Categories
AROUND CHIANG RAI FEATURED NEWS

บพข. ผนึกกำลังภาคเอกชน ยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

 

เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2567, แผนงานกลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) จัดเวทีเสวนา “การยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสู่การรองรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในระดับสากล” ในงาน อว.แฟร์ : SCI POWER FOR FUTURE THAILAND มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์ อววน. โดยได้รับเกียรติจาก ดร.วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทย และการบรรยายพิเศษ” และ ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. และประธานอนุกรรมการแผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. บรรยายในหัวข้อ “แนวทางการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสู่การรองรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในระดับสากล” ณ ห้อง 211 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

 

 

ดร.วีระศักดิ์ กล่าวว่า “มูลค่าโดยรวมของอุตสาหกรรม Wellness Economy ของโลกลดลงในช่วง COVID-19 แต่หากมองภาพในระยะยาวปี 2020-2025 จะพบว่าอุตสาหกรรมนี้โดยรวมมีแนวโน้มกลับมาเติบโตอีกครั้ง โดยเฉลี่ยต่อปีจะเติบโตสูงถึงประมาณ 10% และเมื่อเจาะลึกลงไปเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) พบว่าเติบโตเฉลี่ยต่อปีสูงถึง 21% และจากการสำรวจของ Medical Tourism Index 2020-2021 ความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ พบว่า ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับที่ 17 จาก 46 ประเทศ ซึ่งประเทศมีศักยภาพในการเป็นผู้นำทางด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพได้ หากผสมผสานความเป็นไทย (Thainess) ที่มีจุดแข็งทางด้านวัฒนธรรมและประชาชนที่เป็นมิตร สามารถสร้างความรู้สึกและประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ที่มาเยือนได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหาซื้อได้

“การออกแบบงานวิจัยให้ตอบสนองความต้องการของเทรนด์การนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพแบ่งเป็น
2 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มผู้ที่มองหาประสบการณ์ท่องเที่ยวเพื่อดูแลสุขภาพกายและใจของตัวเองเป็นหลัก ผู้ประกอบการสามารถนำเสนอบริการไม่ว่าจะเป็น การอาบป่า (Forest Bathing) หรือการเข้าป่าเพื่อบำบัดและใช้เวลาท่ามกลางธรรมชาติ ไปจนถึง การท่องเที่ยวเพื่อการนอนหลับ (Sleep Tourism) และ 2) กลุ่มผู้ที่ต้องการเดินทางท่องเที่ยวเป็นหลัก แต่มองหาช่วงเวลาพักผ่อนระหว่างนั้น เช่น บริการให้คำปรึกษาโดยบำบัดออนไลน์สำหรับแขกผู้เข้าพัก เป็นต้น”ดร.วีระศักดิ์ กล่าวเสริม

 

ผศ.สุภาวดี กล่าวว่า “แผนงานท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. เห็นความสำคัญของการวิจัยด้านท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ด้วยการพัฒนากรอบแนวคิดการวิจัยเพื่อรองรับตลาดนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง โดยสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการร่วมกันทั้งภาควิชาการ ภาครัฐ และภาคธุรกิจ ได้แก่ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัตน์ สมาคมสปาไทย และสมาพันธ์สมาคมสปาแอนด์เวลเนสไทย ร่วมกับนักวิจัยเพื่อพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในประเทศไทย ซึ่งผลความสำเร็จในวันนี้ มีผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GHA Well Hotel 1 แห่ง และผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย GBAC Star 9 แห่ง ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับสากลที่สร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทย นอกจากนี้ได้วางแผนขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว ผ่านการสนับสนุนการจัดเตรียมความพร้อมทางด้าน Supply และส่งเสริมการตลาดในกลุ่ม Wellness, Rehab & Retreat, Longstay และ Tourism for All เพื่อขยายโอกาสทางการตลาดและเชื่อมโยงธุรกิจบริการอื่นๆได้”

“แผนงานท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พร้อมด้วยเครือข่าย มีเป้าหมายสำคัญร่วมกันคือ
ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สร้างรายได้ให้กับประเทศ รวมถึงทำอย่างไรให้เกิดการบูรณาการ นำงานวิจัยมาใช้ประโยชน์ภายใต้ความร่วมมือกับผู้ประกอบการ การออกแบบแผนงานทางด้านตลาด ในกลุ่มการท่องเที่ยวเพื่อคนมั้งมวล หรือ Tourism For All ซึ่งผลลัพธ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ในปี 2570 ผลตอบแทนจากการลงทุน Return on Investment หรือ ROI ต้องขยับได้ 3.5 เท่า หรือประมาณ 3-4 พันล้านบาท และในอนาคต ปี 2567-2570 กลุ่มการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนจะเป็น Key หลักในการขับเคลื่อน เพื่อเข้าสู่กระบวนการ Net Zero Pathway และเชื่อมกับมาตรฐานสากลต่อไป สำหรับด้านของการตลาดเป็นภารกิจของหน่วยงานหลักอย่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. โดยมีนักวิชาการ คณะนักวิจัยกลุ่มท่องเที่ยว บพข.หนุนเสริม ทั้งด้านของ Market Foresight และการสำรวจเทรนด์ในปัจจุบัน ตลอดจนสนับสนุนการจัดเตรียมความพร้อมด้าน Supply ในการรองรับนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง และขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ผ่าน Soft Power ต่อไป” ผศ.สุภาวดี กล่าวทิ้งท้าย

 

สำหรับเวทีเสวนา “การยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสู่การรองรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในระดับสากล เป็นเวทีที่รวมพลังนักวิชาการด้านสุขภาพแถวหน้าของเมืองไทย ผนึกกำลังผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวผู้คร่ำหวอดในวงการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ ประกอบด้วย ศ.ดร.เกียรติคุณ วิภาดา คุณาวิกติกุล รองอธิการบดี ส่วนวิทยาศาสตร์สุขภาพ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และผอ.ชุดแผนงานการยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง บพข. รศ.ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และหัวหน้าโครงการการพัฒนาการตลาดของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการในพื้นที่อันดามันและพื้นที่เชื่อมโยงรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มฟื้นฟูสุขภาพ ดร.เกษวดี พุทธภูมิพิทักษ์ หัวหน้าโครงการการยกระดับและส่งเสริมผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูสุขภาพสำหรับตลาดนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงภูมิภาคเอเชียตะวันออก คุณนิธิ สืบพงษ์สังข์ ผู้ประกอบการนำเที่ยวบริษัท Nutty’s Adventures พร้อมด้วย คุณชวนัสถ์ สินธุเขียว ประธานสมาพันธ์สมาคมสปาแอนด์เวลเนสไทย โดยมี ผศ.อนพัทย์ หนองคู ผู้ประสานงานแผนงานท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. เป็นผู้ดำเนินรายการ

ศ.ดร.เกียรติคุณ วิภาดา เผยว่า “การผลักดัน Wellness Tourism ประเทศไทยให้สำเร็จ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการพัฒนาต่อยอด ทั้งด้านของการพัฒนาด้านคุณภาพ มีการส่งเสริมนวัตกรรม เทคโนโลยีทั้งด้านผลิตภัณฑ์และบริการที่เน้นความเป็นไทย และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาควิชาการกับองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชนและผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศ”

รศ.ดร.ศิวฤทธิ์ กล่าวว่า ในเวทีแห่งนี้เราทุกคนมองไปในทิศทางเดียวกัน คือ การท่องเที่ยวคุณค่าสูง ซึ่งจะนำไปสู่การท่องเที่ยวมูลค่าสูงต่อไป นำไปสู่การสร้างรายได้ให้กับประเทศ ผลงานที่ทำ ณ ขณะนี้การต่อยอดจากฐานงานเดิมในปีที่ผ่านมา โดยโฟกัสที่การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Health Tourism) คือ การเดินทางท่องเที่ยวเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามในแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรมและมีการประกอบกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในด้านต่างๆ ในพื้นที่อันดามัน ได้แก่ 1) การท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Tourism) ทำคนดีให้ไม่ป่วย 2) การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism) ทำให้คนป่วยหายดี และ 3) การท่องเที่ยวเชิงบําบัดสุขภาพ และ (Rehabilitation Tourism) เพิ่มพลังให้แข็งแรง

“ประเทศไทยได้รับการยอมรับจากนานาชาติอย่างมากทั้งคุณภาพด้านการดูแลรักษา พร้อมกับศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยว พบว่ามูลค่าการตลาดการท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพ มีมูลค่า 34.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 24 จาก 218 ทั่วโลก และได้อันดับ 9 จาก 45 ประเทศในภูมิภาค เนื่องจากประเทศไทยนั้นมีปัจจัยด้านบวกอื่น ๆ อีกมากมาย ทั้ง ค่ารักษาที่ไม่สูง ภูมิปัญญาท้องถิ่น แพทย์แผนไทย นวดไทยตามวิถีถิ่น แหล่งท่องเที่ยว ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมทั้งเรามี SOFT POWER ของไทยที่เป็นทุนที่แข็งแรงของเรา เป็นต้น” รศ.ดร.ศิวฤทธิ์ กล่าวเสริม

