Categories
AROUND CHIANG RAI TRAVEL

ต้อนรับฤดูฝน Green season ครั้งแรกของเชียงราย ดอกไม้ในสายฝน

 

เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2567 ที่สวนสาธารณะหาดนครเชียงราย นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดงานดอกไม้ในสายฝน Chiangrai Floral & Fog Fest ส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงราย โดยมีนางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และนายวันชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย นำหัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐภาคเอกชน สื่อมวลชน และประชาชนให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น

นายวันชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย กล่าวว่า พื้นที่ในเขตเทศบาลนครเชียงราย มีสวนสาธารณะหลายแห่ง เช่น สวนสาธารณะเกาะลอย สวนสาธารณะนครเชียงรายริมน้ำกก สวนสาธารณะหาด รด. เชียงราย ซึ่งมีการพัฒนาเป็นพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว ออกกำลังกาย พักผ่อนหย่อนใจ ริมแม่น้ำกกและสามารถเชื่อมโยงมาถึงสวนสาธารณะหาดนครเชียงรายแห่งนี้ เทศบาลฯ จึงอยากพัฒนาหาดนครเชียงรายให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวในช่วงฤดูฝน Green season ที่จะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยว สร้างกระแสความนิยมในการเดินทางท่องเที่ยวช่วงฤดูฝน  ซึ่งจะทำให้ เชียงราย เที่ยวได้ทั้งปี ดังนั้นเทศบาลนครเชียงรายจึงได้ร่วมกับ สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬา จังหวัดเชียงราย เครือข่ายด้านการท่องเที่ยว จากภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน จัดงานดอกไม้ในสายฝนขึ้น เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงราย อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น  กระตุ้นเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การค้า การลงทุน สร้างงานสร้างรายได้ ให้กับประชาชน และส่งเสริมสนับสนับสนุนซอฟต์พาวเวอร์จังหวัดเชียงราย ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น

ด้านนางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า จังหวัดเชียงราย เป็นจังหวัดหนึ่งที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว ซึ่งในช่วงฤดูฝน Green season ถือว่าเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ต้องมีการส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันต้อนรับนักท่องเที่ยวและผู้มาเยี่ยมเยือน ผลักดันให้เกิดกระแส Soft power ซึ่งปีนี้การจัดงานดอกไม้ในสายฝนเป็นครั้งแรก นับเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้จังหวัดเชียงรายเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วและสอดคล้องกับแนวทางในการพัฒนาจังหวัดเชียงรายที่มุ่งเน้นการทำงานแบบ บูรณาการร่วมกันทุกภาคส่วน ตามวิสัยทัศน์ที่ว่า “เชียงรายเมืองท่องเที่ยวสร้างสรรค์ สะอาด ปลอดภัย น่ายล”

นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ขอชื่นชมจังหวัดเชียงราย ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงราย เทศบาลนครเชียงราย ส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรเอกชน สื่อมวลชน และภาคประชาชน ที่ได้ร่วมมือร่วมใจ สนับสนุนการจัดงานดอกไม้ในสายฝนในครั้งนี้  ซึ่งเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวต่อยอด เมืองไทยเที่ยวได้ทุกวัน“สุขทันที ที่เที่ยวไทย”เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวออกไปท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น รวมถึงต้องอาศัยทำงานแบบบูรณาการความ ร่วมมือระหว่างหน่วยงานทั้ง ภาครัฐ ภาคเอกชน สมาคม ชมรม หอการค้า สายการบิน โรงแรม ร้านอาหาร ชุมชน ฯลฯ ที่จะสร้างบรรยากาศและประสบการณ์ ในการให้บริการด้านการท่องเที่ยวให้เกิดประทับใจของผู้ที่มาเยี่ยม ให้นักท่องเที่ยวได้รับรู้ผ่านการเดินทางและประสบการณ์ จากการได้ลิ้มลองรสชาติของอาหารพื้นเมือง เยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยว งานศิลปะ งานหัตถกรรมฝีมือ ผ้าทอ การแต่งกายพื้นเมืองเชียงราย ที่มีเอกลักษณ์พื้นถิ่นสวยงาม และสัมผัสวัฒนธรรมประเพณีชนเผ่าชาติพันธุ์หลากหลาย ในจังหวัดเชียงราย สิ่งเหล่านี้นับเป็น ซอฟเพาเวอร์ ที่สามารถก่อให้เกิดรายได้จากการเดินทางท่องเที่ยว ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนในแต่ละจังหวัด และในชุมชนเพิ่มขึ้นอีกด้วย

