Categories
AROUND CHIANG RAI ECONOMY

ครม.อนุมัติ ใช้ที่ดิน ส.ป.ก.ก่อสร้างทาง รถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ 1,537 ไร่

 

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติการใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เนื้อที่รวมประมาณ 1,537-3-04 ไร่ และโครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม เนื้อที่รวมประมาณ 1,917-3-75 ไร่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) 

น.ส.เกณิกากล่าวว่า  คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) รายงานว่าการดำเนินโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ของรฟท. ทั้ง 2 โครงการ เป็นโครงการที่ครม.ได้เคยมีมติอนุมัติให้ดำเนินการแล้ว โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

1.โครงการก่อสร้างทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เป็นโครงการก่อสร้างทางรถไฟทางคู่สายใหม่ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัด 17 อำเภอ 59 ตำบล แบ่งเป็นทางรถไฟระยะทาง 323.10 กิโลเมตร อุโมงค์รถไฟจำนวน 4 แห่ง รวม 14.415 กิโลเมตร

คันทางคู่สูงเฉลี่ย 4 เมตร ป้ายหยุดรถไฟจำนวน 13 แห่ง สถานีรถไฟขนาดเล็ก จำนวน 9 แห่ง และสถานีรถไฟขนาดใหญ่ จำนวน 4 แห่ง รวมทั้งทั้งสิ้น 6 สถานี ลานบรรทุกตู้สินค้าจำนวน 5 แห่ง ถนนยกข้ามทางรถไฟ จำนวน 39 แห่ง ถนนลอดใต้ทางรถไฟจำนวน 103 แห่ง พร้อมการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม และสร้างรั้วสองแนวข้างทางตลอดเส้นแนวทางรถไฟ

ต่อมา รฟท. ได้ลงนามสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการดังกล่าวจำนวน 3 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว สัญญาที่ 2 ช่วงงาว-เชียงราย และสัญญาที่ 3 เชียงราย-เชียงของ พื้นที่ของโครงการที่ต้องขอความยินยอมหรือขออนุญาตใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน 1,537-3-04 ไร่

2.โครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม เป็นโครงการก่อสร้างทางรถไฟใหม่จำนวน 2 เส้นทาง ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 6 จังหวัด 19 อำเภอ 70 ตำบล โดยแบ่งเป็น 1. ทางรถไฟระดับดินระยะทาง 346 กิโลเมตร คันทางรถไฟสูงเฉลี่ย 4 เมตรและ 2. เป็นโครงสร้างทางรถไฟยกระดับ 9 กิโลเมตร ก่อสร้างป้ายหยุดรถไฟจำนวน 12 แห่ง สถานีรถไฟขนาดเล็ก จำนวน 9 แห่ง สถานีรถไฟขนาดกลาง จำนวน 5 แห่ง และสถานีรถไฟขนาดใหญ่ จำนวน 4 แห่ง รวมทั้งทั้งสิ้น 18 สถานี

มีลานบรรทุกตู้สินค้า จำนวน 3 แห่ง มีย่านกองเก็บตู้สินค้า จำนวน 3 แห่ง ถนนยกข้ามทางรถไฟ จำนวน 81 แห่ง ถนนลอดใต้ทางรถไฟ จำนวน 245 แห่ง พร้อมการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมมนาคม และสร้างรั้วสองแนวข้างทางตลอดเส้นแนวทางรถไฟ ซึ่งต่อมา รฟท.ได้ลงนามสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการดังกล่าวจำนวน 2 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 บ้านไผ่-หนองพอก และสัญญาที่ 2 หนองพอก-สะพานมิตรภาพ 3 พื้นที่ของโครงการที่ต้องขอความยินยอมหรือขออนุญาตใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน 1,917-3-75 ไร่

