Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

ผู้ว่าฯ เชียงราย ลงพื้นที่ตามโครงการฝายปางกล้วยค้าวอำเภอพาน

 

เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 67 นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยนายวุฒิกร คำมา นายอำเภอพาน นายทวีชัย โค้วตระกูล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงราย พร้อมเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่เพื่อติดตามโครงการฝายปางกล้วยค้าวพร้อมระบบส่งน้ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ บ้านปางกล้วยค้าว หมู่ที่ 16 ตำบลป่าหุ่ง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย โดยมีเจ้าหน้าที่ท้องที่ ท้องถิ่น ประชาชนบ้านปางกล้วยค้าวให้การต้อนรับ ในการนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และชลประทานเชียงราย ได้ชี้แจงรายละเอียดโครงการ พร้อมทำความเข้าใจลักษณะโครงการ และการดำเนินการแก่ประชาชนในพื้นที่

 

ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ร่วมกับจังหวัดเชียงราย ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีนายชัยเดช จินดาวิจิตร ราษฎรบ้านปางกล้วยค้าว หมู่ที่ 16 ตำบลป่าหุ่ง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ขอพระราชทานโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำริน พร้อมระบบส่งน้ำ เพื่อช่วยเหลือราษฎรตำบลป่าหุ่ง ตำบลสันกลาง และตำบลเมืองพาน อำเภอพานจังหวัดเชียงราย ซึ่งขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และทำการเกษตร 


ต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโครงการฝายปางกล้วยค้าวพร้อมระบบส่งน้ำไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2567
กรมชลประทาน โดยสำนักงานชลประทานที่ 2 ได้ตรวจสอบสภาพพื้นที่และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม แล้วได้พิจารณาแนวทางการให้ความช่วยเหลือด้วยการก่อสร้างฝ่ายบ้านปางกล้วยค้าวพร้อมระบบส่งน้ำ ระบบส่งน้ำความยาว 2,000 เมตร พื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 200 ไร่ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ได้ โดยกำหนดชื่อว่า “โครงการฝายปางกล้วยค้าวพร้อมระบบส่งน้ำ”

 

สำหรับโครงการฝายปางกล้วยค้าวพร้อมระบบส่งน้ำ เมื่อสร้างแล้วเสร็จจะเป็นแหล่งน้ำสำหรับทำการเกษตรแก่เกษตรกรในฤดูฝนได้ 200 ไร่ และฤดูแล้งได้ 200 ไร่ และเพื่อเป็นแหล่งน้ำสำหรับการอุปโภค – บริโภคของราษฎร ลักษณะโครงการ มีพื้นที่รับน้ำฝนเหนือที่ตั้งหัวงาน 36.50 ตารางกิโลเมตร ความยาวลำน้ำจากต้นน้ำถึงหัวงาน 10 กิโลเมตร มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั้งปี 1,308.47 มิลลิเมตร ปริมาณน้ำไหลผ่านหัวงานเฉลี่ยทั้งปี 12,372,109.88 ลูกบาศก์เมตร/วินาที การก่อสร้าง เป็นอาคารหัวงาน ประเภทฝายคอนกรีตล้วนปนหินใหญ่ ความยาว 12.00 เมตร ความสูง 2.00 เมตร มีอาคารบังคับน้ำปากท่อ จำนวน 1 แห่ง ประตูระบายทราย ขนาด 1.80 x 1.50 เมตร ระบบส่งน้ำประเภทคลองดาดคอนกรีตความยาว 2,000 เมตร ส่งน้ำได้ 0.05 ลูกบาศ์กเมตร/วินาที 

 

ทั้งนี้ประชาชนในพื้นที่ทุกคนต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ และเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตามที่ราษฏรขอพระราชทานความช่วยเหลือ ซึ่งหากโครงการแล้วเสร็จจะทำให้ในพื้นที่มีน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคและเพื่อการเกษตรได้ได้ตลอดทั้งปี

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

Street Art Phan, (Phan Pavilion) มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ

 