ด้าน ดร.เกษวดี กล่าวว่า  สำหรับตลาดนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงภูมิภาคเอเชียตะวันออก เราได้นำผลงานวิจัยภายใต้แผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. ซึ่งเป็น Stock of Knowledge นับตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน มาต่อยอดสู่การใช้ประโยชน์ (Research Utilization) เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวเชิงฟื้นฟูให้เข้าถึงตรงใจนักท่องเที่ยวในหลายกลุ่มเป้าหมาย เช่น จีน ฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ผ่านการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าต่างๆ อาทิ ITE Hong Kong 2024 และงาน Road Show ในหลายประเทศ โดยได้รับร่วมมือและการสนับสนุนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และ สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) ซึ่งทุกครั้งได้รับการตอบรับอย่างดีเป็นที่พึงพอใจ นอกจากนี้ ยังได้มีการแนะนำผลิตภัณฑ์ฯ เข้าสู่ตลาดผ่าน BNI ซึ่งเป็น B2B Platform และไม่นานเกินรอ เราจะนำเสนอผลิตภัณฑ์ฯ นี้ ที่งาน Travel Show ในเกาหลีใต้ และ ITB ASIA  ที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งจะเป็นช่องทางสำคัญในการเชื่อมต่อกับนักท่องเที่ยวระดับโลก

ด้านของ ชวนัสถ์ ประธานสมาพันธ์สมาคมสปาแอนด์เวลเนสไทย เผยว่า ตลาดสุขภาพที่เฟื่องฟู คือ การที่ผู้บริโภคมุ่งที่จะใช้จ่ายไปกับผลิตภัณฑ์และบริการมากขึ้น รวมถึงการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์เพื่อปรับปรุงสุขภาพ สมรรถภาพทางกาย โภชนาการ รูปร่างหน้าตา การนอนหลับ และการ เจริญสติ เช่น กำหนดลมหายใจ การนั่งสมาธิ และการเดินสมาธิ เป็นต้น

ขณะที่นายนิธิ จาก บริษัท Nutty’s Adventures เผยว่า Tourism For All – All For Tourism การท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล คือ การสร้างทุกโอกาสเพื่อคนทุกคนได้เดินทางท่องเที่ยว ต้องสร้างความตื่นรู้และความเข้าใจ รวมถึงการทำงานร่วมกันจากทุกภาคส่วน ปัจจุบันมีการทำงานร่วมกับ รพ.ศิริราช เพื่อดูว่าโปรแกรมที่โรงพยาบาลมี สามารถที่จะต่อยอดเป็นแพ็คเก็จการท่องเที่ยวอย่างไร และมองว่าทำอย่างไรให้คนมาใช้บริการได้รับการต้อนรับที่ดีกลับไป นี่คือสิ่งสำคัญ ในอนาคตอันใกล้เราจะมีการจัด FAM Trip เพื่อที่จะเตรียมความพร้อมในการที่จะรองรับนักท่องเที่ยวทั้งเพื่อคนทั้งมวลอย่างดีที่สุดต่อไป

ในการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสู่การรองรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในระดับสากลนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำองค์ความรู้จากภาควิชาการมาหนุนเสริมการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและผู้ประกอบการทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยที่ผ่านมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2562-2567 แผนงานท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข.มีนักวิจัยกว่า 85 คนจากกว่า 20 มหาวิทยาลัย ที่ได้รับการสนับสนุนทุนจาก บพข. ให้ดำเนินงานวิจัยที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ออกแบบผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยวเพื่อรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง พร้อมทั้งนำผลิตภัณฑ์ไปขายจริงในงาน Trade Show และ Road Show ต่างประเทศเพื่อเชื่อมโยงตลาดในระดับสากล ซึ่งในเดือนตุลาคมนี้คณะนักวิจัยจาก บพข.นำโดยผศ.สุภาวดี โพธิยะราช จะมีภารกิจนำผลงานวิจัยทางด้านสปาและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ไปนำเสนอในงาน South by Southwest (SXSW) 2024 ที่เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เป็นหนึ่งงานสำคัญที่เปิดโอกาสในการสร้างเครือข่ายและผลักดันการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของประเทศไทยสู่ระดับสากลต่อไป

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : แผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข.

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
FEATURED NEWS

งานวิจัยท่องเที่ยว บพข. คว้ารางวัล PMUC COUNTRY 1st AWARD

 

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2567, นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้รับมอบหมายจาก นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)  ให้เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล PMUC COUNTRY 1st AWARD ครั้งแรกของไทย งานวิจัยเปลี่ยนประเทศ เพื่อมอบรางวัลให้กับนักวิจัย ผู้ประกอบการที่ได้ผลิตผลงานที่เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย สร้างพลังต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ในงาน อว.แฟร์ : SCI POWER FOR FUTURE THAILAND มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์ อววน. เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน ด้วยพลังสหวิทยาการ โดยมี รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ พร้อมด้วย คณะผู้บริหาร คณะนักวิจัย และผู้เข้าชมงาน เข้าร่วม โดย 1 ใน 13 โครงการจาก 1,600 โครงการ ที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ คือ ผลการวิจัยเรื่อง “การวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับมาตรฐานสุขอนามัยระดับสากล GBAC Star ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ” ภายใต้การบริหารงานของแผนงานกลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. โดยมี อาจารย์นวลสมร อุณหะประทีป หัวหน้าโครงการ ขึ้นรับรางวัล โดยพิธีมอบรางวัลนี้จัดขึ้น ณ เวทีย่อย โซน D Science For Exponential Growth ชั้น G ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

 

น.ส.สุชาดา แทนทรัพย์ กล่าวว่า “กระทรวง อว. มีพันธกิจสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนงานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศให้เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ อาทิ เศรษฐกิจดิจิทัล อุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง อุตสาหกรรมสีเขียว และ อุตสาหกรรมความมั่นคงของประเทศ ตลอดจนการสร้างระบบนิเวศและโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการพัฒนาจุดแข็งของประเทศ ให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด และพร้อมสำหรับการแข่งขันบนเวทีโลก อีกทั้งยังสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ส่งเสริมการลงทุน พัฒนา SME และ Startup ที่มีศักยภาพให้สามารถเติบโตและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน โดยยึดหลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” โดยใช้องค์ความรู้และการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว โดยการสนับสนุนทุนวิจัยของ บพข. นับเป็นการเร่งสร้างให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการอย่างตรงจุด เสริมความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมไทย และเพิ่มขีดความสามารถในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน

 

รางวัล PMUC Country 1st Award ครั้งแรกของไทย งานวิจัยเปลี่ยนประเทศ โดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ได้คัดเลือก 13 โครงการ จาก 1,600 โครงการ ซึ่งคัดเลือกจากผลงานวิจัยเสร็จสมบูรณ์ออกสู่ตลาด หรือเกิดการประโยชน์กับภาคอุตสาหกรรมแล้ว หรือเป็นงานวิจัยเตรียมพร้อมสำหรับการต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ และที่สำคัญเป็นผลงานวิจัยที่เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย และส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ และสังคมอย่างสูง โดย 1 ใน 13 โครงการที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติในครั้งนี้ คือ ผลการวิจัยเรื่อง “การวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับมาตรฐานสุขอนามัยระดับสากล GBAC Star ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ” โดยมี อาจารย์นวลสมร อุณหะประทีป อาจารย์คณะวิเทศศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต เป็นหัวหน้าโครงการ ร่วมกับคณะนักวิจัย ผศ.ดร. โชคชัย สุเวชวัฒนกูล จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ บริษัท ซีพาร์ทเนอร์ โซลูชั่น จำกัด และบริษัท บางแสนบีช รีสอร์ท จำกัด ภายใต้การสนับสนุนการวิจัยจาก แผนงานกลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. โดยมี


ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. และประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. พร้อมด้วยสำนักประสานงานพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ร่วมกำกับดูแลและหนุนเสริมการทำงานของคณะนักวิจัยที่มุ่งขับเคลื่อนการท่องเที่ยวมูลค่าสูง เน้นการออกแบบโปรแกรมและกิจกรรมการท่องเที่ยวให้เป็นที่ยอมรับระดับสากล เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวคุณภาพ และตอบโจทย์การยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของประเทศ

 