น.ส.เกณิกากล่าวว่า การดำเนินโครงการก่อสร้างทางรถไฟของ รฟท. ทั้ง 2 เส้นทางจะต้องเข้าดำเนินการในพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเนื้อที่รวมประมาณ 3,455-2-79 ไร่ โดย รฟท.ซึ่งเป็นผู้ประสงค์จะใช้ที่ดินจะต้องยื่นคำขอรับความยินยอมหรือขออนุญาตใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินต่อ คปก.ก่อนส่งมอบพื้นที่ให้แก่ผู้รับจ้างเข้าดำเนินการก่อสร้าง

ทั้งนี้ ก่อนที่ คปก. จะพิจารณาให้ความยินยอมหรืออนุญาตให้ใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะต้องดำเนินการเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อมีมติอนุมัติให้ใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อดำเนินโครงการดังกล่าวก่อน เพื่อให้ คปก.สามารถพิจารณาให้ความยินยอมหรืออนุญาตให้ รฟท.ใช้ที่ดินตามที่กฎหมายกำหนดให้ดำเนินโครงการดังกล่าวสัมฤทธิ์ผลและเป็นไปตามแนวนโยบายของรัฐต่อไป

น.ส.เกณิกากล่าวว่า จากการดำเนินโครงการดังกล่าวส่งผลให้รัฐต้องสูญเสียที่ดินเพื่อการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมบางส่วน และส่งผลต่อเกษตรกรผู้ได้รับการจัดที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม แต่ในขณะเดียวกัน สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จะให้ รฟท. ซึ่งเป็นผู้ขอใช้ประโยชน์ที่ดิน เยียวยาหรือจ่ายค่าชดเชยการสูญเสียโอกาสจากการใช้ที่ดินเพื่อก่อสร้างทางรถไฟให้แก่เกษตรกรที่ได้รับการจัดสรรที่ดินจาก ส.ป.ก.ตามข้อตกลงระหว่าง รฟท.กับเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบ

น.ส.เกณิกากล่าวว่า ซึ่งกำหนดเป็นจำนวนเงินหรือประโยชน์อย่างอื่นเพื่อค่าทดแทนความเสียหายจากการรอนสิทธิเกษตรกร หรือการสูญเสียโอกาสในการใช้ที่ดินของเกษตรกรบรรดาผู้มีสิทธิในที่ดินนั้น และเมื่อได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดินตามกฎหมายแล้ว รฟท. จะต้องนำส่งค่าตอบแทนใช้ประโยชน์ที่ดินให้กับ ส.ป.ก. เพื่อนำเข้ากองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามกฏหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

น.ส.เกณิกากล่าวว่า โดยไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน ตามระเบียบ คปก. ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการใช้และค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินพ.ศ. 2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดย ส.ป.ก. จะนำค่าตอบแทนดังกล่าวมาใช้เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรและประชาชนในเขตปฏิรูปที่ดินต่อไป

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
TRAVEL

เตรียมนั่งรถไฟกรุงเทพฯ – เวียงจันทน์ เปิดเที่ยวปฐมฤกษ์ 19 ก.ค.นี้

 

เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2567 การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เตรียมเปิดเดินขบวนรถเที่ยวปฐมฤกษ์ ระหว่างสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) ที่มีกำหนดเปิดให้บริการเป็นทางการในวันที่  19 ก.ค.นี้ นำโดย “สุรพงษ์ ปิยะโชติ” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีพร้อมร่วมเดินทางออกจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ในเวลา 20.30 น. 