นอกจากนี้ภายในงานมีขบวนพาเหรดจากหลากหลายกลุ่มของจังหวัดเชียงราย เช่น กลุ่มน้องนักเรียนจากโรงเรียนเทศบาล 6 โรงเรียนสหศาสตร์ศึกษา สถาบันสอนเต้นจาก MY Dance Academy Step it Up กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยวัยที่สาม นครเชียงราย กลุ่มรุ้งสร้างสรรค์เชียงราย และอีกมากมาย ทั้งนี้งานดอกไม้ในสายฝน Chiangrai Floral & Fog Fest จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 – 28 กรกฎาคม 2567 ตั้งแต่เวลา 07.00 – 21.00 น. ชมฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย อีกทั้งภายในงานมีกิจกรรมมากมาย อาทิ การแสดงของน้องๆ เยาวชน การประกวดแข่งขันขับร้องเพลง รำวงย้อนยุคจากชุมชนในเขตเทศบาลฯ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การแสดงของศิลปินชื่อดัง การออกร้านจำหน่ายอาหารและสินค้าพื้นเมือง การออกร้านจำหน่ายอาหาร และเครื่องดื่ม รวมถึงโซนหน่วยราชการ อปท. และโรงเรียนในสังกัดเทศบาลนครเชียงราย ตลอดทั้ง 10 วัน

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
EDITORIAL

‘วราวุธ’ ชี้ไทยเผชิญวิกฤติประชากร AI เปลี่ยนพฤติกรรมรวดเร็วปรับตัวไม่ทัน

 

เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2567 ที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ จัดงานครบรอบ 27 ปี โดยจัดเวทีปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ยุทธศาสตร์ประเทศไทย ความท้าทายรัฐบาล”  โดย นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ร่วมปาฐกถาพิเศษ “ทิศทางสังคมไทย” ตอนหนึ่งว่า โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตมากมาย ทั้ง Climate Change, Pollution, Pandemic, Conflicts, Digital Transformation, Population Crisis ซึ่งวิกฤตเหล่านี้ ล้วนส่งผลให้ความท้าทายทางด้านเศรษฐกิจ และการเมืองทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น อย่างที่ไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้ แน่นอนว่าความท้าทายทางด้านสังคมย่อมมีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น แก้ปัญหาได้ยากยิ่งขึ้น

นายวราวุธ กล่าวอีกว่า แนวโน้มความท้าทายทางสังคมจะต้องอาศัย Global Trends : Urbanization, New business model แบบ Innovation Driven & Digital Disruption, AI เปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิตของมนุษย์ และรูปแบบของสังคม ซึ่งโครงสร้าง และลักษณะของสังคมไทย โดยเฉพาะรูปแบบของความสัมพันธ์ในครอบครัว และวัฒนธรรมได้รับผลกระทบอย่างรวดเร็ว และรุนแรง จนอาจพูดได้ว่า เร็วและแรงเกินกว่าที่จะรับมือได้อย่างเหมาะสม ดังนั้น พวกเราทุกคนต้องเผชิญกับความท้าทายนี้ โดยเฉพาะประชากรกลุ่มเปราะบาง ที่มีต้นทุนและความสามารถในการปรับตัว (Adaptive Capacity) ไม่เท่ากับกลุ่มคนอื่นๆ ในสังคม ไม่ว่าจะเป็นสังคมโลกหรือสังคมไทยก็ตาม ย่อมได้รับผลกระทบสูงกว่า และดำเนินชีวิตต่อไปได้ยากเข็ญกว่า

 

 

นายวราวุธ กล่าวด้วยว่า สังคมไทยเผชิญกับอะไรบ้าง ขอยกตัวอย่างฉายภาพ “ปัญหาสังคม” จากข้อมูลของศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) ผู้แจ้ง ร้องเรียน สอบถาม ผ่านช่องทางของกระทรวง พม. เดือนละ 12,000 – 18,000 ราย โดยในเดือน พ.ค. รับแจ้ง 18,607 กรณี ซึ่งกว่า 50% เป็นเรื่อง “ความสัมพันธ์ในครอบครัว” ก่อให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว และเหยื่อส่วนใหญ่เป็นเด็ก เยาวชน และผู้สูงอายุ ทั้งนี้ ครอบครัว ซึ่งเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดของสังคมไทย ที่จะบ่มเพาะ และสร้างโครงสร้างที่แข็งแกร่งของสังคม และเป็นฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศกำลังสั่นคลอน