อาจารย์นวลสมร เผยว่า “การขอรับรองตรามาตรฐาน GBAC STAR ของไทย เป็นการร่วมมือผ่านงานวิจัยภายใต้โครงการการวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับมาตรฐานสุขอนามัยระดับสากล GBAC Star ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ ที่นักวิจัยและวิชาการจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) โดยงบประมาณจาก กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่ทำงานร่วมกับแต่ละสถานที่เพื่อใช้ประโยชน์จากฐานเดิมที่สถานประกอบการหลายๆแห่งในไทยเคยพัฒนาระบบมาตรฐานสุขอนามัยผ่านระบบ SHA และ SHA+ ที่ดำเนินการโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. และกระทรวงสาธารณสุขมาก่อนในช่วงรับมือโรคระบาดโควิด 19 ซึ่งผลได้ที่เกิดจากกิจกรรมคือ นักวิจัยไทยจากโครงการนี้ ซึ่งมีทั้งนักวิจัยจาก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ตและสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้เป็นผู้มีความชำนาญในการออกแบบติดตามและประเมินมาตรฐานตามระบบของ สมาคม ISSA Worldwide Cleaning Industry Association USA และได้รับการรับรองให้เป็นบุคลากรเชี่ยวชาญในการประเมินอิสระให้ GBAC STAR ในระดับภูมิภาคด้วย”

 

โดย ผลสำเร็จจากโครงการนี้ มีองค์กรต้นแบบระบบนิเวศทางการท่องเที่ยวที่ได้รับใบรับรองมาตรฐาน  จำนวน 9 แห่ง ได้แก่ 1) ศูนย์ประชุมบางแสนเฮอริเทจ จ.ชลบุรี ผ่านการรับรองประเภทศูนย์ประชุมแห่งแรกของ ASEAN 2) อาคารผู้โดยสารต่างประเทศขาเข้า ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต ผ่านการรับรองประเภทท่าอากาศยานแห่งแรก ที่อยู่นอกทวีปอเมริกา 3) สุโข เวลเนส แอนด์ สปา รีสอร์ท จ.ภูเก็ต ผ่านการรับรองประเภทสปา เป็นพื้นที่แรกนอกทวีปอเมริกา 4) นิกรมารีน จ.ภูเก็ต ผ่านการรับรองประเภทธุรกิจการขนส่ง เป็นแห่งแรกนอกทวีปอเมริกา 5) เซ็นทารา แกรนด์ บางกอก คอนเวนชัน เซ็นเตอร์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์  ผ่านการรับรองประเภทศูนย์ประชุมที่มีการบริหารงานแบบเครือข่ายแห่งแรกของ ASEAN 6) บ้านปาร์คนายเลิศ ผ่านการรับรองประเภทศูนย์วัฒนธรรมเป็นพื้นที่แรกนอกทวีปอเมริกา 7) ไทเกอร์มวยไทย การรับรองประเภทสถานออกกำลังกายเป็นแห่งแรกของประเทศไทย 8) ป่าตองเบย์วิว ผ่านการรับรองประเภทโรงแรมที่มีการบริหารงานแบบอิสระเป็นแห่งแรกของประเทศไทยและ และ 9) เกาะยาวใหญ่วิลเลจ

 

นอกจากนี้ภายในงานยังมีการจัดนิทรรศการ “เปิดโอกาสธุรกิจท่องเที่ยววิถีใหม่ ปลดล็อกศักยภาพผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวไทยด้วยทุนวิจัยด้านท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์จาก บพข.” โดยนำเสนอผลงานวิจัยภายใต้โครงการ “การพัฒนาศักยภาพทางการแข่งขันของธุรกิจค่ายมวยด้วยเทคโนโลยีจักรวาลนฤมิต (Metaverse) เพื่อเพิ่มมูลค่างานสร้างสรรค์จากฐานภูมิปัญญาและวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงกับกีฬามวยไทยในตลาดดิจิทัล” โดย ผศ.ดร.สัจจา ไกรศรรัตน์ สังกัด มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง งบประมาณจาก กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ซึ่งโครงการเน้นการบูรณาศาสตร์ โดยการนำมวยไทยมาประยุกต์ เป็นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการท่องเที่ยวกีฬา เช่น การนำท่าไหว้ครูมวยไทยมาใช้ในการออกกำลังกาย และการเสนอขายแพ็กเก็จการท่องเที่ยวร่วมกับค่ายมวย และโรงแรมต่างๆ เพื่อเสนอขายนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยดึงอัตลักษณ์ของมวยไทยมาขับเคลื่อนสู่การเป็น Soft Power

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
FEATURED NEWS

“สกสว. บพข. ททท. และ ATTA ผนึกกำลังวิจัย Market Foresight และ Thailand Tourism Carrying Capacity มุ่งสู่ศูนย์กลางการท่องเที่ยวระดับโลก”

 

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 30 พฤษภาคม  2567 เวลา 09.00 – 12.00 น.  ที่ โรงแรม เอส 31 สุขุมวิทกรุงเทพมหานคร สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA)  จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU)  “การพัฒนาและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ด้วยงานวิจัยการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์” ทั้ง 4 หน่วยงานในเป้าหมายสำคัญที่จะร่วมมือกันสนับสนุนการพัฒนาและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การตลาดภาคการท่องเที่ยวและบริการ ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อยกระดับศักยภาพของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) อย่างยั่งยืนบนฐานทรัพยากรของประเทศ และสอดคล้องตามแผนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2566-2570 (ววน.) ในด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ตามแนวทางการพัฒนาระบบเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG) ในด้านการท่องเที่ยวให้เป็นระบบเศรษฐกิจมูลค่าสูง มีความยั่งยืนและเพิ่มรายได้ของประเทศ ผ่านการทำงานและขับเคลื่อนร่วมกันตามบทบาทภารกิจของแต่ละหน่วยงาน โดยใช้กลไกการสนับสนุนงบประมาณวิจัยที่มีโจทย์ความต้องการของภาคเอกชน เพื่อให้เกิดผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมและเกิดผลกระทบในวงกว้าง  โดยมีนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานในพิธี ณ ห้องบอลรูม 1 ชั้น 5 โรงแรม เอส 31 สุขุมวิท กรุงเทพมหานคร 30 พฤษภาคม 2567

 

ในโอกาสนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว.ได้มอบหมายให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว.เป็นผู้แทนเข้าร่วม พร้อมกันนี้ ด้านของ บพข. รองศาสตราจารย์ ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์  ผู้อำนวยการ บพข. ได้มอบหมายให้ รองศาสตราจารย์ ดร.ชาลีดา บรมพิชัยชาติกุล รองผู้อำนวยการด้านกลยุทธ์วิจัย บพข.เป็นผู้แทน สำหรับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มีนายอภิชัย ฉัตรเฉลิมกิจ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว ในฐานะผู้แทนผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และ ATTA มี นายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือภายใต้โครงการวิจัยของแผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ งบประมาณจากกองทุนส่งเสริม วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม โดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

 

นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ประธานในพิธี กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายในการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 3 ล้านล้านบาท มุ่งเน้นให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยว (Tourism Hub) พร้อมขับเคลื่อนการท่องเที่ยวร่วมกับภาคเอกชน สมาคมแอตต้า รวมทั้งสมาคมอื่นๆ ซึ่งถือเป็นหัวจักรสำคัญของภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการของประเทศไทย           โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและหน่วยงานในสังกัด พร้อมสนับสนุนเต็มกำลัง นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้ผู้แทนสมาคมต่างๆ เสนอประเด็นสำคัญในการขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของประเทศไทย      ทั้งการเปิดตลาดใหม่ที่มีศักยภาพสูง การเพิ่มเที่ยวบิน การพิจารณาเรื่องวีซ่า การแต่งตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการเพื่อขับเคลื่อนการท่องเที่ยวไทย รวมทั้ง การส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล (Tourism for All) รองรับสังคมผู้สูงอายุเพื่อคุณภาพชีวิต การเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของคนไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ นักท่องเที่ยวกลุ่มฟื้นฟูสุขภาพ กลุ่มครอบครัว กลุ่มผู้พิการ ซึ่งถือเป็นตลาดนักท่องเที่ยวขนาดใหญ่ ซึ่งการพัฒนานี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยองค์ความรู้จากฐานงานวิจัยและพัฒนา เพื่อนำไปสู่การเตรียมความพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มศักยภาพสูงนี้ให้ได้รับความสะดวกสบายและปลอดภัยในระดับมาตรฐานสากลตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยในปัจจุบันกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้ดำเนินการพัฒนาอารยสถาปัตย์ (universal design) เตรียมความพร้อมในการอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวสำหรับคนทุกคนในสังคมได้อย่างเท่าเทียมกัน

 

ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. ในฐานะผู้แทนผู้อำนวยการ สกสว. เผยว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวระหว่างปี พ.ศ. 2559-2562 สร้างรายได้ให้กับประเทศปีละประมาณ 2.1 ถึง 2.7 ล้านล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 18 ของ GDP และรัฐบาลมีนโยบายเชื่อมโยงระหว่างการท่องเที่ยวกับซอฟต์พาเวอร์ ผ่านเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ เสน่ห์ไทย นำจุดแข็งของมรดกทางวัฒนธรรมมาเป็นจุดขายที่นักท่องเที่ยวสามารถสัมผัสผ่านประสบการณ์ตรง อาทิ ศิลปะการต่อสู้มวยไทย วัฒนธรรมอาหารไทย ผ้าไทย เทศกาลและโชว์ไทย เป็นต้น ความร่วมมือ (MOU) นี้จึงมุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการวิจัย      การยกระดับและขับเคลื่อนการท่องเที่ยวโดยภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นที่ 2 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1) ด้าน Demand : ภาพอนาคตการตลาด (Market Foresight) เพื่อปรับกลยุทธ์ธุรกิจให้สอดคล้องกับพฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไปหลังการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยใช้ข้อมูลจาก Social Listening และ Foresight การทำงานในด้านนี้จะช่วยให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบสนองต่อความต้องการของนักท่องเที่ยวได้ดียิ่งขึ้น นำไปสู่การเพิ่มรายได้และความพึงพอใจของนักท่องเที่ยว 2) ด้าน Supply : ความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยว (Carrying Capacity) เพื่อลดปัญหานักท่องเที่ยวล้นเมืองหลักในกรุงเทพฯ ภูเก็ต สมุย เชียงใหม่ และชลบุรี ด้วยการกระจายนักท่องเที่ยวไปยังเมืองน่าเที่ยวอื่นๆ โดยนำเสนอข้อมูลผ่าน Dashboard เพื่อให้ภาคเอกชนมีเครื่องมือในการประเมินพื้นที่รองรับนักท่องเที่ยวในอนาคต การกระจายนักท่องเที่ยวจะช่วยลดความแออัดในเมืองหลัก เพิ่มความพึงพอใจของนักท่องเที่ยว และส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่อื่น ๆ

 

สำหรับ รศ.ดร.ชาลีดา บรมพิชัยชาติกุล รองผู้อำนวยการด้านกลยุทธ์วิจัย (บพข.) กล่าวว่า บพข.ในฐานะหน่วยบริหารและจัดการทุนที่ดูแลงานวิจัยด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มองว่าในระยะยาว ผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตสำหรับความร่วมมือสำคัญในครั้งนี้ คือ 1)ความยั่งยืนของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว : การท่องเที่ยวของประเทศไทยจะมีความยั่งยืนมากขึ้น ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ 2)การเติบโตของเศรษฐกิจท้องถิ่น : เมืองและชุมชนที่ได้รับการกระจายนักท่องเที่ยวจะมีโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้น และ 3)การเพิ่มความพึงพอใจของนักท่องเที่ยว : นักท่องเที่ยวจะได้รับประสบการณ์ที่ดีขึ้นจากการท่องเที่ยวในประเทศไทย นำไปสู่การเพิ่มจำนวนของนักท่องเที่ยวที่กลับมาเที่ยวอีกครั้ง

 

นายอภิชัย ฉัตรเฉลิมกิจ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยวผู้แทน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)  เผยว่า สำหรับการท่องเที่ยวแห่งประเทศ หรือ ททท.ในฐานะภาครัฐที่เป็นผู้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวไทยในการสร้างประสบการณ์ที่ทรงคุณค่าและมุ่งสู่ความยั่งยืน ความร่วมมือในนี้แสดงให้เห็นถึงการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในการพัฒนานโยบายและกลยุทธ์การท่องเที่ยวที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับนโยบาย IGNITE Thailand ของภาครัฐที่มุ่งผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวในภูมิภาค

 

ด้าน นายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) กล่าวว่า ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งเป็นเป้าหมายระยะกลาง คือ ประการแรก การยกระดับความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งความร่วมมือของ 4 หน่วยงานสำคัญในครั้งนี้ จะช่วยให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการของประเทศไทยมีความสามารถในการปรับตัวและแข่งขันในตลาดโลกได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะในด้านการตอบสนองต่อความต้องการที่เปลี่ยนแปลงของนักท่องเที่ยว ประการที่สอง การกระจายนักท่องเที่ยว : ลดความแออัดในเมืองหลักและเพิ่มโอกาสในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ ทั่วประเทศ ส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจในพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ และประการสุดท้ายคือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ : ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณภาพและตรงกับความต้องการของนักท่องเที่ยวมากขึ้น นำไปสู่การเพิ่มรายได้และการสร้างชื่อเสียงที่ดีให้กับประเทศไทยได้เป็นอย่างยิ่ง

 

ซึ่งการลงนามบันทึกข้อตกลงฉบับนี้ เป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของการสร้างความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง ระหว่างภาครัฐ ทั้ง สกสว. บพข. และ ททท. และ ATTA ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นางสาวศุภมาส อิศรภักดี ที่ว่า “เอกชนนำ รัฐสนับสนุน” เพราะภาคเอกชนผู้ที่มีเครื่องมือและข้อมูลที่สามารถช่วยในการวางแผนและปรับกลยุทธ์จะทำให้ธุรกิจสามารถตอบสนองต่อความต้องการของนักท่องเที่ยวได้ดียิ่งขึ้น ลดความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสในการเติบโต ทั้งนี้สมาคมท่องเที่ยวอื่นๆ ก็จะสามารถได้รับข้อมูลและแนวทางปฏิบัติที่ดีจากความร่วมมือนี้ สามารถนำไปปรับใช้เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของสมาคมและสมาชิกให้มีความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยวและพัฒนาการท่องเที่ยวในอนาคต สามารถผลักดันการท่องเที่ยวของประเทศไทยให้มีความยั่งยืนและสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมั่นคง

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
FEATURED NEWS

บพข. หนุน ม.มหิดล และมจท. พร้อมร่วมมือเอกชน เปิดตัวโครงการการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

 
เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2567 – ครั้งแรกของประเทศไทยในการก้าวสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเพื่อคนทั้งมวล (Accessible Thailand Wellness Tourism: ATWT) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจตลอดจนสร้างการมีส่วนร่วมจากสื่อมวลชนและภาคีเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ ด้วยฐานงานวิจัยแผนงานท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่สนับสนุนทุนวิจัยโดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) งบประมาณจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.)  จัดขึ้น ณ SIRIRAJ H SOLUTIONS ศูนย์สุขภาพเชิงป้องกันและบูรณาการสมดุลชีวิต บริเวณชั้น 5 อาคาร ICS Lifestyle Complex

 

ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. และประธานคณะอนุกรรมการแผนงานกลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (บพข.) กล่าวว่า โครงการการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเพื่อคนทั้งมวลในครั้งนี้ จะเป็นการนำเสนอโครงการวิจัยในรูปแบบใหม่ของประเทศไทยเป็นครั้งแรก ที่มุ่งศึกษาเกี่ยวกับประสบการณ์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเพื่อคนทั้งมวลที่สามารถเข้าถึงได้ทุกคนอย่างแท้จริง บนรากฐานแก่นแท้ของ “ความเป็นไทย” ผ่านการกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้งห้า ได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียง และการสัมผัส ที่ส่งต่อประสบการณ์ท่องเที่ยวให้แก่นักท่องเที่ยวคุณภาพที่จะเดินทางมาเยือนประเทศไทย

 

โครงการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเพื่อคนทั้งมวลด้วยการเพิ่มศักยภาพสินค้าและบริการต่อยอดการพัฒนาการตลาด โดย ผศ.ดร.แก้วตา ม่วงเกษม สังกัด มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) งบประมาณจาก กองทุน ววน. ซึ่งได้มอบทุนสนับสนุนแก่มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับทีมนักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล วิทยาลัยนานาชาติ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และผู้ร่วมทุนจากภาคเอกชน ได้แก่ บริษัท นัตตี้ส์ แอดเวนเจอร์ส์ จำกัด และ บริษัท แพน โฟ จำกัด  ในการพัฒนาโครงการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่มุ่งเป้า เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นเมืองต้นแบบด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่สามารถเข้าถึงได้สำหรับทุกคน โดยมีพื้นที่ในการวิจัยภายในประเทศไทยด้วยกัน 3 จังหวัดดังนี้ 1) จังหวัดกรุงเทพฯ 2) จังหวัดนครปฐม 3) จังหวัดสุราษฎร์ธานี ประเทศเป้าหมายทางการตลาด คือ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์  และกลุ่มเป้าหมายทางตลาดแบ่งเป็น 3กลุ่มดังนี้ 1) กลุ่ม Wheelchair กรุงเทพฯ 2) กลุ่มผู้สุงอายุ  3) ผู้พิการทางสายตา