 

โดย ขบวนรถเที่ยวปฐมฤกษ์ จะเดินทางด้วยขบวนรถเร็วที่ 133 กรุงเทพอภิวัฒน์ – เวียงจันทน์ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 11  ชั่วโมง ในการเดินทางและผ่านกระบวนการพิธีศุลกากรผ่านแดน (ขาออก) ณ สถานีหนองคาย ก่อนจะถึงสถานีปลายทางเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) และผ่านกระบวนการพิธีศุลกากร (ขาเข้า) สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

 

สำหรับแนวเส้นทางให้บริการรถไฟ สายกรุงเทพอภิวัฒน์ – เวียงจันทน์ จะใช้เส้นทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ โดยแยกออกจากทางรถไฟสายเหนือที่สถานีรถไฟชุมทางบ้านภาชี ผ่านจังหวัดสระบุรี เข้าสถานีรถไฟชุมทางถนนจิระ จังหวัดนครราชสีมา ผ่านจังหวัดขอนแก่น จังหวัดอุดรธานี จังหวัดหนองคาย ก่อนจะข้ามสะพานมิตรไทย-ลาวแห่งที่ 1 เข้าสถานีรถไฟท่านาแล้ง และสิ้นสุดที่สถานีเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

 

นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ หัวหน้าสำนักงานผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้การรถไฟฯ ได้เดินทางไปร่วมประชุมกับรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งชาติลาว เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดเดินขบวนรถระหว่างสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) โดยมีประเด็นหารือ 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ 

1.แผนการเปิดเดินรถระหว่างสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – อุดรธานี –หนองคาย – เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) รวมถึงแผนการทดลองเดินรถเสมือนจริง ซึ่งกำหนดไว้ในระหว่างวันที่ 13 -14 ก.ค. 2567 

2.แผนพัฒนาตลาดด้านการท่องเที่ยว 

3.แผนการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ 

4. การเพิ่มศักยภาพด้านการขนส่งสินค้าระหว่าง ไทย – ลาว- จีน 

 

ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมาการรถไฟฯ ยังได้ร่วมมือกับรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งชาติลาว ทำการทดลองและทดสอบการเดินขบวนรถไฟระหว่างสถานีอุดรธานี-สถานีหนองคาย-สถานีท่านาแล้ง-สถานีเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) แล้วเสร็จไปเมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2567 โดยผลการทดสอบเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่มีปัญหาอุปสรรคในการเดินรถใดๆ  

 

ทั้งนี้ การเปิดเดินขบวนรถระหว่างสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – อุดรธานี – หนองคาย – เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) ในครั้งนี้ จึงนับเป็นการขยายความร่วมมือครั้งสำคัญของทั้ง 2 ประเทศ จากปัจจุบันที่สามารถเปิดเดินรถถึงสถานีท่านาแล้ง (สปป. ลาว) และเมื่อสามารถให้บริการได้เต็มรูปแบบจนถึงสถานีเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) จะก่อให้ประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ การค้า การท่องเที่ยวอย่างมหาศาล 

 

โดยสามารถรับส่งผู้โดยสารที่เดินทางโดยเครื่องบิน มาลงยังสนามบินอุดรธานี เพื่อเดินทางต่อเข้าไปนครหลวงเวียงจันทน์ได้ โดยไม่ต้องต่อรถโดยสารอื่น ซึ่งเป็นการยกระดับระบบโลจิสติกส์ของทั้งสองประเทศ สอดคล้องกับนโยบาย IGNITE THAILAND ของรัฐบาลที่ต้องการขับเคลื่อนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว และโลจิสติสก์ของภูมิภาค