เมื่อวันเสาร์ที่ 4 พฤศจิกายน 2566 เวลา 09.00 น. นายวุฒิกร  คำมา นายอำเภอพาน เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม งาน street Art Phan ,(Phan Pavilion) ณ บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอพาน โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตรเมธี ดร.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ นางภัทราวดี สุทธิธนกูล อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นายสุวิทย์ ใจป้อม นายกสมาคมขัวศิลปะ นายนิรันดร์ แปงคำ ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอพานหัวหน้าส่วนราชการ ภาคเอกชน ศิลปิน ประชาชน เด็ก และเยาวชน เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว  

 

 กลุ่มสล่าเมืองพาน ได้รับการสนับสนุนการดำเนินกิจกรรม Street  Art  Phan ,(Phan Pavilion) ซึ่งเป็น 1 ใน 10 ของพาวิลเลียน (Pavilion) จากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม เพื่อสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับอำเภอพาน “เมืองพานบ่ใช่เมืองผ่าน” ใครผ่านเมืองพานต้องแวะชม Street  Art ตั้งแต่บริเวณสามแยกวัดชัยมงคลถึงหกแยกอำเภอพาน บนถนนพหลโยธินสายเก่า ระยะทาง 3 กิโลเมตร ซึ่งในอดีตบริเวณนี้ได้รับการขนานนามว่า “ถนนสายมังกร” โดยวาดภาพในรูปแบบสองมิติ สามมิติ เรื่องราวต่าง ๆ ที่สื่อถึงความเชื่อ ความศรัทธา วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตของคนอำเภอพาน เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวหรือบุคคลที่สนใจศิลปะมาชมบนถนนเส้นนี้ เสริมสร้างเศรษฐกิจ ส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยใช้ศิลปะ สร้างรายได้ให้แก่ชาวอำเภอพาน และเพื่อรองรับงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale Chiang Rai 2023 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 ธันวาคม 2566 – 30 เมษายน 2567 ภายใต้แนวคิด “เปิดโลก” The open world โดยกลุ่มสล่าเมืองพานได้นำกลุ่มเยาวชน Children Art Workshop for Biennale เครือข่ายสถานศึกษา ชมรมผู้สูงอายุ พร้อมด้วยทีมศิลปินทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ดำเนินกิจกรรมดังกล่าว จำนวนกว่า 120 คน

 

ทั้งนี้ นายวุฒิกร คำมา นายอำเภอพาน พร้อมด้วย นายพานทอง แสนจันทร์ ประธานศิลปินกลุ่มสล่าเมืองพาน ได้นำชมประติมากรรมในขบวนแห่ของอำเภอพาน ภายใต้แนวคิดของพระธาตุจอมแว่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ศูนย์รวมใจของชาวอำเภอพาน 1 ในพระธาตุ 9 จอม ของจังหวัดเชียงราย ลอยเด่นเป็นสง่าเหนือกลุ่มเมฆ พร้อมด้วยปลานิล ซึ่งเป็นสัตว์เศรษฐกิจของอำเภอพาน ซึ่งเป็นแหล่งเลี้ยงปลานิลที่ใหญ่ที่สุดของภาคเหนือ โดยมี ศาสตรเมธี ดร.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ ให้คำแนะนำในการตกแต่งขบวนพาเหรดให้ดูสวยงามและมีความโดดเด่นมากขึ้น

 

 

 ในการนี้ ในเวลา 13.00 น. นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วย นางพัชรนันท์ แก้วจินดา ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม นางพรทิวา ขันธมาลา ผู้อำนวยการกลุ่มยุทธศาสตร์และเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม และข้าราชการสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย เยี่ยมชมกิจกรรม และมอบหมายให้นายเอกณัฏฐ์ กาศโอสถ นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ นางเพียรโสม ปาสาทัง นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ ผู้ประสานงานอำเภอพาน และนายอภิชาต กันธิยะเขียว นักวิชาการวัฒนธรรมปฏิบัติการ ลงพื้นที่เพื่อร่วมกิจกรรมดังกล่าว

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สนง.วัฒนธรรม เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News