 

“เด็กและเยาวชนที่เป็นอนาคตและเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ กำลังตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง ส่งผลให้การพัฒนาศักยภาพเชิงความคิด สติปัญญา และความสามารถทางกายภาพถูกบั่นทอน โครงสร้างประชากรของไทยกำลังเปลี่ยนแปลง จนเรียกได้ว่า เรากำลังเผชิญกับวิกฤตประชากร” นายวราวุธ กล่าว

รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า วิกฤตประชากร คือปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกก็เผชิญกับวิกฤตนี้ เช่น ญี่ปุ่นมีสัดส่วนของประชากรสูงอายุมากถึงประมาณ 30% ไทยมีสัดส่วนผู้สูงอายุ 20% เป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ หรือ Aged Society และคาดว่าจะเป็น Super-Aged Society เหมือนญี่ปุ่น ภายใน 10-15 ปีข้างหน้า เนื่องจากเด็กเกิดน้อยประมาณ 5 แสนคน จำนวนบุตรเฉลี่ย 1 คนต่อสตรี 1 คน ซึ่งน้อยกว่าญี่ปุ่นอีก ซ้ำเด็กยังด้อยคุณภาพ และเมื่อเกิดน้อยลง “ครอบครัว” มีขนาดเล็กลง โครงสร้างครอบครัวไทย (Living arrangement) ก็เปลี่ยนแปลงไป การฟูมฟักอบรมเลี้ยงดูบุตรโดยพ่อ-แม่ ลดน้อยลง การเกื้อหนุนกันและดูแลกันระหว่างรุ่นเริ่มจางหายไป รูปแบบรายได้/รายจ่ายเปลี่ยนแปลงไป จนหลายครอบครัวไม่สามารถตั้งรับ และปรับตัวได้ ครอบครัวบางรูปแบบมีแนวโน้ม “เปราะบาง” เช่น ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว หรือสภาวะที่ผู้สูงอายุต้องอยู่คนเดียว ทั้งนี้ แนวโน้มครัวเรือนอยู่คนเดียว ครัวเรือนที่ผู้สูงอายุอยู่ตามลำพัง หรืออยู่กับคู่สมรสเพียงลำพังมีมากขึ้น แน่นอนว่าวัยแรงงาน ซึ่งเพิ่มขึ้นไม่ทันกันกับพีระมิดของผู้สูงวัย ทำให้ต้องรับภาระ ทั้งดูแลตนเอง ลูก และพ่อแม่ ซึ่งเป็นผู้สูงวัย กลายเป็น “The แบก” ซึ่งผู้ที่มีอายุ 50-59 ปี ณ ขณะนี้ จะกลายเป็นผู้สูงอายุในอีก 5-10 ปีข้างหน้า แต่ยังคงมีภาระที่จะต้องดูแลพ่อ-แม่ ที่จะมีอายุ 80 ปีขึ้นไปอีก 10 ปีข้างหน้า

 

 

นายวราวุธ กล่าวอีกว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าวิกฤตประชากร ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศ นับเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ ประการแรก คือ ประชากรไทยลดลงจาก 70 ล้านคน จะเหลือ 58.26 ล้านคน ในอีก 25 ปี ประการต่อมา คือ เด็กเกิดน้อย แต่จะทำอย่างไรให้เด็กมีคุณภาพ และประการสุดท้าย คือ รัฐต้องรับภาระงบประมาณด้านสังคม จนอาจเข้าสู่ภาวะล้มละลาย ซึ่งการรับมือนั้น หลายประเทศใช้การกำหนดนโยบาย ปรับเปลี่ยนกฎหมาย พัฒนานวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยี

ทั้งนี้ กระทรวง พม. ได้ผลักดันและขับเคลื่อน “นโยบาย 5×5 ฝ่าวิกฤตประชากร” จากความร่วมมือกับทุกภาคส่วน โดยคณะรัฐมนตรี ได้เห็นชอบไปเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567 ซึ่งนโยบาย 5×5 ฝ่าวิกฤตประชากร ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ และแต่ละยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 5 มาตรการหลัก ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดทิศทางของสังคมไทย เชื่อมโยงการพัฒนาเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมของประเทศ

 

ยุทธศาสตร์ที่ 1 เสริมพลังวัยทำงานให้สามารถตั้งตัวได้ สร้างและดูแลครอบครัวได้ และพร้อมที่จะเป็นผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพในอนาคต ด้วยการเพิ่มโอกาส พัฒนาทักษะ (Upskill/Re-skill) และสมรรถนะในการบริหารการเงิน พร้อมๆ ไปกับการดูแลสุขภาพของตนเองและคนในครอบครัว

ยุทธศาสตร์ที่ 2 เพิ่มคุณภาพเด็ก เร่งส่งเสริมการพัฒนาทักษะชีวิตและความรู้ วิชาชีพตามวัย ให้สอดคล้องกับตลาดแรงงาน/ยกระดับผลิตภาพ (productivity) เพื่อรับมือกับการลดลงของประชากร

ยุทธศาสตร์ที่ 3 สร้างพลังผู้สูงอายุ ผู้เชี่ยวชาญชีวิต นำมาเป็นพลังในการขับเคลื่อนสังคม และเศรษฐกิจ ด้วยการเสริมทักษะ (Upskill/Re-skill) ในการทำงานต่อเนื่อง โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีดิจิทัล

ยุทธศาสตร์ที่ 4 สร้างโอกาสและคุณค่าให้คนพิการ สัดส่วนของคนพิการ ร้อยละ 6 ของประชากร และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ต้องเสริมทักษะ (Upskill/Re-skill) และปรับทัศนคติในการจ้างงาน ฃ

ยุทธศาสตร์ที่ 5 ซึ่งสำคัญมาก คือ สร้างสภาพแวดล้อมทางสังคม และทางกายภาพที่เอื้อต่อการสร้างและดูแลครอบครัวให้มั่นคง/พลิกฟื้นสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติให้อุดมสมบูรณ์ Green Economy, Carbon footprint, Sustainable consumption and production (SCP)

 

นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า คนไทยทุกคนต้องร่วมเดินฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน หรือเราจะรอให้ระบบเศรษฐกิจล่มสลาย เมื่อเราไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในอีก 10 หรือ 15 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ สื่อมวลชนมีอิทธิพลมากในการสร้างทัศนคติ ค่านิยม และกระแสความคิดของประชาชน จึงขอวอนร่วมสร้างความตระหนักรู้ กระตุ้นการลงมือทำ และร่วมลงมือทำทันที “Action Now” ซึ่งปัจจุบัน สื่อสังคมออนไลน์นั้น “ใครๆ ก็เป็นสื่อได้” เป็นทางเลือกที่คนไทยนิยมมากขึ้นทุกวัน บางคนถึงขั้นเสพติดสื่อในลักษณะนี้ ดังนั้น ต้องใช้ให้เป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนสังคม ต้องรักษาคุณค่า และจรรยาบรรณการสร้างคอนเทนต์ ต้องระมัดระวัง ไม่ใช้เด็กเป็นเครื่องมือ หลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาของเด็กและเยาวชน การนำเสนอความรุนแรง อาชญากรรม ความขัดแย้ง และเรื่องราวทางเพศ ในลักษณะที่อาจนำไปสู่การบ่มเพาะพฤติกรรม

“บางครั้งสื่อเองก็อาจกำลังทำหน้าที่พ่อ หรือแม่ หรือลูก แต่ที่แน่นอน ท่านเป็นวัยแรงงานที่มีภาระที่ต้องดูแลตัวเอง และบุคคลอันเป็นที่รัก และกำลังจะก้าวไปเป็นผู้สูงอายุในอนาคตอันไม่ไกลนัก ท่านมีศักยภาพและโอกาสสูงในการช่วยดึงพลังแฝงจากผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส ในกลุ่มต่างๆ มาเป็นพลังของสังคมได้ เป็นพลังสำคัญของสังคมไทย ในการเชื่อมโยงประเด็นความท้าทายทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ตีแผ่ให้ทุกภาคส่วนได้เห็นถึงความจำเป็นในการเดินหน้าฝ่าวิกฤตไปด้วยกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งผมเชื่อมั่นในพลังของสื่อในการผลักดันสังคมไทยสู่ความยั่งยืนอย่างมั่นคง” นายวราวุธ กล่าว