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กรุงเทพธุรกิจ

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
SOCIETY & POLITICS

ผู้ว่าฯ รฟท. ลงพื้นที่เหตุรถไฟ ชนกระบะขนคนงานลากปลา

เมื่อ 4 สิงหาคม 2566 เวลา 02.20 น. ได้เกิดเหตุขบวนรถไฟบรรทุกสินค้าคอนเทนเนอร์ที่ 833 ดีเซลเลขที่ 5240 มีต้นทางจากไอซีดี ลาดกระบัง ปลายทางแหลมฉบัง ชนกับรถยนต์กระบะขนคนงานลากปลา ยี่ห้อ อีซูซุ สีบรอนซ์เงิน ทะเบียน 1 ฒฆ 5942 กรุงเทพมหานคร บริเวณทางลักผ่านที่ไม่ได้รับอนุญาต หลักกิโลเมตรที่ 43/9 ใกล้กับที่หยุดรถคลองอุดมชลจร อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่ง รฟท. ได้ติดตั้งป้าย และสัญญาณไฟเตือนครบถ้วนเพื่อพยายามช่วยในเรื่องความปลอดภัยให้มากที่สุดที่จะเป็นไปได้ อย่างไรก็ดี แม้ว่าพนักงานขับรถไฟได้ปฏิบัติตามข้อบังคับโดยการเปิดหวูดเตือนก่อนจะถึงทางลักผ่าน จำนวนถึง 3 ครั้ง แต่ด้วยระยะที่กระชั้นชิดทำให้ไม่สามารถหยุดขบวนรถได้ทัน เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต เป็นชาย 5 ราย และหญิง 3 ราย ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บเป็นชาย 4 ราย โดยมีอาการสาหัส 1 ราย มูลนิธิกู้ภัยฉะเชิงเทราได้เร่งนำตัวส่งโรงพยาบาลพุทธโสธร จังหวัดฉะเชิงเทรา ส่วนผู้เสียชีวิต ได้นำส่งโรงพยาบาลตำรวจ เพื่อรอการชันสูตรและให้ญาติติดต่อขอรับเพื่อนำไปประกอบพิธีทางศาสนาต่อไป 

จากการสอบสวน นายวิชัย อยู่เล็ก อายุ 54 ปี ผู้ขับขี่รถยนต์กระบะคันเกิดเหตุ เล่าว่าขณะขับผ่านทางรถไฟ เห็นรถไฟกำลังวิ่งมา และได้ยินหวีดรถไฟแจ้งเตือนแล้ว จึงได้ชะลอรถ แต่คนในรถที่นั่งมาด้วยกันบอกให้ขับผ่านไปได้เลย ตนจึงขับผ่านทางตัดไปแต่ด้วยความกระชั้นชิด จึงทำให้รถไฟชนเข้าที่ท้ายของรถกระบะ 

นอกจากนี้ นายสุรพัศ ประสพ อายุ 20 ปี ผู้รอดชีวิตที่นั่งมาในรถยนต์กระบะ เล่าถึงเหตุการณ์ว่า ขณะรถกระบะกำลังจะขับข้ามทางรถไฟ ตนเองเห็นว่ามีขบวนรถไฟพุ่งใกล้เข้ามาในระยะอีกเพียงไม่กี่เมตร และได้ยินเสียงคนงานที่นั่งมาด้วยกันร้องบอกคนขับรถว่าให้รีบข้ามไป แต่ตนเองมองว่าไม่น่าจะทันจึงตัดสินใจกระโดดลงจากรถ โดยยืนยันว่าระหว่างที่รถยนต์จะข้ามทางรถไฟได้ยินเสียงหวีดรถรถไฟดังลั่นถึง 3 ครั้ง แต่คนขับรถกระบะก็ไม่สนใจ จนเกิดเหตุดังกล่าว

หลังเกิดเหตุ นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย พร้อมคณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ฝ่ายที่เกี่ยวข้องของ รฟท. ได้ลงพื้นที่เกิดเหตุเพื่อให้ความช่วยเหลือ และดูแลผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในครั้งนี้ โดยในเบื้องต้นได้สั่งการให้กองพนักงานสัมพันธ์และสวัสดิการ ฝ่ายทรัพยากรบุคคล ติดต่อให้ความช่วยเหลือในด้านมนุษยธรรมตามระเบียบของ รฟท. กับครอบครัวผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตต่อไป ซึ่ง รฟท. ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิต และผู้ได้รับบาดเจ็บมา ณ โอกาสนี้