 

ผศ.ดร.แก้วตา ม่วงเกษม หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า ประเทศไทยมีการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวลในมิติต่างๆอย่างยอดเยี่ยมในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตามการวิจัยและการพัฒนาในส่วนของ “การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเพื่อคนทั้งมวล” ยังคงเป็นความต้องการเพื่อให้มั่นใจได้ว่านักท่องเที่ยวกลุ่มนี้สามารถมีส่วนร่วม และได้รับประโยชน์จากการบริการในด้านนี้ จึงเป็นที่มาของการพัฒนาสินค้าและบริการเพื่อสื่อสารการตลาดเชิงบูรณาการทั้งภายในและต่างประเทศ สร้างความร่วมมือกับองค์กรที่เกี่ยวข้องกับ Wellness Tourism พัฒนาแพลตฟอร์มการบริหารจัดการข้อมูลด้านท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเพื่อการเข้าถึงของคนทั้งมวล และพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเพื่อคนทั้งมวล

 

ด้านคุณนิธิ สืบพงษ์สังข์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นัตตี้ แอดเวนเจอร์ จำกัด ในฐานะภาคเอกชน ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นตัวแทนของภาคเอกชนที่ได้มีการดำเนินงานการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวลมาอย่างยาวนานกว่า 7 ปี เริ่มจากเมื่อปี พ.ศ. 2561 ได้พานักท่องเที่ยวยุโรปที่บกพร่องทางการมองเห็นเดินทางท่องเที่ยวจังหวัดต่าง ๆ ในประเทศไทย ออกแบบกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ทำให้นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ได้รับประสบการณ์เทียบเท่ากับนักท่องเที่ยวทั่วไป มองเห็นการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวลอย่างเป็นรูปธรรม จึงได้สนับสนุนการดำเนินงานในส่วนนี้อย่างต่อเนื่อง อาทิ การนำเส้นทางท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวลที่ได้จากผลการวิจัยไปขายจริงในงาน ITB 2024


โดยภายใต้การดำเนินงานของโครงการจะมีกิจกรรมสร้างสรรค์หลากหลายรูปแบบที่ออกแบบและนำเสนอให้แก่กลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีความต้องการที่หลากหลาย เพื่อให้คนกลุ่มนี้มีโอกาสได้รับประสบการณ์ด้านการท่องเที่ยวอันน่าประทับใจเพิ่มมากขึ้น ตัวอย่างของกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในโครงการนี้ ได้แก่ การจัดทำโปรแกรมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเพื่อคนทั้งมวล การเผยแพร่สูตรอาหารบำบัดสำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการ การจัดเทศกาลดนตรีนานาชาติ “Szense Music Festival” ที่จะเริ่มขึ้นในช่วงปลายปีนี้ (2567) และการพัฒนาเว็บไซต์ที่ง่ายต่อการใช้งานเพื่อรวบรวมข้อมูลจากผู้ให้บริการเพื่อนักท่องเที่ยวผู้พิการ หรือผู้สูงอายุ ตามกลุ่มเป้าหมายของโครงการ ATWT

 

สำหรับการจัดงานเพื่อเปิดตัวโครงการ Accessible Thailand Wellness Tourism (ATWT) ในครั้งนี้ มุ่งหวังที่จะให้ทุกภาคส่วนได้เห็นศักยภาพและความพร้อมของการให้บริการทางการดูแลสุขภาพในระดับแนวหน้าของ SIRIRAJ H SOLUTIONS และโรงพยาบาลในเครือข่ายของศิริราช อีกทั้งได้รับข้อมูลจากบุคคลที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการนี้ เพื่อการจัดทำแผนการพัฒนาสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยว รวมถึงแนวทางของการทำการตลาดเพื่อสื่อสารที่ครอบคลุมในทุกกิจกรรมของโครงการ ATWT

 

นอกจากนี้ โครงการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเพื่อคนทั้งมวล ยังได้ถูกกำหนดให้สร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมให้แก่ประเทศ โดยมีเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของประเทศไทยด้วยการดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงให้เดินทางเข้ามาในประเทศไทย จำนวน 100 คนภายในปีพ.ศ. 2567 และมีผลลัพธ์ด้านการเพิ่มรายได้อย่างมีนัยสำคัญสำหรับผู้ประกอบการท้องถิ่น โดยคาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้น 10 ล้านบาทสำหรับผู้ประกอบการอย่างน้อย 1 รายภายในปีพ.ศ. 2568 และ 9 รายภายในปีพ.ศ. 2570

 

โครงการนี้คาดว่าจะช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจในพื้นที่ของจังหวัดหลักอย่างกรุงเทพมหานครและภูเก็ต รวมถึงจังหวัดเมืองรองด้านการท่องเที่ยวอย่างเช่น นครปฐม ผ่านการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นและการขยายโอกาสทางธุรกิจในภาคการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หากกล่าวถึงมิติด้านสังคม ATWT ยืนยันว่าทุกคนสามารถเข้าถึงสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวของไทยได้อย่างเท่าเทียม นอกจากนี้ยังเสริมสร้างศักยภาพให้แก่ชุมชนท้องถิ่นได้พัฒนาทักษะ และมีความเข้าใจต่อการบริการที่ให้ความสำคัญในเรื่องการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวลในด้านความเท่าเทียมของมนุษย์ รวมถึงการเตรียมความพร้อมของพื้นที่ให้บริการ

 

ทั้งนี้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงด้านการแพทย์ การตรวจสุขภาพ การแพทย์แผนไทย และบริการการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล อีกทั้ง ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่นำโปรแกรมการท่องเที่ยวที่ออกแบบมาเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่มีความต้องการพิเศษ ซึ่งมักจะเดินทางพร้อมครอบครัวหรือผู้ดูแล รวมถึงนักท่องเที่ยวผู้สูงอายุที่เดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างสม่ำเสมอ สำหรับผู้ที่สนใจสามารถดูข้อมูลได้ทางเพจเฟสบุ๊ค https://facebook.com/atwt.project หรือเว็บไซต์ของโครงการที่ https://atwt.in.th/

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : อ้างอิงข้อมูลเบื้องต้นจาก Press Release โดย บริษัท ไนน์ตี้ไนน์ คอมมิวนิเคชั่น เอเจนซี่

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
FEATURED NEWS

สกสว. ร่วมมือ สมาชิกวุฒิสภา ขับเคลื่อน งานวิจัยท่องเที่ยวเชิงพักผ่อนล้านนา

 

เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 คณะกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ (ตอนบน) นำโดย พลเอก สกนธ์ สัจจานิตย์ พร้อมด้วย นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้แทนผู้อำนวยการ สกสว.และผู้แทนผู้อำนวยการ บพข. ศาสตราจารย์ปฏิบัติ ดร.เอกชัย มหาเอก รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผศ.ดร.วรวิชญ์ จันทร์ฉาย คณบดีวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะนักวิจัยมหาลัยเชียงใหม่ ร่วมแถลงข่าวเปิดตัวแพลตฟอร์มล้านนาสร้างสรรค์ (Creative Lanna Platform) ณ ห้องพระยาศรีวิสารวาจา อาคารสำนักงานอธิการบดี ชั้น 1 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

        พลเอก สกนธ์ สัจจานิตย์ รองประธานกรรมการฯ คนที่หนึ่ง กล่าวว่า แพลตฟอร์มล้านนาสร้างสรรค์ (Creative Lanna Platform) เกิดจากความร่วมมือของคณะกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ (ตอนบน) โดยการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ร่วมด้วยวิทยาลัยสื่อ ศิลปะ และเทคโนโลยี (CAMT) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้คิดค้นจัดทำแพลตฟอร์มดังกล่าว โดยวุฒิสภาเล็งเห็นโอกาสในการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ผ่านการใช้ Soft Power จาก “อัตลักษณ์ประจำถิ่น” ที่โดดเด่น เช่น การท่องเที่ยว อาหาร แฟชั่น เทศกาลและประเพณีของ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน และน่าน โดยเลือกจังหวัดเชียงใหม่เป็นพื้นที่นำร่องและจะขยายผลต่อยอดการใช้งานแพลตฟอร์มดังกล่าวให้ครอบคลุม 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนผ่านการบูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างโอกาสและรายได้จากการท่องเที่ยวให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น