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
SOCIETY & POLITICS

“ศุภมาส” ชื่นชมกระทรวง อว. ยกระดับ กระดาษปอสาเพิ่มรายได้กว่า 2 พันล้านบาท

 

เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า การผลิตกระดาษหัตถกรรมจากปอสา เป็นผลิตภัณฑ์หัตถกรรมพื้นบ้านซึ่งเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนทางภาคเหนือของประเทศไทยมาเป็นเวลาหลายร้อยปี โดยเฉพาะในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง สุโขทัย และน่าน โดยประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกหลักของผลิตภัณฑ์กระดาษสาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สร้างรายได้จากการส่งออกกระดาษสาและผลิตภัณฑ์มากกว่าปีละ 100 ล้านบาท และช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวรวมเป็นมูลค่ากว่า 2000 ล้านบาท นอกจากนี้ชุมชนที่ผลิตกระดาษสา ยังเป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ที่มีนักท่องเที่ยวมาเรียนรู้และทำกิจกรรมการผลิตกระดาษแบบดั้งเดิมจำนวนมาก เป็นการสร้างรายได้แก่ชุมชนอีกทางหนึ่ง  เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนตามนโยบายรัฐบาล ในการสร้างความหลากหลายด้านการท่องเที่ยว ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม โดยเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนตลอดจนการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและการประกอบอาชีพด้านการผลิตสินค้าหัตถกรรมเพื่อเป็นการกระจายรายได้แก่ประชาชนในท้องถิ่น

 

ตนขอชื่นชมกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวง อว. ที่ประสบความสำเร็จด้วยการนำกลไกวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) มาขับเคลื่อนการพัฒนาการผลิตกระดาษหัตถกรรมจากปอสา เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมวัตถุดิบ การผลิตกระดาษสา การสร้างลวดลาย สีสัน และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพตรงกับความต้องการของลูกค้าและนักท่องเที่ยวจากทั้งในและต่างประเทศ

 

ทั้งนี้ ตนได้มอบหมาย กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวง อว. ให้เร่งขยายพื้นที่การดำเนินงาน และสร้างความร่วมมือถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับหน่วยงาน อว.ระดับพื้นที่ รวมถึงพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อปรโยชน์ประชาชนในพื้นที่ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

 

นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กล่าวว่า ปัจจุบันการผลิตกระดาษสาส่วนใหญ่เป็นการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศในแถบยุโรปและเอเชีย โดยเฉพาะญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นการผลิตตามความต้องการสั่งซื้อจากลูกค้าโดยตรง และยังคงมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ได้ดำเนินการตามนโยบายของ รมว.อว. ด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ลงสู่พื้นที่ที่มีการผลิตกระดาษสาเพื่อการส่งออก ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง สุโขทัย และน่าน เพื่อยกระดับคุณภาพกระดาษสาสำหรับส่งออกในด้านต่าง ๆ เช่น สีสัน ลวดลาย การเพิ่มความเรียบ ความสม่ำเสมอ ความแข็งแรง การต้านลามไฟของเนื้อกระดาษ และลดความเป็นกรดด่าง ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าจากต่างประเทศ เป็นการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ให้สูงขึ้น

นอกจากนี้ ยังเร่งให้มีการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปช่วยในการปรับปรุงคุณภาพ เพิ่มเทคนิค และจัดสถานที่เพื่อให้เหมาะสมกับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และน่าน ซึ่งมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมกระดาษสา โดยเริ่มจากการปรับปรุงกระบวนการผลิตกระดาษหัตถกรรมให้เหมาะกับการท่องเที่ยว การพัฒนาคุณภาพ รูปแบบ สีสัน ลวดลาย บนกระดาษสาด้วยเทคนิค Ebru Marbling ซึ่งเป็นการประยุกต์งานศิลปะดั้งเดิมของชาวตุรกี ที่สร้างลวดลายหินอ่อนบนผ้ามาสร้างลวดลายหินอ่อนบนผิวกระดาษสา เป็นการเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์และสร้างกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้ทำด้วยตัวเอง เพิ่มความน่าสนใจ ทำให้ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งให้คำปรึกษาและแนะนำชุมชนด้านสถานที่ รวมถึงข้อมูลให้กับบุคลากรในพื้นที่ สำหรับต้อนรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมด้านผลิตภัณฑ์กระดาษหัตถกรรมอย่างยั่งยืน ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวชุมชนกระดาษสาที่อยู่ในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนบนมากยิ่งขึ้น