รายชื่อผู้ได้รับบาดเจ็บ จำนวน 4 ราย ประกอบด้วย
1. นายวรพล ม่วงสี อายุ 25 ปี 
2. นายจตุพร แก้วโรจน์ อายุ 26 ปี 
3. นายสุพรรณ โพธิ์รักษา อายุ 25 ปี 
4. นายสุรพัศ ประสพ อายุ 20 ปี

รายชื่อผู้เสียชีวิต จำนวน 8 ราย ประกอบด้วย
1. นายสุนทร บัวทอง อายุ 55 ปี
2. นางวารี ภู่ถาวร อายุ 64 ปี
3. น.ส.สุลีรัตน์ ไวว่อง อายุ 22 ปี
4. นายสุรพล อยู่เล็ก อายุ 60 ปี
5. นายณัฐชัย เหยี่ยว อายุ 18 ปี
6. นายธนาวัฒน์ ลิ้มเจริญวิวัฒน์ อายุ 27 ปี
7. นายสายยนต์ โพธิ์รักษ์ อายุ 62 ปี 
8. นางสุนทรี โพธิ์รักษ์ อายุ 55 ปี 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทางดังกล่าวจะเป็นทางลักผ่าน แต่เพื่อพยายามที่จะลดอุบัติเหตุให้มากที่สุด รฟท. จึงได้ดำเนินการติดตั้งสัญญาณเตือน ป้ายจราจร ไฟกะพริบป้ายข้อความเตือนทั้งสองด้านมีเครื่องหมายจราจรครบถ้วน เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ รวมถึง เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร และประชาชนที่ใช้เส้นทางสัญจรผ่านจุดดังกล่าว

ซึ่งนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุบริเวณทางผ่านเสมอระดับอย่างจริงจัง โดยมุ่งเน้นการให้ความรู้แก่ประชาชนและชุมชนใกล้เคียง เพื่อสร้างความตระหนักให้กับผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ ได้คำนึงถึงความปลอดภัยและการปฏิบัติตามกฎจราจรก่อนข้ามทางผ่านเสมอระดับ ตลอดจนการให้ความสำคัญกับป้ายสัญลักษณ์เตือน เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ ในส่วนมาตรการแก้ปัญหาในระยะเร่งด่วน ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องเร่งสรุปจำนวนทางลักผ่านที่ผิดกฎหมายเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาปิดจุดทางลักผ่านต่างๆ หรือประสานหน่วยงานท้องถิ่นที่ดูแลรับผิดชอบถนนที่ตัดผ่านทางรถไฟสนับสนุนงบประมาณในการติดตั้งเครื่องกั้นอัตโนมัติ ซึ่งที่ผ่านมา หาก รฟท. เข้าไปดำเนินการปิดทางลักผ่านต่างๆ ก็จะได้รับการร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่ขอให้เปิดเส้นทางลักผ่านเพื่อใช้ในการสัญจร หรือลักลอบเปิดใช้ทางลักผ่านโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก รฟท. แต่อย่างใด

ปัจจุบันโครงข่ายทางรถไฟทั่วประเทศ มีทางผ่านเสมอระดับทางรถไฟและรถยนต์ จำนวน 2,697 แห่ง แบ่งเป็น ทางต่างระดับที่ได้รับอนุญาต 546 แห่ง (Overpass, Underpass, Box underpass, U-Turn, U-Turn,Box Underpass) ทางเสมอระดับที่ได้รับอนุญาต 1,458 แห่ง (เครื่องกั้นถนนอัตโนมัติ, มีพนักงานควบคุม, ป้ายจราจร/สัญญาณต่างๆ) และทางลักผ่าน 693 แห่ง (ติดตั้งเครื่องกั้นถนนฯ , ติดตั้งป้ายจราจรสัญญาณต่าง ๆ , ทางลอด, ทางที่ไม่ได้รับการติดตั้งป้ายจราจร/สัญญาณใดๆ) รฟท. ขอให้ประชาชนผู้ใช้ทางผ่านเสมอระดับทางรถไฟ-รถยนต์ ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 63 ในทางเดินรถตอนใดที่มีทางรถไฟผ่าน ไม่ว่าจะมีเครื่องหมายระหว่างรถไฟหรือไม่ ถ้าทางรถไฟนั้นไม่มีสัญญาณระวังรถไฟหรือสิ่งปิดกั้นผู้ขับขี่ต้องลดความเร็วของรถและหยุดรถห่างจากทางรถไฟในระยะไม่น้อยกว่า 5 เมตร เมื่อเห็นว่าปลอดภัยแล้วจึงจะขับรถผ่านไปได้