 
         นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังขับเคลื่อน Soft Power โดยใช้พลังสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรมไทย นำภูมิปัญญาเดิมที่มีอยู่มาทำให้เกิดความสร้างสรรค์และทันสมัย เกิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและชุมชนได้ ซึ่งวิทยาลัยสื่อ ศิลปะ และเทคโนโลยี (CAMP) ที่สร้างแพลตฟอร์มล้านนาสร้างสรรค์ (Creative Lanna Platform) ออกแบบแผนที่ท่องเที่ยวสร้างสรรค์ผ่านการเล่นเกม หรือมูเตลูก็ตาม ได้แสดงถึงอัตลักษณ์ของสถานที่ท่องเที่ยวเหล่านั้น และการสร้างระบบ “PLAY EARN TRAVEL and E-commerce” ให้กับสินค้าและการท่องเที่ยวชุมชนล้านนาสามารถสร้างรายได้ให้กับ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการพัฒนาล้านนาไปสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์

    

        ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. และประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. ในฐานะผู้แทนผู้อำนวยการ สกสว.และผู้แทนผู้อำนวยการ บพข. กล่าวว่า ในภาคของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ กองทุนส่งเสริม ววน. และสกสว. ได้มอบหมายภารกิจให้ บพข. บริหารจัดการแผนงานวิจัยการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งแบ่งออกเป็นแผนงานย่อย 2 แผนงาน 

(1) การพัฒนาและยกระดับการท่องเที่ยวโดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่เน้นคุณค่า สร้างความยั่งยืน และเพิ่มรายได้ของประเทศ หรือแผนงานการท่องเที่ยวมูลค่าสูง ซึ่งมีกรอบการดำเนินการภายใต้แผนงานย่อย
จำนวน 3 ประเด็น ได้แก่ (1.1) การท่องเที่ยวบนฐานมรดกทางธรรมชาติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและ
การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (1.2) การยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (1.3) การยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ และ (2) การพัฒนาการและยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่เน้นคุณค่า สร้างความยั่งยืน และเพิ่มรายได้ของประเทศ หรือแผนงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งมีกรอบการดำเนินการเพื่อการยกระดับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เพื่อเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เน้นการทำงานแบบแผนงานวิจัยเพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจการท่องเที่ยว สร้างรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชนและผู้ให้บริการในภาคการท่องเที่ยว มุ่งตอบเป้าหมายสำคัญ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวที่เน้นคุณค่า ความยั่งยืน เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ

        สกสว. บพข. และสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้บูรณาการการทำงานและขับเคลื่อนงานวิจัยแผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จึงได้สนับสนุนให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินการวิจัย “การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างมูลค่าและคุณค่าแก่การท่องเที่ยวเชิงพักผ่อนล้านนา” ประยุกต์แนวคิดของ PLAY TRAVEL and EARN เพื่อสร้างโอกาสในการใช้เทคโนโลยีและะนวัตกรรม หนุนเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และพื้นที่เชื่อมโยง ผ่านแอพพลิเคชั่นที่ครอบคลุมการสร้างกิจกรรมการท่องเที่ยวออนไลน์ในรูปแบบเกม ประกอบการท่องเที่ยวอย่างสนุกสนานได้ความรู้ และสามารถนำเอาคะแนนที่ได้จากการเล่มเกมมาเปลี่ยนเป็นคะแนนเพื่อแลกส่วนลดในร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ

         

        ศาสตราจารย์ปฏิบัติ ดร.เอกชัย มหาเอก รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีแผนพัฒนาการดำเนินงานล้านนาสร้างสรรค์ (Creative Lanna) มาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4  นำเอาภูมิปัญญาและต้นทุนที่มีอยู่ภายใต้ 5F ของ Soft Power มาต่อยอดในเชิงคุณค่าและเชิงมูลค่า
ซึ่งแพลตฟอร์มล้านนาสร้างสรรค์ (Creative Lanna Platform) สอดคล้องกับแผนการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย โดยมีวิทยาลัยสื่อ ศิลปะ และเทคโนโลยี (CAMT) เป็นแรงขับเคลื่อนและผลักดันที่สำคัญในการสร้างมูลค่าให้กับกระบวนการท่องเที่ยวชุมชนเชิงวัฒนธรรมล้านนาในเขตพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ เกิดการใช้ประโยชน์จากโครงการของ CAMT ที่ดำเนินการมาก่อนหน้านำไปสู่การสร้างเครือข่ายการท่องเที่ยวชุมชนในเขตพื้นที่ 8 จังหวัดล้านนาได้

                ผศ.ดร.วรวิชญ์ จันทร์ฉาย คณบดีวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี (CAMT) กล่าวว่า CAMT ในฐานะผู้ดูแลจะใช้ “Leisure Lanna Super App”ภายใต้ตัวแบบธุรกิจ “PLAY TRAVEL EARN” สนับสนุนการท่องเที่ยว การเดินทาง การแนะนำสถานที่ ร้านค้า ที่พัก หรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการนำเสนอข้อมูลเชิงการท่องเที่ยว การค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงพื้นที่ตลาด (Market Place) ให้กับสินค้ากับแหล่งท่องเที่ยวชุมชน จะยกระดับสู่การเป็นพื้นที่กลางเพื่อเป็นช่องทางสำหรับ “การท่องเที่ยวชุมชน” โดยเปิดพื้นที่กลางให้กับแหล่งท่องเที่ยวชุมชนสามารถสร้างข้อมูลและเส้นทางการท่องเที่ยว อัตลักษณ์และสินค้าชุมชนเข้าสู่แพลตฟอร์ม “Super App” กระบวนการนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ “ท่องเที่ยวชุมชน” ต้องเรียนรู้วิธีการสร้างเรื่องราวท่องเที่ยว และพัฒนาสินค้าชุมชนเพื่อนำเสนอผ่านแพลตฟอร์ม “Leisure Lanna Super App” ในการนี้วิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยีจึงได้วางแนวทางต่อยอดในอนาคต โดยออกแบบ พัฒนาหลักสูตร และจัดอบรมเชิงปฏิบัติการด้านสื่อสร้างสรรค์ (Creative Content) ทั่วประเทศไทย 4 ภูมิภาค ให้กับ SMEs และท่องเที่ยวชุมชนจำนวน 120 ราย เพื่อพัฒนาทักษะการใช้ Generative AI มาใช้กับการสร้างคอนเทนท์และ Character สินค้าชุมชน เป็นรูปแบบการต่อยอดการใช้ทุนทางวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่มาใช้ออกแบบกิจกรรมการท่องเที่ยวและนำอัตลักษณ์ชุมชนมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ได้
             ทั้งนี้งานวิจัยแผนงาน “การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างมูลค่าและคุณค่าแก่การท่องเที่ยวเชิงพักผ่อนล้านนา” โดยมี ดร.ดนัยธัญ พงษ์พัชราธรเทพ และคณะ สังกัดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สนับสนุนทุนโดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ได้จัดทำแอพพลิเคชั่นด้วยแนวคิด PLAY TRAVEL and EARN ออกเป็นสามแอพพลิเคชั่น ได้แก่
 

        1) แอพพลิเคชั่น “โลกเสมือนสามมิติสนับสนุนการท่องเที่ยวในรูปแบบประสบการณ์เชิงประวัติศาสตร์ เขตเมืองเก่าเชียงใหม่” ซึ่งจัดเก็บข้อมูลกับนักท่องเที่ยว เพื่อระบุกิจกรรมเชิงพักผ่อนและสถานที่ท่องเที่ยวในพื้นที่ย่านเมืองเก่าเชียงใหม่ นำมาพัฒนาและทดสอบระบบความจริงเสมือนและดิจิทัลเกมอย่างง่าย เก็บข้อมูลกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ประวัติศาสตร์ของวัฒนธรรมล้านนา ในพื้นที่คูเมืองจังหวัดเชียงใหม่ วิเคราะห์ข้อมูลกิจกรรมท่องเที่ยว พฤติกรรมนักท่องเที่ยว และเนื้อหาเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมล้านนา ออกแบบรูปแบบการใช้งานแอปพลิชันเกมอย่าง่ายและระบบตัวตนเสมือนจริง วิเคราะห์และออกแบบโลกเสมือนสำหรับการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ประวัติศาสตร์ของวัฒนธรรมล้านนา และสร้างกราฟิกสามมิติของโลกเสมือน และสร้างระบบของโลกเสมือน

        2) แอพพลิเคชั่น “สนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงความศรัทธาด้วยเทคโนโลยีโลกเสมือนผสานโลกแห่งความจริง” ภายใต้แนวความคิดที่จะพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่มีเทคโนโลยี AR เป็นส่วนประกอบเพื่อสร้างความแตกต่างและมอบประสบการณ์แปลกใหม่ให้แก่นักท่องเที่ยว ด้วยเนื้อหาที่น่าสนใจเชิงความเชื่อและความศรัทธา เช่น เส้นทางแห่งความรัก และเส้นทางเสริมบารมี เมื่อผู้ใช้งานอยู่บริเวณโบราณสถานและมองผ่านกล้องดิจิทัล ระบบจะทำการแสดงฟังก์ชันแสดงผลโลกเสมือนจริงให้นักท่องเที่ยวได้ทำกิจกรรมเพื่อเพิ่มประสบการณ์ในการท่องเที่ยว และกระตุ้นนักท่องเที่ยวให้เกิดการเดินทางมายังสถานที่จริง