 
ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวง อว. เป็นหน่วยงานที่มีประสบการณ์ในการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านเยื่อและกระดาษแบบครบวงจรมากกว่า 50 ปี ทั้งด้านวิเคราะห์ทดสอบ สอบเทียบเครื่องทดสอบกระดาษ วิจัย พัฒนา และจัดทำมาตรฐาน (Standards) หรือข้อกำหนดคุณลักษณะ (Specifications) ตามหลักการในการจัดทำมาตรฐานสากล และ วศ. ได้นำองค์ความรู้ด้านกระบวนการผลิตกระดาษไปถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการทุกระดับ ตั้งแต่ วิสาหกิจชุมชน (OTOP) วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เพื่อพัฒนาสร้างความเข้มแข็ง และส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการด้านเยื่อและกระดาษภายในประเทศ
 
นายแพทย์รุ่งเรืองฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวง อว. ได้ขยายความร่วมมือกับหน่วยงานในชุมชนและภาคมหาวิทยาลัยในพื้นที่ เพื่อพัฒนากระดาษหัตถกรรมท้องถิ่นด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม พร้อมทั้งถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชน เพื่อสานต่อภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีความเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่โดดเด่น สืบทอดกันมานับหลายร้อยปี สร้างรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนระดับชุมชนอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
SOCIETY & POLITICS

นายกฯ หนุนอาหารให้ไทยเป็น Soft Power เปิดโอกาส Start up

 

เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2566 เวลา 11.30 น. ที่ผ่านมา ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยนางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รับฟังการนำเสนอ Thailand Soft Power Halal & Future Food จากนายบุญเลิศ อ่องไพบูลย์ รองประธานคณะกรรมการธุรกิจอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต (PFC) สภาหอการค้าไทย 

นายบุญเลิศ กล่าวว่า อุตสาหกรรมฮาลาล ครอบคลุมสินค้าและบริการ ได้แก่ การเงิน อาหาร แฟชั่น สื่อและสันทนาการ ยาและการแพทย์ ท่องเที่ยว เครื่องสำอาง ฯ มีอัตราการเติบโต 7.5% (2021-2025) มีมูลค่าประมาณ 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (2025) ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ฮาลาล และอุตสาหกรรมฮาลาลไทย ได้รับการยอมรับในหลายประเทศ โดยอาหารฮาลาล คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20 ของการส่งออกอาหารทั้งหมดของประเทศไทย และร้อยละ 60 ของการส่งออกอาหารฮาลาลไปยังประเทศที่นับถือศาสนาอิสลาม ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และบรูไน คิดเป็นมูลค่าเกือบ 6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2564/2565 

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีกล่าวว่ารัฐบาลมองเห็นโอกาสในสินค้า Halal ที่เป็นตลาดขนาดใหญ่ซึ่งมีผู้บริโภคจำนวนมาก มีศักยภาพในการจับจ่ายสูง และในกลุ่ม Future food ที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง เราอยากใช้อุตสาหกรรมอาหารมาเป็นส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนประเทศ และอยากผลักดัน Gastronomy Diplomacy โดยไทยเป็นประเทศแรกที่ผลักดันการทูตเชิงอาหาร (Gastronomy diplomacy) แต่ประเทศเกาหลีใต้ผลักดันได้ไกลกว่าประเทศไทย โดยรัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญทั้งเงินทุน การตลาด การทำหลักสูตร การทำ Certificate การส่งออกอาหาร จะช่วยทำให้สินค้าการเกษตรมีราคาที่ดีขึ้น เพราะเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าในประเทศทำให้พี่น้องเกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง สร้างองค์ความรู้ด้านอาหารให้ประเทศไทยเป็น Soft Power โดยอาหารไทยรูปแบบใหม่ ๆ จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยว เปิดโอกาสให้ Start up ใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาหาร สามารถเกิดขึ้นได้

นายกรัฐมนตรีฝากให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนภาคเอกชน โดยให้บูรณาการการทำงาน กำหนดแผน กำหนดตัวชี้วัดให้ชัดเจน สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และภาคเอกชน เพื่อขับเคลื่อนผลักดันให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความมั่นคงด้านอาหาร เป็นแหล่งผลิตอาหารฮาลาลที่หลายประเทศมีความต้องการ

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News