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : การรถไฟแห่งประเทศไทย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
SOCIAL & LIFESTYLE TRAVEL

ทริปสุดคุ้มท่องเที่ยวแนวใหม่ Green Tourism “นั่งรถไฟ KIHA183 ปลูกโกงกาง ที่บางปะกง”

ทริปสุดคุ้มท่องเที่ยวแนวใหม่ Green Tourism “นั่งรถไฟ KIHA183 ปลูกโกงกาง ที่บางปะกง”

Facebook
Twitter
Email
Print

นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ หัวหน้าสำนักงานผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขอเชิญชวนร่วมเปิดประสบการณ์ท่องเที่ยวทางรถไฟแนวใหม่ “นั่งรถไฟ KIHA183 ปลูกโกงกาง ที่บางปะกง” แบบวันเดย์ทริป เส้นทางกรุงเทพ – ฉะเชิงเทรา – กรุงเทพ วันที่ 4 มิถุนายน นี้ โดยพาอินเทรนด์ไปกับการท่องเที่ยวแนวใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Tourism)  นำผู้โดยสารเดินทาง ด้วยรถไฟไทยสไตล์ญี่ปุ่น KIHA 183  ร่วมกิจกรรมปลูกป่าโกงกาง ปล่อยปู สร้างบ้านปลาคอนโดปู เที่ยวบ้านสวนเมล่อน เรียนรู้การปลูก รับต้นกล้าเมล่อนกลับไปปลูกต่อที่บ้าน พร้อมสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์วัดกลางน้ำ ณ วัดหงส์ทอง และดื่มด่ำ ชมชิมช้อป ตลาดโบราณคลองสวน 100 ปี ศูนย์กลางการค้าที่สำคัญในอดีตที่ยังมีลมหายใจถึงปัจจุบัน  
 
สนใจรีบสำรองที่นั่งได้ตั้งแต่วันนี้ เพียง 1,499 บาท จำนวนจำกัด 200 ที่นั่งเท่านั้น  โดยราคาดังกล่าวรวมรถบัสปรับอากาศ พร้อมอาหาร 2 มื้อ มื้อเช้าสไตล์ญี่ปุ่น เบนโตะอาหารไทย และมื้ออาหารกลางวันแบบจัดเต็ม จองตั๋วได้ที่สถานีรถไฟและช่องทางจำหน่ายตั๋วในระบบออนไลน์ D-Ticket ของ รฟท. สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์หมายเลขโทรศัพท์ 1690 ตลอด 24 ชั่วโมง
 