        3) แอพพลิเคชั่น “เส้นทางเดินชมเมือง (Chiang Mai Old Town Trail) ในเขตเมืองเก่าเชียงใหม่ผ่านเทคโนโลยี AR ผ่านมุมมอง 360 องศา รองรับกิจกรรมท่องเที่ยวกายภาพ” ภายใต้ชื่อ Lanna Passport มุ่งหวังให้ใช้เป็นเครื่องมือเสริมประสบการณ์ท่องเที่ยวที่ใช้แนวคิด Gamification การล่าเหรียญสมบัติในเมืองเก่า ใช้เทคโนโลยี AR ร่วมกับ AI Image recognition นำเสนอเรื่องราวได้ 3 ภาษา (ไทย จีน อังกฤษ) ก่อให้เกิดกิจกรรมทางกาย (Wellness) ผ่านการ เดิน วิ่ง ปั่น เพื่อคำนวณเป็นเหรียญรางวัลสำหรับกิจกรรมทางกาย นอกจากนี้ระบบที่ใช้เทคโนโลยี AR ได้นำเสนอเรื่องราวสถานที่ท่องเที่ยวในมุมมอง 360 องศาผ่านสายตาผู้ใช้งานในช่วงเวลาต่าง ๆ พร้อมกับการนำเสนอภูมิทัศน์เสียง หรือดนตรีที่แสดงอัตลักษณ์ความเป็นล้านนา จากสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ

        สำหรับแอพพลิเคชั่น “Leisure Lanna Super App” นอกเหนือจากเป็นแอพฯ หลักสำหรับเป็น Platform กลางสำหรับแอพพลิเคชั่นทั้งสามที่พัฒนาขึ้น ร่วมกับการเป็นพื้นที่นำเสนอข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวร้านค้าที่เข้าร่วมแล้ว ยังสามารถนำมาใช้เป็นพื้นที่สำหรับแพลตฟอร์มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน เพื่อต่อยอดสำหรับจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องของแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ต่อไป ทั้งนี้วิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ร่วมสมทบงบประมาณในการพัฒนา “Super App” มอบส่วนลดให้กับผู้เล่นได้รับเหรียญรางวัลสะสมจากการพิชิตกิจกรรมที่กำหนดในแต่ละแอพพลิเคชั่น สามารถนำมาใช้เพื่อแลกเป็นส่วนลดเพื่อใช้บริการได้ เพื่อใช้เป็นฐานสำหรับรองรับแอพพลิเคชั่นอื่นที่อยู่ในรูปแบบสนับสนุนการเรียนรู้ และการท่องเที่ยวชุมชน

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
FEATURED NEWS

ประชุมพะเยาวิจัยปี 2567 อนาคตธุรกิจคาร์บอนเครดิตและอุตสาหกรรมบริการไทย

 

เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2567 มหาวิทยาลัยพะเยาจัดให้มีการประชุมวิชาการระดับชาติพะเยาวิจัย ครั้งที่ 13 ขึ้น ในวันที่ 24 – 26 มกราคม 2567 ภายใต้หัวข้อ “Frontier area-based research for sustainable development goals” ซึ่งเป็นเวทีทางวิชาการในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างเครือข่ายระดับชาติ พัฒนาศักยภาพของนักวิจัย และสถาบันการศึกษาของไทย ที่เป็นพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ด้วยการวิจัยและการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านการการนําเสนอผลงานวิจัย นิทรรศการ และกิจกรรมสัมมนาทางวิชาการต่าง ๆ ที่หลากหลาย โดยหนึ่งในประเด็นสำคัญของการประชุมในครั้งนี้ คือ Section: “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ: การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์” ได้มีเวทีการเสวนา “อนาคตธุรกิจคาร์บอนเครดิตและอุตสาหกรรมบริการไทย” รวมทั้งการบรรยายพิเศษ เรื่อง “ทิศทางและแนวโน้มการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” และ “การส่งเสริมสุขภาพและการเที่ยวไทย” นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการ “การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในอุทยานแห่งชาติและการส่งเสริมใช้แอพพลิเคชั่น ZERO CARBON” ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารงานโดยแผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา เป็นประธานกล่าวเปิดงานการประชุมวิชาการพะเยาวิจัย โดยได้รับเกียรติจาก ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. และประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. ร่วมเปิดงานซึ่งจัดเป็นครั้งที่ 13 ในวันที่ 25 มกราคม 2567 ณ อาคาร 99 ปี พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ มหาวิทยาลัยพะเยา

 

สำหรับการเสวนา “อนาคตธุรกิจคาร์บอนเครดิตและอุตสาหกรรมบริการไทย” ประกอบด้วยผู้ร่วมเสวนา 5 ท่าน คือ ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. รศ.ดร.ธรรมศักดิ์ ยีมิน ผู้อำนวยการแผนงานท่องเที่ยวบนฐานมรดกทางธรรมชาติ การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิ บพข. นายคมกริช เศรษฐบุบผา ผู้อำนวยการส่วนวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ในฐานะผู้แทนอธิบดีกรมอุทยานกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช นางสาวภคมน สุภาพพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักรับรองธุรกิจคาร์บอนต่ำองค์กรบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) และ Mr.James Andrew Moore ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร WAVE BCG Co., Ltd.

 

 

 

 

ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช กล่าวถึงความเป็นมาของ บพข. ซึ่งเป็นผู้ที่ริเริ่มในการส่งเสริมแนวคิดการวิจัยด้านการท่องเที่ยวสุทธิเป็นศูนย์ ที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2563 โดย แผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. ได้จำลองแบบ net zero pathways ในช่วงปี 2569-2570 เนื่องจากว่ากว่าด้านวิทยาศาสตร์และวิจัยนวัตกรรมของเราได้รับ งบประมาณจากรัฐบาลมาต่อเนื่องให้เราทำงานวิจัย โดยเราจะออกแบบแผนงานที่เป็น Marketing CNT ในปี 2567  ทำร่วมกับกับ TEATA และตัวชี้วัดที่สำคัญ คือ ดึงนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง เข้ามาในเมืองไทยเพื่อที่จะเตรียมความพร้อมการรองรับนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง จะให้พำนัก 10 ขึ้นไป โดยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยวันละ 5000 บาท  มีหน่วยงานต่างๆเข้ามาร่วมเป็นภาคีเครือข่าย เราทำการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และเราทำเรื่องของงานเชิงนโยบาย นักท่องเที่ยวคุณภาพสูง ต้องจัดการการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพด้วย  และในปลายปี 2568 -270 เราจะมี Net Zero pathways ออกมาให้พี่น้องชาวไทย เราสามารถที่จะบริการจัดภาคการท่องเที่ยว และนำไปสู่ Net Zero pathways เป็นลักษณะของการให้การทดลองการท่องเที่ยวต่างๆในโปรแกรม

 

 ด้าน รศ. ดร.ธรรมศักดิ์ ยีมิน กล่าวว่า การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ถ้ามองย้อนกลับไปตั้งแต่ต้น คือมาจากปัญหาโลกร้อนและเกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วนร่วมถึงภาคการท่องเที่ยว แล้วภาคการท่องเที่ยวได้มองถึงการแก้ไขปัญหาหรือเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหา โดยมีประเด็นดังนี้ 1.ตัวกลางวัดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมต่างๆ 2.หลังจากที่ทราบตัวเลขแล้ว ควรจะมีมาตรการหรือแนวทางลดให้มากที่สุด 3.ชดเชย 4.ทุกภาคส่วนทุกฝ่ายต้องขับเคลื่อนไปพร้อมกัน

 

 

สำหรับคุณคมกริช เศรษฐบุบผา เผยถึง ในฐานะตัวแทนของทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่มีนโยบายเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือการท่องเที่ยวสุทธิเป็นศูนย์ คือหน่วยงานมีวิสัยทัศน์เพิ่มพื้นที่ป่าอนุรักษ์ร้อยละ 25 ของพื้นที่ประเทศ ภายในปี 2569 และมีภารกิจงานด้านอนุรักษ์วิจัย งานด้านการจัดการทรัพยากรป่าไม้ งานมีส่วนร่วม และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรแหล่งท่องเที่ยว และมียุทธศาสตร์ ประเด็นที่ 18 การเติบโตอย่างยั่งยืน

 

 

