศุภเกษม เกษมศรี ณ อยุธยา นักวิจัย มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

29. นางสาวสราลี แซ่เตี๋ยว กรรมการบริหารฝ่ายปฏิบัติการ บจก.เชียงใหม่รายวัน จำกัด (สำนักข่าวเชียงใหม่นิวส์)

30. นางสาวสุมนชยา จึงเจริญศิลป์ ผู้จัดการแผนก บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)

31. นางสาวอาทิตญา ทาแป้ง ผู้สื่อข่าวต่างประเทศ บริษัท วัชรพล จำกัด (หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ)

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
NEWS UPDATE

ก.ต่างประเทศ ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล กับผู้อบรมจากสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ

 

เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2567 นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงฯ พร้อมรองอธิบดีธนวัต ศิริกุล และผู้บริหารของกรมฯ ได้ให้การต้อนรับผู้เข้ารับการอบรมโครงการ “เพิ่มองค์ความรู้สื่อมวลชนเรื่อง: โลกาภิวัตน์ในกระบวนทัศน์ใหม่ของสื่อ” จากสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ 31 คน โดยได้บรรยายและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับทิศทางนโยบายต่างประเทศ แนวทางการรายงานข่าวด้านการต่างประเทศของสื่อมวลชนไทย ตลอดจนบทบาทและภารกิจของกระทรวงการต่างประเทศ และจุดเน้นด้านการต่างประเทศของรัฐบาล ทั้งนี้ อธิบดีฯ ได้เน้นความสำคัญของสื่อมวลชนในการสร้างองค์ความรู้ด้านการต่างประเทศต่อสาธารณชน การสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ในเวลาที่เหมาะสม รวมถึงยังได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับการสื่อสารในช่วงวิกฤต และการสร้างความเข้าใจอันดีกับประเทศเพื่อนบ้าน

ในโอกาสนี้ นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ พร้อมด้วยผู้เข้าร่วมการอบรมหลักสูตรโครงการ “เพิ่มองค์ความรู้สื่อมวลชนเรื่อง : โลกาภิวัตน์ในกระบวนทัศน์ใหม่ของสื่อ” ซึ่งจัดขึ้นโดยสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้แนะนำถึงโครงการอบรมที่มีผู้เข้าร่วมจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน ว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อให้ส่วนที่ทำงานเกี่ยวกับการสื่อสารองค์กรของหน่วยงานแต่ละแห่งได้มีโอกาสสร้างเครือข่าย ทำความเข้าใจ แลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติ และศึกษากลยุทธ์ในการสื่อสารจากภาคส่วนต่าง ๆ โดยการได้รับฟังแนวทางทางการสื่อสารจากกระทรวงการต่างประเทศทำให้เข้าใจประเด็นต่าง ๆ มากขึ้น และพร้อมร่วมมือกับกระทรวงฯ ต่อไป 
 
 
 
 
 
Department of Information welcomed and exchanged views with participants of an executive training course by the National Press Council of Thailand
 
On 9 January 2024, Mrs. Kanchana Patarachoke, Director-General of the Information Department and the Ministry’s Spokesperson, together with Deputy Director-General Thanawat Sirikul, as well as executives of the Department received 31 participants of the “Globalization in the new paradigm of media” course, hosted by the National Press Council of Thailand (NPCT). The Department briefed the group on ways and means to report news on international affairs by Thai media, roles and duties of the Ministry, as well as the key focuses of the Government’s foreign policy. DG Kanchana also stressed on the importance of the media in shaping public perception of global affairs, communication of correct and useful information in the timely manner, communication during the time of crisis, and also ways to develop understanding with neighbouring countries.
 
 
On this occasion, Mr. Chavarong Limpattamapanee, Chairman of the NPCT, introduced the course that is comprised of participants from public, private, civil society, and media sectors and informed that the objective of this couse is to provide an opportunity for those working in each agency’s public relations to network, build understanding, exchange practices, and learn one another’s communication strategies. The views exchanged with the Ministry provided the understanding of various issues to the participants which stand ready for further cooperation with the Ministry.
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงการต่างประเทศ Ministry of Foreign Affairs of the Kingdom of Thailand

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
TOP STORIES

แถลงการณ์ร่วม 7 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน เรื่อง นักข่าวรับเงินจากแหล่งข่าว

 
แถลงการณ์ร่วม 7 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน เรื่อง นักข่าวรับเงินจากแหล่งข่าว สืบเนื่องจากกรณีที่รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่ามีการจ่ายเงินให้สื่อมวลชนเพื่อเป็นค่าข่าว และช่วยเหลือด้านต่างๆ เนื่องจากเห็นว่านักข่าวเงินเดือนน้อย ตามที่ได้มีการเผยแพร่ข่าวต่อสาธารณะออกไปอย่างแพร่หลายนั้น 
 
องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน 7 องค์กร ประกอบด้วย สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย และสมาพันธ์สื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ได้ร่วมประชุมกันและขอแสดงจุดยืนต่อสาธารณะว่า สื่อมวลชนที่รับเงินจากแหล่งข่าวเพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการใดๆ ถือเป็นเรื่องที่ละเมิดจริยธรรมวิชาชีพอย่างร้ายแรง ไม่สามารถยอมรับได้ 
 
 
ดังนั้น ที่ประชุม 7 องค์กรวิชาชีพ จึงมีมติร่วมกันดังนี้ 
 
1. เห็นชอบให้จัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อสร้างความกระจ่างชัดในทุกประเด็นที่เกี่ยวข้องต่อสาธารณชนโดยคณะกรรมการประกอบด้วย ผู้แทนจากสภาวิชาชีพสื่อมวลชนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง (ประเทศไทย) ซึ่งทำหน้าที่ดูแลเรื่องจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชนขององค์กรสมาชิก องค์กรละ 2 คน (เป็นคนในวิชาชีพ 1 คน และผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก 1 คน) รวมเป็น 6 คน และให้สรรหาผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกมาเป็นประธานคณะกรรมการอีก 1 คน รวมเป็น 7 คน 
 