สำหรับรายละเอียดการเดินทาง เริ่มลงทะเบียน สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) เวลา 07.00 น. จากนั้น 07.40 น.ออกเดินทางสู่จังหวัดฉะเชิงเทรา  ด้วยขบวนรถพิเศษโดยสารที่ 993/994  ระหว่างทางเสิร์ฟอาหารเช้า เบนโตะอาหารไทย พร้อมร่วมสนุกกับกิจกรรมระหว่างการเดินทางบนขบวนรถ KIHA 183 นอกจากนี้ผู้โดยสารจะได้พบกับจุด Unseen ซึ่งขบวนรถไฟจะจอดให้ผู้โดยสารชมวิวทิวทัศน์บริเวณกลางสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง มีลักษณะคล้ายรถไฟลอยน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ถึงสถานีชุมทางฉะเชิงเทรา เวลา 10.00 น. เดินทางต่อโดยรถบัสปรับอากาศ สู่ตำบลท่าพลับ อำเภอบ้านโพธิ์ เที่ยวบ้านสวนเมล่อน เรียนรู้การปลูกต้นกล้าเมล่อนที่ช่วยสร้างงานสร้างอาชีพให้แก่เกษตรกร และเดินทางต่อไปตำบลท่าข้าม อำเภอบางปะกง เยี่ยมชนแหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศป่าซายเลน โรงเรียนพระพิมลเสนี (พร้อม หงสกุล) นำทุกท่านร่วมกิจกรรม “รักษ์สิ่งแวดล้อมลดโลกร้อน ร่วมปลูกป่าชายเลน ปล่อยปู สร้างบ้านปลาคอนโดปู” ร่วมกันพลิกฟื้นผืนป่าชายเลนของไทย

เวลา 12.30 น. รับประทานอาหารกลางวัน ออกเดินทางต่อไปที่วัดหงษ์ทอง หรือ วัดกลางน้ำ ริมฝั่งอ่าวไทยบริเวณบ่าชายเลน เยี่ยมชมความงาม เจดีย์สีทองอร่าม 3 ชั้น ชั้นล่างประดิษฐานหลวงพ่อพุทธโสธรจำลองและพระพุทธรูปอื่น ๆ ไว้ให้กราบไหว้ขอพร ส่วนชั้น 2 มี หุ่นขี้ผึ้งหลวงปู่สด หรือ พระมงคลเทพมุนี (สด จนทุสโร) วัดปากน้ำภาษีเจริญ องค์พระแก้วมรกตจำลองประดิษฐานอยู่ รวมถึงจัดแสดงภาพวาดพระมหากษัตริย์ตั้งแต่ในอดีตจนถึงรัชกาลปัจจุบัน ส่วนชั้นบนสุดเป็น จุดชมวิวสามารถมองเห็นวิวทะเล พอเวลาน้ำขึ้นทำให้ดูเหมือนอาคารนี้ลอยอยู่กลางน้ำ และยังมีพระธาตุคงคามหาเจดีย์ เจดีย์สีเหลืองทองที่บรรจุพระธาตุพระอรหันต์อยู่ภายใน ตลอดจนมีพระอุโบสถของ วัดหงษ์ทอง ที่ตั้งอยู่กลางทะเลเช่นเดียวกัน
 
เวลา 15.00 น. ออกเดินทางไป ตลาดคลองสวน 100 ปี ตลาดที่อยู่ในสองจังหวัด มีเพียงสะพานไม้สูง ๆ ข้ามแม่น้ำเป็นเส้นแบ่งเขต โดยมีความรุ่งเรืองตั้งแต่อดีตซึ่งเป็นทางผ่านของเรือขนส่งทั้งคนและสินค้าระหว่างบางกอกกับฉะเชิงเทรา ซึ่งสามารถเลือกชม ชิม  ช้อป สินค้าของฝาก อาหารคาวหวาน และของที่ระลึก ได้ตามอัธยาศัย จากนั้น 16.30 น.ออกเดินทางไปสถานีชุมทางฉะเชิงเทรา ถ่ายภาพที่ระลึกกับขบวนรถ KIHA 183 และเดินทางกลับสู่สถานีหัวลำโพง โดยระหว่างทางจอดรับส่งผู้โดยสาร ป้ายหยุดรถพระจอมเกล้า สถานีลาดกระบัง สถานีหัวหมาก สถานีคลองตัน สถานีมักกะสัน  ถึงสถานีหัวลำโพง โดยสวัสดิภาพ เวลา 18.30 น.  

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : การรถไฟแห่งประเทศไทย

Facebook
Twitter
Email
Print
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
NEWS UPDATE