ด้าน คุณภคมน สุภาพพันธ์ กล่าวว่า ปัจจุบันองค์กรบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกมีแอพพลิเคชั่น Zero Carbon ที่เกิดจาก ความร่วมมือกับ บพข. ซึ่งต้องบอกว่า ประโยชน์ของแอพพลิเคชันของทาง อบก. เขาเห็นถึงการท่องเที่ยวที่มีการจัดการก๊าซเรือนกระจก 1.การเดินทางของผู้ร่วมงาน 2.ที่พัก 3.อาหาร  4.ของเสีย ซึ่งเป็นข้อมูลที่สามารถบอกเลขได้ เมื่อนำไปทดลอง พบว่า ชุมชนสามารถใช้ได้ และนอกจากนี้เด็กมัธยมต้นก็สามารถใช้แอพนี้ได้และใช้โดยไม่ใช้เงินอะไรเลย ในอนาคตเรามีการพัฒนาแอพที่ดี เราจะตัดระบบผู้ทวนสอบ  เพื่อให้งานนั้นหรือว่าการท่องเที่ยวนั้น โดยสามารถที่จะซื้อคาร์บอนในระบบได้เช่นเดียวกัน

 

ในด้านของภาคเอกชน คุณเจมส์ แอนดริว มอร์ กล่าวว่า บริษัท เวฟบีซีจี จำกัด ของเราเป็นบริษัทมหาชน เรามีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนมาก เราเป็นผู้สนับสนุน ในการที่จะบรรลุเป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอน ในการเป็น Net Zero และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันบนเวทีโลกได้ ที่ปรึกษาในการประเมิน และเมื่อประเทศมีการตั้งเป้าหมายแล้วจึงส่งผลต่อภาคเอกชน ทำให้ภาคเอกชนมีการตั้งเป้า เพราะเรื่องนี้เป็นการแข่งขันในภาคเอกชน เช่น ณ วันนี้ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย ส่งออกสินค้าไปเข้ายุโรป เราจะต้องจ่ายภาษีคาร์บอนแพงกว่าคู่แข่งที่ยุโรป ดังนั้นความสามมารถในการแข่งขันส่งออกเราจะลดลงเรื่อย ๆ และ CBAM ที่เป็นภาษีคาร์บอนของยุโรป จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยประมาณ 14,700 ล้านบาท ถ้าเราไม่มีการปรับตัว

สำหรับโซนนิทรรศการ “การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในอุทยานแห่งชาติและการส่งเสริมใช้แอพพลิเคชั่น ZERO CARBON” และการนำเสนอผลงานวิชาการรูปแบบ Oral Presentation แบบ Onsite ใน Section“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ: การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ครั้งที่ 1” มีผู้นำเสนอผลงานวิชาการเป็นเจ้าหน้าที่กรมอุทยานกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จากอุทยานฯ 12 แห่ง และนักวิชาการ รวมจำนวน 15 ผลงาน ตลอดจนการประกวดผลงานสร้างสรรค์แบบออนไลน์ ประเภทภาพถ่ายและคลิปวีดีโอนักสื่อความหมายด้านการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ โดยมีผู้ร่วมส่งผลงานจำนวน 48 ราย โดยการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ได้นำแอพพลิเคชั่น ZERO CARBON มาใช้คำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการการจัดการประชุมและกิจกรรม  ซึ่งมีปริมาณ 14.90 ตันคาร์บอนฯ และได้ชดเชยคาร์บอน เป็นจำนวน 2,700 บาท สำหรับผู้ร่วมงานในครั้งนี้แล้วจำนวน 200 คน ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแผนงานวิจัยการยกระดับการบริหารจัดการการท่องเที่ยวและความร่วมมือการพัฒนาคุณภาพอุทยานแห่งชาติในพื้นที่ภาคเหนือมุ่งสู่การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ โดยมี ผศ.ดร.สุขทัย พงศ์พัฒนศิริ สังกัดมหาวิทยาลัยพะเยา เป็นหัวหน้าโครงการ ซึ่งได้รับการอุดหนุนทุนวิจัยจาก  แผนงานกลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์  (บพข.) กองทุน ววน. ซึ่งมีพื้นที่วิจัยหลัก คือ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน และอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า และเครือข่ายอุทยานแห่งชาติสีเขียวอีก 9 แห่งของภาคเหนือ ในปี พ.ศ. 2566 โดยงานวิจัยนี้คาดว่า การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral Tourism: CNT) นั้น จะเป็น Mega trend ที่จะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนให้แก่ประเทศไทยและพัฒนาคุณภาพการท่องเที่ยวมูลค่าสูง และจากการติดตามร่องรอยทางนิเวศของนักท่องเที่ยว (Tracking Survey) พบว่า ค่าใช้สอยในการท่องเที่ยวเป็นจำนวนเงินเฉลี่ย 2,921 บาท/วัน ซึ่งจะกระจายรายได้แก่ผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจที่พักรองรับนักท่องเที่ยวโดยรอบอุทยานฯ จำนวน  144 แห่ง และจากการสร้างความร่วมมือเครือข่ายผู้ประกอบการ 63 แห่ง ที่จะสนับสนุนการท่องเที่ยวแบบ CNT นำร่องแคมเปญการเตรียมตัวแบบการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนสุทธิ์เป็นศูนย์มีเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนจากเดินทางท่องเที่ยว ลดการใช้ไฟฟ้าในที่พัก คัดแยกขยะ ลดการใช้การเกิด และทำการชดเชย โดยคำนวณจากแอพพลิเคชั่น ZERO CARBON คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวที่จะร่วมกิจกรรมนี้ 1,560 คน/ปี เป็นรายได้เพิ่มขึ้น 1,760,000 บาท/ปี จากผู้ประกอบการที่พัก 9 แห่ง

 

ทั้งนี้อุทยานฯ และผู้ประกอบการร่วมโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (LESS)  โดยการคัดแยกขยะเพื่อการรีไซเคิล การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพื่อใช้เองและการผลิตปุ๋ยหมักจากขยะอินทรีย์  32 แห่ง คิดเป็นการลดก๊าซเรือนกระจก 4.9 tCO2eq โดยในอนาคตอุทยานฯ ต้องยกระดับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกภายในปี พ.ศ. 2573 ตามการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด หรือ Nationally Determined Contributions (NDCs) ของประเทศ โดยในงานวิจัยได้คาดการณ์จากแนวโน้มในการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของ 3 อุทยานฯ ร้อยละ 4 ต่อปี จะช่วยลดการใช้ไฟฟ้าของการให้บริการของอุทยานฯจำนวน 4,898 kWh  เชื้อเพลิง 5,102 ลิตร 5.1 ตัน การใช้น้ำ 1,087 ลบ.ม. คิดเป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ลดลง 60 tCO2eq/ปี ซึ่งคิดเป็นเงินต้นทุนที่ลด 229,125 บาท/ปี ในส่วนของการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น สำนักงานอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์มีการใช้ผลิตภัณฑ์ในบัญชีตะกร้าเขียว ฉลากเขียว ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้น  ฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5  ฉลากประสิทธิภาพสูงและวัสดุธรรมชาติสูงถึง  45.28 เปอร์เซ็นต์  

 

ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการเตรียมความพร้อมในการรองรับกิจกรรมทางการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์เพื่อสร้างประสบการณ์ลูกค้า (Customer Experience) เมื่อนักท่องเที่ยวมาใช้บริการจะทำให้เป็นท่องเที่ยวที่เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติต่ำ อีกทั้งในอนาคตจะมีการสื่อสารและเรียนรู้ผ่านคู่มือการท่องเที่ยว Green Travel Plans (GTPs) สำหรับท่านที่จองบ้านพักภายในอุทยานฯและและที่พักชุมชนในเครือข่ายเพื่อการเตรียมตัวมา “ท่องเที่ยวกลุ่มอุทยานแห่งชาติสีเขียวสไตล์คาร์บอนเป็นศูนย์” และ การเป็นองค์ชั้นนำในการบริการการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนของกรมอุทยานฯ ก้าวสู่ Net Zero Pathway และ Climate-Smart National Park

 

นอกจากนี้ยังมีการบรรยายพิเศษใน 2 เรื่องสำคัญคือ “ทิศทางและแนวโน้มการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” โดย ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และ“การส่งเสริมสุขภาพและการเที่ยวไทย” โดย นายณัฐพงศ์ โพธิ์วัฒนะชัย ตัวแทนสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

ทั้งนี้สอดคล้องตามวิสัยทัศน์ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม “สานพลังการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมไทย พลิกโฉมให้ประเทศมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและยั่งยืน ยกระดับความสามารถในการ แข่งขันด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่า และพร้อมก้าวสู่อนาคต” พร้อมส่งเสริม ความร่วมมือเพื่อผลิตกําลังคนระดับสูงเฉพาะทาง และความร่วมมือในด้านการวิจัยและการสร้างสรรค์นวัตกรรมกับหน่วยงาน ภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และบุคคลหรือหน่วยงานในต่างประเทศต่อไป

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News