 
2. ขอให้องค์กรต้นสังกัดที่ถูกระบุว่ามีนักข่าวรับเงิน รวมทั้งองค์กรสื่อมวลชนอื่นๆ ดำเนินการตรวจสอบว่านักข่าวในสังกัดว่ามีพฤติกรรมตามที่ถูกระบุหรือไม่ และพร้อมแจ้งผลการดำเนินการแจ้งต่อสาธารณะให้ทราบ ส่วนบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ไม่มีต้นสังกัด และกระทำการเป็นนักข่าวเพื่อส่งข่าวต่อไปยังสำนักข่าวต่างๆ แต่มีพฤติกรรมละเมิดจริยธรรมวิชาชีพนั้น ขอให้ทุกองค์กรสื่อมวลชน พิจารณายุติการซื้อข่าวจากบุคคลหรือกลุ่มดังกล่าว 
 
 
3. กรณีที่มีนักข่าวมีส่วนพัวพันหรือไปเกี่ยวข้องกับการรับเงินในธุรกิจที่ผิดกฎหมาย คณะกรรมการที่จะตั้งขึ้นโดยสภาวิชาชีพข้างต้น จะดำเนินการตรวจสอบด้านจริยธรรมวิชาชีพเช่นกัน ส่วนความผิดตามกฎหมายนั้น เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมาย 
 
4. องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ขอเรียกร้องให้บุคคลกลุ่มบุคคลที่เป็นอดีตนักข่าว และทำหน้าที่ส่งข่าวให้สำนักข่าวต่างๆ แสดงตัวตนให้ชัดเจนว่าการรับเงินดังกล่าวเป็นค่าจ้าง หรือค่าตอบแทนในการทำข่าวและส่งประชาสัมพันธ์ โดยไม่แอบอ้างตนว่าเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน แต่หลีกเลี่ยงการถูกกำกับดูแลด้านจริยธรรมจากองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน จึงประกาศมาให้ทราบโดยทั่วกัน
 
 
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ / สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย / สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย / สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย  / สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย  / สมาพันธ์สื่อมวลชนแห่งประเทศไทย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
FEATURED NEWS

‘สภาสื่อฯ’ ครบรอบ 26 ปี จัดเวที “อนาคตประเทศไทยหลังเลือกตั้ง”

 

สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ องค์กรวิชาชีพสื่อทำหน้าที่กำกับดูแลกันเองทางด้านจริยธรรมครอบคลุมทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และดิจิทัล โดย นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ จะจัดงานครบรอบ 26 ปี สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ในวันจันทร์ที่ 3 กรกฎาคม 2566 เวทีปาฐกถาพิเศษ “อนาคตประเทศไทยหลังเลือกตั้ง” และวันอังคารที่ 4 กรกฎาคม 2566 เป็นงานในโอกาสครบรอบ 26 ปีสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ

 

วันจันทร์ที่ 3 กรกฎาคม 2566 เวลา 09.00 – 12.30 น. ที่ห้องกรุงธนบอลล์รูม ชั้น 3 โรงแรมรอยัล ริเวอร์ เวที “อนาคตประเทศไทยหลังเลือกตั้ง” เริ่มจากปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ทิศทางการเมืองไทยในบริบทการเมืองโลก” โดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข  “ทิศทางเศรษฐกิจไทย” โดย ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล และ“ทิศทางสังคมไทย” โดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์  

 

ผู้สนใจสามารถสำรองที่นั่งเพื่อสมทบทุนมูลนิธิสภาการสื่อมวลชน เพื่อใช้ในกิจการของสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ในการกำกับดูแลกันเองด้านจริยธรรมสื่อมวลชน โดยผู้ที่ประสงค์จะเข้าร่วมงานที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ ราคาที่นั่งละ 5,000 บาทและ 3,000 บาท บัตรราคา 1,000 บาท (เฉพาะอาจารย์ นิสิต นักศึกษา) บัตรเข้าฟังทางระบบออนไลน์ แอคเคาท์ละ 500 บาท เข้าดูได้ 5 คน (เฉพาะอาจารย์ นิสิต นักศึกษา) ติดต่อซื้อบัตร โทร. 0 2668 9900

 

วันอังคารที่ 4 กรกฎาคม 2566 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 26 ปี สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ที่ห้องบงกชรัตน์ เอ  ชั้น 2 โรงแรมรอยัลริเวอร์ เวลา 12.00-16.00 น. ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “กฎหมายจริยธรรมสื่อจำเป็นหรือไม่ในสถานการณ์ปัจจุบัน” โดย คุณมานิจ สุขสมจิตร อดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ 

 

เสวนา หัวข้อ “กฎหมายจริยธรรมสื่อจำเป็นหรือไม่ในสถานการณ์ปัจจุบัน” วิทยากรร่วมเสวนา ประกอบด้วย     

1. นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

2.นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา

3.รศ.สาวตรี สุขศรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ดำเนินการเสวนาโดย นางสาวกุญชนิตา กุญชร ณ อยุธยา ผู้ประกาศข่าวเนชั่นทีวี

 

สำหรับผู้สนใจที่ไม่สามารถเข้าร่วมงานที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ได้ ชมการถ่ายทอดสดผ่าน เพจเฟซบุ๊ก สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ (www.facebook.com/PressCouncilThailand/) เพจเฟซบุ๊ก ไทยพีบีเอส (www.facebook.com/ThaiPBS/) และยูทูป ไทยพีบีเอส (www.YouTube.com/Thai PBS/)

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News